พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2493
พระราชบัญญัติ
การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๙)
พ.ศ. ๒๔๙๓
ในพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รังสิต กรมพระชัยนาทนเรนทร
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๓
เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย
พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๙๓”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๒ เขตท่ากรุงเทพฯ นั้น คือ
เขตที่ ๑
ด้านเหนือ - ตั้งแต่เสาหินที่สร้างไว้เหนือปากคลองบางกระบือ เป็นเส้นฉากตรงไปฝั่งแม่น้ำตรงกันข้าม
ด้านใต้ - ตั้งแต่เสาหินที่สร้างไว้ใต้ปากคลองเสาหินตรงไปยังเสาหินที่สร้างไว้เหนือปากคลองบางลำภูเลื่อน
เขตที่ ๒
ด้านเหนือ - ตั้งแต่เสาหินที่สร้างไว้เหนือท่าเทียบเรือสถานีรถไฟแม่น้ำ ตำบลคลองเตย เป็นเส้นฉากตรงไปฝั่งแม่น้ำตรงกันข้าม
ด้านใต้ - ตั้งแต่เสาหินเหนือปากคลองบางจาก เป็นเส้นฉากตรงไปฝั่งแม่น้ำตรงกันข้าม”
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๘ เรือกำปั่นทุกลำที่บรรทุกคนโดยสารหรือของจากเมืองท่าหรือตำบลใด ๆ ในต่างประเทศเข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยา หรือเรือใด ๆ ที่เข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยา โดยขนถ่ายคนโดยสารหรือของจากเรือกำปั่นที่มาจากต่างประเทศเมื่อผ่านด่านสมุทรปราการแล้ว ถ้าจะส่งคนโดยสารหรือของที่บรรทุกมานั้นขึ้นบก ต้องจอดเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในเขตท่ากรุงเทพฯ เขตที่ ๒ แต่แห่งเดียว เว้นไว้แต่เมื่อไม่มีท่าเทียบเรือว่างพอจะเทียบได้ หรือเพราะมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการแล้ว จึงจะเข้าเทียบหรือจอดในเขตท่ากรุงเทพฯ เขตที่ ๑ หรือในตำบลอื่นได้
คณะกรรมการดังกล่าวในวรรคก่อนให้มีจำนวน ๕ คน ประกอบด้วยอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมศุลกากรและผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพฯ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และบุคคลอื่นอีก ๒ คน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้ง
คำอนุญาตของคณะกรรมการดังกล่าวในวรรคต้น ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้ลงนาม
ในกรณีรีบด่วนที่อธิบดีกรมเจ้าท่าเห็นสมควร ให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจออกคำอนุญาตไปก่อนได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการจะได้กำหนด”
มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๘ ทวิ มาตรา ๓๘ ตรี และมาตรา ๓๘ จัตวา ในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ตามลำดับ
“มาตรา ๓๘ ทวิ การประชุมของคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามความในมาตรา ๓๘ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่สามารถมาประชุม ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธาน
การลงมติวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้นั่งเป็นประธานออกเสียงอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๓๘ ตรี ภายใต้บังคับมาตรา ๓๘ ให้เจ้าท่ามีอำนาจที่จะกำหนดที่ทอดจอดเรือสำหรับเรือกำปั่นและเรือเล็กทุกลำ และนายเรือต้องเอาเรือไปทอดจอดตามที่เจ้าท่าจะชี้ให้ และห้ามมิให้เอาเรือไปจากที่นั้น หรือย้ายไปทอดจอดที่อื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า เว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็นซึ่งเจ้าท่าจะพิเคราะห์เห็นสมควร
เมื่อเรือกำปั่นลำใดกำลังเข้ามา นายเรือจะต้องยอมให้เจ้าท่าขึ้นไปบนเรือ และถ้าจำเป็นจะหยุดเรือรอรับก็ต้องหยุด
มาตรา ๓๘ จัตวา นายเรือลำใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๘ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
วศิน/แก้ไข
๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๗/ตอนที่ ๕๘/หน้า ๙๗๐/๒๔ ตุลาคม ๒๔๙๓