พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 (Update ณ วันที่ 28/04/2478)

พระราชบัญญัติ

การเดินเรือในน่านน้ำไทย

พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

                  

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า ได้ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยที่ได้ตราขึ้นไว้ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๔ นั้น ยังมีบกพร่องอยู่หลายประการ สมควรจะเปลี่ยนแก้ให้สมกับกาลสมัย เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้แทน ดังต่อไปนี้

 

ความเบื้องต้น

และอธิบายบางคำที่ใช้ ในพระราชบัญญัตินี้

                  

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖”

มาตรา ๒[๑]  ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายตั้งแต่ วันที่ ๑ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เป็นต้นไป

มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้ คำว่า “เรือกำปั่น” นั้น ท่านหมายความตลอดถึงเรือทุกอย่างที่เดินเฉพาะด้วยเครื่องจักร หรือด้วยใบ และไม่ได้ใช้กรรเชียง แจว หรือพาย

               คำว่า “กำปั่นไฟ” หรือ “เรือกลไฟ” นั้น ท่านหมายความตลอดถึงเรือทุกอย่างที่เดินด้วยเครื่องจักร และจะใช้ใบด้วยหรือไม่ใช้ก็ตาม และให้หมายความตลอดถึงเรือกำปั่นยนต์ด้วย

คำว่า “เรือกลไฟเล็ก” นั้น ท่านหมายความตลอดถึงเรือทุกอย่างที่มีขนาดต่ำกว่าสามสิบตันที่ใช้ ให้เดินด้วยเครื่องจักร

คำว่า “เรือยนต์” นั้น ท่านหมายความตลอดถึงเรือยนต์ทุกอย่างที่มีขนาดต่ำกว่าสามสิบตัน ที่ใช้ให้เดินด้วยเครื่องจักรซึ่งมิได้อาศัยกำลังเกิดจากสติม

คำว่า “กำปั่นใบ” หรือ “เรือใบ” นั้น ท่านหมายความตลอดถึงเรือทุกอย่างที่ใช้เดินด้วยใบ และไม่ใช้เครื่องจักร

คำว่า “เรือเดินทะเล” นั้น ท่านหมายความตลอดถึงเรือทุกอย่างที่มีขนาดบรรทุกของได้กว่าพันหาบ และมีดาดฟ้าอย่างมั่นคงกันรั่วได้ตลอดลำตั้งแต่หัวเรือถึงท้ายเรือ

คำว่า “เรือเล็ก” นั้น ท่านหมายความตลอดถึงเรือทุกอย่างที่ใช้ให้เดินด้วยกรรเชียง แจว หรือพาย

คำว่า “แพ” นั้น ท่านหมายความตลอดถึงแพไม้ซุง แพไม้ไผ่ ไม้รวกและแพไม้ทุกอย่าง และคำว่า “ซุง” นั้น หมายความทั้งไม้ซุงและไม้เหลี่ยม

คำว่า “แพคนอยู่” นั้น ท่านหมายความตลอดถึงเรือนทุกอย่างที่ปลูกอยู่บนแพไม้ไผ่ ไม้รวก หรือบนเรือทุ่น และลอยอยู่ในลำแม่น้ำหรือลำคลอง

มาตรา ๔  เรือบางอย่างที่มีประเภทโดยเฉพาะนั้น คือ

“เรือโป๊ะหรือเรือโป๊ะจ้าย” เรืออย่างนี้เป็นเรือเดินทะเลที่มีรูปอย่างแบบยุโรปและเครื่องเสาเพลาใบอย่างแบบจีน หรือแบบประเทศใด ๆ ในเอเซีย

“เรือลำเลียง” นั้น เป็นเรือท้องแบนมีดาดฟ้าบ้าง แต่บางลำก็ไม่มีดาดฟ้าบ้าง และใช้สำหรับลำเลียงหรือถ่ายสินค้าจากกำปั่น หรือบรรทุกสินค้าส่งกำปั่น

“เรือบรรทุกสินค้า” นั้น เป็นเรือไม่มีดาดฟ้าหรือมีไม่ตลอดลำ เดินด้วยกรรเชียง แจว หรือพาย หรือบางทีใช้ใบ และใช้สำหรับบรรทุกสินค้า

“เรือสำเภา” นั้น เป็นเรือเดินทะเลต่ออย่างแบบจีนหรือแบบประเทศใด ๆ ในเอเซีย

                  “เรือเป็ดทะเล” “เรือฉลอมทะเล” “เรือเท้ง” “เรือสามก้าว” “เรือฉลอมท้ายญวน” ซึ่งจะเรียกต่อไปในพระราชบัญญัตินี้ว่า “เรือเป็ดทะเลและอื่น ๆ” นั้น เป็นเรือที่ใช้ใบในเวลาเดินทะเล และใช้ใบหรือกรรเชียงหรือแจวในเวลาเดินในลำแม่น้ำ

มาตรา ๕  “นายเรือ” นั้น ท่านหมายความว่า  คนที่เป็นผู้ควบคุมอยู่ในเรือกำปั่นหรือเรืออื่น ๆ แต่ไม่หมายความถึงผู้นำร่อง

“ลูกเรือ” นั้น ท่านหมายความว่า  บรรดาคนนอกจากนายเรือหรือผู้นำร่อง ที่รับใช้หรือมีหน้าที่ทำการงานต่าง ๆ อยู่ในเรือกำปั่น

                 “เจ้าท่า” นั้น ท่านหมายความว่า  ผู้บังคับการท่าตำบลใด ๆ ในน่านน้ำไทย และหมายความตลอดถึงบรรดาคนที่เจ้าท่าตำบลใด ๆ ได้มอบหมายให้ใช้อำนาจ หรือกระทำการตามหน้าที่อย่างใด ๆ ที่เจ้าท่ามีหน้าที่หรือต้องกระทำตามพระราชบัญญัตินี้

                “เจ้าพนักงานออกใบอนุญาต” นั้น ท่านหมายความว่า  เจ้าท่าหรือผู้แทนเจ้าท่า และหมายความตลอดถึงเจ้าพนักงานที่ได้รับอำนาจสำหรับทำการออกใบอนุญาตนอกเขตมณฑลกรุงเทพฯ ด้วย

“คนโดยสาร” นั้น ท่านหมายความว่า  บรรดาคนในเรือที่ไม่ใช่นายเรือ ผู้นำร่องหรือลูกเรือสำหรับเรือนั้น

                มาตรา ๖  คำว่า “ตัน” หรือ “ขนาดตัน” ที่ใช้ในพระราชบัญญัตินี้นั้น ถ้าแห่งใดมิได้ว่าไว้อย่างอื่น ท่านหมายความว่า เป็นขนาด หรือน้ำหนักที่คำนวณตามข้อบังคับการตรวจเซอร์เวย์เรือของกรมเจ้าท่า

              มาตรา ๗  คำว่า “น่านน้ำไทย” นั้น ท่านหมายความว่า บรรดาน่านน้ำที่เป็นส่วนแห่งพระราชอาณาจักรไทย และหมายความตลอดถึงบรรดาท่าและทำเลทอดจอดเรือ และลำแม่น้ำลำคลองในพระราชอาณาจักรทั่วไปด้วย

              มาตรา ๘  ในพระราชบัญญัตินี้ แห่งใดมีบัญญัติว่าด้วยการออกอนุญาตอย่างใด ๆ ตามซึ่งเจ้าท่าเห็นจำเป็นจะต้องออกเป็นหนังสือ ท่านว่า เจ้าท่ามีอำนาจชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตเช่นนั้นตามอัตรา ซึ่งเจ้าท่าจะได้ตั้งขึ้นไว้แต่อย่างมากไม่เกินกว่าสองบาท

             มาตรา ๙[๒]  พระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย รัตนโกสินทร ศก ๑๒๔ ประกาศลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕ ว่าด้วยการตั้งศาลทะเล ประกาศลงวันที่ ๑๙ มีนาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕ ว่าด้วยการออกใบอนุญาตสำหรับเรือบรรทุกสินค้าและเรือเล็ก และประกาศลงวันที่ ๒๒ เมษายน รัตนโกสินทร ศก ๑๒๙ ว่าด้วยเรือกลไฟที่ใช้สำหรับรับจ้างนั้น ท่านให้ยกเลิกเสีย แต่การที่ยกเลิกนี้ท่านว่ามิได้เกี่ยวแก่การอย่างใดที่ได้มีผู้กระทำไว้แต่ก่อน หรือแก่ความผิดอย่างใดซึ่งได้กระทำไว้แต่ก่อนเวลาประกาศให้ใช้พระราชบัญญัตินี้

                มาตรา ๑๐  กฎสำหรับป้องกันมิให้เรือโดนกัน พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ นั้น ท่านว่ามิใช่สำหรับแต่เรือกำปั่นไทยฝ่ายเดียว ให้ใช้ได้ตลอดถึงเรือกำปั่นทั้งหลายที่เดินในบรรดาเขตท่า และเขตที่ทอดจอดเรือของพระราชอาณาจักรไทย แต่อย่าให้ขัดกับพระราชบัญญัตินี้ เมื่อจะต้องเป็นการขัดเช่นนั้นไซร้ ต้องให้ถือเอาข้อบังคับในพระราชบัญญัตินี้เป็นใหญ่ ดังได้ว่าไว้ในข้อ ๓๐ แห่งกฎนั้น และท่านว่า ผู้เป็นเจ้าของและเป็นนายเรือทุกลำ ต้องถือและกระทำตามกฎนั้นจงทุกประการ

               มาตรา ๑๑  การลงโทษจำคุกหรือปรับนั้น ถ้าจำเลยเป็นคนในบังคับต่างประเทศซึ่งมีกงสุลผู้แทน ที่มีอำนาจฝ่ายตุลาการสำหรับประเทศนั้นตั้งอยู่ในพระราชอาณาจักรไทย ท่านว่าต้องเป็นหน้าที่ของศาลกงสุลนั้นบังคับให้เป็นไปตามโทษานุโทษ

ภาค ๑

ข้อบังคับทั่วไป

                  

หมวดที่ ๑

ว่าด้วยเขตท่าและที่ทอดจอดเรือ

                  

มาตรา ๑๒  เขตท่ากรุงเทพฯ นั้นคือ

ด้านเหนือ :- ตั้งแต่เสาหินที่สร้างไว้เหนือปากคลองบางกระบือ ที่ฝั่งแม่น้ำตรงกันข้าม

ด้านใต้ :- ตั้งแต่เสาหินที่สร้างไว้ ที่ฝั่งแม่น้ำตรงกันข้าม ณ ตำบลเหนือปากคลองบางลำภูเลื่อน

มาตรา ๑๓  เขตท่าเกาะสีชังนั้น คือ

ด้านเหนือ :- ตั้งแต่สุดเหนือกองหินสัมปะยื้อเป็นบรรทัดเลงตรงสู่ทิศตะวันออก

ด้านตะวันออก :- บรรทัดเลงตรงเหนือตรงใต้ผ่าแหลมสุดตะวันออกของเกาะร้านดอกไม้

ด้านใต้ :- บรรทัดเลงตรงทิศตะวันออกจากเสาหินที่สร้างไว้ที่ปลายแหลมวังเกาะสีชัง

ด้านตะวันตก :- เกาะสีชังและหินสัมปะยื้อ

มาตรา ๑๔  เขตท่าอ่างศิลานั้น คือ :-

ด้านตะวันตก :- เพียงแนวน้ำลึก ๗ วา ในเวลาที่น้ำทะเลลงงวด

ด้านใต้ :- บรรทัดเลงตรงทิศตะวันตกจากแหลมแท่นถึงที่น้ำลึก ๗ วา ในเวลาที่น้ำทะเลลงงวด

มาตรา ๑๕  เขตทำเลทอดจอดเรือตำบล นอกสันดอนนั้น คือ

ด้านตะวันตก :- บรรทัดเลงตรงทิศใต้จากเสาหิน ที่สร้างไว้ประมาณกึ่งกลางระยะทางระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำท่าจีน จนจดถึงแนวน้ำลึก ๗ วา ในเวลาที่น้ำทะเลลงงวด

ด้านใต้ :- เสมอเพียงแนวที่น้ำลึก ๗ วา ในเวลาที่น้ำทะเลลงงวด

ด้านตะวันออก :- จดเขตท่าอ่างศิลา

มาตรา ๑๖  เขตท่าอื่น ๆ ในประเทศไทยนอกจากที่ว่ามานี้จะได้กำหนดต่อไป โดยประกาศเฉพาะตำบล

หมวดที่ ๒

หน้าที่ของนายเรือ

                  

(ก) เมื่อเวลาเรือกำปั่นเข้ามาในน่านน้ำไทย

                  

มาตรา ๑๗  เวลาเรือกำปั่นลำใดเข้ามาในน่านน้ำไทย ผู้เป็นนายเรือต้องชักธงสำหรับเรือลำนั้นขึ้นไว้ให้ปรากฏ และต้องชักธงนั้นขึ้นไว้ในเวลากลางวันจนกว่าเจ้าท่ามาขึ้นบนเรือ

(ข) เมื่อเวลาเรือกำปั่นเข้ามาหรือออกจากแม่น้ำ

                  

              มาตรา ๑๘  เรือกำปั่นทุกลำ เวลาเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงด่านเมืองสมุทรปราการต้องหยุด และถ้าจำเป็นก็ต้องทอดสมอที่นั้นเพื่อให้เจ้าพนักงานแพทย์ศุขา และเจ้าพนักงานศุลกากรมาขึ้นบนเรือ และต้องยอมให้เจ้าพนักงานศุลกากรมาในเรือนั้นถึงกรุงเทพฯ และอยู่ต่อไปในเรือจนกว่าจะมีอนุญาตให้เปิดระวางเรือ หรือจนกว่าจะมีเจ้าพนักงานศุลกากรที่กรุงเทพฯ มาเปลี่ยนเมื่อเจ้าพนักงานศุลกากรขอให้กระทำ ผู้เป็นนายเรือต้องเขียนข้อความกรอกในแบบพิมพ์ (อย่างแบบที่ ๑ ท้ายพระราชบัญญัตินี้) บอกชื่อของเรือ จำนวนคนประจำเรือและคนโดยสาร และเรือมาจากตำบลใดแล้วต้องทำรายงานบอกชนิดและจำนวนอาวุธ เครื่องกระสุนปืนนั้นและดินระเบิดที่มีมาในเรือนั้น และถ้าเจ้าพนักงานจะต้องการเอาของเหล่านั้นมารักษาไว้ นายเรือก็ต้องส่งให้แก่เจ้าพนักงานศุลกากรที่กำกับอยู่นั้นทั้งสิ้น

              มาตรา ๑๙  นายเรือกำปั่นไทยลำใดที่ออกไปจากแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องแจ้งความที่จะออกไปนั้นต่อเจ้าท่า ณ กรุงเทพฯ และนายเรือกำปั่นไทยหรือเรือกำปั่นต่างประเทศลำใด เมื่อก่อนจะออกไป ต้องได้รับใบเบิกล่องจากกรมศุลกากรที่กรุงเทพฯ และเมื่อล่องลงไปถึงหน้าด่านเมืองสมุทรปราการ ต้องหยุด และถ้าเป็นการจำเป็นก็ต้องทอดสมอที่นั้น เพื่อให้เจ้าพนักงานศุลกากรมาขึ้นบนเรือและรับเอาใบเบิกล่อง

              มาตรา ๒๐  นายเรือกำปั่นลำใดที่ทอดสมออยู่ในอ่าวนอกที่เกาะสีชัง หรือที่อ่างศิลา เมื่อเรือจะออกจากที่นั่นจะไปเมืองอื่นต้องได้รับใบเบิกล่องจากเจ้าพนักงานศุลกากรประจำท้องที่ และนายเรือกำปั่นลำใดที่เข้ามาหรือออกไปจากท่า หรือลำแม่น้ำอื่น ๆ ในพระราชอาณาจักรไทย ต้องทอดสมอที่หน้าด่านของท่าหรือแม่น้ำนั้น ๆ แล้วรายงานการที่เข้ามาหรือจะออกไปต่อเจ้าพนักงาน และต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้นั้น

มาตรา ๒๑  นายเรือกำปั่นผู้ใดกระทำความละเมิดอย่างใด ๆ ต่อบัญญัติในมาตรา ๑๗, ๑๘, ๑๙ และ ๒๐ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าแปดร้อยบาท

(ค) เมื่อเวลาเรือกำปั่นเข้ามาหรือออกจากเขตท่ากรุงเทพฯ

                  

                มาตรา ๒๒  นายเรือกำปั่นไทยลำใด หรือนายเรือกำปั่นต่างประเทศลำใดของชาติที่ไม่มีกงสุลเป็นผู้แทนอยู่ในประเทศไทย เมื่อเรือล่วงเข้าในเขตท่ากรุงเทพฯ แล้ว ถ้าไม่ใช่วันอาทิตย์หรือวันที่ปิดที่ว่าการ ต้องรายงานการที่เข้ามาถึงนั้น ต่อกรมเจ้าท่าภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง

                มาตรา ๒๓  นายเรือกำปั่นเช่นว่ามาแล้วในมาตรา ๒๒ ต้องนำหนังสือสำหรับเรือ บัญชีคนโดยสาร ใบทะเบียนของเรือยื่นไว้ต่อกรมเจ้าท่า และถ้าเจ้าพนักงานจะต้องการสำเนาอันถ่องแท้ของบัญชีสินค้าที่มีมาในเรือ นายเรือต้องยื่นให้ทราบด้วย

               มาตรา ๒๔  ถ้าเป็นเรือกำปั่นต่างประเทศที่มีกงสุลเป็นผู้แทนอยู่ในกรุงเทพฯ นายเรือต้องนำหนังสือต่าง ๆ เช่นว่ามาแล้วนั้น ยื่นไว้ต่อที่ว่าการกงสุลของประเทศนั้น แต่เมื่อเวลาที่เจ้าท่าขึ้นไปบนเรือต้องเขียนข้อความกรอกลงในแบบพิมพ์ (คือ แบบที่ ๑ ท้ายพระราชบัญญัตินี้) ที่เจ้าท่าจะส่งให้ และบอกบัญชีคนโดยสารโดยถูกต้อง และแจ้งความเหตุร้ายหรือความตายที่ได้มีขึ้นในตามทางที่มานั้นด้วย

มาตรา ๒๕  นายเรือกำปั่นลำใดที่เข้ามาถึงแล้ว เมื่อก่อนจะเปิดระวางเอาสินค้าขึ้นจากเรือ ต้องทำรายงานบัญชีสินค้าที่มีมาในเรือลำนั้นโดยถี่ถ้วนยื่นต่อกรมศุลกากร

                 และนายเรือกำปั่นลำใดที่จะออกไป ต้องทำรายงานบัญชีสินค้าในเรือนั้นโดยถี่ถ้วน ยื่นต่อกรมศุลกากรภายในหกวันก่อนเวลาที่ไป และต้องยื่นรายงานบอกจำนวน เพศ และชาติของคนโดยสารในเรือนั้น ต่อเจ้าพนักงานศุลกากรที่เมืองสมุทรปราการด้วย

เรือกำปั่นลำใดที่เข้ามาในเขตท่า ถ้านายเรือยังไม่ทราบพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้เจ้าพนักงานจัดหาให้ไว้เล่มหนึ่งและคิดราคาสองบาท

                มาตรา ๒๖  เรือกำปั่นเดินทะเลลำใดที่เตรียมจะไปจากเขตท่า ต้องชักธงลา (คือ ธงที่เรียกว่า บลูปีเตอร์) ขึ้นบนเสาหน้า และต้องชักไว้จนกระทั่งเรือออกเดิน ถ้าเป็นเรือที่กำหนดจะออกเวลาบ่าย ต้องชักธงลาขึ้นไว้เสียตั้งแต่เวลาเช้า ถ้ากำหนดจะออกเวลาเช้า ต้องชักธงลาขึ้นไว้ ให้ปรากฏเสียตั้งแต่ตอนบ่ายวันก่อน

                มาตรา ๒๗[๓]  เรือกำปั่นไฟลำใดกำลังปล่อยถอยหลังให้ล่องตามน้ำลงมาในเขตท่ากรุงเทพฯ ต้องชักธงสัญญาที่เรียกว่าธง “L.U.” (แอล ยู) ตามแบบข้อบังคับธงระหว่างนานาประเทศไว้ข้างตอนหน้าเรือในที่แลเห็นได้โดยง่าย และถ้ามีเรือกำปั่นไฟลำอื่นกำลังแล่นตามน้ำลงมาด้วย ให้เรือกำปั่นลำที่ปล่อยถอยหลังนั้นออกกลางน้ำ และให้ใกล้ที่สุดที่จะเป็นได้กับพวกเรือที่จอดทอดสมออยู่กลางลำน้ำและคอยอยู่ที่นั่นจนกว่าเรือลำที่แล่นตามน้ำลงมาจะแล่นพ้นไป ถ้าเรือที่กำลังปล่อยถอยหลังให้ล่องตามน้ำลงมานั้น เป็นเรือโป๊ะหรือโป๊ะจ้ายหรือเรือสำเภา ต้องชักเครื่องสัญญาเป็นรูปลูกตะกร้อสีดำกว้างไม่ต่ำกว่าห้าสิบเซนติเมตรไว้ในที่แลเห็นได้โดยง่าย

มาตรา ๒๘  นายเรือคนใดกระทำความละเมิดต่อบัญญัติในมาตรา ๒๒, ๒๓, ๒๔, ๒๕, ๒๖ และ ๒๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ท่านว่าต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าสี่ร้อยบาท

หมวดที่ ๓

ว่าด้วยทำเลทอดจอดเรือ

                  

                มาตรา ๒๙  ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ถ้าเรือกำปั่นลำใดที่มิได้ผูกจอดเทียบท่าเรือหรือท่าโรงพักสินค้า เรือกำปั่นลำนั้นต้องทอดสมอจอดอยู่กลางลำน้ำด้วยสมอสองตัว มีสายโซ่ให้พอทั้งสองตัวเพื่อกันมิให้เรือเกาสมอเคลื่อนจากที่นั้นได้

มาตรา ๓๐  เรือเก็บสินค้า เรือท้องแบน และเรือใด ๆ ที่ทอดจอดประจำอยู่นั้น ต้องผูกจอดอยู่กับสมอทุ่นอย่างมั่นคงสมกับกำลังของสายโซ่ที่ทอดอยู่นั้น

มาตรา ๓๑  ห้ามมิให้เรือกำปั่น เรือเก็บสินค้า เรือท้องแบนอย่างใด ๆ ทอดสมอ หรือผูกจอดอยู่ในทางเรือเดินในลำแม่น้ำเป็นอันขาด

มาตรา ๓๒  ห้ามมิให้เรือกำปั่นลำใดที่ผูกจอดเทียบท่าเรือ ท่าพักสินค้า หรือเทียบฝั่งนั้น ทอดสมอลงไปในแม่น้ำห่างจากหัวเรือเกินกว่าสามสิบเมตร

มาตรา ๓๓  เรือลำใดที่เจ้าท่าไม่ยอมออกใบอนุญาตให้หรือเรียกคืนหรือยึดใบอนุญาตไว้ โดยเรือนั้นมีความไม่สมประกอบสำหรับเดินทะเลนั้น ต้องให้ผูกจอดทอดไว้ ในที่ใดที่หนึ่งซึ่งเจ้าท่าจะกำหนดให้

                มาตรา ๓๔  เรือโป๊ะ หรือเรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง เรือสำเภา เรือบรรทุกสินค้า เรือเป็ดทะเล และเรืออื่น ๆ ต้องจอดทอดสมอกลางแม่น้ำ และถ้าไม่เป็นการขัดขวาง ก็ให้ทอดจอดค่อนข้างฝั่งตะวันตก แต่ต้องไว้ช่องทางเรือเดินไม่น้อยกว่าร้อยเมตร ในระหว่างเรือกับฝั่งตะวันตก หรือกับบรรดาเรือที่จอดเทียบฝั่งตะวันตก หรือกับแพคนอยู่ที่ผูกเทียบอยู่กับฝั่งตะวันตก

                มาตรา ๓๕  บรรดาเรือโป๊ะหรือเรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง เรือสำเภาเรือบรรทุกสินค้า เรือเป็ดทะเล และเรืออื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้การนั้น ต้องให้ถอยไปอยู่ที่ทำเลสำหรับทอดจอดเรือ แห่งใดแห่งหนึ่งในเขตท่าตามที่เจ้าท่าเห็นสมควรจะกำหนดตามครั้งคราว และประกาศให้ทราบทั่วกันในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุในท้องที่ตั้งแต่สองรายขึ้นไป

                 มาตรา ๓๖  ห้ามมิให้เรือกำปั่นเดินทะเลลำใดจอดทอดสมอตามลำแม่น้ำ ในระหว่างคลองสะพานหันกับคลองบางลำภูบน เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็น เพราะในระหว่างสองตำบลนั้นเป็นที่ทอดจอดเรือรบไทย และบรรดาเรือกำปั่นเดินทะเลหรือเรือรบต่างประเทศจะแล่น หรือมีเรืออื่นจูงผ่านคลองสะพานหันขึ้นไปตามลำแม่น้ำนั้น ให้ถือว่าเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตพิเศษจากเจ้าท่า และโดยอาศัยข้อบังคับกำกับอนุญาตนั้นอยู่ด้วยตามซึ่งเจ้าท่าจะเห็นสมควร

มาตรา ๓๗[๔]  ถ้าไม่มีเหตุฉุกเฉินอันจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น ห้ามมิให้เรือกำปั่นลำใดจอดทอดสมอในลำแม่น้ำระหว่างวัดบุคคะโลกับในระยะทางสองร้อยเมตรใต้ปากคลองบางปะแก้ว และระหว่างปากคลองผดุงกับคลองสำเพ็ง เพราะในระหว่างตำบลเหล่านี้เป็นทำเลยกเว้นไว้สำหรับทางให้เรือเดินขึ้นล่อง

                มาตรา ๓๘  ให้เจ้าท่ามีอำนาจชอบด้วยกฎหมายเสมอไปที่จะกำหนดที่ทอดจอดเรือสำหรับเรือกำปั่นและเรือเล็กทุกลำ และนายเรือต้องเอาเรือไปทอดจอดตามที่เจ้าท่าจะชี้ที่ให้ และห้ามมิให้เอาเรือไปจากที่นั้นหรือย้ายไปทอดจอดที่อื่น โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า เว้นไว้แต่เมื่อมีเหตุจำเป็นซึ่งเจ้าท่าจะพิเคราะห์เห็นสมควร

เมื่อเรือกำปั่นลำใดกำลังเข้ามาในเขตท่า ต้องยอมให้เจ้าท่าขึ้นไปบนเรือ และถ้าจำเป็นจะหยุดเรือรอรับก็ต้องหยุด

                    มาตรา ๓๙  เรือกำปั่นลำใดเมื่อเข้ามาถึงในเขตท่าแล้ว มิได้กระทำการถ่ายสินค้าหรือขนสินค้าขึ้นเรืออย่างหนึ่งอย่างใด นับตั้งแต่ ๑๐ วันขึ้นไปก็ดี ท่านว่าถ้าจะต้องการเอาที่ซึ่งเรือลำนั้นจอดอยู่ให้เรืออื่นที่ใช้ในการค้าขายทอดจอด ก็ให้ถอยเรือที่ไม่ได้ทำการเช่นว่านั้น ไปทอดจอดในที่อื่นภายในเขตท่าตามที่เจ้าท่าจะกำหนดให้

                มาตรา ๔๐[๕]  เรือกำปั่นลำใดต้องการจะเปลี่ยนที่ทอดจอด หรือเรือกำปั่นลำใดที่เทียบท่าเรือ หรือท่าสินค้าต้องการจะหาที่ทอดจอดในลำแม่น้ำก็ให้ชักธงสัญญาณอักษร “B.A.Z.” (บี เอ แซด) ตามแบบข้อบังคับระหว่างนานาประเทศสำหรับการใช้ธงสัญญาณ แล้วเจ้าท่าจะได้ขึ้นไปบนเรือลำนั้นและชี้ให้ทอดจอด

               มาตรา ๔๑[๖]  เรือกำปั่นลำใดต้องการให้กองตระเวนมาช่วยก็ให้ชักธงสัญญาณหมายอักษร “S.T.” (เอส ที) ตามแบบข้อบังคับระหว่างนานาประเทศสำหรับการใช้ธงสัญญาณ ถ้ามีเหตุสำคัญขัดขืนต่อการบังคับบัญชาเกิดขึ้นในเรือฉะนั้นแล้ว ให้ชักธงสัญญาณหมายอักษร “R.X.” (อาร์ เอกซ์)

                   มาตรา ๔๒  ก่อนที่เรือกำปั่นไฟหรือเรือกำปั่นใบเดินทะเลลำใดจอดทอดหรือผูกจอดเป็นปรกตินั้น ห้ามมิให้เรืออื่นเข้าไปเทียบข้าง ให้เข้าเทียบได้แต่เฉพาะเรือไฟเล็กและเรือเล็กของกรมเจ้าท่า หรือของเจ้าพนักงานแพทย์ศุขา หรือของกรมศุลกากร หรือของผู้นำร่อง หรือเรือของกระทรวงทหารเรือซึ่งจะมีหน้าที่พิเศษ

ในเวลาที่เรือกำปั่นลำใดที่กำลัง แล่นขึ้น หรือล่องในลำแม่น้ำนั้น ห้ามเป็นอันขาดมิให้เรือจ้าง เรือบรรทุกสินค้าหรือเรือเล็กหรือเรืออย่างใด ๆ เข้าไปเกี่ยวพ่วงข้าง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษของนายเรือลำนั้น

มาตรา ๔๓  เมื่อจะทอดจอดเรือกำปั่นลำใด นายเรือหรือผู้นำร่องต้องทอดจอดเรือนั้น โดยให้กินเนื้อที่อย่างน้อยที่สุดที่จะเป็นได้และความบังคับข้อนี้ เจ้าท่าต้องระวังเป็นธุระอยู่เสมอให้มีผู้ปฏิบัติตามโดยถูกต้อง

มาตรา ๔๔  ตามลำแม่น้ำเล็ก และในคลองต่าง ๆ นั้นอนุญาตให้จอดเรือต่าง ๆ ได้ทั้งสองฟาก แต่อย่าให้เป็นที่กีดแก่ทางเรือขึ้นล่องที่กลางลำน้ำ และห้ามไม่ให้จอดซ้อนลำหรือจอดขวาง หรือตรงกลางลำน้ำลำคลองเป็นอันขาด

มาตรา ๔๕ เรือกำปั่นเรือเล็กและแพต่าง ๆ ที่จอดเทียบฝั่งแม่น้ำหรือเทียบท่าสินค้า หรือท่าเรือนั้น ห้ามมิให้จอดขวางลำน้ำ ต้องจอดให้หัวเรือท้ายเรือ หัวแพท้ายแพหันตามยาวของทางน้ำ

                มาตรา ๔๖  ตามท่าขนสินค้าและท่าขึ้นทั้งสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือตามสองข้างเรือกำปั่นก็ดี ห้ามมิให้เรือบรรทุกสินค้า เรือไฟเล็ก เรือเป็ดทะเลและเรืออื่น ๆ จอดหรือผูกเทียบซ้อนกันเกินกว่าสองลำ ถ้าเป็นแพคนอยู่ห้ามมิให้จอดเทียบหน้าแพเกินกว่าลำหนึ่ง

               มาตรา ๔๗  ห้ามมิให้แพไม้ซุงที่กว้างกว่ายี่สิบต้นซุง จอดผูกเทียบข้างเรือกำปั่น หรือเทียบท่าขนสินค้าหรือท่าขึ้น และห้ามมิให้เรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง หรือเรือสำเภาผูกจอดผูกเทียบข้างเรือกำปั่นมากกว่าข้างละหนึ่งลำ และห้ามมิให้เรือเช่นว่ามานี้จอดผูกเทียบท่าของสินค้าหรือท่าขึ้นมากกว่าสองลำ

มาตรา ๔๘  ห้ามมิให้เรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง เรือสำเภา เรือบรรทุกสินค้า เรือกลไฟเล็ก และเรือ และแพไม้ต่าง ๆ จอดผูกกับฝั่งแม่น้ำมากลำหรือโดยอย่างที่ให้ล้ำออกมาในทางเรือเดิน หรือจนเป็นที่กีดขวางแก่การเดินเรือ

มาตรา ๔๙  เรือกำปั่น หรือเรือเล็กที่จอดมากกว่าสองลำในแม่น้ำนอกแนวเรืออื่น ๆ หรือนอกแนวแพคนอยู่ ซึ่งจอดอยู่ในท้องที่เดียวกันนั้น ท่านให้ถือว่าเรือกำปั่นหรือเรือเล็กนั้น เท่ากับจอดล้ำออกมาในทางเรือเดิน

มาตรา ๕๐  ข้อห้ามต่าง ๆ ที่ว่ามาแล้วในมาตรา ๔๖ และ ๔๗ นั้น เจ้าท่าจะเห็นสมควรลดหย่อนโดยให้อนุญาตพิเศษก็ได้

มาตรา ๕๑  นายเรือ หรือผู้ควบคุมกำปั่น หรือเรือเล็ก หรือแพไม้มีความละเมิดต่อบัญญัติอย่างใด ๆ ในหมวดที่ ๓ นี้ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าร้อยห้าสิบบาท

หมวดที่ ๔

ว่าด้วยทางเดินเรือในลำแม่น้ำ

                  

มาตรา ๕๒  ในเขตท่ากรุงเทพฯ นั้น ให้มีทางเดินเรือสองสาย ดังนี้คือ

(๑) สายตะวันออกเรียกว่าสายใหญ่ สายนี้มีเขตโดยกว้างตั้งแต่เรือกำปั่นที่ทอดอยู่กลางแม่น้ำ จนถึงฝั่งตะวันออกหรือถึงแคมเรือกำปั่น หรือแพคนอยู่ที่จอดเทียบฝั่งตะวันออก

(๒) สายตะวันตก สายนี้มีเขต โดยกว้าง ตั้งแต่เรือกำปั่นที่ทอดอยู่กลางแม่น้ำ จนถึงฝั่งตะวันตก หรือถึงแคมเรือกำปั่น หรือแพคนอยู่ที่จอดเทียบฝั่งตะวันตก

มาตรา ๕๓  แนวลำแม่น้ำทั้งสองฟากภายในระยะสามสิบเมตรห่างจากฝั่งหรือจากแคมเรือกำปั่นที่จอดผูกเทียบฝั่ง หรือจากแพคนอยู่ที่จอดผูกเทียบฝั่งนั้น ให้หวงห้ามไว้สำหรับเป็นทางเดินเรือเล็ก

ห้ามมิให้เรือกำปั่นใช้แนวนั้นเป็นอันขาดนอกจากเป็นเวลาจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เรือโดนกัน หรือเพื่อกลับหรือเคลื่อนเรือจากที่จอด

มาตรา ๕๔  ถ้าเรือกำปั่นลำใดกระทำให้มีความเสียหายเพราะมิได้ปฏิบัติตามที่บังคับไว้ ในมาตรา ๕๓ ท่านว่านายเรือลำนั้นมีความผิด ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าร้อยบาท และอาจจะถูกฟ้องร้องในทางแพ่งอีกต่างหากด้วย

(ก) ว่าด้วยทางเรือเดินสายตะวันออกหรือสายใหญ่

                  

               มาตรา ๕๕  เรือกำปั่นไฟทุกขนาด (นอกจากที่ว่าไว้ ในมาตรา ๕๘) และเรือกำปั่นใบทุก ๆ อย่างที่มีขนาดเกินกว่าห้าสิบตัน เมื่อขึ้นล่องในลำแม่น้ำ ต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันออก เว้นไว้แต่เมื่อมีเหตุจำเป็น หรือเพื่อจะเข้าจอด หรือออกจากท่า หรือฝั่ง จึงเดินนอกสายนั้นได้และบรรดาเรือที่ว่ามานี้ ต้องเดินโดยช้าที่สุดที่พอสมควรแก่การเดินเรืออย่างระวัง และเพื่อป้องกันอันตรายแก่เรือ และอันตรายที่อาจเกิดจากละลอกคลื่นของเรือนั้น

มาตรา ๕๖  ผู้ใดละเมิดต่อข้อบังคับในมาตรา ๕๕ ท่านว่ามีความผิด ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าห้าร้อยบาท

(ข) ว่าด้วยทางเรือเดินสายตะวันตก

                  

มาตรา ๕๗  บรรดาเรือใบขนาดต่ำกว่าห้าสิบตันและเรือทุกอย่างนอกจากได้กล่าวไว้ ในมาตรา ๕๕ นั้น ต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก

มาตรา ๕๘[๗]  บรรดาเรือกำปั่นไฟที่จูงเรืออื่นที่มีขนาดต่ำกว่าสามสิบห้าตันเกินกว่าลำหนึ่งขึ้นไป ต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก

               ห้ามมิให้เรือกำปั่นไฟลำใดจูงเรือกำปั่น หรือเรืออย่างอื่นในเขตท่ากรุงเทพฯ มากลำจนเกินกว่ากำลังของเรือกำปั่นไฟลำนั้น จะจูงไปได้ระยะทางชั่วโมงละสองไมล์เป็นอย่างน้อย และห้ามมิให้เรือกำปั่นไฟลำใดที่จูงเรืออยู่นั้น เดินไปโดยระยะทางเกินกว่าชั่วโมงละหกไมล์ในเวลาทวนน้ำ หรือเดินเร็วกว่าชั่วโมงละสี่ไมล์ในเวลาตามน้ำ

ห้ามเป็นอันขาด มิให้จูงเรือเล็กเกินกว่าคราวละสามสิบสองลำเป็นอย่างมาก และห้ามมิให้เรือที่ถูกจูงนั้นผูกเทียบซ้อนลำกันเกินกว่าตับละสี่ลำ

               มาตรา ๕๙  ในเวลาที่กำลังจะโยงหรือผูกเรือบรรทุกเข้ากับสายโยงนั้น ห้ามมิให้เรือกลไฟลาก หรือเรือไฟเล็กที่เป็นเรือจูงนั้นแล่นรออยู่ในสายทางเรือเดินเป็นอันขาด ถ้าจะใช้สายทางเรือเดินในการจูง เรือจูงเหล่านั้นต้องแล่นอยู่เสมอให้ได้ระยะทางไม่น้อยกว่าชั่วโมงละสองไมล์

มาตรา ๖๐  ผู้ใดละเมิดต่อข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดในมาตรา ๕๗, ๕๘ และ ๕๙ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าห้าร้อยบาท

(ค) ว่าด้วยส่วนของทางเรือเดินทั้งสองสายที่หวงไว้สำหรับให้เรือเล็กเดิน

                  

มาตรา ๖๑  เรือเล็กทั้งหลาย เดินในทางเรือเดินได้ทั้งสองสาย

                มาตรา ๖๒  นอกจากมีเหตุจำเป็น หรือเพื่อจะข้ามฟากไปจอดที่ท่าหรือที่ฝั่ง บรรดาเรือเล็กต้องเดินอยู่ในแนวน้ำ ในระหว่างระยะสามสิบเมตร จากฝั่งหรือจากเรือกำปั่นที่จอดเทียบฝั่งหรือจากแพคนอยู่ที่ผูกจอดกับฝั่งแม่น้ำ

                มาตรา ๖๓  เรือบรรทุกเข้าต้องเดินได้แต่ในแนวน้ำที่กำหนดไว้สำหรับเป็นทางเดินของเรือเล็กในทางเรือเดินสายตะวันตก และห้ามมิให้ไปเดินในทางเรือเดินสายตะวันออกในตอนหนึ่งตอนใดเป็นอันขาด

                  มาตรา ๖๔  เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อจะข้ามฟากไปจอดที่ท่าหรือที่ฝั่ง และเรือบรรทุกเข้าหรือเรือเล็กจะต้องทำนอกเหนือที่บังคับไว้ในมาตรา ๖๒ และ ๖๓ ฉะนั้น ก็ให้ทำโดยความระวังทุกอย่างที่จะมิให้เป็นการกีดขวางแก่การเดินเรือได้

               มาตรา ๖๕  ห้ามมิให้เรือบรรทุกเข้าหรือเรือเล็กผ่านหน้าเรือกำปั่นไฟที่กำลังแล่นขึ้นหรือล่องในลำแม่น้ำนั้นใกล้กว่าระยะร้อยเมตร และถ้าจะข้ามฟากไปยังท่าหรือโรงสีห้ามมิให้ตัดข้ามเหนือแห่งที่จะไปนั้นเกินกว่าที่ควร

                 มาตรา ๖๖  บรรดาเรือยนต์ที่ยาวไม่เกินกว่าหกเมตรนั้น ยอมให้เดินได้ในแนวลำแม่น้ำทั้งสองสายที่กำหนดไว้สำหรับให้เรือเล็กเดิน แต่ถ้าจะเดินห่างจากฝั่งภายในระยะสามสิบเมตร ต้องเดินโดยช้าที่สุดพอสมควรแก่การควรระวังเหตุในการเดินเรือ และการควรระวังมิให้เป็นเหตุอันตรายแก่เรือเล็กที่ใช้กรรเชียงหรือแจวพาย

มาตรา ๖๗  นายเรือผู้ใดละเมิดต่อข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดในมาตรา ๖๒,๖๓,๖๔,๖๕ และ ๖๖ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าร้อยบาท

(ฆ) ว่าด้วยทางคลองต่าง ๆ

                  

             มาตรา ๖๘[๘]  ในแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ นอกเขตท่าบรรดาเรือที่เดินตามน้ำให้เดินกลางลำแม่น้ำหรือลำคลอง เรือที่เดินทวนน้ำให้เดินแอบฝั่ง ถ้าไม่สามารถจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังว่ามานี้ ให้เดิน.กลางร่องน้ำ และให้ปฏิบัติตามข้อบังคับการเดินเรือแห่งท้องถิ่นซึ่งตั้งขึ้นเพื่อควบคุมการเดินเรือในลำแม่น้ำหรือคลองนั้น ๆ ด้วย

               ให้เจ้าท่าหรือข้าหลวงประจำจังหวัดในท้องถิ่นที่ไม่มีเจ้าท่า มีอำนาจออกข้อบังคับควบคุมการเดินเรือในแม่น้ำและลำคลองใด ๆ ซึ่งอยู่ในเขตท้องถิ่นของตนได้ ข้อบังคับนั้นเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

มาตรา ๖๙  นายเรือผู้ใดละเมิดต่อข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดในมาตรา ๖๘ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าร้อยบาท

หมวดที่ ๕

ว่าด้วยแพไม้ แพคนอยู่ ฯลฯ

                  

(ก) แพไม้

                  

               มาตรา ๗๐  แพไม้ต่าง ๆ ต้องมีคนประจำให้พอแก่การที่จะควบคุมรักษาแพโดยเรียบร้อย และคนประจำแพต้องระวังอย่างที่สุดที่จะเป็นได้เพื่อไม่ให้แพกีดขวางแก่การเดินเรือ หรือโดนกับแพคนอยู่ หรือเรือที่ทอดจอดอยู่ในลำแม่น้ำ แพไม้ทุก ๆ แพต้องชักธงเครื่องหมายของเจ้าของแพ และธงสำหรับเช่นนี้ต้องจดทะเบียนที่กรมเจ้าท่า แพใดมีซุงกี่ต้นและกำหนดจะมาถึงเขตท่ากรุงเทพฯ ได้เมื่อใดนั้น เจ้าของแพต้องทำหนังสือแจ้งความล่วงหน้าให้เจ้าท่าทราบ

มาตรา ๗๑  ห้ามมิให้แพไม้จอดผูกติดกับเรือกำปั่นหรือหลักหรือแพคนอยู่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายเรือหรือเจ้าของหลักเจ้าของแพนั้น ๆ

               มาตรา ๗๒  ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ แพไม้ต่าง ๆ ที่จะล่องหรือจูงลงมานั้น ต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก ถ้าจะเดินในสายตะวันออก ต้องเดินได้แต่แพไม้ที่มีเรือจูง แพไม้แพหนึ่งต้องมีซุงไม่เกินกว่าสองร้อยต้น หรือกว้างเกินกว่ายี่สิบเมตร

มาตรา ๗๓  ห้ามมิให้ล่องแพไม้ขึ้นลงในลำแม่น้ำในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น

                มาตรา ๗๔  ในคลอง ห้ามไม่ให้ล่องแพไม้ที่มีซุงผูกเทียบกันเกินกว่าสี่ต้นและที่ผูกติดต่อกันยาวเกินกว่าสองชั่วซุง และส่วนแพไม้ไผนั้นไม่ให้ยาวเกินกว่าสิบหกเมตร และกว้างเกินกว่าที่พอจะให้แพนั้นเดินในคลองได้โดยไม่กีดแก่การเดินเรือ

               แต่ถ้าข้าหลวงประจำจังหวัดได้พิจารณาเห็นว่าในคลองใดหรือในคลองตอนใดซึ่งใช้เรือกลไฟหรือเรือยนต์ลากจูงแพเกินกว่าที่ได้กำหนดไว้ในวรรคก่อนโดยไม่เป็นภัยแก่การจราจรทางน้ำ ก็อาจผ่อนผันให้ผูกติดต่อกันได้ไม่เกิน ๓๐ เมตร[๙]

เมื่อข้าหลวงประจำจังหวัดได้ผ่อนผันให้ตามวรรคก่อนแล้ว ภายหลังปรากฏว่า เป็นภัยแก่การจราจรทางน้ำจะถอนเสียก็ได้[๑๐]

                มาตรา ๗๕  ผู้ใดละเมิดต่อข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดในมาตรา ๗๐, ๗๑, ๗๒, ๗๓ และ ๗๔ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าร้อยบาท แต่ส่วนการฟ้องร้องเอาโทษในความผิดต่อข้อบังคับในมาตรา ๗๑ นั้น ให้ฟ้องได้แต่เมื่อมีคำร้องมาแต่ผู้ที่เป็นเจ้าของเรือกำปั่น หรือหลัก หรือแพคนอยู่ที่เกี่ยวข้อง

 

(ข) แพคนอยู่

                  

มาตรา ๗๖  ห้ามมิให้จอดแพคนอยู่ในลำแม่น้ำห่างจากฝั่งเกินกว่าพอดีสำหรับมิให้แพนั้นค้างแห้งในเวลาน้ำลงงวด

มาตรา ๗๗  เสาหลักสำหรับผูกแพคนอยู่นั้นห้ามมิให้ปักพ้นแนวหน้าแพออกไปมากกว่าหนึ่งเมตรครึ่ง

มาตรา ๗๘  ห้ามมิให้ปลูกเรือนที่ปักเสาลงเลนตามฝั่งแม่น้ำห่างออกมาจากฝั่งจนเกินกว่าพอดีสำหรับไม่ให้มีน้ำค้างอยู่ใต้เรือนเมื่อเวลาน้ำลงงวด

มาตรา ๗๙  ภายใต้เขตท่ากรุงเทพฯ ห้ามมิให้แพคนอยู่แพใดมีขนาดกว้างหรือยาวเกินกว่าสิบหกเมตร นับรวบทั้งชานและแพเล็กที่เป็นส่วนติดต่อกับแพนั้นด้วย

มาตรา ๘๐  ตามลำคลอง ห้ามมิให้แพคนอยู่แพใดมีขนาดกว้างเกินกว่าสิบสองเมตร และห้ามมิให้แพใดที่ผูกจอดกับฝั่งยื่นล้ำออกมาจนอาจเป็นที่กีดขวางแก่การเดินเรือ

มาตรา ๘๑  ห้ามมิให้จูงแพคนอยู่ขึ้นล่องในตอนใต้หลักเขตเหนือของท่ากรุงเทพฯ ในระหว่างตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น

มาตรา ๘๒  แพคนอยู่ที่จะจูงขึ้นล่องในลำแม่น้ำนั้นต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก ต่อเมื่อมีเหตุอันจำเป็นจึงให้เดินในทางเดินสายตะวันออกได้

มาตรา ๘๓  ห้ามมิให้จอดผูกแพคนอยู่แพใดกับฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาภายในเขตท่ากรุงเทพฯ โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า

              มาตรา ๘๔  ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ถ้าแพคนอยู่แพใดยื่นออกมาในลำแม่น้ำ จนอาจเป็นเหตุน่ากลัวอันตรายแก่การเดินเรือในเวลากลางคืนได้ ให้เจ้าท่ามีอำนาจบังคับให้แพนั้นจุดโคมไฟสีขาวไว้ในที่เด่นแลเห็นได้ง่ายในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เรือใหญ่เล็กแล่นมาโดนแพนั้น

มาตรา ๘๕  ตั้งแต่วันที่ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมาย ถ้าจะจอดแพคนอยู่หรือปลูกเรือนมีเสาปักเลนตามฝั่งแม่น้ำภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ก็ดี หรือตามลำคลองในแขวงกรุงเทพฯ ก็ดี ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าก่อนจึงทำได้

มาตรา ๘๖  คำขออนุญาตนั้นต้องเป็นหนังสือและมีแผนที่ฝั่งน้ำ แพคนอยู่หรือเรือนปักเสาลงเลนที่ข้างเคียงและทำเลที่จะจอดแพและปักหลักผูกแพนั้นด้วย

มาตรา ๘๗  เมื่อรับคำขออนุญาตแล้ว เจ้าท่าต้องตรวจภายในเวลาเดือนหนึ่ง และถ้าเห็นว่าเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับในมาตรา ๘๕ และ ๘๖ ทุกอย่างแล้ว ก็ให้ออกอนุญาตให้ตามที่ขอ

มาตรา ๘๘  ห้ามมิให้ลงมือทำการปลูกสร้างก่อนที่ได้รับอนุญาตตามที่ร้องขอนั้นเป็นอันขาด

                มาตรา ๘๙  ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ให้เจ้าท่ามีอำนาจและภายนอกเขตนั้นให้เจ้าพนักงานท้องที่มีอำนาจที่จะบังคับให้รื้อถอนแพคนอยู่หรือหลักผูกแพ หรือเรือนที่ปักเสาลงชายฝั่งน้ำ ที่จอดหรือปักหรือสร้างผิดต่อข้อบังคับในมาตราตั้งแต่ ๗๖ ถึง ๗๙ จะเป็นแพหรือหลักหรือเรือนที่ตั้งอยู่นั้นเมื่อก่อนหรือในภายหลังเวลาใช้พระราชบัญญัตินี้ก็ตาม และให้มีอำนาจบังคับให้รื้อถอนบรรดาแพคนอยู่หรือหลักผูกแพ หรือเรือนที่ปักเสาลงในชายฝั่งน้ำ ซึ่งได้ปลูกขึ้นโดยมิได้รับอนุญาตโดยถูกต้อง หรือที่ปลูกโดยไม่ถูกต้องตามข้อความในอนุญาตที่ได้ออกให้นั้นด้วย

               มาตรา ๙๐  ถ้าผู้ใดไม่กระทำตามคำสั่งที่กล่าวในมาตรา ๘๙ ผู้นั้นต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าวันละสิบบาทสำหรับทุกวันที่จะได้ตัดสินว่าผู้นั้นได้มีความขัดขืน และให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่มีอำนาจบังคับให้รื้อถอนแพคนอยู่ หรือเรือนที่ปักเสาลงในชายฝั่งน้ำโดยให้ผู้ที่เป็นเจ้าของเสียค่ารื้อถอนนั้นเอง

มาตรา ๙๑  ผู้ใดละเมิดต่อข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดในมาตรา ๘๑,๘๒,๘๓ และ ๘๔ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินกว่าร้อยบาท

(ค) ว่าด้วยเรือจับสัตว์น้ำและโพงพางที่ขวางแม่น้ำ

                  

                มาตรา ๙๒  การจับสัตว์น้ำด้วยอวนแหโดยทอดสมอจอดเรือเรียงรายลำติดกันขวางลำน้ำหรือทอดทุ่น หรือปักหลักโพงพางเป็นแถวจากฝั่งถึงกลางลำน้ำนั้น การจับสัตว์น้ำด้วยวิธีเหล่านี้ห้ามมิให้กระทำในเขตท่ากรุงเทพฯ ถ้าพ้นเขตท่ากรุงเทพฯ ออกไปจะทำโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานก็ได้

                มาตรา ๙๓  ในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น เจ้าของเรือจับสัตว์น้ำหรือทุ่นหรือหลักโพงพางเช่นว่ามาแล้ว ต้องจุดไฟเป็นแสงโพลงไว้บนฝั่งตรงกับแถวเรือหรือทุ่นหรือหลักเหล่านั้น และต้องจุดโคมไฟไว้บนเรือหรือทุ่นหรือหลักโพงพาง ที่ห่างที่สุดออกมาจากฝั่งนั้นด้วย และต้องเป่าเขากระบือหรือแตรเสียงก้อง สำหรับให้เรือที่เดินขึ้นล่องรู้ว่ามีของกีดกั้นเช่นนั้นอยู่ในลำน้ำด้วยรั้วหรือหลักที่ปักเรียงรายตามแนวชายฝั่งทะเลที่ปากน้ำหรือที่ใกล้ทางจะเข้าปากน้ำนั้น ในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น ต้องจุดโคมให้เห็นแสงไฟสีขาวที่ปลายรั้วหรือหลักสุดแถวทั้งสองข้าง

                มาตรา ๙๔  ทุ่นหรือหลักสำหรับจับสัตว์น้ำนั้น ห้ามมิให้ผูกโยงถึงกันด้วยลำไม้ไผ่ ให้ใช้ผูกด้วยเชือกอย่างเดียวตามธรรมเนียมที่เคยทำกันอยู่ และห้ามมิให้ผูกโยงจากฝั่งด้วยเชือกหรือด้วยไม้ยาวให้เป็นที่กีดขวางแก่ทางเดินของเรืออื่น

มาตรา ๙๕  ผู้ใดละเมิดต่อข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดในมาตรา ๙๒, ๙๓ และ ๙๔ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าสองร้อยบาท

หมวดที่ ๖

ข้อบังคับเบ็ดเตล็ด

                  

 

(ก) ว่าด้วยผูกเรือกับฝั่งด้วยเชือกลวดและเชือกต่าง ๆ

                  

               มาตรา ๙๖  ในแม่น้ำหรือเขตท่าใด ๆ ถ้านอกจากเรือที่จอดผูกเทียบท่าขนสินค้าท่าขึ้นหรือเทียบฝั่ง ห้ามมิให้เรือกำปั่นลำใดผูกโยงกับฝั่งด้วยเชือกลวดหรือเชือกอย่างอื่นจนไม่เหลือช่องน้ำในระหว่างเรือลำนั้นกับฝั่งสำหรับให้เรืออื่นเดินได้

มาตรา ๙๗  ห้ามมิให้เอาเชือกอย่างใด ๆ ทอดจากเรือกำปั่นลำใดที่จอดเทียบท่า ไปผูกกับทุ่นโยงในลำน้ำหรือเขตท่าจนกว่าจะถึงเวลาที่เรือเตรียมออกจากท่าที่จอดเทียบอยู่นั้น จึงให้ทำเช่นนั้นได้

มาตรา ๙๘  ผู้ใดละเมิดต่อข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดในมาตรา ๙๖ และ ๙๗ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าสองร้อยบาท

 

(ข) ว่าด้วยฝีเท้าเรือ-เกิดเหตุอันตราย-โคมไฟ

                  

                มาตรา ๙๙  ห้ามมิให้นายเรือกลับเรือกำปั่นในลำแม่น้ำ ร่องน้ำ ช่องน้ำ หรือในสายทางเรือเดิน เว้นไว้แต่ในเวลาที่ทางน้ำนั้น ๆ ว่างไม่มีเรืออื่นแล่นเข้าออก และห้ามมิให้นายเรือกำปั่นลำใดที่จอดเทียบท่าขนสินค้าหรือท่าขึ้นเคลื่อนเรือออกจากท่า เว้นไว้แต่ในเวลาที่ลำแม่น้ำ ร่องน้ำ ช่องน้ำ หรือสายทางเรือเดินอันเป็นท้องที่นั้นว่างไม่มีเรืออื่นแล่นเข้าออก

มาตรา ๑๐๐  นายเรือกำปั่นลำใดที่กำลังเข้าหรือออกที่เขตท่าหรือช่องแคบ ต้องลดฝีเท้าเรือให้เดินช้าลงพอสมควรแก่การเดินเรืออย่างระวัง และอย่างป้องกันเหตุอันตรายแก่เรือนั้นเอง

                มาตรา ๑๐๑  บรรดาเรือกลไฟเมื่อเดินเข้าคลอง หรือเข้าไปเทียบท่าจอด หรือเข้าแอบข้างเรือลำอื่นก็ดี นายเรือต้องให้เรือนั้นแล่นโดยช้าไม่ให้เร็วกว่าชั่วโมงละสี่ไมล์ และเมื่อแล่นข้ามทางสำหรับเรือเดินขึ้นล่องต้องระวังอย่าให้เป็นที่กีดขวางแก่การเดินเรือในทางนั้น และห้ามไม่ให้แล่นผ่านหัวเรือกำปั่นไฟที่กำลังเดินขึ้นหรือล่องอยู่นั้นภายในระยะร้อยเมตร

                มาตรา ๑๐๒[๑๑]  นายเรือที่ได้รับประกาศนียบัตรแสดงความรู้ทุกคน ต้องใช้ความระมัดระวังในการควบคุมเรือโดยเต็มความสามารถ เพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายอย่างใด ๆ และถ้ามีเหตุอย่างใด ๆ เกิดขึ้นในหน้าที่ขณะที่ตนกระทำการควบคุมเรือนั้นอยู่ นายเรือลำนั้นต้องรายงานเหตุที่เกิดขึ้นนั้นต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

                ๑. สำหรับเรือที่ยังไม่ออกจากเขตท่าไปทะเลในทันทีทันใด ถัดเวลาที่เกิดเหตุให้ยื่นรายงานต่อเจ้าท่าภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง แต่ถ้าเรือลำนั้นกำลังจะออกจากท่าไปสู่ทะเลก็ให้ส่งรายงานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนในโอกาสแรกที่จะส่งได้ หรือแวะแจ้งความต่อกรมการอำเภอ หรือตำรวจท้องที่ใกล้เคียง หรือฝากรายงานนั้นไว้ แก่เจ้าพนักงานศุลกากร ณ ตำบลใกล้เคียงเพื่อส่งให้เจ้าท่าต่อไป

รายงานนั้นต้องแจ้งให้ชัดเจนถึงข้อเหล่านี้

(๑) ตำบลที่เกิดเหตุพร้อมทั้งแผนที่สังเขปถ้าสามารถจะทำได้

(๒) วัน เดือน ปี ที่เกิดเหตุ

(๓) ชื่อเจ้าของเรือ หรือตัวแทน และเลขทะเบียนเรือ

(๔) สาเหตุที่เกิดและกรณีแวดล้อม

(๕) ความเสียหายที่ได้รับ

(๖) ถ้าเป็นเรือที่มีสมุดปูม ก็ให้คัดข้อความประจำวันที่จดไว้ในสมุดปูม ทั้งปากเรือและท้องเรือแนบมาด้วย

๒. สำหรับเรืออื่น ๆ นอกจากในอนุมาตรา ๑ ให้รายงานเหตุที่เกิดขึ้นนั้นต่อเจ้าท่า หรือแจ้งความต่อกรมการอำเภอ หรือตำรวจท้องที่ใกล้เคียงภายในเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง

๓. กรมการอำเภอ หรือตำรวจท้องที่ เมื่อได้รับแจ้งความแล้วให้ ไต่สวนและจัดการไปตามหน้าที่ และให้รีบส่งสำเนาการไต่สวนนั้นไปให้เจ้าท่าท้องถิ่น หรือกรมเจ้าท่าทราบ

มาตรา ๑๐๓  นายเรือคนใดละเมิดต่อข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดในมาตรา ๙๙, ๑๐๐, ๑๐๑ และ ๑๐๒ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าร้อยบาท

              มาตรา ๑๐๔  เรือกลไฟเล็กและเรือยนต์ทุกลำ เมื่อเวลาเดินต้องมีโคมไฟสีเขียวไว้ข้างแคมขวาดวงหนึ่ง โคมไฟสีแดงข้างแคมซ้ายดวงหนึ่ง และโคมไฟสีขาวอย่างแจ่มแขวนไว้ในที่เด่นสูงจากดาดฟ้า ให้ถูกต้องตามที่จะกำหนดไว้ในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ

              มาตรา ๑๐๕  เรือทุกลำและแพไม้ทุกแพที่ทอดสมอหรือผูกอยู่กับหลัก หรือกำลังเดินหรือล่องอยู่นั้น ต้องแขวนโคมไฟสีขาวดวงหนึ่งไว้ ในที่เด่นให้เป็นที่แลเห็นได้จากทุกทิศ แต่ถ้าจอดผูกเทียบอยู่กับฝั่งแม่น้ำไม่จำเป็นต้องมีโคมไฟไว้เช่นนี้ก็ได้

                 มาตรา ๑๐๖  เรือลำเลียงและเรือโป๊ะจ้ายทุกลำ ถ้าเป็นเรือที่เดินด้วยเครื่องจักรอย่างเรือไฟ ต้องมีโคมไฟเหมือนอย่างที่บัญญัติไว้สำหรับเรือกลไฟ ถ้าเป็นเรือเดินด้วยใบฉะนั้นต้องใช้โคมไฟตามอย่างที่บัญญัติไว้สำหรับเรือใบที่กำลังเดิน

                 มาตรา ๑๐๗  เรือทุกลำที่อยู่ในพ่วงที่กำลังเดินหรือทอดสมออยู่ก็ดี ต้องจุดโคมไฟสีขาวไว้ ในที่เด่นแลเห็นง่าย ในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อให้เป็นที่สังเกตได้ชัดว่าหมู่เรือที่พ่วงนั้นยาวและกว้างเท่าใด

               มาตรา ๑๐๘  ที่ตำบลสำเภาจมปากน้ำเจ้าพระยานั้น เมื่อมีเรือกำปั่นสองลำแล่นมาจะสวนกัน ถ้าเห็นว่าจะสวนกันที่ตรงหรือเกือบตรงข้างเรือทุ่นไฟหมายตำบลสำเภาจม ก็ให้เรือลำที่ทวนน้ำนั้นหยุดหรือรอแล่นช้า ๆ จนกว่าเรืออีกลำหนึ่งจะได้แล่นพ้นเรือทุ่นไฟนั้นโดยเรียบร้อยแล้ว

                มาตรา ๑๐๙  เรือโป๊ะจ้ายและเรือใบทุกอย่าง เมื่อแล่นก้าวขึ้นล่องตามลำแม่น้ำหรือตามช่องแคบ ถ้ามีเรือกลไฟลำใดเดินอยู่ในฟากน้ำหรือร่องที่ไม่ผิดหรือเดินแอบฝั่งอย่างใกล้พอสมควรแก่ที่จะไม่ให้เป็นอันตรายแก่เรือลำนั้น ห้ามมิให้เรือที่แล่นก้าวนั้นแล่นผ่านตัดหน้าเรือหรือแล่นก้าวใกล้ถัดหน้าเรือกลไฟนั้นเป็นอันขาด

ในแม่น้ำหรือในช่องน้ำที่แคบห้ามมิให้เรือกลไฟเล็กหรือเรือยนต์พยายามแล่นผ่านหน้าเรือกำปั่นไฟโดยอย่างที่อาจให้เกิดโดนกันขึ้นได้

                มาตรา ๑๑๐  นายเรือคนใดละเมิดต่อข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดในมาตรา ๑๐๔,๑๐๕,๑๐๖,๑๐๗,๑๐๘ และ ๑๐๙ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าหกเดือนหรือปรับไม่เกินพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วยกันทั้งสองสถาน

(ค) ว่าด้วยเรือถอยออกจากอู่

                  

 

                มาตรา ๑๑๑  ในตอนลำน้ำเจ้าพระยาซึ่งเรือเดินทะเลเดินได้นั้น เมื่อมีเรือลำใดกำลังถอยออกจากอู่หรือถอยลงจากท่าลาดในเวลากลางวันต้องมีทุ่นรูปกลมสีดำลูกหนึ่งชักขึ้นไว้ที่เสา หรือที่เด่นแห่งหนึ่งที่ปากอู่หรือท่าลาดนั้น ให้เรือต่าง ๆ ที่เดินขึ้นล่องในแม่น้ำแลเห็นได้ชัด เมื่อก่อนหน้าจะถอยออกจากอู่หรือท่าลาดให้ชักลูกทุ่นขึ้นไว้เพียงครึ่งเสา เมื่อกำลังถอยออก ให้ชักขึ้นถึงปลายเสา ถ้าเป็นเวลาค่ำคืนให้ใช้โคมไฟสีแดงแทนและทำอย่างวิธีเดียวกันกับลูกทุ่นสีดำ

มาตรา ๑๑๒  ผู้ใดละเมิดต่อข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดในมาตราที่ว่ามานี้ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าห้าร้อยบาท

(ฆ) ว่าด้วยทุ่นและเครื่องสำหรับผูกจอดเรือ

                  

              มาตรา ๑๑๓  ห้ามมิให้ผู้ใดมีหรือวางทุ่นหรือเครื่องสำหรับผูกจอดเรือในน่านน้ำแม่น้ำหรือทำเลทอดสมอจอดเรือใด ๆ เว้นไว้แต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าหรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่และโดยต้องถือและกระทำตามข้อบังคับกำกับอนุญาตและต้องเสียค่าธรรมเนียมตามซึ่งเจ้าท่า หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่นั้นจะกำหนด แต่บัญญัติที่ว่านี้ไม่ใช้ตลอดถึงทุ่นและเครื่องหมายหรือเครื่องผูกจอดเรือของกระทรวงทหารเรือ ซึ่งจอดไว้ชั่วคราวในลำน้ำสำหรับการตรวจเซอร์เวย์ทำแผนที่

                มาตรา ๑๑๔  ห้ามมิให้ผู้ใดเอาเรือเก็บสินค้าหรือเรือชนิดใด ๆ ที่คล้ายเรือเก็บสินค้าซึ่งใช้เป็นเรือทุ่นหรือสำหรับบรรจุสิ่งของต่าง ๆ ทอดสมออยู่เป็นการประจำในน่านน้ำ ลำแม่น้ำ หรือทำเลทอดสมอจอดเรือตำบลใด ๆ เว้นไว้แต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าหรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ และโดยต้องถือและกระทำตามข้อบังคับกำกับอนุญาตและต้องเสียค่าธรรมเนียมตามซึ่งเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่นั้นจะกำหนด

                มาตรา ๑๑๕  ทุ่นหรือเครื่องสำหรับผูกจอดเรือ ซึ่งจะได้อนุญาตตามความในมาตรา ๑๑๓ นั้น ให้ใช้สำหรับเรือของผู้ที่ได้รับอนุญาตฝ่ายเดียว ถ้าเรืออื่นจะอาศัยใช้ผูกจอด ต้องได้รับอนุญาตของผู้นั้นก่อนจึงทำได้

                มาตรา ๑๑๖  ผู้ใดละเมิดต่อข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดในมาตรา ๑๑๓, ๑๑๔ และ ๑๑๕ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าสองร้อยบาท และอาจจะต้องถูกบังคับให้รื้อถอนทุ่นหรือเครื่องสำหรับผูกจอดเรือที่เกี่ยวข้องนั้นโดยเสียเงินของตนเองด้วย

(ค) ว่าด้วยการล่วงล้ำลำแม่น้ำ

                

มาตรา ๑๑๗  ภายในมณฑลกรุงเทพฯ ห้ามเป็นอันขาดมิให้ผู้ใดทำสิ่งใดที่เป็นการล่วงล้ำในลำแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า หรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่

               มาตรา ๑๑๘  ผู้ใดละเมิดต่อข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ในมาตรา ๑๑๗ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าร้อยบาท และให้บังคับให้รื้อถอนสิ่งที่เป็นเครื่องล่วงล้ำนั้น ภายในเวลาที่จะกำหนดและโดยเสียเงินของตนเอง ถ้าและขัดขืนมิทำตามคำสั่งให้รื้อถอนฉะนั้น ให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการรื้อถอน โดยคิดเอาค่าใช้จ่ายในการนั้นแก่ผู้ที่มีความผิด

(ฆ) ว่าด้วยการทิ้งอับเฉาลงในลำแม่น้ำ, เขตท่า หรือในทำเลทอดสมอจอดเรือ

                  

 

               มาตรา ๑๑๙  ผู้ใดมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าหรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ถ้าและผู้นั้นเอาหินหรือกรวดหรืออับเฉา หรือโคลนดิน หรือของอย่างใด ๆ ทิ้งลงในร่องน้ำหรือใกล้เคียงร่องน้ำที่สันดอนปากน้ำแม่น้ำใด ๆ ที่เรือเดินได้ก็ดี หรือทิ้งลงในแห่งหนึ่งแห่งใดในลำแม่น้ำเช่นนั้น หรือในเขตท่าหรือในทำเลทอดสมอจอดเรือตำบลใด ๆ ก็ดี ท่านว่าผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าพันบาท และต้องใช้เงินค่าใช้จ่ายที่เจ้าพนักงานต้องเสียในการขนสิ่งเหล่านั้นให้พ้นจากตำบลนั้น ๆ ด้วย

                มาตรา ๑๒๐  ห้ามมิให้ผู้ใดขุดดินในลำน้ำตอนใต้หลักเขตทิศเหนือของเขตท่ากรุงเทพฯ หรือในเขตท่าหรือทำเลทอดสมอจอดเรือตำบลใด ๆ เว้นไว้แต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าหรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ถ้าผู้ใดละเมิดต่อข้อบังคับในมาตรานี้ประการใด ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าพันบาท และต้องใช้เงินค่าใช้จ่ายที่เจ้าพนักงานต้องเสียเพราะเหตุความละเมิดนั้นด้วย

(ง) ว่าด้วยเรือที่เป็นอันตรายลง ฯลฯ

                  

             มาตรา ๑๒๑  เมื่อมีเรือใหญ่น้อยหรือเรืออย่างใด ๆ เป็นอันตรายหรือจมลงในร่องน้ำที่เรือเดินได้ตำบลใด ๆ โดยอุบัติเหตุหรือเหตุอย่างใด ๆ ก็ดี ท่านว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าของเรือที่เป็นอันตรายลงเช่นนั้น ที่จะต้องจัดการหมายที่ ๆ เรือจมนั้นโดยพลัน ด้วยเครื่องหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เห็นสมควร สำหรับเป็นที่สังเกตทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืน ไปจนกว่าจะได้รื้อขนเรือที่จมจากที่นั้น และท่านว่าการรื้อขนนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าของเรือนั้นต้องลงมือกระทำโดยพลันและโดยความรีบร้อนตามสมควร

              ถ้าและเจ้าของเรือที่จมในร่องน้ำทางเรือเดินตำบลใดละเลยมิได้ทำเครื่องหมายลงไว้ในที่ ๆ เรือจมดังที่ว่ามาแล้ว ท่านว่าให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการให้มีเครื่องหมายอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรลงไว้เป็นเครื่องสังเกตสำหรับให้ชาวเดินเรือมีความระวัง แล้วเรียกเอาเงินค่าที่ต้องใช้จ่ายไปเท่าใด ในการทำเครื่องหมายจากผู้เป็นเจ้าของเรือที่จมนั้นได้

               อนึ่งเมื่อการเดินเรือในเขตท่า หรือในแม่น้ำที่เรือเดินได้ตำบลใดเกิดมีความขัดขวางหรือน่ากลัวเกิดอันตรายเพราะมีเรืออย่างหนึ่งอย่างใดจมอยู่ หรือเพราะมีสิ่งกีดขวางอย่างอื่น ๆ ที่คล้ายกันและเจ้าพนักงานได้บอกกล่าวตามสมควรแก่เจ้าของหรือแก่ผู้แทนเจ้าของเรือจมหรือสิ่งที่กีดขวางนั้นแล้ว เจ้าของมิได้จัดการอย่างใด ท่านว่าให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่มีอำนาจรื้อทำลาย, ขน, ขาย หรือกระทำอย่างใด ๆ แก่เรือที่จมหรือสิ่งที่กีดขวางนั้นได้ และให้เรียกเงินค่าที่ได้ใช้จ่ายไปในการนั้น ๆ จากเจ้าของเรือที่จมหรือสิ่งที่กีดขวางนั้น

(จ) ว่าด้วยแตรหวีดเป่าด้วยแรงสติม

                  

             มาตรา ๑๒๒  ห้ามมิให้เรือกำปั่นไฟหรือเรือกลไฟเล็กที่ทอดสมออยู่ก็ดี หรือกำลังเดินอยู่ก็ดี เป่าแตรหวีดนอกจากเฉพาะสำหรับความสะดวกในการเดินเรือ หรือเพื่อป้องกันมิให้โดนกันกับเรืออื่นและเสียงแตรที่เป่าขึ้นนั้นห้ามมิให้เป่านานเกินกว่าสมควร ข้อบังคับที่ว่านี้ให้ใช้ได้สำหรับแตรเรือยนต์เหมือนกัน

มาตรา ๑๒๓  ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ห้ามมิให้เรือลำใดใช้แตรที่มีเสียงห้าว หรือเสียงครางครวญ เว้นไว้แต่เรือมาจากต่างประเทศที่ไม่มีแตรอย่างอื่นนอกจากอย่างนั้น

 

ว่าด้วยการยิงปืน

                  

                มาตรา ๑๒๔  ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ นอกจากได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า หรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ห้ามมิให้ผู้ใดยิงปืนจากเรือกำปั่นหรือเรือเล็กลำใดเป็นอันขาด เว้นไว้แต่สำหรับเป็นเครื่องสัญญาณว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นแก่เรือ

ว่าด้วยการตีกลองตีฆ้องและจุดดอกไม้เพลิง

                  

มาตรา ๑๒๕  ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ และนอกจากได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ห้ามมิให้ผู้ใดตีกลอง ตีฆ้อง ปล่อยหรือจุดดอกไม้เพลิงในระหว่างเวลาตั้งแต่ ๔ ทุ่มถึงเวลาย่ำรุ่งเป็นอันขาด

มาตรา ๑๒๖  ผู้ใดละเมิดต่อข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดในมาตรา ๑๒๒,๑๒๓,๑๒๔ และ ๑๒๕ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าร้อยบาท

(ฉ) ว่าด้วยทรัพย์สิ่งของที่ลืมไว้ในเรือและทรัพย์สิ่งของที่ลอยพลัดอยู่ในแม่น้ำ

                  

                มาตรา ๑๒๗  เมื่อมีทรัพย์สิ่งของอย่างใดของคนโดยสารหรือของคนอื่นลืมไว้ในเรือกำปั่นหรือเรือเล็กลำใด และนายเรือลำนั้นไม่สามารถที่จะคืนให้แก่เจ้าของได้ ท่านว่าให้เอาไปส่งไว้ยังโรงพักกองตระเวนที่ตั้งอยู่ใกล้ และทำคำชี้แจงเหตุที่เกี่ยวข้องยื่นไว้ด้วย

มาตรา ๑๒๘  ผู้ใดพบและเก็บทรัพย์สิ่งของในแม่น้ำ อันเป็นของ ๆ คนอื่นที่หายไป เช่น ไม้ซุงหรือไม้กระดานที่เป็นของพลัดจากแพหรือเรือหรือสิ่งของอย่างอื่น ท่านว่าต้องนำส่งไว้ยังโรงพักกองตระเวนที่ตั้งอยู่ใกล้

               มาตรา ๑๒๙  เมื่อมีทรัพย์สิ่งของมาส่งไว้ดังนั้น กองตระเวนต้องคืนให้แก่เจ้าของ ถ้าหากรู้จักตัว ถ้าหาเจ้าของไม่ได้ ก็ให้ประกาศโฆษณาไว้เมื่อพ้นกำหนดเวลา ๓ เดือนไปแล้ว ท่านว่าให้ขายทรัพย์สิ่งของนั้นโดยวิธีขายทอดตลาด ขายได้เงินเท่าใด ให้ชักไว้ร้อยละสิบสำหรับผู้ที่พบและเก็บทรัพย์สิ่งของนั้น ๆ เหลือจากนั้นให้ส่งไว้เป็นของรัฐบาล แต่ในการที่จะคืนให้เจ้าของก็ดี หรือจะขายทอดตลาดก็ดี ท่านให้กองตระเวนสืบให้ทราบเสียก่อนว่าทรัพย์สิ่งของนั้น ๆ จะต้องเสียภาษีศุลกากรหรือไม่

มาตรา ๑๓๐  ผู้ใดละเมิดต่อข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดในมาตรา ๑๒๗,๑๒๘ และ ๑๒๙ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าร้อยบาท

(ช) ว่าด้วยคำเตือนสำหรับนายเรือกำปั่น

                  

 

มาตรา ๑๓๑  เมื่อเวลาอนุญาตให้ลูกเรือลาพัก นายเรือควรชี้แจงแก่ลูกเรือให้ทราบว่าเวลาขึ้นบกอย่าให้มีมีดที่มีฝักหรืออาวุธที่อาจทำอันตรายได้อย่างอื่น ๆ เช่น ลูกดิ่ง ฯลฯ ติดตัวไปด้วยเป็นอันขาด

                ตามความในมาตรา ๓๓๕ ข้อ ๒ แห่งประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ท่านว่าถ้าผู้ใดมีอาวุธอย่างใดเช่นว่ามานั้น เข้าไปในถนนหรือสาธารณสถาน กองตระเวนมีอำนาจที่จะจับกุมผู้นั้นได้ และถ้าพิจารณาเป็นสัตย์ต่อหน้าศาลให้ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าสิบสองบาท และให้ริบอาวุธนั้นเสียด้วย

มาตรา ๑๓๒  นายเรือกำปั่นทุกคนต้องกระทำตามบังคับและคำสั่งที่สมควรทุกอย่างของเจ้าท่า ในการที่จะให้เคลื่อนหรือย้ายเรือที่ตนควบคุมอยู่นั้นไปยังที่ใด ๆ

มาตรา ๑๓๓  ห้ามมิให้พาเอาศพเข้ามาในน่านน้ำไทยจากเมืองท่าต่างประเทศ

                นอกจากศพที่มีหีบหรือเครื่องหุ้มห่ออย่างมิดชิดแน่นหนารั่วไม่ได้ และมีหนังสือใบพยานกำกับศพมาด้วยฉบับหนึ่งชี้แจงว่าตายด้วยเหตุอะไรเป็นหนังสือใบพยานที่แพทย์ซึ่งมีวุฒิสมควรตามกฎหมายได้ทำให้และกงสุลไทยในเมืองท่าที่มาจากนั้น ได้ลงชื่อเป็นพยานหรือถ้าไม่มีกงสุลไทย เจ้าพนักงานฝ่ายตุลาการได้ลงชื่อเป็นพยาน เมื่อศพมาถึงน่านน้ำไทย นายเรือต้องรีบแจ้งความให้ผู้นำร่อง เจ้าท่า หรือเจ้าพนักงานแพทย์ศุขาทราบโดยพลัน

ภาคที่ ๒

ข้อบังคับสำหรับออกใบอนุญาตการใช้และ

การควบคุมเรือกำปั่นและเรือเล็กต่าง ๆ

                  

หมวดที่ ๑

ว่าด้วยข้อบังคับทั่วไป

                  

มาตรา ๑๓๔  เรือกำปั่นต่างประเทศที่ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัตินี้นั้น ต้องเป็นเรือที่ประกอบไปด้วยลักษณะดังต่อไปนี้ คือ :-

(๑) เป็นเรือที่ได้จดทะเบียนในเมืองท่าต่างประเทศ และ

(๒) เดินอยู่ในระหว่างเมืองท่าต่างประเทศกับน่านน้ำไทย และ

(๓) มีหนังสือใบพยานการตรวจเรือลำนั้น ซึ่งยังไม่หมดอายุ และเป็นหนังสือใบพยานที่เจ้าพนักงานต่างประเทศผู้มีหน้าที่ในส่วนนั้นได้ออกให้ และชี้แจงว่าเป็นเรืออันสมควรเดินทะเลได้ และบอกกำหนดเวลาที่สมควรเดินทะเลได้เช่นนั้น

มาตรา ๑๓๕[๑๒]  ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๓๔ บรรดาเรือที่ใช้อยู่ในน่านน้ำไทยนอกจากเรือที่ใช้เดินในแม่น้ำโขง ต้องจดทะเบียนและรับใบอนุญาตและให้เสียค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗๔, ๑๘๐ และ ๑๘๘ เว้นแต่

                ๑. เรือยนต์มีขนาดต่ำกว่า ๓ ตันกรอสส์ ให้เรียกค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตกึ่งอัตราปกติ แต่ถ้าเรือยนต์นั้นเป็นของกสิกรใช้เครื่องฉุดระหัดแรงม้าไม่เกินกว่า ๗ แรงที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการกสิกรรมของตนเอง ให้ยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนและรับใบอนุญาต

๒. เรือใบและเรือเล็กขนาดบรรทุกต่ำกว่า ๑๐๐ หาบ ไม่ต้องจดทะเบียนและรับใบอนุญาต ส่วนที่มีขนาดบรรทุก ตั้งแต่ ๑๐๐ หาบ ถึง ๘๐๐ หาบ ให้เรียกค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตกึ่งอัตราปกติ

บทบัญญัติแห่งอนุมาตรา ๒ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่เรือที่ใช้อยู่หรือที่นำมาใช้ในท้องที่ซึ่งได้มีการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว

                 มาตรา ๑๓๖[๑๓]  ในท้องที่ที่มีการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตสำหรับเรือกลไฟ เรือยนต์และเรือเล็กอยู่แล้วนั้นให้คงมีการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตต่อไป ส่วนในท้องที่อื่นซึ่งยังมิได้บังคับให้มีการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตนั้น เมื่อจะใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับเมื่อใด ให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามเดือน

มาตรา ๑๓๗[๑๔]  เรื่องราวขอรับใบอนุญาตหรือขอต่ออายุใบอนุญาตนั้น ให้ยื่นต่อเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงาน ซึ่งได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อการจดทะเบียนและต้องเขียนด้วยกระดาษแบบพิมพ์ของราชการ เวลาที่ยื่นเรื่องราวผู้ขอใบอนุญาตต้องนำเงินไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนเงินค่าธรรมเนียมสำหรับออกใบอนุญาตนั้นมาวางไว้ด้วย

                ถ้าเป็นเรือกลไฟหรือเรือยนต์ที่ประสงค์จะเดินรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือ ผู้ยื่นเรื่องราวต้องแจ้งมาให้ชัดเจน ถ้าจะเดินรับจ้างเป็นการประจำทางจะต้องระบุด้วยว่า ตนจะนำเรือนั้นไปเดินจากตำบลใดถึงตำบลใด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ เรือกลไฟหรือเรือยนต์ลำใดเดินรับจ้างเป็นการประจำระหว่างตำบลใด ๆ มีกำหนดตั้งแต่ ๓ เดือนขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นเรือเดินประจำทาง

เรือกลไฟหรือเรือยนต์ที่ได้รับอนุญาตให้เดินรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือตามความประสงค์ในวรรคก่อนนี้แล้ว ต่อมาถ้าจะขอแก้ทะเบียนเปลี่ยนความประสงค์ที่ได้รับอนุญาตไว้แต่เดิมนั้นก็ได้

               มาตรา ๑๓๘  เมื่อเจ้าพนักงานออกใบอนุญาตวินิจฉัยโดยเหตุอันสมควรเห็นว่าเรือกำปั่นและเรือเล็กลำใดมีความพิทักษ์รักษาและความสะอาดเรียบร้อยไม่พอเพียงสำหรับการที่ใช้กันอยู่หรือที่คิดจะใช้นั้นก็ดี หรือว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตหรือคนประจำเรือลำใดได้ประพฤติไม่เรียบร้อยอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดีท่านว่าถ้าเป็นเรือที่ยังไม่มีใบอนุญาตเจ้าพนักงานผู้นั้นมีอำนาจที่จะไม่ยอมออกใบอนุญาตให้ ถ้าเป็นเรือที่มีใบอนุญาตแล้วเจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะเรียกคืนและริบใบอนุญาตนั้นได้

                มาตรา ๑๓๙  เมื่อเห็นว่าเรือกำปั่นลำใดมีความไม่สมประกอบหรือไม่เป็นที่น่าไว้ใจสำหรับการเดินทาง ที่จะใช้เรือนั้นในทางทะเลหรือทางแม่น้ำ ท่านว่าเจ้าพนักงานออกใบอนุญาตมีอำนาจที่จะกักเรือนั้นไว้และบังคับให้เปลี่ยนแก้และซ่อมแซมเรือนั้นเสียให้มั่นคงเรียบร้อย

                  มาตรา ๑๔๐  ถ้าเรือกำปั่นหรือเรือเล็กลำใดที่เจ้าพนักงานไม่ยอมออกใบอนุญาต หรือเรียกคืนใบอนุญาตหรือกัก ตามบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ เป็นเรือของคนในบังคับศาลกงสุลต่างประเทศศาลใดศาลหนึ่ง ท่านว่าถ้าจะร้องอุทธรณ์ก็ให้มีอำนาจชอบธรรมที่จะร้องต่อศาลนั้นได้

                   มาตรา ๑๔๑  ใบอนุญาตที่ออกให้สำหรับเรือที่เจ้าของเป็นคนในบังคับศาลกงสุลต่างประเทศศาลใดศาลหนึ่งนั้น ก่อนที่จะใช้ได้ผู้รับใบอนุญาตต้องนำใบอนุญาตให้กงสุลของประเทศของตนลงชื่อประทับตรารู้เห็นด้วยเสียก่อน

                 มาตรา ๑๔๒[๑๕]  ใบอนุญาตทุกฉบับต้องมีเลขลำดับประจำ และต้องมีคำชี้แจงว่าใช้ได้ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่วันเดือนปีใด ถึงวันเดือนปีใด ถ้าเป็นใบอนุญาตสำหรับเรือไฟ ให้ใช้กระดาษแบบพิมพ์ตามแบบ ๔ (เลขที่ ๑) แบบ ๔ (เลขที่ ๒) แบบ ๔ (เลขที่ ๓) แบบ ๔ (เลขที่ ๔) แบบ ๔ (เลขที่ ๕) แบบ ๔ (เลขที่ ๖) แบบ ๔ (เลขที่ ๗) แบบ ๔ (เลขที่ ๘) แบบ ๔ (เลขที่ ๙) ในท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๔๓  การออกใบอนุญาตหรือการเปลี่ยนใบอนุญาตนั้น ให้ทำได้โดยเรียกค่าธรรมเนียมตามที่บัญญัติไว้ในหมวดที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ แห่ง ภาคที่ ๒ แห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๔๔  ใบอนุญาตนั้นให้ใช้ได้ชอบด้วยกฎหมายมีกำหนดไม่เกินกว่าสิบสองเดือน

              มาตรา ๑๔๕  ใบอนุญาตนั้นจะสับเปลี่ยนกันใช้ไม่ได้ แต่ถ้าในระหว่างที่ใบอนุญาตยังไม่หมดอายุ เรือนั้นได้เปลี่ยนเจ้าของกันไปแล้วก็ให้จัดการโอนกรรมสิทธิ์กันได้ แต่ต้องแจ้งความให้เจ้าท่าทราบด้วย เพื่อเจ้าท่าจะได้แก้ใบอนุญาตเปลี่ยนชื่อในบัญชีทะเบียนไว้เป็นสำคัญโดยเรียกค่าธรรมเนียม ถ้าเป็นเรือเล็กเรือบรรทุกสินค้า หรือเรือเป็ดทะเล ฯลฯ เป็นเงินหนึ่งบาท ถ้าเป็นเรือนอกจากที่ว่ามานี้เป็นเงินห้าบาท

                มาตรา ๑๔๖  เมื่อยังไม่ได้จัดการโอนในทะเบียนและในใบอนุญาตตามที่บังคับไว้ในมาตรา ๑๔๕ ท่านว่าผู้ที่จะโอนนั้น ต้องคงเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ก่อนตามบัญญัติในมาตรา ๒๙๘ และ ๒๙๙ และให้ถือว่าการโอนนั้น ยังใช้โดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้สำหรับคนผู้อื่นที่ยังไม่รู้ในเรื่องการโอนนั้น

                มาตรา ๑๔๗  ถ้าในระหว่างอายุใบอนุญาตฉบับใด กระดาษใบอนุญาตนั้นลบเลือนจนอ่านไม่ชัดก็ดี หรือสูญหายไปก็ดี ท่านห้ามมิให้ใช้เรือลำนั้น จนกว่าเจ้าท่าจะได้ออกสำเนาใบอนุญาตฉบับใหม่ให้ ถ้าเป็นการที่สูญหายจะขอใหม่ ให้ยื่นเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร

มาตรา ๑๔๘  ใบอนุญาตฉบับใหม่ที่ออกให้แทนเช่นว่ามานั้น ให้มีอักษรว่า “สำเนาใบอนุญาต” เขียนลงไว้เป็นสำคัญ และให้ใช้ได้ชอบด้วยกฎหมายเพียงกำหนดเวลาที่ฉบับเดิมยังไม่หมดอายุ

มาตรา ๑๔๙  การออกสำเนาใบอนุญาตนั้น ให้ออกโดยเรียกเงินค่าธรรมเนียม ถ้าสำหรับเรือเล็กเรือบรรทุกสินค้า หรือเรือเป็ดทะเล ฯลฯ เป็นเงินหนึ่งบาท ถ้าเป็นเรือนอกจากที่ว่ามานี้เป็นเงินห้าบาท

มาตรา ๑๕๐  ผู้ที่ควบคุมเรือกำปั่นและเรือเล็กลำใด ที่ได้จดทะเบียนแล้ว ต้องรักษาใบอนุญาตไว้ในเรือนั้นเสมอ

               มาตรา ๑๕๑  ผู้ที่ควบคุมเรือกำปั่นและเรือเล็กลำใดที่เป็นเรือต้องจดทะเบียนนั้น เมื่อเจ้าพนักงานออกใบอนุญาต หรือเจ้าพนักงานกองตระเวนหรือเจ้าพนักงานกรมเจ้าท่า หรือผู้ที่เช่าเรือลำนั้นมีความประสงค์จะขอตรวจดูใบอนุญาตสำหรับเรือลำนั้นแล้ว ผู้ควบคุมต้องนำมาแสดงให้เห็นปรากฏ

               มาตรา ๑๕๒  ผู้ใดเป็นผู้ควบคุมเรือกำปั่นและเรือเล็กลำใดที่มีใบอนุญาตหรือยังไม่มีใบอนุญาตก็ดี ถ้าและผู้นั้นรู้อยู่แล้วเอาใบอนุญาตสำหรับเรือลำอื่นออกแสดง หรือใช้ประหนึ่งว่าเป็นใบอนุญาตสำหรับเรือลำของตนไซร้ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าหกเดือน หรือปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามาแล้วทั้งสองสถาน และผู้ใดแสวงหาใบอนุญาตมาสำหรับการเช่นว่ามาแล้วในมาตรานี้ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษดุจกัน

                มาตรา ๑๕๓  ห้ามมิให้เรือกำปั่นลำใดเอาชื่อของเรือลำอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมาใช้ ถ้าและเรือกำปั่นลำใดที่ขอรับใบอนุญาตมีชื่อพ้องกันกับเรือลำอื่น เจ้าท่าต้องขอให้ผู้ที่ยื่นเรื่องราวขอรับใบอนุญาตนั้นเปลี่ยนชื่อเรือเป็นอย่างอื่น และให้ยับยั้งการออกใบอนุญาตไว้จนกว่าจะได้เปลี่ยนชื่อเรือนั้น

มาตรา ๑๕๔  เจ้าของเรือกำปั่นลำใดจะเปลี่ยนชื่อเรือที่จดทะเบียนไว้แล้ว ท่านว่าต้องนำชื่อใหม่ไปจดทะเบียนโดยพลันและเสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเป็นเงินสองบาท

มาตรา ๑๕๕  ห้ามมิให้เรือกลไฟลำใดบรรทุกคนโดยสารมากกว่าจำนวนที่แจ้งในใบอนุญาตสำหรับเรือลำนั้น

                มาตรา ๑๕๖  เรือกำปั่นลำใดจะใช้ธงพิเศษสำหรับเป็นเครื่องหมายของเจ้าของ หรือใช้เครื่องหมายอย่างใดที่ปล่องเรือก็ดี ต้องได้จดทะเบียนธงหรือเครื่องหมายนั้นไว้ ณ ที่ว่าการกรมเจ้าท่า และอธิบายลงไว้ในใบอนุญาตสำหรับเรือเสียก่อนจึงให้ใช้ได้

                 มาตรา ๑๕๗  ตัวเลขและตัวอักษรที่เป็นส่วนของชื่อและเลขลำดับที่พระราชบัญญัตินี้บังคับให้เขียนด้วยสี หรือให้ติดหรือสลักลงไว้ที่เรือกำปั่นและเรือเล็กต่าง ๆ นั้น จะต้องเป็นเลขหรืออักษรขนาดเท่าใด ต้องแล้วแต่เจ้าท่าจะเห็นสมควร

                มาตรา ๑๕๘  เจ้าท่า,เจ้าพนักงาน กองตระเวน,เจ้าพนักงานกรมเจ้าท่าคนใดก็ดี ย่อมมีอำนาจโดยพระราชบัญญัตินี้ ที่จะขึ้นไปและตรวจบนเรือกำปั่นหรือเรือเล็กลำใด ๆ ได้ทุกลำ เพื่อให้ทราบว่าเรือนั้นได้รับอนุญาตสำหรับเรือแล้วหรือไม่ และเพื่อให้ทราบว่าได้มีความละเมิดต่อข้อบังคับในพระราชบัญญัตินี้ หรือในกฎข้อบังคับอย่างใด ๆ ซึ่งเจ้าท่าได้ออกโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่

               มาตรา ๑๕๙  สิ่งของอย่างใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้แม้จะเป็นจำนวนอย่างน้อยสักเพียงใดก็ดี ท่านห้ามมิให้บรรทุกไปในเรือกำปั่นหรือเรือเล็กลำใดพร้อมกันกับคนโดยสาร เว้นไว้แต่เรือลำนั้น ๆ ได้จัดที่ไว้เป็นพิเศษในตอนใต้ดาดฟ้าสำหรับบรรทุกน้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันเบ็นซิน และถ้าเจ้าท่าเห็นเป็นการสมควรแล้ว จึงให้บรรทุกของสองอย่างนั้นไปด้วยได้ แต่ข้อบังคับในมาตรานี้ท่านว่าไม่ต้องถือเป็นการห้าม คนโดยสารคนใดที่จะพาอาวุธปืนของตนกับเครื่องกระสุนปืนมีจำนวนอันสมควรสำหรับใช้เองไปด้วยในเรือได้

                มาตรา ๑๖๐  ถ้านายเรือกำปั่นหรือเรือลำใดที่ได้รับใบอนุญาตแล้วไม่มีสิ่งของและเครื่องประกอบ สำหรับเรือไว้ ในเรือลำนั้นโดยบริบูรณ์ตามกฎข้อบังคับการตรวจเซอร์เวย์เรือ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าสองร้อยบาท

มาตรา ๑๖๑  นอกจากที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ท่านว่าบรรดาความผิดต่อข้อบังคับอย่างใด ๆ ที่กำหนดไว้ในภาคที่ ๒ แห่งพระราชบัญญัตินี้นั้น ให้ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าร้อยบาท

หมวดที่ ๒

การตรวจเซอร์เวย์เรือ

                  

 

มาตรา ๑๖๒  การที่จะออกใบอนุญาตหรือเปลี่ยนใบอนุญาตใหม่แทนฉบับเดิมให้แก่

(๑) เรือกลไฟลำใดก็ดี

                (๒) เรือโป๊ะจ้าย, เรือลำเลียง, เรือเป็ดทะเล ฯลฯ เรือสำเภาและเรือใบเดินทะเลอย่างอื่น ๆ ลำใดก็ดี ท่านว่าให้กระทำได้ ต่อได้เห็นหนังสือสำคัญรายงานการตรวจเรือ ซึ่งเจ้าพนักงานของรัฐบาลผู้ตรวจเรือที่เจ้าท่าได้แต่งตั้งนั้น ได้ทำให้ไว้ แสดงว่าเรือลำนั้นได้รับความตรวจตราตามระเบียบ และปรากฏว่าเป็นเรือมีความสมประกอบทุกอย่างสำหรับการที่ใช้เรือนั้นในชั่วระหว่างเวลาสิบสองเดือน หรือน้อยกว่าสิบสองเดือน โดยถูกต้องตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ

                มาตรา ๑๖๓[๑๖]  กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือที่ได้อ้างถึงในพระราชบัญญัตินี้นั้น คือกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือซึ่งพระราชบัญญัตินี้ให้อำนาจแก่เจ้าท่าให้ออกได้ตามครั้งคราว โดยได้รับอนุญาตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเจ้าหน้าที่ และกฎข้อบังคับนั้นท่านว่าให้ใช้บังคับได้ต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

มาตรา ๑๖๔  ผู้ยื่นเรื่องราวขอรับใบอนุญาตสำหรับเรือ ลำใด ต้องเตรียมเรือลำนั้นไว้ ให้เจ้าพนักงานตรวจตามระเบียบกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ และต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจทราบว่าจะตรวจเรือลำนั้นได้เมื่อใด และในที่ใด

มาตรา ๑๖๕  ค่าธรรมเนียมการตรวจนั้น ต้องเสียตามพิกัดที่กำหนดไว้ในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ

หมวดที่ ๓

ว่าด้วยเรือกลไฟทุกอย่าง

                  

              มาตรา ๑๖๖  เรือกลไฟทุกลำต้องมีชื่อเรือเป็นอักษรไทยและอักษรฝรั่งเขียนหรือติดไว้ในที่เด่นแลเห็นได้ง่ายที่หัวเรือทั้งสองแคม ถ้าเป็นเรือกลไฟเดินทะเลต้องเขียนหรือติดชื่อเรือและชื่อเมืองที่ได้จดทะเบียนเรือนั้นไว้ที่ท้ายเรือด้วย ถ้าเป็นเรือไม่มีชื่อฉะนั้น ต้องเขียนหรือติดเลขลำดับของใบอนุญาตสำหรับเรือเป็นเลขไทยและเลขฝรั่งไว้ที่หัวเรือทั้งสองแคม และห้ามมิให้เอาสิ่งใดปิดบังชื่อหรือเลขที่ว่านี้เป็นอันขาด

มาตรา ๑๖๗  บรรดาเรือกลไฟสำหรับให้เช่าต้องเอาใบอนุญาตสำหรับเรือและสำเนาข้อบังคับที่บัญญัติไว้ ในหมวดนี้และในหมวดที่ ๑ ใส่กรอบแขวนไว้ ในที่เด่นในเรือที่คนทั้งหลายอ่านได้ง่าย

                มาตรา ๑๖๘  บรรดาเรือกลไฟสำหรับให้เช่า ซึ่งมิใช่เรือกลไฟเดินทะเล ต้องเขียนเลขลำดับของใบอนุญาตสำหรับเรือเป็นเลขไทยและเลขฝรั่งที่หัวเรือขนาบข้างชื่อเรือ และต้องเขียนชื่อและเลขเช่นนั้นไว้ที่ท้ายเรือด้วย จำนวนคนโดยสารที่อนุญาตให้บรรทุกได้นั้น ต้องเขียนหรือติดไว้ในที่เด่นแลเห็นได้ง่ายจากภายนอกทั้งสองข้างลำเรือ และห้ามมิให้เอาสิ่งไรปิดบังชื่อหรือเลขเช่นว่ามานี้เป็นอันขาด

                 มาตรา ๑๖๙  เนื้อที่ในเรือสำหรับให้คนโดยสารคนหนึ่ง ๆ จะต้องมีขนาดเท่าไรนั้นจะได้กำหนดไว้โดยชัดในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ และเรือลำใดจะยอมให้บรรทุกคนโดยสารได้กี่คนนั้น จะได้กำหนดไว้ในใบอนุญาตสำหรับเรือ

มาตรา ๑๗๐  เรือลำใดที่จะอนุญาตให้คนโดยสารขึ้นอยู่บนดาดฟ้าชั้นบนที่มีหลังคาผ้าใบได้นั้น ต้องเป็นเรือที่เจ้าพนักงานผู้ตรวจเรือได้ตรวจเป็นที่พอใจ ว่าเรือลำนั้นมีความมั่นคงสมควรที่จะให้คนโดยสารขึ้นอยู่บนดาดฟ้าชั้นนั้นได้

มาตรา ๑๗๑  ในเรือลำใดถ้าใช้เนื้อที่ที่กำหนดสำหรับคนโดยสารเป็นที่วางสิ่งของกินเนื้อที่มากน้อยเท่าคนโดยสารกี่คน ต้องลดจำนวนคนโดยสารที่อนุญาตให้บรรทุกได้นั้นลงไปให้สมกัน

                มาตรา ๑๗๒  ในใบอนุญาตต้องกล่าวว่า แรงสติมที่หม้อน้ำของเรือนั้นควรมีหรืออนุญาตให้มีได้เพียงใดเป็นอย่างมากที่สุด ถ้าเจ้าของหรือผู้ใช้จักรหรือนายเรือกลไฟลำใดใช้แรงสติมเกินกว่าที่อนุญาตให้ใช้ก็ดี หรือเอาของหนักหรือสิ่งใดถ่วงหรือกดที่ (เซฟติแวลฟ์) คือเครื่องสำหรับให้พ่นสติมไอน้ำเพื่อป้องกันอันตรายไว้ โดยมิควรก็ดี ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเงินไม่เกินกว่าห้าร้อยบาท

มาตรา ๑๗๓  ถ้ามีอุบัติเหตุอันตรายเกิดขึ้นในเรือกลไฟลำใดแก่ลำเรือ หรือหม้อน้ำ หรือเครื่องจักร หรือแก่คนโดยสาร หรือบุคคลใด ๆ ก็ดี หรือมีอุบัติเหตุอันตราย ซึ่งเรือลำนั้นเป็นต้นเหตุก็ดี ท่านว่าต้องแจ้งความไปยังเจ้าท่าโดยพลัน

มาตรา ๑๗๔  ค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตนั้น ให้เรียกตามพิกัดดังต่อไปนี้ คือ

สำหรับเรือขนาดเกินกว่า ๕๐๐ ตัน ปีละ ๑๐๐ บาท

สำหรับเรือขนาดต่ำกว่า ๕๐๐ ตัน แต่ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ตัน ปีละ ๙๐ บาท

สำหรับเรือขนาดต่ำกว่า ๒๐๐ ตัน แต่ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ตัน ปีละ ๖๐ บาท

สำหรับเรือขนาดต่ำกว่า ๑๐๐ ตัน แต่ไม่ต่ำกว่า ๕๐ ตัน ปีละ ๕๐ บาท

สำหรับเรือขนาดต่ำกว่า ๕๐ ตัน แต่ไม่ต่ำกว่า ๒๕ ตัน ปีละ ๔๐ บาท

สำหรับเรือขนาดต่ำกว่า ๒๕ ตัน ปีละ ๓๐ บาท

                 มาตรา ๑๗๕  การออกใบอนุญาตใหม่แทนฉบับเดิมที่หมดอายุ สำหรับเรือยนต์ขนาดยาวไม่ถึงหกเมตรที่ใช้สำหรับความสำราญหรือการกีฬานั้น ให้เรียกค่าธรรมเนียมแต่เพียงสิบห้าบาท ถ้าและเอาเรือยนต์เช่นว่านี้ไปใช้สำหรับการค้าขาย,การรับจ้างคนโดยสารหรือการรับจ้างบรรทุกสินค้าหรือสิ่งของฉะนั้น ท่านว่าผู้รับใบอนุญาตสำหรับเรือนั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าร้อยบาท

                  มาตรา ๑๗๖  เจ้าท่าย่อมมีอำนาจที่จะกักเรือกลไฟลำใด ๆ ที่ได้รับใบอนุญาตแล้วนั้นไว้ได้ เมื่อวินิจฉัยเห็นว่าเรือลำนั้นบรรทุกเกินกว่าที่ควร หรือมีอับเฉาน้อยไม่สมควรกับเรือหรือเป็นเรือที่โคลงแคลงมาก และให้จัดการได้ตามสมควรแก่เหตุ

หมวดที่ ๔

ว่าด้วยเรือใบ, เรือโป๊ะจ้าย, เรือลำเลียง,

เรือเป็ดทะเล, และอื่น ๆ และเรือสำเภา

                  

มาตรา ๑๗๗  ในใบอนุญาตทุกฉบับสำหรับเรือใบ, เรือโป๊ะจ้าย, เรือลำเลียง, เรือเป็ดทะเล และอื่น ๆ และเรือสำเภานั้น ต้องชี้แจงขนาดกว้างยาว, ลึก ของเรือและเรืออาจบรรทุกของหนักได้เพียงใด

                  มาตรา ๑๗๘  เรือที่ว่ามาแล้วเช่นนั้นทุก ๆ ลำต้องมีเลขลำดับของใบอนุญาตสำหรับเรือเป็นเลขไทยและเลขฝรั่งเขียนด้วยสีให้อ่านได้ชัดไว้ที่หัวเรือทั้งสองแคมและที่ท้ายเรือ ห้ามมิให้เขียนเลขอื่นที่มิใช่เลขลำดับของใบอนุญาต และห้ามมิให้เอาสิ่งใดปิดบังเลขที่เขียนไว้นั้นเป็นอันขาด

มาตรา ๑๗๙  ห้ามมิให้เรือโป๊ะจ้าย, เรือลำเลียง, เรือเป็ดทะเลและอื่น ๆ และเรือสำเภา มีท้องเรือปลอม หรือมีระวาง หรือที่ลับสำหรับซ่อนสินค้าหรือซ่อนบุคคล

มาตรา ๑๘๐  ค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตสำหรับเรือที่ว่ามาในหมวดนี้ ให้เรียกตามพิกัดดังต่อไปนี้ คือ :-

ชั้นที่ ๑-สำหรับเรือที่บรรทุกได้ ตั้งแต่ ๖,๐๐๐ หาบขึ้นไป ปีละ ๕๕ บาท

ชั้นที่ ๒-สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ หาบ แต่ไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ หาบ ปีละ ๔๕ บาท

ชั้นที่ ๓-สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ หาบ แต่ไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ หาบ ปีละ ๓๕ บาท

ชั้นที่ ๔-สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ หาบ ปีละ ๓๐ บาท

หมวดที่ ๕

ว่าด้วยเรือบรรทุกสินค้าและเรือเล็กต่าง ๆ

                  

มาตรา ๑๘๑  ใบอนุญาตสำหรับเรือบรรทุกสินค้าหรือเรือเล็กต่าง ๆ ทุกฉบับนั้น ให้ใช้ได้เพียงวันที่ ๓๑ สิงหาคมทุก ๆ ปี นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนแล้ว

               มาตรา ๑๘๒  ใบอนุญาตจะได้ออกให้ในวันใด ๆ ก็ดี ท่านว่าต้องเรียกเงินค่าธรรมเนียมเต็มตามพิกัดที่กำหนดไว้ ในมาตรา ๑๘๘ เว้นเสียแต่ถ้าเป็นใบอนุญาตออกในภายหลังวันที่ ๑ มีนาคม สำหรับเรือบรรทุกสินค้าหรือเรือเล็กต่าง ๆ ที่ยังไม่เคยรับใบอนุญาตฉะนั้น ท่านให้เรียกค่าธรรมเนียมแต่ครึ่งพิกัด

                 มาตรา ๑๘๓  เมื่อมีผู้ยื่นเรื่องราวขอรับใบอนุญาต หรือขอเปลี่ยนใบอนุญาตใหม่แทนฉบับเดิมที่หมดอายุ สำหรับเรือบรรทุกสินค้าหรือเรือเล็กลำใด ๆ ถ้าเจ้าท่ามีเหตุอันสมควรที่จะสงสัยว่าได้มีการละเมิดที่เกี่ยวด้วยเรือนั้นเอง หรือเกี่ยวด้วยใบอนุญาตใด ๆ สำหรับเรือนั้นไซร้ ท่านว่าเจ้าท่ามีอำนาจที่จะรอการออกใบอนุญาตตามที่ขอนั้นและกักเรือลำนั้น ๆ ไว้เพื่อไต่สวนต่อไป ถ้าและไต่สวนตกลงในชั้นที่สุดว่าไม่ควรออกใบอนุญาตให้ฉะนั้น ให้ถือว่าเรือลำนั้นดุจทรัพย์สมบัติที่เก็บได้ ตามความมุ่งหมายของบัญญัติในมาตรา ๑๒๙ แห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๘๔  ในใบอนุญาตสำหรับเรือบรรทุกสินค้า ต้องชี้แจงขนาดกว้างยาวและลึกของลำเรือและจำนวนน้ำหนักที่เรือนั้น มีกำลังบรรทุกได้เพียงใด

              มาตรา ๑๘๕  ในใบอนุญาตสำหรับเรือเล็กต่าง ๆ ที่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ต้องชี้แจงจำนวนคนโดยสารที่อนุญาตให้เรือนั้นบรรทุกได้ ถ้าเป็นเรือที่ใช้ทั้งสำหรับบรรทุกสินค้าและรับจ้างบรรทุกคนโดยสารฉะนั้น ในใบอนุญาตต้องชี้แจงขนาดกว้างยาวและลึกของลำเรือและกำลังของเรือที่บรรทุกของหนักได้เพียงใด และจำนวนคนโดยสารที่อนุญาตให้บรรทุกได้นั้นด้วย

                มาตรา ๑๘๖  เรือบรรทุกสินค้าและเรือเล็กต่าง ๆ ทุกลำ ที่ใช้สำหรับให้เช่าหรือรับจ้างและได้รับใบอนุญาตสำหรับเรือแล้วนั้น ต้องมีเลขลำดับของใบอนุญาตเป็นเลขไทยที่เขียนด้วยสีอ่านได้ชัดไว้ที่หัวเรือทั้งสองแคม ห้ามไม่ให้มีเลขอย่างอื่นเขียนไว้ในที่นั้นเป็นอันขาด และต้องสลักเลขลำดับนั้นลงไว้ในที่แลเห็นได้ง่ายในลำเรือนั้น ๆ ด้วย ถ้าเป็นเรือสำหรับรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ต้องเขียนจำนวนคนโดยสารที่อนุญาตให้บรรทุกได้นั้น ด้วยสีลงไว้ในที่แลเห็นได้ง่ายในลำเรือนั้นเป็นอักษรเลขไทยและเลขฝรั่ง และที่เขียนไว้เช่นนี้ห้ามมิให้เอาสิ่งใดปิดบังไว้เป็นอันขาด

มาตรา ๑๘๗  ห้ามมิให้เรือบรรทุกสินค้าและเรือเล็ก ๆ ลำใด ๆ มีท้องเรือปลอมหรือมีที่ลับอย่างใด ๆ สำหรับซ่อนสิ่งของหรือบุคคล

มาตรา ๑๘๘  ค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตสำหรับเรือเช่นว่ามานี้ ให้เรียกตามพิกัดดังต่อไปนี้ คือ

ชั้นที่ ๑- สำหรับเรือที่บรรทุกได้ ตั้งแต่ ๘๐๐ หาบขึ้นไป ปีละ ๒๕ บาท

ชั้นที่ ๒- สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๘๐๐ หาบ แต่ไม่ต่ำกว่า ๔๕๐ หาบ ปีละ ๒๐ บาท

ชั้นที่ ๓-สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๔๕๐ หาบ แต่ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ หาบ ปีละ ๑๕ บาท

ชั้นที่ ๔- สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๑๐๐ หาบ แต่ไม่ต่ำกว่า ๕๐ หาบ ปีละ ๑๐ บาท

ชั้นที่ ๕-สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๕๐ หาบ แต่ไม่ต่ำกว่า ๑๐ หาบ ปีละ ๕ บาท

ชั้นที่ ๖- สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๑๐ หาบ แต่ไม่ต่ำกว่า ๒ หาบ ปีละ ๓ บาท

ชั้นที่ ๗- สำหรับเรือที่บรรทุกได้ต่ำกว่า ๒ หาบ ปีละ ๑ บาท

ภาคที่ ๓

ข้อบังคับพิเศษ

                  

หมวดที่ ๑

ข้อบังคับสำหรับเรือกำปั่นและเรือต่าง ๆ

ที่บรรทุกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้

                  

              มาตรา ๑๘๙  คำว่าสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้นั้น ท่านหมายความว่าสิ่งของเช่น น้ำกรด, ดินประสิว, น้ำกรดกำมะถัน, ดินระเบิด, ดินปืน, ไม้ขีดไฟ, ไนโตรกลิสิริน, น้ำมันปิโตรเลียม, น้ำมันแน็บทา, น้ำมันเบ็นซิน และสิ่งอื่นที่อาจกระทำให้เกิดระเบิดได้

               มาตรา ๑๙๐  เรือกำปั่นลำใดล่วงเข้าในเขตท่าหรือแม่น้ำใดในประเทศไทย และมีสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้อยู่ในลำเรือก็ดี และเรือกำปั่นลำใดที่เตรียมจะบรรทุกสิ่งของเช่นนั้นก็ดี ท่านว่าต้องทอดสมอในที่ใดที่หนึ่งในเขตท่าหรือลำแม่น้ำตามที่เจ้าท่าจะชี้ให้ และห้ามมิให้เคลื่อนเรือนั้นจากที่นั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า

มาตรา ๑๙๑  ท่านห้ามมิให้ถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ออกจากเรือในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น นอกจากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าท่า

มาตรา ๑๙๒  สิ่งของที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ซึ่งมีเรือกำปั่นลำใดพาเข้ามานั้น ท่านห้ามมิให้ขนขึ้นบกในที่อื่นนอกจากที่ซึ่งเจ้าท่าจะกำหนดให้หรือ ณ ที่พักสินค้า ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้รับสิ่งของเช่นนั้นไว้ได้

                มาตรา ๑๙๓  สิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้นั้น เมื่อจะถ่ายลำเรือ ขนลงเรือ ขนขึ้นบก หรือขนจากตำบลหนึ่งไปยังตำบลอื่นโดยทางน้ำภายในเขตท่าหรือทำเลที่ทอดสมอจอดเรือก็ดี ท่านว่าต้องบรรทุกในเรือที่มีประทุนหรือดาดฟ้า หรือเรือโป๊ะจ้ายหรืออย่างอื่นและให้มีผ้าใบคลุมด้วย ถ้าเป็นน้ำมันแน็บทาหรือน้ำมันเบ็นซินสิ่งที่คลุมนั้นต้องทำด้วยไม้ เรืออย่างใด ๆ ที่บรรทุกไปเช่นนี้ ต้องชักธงสี่เหลี่ยมสีแดงยาวไม่ต่ำกว่า ๘๐ เซนติเมตร กว้าง ๔๕ เซนติเมตร ขึ้นไว้เป็นสำคัญ และห้ามมิให้มีโคมไฟหรือไฟหรือสูบยาในเรือนั้นเป็นอันขาด และเรือนั้นต้องรีบไปโดยไม่ยับยั้ง หรือทอดสมอ หรือหยุดพักในที่ใด ๆ นอกจากเฉพาะ ณ ตำบลสำหรับที่จะขนสิ่งของเหล่านั้นขึ้นบกโดยพลัน

               มาตรา ๑๙๔  สิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ซึ่งบรรทุกอยู่ในเรือกำปั่นหรือเรือโป๊ะจ้าย หรือเรือต่าง ๆ ลำหนึ่งลำใดเมื่อเรือถึงตำบลที่จะไป และได้ปฏิบัติตามข้อบังคับของกรมศุลกากรโดยถูกต้องแล้ว ท่านว่าให้เจ้าของหรือผู้ที่ควรรับสิ่งของเหล่านั้นขนของเหล่านั้นขึ้นจากเรือและนำส่งโดยพลัน ถ้าและเจ้าของหรือผู้ที่ควรรับสิ่งของเหล่านั้นละเลยเสีย ท่านว่าเจ้าท่ามีอำนาจชอบด้วยกฎหมายที่จะจัดการขนของเหล่านั้นขึ้น โดยเรียกเอาค่าใช้จ่ายในการนั้นจากผู้ที่เป็นเจ้าของหรือผู้ที่ควรรับสิ่งของเหล่านั้น

                มาตรา ๑๙๕  เมื่อเวลาจะขนสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้อย่างใด ๆ เข้าไปหรือออกจากโรงพักสินค้าที่ได้รับอนุญาตแล้วแห่งใด ๆ ท่านผู้ที่เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ควรรับสิ่งของเหล่านั้น ต้องมาพร้อม ณ ที่โรงพักสินค้า หรือมิฉะนั้นต้องแต่งผู้ใดที่รับผิดชอบได้มาแทนตัว ถ้ามีปัญหาอย่างใดเกี่ยวกับกรมเจ้าท่า เกิดขึ้นด้วยเรื่องจำนวนหรือน้ำหนักหีบที่ขนเข้าไว้หรือจ่ายออกจากโรงพักสินค้านั้น จะตัดสินกันในเวลานั้นในระหว่างเจ้าของหรือผู้แทนเจ้าของกับเจ้าพนักงานผู้ควบคุมโรงพักสินค้า และถ้าเห็นเป็นการจำเป็นก็ให้เจ้าพนักงานนั้นนำเรื่องเสนอต่อเจ้าท่า

มาตรา ๑๙๖  ผู้ใดล่วงละเมิดหรือขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตามบัญญัติใด ๆ ในหมวดนี้ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินกว่าหกเดือน

หมวดที่ ๒

ข้อบังคับว่าด้วยน้ำมันปิโตรเลียมอย่างบรรทุกในถังระวาง

                  

               มาตรา ๑๙๗  ในหมวดนี้คำว่า “น้ำมันปิโตรเลียมอย่างบรรทุกในถังระวาง” นั้นหมายความว่าน้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันและสิ่งต่าง ๆ นอกจากน้ำมันสำหรับหยอดเครื่องจักร ฯลฯ ซึ่งทำจากน้ำมันปิโตรเลียม และบรรทุกอยู่ในเรือกำปั่น หรือถังใหญ่หรือในห้องระวางท้องเรือหรือที่เก็บอย่างใด ๆ ที่จุน้ำได้ตั้งแต่ ๘๐๐ กาลันขึ้นไป และคำว่า “เรือกำปั่นถัง” นั้น หมายความว่าเรือกำปั่นหรือเรือเล็กอย่างใด ๆ ที่บรรทุกหรือใช้สำหรับบรรทุกน้ำมันปิโตรเลียมอย่างบรรทุกในถังระวาง

                 มาตรา ๑๙๘[๑๗]  เรือกำปั่นถังทุกลำที่บรรทุกน้ำมันปิโตรเลียมอย่างบรรทุกในถังระวางเมื่อเข้ามาในน่านน้ำไทยก็ดี และเรือกำปั่นทุกลำที่เตรียมจะบรรทุกน้ำมันปิโตรเลียมเช่นนั้น จากสถานที่ได้รับอนุญาตสำหรับเป็นที่เก็บน้ำมันปิโตรเลียมอย่างบรรทุกในถังระวางก็ดี ต้องชักธงสีแดงขึ้นไว้ที่ปลายเสาหน้า และที่ปลายเสากลางให้ชักธงหมายอักษร R.K.O. (อา เคโอ.) อันเป็นเครื่องหมายตามระเบียบสัญญาณในระหว่างนานาประเทศว่าด้วยการใช้ธง ว่ามีน้ำมันปิโตรเลียมอยู่ในเรือ และต้องชักธงเหล่านี้ไว้ตลอดเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตกเสมอไป ในระหว่างเวลาที่ยังมีน้ำมันปิโตรเลียมมากน้อยเท่าใดอยู่ในเรือ และต่อนั้นไปจนตลอดเวลาที่เรือลำนั้นยังอยู่ในน่านน้ำไทยเวลากลางคืนตลอดเวลาที่ว่ามาแล้วนั้น เรือที่กล่าวมานี้ต้องชักโคมไฟสีแดงสองโคมเรียงคู่ขึ้นไว้ ในที่เด่นให้แลเห็นได้ง่ายที่สุด และสูงพ้นจากดาดฟ้าไม่ต่ำกว่า ๖ เมตรแต่ท่านว่าถ้าเรือกำปั่นลำใด เจ้าท่าเห็นเป็นที่พอใจว่า เมื่อขนน้ำมันปิโตรเลียมจากเรือหมดแล้วได้ชำระระวางเรือจนหมดจด และได้ล้างเรือโดยสะอาดเรียบร้อย เปิดให้อากาศเข้าออกได้ตลอดด้วยไซร้ เจ้าท่าจะยกเว้นมิให้เรือลำนั้นต้องปฏิบัติตามบังคับในมาตรานี้ก็ได้

อนึ่ง ถ้าเรือกลไฟลำใดบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดที่ประมวลสัญญาณสากลบังคับว่า ต้องชักธงแสดงชนิดของน้ำมันนั้นโดยเฉพาะ ให้เรือกลไฟทุกลำปฏิบัติตามนั้น[๑๘]

               มาตรา ๑๙๙  เรือกำปั่นถังทุกลำที่เข้ามาถึงในเขตท่าหรือลำแม่น้ำใด ๆ ในประเทศไทย และมีน้ำมันปิโตรเลียมอย่างบรรทุกในถังระวางมาในเรือ ท่านว่าเรือนั้นต้องรีบไปยังที่ท่าขนสินค้าซึ่งได้รับอนุญาตสำหรับขนน้ำมันปิโตรเลียมอย่างนั้นโดยพลัน และห้ามมิให้เรือลำนั้นถอยไปจากที่นั้นโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า

                  มาตรา ๒๐๐  ในระหว่างเวลาที่เรือกำปั่นถังลำใด ซึ่งมีน้ำมันปิโตรเลียมอย่างบรรทุกในถังระวางอยู่ในเรือยังพักอยู่ในเขตท่าหรือลำแม่น้ำตำบลใด ๆ ในประเทศไทย ท่านห้ามมิให้ใช้ไฟหรือโคมนอกจากโคมไฟฟ้าบนเรือหรือในที่ใกล้ชิดกับเรือลำนั้น ในขณะที่ถังระวางหรือห้องบรรทุกน้ำมันปิโตรเลียมยังเปิดอยู่หรือกำลังถ่ายหรือรับน้ำมันปิโตรเลียมหรือในขณะที่ฝาครอบปากระวางยังเปิดอยู่ และห้ามบรรดาคนในเรือนั้นทุกคนมิให้สูบยาหรือมีไม้ขีดไฟอยู่กับตัว แต่ที่บังคับไว้เหล่านี้ ต้องถือว่าไม่เป็นการห้ามไฟครัว หรือไฟในห้องเครื่องจักรสำหรับให้เกิดสติมพอให้เรือถอยเข้าหรือถอยออกที่ท่าขนสินค้าเช่นว่ามาแล้วหรือออกไปยังทะเล หรือเพื่อให้มีแรงสติมสำหรับทำการถ่ายน้ำมันปิโตรเลียมที่ยังมีอยู่นั้นออกจากเรือ

                มาตรา ๒๐๑  เรือกำปั่นถังลำใดที่บรรทุกน้ำมันปิโตรเลียมมาในถังระวางเรือ เข้ามาถึงเมืองท่าใด ๆ ในประเทศไทย ท่านว่าผู้เป็นนายเรือ เมื่อได้รายงานว่าเรือได้เข้ามาถึงและก่อนที่จะลงมือขนสินค้าอย่างใด ๆ จากเรือนั้นต้องยื่นหนังสือชี้แจงให้เจ้าท่าทราบว่า :-

(ก) มีน้ำมันปิโตรเลียมบรรทุกมาในเรือมากเท่าไร

(ข) น้ำมันนั้นได้บรรทุกในกี่ห้องระวางหรือกี่ถัง

                (ค) ประเภทและชนิดของน้ำมันนั้น และมีหนังสือสำคัญกำกับมาด้วยหรือไม่จากเมืองท่าที่บรรทุกน้ำมันมา หรือเมืองท่าที่แวะมาตามทาง ซึ่งกล่าวด้วยอาการร้อนจัดถึงเพียงใดที่จะกระทำให้น้ำมันนั้นระเหยเป็นลมที่อาจลุกเป็นเปลวไฟได้

มาตรา ๒๐๒  เมื่อได้ทำคำชี้แจงเช่นนั้นแล้ว และเห็นว่านายเรือกำปั่นลำนั้นได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของกรมศุลกากร ท่านว่าเจ้าท่ามีอำนาจที่จะอนุญาตให้เรือกำปั่นนั้นลงมือขนน้ำมันปิโตรเลียมออกจากเรือโดยพลัน ตามข้อบังคับดังจะกล่าวต่อไปนี้

                 มาตรา ๒๐๓  การขนน้ำมันปิโตรเลียมที่บรรทุกในถังระวางขึ้นจากเรือกำปั่นถัง และการขนน้ำมันปิโตรเลียมลงบรรทุกเรือจากสถานที่รับอนุญาตสำหรับเก็บน้ำมันปิโตรเลียมอย่างวิธีบรรทุกในถังในระวางเรือนั้น ให้ทำโดยใช้ท่ออ่อนและท่อเหล็กหล่อในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตก น้ำมันปิโตรเลียมที่นำเข้ามาอย่างที่ว่ามาแล้วนั้น ให้สูบจากเรือขึ้นบรรจุไว้ในถังใหญ่สำหรับเก็บน้ำมัน และเมื่อเรือกำปั่นที่บรรทุกมานั้นเสร็จการถ่ายน้ำมันปิโตรเลียมจากเรือ หรือรับน้ำมันปิโตรเลียมลงบรรทุกในเรือเสร็จ แล้วต้องเทน้ำมันให้ออกหมดจากท่อโดยทันที ถ้าและเรือกำปั่นนั้น ทำการถ่ายหรือบรรทุกดังว่ามาแล้วยังไม่เสร็จก่อนเวลาพระอาทิตย์ตก ต้องคิดอ่านจัดการโดยอาศัยใช้เครื่องปิดท่ออย่างใดอย่างหนึ่ง พอป้องกันมิให้น้ำมันที่ยังค้างอยู่ในท่อนั้นไหลรั่วออกมาได้เป็นอันขาด

มาตรา ๒๐๔  ห้ามมิให้เอาน้ำมันปิโตรเลียม จะเป็นน้ำมันที่ปนน้ำหรือไม่ได้ปนก็ตาม เทลงในเขตท่าหรือลำแม่น้ำจากเรือกำปั่นถังหรือจากสถานที่ได้รับอนุญาตสำหรับเป็นที่เก็บน้ำมันนั้นเป็นอันขาด

               มาตรา ๒๐๕  ในไม่ว่าเวลาใด ห้ามมิให้เรือกำปั่นถัง เข้าไปยังท่าหรือเข้าจอดเทียบท่ามากกว่าลำหนึ่งและในขณะที่เรือกำปั่นถังลำใดกำลังถ่ายน้ำมันปิโตรเลียมจากเรือ หรือรับน้ำมันปิโตรเลียมลงบรรทุกในเรือ ห้ามมิให้เรือกำปั่นหรือเรือลำอื่นหรือเรือสำเภาลำหนึ่งลำใดอยู่เทียบท่าเดียวกัน หรือเทียบกับกำปั่นถังลำนั้นเป็นอันขาด

               มาตรา ๒๐๖  เรือกำปั่นถังลำใดที่บรรทุกน้ำมันปิโตรเลียมอยู่ในถังระวางเรือ หรือที่พึ่งจะเสร็จการถ่ายน้ำมันปิโตรเลียมที่บรรทุกมาเช่นนั้นจากเรือก็ดี ท่านห้ามมิให้เคลื่อนจากที่ ๆ จอดอยู่นั้นโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ถ้าและเจ้าท่าเห็นเป็นที่พอใจว่าเรือกำปั่นถังลำใดไม่มีน้ำมันปิโตรเลียมอยู่ในเรือ และได้ล้างชำระเปิดให้อากาศเข้าออกในถังระวางเรือโดยสะอาดสนิทแล้ว เจ้าท่าอนุญาตให้เรือลำนั้นเลื่อนไปจอดยังที่ใดตามที่จะกำหนดให้ไว้นั้นก็ได้

               มาตรา ๒๐๗  นอกจากบางแห่งที่เป็นการขัดกันหรือไม่ประกอบกันกับข้อบังคับต่าง ๆ ที่ว่ามาแล้วในนี้ และนอกจากที่จะได้เจาะจงบัญญัติไว้ให้เป็นอย่างอื่น บรรดาข้อบังคับที่ยังคงใช้อยู่และได้ตั้งขึ้นโดยกฎข้อบังคับว่าด้วยสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ในส่วนการเก็บรักษาการขนสิ่งของเช่นนั้นตามทางบกและทางน้ำและส่วนการทอดสมอจอดเรือกำปั่นเรือโป๊ะจ้าย และเรือใหญ่น้อยต่าง ๆ ที่ได้บรรทุกหรือเตรียมจะบรรทุกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ภายในน่านน้ำไทยนั้น ข้อบังคับเหล่านี้ท่านว่าให้ใช้ได้สำหรับการเก็บและการขนน้ำมันปิโตรเลียมที่บรรจุถังรูปกลอง หรือเครื่องบรรจุอย่างอื่น ๆ จากสถานที่ได้รับอนุญาตให้เก็บน้ำมันปิโตรเลียมอย่างบรรทุกในถังระวางเรือได้และสำหรับการทอดสมอจอดเรือกำปั่น เรือโป๊ะจ้าย และเรือใหญ่น้อยต่าง ๆ ซึ่งได้บรรทุกหรือเตรียมจะบรรทุกน้ำมันปิโตรเลียมอย่างนั้นด้วยเหมือนกัน

มาตรา ๒๐๘  ผู้ใดละเมิด หรือขัดขืน หรือละเลยไม่กระทำตามข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดในหมวดนี้ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินกว่าหกเดือน

หมวดที่ ๓

ข้อบังคับว่าด้วยการทอดสมอใกล้เคียง

หรือเกาสมอข้าม สายไฟฟ้าที่ทอดใต้น้ำ

                  

 

               มาตรา ๒๐๙  สายโทรเลข สายโทรศัพท์ สายไฟฟ้าทอดใต้น้ำ ข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือแม่น้ำใด ๆ ที่ได้ทอดไว้แล้ว และจะได้ทอดต่อไปนั้น ต้องมีที่สังเกตที่ตรงสายจะลงน้ำทั้งสองฝั่ง เครื่องสังเกตนั้นให้ทำเป็นเสาสูง มีป้ายใหญ่สีขาวรูปกลมติดที่ปลายเสา ในกลางป้ายมีอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า “สายใต้น้ำห้ามทอดและเกาสมอ”

สายใต้น้ำเช่นว่ามานี้ทอดอยู่ ณ ตำบลใด ท่านห้ามมิให้เรือลำใด ทอดสมอเหนือหรือใต้สายนั้นภายในระยะร้อยเมตร หรือเกาสมอข้ามสายเป็นอันขาด

             มาตรา ๒๑๐  นายเรือลำใดทอดสมอเรือภายในเขตที่ต้องห้ามตามความในหมวดนี้ หรือเกาสมอหรือลากแหอวน หรือเครื่องจับสัตว์น้ำอย่างใด ๆ ข้ามเขตเหล่านั้นก็ดี ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าร้อยบาท และอาจต้องถูกใช้ค่าซ่อมแซมสายใต้น้ำที่เป็นอันตรายเพราะตนได้ทอดสมอหรือลากของข้ามสายเช่นนั้นด้วย

             ในระหว่างพิจารณาความกระทำผิดเช่นว่ามานี้ ท่านว่าศาลมีอำนาจที่จะบังคับให้กักเรือที่เกี่ยวข้องนั้นไว้ได้ จนกว่าจะมีประกันมาวางสำหรับเงินค่าปรับหรือค่าเสียหายที่จะตัดสินให้ใช้นั้น

มาตรา ๒๑๑  ตามความในหมวดนี้ เมื่อเรือลำใดแล่นข้ามเขตอันต้องห้ามดังที่ว่ามาแล้วแห่งใด ถ้ามิได้ชักสมอขึ้นพ้นจากน้ำจนแลเห็นได้ ท่านให้ถือว่าเรือลำนั้นเท่ากับได้เกาสมอข้ามเขตที่ต้องห้าม

หมวดที่ ๔

ว่าด้วยค่าธรรมเนียมประภาคาร

                  

 

              มาตรา ๒๑๒[๑๙]  ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๒๑๓ เรือเดินในทะเลที่เข้ามาในน่านน้ำไทย หรือที่เดินจากท่าหนึ่งถึงอีกท่าหนึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำและโคมไฟ แก่เจ้าพนักงานที่ได้แต่งตั้งไว้เพื่อการนั้นตามอัตราและวิธีการที่จะได้มีกฎกระทรวงกำหนดไว้เป็นครั้งคราว

มาตรา ๒๑๓[๒๐]  เรือต่อไปนี้ให้ยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำ และโคมไฟ ตามมาตรา ๒๑๒ คือ

(๑) เรือของรัฐบาลไทย

(๒) เรือยอชต์ของเอกชน

(๓) เรือของรัฐบาลต่างประเทศ

(๔) เรือที่ใช้เฉพาะขนถ่ายสินค้าหรือคนโดยสารไปมาภายในเขตท่าเดียวกัน หรือระหว่างท่ากับที่ทอดจอดเรือภายนอกแห่งท่านั้น

(๕) เรือค้าชายฝั่งขนาดบรรทุกต่ำกว่า ๘๐๐ หาบ

(๖) เรือเดินทางซึ่งมีแต่อับเฉา ไม่ได้ค่าระวางบรรทุกและไม่มีคนโดยสาร

(๗) เรือที่เข้ามาเฉพาะจัดหาเชื้อเพลิง เครื่องพัสดุหรือเสบียงสำหรับเรือลำนั้นเท่านั้น

(๘) เรือที่เข้ามาเพราะถูกพายุ หรือเพื่อทำการซ่อมแซม หรือเพราะเกิดเสียหาย แต่เรือที่ว่านี้จะต้องไม่ขนถ่ายสินค้าลงหรือขึ้นนอกจากสินค้าที่จำต้องขนลง เพื่อการซ่อมแซมที่ว่านี้ และภายหลังได้ขนสินค้านั้นคืนขึ้นเรือ

มาตรา ๒๑๔[๒๑]  (ยกเลิก)

            มาตรา ๒๑๕[๒๒]  เรือลำใดซึ่งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำ และโคมไฟ มาขอใบปล่อยเรือ ให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานศุลกากรหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีหน้าที่ออกใบปล่อยเรือขอตรวจดูใบเสร็จค่าธรรมเนียมนั้น ถ้าปรากฏว่าได้เสียค่าธรรมเนียมแล้ว จึงให้ออกใบปล่อยเรือให้

            มาตรา ๒๑๖  นายเรือกำปั่นลำใดพยายามจะไปจากน่านน้ำไทยโดยไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมประภาคารตามบัญญัติในหมวดนี้ก็ดี หรือขัดขืนไม่ยอมให้รังวัดเรือกำปั่นของตนเพื่อให้ทราบขนาดของเรือลำนั้นก็ดี ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าสามร้อยบาท

 

หมวดที่ ๕

ข้อบังคับสำหรับการป้องกันโรคภยันตราย

                  

               มาตรา ๒๑๗  เมื่อได้รับข่าวว่ามีไข้อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้กาฬโรค ไข้จับ หรือโรคร้ายต่าง ๆ ที่มีอาการติดกันได้ เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในเมืองท่าหรือตำบลใด ๆ ภายนอกพระราชอาณาเขตไทย ให้เสนาบดีกระทรวงนครบาลมีอำนาจชอบด้วยกฎหมาย ออกประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และแจ้งประกาศไปยังกงสุลต่างประเทศทั่วกันว่า เมืองท่าหรือตำบลนั้น ๆ มีโรคร้ายที่ติดกันได้ แล้วให้บังคับบรรดาเรือที่จะมาจากเมืองท่าหรือตำบลนั้น ให้ไปอยู่ที่สถานีหรือทำเลทอดสมอเพื่อป้องกันโรคภยันตราย และให้กักอยู่ที่นั้น จนกว่าเจ้าพนักงานแพทย์กระทรวงนครบาลหรือเจ้าพนักงานรอง ซึ่งต่อไปจะเรียกว่าเจ้าพนักงานแพทย์นั้น จะอนุญาตปล่อยให้ไปได้

มาตรา ๒๑๘  ทำเลสำหรับทอดสมอเรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายในน่านน้ำไทยนั้น คือ :-

(๑) ที่เกาะพระ                                       หน้าสถานีป้องกันโรคภยันตราย

(๒) ที่เกาะสีชัง                                       หน้าด่านศุลกากร

(๓) ที่อ่างศิลา                                        หน้าด่านศุลกากร

(๔) ที่เมืองสมุทรปราการในแม่น้ำเจ้าพระยา        หน้าด่านศุลกากร

(๕) ที่กรุงเทพฯ ในแม่น้ำเจ้าพระยา                 หน้าโรงพักกองตระเวนตำบลบางคอแหลม

มาตรา ๒๑๙  สถานีป้องกันโรคภยันตรายนั้นตั้งอยู่ที่เกาะพระ หรือ ณ ตำบลใด ๆ อีกสุดแล้วแต่จะกำหนดต่อภายหลัง

              มาตรา ๒๒๐  ถ้าเรือกำปั่นลำใดที่เข้ามาถึงน่านน้ำไทยมีคนเป็นไข้กาฬโรค ไข้อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้จับ หรือโรคร้ายอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ติดกันได้มาในเรือก็ดี หรือเป็นมาแล้วภายใน ๑๔ วันก่อนวันที่เรือมาถึงก็ดี นายเรือหรือผู้ที่บังคับการในเรือลำนั้น ต้องชักธงสำหรับบอกว่ามีโรคร้ายขึ้นไว้และต้องทอดสมอจอดเรืออยู่ที่สถานีป้องกันโรคภยันตราย จนกว่าเจ้าพนักงานแพทย์จะอนุญาตปล่อยให้ไปจึงไปได้ ถ้าเป็นเรือที่จอดอยู่แล้วในน่านน้ำไทยนายเรือหรือผู้บังคับการในเรือนั้น ต้องชักธงสำหรับบอกว่ามีโรคร้ายขึ้นทันที และต้องถอยเรือไปจอดอยู่ยังตำบลที่เจ้าพนักงานแพทย์เห็นสมควร

              มาตรา ๒๒๑  เจ้าพนักงานแพทย์ต้องรีบไปไต่สวนเหตุการณ์ที่เรือนั้นและถ้าเห็นเป็นการจำเป็นสำหรับความป้องกันโรคภยันตรายแก่บ้านเมืองที่จะต้องกักเรือและบรรดาคนในเรือลำนั้นไว้ที่ด่านป้องกันโรคภยันตราย ก็ให้มีคำสั่งแก่นายเรือหรือผู้ที่บังคับการในเรือนั้น ให้พาเรือและคนในเรือไปอยู่ในความกักด่านป้องกันโรคภยันตราย

             มาตรา ๒๒๒  เมื่อมีคำสั่งดังนั้นเป็นหน้าที่ของนายเรือหรือผู้ควบคุมเรือนั้น จะต้องเอาเรือนั้นไปยังตำบลที่เจ้าพนักงานจะชี้ให้จอด และต้องจอดกักด่านอยู่ที่นั้นจนกว่าจะมีอนุญาตปล่อยให้ไปได้ตามข้อบังคับในกฎหมายนี้

               มาตรา ๒๒๓[๒๓]  บรรดาเรือที่ต้องกักด่านสำหรับป้องกันโรคภยันตรายตามคำสั่งนั้น ในเวลากลางวันให้ชักธงสำหรับบอกว่ามีโรคร้าย คือ ธงสีเหลือง มี ธงประมวญอาณัติสัญญาสากลอยู่ข้างล่าง และในเวลากลางคืนให้ชักโคมไฟสีแดงไว้ที่ปลายเสาหน้า

มาตรา ๒๒๔  บรรดากองเรือรักษาที่เฝ้าอยู่นั้น ในเวลากลางวันให้ชักธงสีเหลืองอย่างเดียวนั้นไว้ที่ท้ายเรือและในเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนพระอาทิตย์ขึ้นให้มีโคมไฟไว้ทั้งที่หัวเรือและท้ายเรือ

มาตรา ๒๒๕  ห้ามไม่ให้เรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายถอยไปจากที่ โดยมิได้รับหนังสืออนุญาตของเจ้าพนักงานแพทย์

              มาตรา ๒๒๖  ห้ามไม่ให้เรือทั้งหลาย นอกจากเรือของเจ้าพนักงานแพทย์เข้าเทียบข้างเรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตราย และห้ามไม่ให้คนผู้ใดไปมาติดต่อกับเรือที่ต้องกักนั้น และห้ามไม่ให้คนผู้ใดในเรือที่ต้องกักนั้นไปมาติดต่อกับบนฝั่ง เว้นแต่การที่อาศัยฝากธุระโดยทางเจ้าพนักงานแพทย์นั้น ยอมให้กระทำได้

                มาตรา ๒๒๗  เมื่อเรือลำใด ที่มาถึงเมืองท่าใด ๆ ในประเทศไทย กำลังมีโรคร้ายที่ติดกันได้ ในเรือหรือได้มีมาแล้วภายใน ๑๔ วันก่อนเวลาที่เรือมาถึงนั้นก็ดี ให้ส่งห่อและถุงหนังสือไปรษณีย์แก่เจ้าพนักงานแพทย์ และเมื่อเจ้าพนักงานแพทย์ได้เอารมยาหรือทำตามวิธีป้องกันโรคร้ายอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควรแก่การแล้ว ก็ให้ส่งห่อและถุงหนังสือไปรษณีย์ไปยังที่ว่าการกรมไปรษณีย์ในเมืองนั้นได้

                มาตรา ๒๒๘  เมื่อมีวิธีสำหรับป้องกันความติดต่อของโรคร้ายได้ โดยเสนาบดีกระทรวงนครบาลยอมเห็นชอบด้วยตามคราวที่สมควรแก่การแล้ว ก็ให้เจ้าพนักงานแพทย์ มีอำนาจชอบด้วยกฎหมายอนุญาตให้เรือกลไฟลำใด ๆ ผ่านทางเขตท่ารับถ่านน้ำและเสบียง และขนสินค้าขึ้นบกได้

               มาตรา ๒๒๙  เมื่อเห็นเป็นการสมควร ให้เจ้าพนักงานแพทย์มีอำนาจบังคับ ให้เอาคนในเรือลำใดที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายทั้งหมด หรือแต่บางคนขึ้นไปไว้ที่โรงพยาบาลหรือโรงพักที่สถานีป้องกันโรคของเมืองท่านั้นให้พักอาศัยและรักษาอยู่ที่นั้นจนกว่าเจ้าพนักงานแพทย์จะเห็นสมควรให้กลับไปที่เรือหรือย้ายไปลงเรืออื่นทำการติดต่อกับฝั่งได้

มาตรา ๒๓๐  เมื่อเวลามีคนที่ต้องกักอยู่ที่สถานีป้องกันโรคภยันตราย ในเวลากลางวันให้ชักธงสีเหลือง และเวลากลางคืนให้ชักโคมไฟสีแดงขึ้นไว้เป็นสำคัญในที่ ๆ แลเห็นได้ง่าย

              มาตรา ๒๓๑  เมื่อมีธงหรือโคมไฟเป็นเครื่องหมายความกักด่านป้องกันโรคภยันตรายชักขึ้นไว้เช่นนั้น ห้ามไม่ให้คนผู้ใดนอกจากเจ้าพนักงานแพทย์ หรือคนที่เจ้าพนักงานแพทย์ให้อนุญาตนั้น ไปขึ้นบกที่โรงพักด่านป้องกันโรคภยันตรายเป็นอันขาด

มาตรา ๒๓๒  เมื่อเจ้าพนักงานแพทย์จะต้องการกองรักษาสำหรับการป้องกันรักษาด่านที่ป้องกันโรคภยันตราย ให้การเป็นไปตามข้อบังคับการป้องกันโรคภยันตรายก็ให้ผู้บังคับการกองตระเวนจัดให้ตามที่ต้องการ

มาตรา ๒๓๓  ห้ามไม่ให้คนผู้ใดที่ต้องกักอยู่ที่สถานีป้องกันโรคภยันตรายไปจากที่นั้นโดยอ้างเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนที่ได้รับอนุญาตปล่อยจากเจ้าพนักงานแพทย์นั้นเป็นอันขาด

               มาตรา ๒๓๔  ถ้าคนผู้ใดขึ้นไปบนเรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายหรือเข้าไป หรือจอดเรือขึ้นที่สถานีป้องกันโรคภยันตรายโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานแพทย์ คนผู้นั้นจะต้องถูกกักด่านป้องกันโรคภยันตราย มีกำหนดเวลาตามที่เจ้าพนักงานแพทย์จะเห็นสมควร

              มาตรา ๒๓๕  ถ้าเจ้าพนักงานแพทย์ มีความต้องการให้นายเรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายจัดหาเรือ และเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อส่งคนโดยสารและลูกเรือของเรือนั้น ขึ้นไปไว้ยังโรงพักสถานีป้องกันโรคภยันตราย นายเรือต้องปฏิบัติตามทุกประการ

               มาตรา ๒๓๖  ถ้ามีคนตายในเรือลำใดที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตราย หรือตายในเรือที่บังคับให้ไปอยู่ในความกักด่านป้องกันโรคภยันตรายก็ดี ต้องจัดการปลงศพผู้ตายตามวิธีที่เจ้าพนักงานแพทย์จะสั่งให้ทำและผู้เป็นนายเรือลำนั้น จะต้องเป็นธุระจัดการนั้นให้เป็นไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานแพทย์ทุกประการ

              มาตรา ๒๓๗  บรรดาเรือต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายนั้น เมื่อได้ส่งคนโดยสารขึ้นไว้ ที่สถานีป้องกันโรคภยันตรายแล้วต้องล้างและชำระเรือด้วยน้ำยากันโรคร้ายให้เป็นที่พอใจเจ้าพนักงานแพทย์ และเมื่อทำดังนั้นแล้วก็อนุญาตปล่อยเรือนั้นไปจากความกักด่านได้

              มาตรา ๒๓๘  ผู้แทนเจ้าของเรือจะต้องรับใช้ค่าเลี้ยงดูคนที่ต้องส่งขึ้นจากเรือนั้นไปไว้ที่ด่านป้องกันโรคภยันตรายที่รัฐบาลได้ใช้จ่ายออกไปแล้วตามใบพยานของเจ้าพนักงานแพทย์และต้องรับใช้ค่าชำระล้างเรือ และค่าพยาบาลคนโดยสารและของอื่นด้วยยากันโรคร้ายนั้นด้วย

             มาตรา ๒๓๙  เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานแพทย์จะต้องรีบแจ้งรายงานต่อเสนาบดีกระทรวงนครบาลในทุกครั้งที่มีเหตุสมควร ต้องเอาคนโดยสารในเรือใด ๆ ที่พึ่งเข้ามาถึงนั้นกักด่านป้องกันโรคภยันตราย และเมื่อต้องกักเรือใด ๆ เพื่อตรวจโรคร้ายและเวลาที่อนุญาตปล่อยเรือนั้นก็ต้องรายงานด้วยเหมือนกัน

               มาตรา ๒๔๐  เมื่อมีเรือเข้ามาจากเมืองท่าหรือตำบลใดที่มีโรคภยันตรายที่ติดกันได้ หรือที่ชักธงบอกว่ามีโรคร้ายอยู่ในเรือก็ดี ถ้าเป็นการจำเป็นเพื่อการเดินเรือไม่ให้เป็นอันตราย ผู้นำร่องจะขึ้นบนเรือนั้น เพื่อพามายังที่ทอดสมอด่านตรวจโรคภยันตรายก่อนได้รับอนุญาตแพทย์ก็ได้ แต่ถ้าภายหลังเจ้าพนักงานแพทย์ตรวจเห็นเป็นที่สมควรว่าต้องกักเรือลำนั้นที่ด่านป้องกันโรคภยันตราย ผู้นำร่องผู้นั้นก็จะต้องถูกกักด้วย ตามลักษณะในมาตรา ๒๗๒ ในพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๒๔๑  นายเรือหรือแพทย์ในเรือลำใด ที่เข้ามาถึงจากตำบลใดที่มีไข้อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ หรือโรคร้ายที่ติดต่อกันได้กำลังแพร่หลายอยู่ก็ดี หรือในลำเรือนั้นได้มีคนป่วยเป็นโรคอย่างหนึ่งอย่างใดในระหว่าง ๑๔ วันก่อนวันที่เข้ามาถึงนั้นก็ดี นายเรือหรือแพทย์ผู้นั้นมีหน้าที่จำเป็นต้องแจ้งเหตุเหล่านั้นโดยถ่องแท้แก่ผู้นำร่อง และแก่เจ้าพนักงานแพทย์ที่จะมาจอดเทียบข้างหรือขึ้นบนเรือนั้นให้ทราบ

              มาตรา ๒๔๒  เจ้าพนักงานแพทย์ มีอำนาจที่จะขึ้นบนเรือใด ๆ ที่เข้ามาในน่านน้ำไทย และตรวจคนในเรือนั้นได้ทุกคน และถ้าเห็นสมควรแก่การจะเรียกดูสมุดและหนังสือสำคัญสำหรับเรือด้วยก็ได้ และเจ้าพนักงานแพทย์จะต้องพยายามทุกอย่างในทางที่ชอบด้วยกฎหมายตามที่จะเห็นสมควรแก่การสำหรับที่จะให้ทราบได้ว่าเรือตลอดทั้งคนในเรือนั้นมีความสะอาดเรียบร้อยปราศจากไข้เจ็บเพียงไร

มาตรา ๒๔๓  บรรดาคนที่ส่งขึ้นไว้ที่สถานีป้องกันโรคภยันตรายนั้น ต้องอยู่ในความกักด่านป้องกันโรคภยันตราย ตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ คือ:-

ไข้กาฬโรค ไม่เกิน ๑๐ วันตั้งแต่วันที่คนป่วยสุดท้ายตายลงหรือหายสนิทหรือย้ายไปไว้ในที่ซึ่งไม่ปะปนกับคนอื่น

ไข้ทรพิษ ไม่เกิน ๑๔ วันตั้งแต่วันที่คนป่วยสุดท้ายตายลง หรือหายสนิทหรือย้ายไปไว้ในที่ซึ่งไม่ปะปนกับคนอื่น

ไข้อหิวาตกโรค ไม่เกิน ๑๐ วันตั้งแต่วันที่คนป่วยสุดท้ายตายลง หรือหายสนิทหรือย้ายไปไว้ในที่ซึ่งไม่ปะปนกับคนอื่น

                มาตรา ๒๔๔  ห้ามมิให้เอาสิ่งของอย่างหนึ่งอย่างใดนอกจากหนังสือและเงินตราออกจากที่ใด หรือเรือลำใดที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตราย โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานแพทย์เป็นอันขาด และบรรดาสิ่งของทุกอย่างที่เอาออกมาแล้วนั้นต้องชำระด้วยเครื่องยาป้องกันโรคร้ายตามวิธีที่เจ้าพนักงานแพทย์จะสั่งให้ทำนั้นเสียก่อนจึงส่งต่อไปได้

มาตรา ๒๔๕  บรรดาหนังสือและห่อสิ่งของทางไปรษณีย์ (ไปรษณีย์วัตถุ) สำหรับส่งถึงคนที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายนั้น ให้ส่งไว้ยังที่ว่าการกรมไปรษณีย์เพื่อให้รีบส่งต่อไปในโอกาสแรกที่จะส่งได้

                มาตรา ๒๔๖  เจ้าพนักงานแพทย์ได้ตรวจบนเรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตราย หรือไปตรวจที่สถานีป้องกันโรคภยันตรายในเวลาที่มีคนต้องกักด่านอยู่นั้นก็ดี เมื่อเวลากลับต้องชำระตนเองด้วยเครื่องยาป้องกันโรคร้ายให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงขึ้นบกได้

               มาตรา ๒๔๗  ในคราวที่เจ้าพนักงานแพทย์ของรัฐบาลไทยแจ้งความแก่นายเรือในบังคับต่างประเทศลำใดว่า จะต้องจัดการตามลักษณะใน มาตรา ๒๒๐ มาตรา ๒๒๑ มาตรา ๒๒๙ มาตรา ๒๓๖ และมาตรา ๒๔๒ นั้น เมื่อก่อนจะได้ลงมือจัดการนายเรือลำนั้น ย่อมมีอำนาจชอบธรรมที่จะไปแจ้งเหตุต่อกงสุลของประเทศนั้นได้ และกงสุล (ถ้าเห็นสมควรแก่การ) ก็มีอำนาจที่จะมาดูในเวลาที่ตรวจเรือต่างประเทศนั้น และจะยอมหรือไม่ยอมให้เจ้าพนักงานจัดการตามข้อบังคับในมาตราต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้นก็ได้

               มาตรา ๒๔๘  ถ้ามีความละเมิดข้อบังคับต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างบนนี้เกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด บรรดาคนที่ช่วยในการกระทำความละเมิด และนายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือที่มีความละเมิดเกิดขึ้นหรือที่ได้เกี่ยวข้องในการกระทำความละเมิดนั้น จะต้องต่างคนรับผิดชอบในความละเมิดนั้น และต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าสองพันบาท

หมวดที่ ๖

ข้อบังคับสำหรับผู้นำร่อง[๒๔]

                  

มาตรา ๒๔๙ ถึง มาตรา ๒๗๖  (ยกเลิก)

หมวดที่ ๗

ว่าด้วยการจ้างและการเลิกจ้างคนสำหรับเรือต่าง ๆ

และการสอบไล่ความรู้เพื่อรับประกาศนียบัตรสำหรับทำการตามหน้าที่ได้

                  

               มาตรา ๒๗๗[๒๕]  ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำการควบคุมเรือกลไฟ เรือยนต์ เรือเดินทะเล เรือบรรทุกสินค้าขนาดบรรทุกตั้งแต่ ๑๐๐ หาบขึ้นไป ซึ่งทำการติดต่อกับเรือเดินทะเล หรือทำการควบคุมเครื่องจักรของเรือ นอกจากเป็นผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตร แสดงว่าตนมีความรู้สมควรที่จะทำการเช่นนั้นได้

               มาตรา ๒๗๘[๒๖]  เมื่อจะออกประกาศนียบัตรเช่นว่ามาแล้วให้แก่ผู้ใดสำหรับทำการเป็นนายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง นายท้าย คนถือท้าย หรือต้นกล คนใช้เครื่อง ท่านว่าผู้นั้นต้องสอบความรู้ได้แล้ว และเมื่อยื่นใบสมัครสอบนั้นต้องมีพยานหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจถึงเรื่องไม่เป็นคนประพฤติเสเพลติดสุรายาเมา หรือติดยาเสพติดให้โทษความชำนาญการงานที่ได้ทำมา และความประพฤติทั่วไปนั้นด้วย แต่ถ้าผู้นั้นเป็นนายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง และนายท้าย จะต้องแสดงว่ามีสายตาดีด้วย

ในมาตรานี้ คำว่า

“สรั่ง” หมายความถึงผู้ทำการควบคุมเรือลำเลียง

“ไต้ก๋ง” หมายความถึงผู้ควบคุมเรือใบเดินทะเลที่มีน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ ๘๐๐ หาบขึ้นไป

“คนถือท้าย” หมายความถึงผู้ควบคุมหรือผู้ถือท้ายหรือคนแจวท้ายของเรือบรรทุกสินค้าที่ทำการติดต่อกับเรือเดินทะเล

               มาตรา ๒๗๙[๒๗]  การแบ่งชั้นความรู้ของนายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง นายท้าย คนถือท้าย ต้นกล หรือคนใช้เครื่องระเบียบการสอบความรู้ หลักสูตรความรู้และค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียนั้น ให้เจ้าท่าออกข้อบังคับกำหนดไว้เป็นครั้งคราว ด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ ข้อบังคับนี้เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

มาตรา ๒๘๐[๒๘]  ประกาศนียบัตรแสดงความรู้นั้นต้องระบุ ชื่อ อายุ และตำหนิรูปพรรณของผู้ถือประกาศนียบัตร และข้อความอื่น ๆ ตามที่จำเป็น และต้องมีรูปถ่ายของผู้ถือประกาศนียบัตร ปิดไว้ด้วย

                ประกาศนียบัตรสำหรับคนถือท้ายให้มีอายุสามปี นอกนั้นให้มีอายุห้าปี เมื่อครบกำหนดแล้ว ผู้ถือต้องนำมาเปลี่ยนใหม่ ให้เรียกค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนประกาศนียบัตรกึ่งหนึ่งแห่งอัตราค่าธรรมเนียมเดิม และถ้าเจ้าท่าจะต้องการให้ แสดงพยานหลักฐานดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๘ ก็ทำได้

มาตรา ๒๘๑  บรรดาประกาศนียบัตรสำหรับความรู้ที่ได้ออกให้ไปแล้วก่อนเวลาประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้นั้น ให้เป็นอันใช้ได้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ออกประกาศนียบัตรให้ไปแล้ว

               มาตรา ๒๘๒[๒๙]  ผู้ใดเข้าทำการควบคุมเรือ หรือควบคุมเครื่องจักรเรือ โดยมิได้รับประกาศนียบัตรแสดงความรู้อันถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือใช้ประกาศนียบัตรที่สิ้นอายุแล้ว ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับเป็นเงินไม่เกินพันบาท

              มาตรา ๒๘๓  ผู้ใดเอาประกาศนียบัตรของคนอื่นออกอ้างหรือใช้สำหรับตนด้วยประการใด ๆ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษานุโทษเป็นสามสถาน สถานหนึ่งให้จำคุกไม่เกินกว่า ๖ เดือน สถานหนึ่งให้ปรับไม่เกินกว่าพันบาท สถานหนึ่งทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามาแล้วด้วยกัน และผู้ใดแสวงหาประกาศนียบัตรมาให้ใช้สำหรับการเช่นว่ามาในมาตรานี้ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษเช่นว่ามาแล้วดุจกัน

              มาตรา ๒๘๔[๓๐]  ผู้ควบคุมเรือและผู้ควบคุมเครื่องจักรเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรแสดงความรู้นั้น ในขณะที่ทำการควบคุมเรือ หรือควบคุมเครื่องจักรเรือ จะต้องเก็บใบประกาศนียบัตร ของตนไว้ในเรือเพื่อเจ้าพนักงานจะขอตรวจดูได้

              ถ้าในระหว่างที่ใบอนุญาตประจำเรือใดยังไม่สิ้นอายุเจ้าของเรือหรือตัวแทนประสงค์จะเปลี่ยนผู้ควบคุมเรือหรือผู้ควบคุมเครื่องจักรของเรือลำนั้น ให้เจ้าของเรือหรือตัวแทนนำใบอนุญาตเรือ พร้อมทั้งประกาศนียบัตรสำหรับตัวผู้ที่จะเปลี่ยนนั้นไปให้นายทะเบียนหมายเหตุ ณ ที่ทำการเจ้าท่าท้องถิ่นที่เรือนั้นขึ้นทะเบียนภายในกำหนด ๑๕ วัน

               มาตรา ๒๘๕  คนรับจ้างสำหรับทำการในเรือเดินทะเลคนใด จะเข้าทำการงานหรือมีผู้จ้างทำการงานในเรือกำปั่นชาติไทย หรือเรือกำปั่นต่างประเทศชาติใดที่ไม่มีกงสุลประจำอยู่ในประเทศไทย ต้องได้รับอนุญาตเจ้าท่าก่อนจึงทำได้ และเจ้าท่าต้องเรียกใบพยานเลิกจ้างที่ผู้นั้นได้รับจากเรือที่ตนได้ทำการงานมาแล้วในหนหลังมาเก็บรักษาไว้ด้วย ถ้าและผู้นั้นนำใบพยานเช่นนั้นมาส่งไม่ได้ ท่านว่าผู้นั้นจำเป็นต้องชี้แจงว่าเป็นด้วยเหตุใดให้เป็นที่พอใจเจ้าท่า

              มาตรา ๒๘๖  ค่าธรรมเนียมซึ่งรัฐบาลไทยจะได้กำหนดตามครั้งคราวนั้น ให้เรียกเก็บสำหรับการว่าจ้างและการเลิกจ้างทุกครั้ง ให้เจ้าท่าจัดระเบียบพิกัดค่าธรรมเนียมเช่นนี้ปิดประกาศไว้ ในที่แลเห็นง่าย ณ ที่ว่าการกรมเจ้าท่า และให้มีอำนาจไม่ยอมเป็นธุระจัดการว่าจ้างหรือการเลิกจ้างรายใด ๆ ก่อนได้รับค่าธรรมเนียมในส่วนนั้น

มาตรา ๒๘๗  เจ้าของเรือหรือนายเรือกำปั่นจะว่าจ้างหรือเลิกจ้างคนการสำหรับเรือเดินทะเล ณ ที่ว่าการกรมเจ้าท่า ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมตามพิกัดที่ตั้งไว้สำหรับการว่าจ้างหรือเลิกจ้างนั้นทุกครั้ง

               มาตรา ๒๘๘  เมื่อคนทำการในเรือเดินทะเลคนใดเลิกรับจ้างจากเรือกำปั่นไทยลำหนึ่งลำใดภายในพระราชอาณาเขต นายเรือกำปั่นลำนั้นต้องทำใบพยานการเลิกจ้างให้ผู้นั้นไปฉบับหนึ่งเป็นคู่มือ ให้ทำให้ในเวลาที่เลิกจ้าง และให้เขียนความลงไว้ในนั้นว่าผู้นั้นได้รับจ้างช้านานเท่าใด ประเภทการที่ได้ใช้ให้ทำและเลิกจ้างเมื่อวันใด และลงลายมือนายเรือเป็นสำคัญ ถ้าและผู้เลิกรับจ้างจะขอร้องให้ทำหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมว่าได้ให้ค่าจ้างและได้หักเงินค่าจ้างอย่างไร นายเรือต้องทำให้ตามประสงค์ ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ร้องขอ

มาตรา ๒๘๙  การเลิกจ้างคนทำการในเรือเดินทะเลจากเรือกำปั่นชาติไทย หรือจากเรือกำปั่นต่างประเทศที่ไม่มีกงสุลประจำอยู่ในประเทศไทยนั้นห้ามมิให้ทำในที่อื่น นอกจากที่ว่าการกรมเจ้าท่า

มาตรา ๒๙๐[๓๑]  ผู้ใดกระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้และความผิดนั้นมิได้มีบทกำหนดโทษไว้เป็นพิเศษ ให้ปรับเป็นเงินไม่เกินห้าสิบบาท

หมวดที่ ๘

ว่าด้วยการใช้อำนาจทำโทษสำหรับความผิด

                  

               มาตรา ๒๙๑[๓๒]  ผู้นำร่อง นายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง นายท้าย คนถือท้าย ต้นกล หรือคนใช้เครื่อง ที่ได้รับประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตผู้ใดหย่อนความสามารถ หรือประพฤติไม่สมควรแก่หน้าที่ ละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวแก่การเดินเรือหรือหน้าที่ของตน ให้เจ้าท่ามีอำนาจที่จะสั่งงดไม่ให้ใช้ประกาศนียบัตร หรือใบอนุญาตมีกำหนดไม่เกินสองปี แต่ไม่เป็นการลบล้างโทษอย่างอื่นซึ่งผู้นั้นจะพึงได้รับ

               ถ้าผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งให้งดใช้ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาต ให้ผู้นั้นมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีนั้น เป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งให้งดใช้ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตมีผลบังคับได้

               มาตรา ๒๙๒  เจ้าท่าทุกตำบลมีอำนาจหน้าที่ที่จะงดหรือเรียกคืนประกาศนียบัตร หรือใบอนุญาตใด ๆ ได้ ตามลักษณะมาตรา ๒๙๑ และเพื่อประกอบกับการเช่นนั้นให้เจ้าท่ามีอำนาจทำการไต่สวน และหมายเรียกพยานและสืบพยานได้ทุกอย่าง ถ้าพยานคนใดไม่มาเบิกพยานหรือขัดขืนไม่ยอมเบิกพยานก็ดี ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษต่อหน้าศาลธรรมดา ตามโทษานุโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดเช่นนั้น

ในการไต่สวนอย่างใดตามที่ว่ามาแล้วเจ้าท่าจะมีผู้ช่วยวินิจฉัยสองนาย ซึ่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลจะเลือกจากจำพวกคนที่มีความรอบรู้ชำนาญในการเดินเรือทะเลมานั่งพร้อมด้วยก็ได้

ถ้าผู้ต้องคดีคนใดไม่มีความพอใจและจะขอให้ตรวจคำตัดสินของคณะที่ไต่สวนเช่นว่ามานี้เสียใหม่ ท่านว่าจะฟ้องอุทธรณ์เจ้าท่าต่อศาลอันมีหน้าที่ก็ฟ้องได้

                มาตรา ๒๙๓  การใช้อำนาจปรับโทษที่ให้ไว้แก่เจ้าท่าตามพระราชบัญญัตินี้นั้นไม่เกี่ยวข้องอย่างใดกับคดีทางอาญาหรือทางแพ่งซึ่งอาจฟ้องร้องจำเลยในความผิดอันเดียวนั้น ต่อศาลซึ่งมีหน้าที่เพื่อให้ลงโทษหรือให้ปรับจำเลยใช้ค่าเสียหาย ตามลักษณะที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นสำหรับความผิดนั้น

                มาตรา ๒๙๔  ผู้ใดซึ่งเจ้าท่ายึดหรือเรียกคืนประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตอย่างใด ตามลักษณะพระราชบัญญัตินี้ เมื่อมีบังคับให้ส่งต้องนำประกาศนียบัตร หรือใบอนุญาตสำหรับตัวนั้นไปส่งยังเจ้าท่า ถ้าไม่ส่ง ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าสองร้อยบาท

มาตรา ๒๙๕  ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตใด ๆ ที่ถูกเรียกคืนนั้นท่านให้ยกเลิกเป็นอันใช้ไม่ได้ต่อไปทุกฉบับ

                 มาตรา ๒๙๖  บรรดาใบอนุญาตหรือประกาศนียบัตรที่ถูกยึดไว้ชั่วคราวนั้น ให้รักษาไว้ ณ ที่ว่าการกรมเจ้าท่าเมื่อครบกำหนดเวลาที่ให้ยึดแล้ว ให้ส่งคืนแก่ผู้ถือรับไปตามเดิม แต่ต้องจดความที่ได้ยึดนั้นลงไว้ในฉบับประกาศนียบัตร หรือใบอนุญาตนั้นด้วยเป็นสำคัญ

 

หมวดที่ ๙

ลักษณะโทษและลักษณะรับผิดชอบทางแพ่ง

                  

 

                  มาตรา ๒๙๗  ผู้ใดไม่กระทำตามคำสั่ง หรือต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานคนใดซึ่งทำการในหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษานุโทษเป็นสามสถาน สถานหนึ่งให้จำคุกไม่เกินกว่าหกเดือน สถานหนึ่งให้ปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าห้าร้อยบาท สถานหนึ่งให้ลงโทษทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามาแล้วด้วยกัน

               มาตรา ๒๙๘  ในความผิดอย่างใด ๆ ต่อพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้ที่ควบคุมเรือหรือควบคุมเครื่องจักรของเรือกำปั่นและเรือเล็กต่าง ๆ ลำใดซึ่งเป็นจำเลยนั้น หลบหนีตามตัวไม่ได้ ท่านว่าศาลมีอำนาจลงโทษปรับแก่เจ้าของเรือหรือแก่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตสำหรับเรือลำนั้นได้ตามที่กฎหมายนี้บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ

               มาตรา ๒๙๙  เจ้าของเรือหรือผู้ที่รับใบอนุญาตสำหรับเรือกำปั่นและเรือเล็กต่าง ๆ ทุกลำ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการใช้ค่าปรับต่าง ๆ ซึ่งนายเรือ,ต้นกล,ต้นหน หรือลูกเรือลำนั้นถูกปรับโดยกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดต่อพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๓๐๐  เจ้าของแพไม้ทุกแพต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการใช้ค่าปรับต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่ควบคุมแพหรือคนประจำการในแพนั้นถูกปรับโดยกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดต่อพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๓๐๑  ลักษณะโทษต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ท่านว่าไม่เกี่ยวข้องอย่างใดกับความรับผิดชอบซึ่งจำเลยจะพึงถูกปรับในคดีส่วนแพ่ง เพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดต่อพระราชบัญญัตินี้

 

หมวดที่ ๑๐

ข้อบังคับทั่วไปสำหรับเมื่อมีเหตุเรือโดนกัน

                  

                 มาตรา ๓๐๒  ถ้ามีเหตุเรือโดนกันครั้งใด เป็นโดยความไม่ได้แกล้งหรือเป็นโดยเหตุใด ๆ ซึ่งเหลือความสามารถของมนุษย์จะป้องกันได้ก็ดี ท่านว่าอันตรายและความเสียหายที่ได้มีขึ้นแก่เรือลำใดมากน้อยเท่าใดต้องเป็นพับกับเรือลำนั้นเองทั้งสิ้น

มาตรา ๓๐๓  ถ้ามีเหตุเรือโดนกันครั้งใด เป็นด้วยความผิดหรือความละเลย ท่านว่าอันตรายและความเสียหายที่ได้มีขึ้นมากน้อยเท่าใด ให้ปรับเอาแก่เรือลำที่มีความผิดหรือมีความละเลยนั้น

               มาตรา ๓๐๔  ถ้าเรือที่โดนกันนั้น ต่างมีความผิดหรือความละเลยทั้งสองลำ ท่านว่าไม่ต้องปรับให้ฝ่ายใดใช้ค่าเสียหายอันตรายซึ่งได้มีแก่ลำใดหรือทั้งสองลำเว้นไว้แต่ถ้าพิจารณาได้ความปรากฏว่า มูลเหตุที่โดนกันได้เกิดจากฝ่ายใดโดยมากฉะนั้น จึงให้ศาลซึ่งมีหน้าที่ตัดสินกำหนดจำนวนเงินที่ฝ่ายนั้นจะต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง

               มาตรา ๓๐๕  เมื่อมีความผิดหรือความละเลยเกิดขึ้นอย่างใดอันเรือที่เกี่ยวข้องมีความผิดด้วยกันทั้งสองฝ่าย ท่านว่าเจ้าของหรือนายเรือทั้งสองลำนั้นหรือลำใด แต่ลำเดียวต้องรับผิดชอบใช้ค่าอันตรายหรือความเสียหายที่ได้มีขึ้นแก่สิ่งของที่บรรทุกในเรือหรือแก่บุคคล เพราะความผิดหรือความละเลยที่ได้กระทำนั้น

ถ้าและการต้องใช้ค่าอันตรายหรือความเสียหายนั้นตกหนักแก่เรือที่ต้องคดีนั้นแต่ลำเดียว ท่านว่าเรือลำนั้นย่อมมีอำนาจที่จะฟ้องร้องให้เรืออีกลำหนึ่งที่ต้องคดีด้วยกันช่วยใช้เงินที่ได้เสียไปแล้วนั้นกึ่งหนึ่ง

ถ้าและทางพิจารณาตามกฎหมายได้ พิพากษาว่าความรับผิดชอบนั้นควรแบ่งกันเป็นอย่างอื่นนอกจากที่ว่ามาแล้วฉะนั้น ท่านว่าการที่จะต้องใช้เงินค่าอันตรายหรือความเสียหายต้องเป็นไปตามคำพิพากษานั้น

มาตรา ๓๐๖  การร้องเอาค่าเสียหายนั้นท่านว่ากัปตันหรือนายเรือลำใดที่เกี่ยวในคดีย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์แทนบรรดาบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นได้

มาตรา ๓๐๗  ถ้าการที่เรือโดนกันเป็นเหตุให้เสียชีวิตหรือเกิดบาดเจ็บแก่บุคคล ท่านว่าเงินค่าเสียหายที่ตัดสินให้เสียในส่วนนี้ต้องใช้ก่อนค่าเสียหายอย่างอื่น ๆ

มาตรา ๓๐๘  คำร้องเอาค่าเสียหายอย่างใด ๆ ที่เนื่องจากเหตุเรือโดนกันนั้น ท่านว่าต้องยื่นภายในหกเดือนนับจากวันที่ผู้เกี่ยวข้องเป็นโจทก์ได้ทราบเหตุอันนั้น

                มาตรา ๓๐๙  เมื่อได้มีคำฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากเหตุเรือโดนกันยื่นต่อศาล ถ้าผู้ใดที่เกี่ยวในคดีร้องขอขึ้น ท่านว่าผู้พิพากษาที่มีหน้าที่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งให้มีการอายัติแก่เรือลำเดียวหรือหลายลำ อันต้องหาว่าเป็นต้นเหตุในการที่เรือโดนกันนั้นได้

               มาตรา ๓๑๐  (๑) ถ้ามีความผิดอย่างใดต่อกฎข้อบังคับสำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกัน เกิดขึ้นเพราะความละเมิดของนายเรือ หรือเจ้าของเรือลำใด อันเป็นละเมิดที่กระทำด้วยความจงใจ ท่านว่านายเรือหรือเจ้าของเรือผู้นั้น มีความผิดต้องระวางโทษานุโทษสำหรับทุกครั้งที่ละเมิดเช่นนั้นเป็นสามสถาน สถานหนึ่งให้จำคุกไม่เกินกว่าหกเดือน สถานหนึ่งให้ปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าพันบาท สถานหนึ่งทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามาแล้วด้วยกัน

               (๒) ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่บุคคล หรือทรัพย์สมบัติเพราะเหตุเรือลำใดไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ในกฎข้อบังคับสำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกันท่านว่าให้ถือว่าความเสียหายอันนั้นเท่ากับได้มีขึ้นจากความละเมิดอันจงใจของผู้ควบคุมการอยู่บนดาดฟ้าเรือลำนั้นในขณะที่เกิดเหตุ เว้นไว้แต่ถ้าพิสูจน์ให้ศาลเห็นเป็นที่พอใจว่ามีเหตุอันจำเป็นในขณะนั้นที่จะต้องประพฤติให้ผิดไปจากกฎข้อบังคับที่ว่ามาแล้ว

             (๓) ในคดีเรื่องเรือโดนกัน ถ้าปรากฏขึ้นต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีนั้นว่าได้มีความละเมิดเกิดขึ้นต่อข้อบังคับข้อหนึ่งข้อใดแห่งกฎข้อบังคับสำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกัน ท่านให้ถือว่าความผิดที่เป็นมูลแห่งคดีนั้นตกอยู่กับเรือลำที่ได้มีความละเมิดอันนั้น เว้นไว้แต่ถ้าพิสูจน์ให้ศาลเห็นเป็นที่พอใจว่าได้มีเหตุอันจำเป็นที่จะต้องประพฤติให้ผิดไปจากกฎข้อบังคับที่ว่ามาแล้ว

มาตรา ๓๑๑  เมื่อเจ้าของเรือหรือนายเรือลำใดต้องการกฎข้อบังคับสำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกัน ก็ให้เจ้าท่าจ่ายให้ตามความประสงค์

                 มาตรา ๓๑๒  เมื่อเกิดเหตุเรือสองลำโดนกันขึ้นเวลาใด นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือทั้งสองฝ่าย เมื่อเห็นว่าจะกระทำได้เพียงใดโดยไม่เป็นที่น่ากลัวอันตรายจะมีขึ้นแก่เรือ หรือลูกเรือ หรือคนโดยสาร (ที่หากจะมี) ในเรือของตน ท่านว่าเป็นหน้าที่ของนายเรือหรือผู้ควบคุมเรือควรจะกระทำดังต่อไปนี้ คือ

                (ก) ต้องช่วยเหลือตามความสามารถที่จะกระทำได้เพียงใด แก่เรืออีกลำหนึ่งที่โดนกัน และแก่นายเรือ, ลูกเรือและคนโดยสาร (ถ้าหากมี) ของเรือลำนั้น เพื่อป้องกันให้พ้นจากอันตรายที่จะพึงเกิดจากเหตุที่เรือโดนกันนั้นและต้องรอเรืออยู่ใกล้กับเรือลำนั้น จนกว่าจะเป็นที่แน่ใจว่าไม่ต้องการให้ช่วยเหลืออีกต่อไป

(ข) ต้องแจ้งชื่อเรือ ชื่อเมืองท่าที่เป็นสำนักนี้ของเรือของตน และมาจากเมืองท่าใด จะไปเมืองท่าใด แก่นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรืออีกลำหนึ่งที่โดนกันนั้นให้ทราบ

                ถ้านายเรือ หรือผู้ที่ควบคุมเรือลำใด ละเลยไม่กระทำตามข้อปฏิบัติที่ว่าไว้ในมาตรานี้ และไม่มีเหตุอันสมควรที่จะแก้ตัวได้ว่าเป็นด้วยเหตุใด ท่านว่าถ้าไม่มีสักขีพยานแน่นอนว่าเป็นอย่างอื่น ต้องถือว่าเหตุเรือโดนกันนั้นได้เกิดขึ้นเพราะความประพฤติผิด หรือความละเลย หรือความประพฤติละเมิดฉะนั้น

                ถ้านายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือลำใด ไม่มีเหตุอันสมควรที่จะแก้ตัวได้ และผู้นั้นไม่กระทำตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ท่านว่ามีความผิดต้องระวางโทษานุโทษเป็นสามสถาน สถานหนึ่งให้จำคุกไม่เกินกว่าหกเดือน สถานหนึ่งให้ปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าพันบาท สถานหนึ่งทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามาแล้วด้วยกัน ถ้าและเป็นผู้ที่มีประกาศนียบัตรสำหรับทำการในหน้าที่เช่นนั้น ท่านว่าต้องมีการพิจารณาความที่ประพฤติผิด และให้งดประกาศนียบัตรนั้นเสีย หรือห้ามไม่ให้ใช้อีกต่อไปก็ได้ สุดแต่สมควรแก่การ

แบบที่ ๑

แบบคำถามซึ่งนายเรือต้องชี้แจงในเวลาที่เรือเข้ามาถึง

                  

(๑) วันที่เรือมาถึง...............................................................................................

(๒) ชื่อเรือ...........................................................................................................

(๓) ธงชาติของเรือ.............................................................................................

(๔) ประเภทของเรือ..........................................................................................

(๕) เรือขนาดกี่ตัน..............................................................................................

(๖) ชื่อนายเรือ...................................................................................................

(๗) เรือมาขึ้นแก่ผู้ใด..........................................................................................

(๘) เรือมาจากไหน............................................................................................

(๙) ได้ออกเรือจากนั่นเมื่อวันใด......................................................................

(๑๐) ประเภทสินค้าที่บรรทุกมาในเรือ..........................................................

(๑๑) มียาฝิ่นบรรทุกมาเท่าไร..........................................................................

(๑๒) มีหนังสือส่งทางไปรษณีย์มาเท่าไร........................................................

(๑๓) มีเครื่องอาวุธอย่างไรเท่าไร....................................................................

(๑๔) มีเครื่องกระสุนปืนและเครื่องระเบิดอย่างไรเท่าไร.............................

(๑๕) มีโรคร้ายที่ติดกันได้หรือไม่.....................................................................

(๑๖) ได้มีคนตายในเรือหรือไม่........................................................................

(๑๗) จำนวนคนประจำเรือ..............................................................................

(๑๘) จำนวนคนโดยสารชั้นมีห้องให้พัก........................................................

(๑๙) จำนวนคนโดยสาร ที่อาศัยพักบนดาดฟ้า...........................................

(๒๐) จดหมายเหตุ.............................................................................................

แบบที่ ๒

พิกัดค่าจ้างนำร่อง[๓๓]

                  

(ยกเลิก)

แบบที่ ๓

พิกัดค่าธรรมเนียมประภาคารและโคมไฟ[๓๔]

                  

(ยกเลิก)

พระราชบัญญัติตราไว้ ณ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เป็นวันที่ ๙๗๙ ในรัชกาลปัจจุบันนี้

ประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖[๓๕]

 

ประกาศเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราค่าธรรมเนียมประภาคารและโคมไฟ ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔[๓๖]

 

พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๖[๓๗]

 

พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗[๓๘]

มาตรา ๔  เรือเดินสมุทรบรรทุกนักท่องเที่ยวรอบโลกชั่วครั้งคราว ให้เก็บค่าธรรมเนียมประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำและโคมไฟ กึ่งอัตราปกติ

                มาตรา ๕  ในการพิจารณาออกใบอนุญาตสำหรับเรือกลไฟและเรือยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร หรือสินค้าหรือจูงเรือนั้น ถ้าเป็นเรือเดินประจำทาง เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานซึ่งได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อการจดทะเบียนมีอำนาจที่จะ

(๑) กำหนดข้อห้ามและเงื่อนไขเกี่ยวกับเขตหรือทางที่จะใช้เรือนั้นเดิน

(๒) กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวน ขนาด และชนิดของเรือที่จะใช้เดินจากตำบลหนึ่งถึงตำบลหนึ่ง ตลอดถึงการสับเปลี่ยนเรือใช้แทนกันชั่วครั้งคราวด้วย

               (๓) สั่งงดการอนุญาตเรือลำใด ๆ หรือของเจ้าของใด ๆ มิให้เดินประจำทางที่เห็นว่ามีเรืออื่นเดินอยู่เพียงพอแล้วหรือเมื่อเห็นว่า ถ้าให้อนุญาตจะมีการแข่งขันกันจนเสื่อมเสียประโยชน์ของเจ้าของเรือ หรือเสื่อมเสียความปลอดภัยของประชาชน

(๔) ตั้งคณะกรรมการขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าจูงเรือ และเวลาออกเรือ คณะกรรมการนั้นให้รวมทั้งเจ้าของเรือหรือผู้แทนด้วย

               ถ้าไม่ใช่เรือเดินประจำทาง เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานนั้นมีอำนาจที่จะห้ามหรือจำกัดมิให้เดินในเขตใด ๆ ในเมื่อเห็นว่าการเดินเรือรับจ้างในเขตนั้นจะเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน

                มาตรา ๖  เรือกลไฟ และเรือยนต์ที่ทำการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือเป็นการประจำทางที่ยังมิได้แจ้งความจำนงว่าจะนำเรือไปเดินจากตำบลใด ถึงตำบลใดนั้น ให้นำใบอนุญาตสำหรับเรือมาขอแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ภายในสี่เดือน นับตั้งแต่วันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป การแก้ทะเบียนเช่นว่ามานี้ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

                มาตรา ๗  เรือกลไฟและเรือยนต์ที่รับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือลำใด กระทำการฝ่าฝืนต่อเงื่อนไขที่ได้กำหนดขึ้นตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้ เจ้าท่าหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะสั่งงดการเดินเรือของเรือนั้น ๆ เสียชั่วคราว หรือจะสั่งให้ยึดใบอนุญาตสำหรับเรือนั้นไว้มีกำหนดไม่เกินหกเดือนก็ได้

                 ผู้มีส่วนได้เสียผู้ใดไม่พอใจในคำสั่งให้งดการเดินเรือหรือให้ยึดใบอนุญาตสำหรับเรือ ผู้นั้นมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีนั้นเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งให้งดหรือยึดนั้นมีผลบังคับได้

                 เรือใดที่ถูกยึดใบอนุญาตหรือถูกสั่งให้งดการเดินเรือแล้ว ยังขืนเดินก็ดี หรือเรือใดกระทำการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้าหรือจูงเรือเป็นการประจำทางโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก็ดี ผู้ควบคุมเรือหรือเจ้าของเรือมีความผิดต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๑

มาตรา ๑๒  บรรดาธงสัญญาณที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยยังมิได้บังคับไว้นั้น ให้บรรดาเรือกลไฟที่เข้ามาในเขตท่าแห่งน่านน้ำไทยปฏิบัติตามประมวลสัญญาณสากลที่ใช้อยู่จงทุกประการ

               มาตรา ๑๓  ความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยซึ่งมีโทษปรับสถานเดียวไม่เกิน ๒๐๐ บาท และที่เกิดขึ้นในท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจเจ้าท่า ให้เจ้าท่ามีอำนาจเปรียบเทียบได้ เมื่อเจ้าทุกข์และผู้เสียหายยินยอมและเมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบนั้นแล้ว ให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดเพียงนั้น

                มาตรา ๑๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการมีอำนาจหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม และให้มีอำนาจตั้งเจ้าพนักงาน ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม หรือกิจการอื่น เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

                เจ้าพนักงานที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรานี้ ให้ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าและการตั้งเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย และให้ระบุให้ชัดเจนว่า ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นมีอำนาจปฏิบัติหน้าที่เพียงใด

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)[๓๙]

                มาตรา ๔  การนำร่องนั้น ให้อยู่ในอำนาจและความควบคุมของรัฐบาลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ที่กรมเจ้าท่าสังกัดเป็นเจ้าหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อการนั้น ให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงในเรื่องต่อไปนี้ คือ

๑) กำหนดคุณสมบัติผู้นำร่องและผู้ฝึกการนำร่องกำหนดชั้นความรู้ผู้นำร่อง วิธีการที่จะสอบความรู้และออกใบอนุญาตแก่ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตเป็นผู้นำร่อง

๒) กำหนดหน้าที่และมรรยาทของผู้นำร่อง

๓) กำหนดจำนวนผู้นำร่องที่จะอนุญาตให้ทำการนำร่องและจำนวนผู้ฝึกการนำร่องประจำท่า หรือน่านน้ำแห่งใดแห่งหนึ่ง

๔) กำหนดค่าธรรมเนียมสอบไล่ผู้นำร่อง

๕) กำหนดวิธีการเก็บ และแบ่งเงินผลประโยชน์ที่ได้มาเนื่องในการนำร่อง เป็นต้นว่าจะแบ่งให้แก่ผู้นำร่องและผู้ฝึกการนำร่องเท่าใด แบ่งเป็นเงินสำรองหรือเงินทุนตั้งไว้เพื่อการใด และเก็บไว้ ณ ที่ใดเท่าใด

๖) กำหนดเขตท่าหรือน่านน้ำใด ๆ ให้มีการนำร่อง โดยใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล หรือของเทศบาล หรือหุ้นส่วนบริษัท หรือเอกชน ทำการนำร่องตลอดถึงวางข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวด้วยการนั้น

๗) กำหนดเขตท่าหรือน่านน้ำใด ๆ ซึ่งบังคับให้เป็นเขตที่ต้องเดินเรือโดยมีผู้นำร่อง ตลอดถึงวางข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวด้วยขนาดและชนิดของเรือที่ยกเว้นไม่ต้องบังคับใช้ผู้นำร่อง การเพิ่มหรือลดหย่อนค่าจ้างนำร่องแก่เรือบางประเภท

๘) กำหนด ขนาดเรือ ที่จะต้องเสียค่าจ้างนำร่อง และพิกัดค่าจ้างนำร่อง

๙) กำหนดการลงทัณฑ์และจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาการลงทัณฑ์แก่ผู้นำร่อง เมื่อผู้นำร่องกระทำผิดกฎข้อบังคับ ซึ่งว่าด้วยหน้าที่และมรรยาทของผู้นำร่อง

ทัณฑ์ที่จะลงได้นั้นมี ๒ สถาน คือ

ก. ตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษร

ข. ปรับเป็นเงินไม่เกินร้อยบาทหรือลดชั้นเงินเดือนหรือตัดเงินเดือน แล้วแต่กรณี

๑๐) กำหนดแบบบัญชีและรายงานสำหรับให้ผู้นำร่องหรือห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือเทศบาลที่ทำการนำร่อง ทำยื่นต่อกรมเจ้าท่าเป็นครั้งคราวตามที่เห็นสมควร

กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

              มาตรา ๕  เมื่อได้ประกาศกฎกระทรวงกำหนดเขตท่าหรือน่านน้ำใด ๆ บังคับให้เป็นเขตที่ต้องเดินเรือโดยมีผู้นำร่องเรือกลไฟและเรือเดินทะเลที่เคลื่อนเดิน หรือเข้าออกในเขตท่าหรือน่านน้ำนั้น ๆ ให้มีการนำร่องเว้นแต่จะมีกฎกระทรวงกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา ๔

              มาตรา ๖  บุคคลใดจะรวมแรงรวมทุนกันตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทอันมีวัตถุประสงค์เพื่อจะหาประโยชน์ในทางรับจ้างนำร่องจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่กรมเจ้าท่าสังกัดเสียก่อน จึงจะตั้งได้

              มาตรา ๗  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่กรมเจ้าท่าสังกัดตั้งเจ้าหน้าที่ขึ้นคนหนึ่ง หรือหลายคนเป็นผู้สอดส่องกิจการและมรรยาทของผู้นำร่อง หรือของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อทำการนำร่อง หรือของเทศบาลเฉพาะที่เกี่ยวกับการนำร่อง

มาตรา ๘  เจ้าหน้าที่ซึ่งตั้งขึ้นตามความในมาตรา ๗ นั้น ให้อยู่ในบังคับบัญชาของกรมเจ้าท่าและมีอำนาจ

๑) เข้าไปในสถานที่และตรวจดูสมุดบัญชีสรรพเอกสารและวัตถุเครื่องใช้ที่เกี่ยวหรือใช้ในการนำร่องได้ในเวลาทำงานทุกเมื่อ

                ๒) เรียกผู้นำร่อง หรือลูกจ้างของผู้นำร่องหรือเจ้าหน้าที่ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือเทศบาลที่ทำการนำร่องมาสอบถามถึงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการนำร่อง หรือถึงความประพฤติความเป็นไปของผู้นำร่อง หรือของบุคคลนั้น ๆ เพียงเท่าที่เกี่ยวกับกิจการนำร่อง

๓) สั่งให้ผู้นำร่องคนใดไปให้แพทย์ทหารเรือ หรือแพทย์สาธารณสุขตรวจร่างกาย หรือตรวจสายตาเป็นครั้งคราวตามที่เห็นสมควร

                มาตรา ๙  ถ้าเจ้าพนักงานผู้สอดส่องกิจการและมรรยาทของผู้นำร่องตรวจเห็นเรือหรือวัตถุเครื่องใช้ใด ๆ ที่ใช้ในการนำร่องชำรุดบุบสลาย ไม่เป็นที่ปลอดภัยที่จะใช้ในการนำร่อง ให้มีอำนาจสั่งเจ้าของจัดการซ่อมแซม ในระหว่างที่ยังซ่อมแซมไม่เสร็จ ห้ามมิให้นำเรือ หรือวัตถุเครื่องใช้นั้น ๆ มาใช้ในการนำร่อง

                 มาตรา ๑๐  เมื่อปรากฏขึ้นว่าผู้นำร่องคนใดมีโรคภัยร่างกายไม่สมประกอบไม่สมควรให้ทำการเป็นผู้นำร่องต่อไปก็ดี หรือทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือทำผิดกฎข้อบังคับซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้ ถึงแม้ว่าผู้นำร่องนั้นจะได้รับโทษอย่างอื่นแล้วก็ดี กรมเจ้าท่ามีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้นำร่องนั้น หรือลดชั้นใบอนุญาตเสียหรือจะสั่งให้ยึดใบอนุญาตไว้เป็นเวลาไม่เกินสองปีแล้วแต่จะเห็นสมควร

                 ถ้าผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งของกรมเจ้าท่า ให้มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ภายใน ๑ เดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีนั้นเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งของกรมเจ้าท่ามีผลบังคับได้

มาตรา ๑๑  ความผิดหรือละเมิดที่ผู้นำร่องได้กระทำนั้นไม่เป็นข้อแก้ตัวของเจ้าของเรือ หรือนายเรือในอันที่จะทำให้ตนพ้นความรับผิดตามกฎหมาย ในความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องในการเดินเรือ

แต่เจ้าของเรือหรือนายเรือย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องขอให้ผู้นำร่องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ตนอีกต่อหนึ่ง

มาตรา ๑๒  บุคคลผู้รับผิดในการชำระเงินค่าจ้างนำร่องตามพิกัด ได้แก่

๑. เจ้าของหรือนายเรือ หรือ

๒. ตัวแทนเจ้าของเรือในขณะที่มีการนำร่อง

                 ในกรณีค้างชำระเงินค่าจ้างนำร่อง เจ้าท่าจะกักเรือ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกใบปล่อยเรือจะยึดใบปล่อยเรือไว้ก่อน จนกว่าจะได้ชำระเงินค่าจ้างนำร่องกันเสร็จแล้ว หรือมีค้ำประกันมาให้จนเป็นที่พอใจก็ได้ ถ้ามีคดีฟ้องเรียกค่าจ้างนำร่อง ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ยึดเรือหรือเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับเรือตามบทแห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่งไว้จนกว่าจะได้ชำระเงินค่าจ้าง

                มาตรา ๑๓  ผู้นำร่องคนใดทำการนำร่องนอกเหนือใบอนุญาตหรือโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี ทำการนำร่องในระหว่างที่ใบอนุญาตถูกเรียกคืน ถูกงดใช้หรือถูกยึดก็ดีไม่ยอมไปทำการนำร่องเรือลำใดลำหนึ่งที่ได้ให้สัญญาณขอให้ตนไปทำการนำร่องโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควรก็ดี ละทิ้งการนำร่องไปกลางคันจากเรือลำใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือโดยนายเรือไม่ได้ยินยอมก็ดี นำเรือหรือวัตถุเครื่องใช้ในการนำร่องที่เจ้าพนักงานสั่งให้ทำการซ่อมแซมตามมาตรา ๙ มาใช้ก่อนซ่อมแซมเสร็จก็ดี ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินห้าร้อยบาท

มาตรา ๑๔  นายเรือคนใดใช้ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือผู้ที่ทำการนำร่องนอกเหนือ

                ใบอนุญาตเป็นผู้นำร่อง หรือใช้ผู้ที่ถูกเรียกใบอนุญาตคืน หรือผู้ที่ใบอนุญาตถูกงดใช้หรือถูกยึดให้เป็นผู้นำร่องเรือของตน หรือนายเรือคนใดเดินเรือในเขตท่าที่บังคับให้มีการนำร่องโดยไม่ใช้ผู้นำร่อง นายเรือผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสองเท่าจำนวนค่าจ้างนำร่องตามพิกัดที่ตั้งไว้สำหรับเรือลำนั้น

                  แต่ถ้าในขณะที่กระทำการนั้น มีการจำเป็นโดยในขณะนั้นไม่มีผู้นำร่องที่ได้รับอนุญาตถูกต้องมาขอร้อง หรือให้สัญญาณขอเป็นผู้นำร่องก็ดี หรือเรืออยู่ในความอันตรายหรือความลำบากที่นายเรือต้องแสวงหาความช่วยเหลืออย่างดีตามที่จะหาได้ในระหว่างนั้นก็ดี นายเรือและผู้ที่ทำการนำร่องไม่มีความผิด

                 มาตรา ๑๕  ผู้นำร่องคนใดเรียกเงินค่านำร่องเกินกว่าพิกัดที่ตั้งไว้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าห้าสิบบาท ถ้าได้รับเงินมาด้วยแล้ว ให้คืนเงินจำนวนที่เรียกเกินมานั้นให้แก่นายเรือหรือเจ้าของเรือนั้นด้วย

                 มาตรา ๑๖  ผู้ใดไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำร่อง แสดงตนว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้นำร่องได้ โดยเอาใบอนุญาตของคนอื่นมาแสดงหรือโดยใช้เครื่องหมายสัญญาณใด ๆ สำหรับใช้ในการนำร่องเพื่อขอทำการนำร่อง ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดแสวงหาใบอนุญาตหรือเครื่องหมายสัญญาณให้ผู้อื่นกระทำการใด ๆ ดังกล่าวมาในวรรคก่อน ผู้นั้นมีความผิดเป็นตัวการดุจกัน

มาตรา ๑๗  ขณะที่ผู้นำร่องอยู่ในเรือลำใด ถ้าไม่มีเจ้าพนักงานศุลกากรอยู่ในเรือลำนั้นด้วยให้ผู้นำร่องผู้นั้น ทำการเป็นเจ้าพนักงานศุลกากรในเหตุที่จะมีการกระทำผิดพระราชบัญญัติศุลกากรเกิดขึ้น

                 ถ้าปรากฏว่าได้มีการที่จะขนถ่ายสินค้าใด ๆ ออกจากเรือหรือบรรทุกขึ้นเรือโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นำร่องบอกกล่าวแก่นายเรือถึงการกระทำผิดเช่นนั้น เมื่อได้บอกกล่าวแล้ว นายเรือผู้นั้นยังพยายามกระทำฝ่าฝืน ผู้นำร่องมีอำนาจกักเรือนั้นไว้รอคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจต่อไป

พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๓)[๔๐]

วศิน/แก้ไข

๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๐/-/หน้า ๗๔/๕ สิงหาคม ๒๔๕๖

[๒] มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

[๓] มาตรา ๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๔] มาตรา ๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

[๕] มาตรา ๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๖] มาตรา ๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๗] มาตรา ๕๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

[๘] มาตรา ๖๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๙] มาตรา ๗๔ วรรคสอง เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๓)

[๑๐] มาตรา ๗๔ วรรคสาม เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๓)

[๑๑] มาตรา ๑๐๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๑๒] มาตรา ๑๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๑๓] มาตรา ๑๓๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๑๔] มาตรา ๑๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๑๕] มาตรา ๑๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

[๑๖] มาตรา ๑๖๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๖

[๑๗] มาตรา ๑๙๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๑๘] มาตรา ๑๙๘ วรรคสอง เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๑๙] มาตรา ๒๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๒๐] มาตรา ๒๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๒๑] มาตรา ๒๑๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๒๒] มาตรา ๒๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๒๓] มาตรา ๒๓๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

[๒๔] ภาคที่ ๓ หมวดที่ ๖ ข้อบังคับสำหรับผู้นำร่อง มาตรา ๒๔๙ ถึงมาตรา ๒๗๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)

[๒๕] มาตรา ๒๗๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๒๖] มาตรา ๒๗๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๒๗] มาตรา ๒๗๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๒๘] มาตรา ๒๘๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๒๙] มาตรา ๒๘๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๓๐] มาตรา ๒๘๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๓๑] มาตรา ๒๙๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๓๒] มาตรา ๒๙๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๓๓] พิกัดค่าจ้างนำร่อง ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒)

[๓๔] พิกัดค่าธรรมเนียมประภาคารและโคมไฟ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

[๓๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๐/-/หน้า ๓๐๐/วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๕๖

[๓๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๘/-/หน้า ๕๕๗/วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๔

[๓๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐/-/หน้า ๘๔๒/๑๔ มกราคม ๒๔๗๖

[๓๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๑/-/หน้า๘๐๗/๒๘ ตุลาคม ๒๔๗๗

[๓๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒/-/หน้า ๑๒๑/๒๘ เมษายน ๒๔๗๘

[๔๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒/-/หน้า ๑๓๑/๒๘ เมษายน ๒๔๗๘