พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477
พระราชบัญญัติ
การเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม
พุทธศักราช ๒๔๗๗
นริศรานุวัดติวงศ์
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖)
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗”
มาตรา ๒[๑] ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๗เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๑๔ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ และอัตราค่าธรรมเนียมตามแบบ ๓ แห่ง พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราค่าธรรมเนียมประภาคารและโคมไฟ ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔
ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๘, ๑๐๒, ๑๓๕, ๑๓๖, ๑๓๗, ๒๑๒, ๒๑๓, ๒๑๕, ๒๗๗, ๒๗๘, ๒๗๙, ๒๘๐, ๒๘๒, ๒๘๔, ๒๙๐ และ ๒๙๑ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ และใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖๘ ในแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ นอกเขตท่าบรรดาเรือที่เดินตามน้ำให้เดินกลางลำแม่น้ำหรือลำคลอง เรือที่เดินทวนน้ำให้เดินแอบฝั่ง ถ้าไม่สามารถจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังว่ามานี้ ให้เดิน.กลางร่องน้ำ และให้ปฏิบัติตามข้อบังคับการเดินเรือแห่งท้องถิ่นซึ่งตั้งขึ้นเพื่อควบคุมการเดินเรือในลำแม่น้ำหรือคลองนั้น ๆ ด้วย
ให้เจ้าท่าหรือข้าหลวงประจำจังหวัดในท้องถิ่นที่ไม่มีเจ้าท่า มีอำนาจออกข้อบังคับควบคุมการเดินเรือในแม่น้ำและลำคลองใด ๆ ซึ่งอยู่ในเขตท้องถิ่นของตนได้ ข้อบังคับนั้นเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้”
“มาตรา ๑๐๒ นายเรือที่ได้รับประกาศนียบัตรแสดงความรู้ทุกคน ต้องใช้ความระมัดระวังในการควบคุมเรือโดยเต็มความสามารถ เพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายอย่างใด ๆ และถ้ามีเหตุอย่างใด ๆ เกิดขึ้นในหน้าที่ขณะที่ตนกระทำการควบคุมเรือนั้นอยู่ นายเรือลำนั้นต้องรายงานเหตุที่เกิดขึ้นนั้นต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
๑. สำหรับเรือที่ยังไม่ออกจากเขตท่าไปทะเลในทันทีทันใด ถัดเวลาที่เกิดเหตุให้ยื่นรายงานต่อเจ้าท่าภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง แต่ถ้าเรือลำนั้นกำลังจะออกจากท่าไปสู่ทะเลก็ให้ส่งรายงานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนในโอกาสแรกที่จะส่งได้ หรือแวะแจ้งความต่อกรมการอำเภอ หรือตำรวจท้องที่ใกล้เคียง หรือฝากรายงานนั้นไว้ แก่เจ้าพนักงานศุลกากร ณ ตำบลใกล้เคียงเพื่อส่งให้เจ้าท่าต่อไป
รายงานนั้นต้องแจ้งให้ชัดเจนถึงข้อเหล่านี้
(๑) ตำบลที่เกิดเหตุพร้อมทั้งแผนที่สังเขปถ้าสามารถจะทำได้
(๒) วัน เดือน ปี ที่เกิดเหตุ
(๓) ชื่อเจ้าของเรือ หรือตัวแทน และเลขทะเบียนเรือ
(๔) สาเหตุที่เกิดและกรณีแวดล้อม
(๕) ความเสียหายที่ได้รับ
(๖) ถ้าเป็นเรือที่มีสมุดปูม ก็ให้คัดข้อความประจำวันที่จดไว้ในสมุดปูม ทั้งปากเรือและท้องเรือแนบมาด้วย
๒. สำหรับเรืออื่น ๆ นอกจากในอนุมาตรา ๑ ให้รายงานเหตุที่เกิดขึ้นนั้นต่อเจ้าท่า หรือแจ้งความต่อกรมการอำเภอ หรือตำรวจท้องที่ใกล้เคียงภายในเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง
๓. กรมการอำเภอ หรือตำรวจท้องที่ เมื่อได้รับแจ้งความแล้วให้ ไต่สวนและจัดการไปตามหน้าที่ และให้รีบส่งสำเนาการไต่สวนนั้นไปให้เจ้าท่าท้องถิ่น หรือกรมเจ้าท่าทราบ
“มาตรา ๑๓๕ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๓๔ บรรดาเรือที่ใช้อยู่ในน่านน้ำไทยนอกจากเรือที่ใช้เดินในแม่น้ำโขง ต้องจดทะเบียนและรับใบอนุญาตและให้เสียค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗๔, ๑๘๐ และ ๑๘๘ เว้นแต่
๑. เรือยนต์มีขนาดต่ำกว่า ๓ ตันกรอสส์ ให้เรียกค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตกึ่งอัตราปกติ แต่ถ้าเรือยนต์นั้นเป็นของกสิกรใช้เครื่องฉุดระหัดแรงม้าไม่เกินกว่า ๗ แรงที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการกสิกรรมของตนเอง ให้ยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนและรับใบอนุญาต
๒. เรือใบและเรือเล็กขนาดบรรทุกต่ำกว่า ๑๐๐ หาบ ไม่ต้องจดทะเบียนและรับใบอนุญาต ส่วนที่มีขนาดบรรทุก ตั้งแต่ ๑๐๐ หาบ ถึง ๘๐๐ หาบ ให้เรียกค่าธรรมเนียมออกใบอนุญาตกึ่งอัตราปกติ
บทบัญญัติแห่งอนุมาตรา ๒ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่เรือที่ใช้อยู่หรือที่นำมาใช้ในท้องที่ซึ่งได้มีการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว”
“มาตรา ๑๓๖ ในท้องที่ที่มีการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตสำหรับเรือกลไฟ เรือยนต์และเรือเล็กอยู่แล้วนั้นให้คงมีการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตต่อไป ส่วนในท้องที่อื่นซึ่งยังมิได้บังคับให้มีการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตนั้น เมื่อจะใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับเมื่อใด ให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามเดือน”
“มาตรา ๑๓๗ เรื่องราวขอรับใบอนุญาตหรือขอต่ออายุใบอนุญาตนั้น ให้ยื่นต่อเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงาน ซึ่งได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อการจดทะเบียนและต้องเขียนด้วยกระดาษแบบพิมพ์ของราชการ เวลาที่ยื่นเรื่องราวผู้ขอใบอนุญาตต้องนำเงินไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนเงินค่าธรรมเนียมสำหรับออกใบอนุญาตนั้นมาวางไว้ด้วย
ถ้าเป็นเรือกลไฟหรือเรือยนต์ที่ประสงค์จะเดินรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือ ผู้ยื่นเรื่องราวต้องแจ้งมาให้ชัดเจน ถ้าจะเดินรับจ้างเป็นการประจำทางจะต้องระบุด้วยว่า ตนจะนำเรือนั้นไปเดินจากตำบลใดถึงตำบลใด
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ เรือกลไฟหรือเรือยนต์ลำใดเดินรับจ้างเป็นการประจำระหว่างตำบลใด ๆ มีกำหนดตั้งแต่ ๓ เดือนขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นเรือเดินประจำทาง
เรือกลไฟหรือเรือยนต์ที่ได้รับอนุญาตให้เดินรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือตามความประสงค์ในวรรคก่อนนี้แล้ว ต่อมาถ้าจะขอแก้ทะเบียนเปลี่ยนความประสงค์ที่ได้รับอนุญาตไว้แต่เดิมนั้นก็ได้"
“มาตรา ๒๑๒ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๒๑๓ เรือเดินในทะเลที่เข้ามาในน่านน้ำไทย หรือที่เดินจากท่าหนึ่งถึงอีกท่าหนึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำและโคมไฟ แก่เจ้าพนักงานที่ได้แต่งตั้งไว้เพื่อการนั้นตามอัตราและวิธีการที่จะได้มีกฎกระทรวงกำหนดไว้เป็นครั้งคราว”
“มาตรา ๒๑๓ เรือต่อไปนี้ให้ยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำ และโคมไฟ ตามมาตรา ๒๑๒ คือ
(๑) เรือของรัฐบาลไทย
(๒) เรือยอชต์ของเอกชน
(๓) เรือของรัฐบาลต่างประเทศ
(๔) เรือที่ใช้เฉพาะขนถ่ายสินค้าหรือคนโดยสารไปมาภายในเขตท่าเดียวกัน หรือระหว่างท่ากับที่ทอดจอดเรือภายนอกแห่งท่านั้น
(๕) เรือค้าชายฝั่งขนาดบรรทุกต่ำกว่า ๘๐๐ หาบ
(๖) เรือเดินทางซึ่งมีแต่อับเฉา ไม่ได้ค่าระวางบรรทุกและไม่มีคนโดยสาร
(๗) เรือที่เข้ามาเฉพาะจัดหาเชื้อเพลิง เครื่องพัสดุหรือสะเบียงสำหรับเรือลำนั้นเท่านั้น
(๘) เรือที่เข้ามาเพราะถูกพายุ หรือเพื่อทำการซ่อมแซม หรือเพราะเกิดเสียหาย แต่เรือที่ว่านี้จะต้องไม่ขนถ่ายสินค้าลงหรือขึ้นนอกจากสินค้าที่จำต้องขนลง เพื่อการซ่อมแซมที่ว่านี้ และภายหลังได้ขนสินค้านั้นคืนขึ้นเรือ”
“มาตรา ๒๑๕ เรือลำใดซึ่งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำ และโคมไฟ มาขอใบปล่อยเรือ ให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานศุลกากรหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีหน้าที่ออกใบปล่อยเรือขอตรวจดูใบเสร็จค่าธรรมเนียมนั้น ถ้าปรากฏว่าได้เสียค่าธรรมเนียมแล้ว จึงให้ออกใบปล่อยเรือให้”
“มาตรา ๒๗๗ ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำการควบคุมเรือกลไฟ เรือยนต์ เรือเดินทะเล เรือบรรทุกสินค้าขนาดบรรทุกตั้งแต่ ๑๐๐ หาบขึ้นไป ซึ่งทำการติดต่อกับเรือเดินทะเล หรือทำการควบคุมเครื่องจักรของเรือ นอกจากเป็นผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตร แสดงว่าตนมีความรู้สมควรที่จะทำการเช่นนั้นได้”
“มาตรา ๒๗๘ เมื่อจะออกประกาศนียบัตรเช่นว่ามาแล้วให้แก่ผู้ใดสำหรับทำการเป็นนายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง นายท้าย คนถือท้าย หรือต้นกล คนใช้เครื่อง ท่านว่าผู้นั้นต้องสอบความรู้ได้แล้ว และเมื่อยื่นใบสมัครสอบนั้นต้องมีพยานหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจถึงเรื่องไม่เป็นคนประพฤติเสเพลติดสุรายาเมา หรือติดยาเสพติดให้โทษความชำนาญการงานที่ได้ทำมา และความประพฤติทั่วไปนั้นด้วย แต่ถ้าผู้นั้นเป็นนายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง และนายท้าย จะต้องแสดงว่ามีสายตาดีด้วย
ในมาตรานี้ คำว่า
“สรั่ง” หมายความถึงผู้ทำการควบคุมเรือลำเลียง
“ไต้ก๋ง” หมายความถึงผู้ควบคุมเรือใบเดินทะเลที่มีน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ ๘๐๐ หาบขึ้นไป
“คนถือท้าย” หมายความถึงผู้ควบคุมหรือผู้ถือท้ายหรือคนแจวท้ายของเรือบรรทุกสินค้าที่ทำการติดต่อกับเรือเดินทะเล"
“มาตรา ๒๗๙ การแบ่งชั้นความรู้ของนายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง นายท้าย คนถือท้าย ต้นกล หรือคนใช้เครื่องระเบียบการสอบความรู้ หลักสูตรความรู้และค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียนั้น ให้เจ้าท่าออกข้อบังคับกำหนดไว้เป็นครั้งคราว ด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ ข้อบังคับนี้เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้”
“มาตรา ๒๘๐ ประกาศนียบัตรแสดงความรู้นั้นต้องระบุ ชื่อ อายุ และตำหนิรูปพรรณของผู้ถือประกาศนียบัตร และข้อความอื่น ๆ ตามที่จำเป็น และต้องมีรูปถ่ายของผู้ถือประกาศนียบัตร ปิดไว้ด้วย
ประกาศนียบัตรสำหรับคนถือท้ายให้มีอายุสามปี นอกนั้นให้มีอายุห้าปี เมื่อครบกำหนดแล้ว ผู้ถือต้องนำมาเปลี่ยนใหม่ ให้เรียกค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนประกาศนียบัตรกึ่งหนึ่งแห่งอัตราค่าธรรมเนียมเดิม และถ้าเจ้าท่าจะต้องการให้ แสดงพยานหลักฐานดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๘ ก็ทำได้”
“มาตรา ๒๘๒ ผู้ใดเข้าทำการควบคุมเรือ หรือควบคุมเครื่องจักรเรือ โดยมิได้รับประกาศนียบัตรแสดงความรู้อันถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือใช้ประกาศนียบัตรที่สิ้นอายุแล้ว ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับเป็นเงินไม่เกินพันบาท”
“มาตรา ๒๘๔ ผู้ควบคุมเรือและผู้ควบคุมเครื่องจักรเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรแสดงความรู้นั้น ในขณะที่ทำการควบคุมเรือ หรือควบคุมเครื่องจักรเรือ จะต้องเก็บใบประกาศนียบัตร ของตนไว้ในเรือเพื่อเจ้าพนักงานจะขอตรวจดูได้
ถ้าในระหว่างที่ใบอนุญาตประจำเรือใดยังไม่สิ้นอายุเจ้าของเรือหรือตัวแทนประสงค์จะเปลี่ยนผู้ควบคุมเรือหรือผู้ควบคุมเครื่องจักรของเรือลำนั้น ให้เจ้าของเรือหรือตัวแทนนำใบอนุญาตเรือ พร้อมทั้งประกาศนียบัตรสำหรับตัวผู้ที่จะเปลี่ยนนั้นไปให้นายทะเบียนหมายเหตุ ณ ที่ทำการเจ้าท่าท้องถิ่นที่เรือนั้นขึ้นทะเบียนภายในกำหนด ๑๕ วัน”
“มาตรา ๒๙๐ ผู้ใดกระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้และความผิดนั้นมิได้มีบทกำหนดโทษไว้เป็นพิเศษ ให้ปรับเป็นเงินไม่เกินห้าสิบบาท”
“มาตรา ๒๙๑ ผู้นำร่อง นายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง นายท้าย คนถือท้าย ต้นกล หรือคนใช้เครื่อง ที่ได้รับประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตผู้ใดหย่อนความสามารถ หรือประพฤติไม่สมควรแก่หน้าที่ ละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวแก่การเดินเรือหรือหน้าที่ของตน ให้เจ้าท่ามีอำนาจที่จะสั่งงดไม่ให้ใช้ประกาศนียบัตร หรือใบอนุญาตมีกำหนดไม่เกินสองปี แต่ไม่เป็นการลบล้างโทษอย่างอื่นซึ่งผู้นั้นจะพึงได้รับ
ถ้าผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งให้งดใช้ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาต ให้ผู้นั้นมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีนั้น เป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งให้งดใช้ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตมีผลบังคับได้”
มาตรา ๔ เรือเดินสมุทรบรรทุกนักท่องเที่ยวรอบโลกชั่วครั้งคราว ให้เก็บค่าธรรมเนียมประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำและโคมไฟ กึ่งอัตราปกติ
มาตรา ๕ ในการพิจารณาออกใบอนุญาตสำหรับเรือกลไฟและเรือยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร หรือสินค้าหรือจูงเรือนั้น ถ้าเป็นเรือเดินประจำทาง เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานซึ่งได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อการจดทะเบียนมีอำนาจที่จะ
(๑) กำหนดข้อห้ามและเงื่อนไขเกี่ยวกับเขตหรือทางที่จะใช้เรือนั้นเดิน
(๒) กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวน ขนาด และชนิดของเรือที่จะใช้เดินจากตำบลหนึ่งถึงตำบลหนึ่ง ตลอดถึงการสับเปลี่ยนเรือใช้แทนกันชั่วครั้งคราวด้วย
(๓) สั่งงดการอนุญาตเรือลำใด ๆ หรือของเจ้าของใด ๆ มิให้เดินประจำทางที่เห็นว่ามีเรืออื่นเดินอยู่เพียงพอแล้วหรือเมื่อเห็นว่า ถ้าให้อนุญาตจะมีการแข่งขันกันจนเสื่อมเสียประโยชน์ของเจ้าของเรือ หรือเสื่อมเสียความปลอดภัยของประชาชน
(๔) ตั้งคณะกรรมการขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าจูงเรือ และเวลาออกเรือ คณะกรรมการนั้นให้รวมทั้งเจ้าของเรือหรือผู้แทนด้วย
ถ้าไม่ใช่เรือเดินประจำทาง เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานนั้นมีอำนาจที่จะห้ามหรือจำกัดมิให้เดินในเขตใด ๆ ในเมื่อเห็นว่าการเดินเรือรับจ้างในเขตนั้นจะเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน
มาตรา ๖ เรือกลไฟ และเรือยนต์ที่ทำการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือเป็นการประจำทางที่ยังมิได้แจ้งความจำนงว่าจะนำเรือไปเดินจากตำบลใด ถึงตำบลใดนั้น ให้นำใบอนุญาตสำหรับเรือมาขอแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ภายในสี่เดือน นับตั้งแต่วันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป การแก้ทะเบียนเช่นว่ามานี้ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
มาตรา ๗ เรือกลไฟและเรือยนต์ที่รับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้า หรือจูงเรือลำใด กระทำการฝ่าฝืนต่อเงื่อนไขที่ได้กำหนดขึ้นตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้ เจ้าท่าหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะสั่งงดการเดินเรือของเรือนั้น ๆ เสียชั่วคราว หรือจะสั่งให้ยึดใบอนุญาตสำหรับเรือนั้นไว้มีกำหนดไม่เกินหกเดือนก็ได้
ผู้มีส่วนได้เสียผู้ใดไม่พอใจในคำสั่งให้งดการเดินเรือหรือให้ยึดใบอนุญาตสำหรับเรือ ผู้นั้นมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีนั้นเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่งให้งดหรือยึดนั้นมีผลบังคับได้
เรือใดที่ถูกยึดใบอนุญาตหรือถูกสั่งให้งดการเดินเรือแล้ว ยังขืนเดินก็ดี หรือเรือใดกระทำการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือสินค้าหรือจูงเรือเป็นการประจำทางโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก็ดี ผู้ควบคุมเรือหรือเจ้าของเรือมีความผิดต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๑
มาตรา ๘ ให้แก้อักษรโรมันในมาตรา ๒๗ ซึ่งเดิมใช้อักษร G เป็นอักษร L.U.
มาตรา ๙ ให้แก้อักษรโรมันในมาตรา ๔๐ ซึ่งเดิมใช้อักษร T เป็นอักษร B.A.Z
มาตรา ๑๐ ให้แก้อักษรโรมันในมาตรา ๔๑ ซึ่งเดิมใช้อักษร Y.N. เป็นอักษร S.T. และแก้อักษร Y.F. เป็น R.X.
มาตรา ๑๑ ให้แก้อักษรโรมันในมาตรา ๑๙๘ ซึ่งเดิมใช้อักษร T.H.E. เป็นอักษร R.K.O. กับเพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคที่ ๒ ของมาตรา ๑๙๘ คือ
“อนึ่ง ถ้าเรือกลไฟลำใดบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดที่ประมวลสัญญาณสากลบังคับว่า ต้องชักธงแสดงชนิดของน้ำมันนั้นโดยเฉพาะ ให้เรือกลไฟทุกลำปฏิบัติตามนั้น”
มาตรา ๑๒ บรรดาธงสัญญาณที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยยังมิได้บังคับไว้นั้น ให้บรรดาเรือกลไฟที่เข้ามาในเขตท่าแห่งน่านน้ำไทยปฏิบัติตามประมวลสัญญาณสากลที่ใช้อยู่จงทุกประการ
มาตรา ๑๓ ความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยซึ่งมีโทษปรับสถานเดียวไม่เกิน ๒๐๐ บาท และที่เกิดขึ้นในท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจเจ้าท่า ให้เจ้าท่ามีอำนาจเปรียบเทียบได้ เมื่อเจ้าทุกข์และผู้เสียหายยินยอมและเมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบนั้นแล้ว ให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดเพียงนั้น
มาตรา ๑๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการมีอำนาจหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม และให้มีอำนาจตั้งเจ้าพนักงาน ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม หรือกิจการอื่น เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
เจ้าพนักงานที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรานี้ ให้ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าและการตั้งเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย และให้ระบุให้ชัดเจนว่า ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นมีอำนาจปฏิบัติหน้าที่เพียงใด
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ประกาศมา ณ วันที่ ๑๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ เป็นปีที่ ๑๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี
วศิน/แก้ไข
๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๑/-/หน้า๘๐๗/๒๘ ตุลาคม ๒๔๗๗