พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509
พระราชบัญญัติ
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
พ.ศ. ๒๕๐๙
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๙
เป็นปีที่ ๒๑ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“ธนาคาร” หมายความว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
“ผู้จัดการ” หมายความว่า ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
“เกษตรกร”[๒] หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพในการทำนา การทำไร่ การทำสวน การเลี้ยงสัตว์ การประมง การเลี้ยงไหมและสาวไหม การทำนาเกลือ การปลูกกล้วยไม้หรือไม้ดอก การปลูกไม้สน การปลูกสวนป่า การเลี้ยงผึ้ง การเลี้ยงครั่ง การเพาะเห็ด หรืออาชีพการเกษตรอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดโดยให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้หมายความรวมถึงเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
“กลุ่มเกษตรกร” หมายความว่า เกษตรกรซึ่งรวมกันเป็นกลุ่มโดยมีกฎหมายรับรองให้เป็นนิติบุคคลและมีวัตถุประสงค์ดำเนินการทางธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร
“สหกรณ์การเกษตร” หมายความว่า สหกรณ์ที่ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดเป็นเกษตรกร และได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ กับให้หมายความรวมถึงสหกรณ์ดังกล่าวที่ได้รวมกันเป็นชุมนุมสหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔[๓] ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
การจัดตั้ง
มาตรา ๕ ให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเรียกว่า “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” และให้ธนาคารนี้เป็นนิติบุคคล
มาตรา ๖[๔] ให้ธนาคารมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดอื่น และจะตั้งสาขาหรือตัวแทน ณ ที่อื่นใดภายในและภายนอกราชอาณาจักรก็ได้ แต่การจะตั้งสาขาหรือตัวแทนภายนอกราชอาณาจักร ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีก่อน
มาตรา ๗[๕] ให้กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้สี่พันล้านบาท แบ่งเป็นสี่สิบล้านหุ้น มีมูลค่าหุ้นละหนึ่งร้อยบาท โดยให้ธนาคารขายหุ้นให้แก่กระทรวงการคลัง เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ สถาบันการเงิน หรือบุคคลอื่น และกองทุนด้านการเกษตรหรือกองทุนอื่นของรัฐตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร
ให้กระทรวงการคลังถือหุ้นของธนาคารไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
ในกรณีที่มีหุ้นเหลือจากการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง ให้ธนาคารขายหุ้นแก่ผู้อื่นตามวรรคหนึ่งได้ แต่ถ้าเป็นสถาบันการเงินที่มิใช่เป็นสถาบันการเงินของรัฐหรือบุคคลอื่นที่มิใช่เป็นหน่วยงานของรัฐจะขายหุ้นในจำนวนที่นับรวมกันแล้วเกินกว่าร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดมิได้
ภายใต้บังคับวรรคสองและวรรคสาม บุคคลใดจะถือหุ้นธนาคารเกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดมิได้
หุ้นของธนาคารที่บุคคล ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทดังต่อไปนี้ถืออยู่ ให้นับรวมเป็นหุ้นของบุคคลตามวรรคสี่ด้วย
(๑) คู่สมรสของบุคคลตามวรรคสี่
(๒) บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลตามวรรคสี่
(๓) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่บุคคลตามวรรคสี่หรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) เป็นหุ้นส่วน
(๔) ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลตามวรรคสี่หรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หรือเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่มีหุ้นรวมกันเกินอัตราที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
(๕) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่บุคคลตามวรรคสี่หรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (๓) หรือ (๔) ถือหุ้นรวมกันเกินอัตราที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
(๖) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่บุคคลตามวรรคสี่หรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (๓) หรือ (๔) หรือบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตาม (๕) ถือหุ้นรวมกันเกินอัตราที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
เมื่อปรากฏว่าการได้มาซึ่งหุ้นของธนาคารเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดถือหุ้นเกินจำนวนที่จะถือได้ตามวรรคสี่ บุคคลนั้นจะยกเอาการถือหุ้นในส่วนที่เกินจำนวนดังกล่าวขึ้นยันต่อธนาคารมิได้และธนาคารจะจ่ายเงินปันผลหรือเงินตอบแทนอย่างอื่นให้แก่บุคคลนั้น หรือให้บุคคลนั้นออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมของผู้ถือหุ้นตามจำนวนในส่วนที่เกินมิได้
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามวรรคสี่และวรรคหก ให้ธนาคารตรวจสอบทะเบียนผู้ถือหุ้นทุกคราวก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นและก่อนจ่ายเงินปันผลหรือเงินตอบแทนอื่นใด แล้วแจ้งผลการตรวจสอบต่อรัฐมนตรีตามรายการและภายในเวลาที่รัฐมนตรีกำหนด และในกรณีที่พบว่าผู้ถือหุ้นรายใดถือหุ้นเกินจำนวนที่กำหนดตามวรรคสี่ ให้ธนาคารแจ้งให้ผู้นั้นทราบ เพื่อดำเนินการจำหน่ายหุ้นที่เกินนั้นเสีย
มาตรา ๗ ทวิ[๖] ในกรณีที่ธนาคารมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนเรือนหุ้นให้ธนาคารขอเพิ่มทุนเรือนหุ้นได้อีกเป็นคราว ๆ โดยขออนุมัติคณะรัฐมนตรี
การกำหนดมูลค่าหุ้นและการขายหุ้นเพื่อเพิ่มทุนเรือนหุ้นตามวรรคหนึ่ง ให้นำมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๘ ความรับผิดของผู้ถือหุ้น ให้จำกัดเพียงเท่ามูลค่าของหุ้นที่ตนถือ
หมวด ๒
วัตถุประสงค์
มาตรา ๙[๗] ธนาคารมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรสำหรับการ
(ก) ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม
(ข) ประกอบอาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้
(ค) พัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรืออาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร
(ง) ดำเนินกิจการตามโครงการที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรมซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร
(๒) ประกอบธุรกิจอื่นอันเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม
(๓)[๘] ดำเนินงานเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือการบริหารจัดการแก่บุคคล กลุ่มบุคคล ผู้ประกอบการ กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน รวมทั้งองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบใดที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรหรือชุมชน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรหรือชุมชนให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการลงทุน การผลิต การแปรรูป และการตลาด หรือเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจหรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
(๔)[๙] ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์ เพื่อใช้ดำเนินงานภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์
การให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามความในวรรคหนึ่ง (๑) (ข) (ค) และ (ง) รวมทั้งการดำเนินการตามความในวรรคหนึ่ง (๒) (๓) และ (๔) ให้กระทำได้เท่าที่กำหนดในกฎกระทรวง[๑๐]
มาตรา ๑๐[๑๑] ให้ธนาคารมีอำนาจกระทำกิจการภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๙ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑)[๑๒] ให้กู้เงินเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในมาตรา ๙
(๒)[๑๓] ค้ำประกันตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร
(๓) จัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของธนาคาร
(๔) จัดให้ได้มา ถือกรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิ ครอบครอง เช่าหรือให้เช่า เช่าซื้อหรือให้เช่าซื้อ โอนหรือรับโอนสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ จำนองหรือรับจำนอง จำนำหรือรับจำนำ ขายหรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่นใด ซึ่งสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์
(๕) รับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันมีกำหนด
(๖) ให้กู้เงินหรือออกหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ฝากเงินหรือบุคคลใดภายในวงเงินที่ฝากไว้กับธนาคารโดยใช้เงินฝากเป็นประกัน
ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับในกรณีที่ผู้ฝากเงินเป็นธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(๖/๑)[๑๔] ให้กู้เงินหรือออกหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ถือตราสารทางการเงินซึ่งออกโดยธนาคารหรือให้แก่บุคคลใดตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยใช้ตราสารทางการเงินซึ่งออกโดยธนาคารเป็นประกัน
(๗) ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด รวมทั้ง เก็บเงินตามตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมือดังกล่าว
(๘) มีบัญชีเงินฝากไว้กับสถาบันการเงินอื่นเท่าที่จำเป็นแก่การดำเนินธุรกิจของธนาคาร
(๙) ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล เช่น พันธบัตรหรือตั๋วเงินคลังตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
(๑๐) เรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการให้กู้เงินหรือค้ำประกันเงินกู้และค่าบริการอื่น ๆ
(๑๑) เป็นตัวแทนของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเพื่อจ่าย เรียกเก็บ หรือรับชำระค่าที่ดิน ค่าชดเชยการลงทุน ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือเงินประเภทอื่นตามที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจได้มอบหมายให้ธนาคารจ่าย เรียกเก็บ หรือรับชำระจากบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือเป็นตัวแทนของบุคคลอื่น เพื่อดำเนินการดังกล่าวได้โดยต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร
(๑๒)[๑๕] รับฝากเงินเพื่อสงเคราะห์ชีวิตของเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกรตามที่กำหนดในข้อบังคับของธนาคาร
(๑๓) ร่วมดำเนินการตามโครงการชดเชยความเสียหายแก่เกษตรกรจากภัยธรรมชาติในการประกอบเกษตรกรรม ตามระเบียบของทางราชการ
(๑๔)[๑๖] จัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรกรรมหรือธุรกิจที่เป็นประโยชน์โดยตรงแก่กิจการของธนาคารตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
(๑๕)[๑๗] ร่วมลงทุนกับนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์การดำเนินงานภายใต้ขอบเขตที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
(๑๖) จัดให้มีการสงเคราะห์ตามสมควรแก่ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นผู้จัดการ พนักงาน หรือลูกจ้างของธนาคาร และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว
(๑๖/๑)[๑๘] ประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
(๑๖/๒)[๑๙] ให้สินเชื่อหรือบริการทางการเงินในรูปแบบอื่นที่เป็นประเพณีปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในมาตรา ๙ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
(๑๗)[๒๐] กระทำกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของธนาคารตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี
มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้ธนาคารกระทำการดังต่อไปนี้
(๑) ให้กรรมการหรือผู้จัดการ หรือภริยาหรือสามีของกรรมการหรือผู้จัดการ กู้ยืมเงิน
(๒) รับหุ้นของธนาคารเองเป็นประกัน
(๓) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กรรมการ ผู้จัดการ พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคาร เป็นค่านายหน้า หรือค่าตอบแทนสำหรับหรือเนื่องแต่การกระทำหรือการประกอบธุรกิจใด ๆ ของธนาคาร ทั้งนี้ นอกจากเงินเดือนและเงินอื่น ๆ ซึ่งพึงจ่ายตามมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๖ และตามข้อบังคับของธนาคารที่ออกตามมาตรา ๑๘ (๖) และ (๘)
(๔)[๒๑] ซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่
(ก) เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับดำเนินธุรกิจ หรือสำหรับผู้จัดการ พนักงานและลูกจ้างของธนาคารใช้ประโยชน์ตามสมควร
(ข) เป็นการได้มาจากการชำระหนี้หรือจากการประกันต้นเงินที่จ่ายให้กู้ยืมไปหรือจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่จำนองไว้แก่ธนาคารจากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาล
บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคารเนื่องจากการชำระหนี้ การประกันต้นเงินที่จ่ายให้กู้ยืมไป หรือเนื่องจากการที่ธนาคารได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่จำนองไว้แก่ธนาคารจากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งของศาล จะต้องจำหน่ายภายในเก้าปีนับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของธนาคาร หรือภายในกำหนดเวลากว่านั้นตามที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีจะอนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับดำเนินธุรกิจ หรือสำหรับผู้จัดการ พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารใช้ประโยชน์
การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในวรรคก่อน ให้กระทำโดยวิธีขายทอดตลาด หรือโดยวิธีอื่นใดตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรและได้รับความเห็นชอบของรัฐมนตรี
หมวด ๓
การกำกับ การควบคุมและการจัดการ
มาตรา ๑๒ รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของธนาคาร เพื่อประโยชน์ในการนี้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ธนาคารชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือทำรายงานเกี่ยวกับกิจการของธนาคาร และมีอำนาจตั้งบุคคลเพื่อตรวจสอบและรายงานกิจการและทรัพย์สินของธนาคาร แต่ไม่ว่าในกรณีใด รัฐมนตรีจะสั่งให้ตรวจสอบหรือรายงานเพื่อทราบกิจการหรือทรัพย์สินของเอกชนคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะที่มีหรือปรากฏอยู่ในธนาคารมิได้
เมื่อรัฐมนตรีได้รับรายงานจากผู้ตรวจสอบแล้ว ถ้าเห็นว่าการดำเนินงานของธนาคารขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีหรืออยู่ในลักษณะอันจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ธนาคารหรือแก่ประโยชน์ของประชาชน รัฐมนตรีมีอำนาจยับยั้งหรือสั่งแก้ไขการดำเนินงานของธนาคารได้
มาตรา ๑๒/๑[๒๒] ให้ธนาคารดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพัน และให้ธนาคารดำรงเงินสดสำรองและดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นอัตราส่วนกับเงินฝากและเงินกู้ยืม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๓ ในกรณีที่ธนาคารจะต้องเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการนำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๑๔[๒๓] ให้มีคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสองคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้ผู้จัดการเป็นกรรมการและเลขานุการ[๒๔]
กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอย่างน้อยต้องมีผู้แทนกระทรวงการคลังหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หนึ่งคน ผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์หนึ่งคน ผู้แทนสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหนึ่งคน ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยหนึ่งคน และผู้แทนสหกรณ์การเกษตรผู้ถือหุ้นหนึ่งคน[๒๕]
รองประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี ผู้ที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระจะแต่งตั้งให้เป็นรองประธานกรรมการหรือกรรมการอีกก็ได้
มาตรา ๑๕ ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ หรือกรรมการ
(๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของธนาคาร
(๒) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(๓) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดฐานลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
มาตรา ๑๖[๒๖] นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๔ รองประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕
(๔)[๒๗] คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
เมื่อรองประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นรองประธานกรรมการหรือกรรมการแทน ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนนี้ให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๑๗ การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม ถ้าในการประชุมครั้งใดประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
ภายใต้บังคับมาตรา ๒๑ (๔) มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๑๘ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งกิจการของธนาคาร อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) การออกข้อบังคับว่าด้วยหุ้นของธนาคาร
(๒) การออกข้อบังคับว่าด้วยการค้ำประกันเงินกู้ตามมาตรา ๑๐ (๒)
(๓) การออกข้อบังคับว่าด้วยการมอบอำนาจของผู้จัดการให้แก่พนักงานของธนาคารตามมาตรา ๒๓
(๔)[๒๘] การออกข้อบังคับว่าด้วยการให้กู้เงินตามมาตรา ๓๑
(๕) การออกข้อบังคับว่าด้วยการขายหรือขายลดช่วงตั๋วเงินแก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ตามมาตรา ๓๓
(๖) การออกข้อบังคับกำหนดอัตราตำแหน่ง เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าพาหนะ เบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่ารับรองและเงินเพิ่มอย่างอื่นสำหรับพนักงานและลูกจ้างของธนาคาร
(๗) การออกข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือน การถอดถอน วินัย การสอบสวนและการลงโทษ สำหรับพนักงานและลูกจ้างของธนาคาร
(๘) การออกข้อบังคับว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นผู้จัดการ พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคาร และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว
(๙) การตั้งสาขาหรือตัวแทนของธนาคาร
(๑๐) การออกข้อบังคับเกี่ยวกับธุรกิจอื่น ๆ ของธนาคาร
มาตรา ๑๘/๑[๒๙] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๘/๒[๓๐] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
มาตรา ๒๐ ให้ธนาคารมีผู้จัดการหนึ่งคน
ผู้จัดการต้องมีสัญชาติไทย ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ มีความรู้หรือความจัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับการธนาคาร การเศรษฐกิจ การเกษตร การสหกรณ์หรือกฎหมาย และสามารถทำงานให้แก่ธนาคารได้เต็มเวลา
ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้จัดการและกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้จัดการด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
ผู้จัดการได้รับเงินเดือน ค่าพาหนะ เบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่ารับรอง หรือเงินเพิ่มอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๑ ผู้จัดการย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดจากสัญชาติไทยหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ หรือ
(๔) คณะกรรมการให้ออกเพราะหย่อนความสามารถหรือบกพร่องต่อหน้าที่ มีมลทินมัวหมองหรือทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ มติให้ผู้จัดการออกต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดนอกจากผู้จัดการ
การให้ผู้จัดการออกตาม (๔) ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐมนตรี
มาตรา ๒๒ ผู้จัดการมีหน้าที่บริหารกิจการของธนาคารให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับของธนาคาร และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของธนาคารทุกตำแหน่ง
ผู้จัดการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของธนาคาร
มาตรา ๒๓ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้จัดการเป็นผู้แทนธนาคาร เพื่อการนี้ ผู้จัดการจะมอบอำนาจให้พนักงานของธนาคารผู้ใดปฏิบัติกิจการใดแทนก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร
มาตรา ๒๔ ผู้จัดการมีอำนาจ
(๑) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่งหรือเงินเดือน ลงโทษทางวินัย หรือถอดถอนพนักงานและลูกจ้างของธนาคาร ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร แต่ถ้าเป็นพนักงานตำแหน่งรองผู้จัดการ ที่ปรึกษา หัวหน้าฝ่ายหรือตำแหน่งซึ่งเทียบเท่าต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อน
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับวิธีดำเนินการของธนาคารและการปฏิบัติงานของพนักงานและลูกจ้างของธนาคาร ทั้งนี้ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับนโยบายหรือข้อบังคับของธนาคาร
มาตรา ๒๕ เมื่อตำแหน่งผู้จัดการว่างลง หรือผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นครั้งคราว ให้รองผู้จัดการเป็นผู้รักษาการแทนหรือทำการแทนผู้จัดการ แต่ถ้าไม่มีรองผู้จัดการ หรือรองผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานของธนาคารคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนหรือทำการแทนผู้จัดการ แล้วแต่กรณี
ให้ผู้รักษาการแทนหรือทำการแทนผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้จัดการ
มาตรา ๒๖ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการผู้จัดการ พนักงานและลูกจ้าง อาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
หมวด ๔
การประชุมใหญ่
มาตรา ๒๗[๓๑] ให้มีการประชุมใหญ่สามัญของผู้ถือหุ้นปีละหนึ่งครั้งภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของแต่ละปี เพื่อกิจการดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาอนุมัติงบดุล บัญชีกำไรและขาดทุน
(๒) พิจารณาอนุมัติการจัดสรรกำไรสุทธิในปีหนึ่ง ๆ ของธนาคารตามที่คณะกรรมการเสนอ
(๓) พิจารณารายงานกิจการประจำปีของธนาคาร
(๔) พิจารณาตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี
(๕) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ
มาตรา ๒๘ คณะกรรมการจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่จะเห็นสมควร
มาตรา ๒๙ องค์ประชุมใหญ่สามัญและวิสามัญ จะต้องประกอบด้วยผู้ถือหุ้นหรือผู้แทนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่ายี่สิบคนและมีจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนหุ้นที่มีผู้ถือแล้ว
มาตรา ๓๐ ในการประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดที่เกี่ยวกับระเบียบการประชุม การลงคะแนน และสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หมวด ๕
การให้กู้เงิน
มาตรา ๓๑[๓๒] การให้กู้เงินหรือการให้สินเชื่อตามมาตรา ๑๐ (๑) (๖) (๖/๑) และ (๑๖/๒) ให้เป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร[๓๓]
การให้กู้เงินเพื่อพัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรืออาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกรตามมาตรา ๙ (๑) (ค) และเพื่อใช้สำหรับการดำเนินกิจการตามโครงการที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรมตามมาตรา ๙ (๑) (ง) รวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละยี่สิบของเงินที่ให้กู้ในแต่ละรอบปีบัญชี
มาตรา ๓๒ สังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ผู้กู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยใช้เงินกู้จากธนาคารและในเอกสารการกู้นั้นได้ระบุห้ามการโอน จำนองหรือจำนำไว้ ผู้กู้จะโอน จำนองหรือจำนำทรัพย์สินนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากธนาคาร
หมวด ๖
การจัดหาเงินทุน
มาตรา ๓๓[๓๔] ในการจัดหาเงินทุนเพื่อดำเนินงานของธนาคาร ให้ธนาคารมีอำนาจ
(๑) กู้ยืมเงินตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
(๒) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
(๓) ขายหรือขายลดช่วงตั๋วเงินแก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ตามข้อบังคับของธนาคาร
(๔) รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือบุคคลอื่น
(๕)[๓๕] ออกสลากออมทรัพย์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๓๔ จำนวนหนี้สินทั้งหมดของธนาคารตามมาตรา ๓๓ (๑) และ (๒) ต้องไม่เกินยี่สิบเท่าของจำนวนเงินมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว เงินสำรอง และกำไรสะสม
ในการคำนวณหนี้สินตามความในวรรคก่อน ถ้าเป็นหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเป็นเงินตราไทยโดยเทียบจากค่าเสมอภาคของเงินตราสกุลนั้นในวันใช้บังคับสัญญากู้ยืมเงินที่ก่อให้เกิดหนี้สินนั้น
มาตรา ๓๔ ทวิ[๓๖] ให้มีกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในธนาคาร เรียกว่า “กองทุนที่ดิน” เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านการให้กู้เงินแก่เกษตรกรเพื่อนำไปจัดหาที่ดินทำกิน พัฒนาที่ดินและประกอบอาชีพเกษตรกรรมของตนตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กองทุนที่ดินประกอบด้วย เงินที่ได้รับจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำมาฝากไว้กับธนาคาร รายได้จากการดำเนินการและเงินจากแหล่งอื่น ๆ
เงินจากกองทุนที่ดินให้ใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง และเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานกองทุนที่ดิน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติที่คณะกรรมการกองทุนที่ดินซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่บริหารกองทุนที่ดินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง และตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติที่คณะกรรมการกองทุนที่ดินกำหนดตามวรรคสอง และให้นำมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ผู้จัดการต้องแยกบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของกองทุนที่ดินออกจากบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของธนาคาร
มาตรา ๓๔ ตรี[๓๗] ในกรณีที่ธนาคารขอให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ที่ธนาคารกู้ยืมจากแหล่งให้กู้ยืมในต่างประเทศหรือภายในประเทศ ให้รัฐบาลมีอำนาจค้ำประกันเงินกู้นั้นได้แต่ยอดรวมของเงินกู้ที่จะค้ำประกันเมื่อรวมกับต้นเงินที่การค้ำประกันของรัฐบาลยังค้างอยู่ต้องไม่เกินสิบสองเท่าของจำนวนมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว เงินสำรองและกำไรสะสมของธนาคารเมื่อคำนวณเป็นเงินบาท ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการค้ำประกันตามอำนาจที่มีอยู่ในกฎหมายใด
การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาทเพื่อทราบยอดรวมของเงินกู้ตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ในวันทำสัญญา
หมวด ๗
การจัดสรรกำไร
มาตรา ๓๕ กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจากการจัดสรรเพื่อจ่ายโบนัสตามมาตรา ๒๖ ให้โอนเข้าบัญชีกำไรสะสม
มาตรา ๓๖ ห้ามมิให้ธนาคารจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไรสะสม
มาตรา ๓๗ ทุกคราวที่ธนาคารจ่ายเงินปันผล ให้ธนาคารจัดสรรกำไรสะสมไว้เป็นเงินสำรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินปันผลที่จ่าย
เมื่อเงินสำรองตามวรรคก่อนมีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว หรือมากกว่านั้น ธนาคารจะงดการจัดสรรหรือลดจำนวนเงินที่จะต้องจัดสรรเป็นเงินสำรองก็ได้
หมวด ๘
การสอบบัญชีและรายงาน
มาตรา ๓๘ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการสอบบัญชีของธนาคารอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการตั้งผู้สอบบัญชีเพื่อสอบบัญชีของธนาคารประจำปีปฏิทินแรก
มาตรา ๓๙[๓๘] ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของแต่ละปี ให้คณะกรรมการเสนองบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้วต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณา และให้คณะกรรมการเสนอรายงานกิจการประจำปีของธนาคารต่อที่ประชุมใหญ่พร้อมกันด้วย
มาตรา ๔๐[๓๙] ให้ธนาคารรายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่แล้วต่อคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของแต่ละปี รายงานนั้นให้กล่าวถึงผลงานของธนาคารในปีที่ล่วงมาแล้ว คำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของธนาคารและแผนงานที่จะจัดทำในปีต่อไป
หมวด ๙
บทเบ็ดเสร็จ
มาตรา ๔๑ ให้ธนาคารได้รับยกเว้นการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
ถ้าธนาคารเกี่ยวข้องกับกิจการใดที่กฎหมายกำหนดให้มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเช่นว่านั้นให้ธนาคารได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เพื่อการดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น[๔๐]
มาตรา ๔๒ ในการชำระบัญชีธนาคาร ให้จ่ายคืนค่าหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นอื่นก่อนกระทรวงการคลัง
หมวด ๑๐
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๔๓[๔๑] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ในการส่งเสริมพัฒนาการเกษตรของประเทศ จำเป็นต้องจัดให้ความช่วยเหลือทางการเงินอันเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งเพื่อเกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้การเกษตร การให้ความช่วยเหลือเช่นนั้นควรจัดขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั้งในด้านเกษตรกรโดยตรง และในด้านกลุ่มเกษตรกร กับสหกรณ์การเกษตร การดำเนินงานให้ความช่วยเหลือทางการเงินในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ควรอยู่ภายใต้การควบคุมเป็นระบบเดียวกันเพื่อให้ได้ผลมั่นคงและสะดวกในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม ฉะนั้น จึงสมควรจัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขึ้นเป็นสถาบันในระดับชาติเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวนี้
พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙[๔๒]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๑๑ ในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งรองประธานกรรมการและกรรมการตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรี รองประธานกรรมการและกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ รวมทั้งผู้จัดการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่
มาตรา ๑๒ ความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการเรียกประชุมใหญ่สามัญ การเสนองบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนต่อที่ประชุมใหญ่ และการเสนอรายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนต่อคณะรัฐมนตรีซึ่งต้องกระทำภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันหรือหนึ่งร้อยห้าสิบวัน แล้วแต่กรณี นับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน และเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีรอบปีบัญชีซึ่งมีระยะเวลาระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๐ ขึ้นอีกรอบหนึ่ง
มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจการเกษตรของประเทศได้เปลี่ยนแปลงตลอดมา สมควรปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อสามารถให้ความร่วมมือกับทางราชการในการพัฒนาการเกษตรของประเทศได้โดยกว้างขวาง ทั้งในด้านการส่งเสริมอาชีพ การจัดหาที่ดินเพื่อการเกษตร การจำหน่ายผลิตผล และอื่น ๆ ในการนี้สมควรเพิ่มทุนของธนาคารขึ้นเพื่อให้สนองความต้องการของเกษตรกรในเรื่องสินเชื่อการเกษตรได้โดยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕[๔๓]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๑๑ ในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งรองประธานกรรมการและกรรมการตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการซึ่งอยู่ในตำแหน่งในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการไปพลางก่อน
มาตรา ๑๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีหน่วยงานของรัฐบางแห่งในขณะนี้ประสงค์ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรดำเนินงานเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินค่าที่ดิน ค่าชดเชยการลงทุน ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือเงินประเภทอื่น แทนหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ เพราะธนาคารมีสาขาขยายอยู่ทั่วไปในประเทศอยู่แล้ว และโดยที่บทบัญญัติบางประการในกฎหมายปัจจุบันยังไม่เหมาะสม กล่าวคือธนาคารจะให้กู้เงินแก่ผู้ฝากเงินซึ่งมิใช่เกษตรกรไม่ได้ เป็นเหตุให้มีผู้ฝากเงินกับธนาคารน้อยกว่าที่ควร ซึ่งไม่เป็นการสนับสนุนให้ธนาคารสามารถระดมทุนเพื่อเป็นสินเชื่อสำหรับเกษตรกรได้เต็มที่ บทบัญญัติเกี่ยวกับการมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๑ (๔) ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา ๑๑ วรรคสอง จนทำให้เป็นที่สงสัยว่าธนาคารจะรับที่ดินของลูกหนี้ธนาคารมาประเมินราคาใช้หนี้เงินกู้ได้หรือไม่ และในขณะนี้ธนาคารมิได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทำให้การดำเนินธุรกิจต้องมีภาระสูง ทำให้ไม่อาจให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการทำนิติกรรมกับธนาคารได้ แตกต่างกับการทำนิติกรรมกับสหกรณ์อื่น ๆ ผู้ทำนิติกรรมจะได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในกรณีนี้ด้วย นอกจากนั้นกำหนดเวลาในการประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นกำหนดเวลาเสนองบดุล และกำหนดเวลารายงานกิจการประจำปีตามกฎหมายปัจจุบันก็กำหนดไว้น้อยเกินไปยังไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕[๔๔]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ กำหนดความหมายของคำว่า เกษตรกร และวัตถุประสงค์ของธนาคารไว้ค่อนข้างจะจำกัด โดยเกษตรกรนั้นหมายความเฉพาะผู้ประกอบอาชีพการเกษตรโดยตรง และให้เกษตรกรกู้เงินได้เฉพาะเพื่อการประกอบอาชีพการเกษตรเท่านั้น อีกทั้งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรตามที่กำหนดไว้นั้นในขณะนี้มีจำนวนไม่เพียงพอทำให้ความช่วยเหลือในการประกอบอาชีพของเกษตรกรอยู่ในวงจำกัด สมควรที่จะขยายความหมายของคำว่า เกษตรกร ให้รวมถึงเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และขยายวัตถุประสงค์ของธนาคารตามพระราชบัญญัตินี้ให้กว้างขึ้นให้เกษตรกรสามารถกู้เงินไปเพื่อการประกอบอาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องในการเกษตรเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้กับครอบครัวไว้ด้วย และแก้ไขในเรื่องการเพิ่มทุนเรือนหุ้นของธนาคารเพื่อให้ธนาคารสามารถให้ความช่วยเหลือในด้านการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรได้มากขึ้น นอกจากนี้ เพื่อให้การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น สมควรให้มีกองทุนที่ดินขึ้นในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยให้ผู้จัดการธนาคารเป็นผู้บริหารกองทุนที่ดินตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติที่คณะกรรมการกองทุนที่ดินกำหนด และแยกการดำเนินงานออกต่างหากจากการดำเนินงานตามปกติของธนาคาร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒[๔๕]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร แต่เฉพาะในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพอื่นที่เกี่ยวเนื่องในการเกษตรนั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สมควรขยายขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของธนาคารให้สามารถช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร ในการประกอบอาชีพอื่น การพัฒนาความรู้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกร และสำหรับการดำเนินการตามโครงการที่เป็นการส่งเสริม หรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลทำให้ขบวนการเกษตรกรรมทั้งในด้านการผลิตและการตลาดดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างครบวงจร และสมควรขยายอำนาจในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการขยายขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ และเพื่อให้ธนาคารสามารถรับฝากเงินเพื่อสงเคราะห์ชีวิตของเกษตรกรและครอบครัว ชดเชยความเสียหายจากภัยธรรมชาติในการประกอบเกษตรกรรมเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรได้กว้างขวางขึ้น ตลอดจนสมควรเพิ่มจำนวนกรรมการเพื่อมาช่วยในการดำเนินงานหรือการประกอบธุรกิจของธนาคาร เพิ่มอำนาจในการจัดหาเงินทุนโดยการออกสลากออมทรัพย์และกำหนดให้รัฐบาลสามารถค้ำประกันเงินกู้ของธนาคารได้สูงขึ้น เพื่อสนับสนุนให้สามารถหาเงินทุนมาใช้จ่ายในการดำเนินงานได้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙[๔๖]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๑๘ ในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการซึ่งอยู่ในตำแหน่งในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการไปพลางก่อน
มาตรา ๑๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ รวมทั้งการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้การดำเนินกิจการของธนาคารมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบทไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงิน หรือการบริหารจัดการ ให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและการพัฒนาชนบท นอกจากนั้นเพื่อให้มีการระดมเงินทุนในการดำเนินกิจการของธนาคาร สมควรเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของสถาบันการเงินและบุคคลอื่นด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐[๔๗]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๑๘/๑ และมาตรา ๑๘/๒ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙ บัญญัติให้คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารคณะหนึ่ง และให้คณะกรรมการบริหารดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการใด ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรตามที่คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกำหนด นั้น เป็นการเพิ่มขั้นตอนการบริหารจัดการโดยไม่จำเป็นและขาดความคล่องตัว และมีลักษณะก้าวก่ายอำนาจบริหารจัดการของผู้จัดการซึ่งจะแย้งกับมาตรา ๒๒ ที่กำหนดให้ผู้จัดการมีหน้าที่บริหารกิจการของธนาคารให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับของธนาคาร และจะต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในการบริหารกิจการของธนาคารอยู่แล้วนั้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
อังศุมาลี/ผู้จัดทำ
๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖
อุดมลักษณ์/ผู้ตรวจ
๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๓/ตอนที่ ๖๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐/๒๐ กรกฎาคม ๒๕๐๙
[๒] มาตรา ๓ นิยามคำว่า “เกษตรกร” แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๓] มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๔] มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๕] มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๖] มาตรา ๗ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๗] มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๘] มาตรา ๙ (๓) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๙] มาตรา ๙ (๔) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๑๐] มาตรา ๙ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๑๑] มาตรา ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๑๒] มาตรา ๑๐ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๑๓] มาตรา ๑๐ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๑๔] มาตรา ๑๐ (๖/๑) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๑๕] มาตรา ๑๐ (๑๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๑๖] มาตรา ๑๐ (๑๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๑๗] มาตรา ๑๐ (๑๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๑๘] มาตรา ๑๐ (๑๖/๑) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๑๙] มาตรา ๑๐ (๑๖/๒) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๒๐] มาตรา ๑๐ (๑๗) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๒๑] มาตรา ๑๑ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๒๒] มาตรา ๑๒/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๒๓] มาตรา ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๒๔] มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๒๕] มาตรา ๑๔ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๒๖] มาตรา ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙
[๒๗] มาตรา ๑๖ (๔) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๒๘] มาตรา ๑๘ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๒๙] มาตร ๑๘/๑ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐
[๓๐] มาตรา ๑๘/๒ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐
[๓๑] มาตรา ๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๓๒] มาตรา ๓๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๓๓] มาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
[๓๔] มาตรา ๓๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙
[๓๕] มาตรา ๓๓ (๕) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๓๖] มาตรา ๓๔ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๓๗] มาตรา ๓๔ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๓๘] มาตรา ๓๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๓๙] มาตรา ๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๔๐] มาตรา ๔๑ วรรคสอง เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕
[๔๑] มาตรา ๔๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙
[๔๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๕๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๙
[๔๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๒๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๘/๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๕
[๔๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๒/หน้า ๘๖/๘ เมษายน ๒๕๓๕
[๔๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๙ ก/หน้า ๑๘/๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒
[๔๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๒๕ ก/หน้า ๑/๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙
[๔๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๖๑ ก/หน้า ๒๘/๒๗ กันยายน ๒๕๕๐