พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542
พระราชบัญญัติ
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕)
พ.ศ. ๒๕๔๒
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๒
เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๙ ธนาคารมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรสำหรับการ
(ก) ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม
(ข) ประกอบอาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้
(ค) พัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรืออาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร
(ง) ดำเนินกิจการตามโครงการที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรมซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร
(๒) ประกอบธุรกิจอื่นอันเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม
การให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามความในวรรคหนึ่ง (๑) (ข) (ค) และ (ง) รวมทั้งการดำเนินการตามความในวรรคหนึ่ง (๒) ให้กระทำได้เท่าที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๐ ให้ธนาคารมีอำนาจกระทำกิจการภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๙ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) ให้กู้เงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร
(๒) ค้ำประกันเงินกู้ที่บุคคลดังกล่าวใน (๑) กู้จากสถาบันการเงินอื่น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร
(๓) จัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของธนาคาร
(๔) จัดให้ได้มา ถือกรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิ ครอบครอง เช่าหรือให้เช่า เช่าซื้อหรือให้เช่าซื้อ โอนหรือรับโอนสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ จำนองหรือรับจำนอง จำนำหรือรับจำนำ ขายหรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่นใด ซึ่งสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์
(๕) รับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันมีกำหนด
(๖) ให้กู้เงินหรือออกหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ฝากเงินหรือบุคคลใดภายในวงเงินที่ฝากไว้กับธนาคารโดยใช้เงินฝากเป็นประกัน
ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับในกรณีที่ผู้ฝากเงินเป็นธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(๗) ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด รวมทั้งเก็บเงินตามตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมือดังกล่าว
(๘) มีบัญชีเงินฝากไว้กับสถาบันการเงินอื่นเท่าที่จำเป็นแก่การดำเนินธุรกิจของธนาคาร
(๙) ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล เช่น พันธบัตรหรือตั๋วเงินคลัง ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
(๑๐) เรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการให้กู้เงินหรือค้ำประกันเงินกู้และค่าบริการอื่น ๆ
(๑๑) เป็นตัวแทนของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเพื่อจ่าย เรียกเก็บ หรือรับชำระค่าที่ดิน ค่าชดเชยการลงทุน ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือเงินประเภทอื่นตามที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจได้มอบหมายให้ธนาคารจ่าย เรียกเก็บ หรือรับชำระจากบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือเป็นตัวแทนของบุคคลอื่นเพื่อดำเนินการดังกล่าวได้โดยต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร
(๑๒) รับฝากเงินเพื่อสงเคราะห์ชีวิตของเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกร ตามที่กำหนดในข้อบังคับของธนาคารที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
(๑๓) ร่วมดำเนินการตามโครงการชดเชยความเสียหายแก่เกษตรกรจากภัยธรรมชาติในการประกอบเกษตรกรรม ตามระเบียบของทางราชการ
(๑๔) จัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรกรรมหรือธุรกิจที่เป็นประโยชน์โดยตรงแก่กิจการของธนาคาร โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
(๑๕) ร่วมลงทุนกับนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อประกอบเกษตรกรรมตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
(๑๖) จัดให้มีการสงเคราะห์ตามสมควรแก่ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นผู้จัดการ พนักงาน หรือลูกจ้างของธนาคาร และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว
(๑๗) กระทำกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของธนาคาร ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี”
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๔ ให้มีคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบสองคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้ผู้จัดการเป็นกรรมการและเลขานุการ”
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความใน (๔) ของมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๔) การออกข้อบังคับว่าด้วยการให้กู้เงินตามมาตรา ๓๑”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๑ การให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตรกู้เงินจากธนาคาร ให้เป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร ในข้อบังคับนั้น ให้กำหนดลักษณะของผู้กู้ วัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาของการชำระเงินกู้ จำนวนขั้นสูงของเงินกู้ การให้มีหรือการยกเว้นหลักประกันเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การชำระหนี้เงินกู้ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
การให้กู้เงินเพื่อพัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรืออาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกรตามมาตรา ๙ (๑) (ค) และเพื่อใช้สำหรับการดำเนินกิจการตามโครงการที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรมตามมาตรา ๙ (๑) (ง) รวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละยี่สิบของเงินที่ให้กู้ในแต่ละรอบปีบัญชี”
มาตรา ๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๕) ของมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙
“(๕) ออกสลากออมทรัพย์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”
มาตรา ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๔ ตรี ของหมวด ๖ การจัดหาเงินทุน แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙
“มาตรา ๓๔ ตรี ในกรณีที่ธนาคารขอให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ที่ธนาคารกู้ยืมจากแหล่งให้กู้ยืมในต่างประเทศหรือภายในประเทศ ให้รัฐบาลมีอำนาจค้ำประกันเงินกู้นั้นได้แต่ยอดรวมของเงินกู้ที่จะค้ำประกันเมื่อรวมกับต้นเงินที่การค้ำประกันของรัฐบาลยังค้างอยู่ต้องไม่เกินสิบสองเท่าของจำนวนมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว เงินสำรองและกำไรสะสมของธนาคารเมื่อคำนวณเป็นเงินบาท ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการค้ำประกันตามอำนาจที่มีอยู่ในกฎหมายใด
การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาทเพื่อทราบยอดรวมของเงินกู้ตามวรรคหนึ่งให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ในวันทำสัญญา”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร แต่เฉพาะในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพอื่นที่เกี่ยวเนื่องในการเกษตรนั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สมควรขยายขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของธนาคารให้สามารถช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร ในการประกอบอาชีพอื่น การพัฒนาความรู้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกร และสำหรับการดำเนินการตามโครงการที่เป็นการส่งเสริม หรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลทำให้ขบวนการเกษตรกรรมทั้งในด้านการผลิตและการตลาดดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างครบวงจร และสมควรขยายอำนาจในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการขยายขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ และเพื่อให้ธนาคารสามารถรับฝากเงินเพื่อสงเคราะห์ชีวิตของเกษตรกรและครอบครัว ชดเชยความเสียหายจากภัยธรรมชาติในการประกอบเกษตรกรรมเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรได้กว้างขวางขึ้น ตลอดจนสมควรเพิ่มจำนวนกรรมการเพื่อมาช่วยในการดำเนินงานหรือการประกอบธุรกิจของธนาคาร เพิ่มอำนาจในการจัดหาเงินทุนโดยการออกสลากออมทรัพย์และกำหนดให้รัฐบาลสามารถค้ำประกันเงินกู้ของธนาคารได้สูงขึ้น เพื่อสนับสนุนให้สามารถหาเงินทุนมาใช้จ่ายในการดำเนินงานได้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ดวงใจ/แก้ไข
๒๙ ต.ค. ๔๔
A+B (C)
ปัญญา/ตรวจ
๒๓ มีนาคม ๒๕๕๒
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๙ ก/หน้า ๑๘/๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒