พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550
พระราชบัญญัติ
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๗)
พ.ศ. ๒๕๕๐
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกมาตรา ๑๘/๑ และมาตรา ๑๘/๒ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๑๘/๑ และมาตรา ๑๘/๒ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๙ บัญญัติให้คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารคณะหนึ่ง และให้คณะกรรมการบริหารดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการใด ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรตามที่คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกำหนด นั้น เป็นการเพิ่มขั้นตอนการบริหารจัดการโดยไม่จำเป็นและขาดความคล่องตัว และมีลักษณะก้าวก่ายอำนาจบริหารจัดการของผู้จัดการซึ่งจะแย้งกับมาตรา ๒๒ ที่กำหนดให้ผู้จัดการมีหน้าที่บริหารกิจการของธนาคารให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับของธนาคาร และจะต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในการบริหารกิจการของธนาคารอยู่แล้วนั้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ปริยานุช/ผู้จัดทำ
๙ ตุลาคม ๒๕๕๐
ปัญญา/ตรวจ
๒๓ มีนาคม ๒๕๕๒
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๖๑ ก/หน้า ๒๘/๒๗ กันยายน ๒๕๕๐