พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2525

พระราชบัญญัติ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓)

พ.ศ. ๒๕๒๕

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๕

เป็นปีที่ ๓๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๕”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “เกษตรกร” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                ““เกษตรกร” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพในการทำนา การทำไร่ การทำสวน การเลี้ยงสัตว์ การประมง การเลี้ยงไหมและสาวไหม การทำนาเกลือ การปลูกกล้วยไม้หรือไม้ดอก การปลูกไม้สน การปลูกสวนป่า การเลี้ยงผึ้ง การเลี้ยงครั่ง การเพาะเห็ด หรืออาชีพการเกษตรอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการดังกล่าวโดยเฉพาะด้วยโดยให้กำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้”

                มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๐  ให้ธนาคารมีอำนาจกระทำกิจการภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๙ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) ให้กู้เงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร

(๒) ค้ำประกันเงินกู้ที่บุคคลดังกล่าวใน (๑) กู้จากสถาบันการเงินอื่น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของธนาคาร

(๓) จัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของธนาคาร

                (๔) จัดให้ได้มา ถือกรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิ ครอบครอง เช่า หรือให้เช่า เช่าซื้อหรือให้เช่าซื้อ โอนหรือรับโอนสิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ จำนองหรือรับจำนอง จำนำหรือรับจำนำ ขายหรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่นใด ซึ่งสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์

(๕) รับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันมีกำหนด

(๖) ให้กู้เงินแก่ผู้ฝากเงินภายในวงเงินที่ฝากไว้กับธนาคารโดยใช้เงินฝากเป็นประกัน รวมทั้งการออกหนังสือค้ำประกันผู้ฝากเงินในวงเงินค้ำประกันซึ่งไม่เกินจำนวนเงินฝาก

(๗) ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด รวมทั้งเก็บเงินตามตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมือดังกล่าว

(๘) มีบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารอื่นเท่าที่จำเป็นแก่การดำเนินธุรกิจของธนาคาร

(๙) ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล เช่น พันธบัตรหรือตั๋วเงินคลังตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

(๑๐) เรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการให้กู้เงินหรือการค้ำประกันเงินกู้ และค่าบริการอื่น ๆ

                 (๑๑) เป็นตัวแทนของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเพื่อเรียกเก็บค่าที่ดิน ค่าชดเชยการลงทุน ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือเงินประเภทอื่น ตามที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจได้มอบหมายให้ธนาคารเรียกเก็บจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้

(๑๒) จัดให้มีการสงเคราะห์ตามสมควรแก่ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นผู้จัดการ พนักงาน หรือลูกจ้างของธนาคาร และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว

(๑๓) กระทำกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของธนาคาร”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความใน (๔) วรรคแรก ของมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๔) ซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่

(ก) เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับดำเนินธุรกิจ หรือสำหรับผู้จัดการ พนักงานและลูกจ้างของธนาคารใช้ประโยชน์ตามสมควร

(ข) เป็นการได้มาจากการชำระหนี้หรือจากการประกันต้นเงินที่จ่ายให้กู้ยืมไปหรือจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่จำนองไว้แก่ธนาคารจากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาล”

                มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๑๔  ให้มีคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ และมีรองประธานกรรมการและกรรมการอื่นไม่เกินแปดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และให้ผู้จัดการเป็นกรรมการและเลขานุการ

                กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอย่างน้อยต้องมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรีหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงการคลังหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หนึ่งคน ผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์หนึ่งคน ผู้แทนสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหนึ่งคน ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยหนึ่งคน และผู้แทนสหกรณ์การเกษตรผู้ถือหุ้นหนึ่งคน

รองประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี ผู้ที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระจะแต่งตั้งให้เป็นรองประธานกรรมการหรือกรรมการอีกก็ได้”

               มาตรา ๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๗  ให้มีการประชุมใหญ่สามัญของผู้ถือหุ้นปีละหนึ่งครั้งภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของแต่ละปี เพื่อกิจการดังต่อไปนี้

(๑) พิจารณาอนุมัติงบดุล บัญชีกำไรและขาดทุน

(๒) พิจารณาอนุมัติการจัดสรรกำไรสุทธิในปีหนึ่ง ๆ ของธนาคารตามที่คณะกรรมการเสนอ

(๓) พิจารณารายงานกิจการประจำปีของธนาคาร

(๔) พิจารณาตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี

(๕) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ”

                 มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๓๙  ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของแต่ละปี ให้คณะกรรมการเสนองบดุล บัญชีกำไรและขาดทุน ซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้วต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณา และให้คณะกรรมการเสนอรายงานกิจการประจำปีของธนาคารต่อที่ประชุมใหญ่พร้อมกันด้วย

                มาตรา ๔๐  ให้ธนาคารรายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่แล้ว ต่อคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของแต่ละปี รายงานนั้นให้กล่าวถึงผลงานของธนาคารในปีที่ล่วงมาแล้ว คำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของธนาคาร และแผนงานที่จะจัดทำในปีต่อไป”

มาตรา ๑๐  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙

               “ถ้าธนาคารเกี่ยวข้องกับกิจการใดที่กฎหมายกำหนดให้มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเช่นว่านั้นให้ธนาคารได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เพื่อการดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น”

               มาตรา ๑๑  ในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งรองประธานกรรมการและกรรมการตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการซึ่งอยู่ในตำแหน่งในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการไปพลางก่อน

มาตรา ๑๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ป. ติณสูลานนท์

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีหน่วยงานของรัฐบางแห่งในขณะนี้ประสงค์ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรดำเนินงานเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินค่าที่ดิน ค่าชดเชยการลงทุน ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือเงินประเภทอื่น แทนหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ เพราะธนาคารมีสาขาขยายอยู่ทั่วไปในประเทศอยู่แล้ว และโดยที่บทบัญญัติบางประการในกฎหมายปัจจุบันยังไม่เหมาะสม กล่าวคือธนาคารจะให้กู้เงินแก่ผู้ฝากเงินซึ่งมิใช่เกษตรกรไม่ได้ เป็นเหตุให้มีผู้ฝากเงินกับธนาคารน้อยกว่าที่ควร ซึ่งไม่เป็นการสนับสนุนให้ธนาคารสามารถระดมทุนเพื่อเป็นสินเชื่อสำหรับเกษตรกรได้เต็มที่ บทบัญญัติเกี่ยวกับการมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๑ (๔) ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา ๑๑ วรรคสอง จนทำให้เป็นที่สงสัยว่าธนาคารจะรับที่ดินของลูกหนี้ธนาคารมาประเมินราคาใช้หนี้เงินกู้ได้หรือไม่ และในขณะนี้ธนาคารมิได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทำให้การดำเนินธุรกิจต้องมีภาระสูง ทำให้ไม่อาจให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการทำนิติกรรมกับธนาคารได้ แตกต่างกับการทำนิติกรรมกับสหกรณ์อื่น ๆ ผู้ทำนิติกรรมจะได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในกรณีนี้ด้วย นอกจากนั้นกำหนดเวลาในการประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นกำหนดเวลาเสนองบดุล และกำหนดเวลารายงานกิจการประจำปีตามกฎหมายปัจจุบันก็กำหนดไว้น้อยเกินไปยังไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ดวงใจ/แก้ไข

๑๒ ต.ค. ๔๔

A+B (C)

ปัญญา/ตรวจ

๒๓ มีนาคม ๒๕๕๒

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๒๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๘/๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๕