พระราชบัญญัติน้ำบาดาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติ

น้ำบาดาล (ฉบับที่ ๒)

พ.ศ. ๒๕๓๕

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕

เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติน้ำบาดาล” (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕  การกำหนดเขตท้องที่ใดให้เป็นเขตน้ำบาดาลตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                ในกรณีที่การสูบน้ำบาดาลในเขตท้องที่ใดจะทำให้ชั้นน้ำบาดาลเสียหาย หรือเสื่อมสภาพ หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรของชาติ หรือทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ หรือเป็นอันตรายแก่ทรัพย์สินหรือสุขภาพของประชาชน หรือทำให้แผ่นดินทรุด ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจกำหนดเขตท้องที่นั้นให้เป็นเขตห้ามสูบน้ำบาดาลโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                การเปลี่ยนแปลงเขตน้ำบาดาลหรือเขตห้ามสูบน้ำบาดาลหรือการยกเลิกเขตน้ำบาดาลหรือเขตห้ามสูบน้ำบาดาลที่ได้ประกาศกำหนดไว้ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗  ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนด

(๑) อัตราค่าใช้น้ำบาดาลในแต่ละท้องที่ที่มีน้ำประปาใช้ ไม่เกินอัตราสูงสุดของค่าน้ำประปาในท้องที่นั้น

                ในกรณีที่ท้องที่ใดไม่มีน้ำประปาใช้ อัตราค่าใช้น้ำบาดาลในท้องที่นั้นต้องไม่เกินอัตราสูงสุดของค่าน้ำประปาในจังหวัดที่ท้องที่นั้นตั้งอยู่ และให้ยกเว้นค่าใช้น้ำบาดาลแก่ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล ซึ่งใช้น้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคหรือบริโภค  ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการใช้น้ำบาดาลของโรงงานอุตสาหกรรม

(๒) หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการเรียกเก็บ ลดหย่อน และยกเว้นค่าใช้น้ำบาดาล

(๓) อัตราค่าวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำหรือของเหลว ค่าคัดสำเนาหรือถ่ายเอกสาร ค่ารับรองสำเนา และค่าตรวจสอบเอกสารหลักฐาน”

มาตรา ๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗ ทวิ และมาตรา ๗ ตรี แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐

               “มาตรา ๗ ทวิ  เพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้ความสามารถของช่างเจาะน้ำบาดาล ให้กรมทรัพยากรธรณีจัดให้มีบริการฝึกอบรมและสัมมนาวิชาการเจาะน้ำบาดาลแก่ช่างเจาะน้ำบาดาลทั้งของรัฐและเอกชน ตลอดจนให้บริการปรึกษาและแนะนำทางวิชาการแก่ช่างเจาะน้ำบาดาลดังกล่าว

                 มาตรา ๗ ตรี  ให้กรมทรัพยากรธรณีจัดให้มีการจดทะเบียนช่างเจาะน้ำบาดาลซึ่งมีพื้นความรู้ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้กรมทรัพยากรธรณีจัดให้มีการฝึกอบรมและสัมมนาทางวิชาการเจาะน้ำบาดาลให้แก่ช่างเจาะน้ำบาดาลดังกล่าว”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๙  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการน้ำบาดาล” ประกอบด้วยอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมโยธาธิการ อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมอนามัย ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าการการประปานครหลวงหรือผู้แทน ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาคหรือผู้แทน ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือผู้แทนกับผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสองคน เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการกองน้ำบาดาล กรมทรัพยากรธรณี เป็นกรรมการและเลขานุการ”

มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๐  ใบอนุญาตตามมาตรา ๑๘ ให้มีอายุตามที่ผู้ออกใบอนุญาตกำหนด แต่ไม่เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(๑) ใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลให้มีอายุไม่เกินหนึ่งปี

(๒) ใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลให้มีอายุไม่เกินสิบปี

(๓) ใบอนุญาตระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาลให้มีอายุไม่เกินห้าปี”

มาตรา ๘  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐

“มาตรา ๒๐ ทวิ  ผู้รับใบอนุญาตอาจโอนใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ให้แก่ผู้อื่นได้เมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ออกใบอนุญาต

การขอโอนใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนด”

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๒๑  ในกรณีที่ผู้ออกใบอนุญาตไม่ออกใบอนุญาต ไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้โอนใบอนุญาต ผู้ขอรับใบอนุญาต ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาต หรือผู้ขอโอนใบอนุญาต มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการไม่ออกใบอนุญาต ไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้โอนใบอนุญาต

คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

ในกรณีที่ผู้ออกใบอนุญาตไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตหรือไม่อนุญาต ให้โอนใบอนุญาต ก่อนที่รัฐมนตรีจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคสอง รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ประกอบกิจการไปพลางก่อนได้เมื่อผู้อุทธรณ์ร้องขอ”

มาตรา ๑๐  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๕ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐

“มาตรา ๒๕ ทวิ  ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลต้องชำระค่าใช้น้ำบาดาลตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา ๑๑  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐

               “มาตรา ๓๐ ทวิ  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาตามวรรคสองของมาตรา ๓๖ ทวิ แล้ว หากผู้กระทำความผิดไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง อุดหรือกลบหลุม บ่อ ที่เกิดหรืออันเป็นเหตุให้เกิดความผิดนั้นภายในเวลาที่ศาลกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้ โดยผู้กระทำความผิดจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการกระทำการนั้นทั้งสิ้น”

มาตรา ๑๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๓๓  เมื่อปรากฏในภายหลังว่าได้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ หรือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในใบอนุญาตได้เปลี่ยนแปลงไปภายหลังที่ได้ออกใบอนุญาตแล้ว ให้อธิบดีมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่ถ้าการปฏิบัติการให้เป็นไปตามใบอนุญาตดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรของชาติ หรือทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษหรือเป็นอันตรายแก่ทรัพย์สิน หรือสุขภาพของประชาชน หรือทำให้แผ่นดินทรุด ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้นเสียได้”

มาตรา ๑๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๖ ทวิ ของหมวด ๖ บทกำหนดโทษ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐

               “มาตรา ๓๖ ทวิ  ผู้ใดสูบน้ำบาดาลในเขตห้ามสูบน้ำบาดาลที่ประกาศตามมาตรา ๕ วรรคสอง หรือฝ่าฝืนมาตรา ๑๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะริบเครื่องมือเครื่องใช้ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์กระทำความผิดเสียก็ได้

ในกรณีความผิดตามวรรคหนึ่ง เมื่อพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง อุดหรือกลบหลุม บ่อ ที่เกิดหรืออันเป็นเหตุให้เกิดการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวได้”

มาตรา ๑๔  ให้ยกเลิกมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐

มาตรา ๑๕  ให้ยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ และให้ใช้อัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อานันท์  ปันยารชุน

นายกรัฐมนตรี

อัตราค่าธรรมเนียม

                  

(๑) คำขอ                                     ฉบับละ                  ๑๐ บาท

(๒) ใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาล                ฉบับละ             ๑,๐๐๐ บาท

(๓) ใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล                   ฉบับละ             ๑,๐๐๐ บาท

(๔) ใบอนุญาตระบายน้ำลงบ่อน้ำบาดาล    ฉบับละ             ๒,๐๐๐ บาท

(๕) ใบแทนใบอนุญาต                        ฉบับละกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียม

ใบอนุญาต

(๖) การต่ออายุใบอนุญาต                     ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

(๗) การโอนใบอนุญาต                        ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันได้มีการเจาะและใช้น้ำบาดาลมากขึ้นเป็นเหตุให้เกิดปัญหาวิกฤตการณ์น้ำบาดาลและปัญหาแผ่นดินทรุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานคร สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การกำหนดเขตห้ามสูบน้ำบาดาล การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำบาดาลให้ใกล้เคียงกับค่าน้ำประปาเพื่อให้ประชาชนลดการใช้น้ำบาดาลหรือเลิกใช้น้ำบาดาลเมื่อมีการให้บริการประปาแล้วปรับปรุงบทกำหนดโทษและปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน รวมตลอดทั้งเพิ่มอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ช่างเจาะน้ำบาดาลมีความรู้ ความสามารถในการเจาะน้ำบาดาล สมควรกำหนดให้กรมทรัพยากรธรณีจัดให้มีบริการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเจาะน้ำบาดาลทั้งของรัฐและเอกชนและจดทะเบียนช่างเจาะน้ำบาดาล  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

วศิน/ผู้จัดทำ

๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๑

ฐิติพร/แก้ไข

๑๕ มกราคม ๒๕๕๖

พจนา/ตรวจ

๑๙ เมษายน ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๔/หน้า ๓๘/๙ เมษายน ๒๕๓๕