พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559
พระราชบัญญัติ
ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๔)
พ.ศ. ๒๕๕๙
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
เป็นปีที่ ๗๑ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๙”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗
“การจัดให้มีหลักเขตและป้ายหรือเครื่องหมายอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงการจัดการซ่อมแซมหลักเขตและป้ายหรือเครื่องหมายอื่นที่ชำรุดเสียหายหรือสูญหายด้วย และในการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มีหนังสือแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ที่เขตป่าสงวนแห่งชาตินั้นตั้งอยู่เพื่อทราบแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติด้วย”
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๐ ในจังหวัดใดที่มีป่าสงวนแห่งชาติ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัด” ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ อัยการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ปฏิรูปที่ดินจังหวัด ปลัดจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้แทนเทศบาลแห่งท้องที่ที่ป่าสงวนแห่งชาติตั้งอยู่จำนวนหนึ่งคน และผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งท้องที่ที่ป่าสงวนแห่งชาติตั้งอยู่จำนวนสามคน เป็นกรรมการ
ในจังหวัดใดที่มีพื้นที่ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้มีผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และจังหวัดใดที่มีพื้นที่ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้มีผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน
ให้ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่ที่ป่าสงวนแห่งชาติตั้งอยู่ หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ
หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้แทนเทศบาลและผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๑๑ คณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดมาตรการในการควบคุมดูแล และการส่งเสริมการปลูกป่า รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับแนวทางที่อธิบดีกำหนด ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวต้องกำหนดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ด้วย
(๒) ควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา ๘ และมาตรา ๙
(๓) ดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยคำร้องตามมาตรา ๑๓
(๔) มีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนตามมาตรา ๑๓
(๕) มีหนังสือเรียกเจ้าพนักงานปกครองแห่งท้องที่หรือเจ้าพนักงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาในการกำหนดมาตรการตาม (๑)
(๖) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่มอบหมาย”
มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗
“มาตรา ๑๑/๑ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดโดยอนุโลม”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๒ บุคคลใดอ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติใดอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ ให้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อนายอำเภอแห่งท้องที่ภายในกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนั้นใช้บังคับ ถ้าไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดดังกล่าว ให้ถือว่าสละสิทธิหรือประโยชน์นั้น
คำร้องดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้นายอำเภอแห่งท้องที่ส่งต่อไปยังคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้นตั้งอยู่โดยไม่ชักช้า
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีสิทธิในที่ดินที่บุคคลมีอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา ๑๓ เมื่อคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดได้รับคำร้องตามมาตรา ๑๒ แล้ว ให้สอบสวนตามคำร้องนั้น ถ้าปรากฏว่าผู้ร้องได้เสียสิทธิหรือเสื่อมประโยชน์ ให้คณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กรมป่าไม้กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
ถ้าผู้ร้องไม่พอใจในค่าทดแทนที่คณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดกำหนด ผู้ร้องมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัด คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด”
มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๓/๑ ในกรณีที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐมีความประสงค์จะใช้พื้นที่บางแห่งภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสถานที่ปฏิบัติงานหรือเพื่อประโยชน์ของรัฐอย่างอื่น ให้อธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมีอำนาจประกาศกำหนดบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่ทางราชการใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ และในบริเวณดังกล่าวมิให้นำมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๖ มาใช้บังคับแก่การที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ จำเป็นต้องกระทำเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติงานเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้น
การใช้พื้นที่ตามวรรคหนึ่ง ถ้าที่ดินในบริเวณที่ทางราชการใช้ประโยชน์มีแนวเขตทับที่ดินซึ่งบุคคลได้รับประโยชน์ตามมาตรา ๑๔ อยู่แล้ว ให้การรับประโยชน์ในที่ดินส่วนที่เป็นบริเวณที่ทางราชการใช้ประโยชน์นั้นสิ้นสุดลง เมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่ประกาศกำหนดบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่ทางราชการใช้ประโยชน์
การใช้พื้นที่ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
มาตรา ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๑/๑ คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา ๑๓/๒ มาตรา ๑๓/๓ มาตรา ๑๓/๔ มาตรา ๑๓/๕ มาตรา ๑๓/๖ มาตรา ๑๓/๗ มาตรา ๑๓/๘ และมาตรา ๑๓/๙ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗
“หมวด ๑/๑
คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
มาตรา ๑๓/๒ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวนสี่คน เป็นกรรมการ
ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา ๑๓/๓ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๕) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
มาตรา ๑๓/๔ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการหรือในธุรกิจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ของทางราชการ
มาตรา ๑๓/๕ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว เว้นแต่วาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนก็ได้
เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
มาตรา ๑๓/๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๓/๕ วรรคสอง
มาตรา ๑๓/๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๓/๓ หรือมีส่วนได้เสียตามมาตรา ๑๓/๔
มาตรา ๑๓/๘ คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอแนะมาตรการและแนวทางในการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อรัฐมนตรี
(๒) พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามมาตรา ๑๓/๑ มาตรา ๑๖ และมาตรา ๒๐
(๓) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ การขออนุญาตและการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และการบำรุงป่าหรือปลูกสร้างสวนป่าหรือไม้ยืนต้นในเขตป่าเสื่อมโทรม
(๔) เสนอแนะการกำหนดค่าตอบแทนการอนุญาตตามมาตรา ๒๐ ต่อรัฐมนตรี
(๕) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่มอบหมาย
(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือดำเนินการอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
มาตรา ๑๓/๙ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๑/๑ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยอนุโลม”
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๖ อธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมีอำนาจอนุญาตให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติคราวละไม่น้อยกว่าห้าปีแต่ไม่เกินสามสิบปี ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตเป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ จะอนุญาตโดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่เห็นสมควรก็ได้
(๒) การเข้าทำประโยชน์เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่คราวละไม่เกินสิบปีโดยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตเก็บหาของป่า และไม่ต้องเสียค่าภาคหลวงของป่าตามพระราชบัญญัตินี้ สำหรับแร่ ดินขาว หรือหิน แล้วแต่กรณี
การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗
“มาตรา ๑๙/๑ ให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดอัตราและวางระเบียบเกี่ยวกับการเก็บค่าบริการหรือค่าตอบแทนสำหรับการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ให้บริการหรือให้ความสะดวกต่าง ๆ แก่ประชาชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ค่าบริการหรือค่าตอบแทนที่เก็บได้ตามวรรคหนึ่ง ให้เก็บรักษาไว้ใช้จ่ายในการบำรุงรักษาป่าสงวนแห่งชาติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี”
มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๐ ในกรณีที่ป่าสงวนแห่งชาติใดมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมตามมาตรา ๑๖ ทวิ ให้อธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำการบำรุงป่าหรือปลูกสร้างสวนป่าหรือไม้ยืนต้นในเขตป่าเสื่อมโทรมได้ภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสืออนุญาต โดยเสียค่าตอบแทนตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด แต่ในกรณีที่จะอนุญาตให้เกินหนึ่งพันไร่ต่อราย ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
มาตรา ๑๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๖/๑ มาตรา ๒๖/๒ มาตรา ๒๖/๓ มาตรา ๒๖/๔ และมาตรา ๒๖/๕ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗
“มาตรา ๒๖/๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหรืออายัดบรรดาไม้ ของป่า อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีได้จนกว่าจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นของผู้กระทำความผิดหรือของผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ และเมื่อได้มีการฟ้องคดีให้นำความในมาตรา ๓๕ วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับ
ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับทรัพย์สินคืนภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่งให้คืนทรัพย์สินแก่ผู้มีสิทธิขอรับทรัพย์สินคืนนั้นจากเจ้าพนักงานที่มีอำนาจยึดไว้ ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี และไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีบุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าว ให้เริ่มนับระยะเวลาตามวรรคสองตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี
มาตรา ๒๖/๒ ในกรณีทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๒๖/๑ วรรคหนึ่ง มิได้เป็นของผู้กระทำความผิดหรือของผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุมัติรัฐมนตรีคืนทรัพย์สินหรือเงิน แล้วแต่กรณี ให้แก่เจ้าของก่อนถึงกำหนดตามมาตรา ๒๖/๑ วรรคหนึ่งได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อทรัพย์สินนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีที่เป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นถูกยึดหรืออายัด หรือ
(๒) เมื่อผู้กระทำความผิดหรือผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดได้ทรัพย์สินนั้นมาจากผู้เป็นเจ้าของโดยการกระทำความผิดทางอาญา
มาตรา ๒๖/๓ ถ้าทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา ๒๖/๑ วรรคหนึ่ง จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะเกินค่าของทรัพย์สิน อธิบดีอาจดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินก่อนครบกำหนดเวลาตามมาตรา ๒๖/๑ วรรคสอง เมื่อได้เงินเป็นสุทธิเท่าใดให้ยึดไว้แทนทรัพย์สินนั้น หรือ
(๒) ถ้าการนำทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ไปใช้ประโยชน์จะเป็นการบรรเทาความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาก็ให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๒๖/๔ ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลาย หรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น
มาตรา ๒๖/๕ ในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ให้เรียกค่าเสียหายตามมาตรา ๒๖/๔ ไปในคราวเดียวกัน”
มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๔ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่
(๑) ไม้สัก ไม้ยาง ไม้สนเขา หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ หรือ
(๒) ไม้อื่นที่เป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร หรือ
(๓) ต้นน้ำลำธาร หรือ
(๔) พื้นที่ชายฝั่ง
ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท
ในกรณีที่มีคำพิพากษาชี้ขาดว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ถ้าปรากฏว่าบุคคลนั้นยึดถือหรือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำความผิดออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตลอดจนสั่งให้ผู้กระทำความผิดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือนำสิ่งใด ๆ อันก่อให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติออกจากป่าสงวนแห่งชาติภายในระยะเวลาที่กำหนด”
มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๓ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซึ่งหลักเขต ป้าย หรือเครื่องหมายอื่นใดที่จัดให้มีขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๓ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๓/๑ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๑๘ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามมาตรา ๒๕ (๑) หรือ (๒) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา ๑๘ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามมาตรา ๒๕ (๑) หรือ (๒) ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินห้าพันบาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง”
มาตรา ๑๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๓/๒ และมาตรา ๓๓/๓ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗
“มาตรา ๓๓/๒ ผู้รับใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง และก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างร้ายแรง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
มาตรา ๓๓/๓ ผู้รับใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตผู้ใดปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง หรือกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๑๔ ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา ๑๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๕ บรรดาไม้ ของป่า อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ อาวุธ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้กระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่
ให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และเมื่อพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ ไม่ว่าในคดีดังกล่าวจะปรากฏตัวบุคคลซึ่งอาจเชื่อว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่ามีบุคคลเป็นเจ้าของทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งประกาศดังกล่าวทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของทรัพย์สินนั้น เพื่อให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของมายื่นคำขอเข้ามาในคดีก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หรือมีเจ้าของแต่เจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดดังกล่าว อีกทั้งตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดเช่นนั้นเกิดขึ้น หรือไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกของวันที่ปิดประกาศ ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่ามีบุคคลเป็นเจ้าของทรัพย์สินให้นับแต่วันที่เจ้าของทรัพย์สินได้รับหรือถือว่าได้รับไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับดังกล่าวตามวรรคสอง และในกรณีนี้มิให้นำมาตรา ๓๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ”
มาตรา ๑๘ ให้ยกเลิกบัญชีอัตราค่าธรรมเนียม ค่าภาคหลวง และค่าบำรุงป่า ท้ายพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ และให้ใช้บัญชีอัตราค่าธรรมเนียม ค่าภาคหลวง และค่าบำรุงป่า ท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๑๙ การประกาศกำหนดบริเวณให้ใช้พื้นที่ตามมาตรา ๑๓ ทวิ การอนุญาตตามมาตรา ๑๖ และมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งได้ออกให้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปโดยให้ถือว่าเป็นการประกาศกำหนดบริเวณให้ใช้พื้นที่และการอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๒๑ ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๓/๒ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๒๒ บรรดาคำขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติของส่วนราชการหรือองค์การของรัฐ คำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และคำขออนุญาตทำการปลูกสร้างสวนป่าหรือปลูกไม้ยืนต้นภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และกรณีคำขอดังกล่าวมีข้อแตกต่างในสาระสำคัญไปจากคำขออนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติม หรือสั่งเรียกหลักฐานประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมได้
มาตรา ๒๓ บรรดากฎกระทรวง ประกาศ ข้อกำหนด หรือระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศ ข้อกำหนด หรือระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
การดำเนินการออกกฎกระทรวง ประกาศ ข้อกำหนด หรือระเบียบตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
มาตรา ๒๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
บัญชีอัตราค่าธรรมเนียม ค่าภาคหลวง และค่าบำรุงป่า
ใบอนุญาตทำไม้ ฉบับละ ๒๐๐ บาท
ใบอนุญาตเก็บหาของป่า ฉบับละ ๕๐ บาท
ใบคู่มือคนงาน ผู้รับจ้างหรือผู้แทนของผู้รับใบอนุญาต
หรือหนังสืออนุญาต ฉบับละ ๕๐ บาท
ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๕๐ บาท
การโอนใบอนุญาต ฉบับละ ๑๐๐ บาท
หนังสืออนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์
หรืออยู่อาศัย ไร่ละ ๕,๐๐๐ บาท
ค่าภาคหลวงไม้ ลูกบาศก์เมตรละ ๔๐๐ บาท
ค่าภาคหลวงของป่า ลูกบาศก์เมตรละ ๔๐ บาท
ในกรณีค่าภาคหลวงของป่าที่ไม่อาจคำนวณเป็นลูกบาศก์เมตรได้
หรือนิยมซื้อขายกันตามมาตรฐาน นอกจากเป็นลูกบาศก์เมตร ร้อยละสิบของราคาตลาด
ค่าบำรุงป่า สองเท่าค่าภาคหลวงไม้ หรือค่าภาคหลวงของป่าที่ผู้รับอนุญาตต้องชำระเนื่องจากการทำไม้และเก็บหาของป่าจากป่าสงวนแห่งชาติ
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งในปัจจุบันมีการทำลายหรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลาย หรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น สมควรกำหนดมาตรการในการคุ้มครอง ป้องกัน และบำรุงรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ และกำหนดให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัด เพื่อกำหนดมาตรการที่จำเป็นในการควบคุมดูแล การส่งเสริมการปลูกป่า และการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ และกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อเสนอแนะมาตรการและแนวทางในการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในการนี้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด และปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับบทกำหนดโทษ อัตราค่าธรรมเนียม ค่าภาคหลวง และค่าบำรุงป่า ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
วิศนี/ปริยานุช/จัดทำ
๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙
พจนา/ตรวจ
๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๔๖ ก/หน้า ๑๒/๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙