พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522

พระราชบัญญัติ

ป่าไม้ (ฉบับที่ ๖)

พ.ศ. ๒๕๒๒

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒

เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๖๙  ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าไม้ที่มีไว้ในครอบครองเป็น

(๑) ไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. หรือ

(๒) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร

ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท”

                  มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑๖ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗๑  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๔ วรรคสอง หรือมาตรา ๕๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”

มาตรา ๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗๑ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

                  “มาตรา ๗๑ ทวิ  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๙ มาตรา ๒๙ ทวิ มาตรา ๓๙ มาตรา ๓๙ ตรี มาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๔๓ วรรคสอง หรือมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑๖ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗๒  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

                  มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๒ ทวิ มาตรา ๗๒ ตรี และมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗๒ ทวิ  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าไม้ที่มีไว้ในครอบครองเป็น

(๑) ไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. หรือ

(๒) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินห้าต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้ที่ครอบครองเกินหนึ่งลูกบาศก์เมตรหรือไม้ที่ได้แปรรูปแล้วรวมปริมาตรไม้เกินหนึ่งลูกบาศก์เมตร

ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

มาตรา ๗๒ ตรี  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

                   ในกรณีที่มีคำพิพากษาชี้ขาดว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ถ้าปรากฏว่าบุคคลนั้นได้ยึดถือครอบครองป่าที่ตนได้กระทำความผิด ศาลมีอำนาจที่สั่งให้ผู้กระทำผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำผิด ออกไปจากป่านั้นได้ด้วย

มาตรา ๗๓  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๓๑ หรือมาตรา ๔๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าการกระทำผิดนั้นเกี่ยวกับ

(๑) ไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. หรือ

(๒) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร หรือไม้ที่ได้แปรรูปแล้วรวมปริมาตรไม้เกินสองลูกบาศก์เมตร

ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท”

มาตรา ๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๓ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                   “มาตรา ๗๓ ทวิ  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ ตรี หรือผู้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาตหรือข้อกำหนดที่รัฐมนตรีกำหนดให้ปฏิบัติเพิ่มเติมตามมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท”

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๗๔  บรรดาไม้และของป่าอันได้มาหรือมีไว้เนื่องจากการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้และสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ และสิ่งอื่นใด บรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามที่มีไว้ เนื่องจากการกระทำความผิดตามมาตรา ๕๓ ตรี ให้ริบเสียทั้งสิ้น”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ส.  โหตระกิตย์

รองนายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยป่าไม้ได้ใช้บังคับมานานแล้ว บทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดโทษไม่เหมาะสมแก่สภาวการณ์ปัจจุบันเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษให้สูงขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

สุรินทร์/แก้ไข

๘ มกราคม ๒๕๔๕

ปัญญา/แก้ไข

๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๒

อุดมการณ์/ปรับปรุง

๑๘ มกราคม ๒๕๕๖

วิชพงษ์/ตรวจ

๒๕ มกราคม ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๖๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๙/๒๘ เมษายน ๒๕๒๒