พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494

พระราชบัญญัติ

ป่าไม้ (ฉบับที่ ๓)

พ.ศ. ๒๔๙๔

ในพระปรมาภิไธย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔

เป็นปี ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

พระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาจึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดั่งต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔”

มาตรา ๒[๑]   พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๓) (๔) และ (๑๑) ของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทนตามลำดับ

“(๓) “แปรรูป” หมายความว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ไม้ดังนี้ คือ

ก. เลื่อย ผ่า ถาก ขุด หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม นอกจากการลอกเปลือกหรือตบแต่งอันจำเป็นแก่การชักลาก

ข. เผา อบ บด หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ให้เปลี่ยนแปรสภาพไปจากเดิม เพื่อถือเอาวัตถุธาตุหรือผลพลอยได้จากไม้นั้น”

                  “(๔) “ไม้แปรรูป” หมายความว่า ไม้ที่ได้แปรรูปแล้ว แต่ไม่หมายถึงไม้ในขณะที่ประกอบอยู่เป็นสิ่งปลูกสร้าง เครื่องใช้ หรือสิ่งของอื่น หรือได้เคยตบแต่งเป็นส่วนประกอบของสิ่งเหล่านั้นมาแล้ว”

“(๑๑) “ขนาดจำกัด” หมายความว่า ขนาดโตหรือขนาดยาวของต้นไม้ ซึ่งรัฐมนตรีกำหนดเป็นกฎกระทรวงตามความในพระราชบัญญัตินี้”

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗ ไม้สัก ทั่วไปในราชอาณาจักรไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้อื่นในป่าท้องที่ใด จะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

                   ไม้สักที่มิได้ขึ้นอยู่ในป่า เจ้าของที่ดินจะขอทำไม้เพื่อใช้สอยส่วนตัวสำหรับการปลูกสร้างหรือการเปลี่ยนแปลงต่อเติมบ้านเรือน เครื่องมือหรือสิ่งอื่นที่ใช้ประกอบหรือเกี่ยวเนื่องในการกสิกรรม การเลี้ยงสัตว์ การลากเข็น การทำเรือหรือการประมง หรือทำรั้วเพื่อป้องกันภยันตรายได้โดยไม่จำกัดจำนวน และไม่ต้องเสียเงินค่าภาคหลวง

                   การขอทำไม้ตามความในวรรคสอง ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรมการอำเภอแห่งท้องที่ที่ไม้นั้นขึ้นอยู่ และให้คณะกรมการอำเภอสอบสวนพิจารณาและสั่งอนุญาตหรือไม่ภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ขออนุญาต”

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดอัตราค่าภาคหลวง ดังต่อไปนี้

สำหรับไม้สักหรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ให้กำหนดตามชนิดและปริมาตรของไม้เป็นท้องที่หรือเป็นราย ๆ ไป แต่ไม่เกินกว่าลูกบาศก์เมตรละห้าสิบบาท

สำหรับไม้อื่น ให้กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามชนิดและปริมาตรของไม้เป็นท้องที่ ๆ ไป แต่ไม่เกินกว่าลูกบาศก์เมตรละยี่สิบบาท

                   สำหรับไม้ฟืนหรือไม้เผาถ่านที่ทำจากไม้หวงห้าม ให้กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นท้องที่ ๆ ไป แต่ไม่เกินกว่าลูกบาศก์เมตรละสามบาท ถ้าได้เผาเป็นถ่านแล้ว ให้เก็บในอัตราสองเท่าค่าภาคหลวงของไม้ฟืนหรือไม้เผาถ่าน

                   สำหรับไม้หรือถ่านที่นิยมซื้อขายกันตามมาตรฐานอื่นนอกจากเป็นลูกบาศก์เมตร จะกำหนดอัตราค่าภาคหลวงแตกต่างจากที่บัญญัตินี้ไว้ก็ได้ แต่อย่างสูงต้องไม่เกินร้อยละสิบแห่งราคาตลาดในราชอาณาจักรซึ่งเฉลี่ยจากราคาไม้หรือถ่านอย่างนั้น ๆ”

มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๑๑ ผู้ใดทำไม้ หรือเจาะ หรือสับ หรือเผา หรือทำอันตรายด้วยประการใด ๆ แก่ไม้หวงห้าม ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับสัมปทานตามความในพระราชบัญญัตินี้ และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงหรือในการอนุญาต

การอนุญาตนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีแล้ว จะอนุญาตให้ผูกขาดโดยให้ผู้ได้รับอนุญาตเสียเงินค่าผูกขาดให้แก่รัฐบาลตามจำนวนที่รัฐมนตรีกำหนดก็ได้

การอนุญาตโดยวิธีผูกขาดหรือให้สัมปทานสำหรับการทำไม้ฟืนหรือไม้เผาถ่านไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้กระทำได้เฉพาะในเขตป่าที่ห่างไกลและกันดาร หรือเฉพาะการทำไม้ชนิดที่มีค่าหรือหายาก

การพิจารณาคำขออนุญาตผูกขาดหรือสัมปทานตามความในวรรคก่อนให้กระทำโดยคณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง”

มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔   ผู้รับอนุญาตทำไม้ต้องเสียค่าภาคหลวงตามที่กำหนดไว้ ดั่งต่อไปนี้

                  (๑) ต้องชำระค่าภาคหลวงล่วงหน้า ต้นหรือท่อนละสองบาท เมื่อรับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เว้นแต่ในท้องที่ใดที่คณะกรมการจังหวัดได้ประกาศโดยรับอนุมัติจากรัฐมนตรีให้งดเว้นไม่ต้องเรียกเก็บเงินค่าภาคหลวงล่วงหน้าหรือให้ลดอัตราค่าภาคหลวงล่วงหน้าลงจากอัตราที่กำหนดนี้ ก็ให้เป็นไปตามประกาศของคณะกรมการจังหวัดนั้น ๆ

การทำไม้สัก ผู้รับอนุญาตจะต้องชำระค่าภาคหลวงล่วงหน้า ตามอัตราที่คณะกรมการจังหวัดได้ประกาศโดยรับอนุมัติจากรัฐมนตรี หรือตามอัตราที่รัฐมนตรีกำหนดเป็นราย ๆ ไป

การทำไม้ฟืน หรือทำไม้เผาถ่าน ไม่ต้องเสียค่าภาคหลวงล่วงหน้า

(๒) ต้องชำระค่าภาคหลวงให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งจำนวนค่าภาคหลวงให้ทราบ

                   ถ้าผู้รับอนุญาตไม่ชำระค่าภาคหลวงให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาดั่งกล่าวในวรรคก่อน ให้ไม้ ไม้ฟืน ไม้เผาถ่านหรือถ่านนั้นตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่ผู้รับอนุญาตจะได้รับอนุญาตให้ผัดผ่อนการชำระค่าภาคหลวงต่อไปตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ได้ชำระเงินค่าภาคหลวงล่วงหน้าไว้ และได้ทำไม้ออกมาแล้วภายในกำหนดอายุใบอนุญาต ก็ให้ไม้ส่วนที่เกินจำนวนจากที่ชำระค่าภาคหลวงล่วงหน้าไว้แล้วตกเป็นของแผ่นดิน”

มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๑๕   การชำระค่าภาคหลวงสำหรับไม้หวงห้ามชนิดใด ถ้าผู้รับอนุญาตขอชำระในเมื่อไม้นั้นได้แปรรูปแล้ว ต้องชำระตามปริมาตรของไม้แปรรูป ในอัตราสองเท่าค่าภาคหลวงที่กำหนดไว้สำหรับไม้ชนิดนั้นๆ”

มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๒๒   ผู้ได้รับอนุญาตตามความในส่วนนี้จะใช้ไม้ในกิจการอื่นใดผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต หรือผิดจากคำรับรองตามความในมาตรา ๒๑ หรือโอน หรือจำหน่ายไม้นั้นโดยประการใดหาได้ไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นหนังสือ และได้เสียค่าภาคหลวงตามอัตราเสียก่อน   ทั้งนี้ไม่หมายถึงการใช้เศษไม้ที่เหลือเพื่อกิจการส่วนตัว และไม้ที่ได้รับอนุญาตตามความในส่วนนี้ จะนำออกนอกเขตจังหวัดที่จะใช้ไม้ตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตมิได้”

มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในส่วนที่ ๔ ของหมวด ๑ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ เสียทั้งสิ้น

มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๙   ผู้ใดเก็บหาของป่าหวงห้ามหรือทำอันตรายด้วยประการใด ๆ แก่ของป่าหวงห้ามในป่า ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องเสียค่าภาคหลวง กับทั้งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงหรือในการอนุญาต

การอนุญาตนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีแล้ว จะอนุญาตให้ผูกขาดโดยให้ผู้รับอนุญาตเสียเงินค่าผูกขาดให้แก่รัฐบาลตามจำนวนที่รัฐมนตรีกำหนดก็ได้

การอนุญาตโดยวิธีผูกขาด ให้กระทำได้เฉพาะในกรณีที่ของป่าหวงห้ามเป็นของมีค่าหรือหายากหรือเฉพาะในเขตป่าที่ห่างไกลและกันดาร หรือมีความจำเป็นในวิธีการเก็บหาอันจำต้องให้อนุญาตโดยวิธีผูกขาด”

มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๕ ตราประทับไม้ของเอกชน จะใช้ประทับไม้ได้ต่อเมื่อเจ้าของตราได้นำจดทะเบียนและได้รับอนุญาตแล้ว

                   เมื่อใบอนุญาตสิ้นสุดลงด้วยประการใด ๆ เจ้าของตราหรือผู้ครอบครองต้องนำตรานั้นไปทำลายต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันใบอนุญาตสิ้นสุด เว้นแต่กรณีที่ผู้รับอนุญาตตาย และทายาทหรือผู้จัดการมรดกประสงค์จะใช้ตรานั้นต่อไปอีกก็ให้ยื่นคำขออนุญาตใช้ตรานั้น และขอแก้ทะเบียนก่อนกำหนดเวลาที่กล่าวแล้วได้สิ้นสุดลง

การจดทะเบียน การรับอนุญาต พร้อมทั้งเงื่อนไขในการใช้ตราและค่าธรรมเนียมในการนั้น ๆ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๐   บทบัญญัติแห่งสองมาตราก่อนมิให้ใช้บังคับในกรณีดั่งต่อไปนี้

                    (๑) การกระทำเพียง เลื่อย ตัด ลิด ขุด หรือถากซ้อมไม้เพื่อทำเป็นซุงท่อน ไม้เหลี่ยมโกลน มาดเรือโกลน เสาถากหรือหมอนรถ หรือเพื่อทำไม้ฟืน หรือทำไม้เผาถ่าน หรือเลื่อยผ่าเพียงเพื่อความจำเป็นในการชักลาก หากพนักงานเจ้าหน้าที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำไม้ ให้กระทำการนั้น ๆ ได้และผู้รับอนุญาตได้กระทำการนั้นๆก่อนนำเคลื่อนที่จากบริเวณตอไม้

(๒) การแปรรูปไม้ที่แปรรูปมาแล้วจากไม้ซุงหรือไม้ท่อนอันมิใช่เพื่อการค้า

(๓) การแปรรูปไม้หรือมีไม้แปรรูปที่ไม่ต้องเสียค่าภาคหลวงตามความในมาตรา ๗ วรรค ๒ หรือที่ได้รับยกเว้นค่าภาคหลวงตามความในมาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐

(๔) การแปรรูปไม้หรือมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองอันมิใช่ไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัตินี้”

มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๕๔   ห้ามมิให้ผู้ใดทำการแผ้วถางป่าที่ยังไม่เคยถูกแผ้วถางในพื้นที่นั้นมาแต่ก่อนเลย หรือที่ได้เคยถูกแผ้วถางมาแล้วและได้ทิ้งร้างมาเกินห้าปี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นหนังสือ หรือในเขตที่ที่รัฐมนตรีประกาศให้แผ้วถางได้โดยไม่ต้องรับอนุญาต

การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๘   ใบอนุญาตที่ออกให้ตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามแบบและข้อกำหนดในกฎกระทรวงและในกรณีเฉพาะเรื่อง ถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควรจะกำหนดให้ผู้รับอนุญาตปฏิบัติเพิ่มเติมประการใดอีก ก็ให้มีอำนาจกำหนดได้

พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ต่ออายุใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามความในพระราชบัญญัตินี้ได้เมื่อเห็นสมควร

                  ในกรณีการทำไม้หรือเก็บหาของป่าโดยการให้สัมปทาน การอนุญาตโดยวิธีผูกขาด หรือการอนุญาตในกรณีพิเศษตามมาตรา ๑๘ หรือการอนุญาตเพื่อการค้าในป่าสงวน ป่าคุ้มครองหรือป่าที่ได้เตรียมการสงวนหรือคุ้มครอง หรือได้กำหนดโครงการทำไม้หรือเก็บหาของป่าไว้แล้วนั้น รัฐมนตรีจะกำหนดให้ผู้รับสัมปทาน หรือผู้รับอนุญาตทำการบำรุงป่า ตามคำสั่งและวิธีการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด หรือจะให้ออกค่าใช้จ่ายเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเองก็ได้ แต่ในกรณีหลังนี้ห้ามมิให้เรียกค่าใช้จ่ายเกินสามเท่าค่าภาคหลวง หรือถ้าเห็นว่าการเรียกเก็บเงินตามอัตราค่าภาคหลวงไม่เหมาะสมสำหรับกรณีใด จะเรียกเก็บตามอัตราพื้นที่ป่าที่ได้รับสัมปทานหรือรับอนุญาตไม่เกินไร่ละหกสิบบาทสำหรับกรณีนั้นก็ได้”

มาตรา ๑๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                 “มาตรา ๖๙   ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปกับทั้งมิได้มีรอยตราค่าภาคหลวงประทับไว้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ แต่ถ้าเป็นไม้สักก็ดี ไม้หวงห้ามประเภท ข. ก็ดี ไม้อื่นจำนวนเกินยี่สิบต้น หรือมีปริมาตรเนื้อไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตรก็ดี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ”

มาตรา ๑๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๗๓ ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ๗ วรรคสอง มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๓๑ มาตรา ๔๓ วรรคสอง หรือมาตรา ๔๘ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ แต่ถ้าเป็นไม้สักก็ดี ไม้หวงห้ามประเภท ข. ก็ดี ไม้อื่นจำนวนเกินยี่สิบต้น หรือมีปริมาตรเนื้อไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตรก็ดี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ”

มาตรา ๑๘   ให้ยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมตามบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และให้ใช้อัตราค่าธรรมเนียมตามบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

                 มาตรา ๑๙   สัมปทานและใบอนุญาตผูกขาดที่ได้ออกให้แก่ผู้ใด เพื่อการทำไม้หรือเก็บหาของป่าไว้แล้ว ในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ อันขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๖ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้คงใช้ได้ต่อไปเพียงเท่ากำหนดอายุของสัมปทานหรือใบอนุญาตผูกขาดนั้น

มาตรา ๒๐   ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี

บัญชีอัตราค่าธรรมเนียม

๑. แบบพิมพ์คำขอเพื่อการใด ฉบับละ   ๐.๒๕ บาท

๒. การอนุญาตเจาะต้นตะเคียนตาแมว

    ทำชันเจาะต้นสนเอายางสับหรือกรีด

  ต้นเยลูตองเอายาง ต้นละ     ๐.๒๕ บาท

๓. การอนุญาตเจาะเผาต้นยาง

  ทำน้ำมันยาง ต้นละ     ๐.๑๐ บาท

๔. การอนุญาตเจาะ สับหรือกรีดไม้

  ชนิดอื่น ๆ เอาน้ำมัน ชัน หรือยาง ต้นละ     ๐.๒๕ บาท

๕. ใบอนุญาตทำไม้เพื่อการค้า ฉบับละ     ๒.๐๐ บาท

๖. ใบอนุญาตเก็บหารวงผึ้ง ฉบับละ     ๒.๐๐ บาท

๗. ใบอนุญาตเก็บไม้ไหลลอย ฉบับละ     ๑.๐๐ บาท

๘. ใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้

    โดยใช้เครื่องจักรคิดตามปริมาณ

  กำลังแรงม้า แรงม้าละ     ๒๐.๐๐ บาท

๙. ใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้

    โดยใช้แรงคนคิดตามจำนวนคนงาน คนละ     ๑.๐๐ บาท

๑๐. ใบอนุญาตทำการแปรรูปไม้

    เพื่อการค้า คิดตามปริมาตรไม้ ลูกบาศก์เมตรละ     ๐.๑๐ บาท

๑๑. ใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูป ฉบับละ     ๒๐.๐๐ บาท

๑๒. ใบแทนใบอนุญาตต่าง ๆ ฉบับละ     ๑.๐๐ บาท

๑๓. ใบอนุญาตผูกขาดทำไม้สัก ฉบับละ ๑,๐๐๐.๐๐ บาท

๑๔. ใบอนุญาตผูกขาดทำไม้ชนิดอื่น ๆ ฉบับละ   ๕๐๐.๐๐ บาท

๑๕. ใบอนุญาตผูกขาดเก็บหาของป่า ฉบับละ   ๑๐๐.๐๐ บาท

๑๖. ใบแทนใบอนุญาตผูกขาดต่าง ๆ ฉบับละ     ๕.๐๐ บาท

๑๗. สัมปทานการทำไม้สัก ฉบับละ ๑๐,๐๐๐.๐๐ บาท

๑๘. สัมปทานการทำไม้ชนิดอื่น ๆ ฉบับละ ๕,๐๐๐.๐๐ บาท

๑๙. ใบแทนสัมปทาน ฉบับละ     ๕๐.๐๐ บาท

๒๐. การโอนใบอนุญาตเก็บครึ่งอัตราค่า

    ธรรมเนียมการอนุญาตนั้น ๆ

๒๑. ใบเบิกทาง

    (ก) ไม้สัก ฉบับละ       ๒๐.๐๐ บาท

    (ข) ไม้อื่น ๆ ฉบับละ       ๑.๐๐ บาท

    (ค) ของป่า ฉบับละ       ๐.๒๕ บาท

๒๒. การอุทธรณ์

    (ก) เรื่องเกี่ยวกับการ

    อนุญาตสัมปทานผูกขาด ครั้งละ     ๒๕.๐๐ บาท

    (ข) เรื่องการขอตั้งหรือ

    ต่ออายุใบอนุญาต

    โรงงานแปรรูปไม้

    โดยใช้เครื่องจักร ครั้งละ     ๑๐.๐๐ บาท

    (ค) เรื่องการขอตั้งหรือ

    ต่ออายุใบอนุญาต

    โรงงานแปรรูปไม้

    โดยใช้แรงคน ครั้งละ     ๕.๐๐ บาท

    (ง) เรื่องการขออนุญาต

    ตั้งโรงค้าไม้แปรรูป ครั้งละ     ๓.๐๐ บาท

    (จ) เรื่องอื่น ๆ ครั้งละ     ๑.๐๐ บาท

๒๓. ใบคู่มือคนงานหรือผู้รับจ้าง หรือ

    ใบแทน ฉบับละ       ๐.๒๐ บาท

๒๔. ค่าจดทะเบียนตราประทับไม้เอกชน ดวงละ     ๒๐.๐๐ บาท

๒๕. ค่าธรรมเนียมขอตรวจเอกสารต่าง ๆ ฉบับละ     ๑.๐๐ บาท

๒๖. ค่าธรรมเนียมคัดและรับรองสำเนา

    (ก) ถ้าเป็นแบบพิมพ์

    คิดร้อยคำแรก       ๑.๐๐ บาท

    ร้อยคำหลัง       ๐.๗๕ บาท

    (ข) ถ้าไม่ใช่แบบพิมพ์

    ร้อยคำแรก       ๒.๐๐ บาท

    ร้อยคำหลัง       ๑.๕๐ บาท

      ถ้าไม่ถึงร้อยคำหรือเศษของ

    ร้อยคำ ให้คิดเป็นหนึ่งร้อยคำ

๒๗. ค่าธรรมเนียมขอตรวจแผนที่ป่า ครั้งละ     ๕.๐๐ บาท

๒๘. ค่าธรรมเนียมคัดและรับรองสำเนา

    แผนที่ป่า ฉบับละ     ๕๐.๐๐ บาท

๒๙. ค่าธรรมเนียมทำการล่วงเวลา

      คิดร้อยละสิบของเงินค่าภาคหลวงที่

  คำนวณได้ในครั้งนั้น ๆ แต่อย่างสูง

    ไม่เกิน   ๒๐๐.๐๐ บาท

๓๐. ค่าธรรมเนียมเก็บไม้ไหลลอย

    ท่อนละไม่เกิน   ๒.๐๐ บาท

สุรินทร์/แก้ไข

๗ มกราคม ๒๕๔๕

ปัญญา/แก้ไข

๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๒

อุดมการณ์/ปรับปรุง

๑๘ มกราคม ๒๕๕๖

วิชพงษ์/ตรวจ

๒๕ มกราคม ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๘/ตอนที่ ๔๖/หน้า ๑๐๒๖/๑๗ กรกฎาคม ๒๔๙๔