พระราชบัญญัติรักษาคลองประปา พ.ศ. 2526
พระราชบัญญัติ
รักษาคลองประปา
พ.ศ. ๒๕๒๖
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
เป็นปีที่ ๓๘ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการรักษาคลองประปา
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติรักษาคลองประปา พ.ศ. ๒๕๒๖”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติรักษาคลองประปา พระพุทธศักราช ๒๔๕๖
บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“คลองประปา” หมายความว่า คลองที่การประปาใช้เก็บน้ำและส่งน้ำที่ได้มาจากแหล่งน้ำดิบ คลองรับน้ำ หรือคลองขังน้ำ เพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปาตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นคลองประปาตามมาตรา ๕
“แหล่งน้ำดิบ” หมายความว่า แหล่งน้ำที่นำน้ำมาใช้ในการผลิตน้ำประปาของการประปา
“คลองรับน้ำ” หมายความว่า คลองที่ใช้รับน้ำดิบจากแหล่งน้ำดิบเข้าสู่คลองขังน้ำหรือคลองประปา
“คลองขังน้ำ” หมายความว่า คลองหรือที่ที่ใช้เก็บน้ำดิบสำหรับส่งเข้าคลองประปา
“เขตหวงห้าม” หมายความว่า เขตของคลองขังน้ำที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเป็นเขตหวงห้ามตามมาตรา ๕
“คันคลอง” หมายความว่า มูลดินที่ถมขึ้นหรือสิ่งที่ทำขึ้นเป็นคันยาวไปตามแนวคลองประปา คลองรับน้ำ หรือคลองขังน้ำ
“ท่อส่งน้ำดิบ” หมายความว่า ท่อส่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาของการประปารวมทั้งท่ออื่นใดซึ่งส่งน้ำดิบจากคลองประปาลอดใต้คลองอื่นที่มิใช่คลองประปา
“ท่อผ่านคลอง” หมายความว่า ท่อส่งน้ำจากคลองอื่นหรือแหล่งน้ำอื่นที่ฝังลอดใต้คลองประปา
“การประปา” หมายความว่า การประปานครหลวงตามกฎหมายว่าด้วยการประปานครหลวงหรือการประปาส่วนภูมิภาคตามกฎหมายว่าด้วยการประปาส่วนภูมิภาค หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ดำเนินกิจการการประปา แล้วแต่กรณี
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ การกำหนดบริเวณใดเป็นคลองประปา คลองรับน้ำ คลองขังน้ำ และการกำหนดเขตคลองดังกล่าวหรือเขตหวงห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การเปลี่ยนแปลงบริเวณคลอง เขตคลองหรือเขตหวงห้าม หรือการยกเลิกคลองหรือเขตคลองหรือเขตหวงห้ามที่ได้ประกาศกำหนดไว้ รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๖ ให้การประปาจัดให้มีหลักเขตและป้ายหรือเครื่องหมายอื่นแสดงเขตคลองประปาและเขตหวงห้ามไว้ให้เห็นได้โดยชัดเจน
มาตรา ๗ ผู้ใดประสงค์จะขออนุญาตเพื่อกระทำการตามที่มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๑๐ ได้บัญญัติห้ามไว้ให้ปฏิบัติดังนี้
(๑) ในเขตการประปานครหลวงตามกฎหมายว่าด้วยการประปานครหลวงและในเขตคลองประปา คลองรับน้ำ คลองขังน้ำ และเขตหวงห้ามในจังหวัดปทุมธานี ตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้ยื่นคำขอต่อการประปานครหลวง
(๒) ในเขตการประปาส่วนภูมิภาคตามกฎหมายว่าด้วยการประปาส่วนภูมิภาค ให้ยื่นต่อการประปาส่วนภูมิภาค
(๓) ในเขตการประปาซึ่งดำเนินกิจการโดยหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้ยื่นคำขอต่อหน่วยงานนั้นๆ
การขออนุญาต การอนุญาต และเงื่อนไขในการอนุญาต เพื่อดำเนินการดังกล่าวตามวรรคหนึ่งในเขตการประปาใด ให้เป็นไปตามข้อบังคับของการประปาตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี
มาตรา ๘ ห้ามมิให้ผู้ใดชักน้ำหรือวิดน้ำในคลองประปา คลองรับน้ำ หรือคลองขังน้ำ โดยใช้เครื่องสูบน้ำ ระหัด แครง โชงโลง หรือเครื่องมืออื่นใดอันมีลักษณะเดียวกัน หรือทำให้น้ำในคลองดังกล่าวรั่วไหล เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากการประปาตามมาตรา ๗ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตนั้น
ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่การตักน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภคหรือบริโภคในครัวเรือน
มาตรา ๙ ห้ามมิให้ผู้ใดขุดหรือขยายคลองประปา คลองรับน้ำ หรือคลองขังน้ำ สร้างทำนบหรือปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างอื่นใดลงในเขตคลองดังกล่าว เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากการประปาตามมาตรา ๗ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตนั้น
ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากการประปาตามมาตรา ๗ ให้ปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างในบริเวณคลองประปา คลองรับน้ำ หรือคลองขังน้ำ และให้สิ่งก่อสร้างดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการประปา
มาตรา ๑๐ ห้ามมิให้ผู้ใดเดินเรือในคลองประปา คลองรับน้ำหรือเขตหวงห้าม เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากการประปาตามมาตรา ๗ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตนั้น
มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ถ่อค้ำ หรือจอดเรือในบริเวณที่มีป้ายหรือเครื่องหมายของการประปาแสดงว่าเป็นบริเวณที่ฝังท่อส่งน้ำดิบ
มาตรา ๑๒ ห้ามมิให้ผู้ใดทำลายหรือทำให้เสียหายแก่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) คันคลอง
(๒) ประตูน้ำ ทำนบหรือเขื่อนของการประปา
(๓) ท่อส่งน้ำดิบ หรือท่อผ่านคลอง
(๔) สะพานข้ามคลองประปา สะพานข้ามคลองรับน้ำ หรือสะพานข้ามคลองขังน้ำ
มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้ผู้ใดนำหรือปล่อยสัตว์ใดๆ ลงไปในคลองประปา คลองรับน้ำ หรือเขตหวงห้าม
มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้ผู้ใดเทหรือทิ้งสิ่งใดๆ หรือระบายหรือทำให้น้ำโสโครกลงไปในคลองประปา คลองรับน้ำ หรือคลองขังน้ำ
มาตรา ๑๕ ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งซากสัตว์ ขยะมูลฝอย หรือสิ่งปฏิกูลลงในเขตคลองประปา คลองรับน้ำ หรือคลองขังน้ำ
มาตรา ๑๖ ห้ามมิให้ผู้ใดซักผ้า ล้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรืออาบน้ำในเขตคลองประปา
มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้ผู้ใดเพาะปลูกพืชชนิดหนึ่งชนิดใดในคลองประปา คลองรับน้ำ หรือเขตหวงห้าม
มาตรา ๑๘ ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำ
(๑) ในคลองประปา คลองรับน้ำ หรือเขตหวงห้าม หรือ
(๒) ในคลองขังน้ำซึ่งอยู่นอกเขตหวงห้าม โดยใช้เครื่องมือที่ปักหรือดักไว้ อันเป็นการกีดขวางการปฏิบัติงานของการประปา
มาตรา ๑๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๕ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตให้กระทำการตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตให้กระทำการตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
มาตรา ๒๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
มาตรา ๒๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ประกาศนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการรักษาคลองประปาซึ่งได้ตราขึ้นไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖ มีบทบัญญัติที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอันมาก ทำให้เกิดความไม่สะดวกแก่การปฏิบัติราชการ นอกจากนี้ได้มีการจัดตั้งการประปาส่วนภูมิภาคแยกต่างหากจากการประปานครหลวงแล้ว ในการนี้สมควรปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งให้มีการรักษาคลองประปาในเขตของการประปาส่วนภูมิภาคในลักษณะเดียวกันกับคลองประปาในเขตของการประปานครหลวงด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ศุภสรณ์ / อภิสิทธิ์ ผู้จัดทำ
๑๓/๐๓/๒๕๔๖
สัญชัย/ปรับปรุง
๗ กรกฎาคม ๒๕๔๙
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐/ตอนที่ ๑๖๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๖ ตุลาคม ๒๕๒๖