พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2486

พระราชบัญญัติ

ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒)

พุทธศักราช ๒๔๘๖

                  

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร

ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

และวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔)

อาทิตย์ทิพอาภา

ปรีดี พนมยงค์

ตราไว้ ณ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๖

เป็นปีที่ ๑๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ เพื่อให้เหมาะสมแก่สถานการณ์และความเจริญของบ้านเมือง

จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖”

มาตรา ๒[๑]  ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                  มาตรา ๓  ให้ยกเลิกข้อความตอน ๒ ของหมวดที่ ๓ และยกเลิกความในมาตรา ๙, ๑๐, ๑๑, ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๑๕, ๑๖, ๑๗,และ ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ตอน ๒

การแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

การออกจากตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

                  

“มาตรา ๙  ในหมู่บ้านหนึ่ง ให้มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง และมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สุดแต่นายอำเภอจะเห็นสมควร แต่ต้องไม่น้อยกว่าหมู่บ้านละสองคน

ผู้ใหญ่บ้านจะได้รับเงินเดือน แต่มิใช่จากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน”

“มาตรา ๑๐  ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่ปกครองบรรดาราษฎรที่อยู่ในเขตหมู่บ้าน”

“มาตรา ๑๑  ให้คณะกรมการอำเภอตั้งกรรมการไม่น้อยกว่าสามนาย โดยนายอำเภอเป็นประธาน มีหน้าที่สอบสวนคัดเลือกราษฎรซึ่งมีคุณสมบัติดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ เป็นผู้ใหญ่บ้าน”

“มาตรา ๑๒  ผู้มีสิทธิจะได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) เป็นชายมีสัญชาติไทย

(๒) เป็นหรือเคยเป็นทหาร หรือตำรวจ

ถ้าในท้องที่ใดไม่อาจเลือกผู้ที่เป็น หรือเคยเป็นทหารหรือตำรวจได้ ก็ให้เลือกบุคคลอื่นซึ่งมิใช่เป็นคนใช้หรือลูกจ้าง

(๓) บรรลุนิติภาวะแล้ว และมีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์

(๔) มีภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นประจำในหมู่บ้านนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน เว้นแต่ผู้ที่เป็นทหารหรือตำรวจ

(๕) เป็นผู้เสื่อมใสในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ

(๖) ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช

(๗) ไม่เป็นผู้มีกายทุพลภาพ หรือไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือติดยาเสพติดให้โทษ หรือไม่เป็นโรคตามที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้กำหนด

(๘) ไม่เป็นข้าราชการประจำการ หรือพนักงานเทศบาล หรือครูประชาบาล หรือสารวัตรศึกษา เว้นแต่ผู้ที่เป็นทหารหรือตำรวจ

(๙) ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี

                 (๑๐) ไม่เป็นผู้เคยถูกไล่ออกหรือปลดออกจากราชการฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือต้องรับอาญาจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุก เพราะกระทำความผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต ฐานปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือลักทรัพย์ โดยยังไม่พ้นกำหนดเวลาสามปี นับแต่วันถูกไล่ออก ปลดออก หรือพ้นโทษ

(๑๑) มีความรู้หนังสือไทยอ่านออกเขียนได้”

                 “มาตรา ๑๓  เมื่อคณะกรรมการได้สอบสวนคัดเลือกผู้ใดจะให้เป็นผู้ใหญ่บ้านแล้ว ให้คณะกรมการอำเภอรายงานไปยังข้าหลวงประจำจังหวัด เมื่อข้าหลวงประจำจังหวัดพิจารณาเห็นสมควรก็ให้ออกหมายแต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน”

“มาตรา ๑๔  ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) ขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒

(๒) ตาย

(๓) ได้รับอนุญาตให้ลาออก

(๔) ยุบหมู่บ้านที่ปกครอง

(๕) ไปเสียจากหมู่บ้านที่ตนปกครองเกินกว่าสามเดือน

(๖) ต้องรับอาญาจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดในลักษณะฐานลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

(๗) ต้องถูกปลด หรือไล่ออกจากตำแหน่ง

(๘) ข้าหลวงประจำจังหวัดสั่งให้ออกจากตำแหน่ง เพราะพิจารณาเห็นว่าบกพร่องในทางความประพฤติ หรือความสามารถไม่พอกับตำแหน่ง

“มาตรา ๑๕  ให้ผู้ใหญ่บ้านและกำนันท้องที่ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกราษฎรซึ่งมีคุณสมบัติ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน”

“มาตรา ๑๖  ผู้มีสิทธิจะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านต้องมีคุณสมบัติดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ เว้นแต่ข้อ ๒ ข้อ ๘ และเป็นหญิงก็ได้”

                   “มาตรา ๑๗  เมื่อผู้ใหญ่บ้านและกำนันพิจารณาคัดเลือกผู้ใดจะให้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแล้ว ให้กำนันรายงานไปยังนายอำเภอ เมื่อนายอำเภอสอบสวนพิจารณาเห็นสมควรก็ให้ออกหมายแต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน”

                 “มาตรา ๑๘  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละสองปี ถ้าตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้ผู้ใหญ่บ้านและกำนันพิจารณาคัดเลือกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านขึ้นแทนให้เต็มตำแหน่งที่ว่างอยู่ แต่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่เข้ามาแทนนั้น ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

เหตุที่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจะต้องออกจากตำแหน่งนอกจากตามกำหนดวาระแล้ว จะต้องออกเพราะเหตุเช่นเดียวกับเหตุที่ผู้ใหญ่บ้านจะต้องออกจากตำแหน่งโดยอนุโลม””

มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๙ ข้อ ๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ ๒  ถ้าผู้ใหญ่บ้านหมู่ใดว่างลง ให้คัดเลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบการว่างนั้น การคัดเลือกให้นำความในมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา ๕  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๒๑  ถ้าผู้ใหญ่บ้านคนใดจะทำการในหน้าที่ไม่ได้ในครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง ให้มอบหน้าที่ให้แก่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนจนกว่าผู้ใหญ่บ้านนั้นจะกลับมาและรายงานให้กำนันทราบ ถ้าการไปนั้นเกินกว่าสิบห้าวัน ให้กำนันรายงานให้นายอำเภอทราบด้วย”

มาตรา ๖  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เข้าอยู่ในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗

“ข้อ ๙  ควบคุมดูแลลูกบ้านให้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจะต้องพึงกระทำตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ

ข้อ ๑๐  ฝึกหัดอบรมให้คนไทยรู้จักหน้าที่และกระทำการในเวลารบ

ข้อ ๑๑  ทำการอบรมสั่งสอน หรือชี้แจงข้อราชการแก่ราษฎร ในการนี้ให้เรียกราษฎรมาประชุมได้ตามครั้งคราวที่สมควร

ข้อ ๑๒  บำรุงและส่งเสริมการอาชีพของราษฎรในทางเกษตรกรรม พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม

ข้อ ๑๓  ตรวจตราและรักษาประโยชน์ในการอาชีพของราษฎร

ข้อ ๑๔  สั่งให้ราษฎรช่วยเหลือในการสาธารณะประโยชน์เพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายซึ่งมีมาเป็นสาธารณะโดยฉุกเฉินและให้ทำการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ราษฎรผู้ประสบสาธารณะภัย

ข้อ ๑๕  จัดการป้องกันโรคติดต่อหรือโรคระบาดซึ่งเกิดขึ้น หรือจะเกิดขึ้นในหมู่บ้าน เพื่อมิให้ติดต่อลุกลามมากไป

ข้อ ๑๖  จัดหมู่บ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและต้องด้วยสุขลักษณะ

ข้อ ๑๗  จัดให้มีการประชุมกรรมการหมู่บ้าน

ข้อ ๑๘  ปฏิบัติการตามคำสั่งของกำนัน หรือทางราชการและรายงานเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในหมู่บ้านให้กำนันทราบ เพื่อให้กำนันรายงานต่อคณะกรรมการอำเภอ

ข้อ ๑๙  กระทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรตามที่ทางราชการได้แนะนำ”

มาตรา ๗  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๘ ทวิ และ ๒๘ ตรี แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗

“มาตรา ๒๘ ทวิ  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่

ก. ช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านปฏิบัติกิจการตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน เท่าที่ได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่บ้านให้กระทำ

ข. เสนอข้อแนะนำ และให้คำปรึกษาต่อผู้ใหญ่บ้านในกิจการที่ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่”

                 “มาตรา ๒๘ ตรี  ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านรวมกันให้มีฐานะเป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อร่วมปรึกษากิจการที่จะปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน ให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานโดยตำแหน่ง ในการประชุมกรรมการหมู่บ้านต้องมีผู้มาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวน จึงจะเป็นองค์ประชุม

การชี้ขาดข้อปรึกษาของคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้ามีเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด”

มาตรา ๘  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๙ ทวิ และ ๒๙ ตรี แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗

“มาตรา ๒๙ ทวิ  ในตำบลหนึ่งให้มีกำนันคนหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ปกครองราษฎรที่อยู่ในเขตตำบลนั้น และให้มีคณะกรรมการตำบลมีหน้าที่เสนอข้อแนะนำ และให้คำปรึกษาต่อกำนัน

กำนันจะได้รับเงินเดือน แต่มิใช่จากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน

                   คณะกรรมการตำบลประกอบด้วยกำนันท้องที่ แพทย์ประจำตำบลและครูประชาบาลในตำบลนั้นหนึ่งคน กับราษฎรผู้ทรงคุณวุฒิในตำบลนั้น ซึ่งนายอำเภอเป็นผู้คัดเลือก และข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้ง มีจำนวนตามที่นายอำเภอจะเห็นสมควร แต่ตำบลหนึ่งต้องไม่น้อยกว่าสองคน กรรมการซึ่งเป็นครูประชาบาล และกรรมการที่ตั้งจากราษฎรนั้น ให้อยู่ในตำแหน่งสองปี ถ้าตำแหน่งว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้นายอำเภอคัดเลือกเพื่อให้ข้าหลวงประจำจังหวัดแต่งตั้งผู้แทนขึ้นให้เต็มตำแหน่งที่ว่างแต่ผู้แทนนั้นให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ที่ตนแทน

                  ผู้ที่จะเป็นกรรมการตำบลนอกจากกำนันและแพทย์ประจำตำบล ต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิที่จะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และเหตุที่ครูประชาบาลและราษฎรผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นกรรมการตำบลจะต้องออกจากตำแหน่งนอกจากออกตามกำหนดวาระแล้ว จะต้องออกเพราะเหตุเช่นเดียวกับเหตุที่ผู้ใหญ่บ้านจะต้องออกจากตำแหน่งโดยอนุโลม”

                   “มาตรา ๒๙ ตรี  ในการประชุมคณะกรรมการตำบล ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุม ให้กำนันเป็นประธานโดยตำแหน่ง การชี้ขาดข้อปรึกษาให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้ามีเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงขี้ขาด

คณะกรรมการตำบลจะเรียกผู้ใหญ่บ้านให้มาชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมก็ได้”

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๓๐  ให้คณะกรมการอำเภอตั้งคณะกรรมการไม่น้อยกว่าสามนาย โดยนายอำเภอเป็นประธานมีหน้าที่สอบสวนคัดเลือกผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้น เพื่อเป็นกำนันคนหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการสอบสวนคัดเลือกผู้ใดจะให้เป็นกำนันแล้ว ให้คณะกรมการอำเภอรายงานไปยังข้าหลวงประจำจังหวัด เมื่อข้าหลวงประจำจังหวัดพิจารณาเห็นสมควรก็ให้ออกหมายแต่งตั้งให้ผู้นั้นเป็นกำนัน”

มาตรา ๑๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๑  กำนันต้องออกจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อต้องออกจากผู้ใหญ่บ้าน

(๒) ได้รับอนุญาตให้ลาออก

(๓) ยุบตำบลที่ปกครอง

(๔) เมื่อข้าหลวงประจำจังหวัดสั่งให้ออกจากตำแหน่งเพราะพิจารณาเห็นว่าบกพร่องในทางความประพฤติ หรือความสามารถไม่พอแก่ตำแหน่ง

(๕) ต้องถูกปลดหรือไล่ออกจากตำแหน่ง

การออกจากตำแหน่งกำนันนั้นให้ออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านด้วย เว้นแต่การออกตาม (๒) (๓) และ (๔) ไม่ต้องออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน”

มาตรา ๑๑  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๒  ถ้าตำแหน่งกำนันว่างลง ให้คัดเลือกกำนันขึ้นใหม่ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบการว่างนั้น การคัดเลือกให้นำความในมาตรา ๓๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา ๑๒  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗

“มาตรา ๓๔ ทวิ  นอกจากอำนาจหน้าที่ที่กล่าวโดยเฉพาะให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกำนัน ให้กำนันมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ใหญ่บ้านด้วย”

มาตรา ๑๓  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๔๖  การแต่งตั้งแพทย์ประจำตำบล ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดแต่งตั้งจากบุคคลผู้มีสัญชาติไทย และต้องแต่งตั้งจากผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในตำบลนั้น เว้นแต่ผู้ที่เป็นแพทย์ประจำตำบลที่ใกล้เคียงกันอยู่แล้ว และยอมกระทำการรวมเป็นสองตำบล ถ้าข้าหลวงประจำจังหวัดเห็นสมควรก็แต่งตั้งได้”

มาตรา ๑๔  ให้ยกเลิกข้อความตอน ๕ ของหมวดที่ ๔ และความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ตอน ๕

การประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการตำบล กรรมการหมู่บ้าน

แพทย์ประจำตำบล และวินัยของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

แพทย์ประจำตำบล

                  

มาตรา ๕๑  ให้กำนันเรียกผู้ใหญ่บ้านและแพทย์ประจำตำบลมาประชุมเพื่อปรึกษาหารือการที่จะรักษาหน้าที่ในตำบลให้เรียบร้อย ไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง

                ให้ผู้ใหญ่บ้านเรียกประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านตามครั้งคราวที่เห็นสมควรหรือเมื่อกรรมการมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งร้องขอให้มีการประชุม แต่เมื่อรวมปีหนึ่งจะต้องมีการประชุมไม่น้อยกว่าหกครั้ง

ให้กำนันเรียกประชุมคณะกรรมการตำบลไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง”

มาตรา ๑๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๑ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗

“มาตรา ๖๑ ทวิ  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลต้องรักษาวินัยโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดต้องได้รับโทษ

วินัยและโทษผิดวินัยให้ใช้กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนโดยอนุโลม

อำนาจการลงโทษ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลให้เป็นไปดังนี้

(๑) กำนันมีอำนาจลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ใหญ่บ้าน

(๒) นายอำเภอมีอำนาจลงโทษกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลดังนี้

(ก) ลดอันดับเงินเดือนไม่เกินหนึ่งอันดับ

(ข) ตัดเงินเดือน โดยเทียบในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นหัวหน้าแผนกกับผู้กระทำผิดชั้นเสมียนพนักงาน ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน

(ค) ลงโทษภาคทัณฑ์

                   เมื่อกำนันผู้ใหญ่บ้านคนใดถูกฟ้องในคดีอาญา เว้นแต่คดีความผิดในลักษณะฐานลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือมีกรณีที่ต้องหาว่าทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถูกสอบสวนเพื่อไล่ออกหรือปลดออก ถ้านายอำเภอเห็นว่าจะคงให้อยู่ในตำแหน่งจะเป็นการเสียหายแก่ราชการจะสั่งให้พักหน้าที่ก็ได้ แล้วรายงานให้ข้าหลวงประจำจังหวัดทราบการสั่งให้กลับเข้ารับหน้าที่ตลอดถึงการวินิจฉัยว่าจะควรจ่ายเงินเดือนระหว่างพักให้เพียงใดหรือไม่ ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาสั่ง อนุโลมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน

                  (๓) ข้าหลวงประจำจังหวัดมีอำนาจลงโทษ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและแพทย์ประจำตำบลในทุกสถาน ในกรณีการลดอันดับและตัดเงินเดือน ให้เทียบข้าหลวงประจำจังหวัดในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นหัวหน้ากอง และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบลเป็นชั้นเสมียนพนักงานตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน

โดยเฉพาะโทษปลด หรือไล่ออก ถ้ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านและแพทย์ประจำตำบลผู้ถูกลงโทษเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็มีสิทธิ์ร้องทุกข์ต่อกระทรวงมหาดไทย

                  การร้องทุกข์ให้ทำคำร้องลงลายมือชื่อยื่นต่อนายอำเภอภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันได้ทราบคำสั่งการลงโทษเพื่อนายอำเภอจักได้เสนอต่อไปยังข้าหลวงประจำจังหวัดและกระทรวงมหาดไทยตามลำดับ ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ พร้อมด้วยคำชี้แจง ถ้าจะพึงมี ให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจสั่งให้ยกคำร้องทุกข์หรือเพิกถอนคำสั่งการลงโทษหรือลดโทษ”

มาตรา ๑๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๙ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                  “มาตรา ๖๙  ในอำเภอหนึ่ง นอกจากมีกรมการอำเภอให้มีตำแหน่งเสมียนพนักงานอยู่ในบังคับบัญชากรมการอำเภออีกมากน้อยตามสมควรแก่ราชการ กับมีปลัดอำเภอประจำตำบลซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลในตำบลนั้น

ปลัดอำเภอประจำตำบลมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับกรมการอำเภอซึ่งมีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ แต่รับผิดชอบในกิจการเฉพาะตำบลที่ตนมีหน้าที่ประจำอยู่”

มาตรา ๑๗  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรค ๒ ของมาตรา ๘๓ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗

“นอกจากอำนาจหน้าที่ที่กล่าวโดยเฉพาะให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการอำเภอ ให้กรมการอำเภอมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านด้วย”

บทเฉพาะกาล

                  

                มาตรา ๑๘  กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่มีอายุไม่เกินหกสิบปีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ให้คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่ถ้าข้าหลวงประจำจังหวัดเห็นว่าผู้ใดไม่สามารถที่จะบริหารราชการได้ ตามอำนาจหน้าที่ในพระราชบัญญัตินี้ก็ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา ๑๙  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป.  พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี

สุกัญญา/ผู้จัดทำ

๗ ธันวาคม ๒๕๕๓

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๐/ตอนที่ ๑๔/หน้า ๕๐๔/๙ มีนาคม ๒๔๘๖