พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2557
พระราชบัญญัติ
สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ. ๒๕๕๗
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
เป็นปีที่ ๖๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า” ระหว่างบทนิยามคำว่า “ซากของสัตว์ป่า” และคำว่า “เพาะพันธุ์” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕
““ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า” ให้หมายความรวมถึงอนุพันธ์หรือสิ่งอื่นใดที่ได้มาจากสัตว์ป่า หรือซากของสัตว์ป่า ที่สามารถตรวจสอบหรือจำแนกได้โดยเอกสารกำกับ หรือบรรจุภัณฑ์ หรือเครื่องหมาย หรือฉลาก หรืออื่น ๆ ว่าเป็นของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๔ ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือนำผ่านซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี
ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว เว้นแต่เป็นการนำเข้าหรือส่งออก ซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ (๑) หรือได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายตามความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า และโดยได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๔ การนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่ต้องมีใบอนุญาตหรือใบรับรองให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน ตามความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าต้องได้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองจากอธิบดี
การขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรอง และการออกใบอนุญาตหรือใบรับรอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๕ การนำสัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเคลื่อนที่เพื่อการค้าของผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๐ ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี และต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์ป่า โดยแสดงใบอนุญาตให้นำสัตว์ป่าคุ้มครองหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเคลื่อนที่เพื่อการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบและอนุญาตแล้วจึงให้นำเคลื่อนที่ต่อไปได้
การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๘ ผู้ใดนำสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๓ หรือนำสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าวเคลื่อนที่เพื่อการนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่าน ผ่านด่านตรวจสัตว์ป่า ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์ป่า โดยแสดงใบอนุญาตให้นำเข้า ให้ส่งออก หรือให้นำผ่าน แล้วแต่กรณี เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบและอนุญาตแล้วจึงให้นำเคลื่อนที่ต่อไปได้”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕๕ ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าอันได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖๑ เมื่อได้มีกฎกระทรวงตามมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง ใช้บังคับ การดำ เนินการแก่สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดเพิ่มเติมขึ้น ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวที่มีอยู่ในความครอบครองของบุคคลใดก่อนวันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ ให้เป็นไปดังนี้
(๑) กรณีสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองแจ้งชนิดและจำนวนสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้ว หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นไม่ประสงค์จะเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไป ให้จำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นให้แก่ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ หรือจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อสิ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ยังมีสัตว์ป่าคุ้มครองเหลืออยู่เท่าใด ให้สัตว์ป่าคุ้มครองนั้นตกเป็นของแผ่นดินและให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งมอบสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี เพื่อนำไปดำเนินการ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ในกรณีที่สัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ เจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งประสงค์จะเพาะพันธุ์สัตว์นั้น ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้
หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ประสงค์จะเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพการเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองของผู้นั้นว่าอยู่ในสภาพอันสมควรและปลอดภัยแก่สัตว์นั้นเพียงใด หากเห็นว่าสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นได้รับการเลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่ในสภาพอันสมควรและปลอดภัย ให้อธิบดีอนุญาตให้ผู้นั้นครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้ โดยออกใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวให้ไว้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง โดยใบอนุญาตดังกล่าวให้มีอายุเพียงเท่าอายุของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น และผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยการเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และเมื่อสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นโดยการสืบพันธุ์ หรือตาย ผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ
(๒) กรณีซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแจ้งชนิดและจำนวนของซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียน และให้ผู้นั้นครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
กรณีที่เป็นซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีไว้เพื่อการค้าให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแจ้งชนิดและจำนวนของซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดแจ้งชนิดและจำนวนของซากสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นไว้แล้ว ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำ จากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อการค้า ดำเนินการจำหน่ายซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นให้เสร็จสิ้นภายในสามปีโดยต้องออกหนังสือกำกับการจำหน่ายซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองให้แก่ผู้ซื้อทุกครั้งที่มีการจำหน่าย เว้นแต่เป็นการจำหน่ายซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อนำไปบริโภคหากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ยังคงมีซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเหลืออยู่ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแจ้งชนิดและจำนวนของซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่เหลือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดสามปีเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียน และให้ผู้นั้นครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้ แต่ไม่สามารถทำการค้าซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นได้ เว้นแต่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
(๓) กรณีสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๓ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแจ้งชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียน และหากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสามารถนำพยานเอกสารหรือหลักฐานมาพิสูจน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ว่าได้สัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๓ นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ให้นำหลักเกณฑ์ตาม (๑) และ (๒) มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ ให้สัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่านั้นตกเป็นของแผ่นดิน และให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งมอบสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่านั้นให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี เพื่อนำไปดำเนินการ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
แบบและวิธีการแจ้งตาม (๑) (๒) และ (๓) แบบหนังสือกำกับการจำหน่ายซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง แบบหนังสือกำกับการจำหน่ายซากของสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๓ การนำพยานเอกสารหรือหลักฐานมาพิสูจน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การออกใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๓ ชั่วคราว และใบรับรองการครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๓ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความใน ๕. ๖. และ ๗. ของอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“๕. ใบอนุญาตให้นำเข้าหรือให้ส่งออกซึ่งสัตว์ป่า
คุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือ
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง
ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือที่ได้มาโดยชอบ
ด้วยกฎหมายตามความตกลงระหว่างประเทศ
ว่าด้วยการค้าสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือ
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า
ตามมาตรา ๒๓ ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท
๖. ใบอนุญาตให้นำเข้า ให้ส่งออก ซึ่งสัตว์ป่า
ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก
ซากของสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ตามมาตรา ๒๓ ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท
๗. ใบอนุญาตให้นำผ่านซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่า
คุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน ซากของสัตว์ป่า
คุ้มครอง ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าสงวน
หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง
ตามมาตรา ๒๓ ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท”
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความใน ๙. ของอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“๙. ใบรับรองให้นำเข้า ให้ส่งออก หรือให้นำผ่าน
ซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์
ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าตามมาตรา ๒๔ ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท”
มาตรา ๑๐ ใบอนุญาต ใบรับรอง หรือการอนุญาตใด ๆ ที่ได้ให้ไว้ตามมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ และยังมีผลใช้บังคับในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าใบอนุญาต ใบรับรอง หรือการอนุญาตนั้นเป็นใบอนุญาตใบรับรอง หรือการอนุญาตที่ได้ออกให้ตามมาตรา ๒๓ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๑ ใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ ที่ออกให้ตามความในมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวและใบรับรองการครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครองที่ออกให้ตามมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้มีผลใช้บังคับได้ต่อไป โดยกรณีของใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ และใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวให้มีผลใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาต
มาตรา ๑๒ บรรดาคำขออนุญาต คำขอรับใบอนุญาต คำขอใบรับรอง หรือการแจ้งที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ดำเนินการกับคำขอหรือการแจ้งดังกล่าวตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๓ บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ และข้อกำหนดที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน ซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน และซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora (CITES)) รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษในความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ ให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าอันได้มาโดยการกระทำความผิด และแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ครอบคลุมถึงการนำเข้าส่งออก หรือนำผ่าน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ปริยานุช/ผู้จัดทำ
๕ มกราคม ๒๕๕๘
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๘๙ ก/หน้า ๔/๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗