พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542

พระราชบัญญัติ

สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓)

พ.ศ. ๒๕๔๒

                  

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒”

มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความใน (๔) ของมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๔) เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับสภาตำบลที่ตนดำรงตำแหน่งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่สภาตำบลนั้น”

มาตรา ๔  ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗

มาตรา ๕  ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๒๔  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับสภาตำบลที่ตนดำรงตำแหน่งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่สภาตำบลนั้น”

มาตรา ๖  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๑ ทวิ มาตรา ๔๑ ตรี และมาตรา ๔๑ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗

                “มาตรา ๔๑ ทวิ  สภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลอาจรวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้น โดยให้นำมาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

                มาตรา ๔๑ ตรี  สภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลอาจรวมกับหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้น โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและให้กำหนดเขตใหม่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นไว้ในพระราชกฤษฎีกาด้วย

ให้นำมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒ วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับกับการรวมตามวรรคหนึ่ง โดยอนุโลม

                มาตรา ๔๑ จัตวา  องค์การบริหารส่วนตำบลมีจำนวนประชากรทั้งหมดไม่ถึงสองพันคน ทั้งเป็นเหตุให้ไม่สามารถที่จะดำเนินการบริหารงานพื้นที่นั้นให้มีประสิทธิภาพในลักษณะขององค์การบริหารส่วนตำบลได้ ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศยุบองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าว โดยให้รวมพื้นที่เข้ากับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกัน หรือให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าว โดยให้รวมพื้นที่เข้ากับหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้น  ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว

ให้นำมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒ วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับกับการยุบและรวมองค์การบริหารส่วนตำบล หรือการยุบและรวมองค์การบริหารส่วนตำบลกับหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม”

มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๕  สภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหมู่บ้านละสองคน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น

                ในกรณีที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเพียงหนึ่งหมู่บ้านให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหกคน และในกรณีที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเพียงสองหมู่บ้านให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหมู่บ้านละสามคน

หลักเกณฑ์และวิธีการสมัครรับเลือกตั้งและการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

อายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง”

มาตรา ๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๗  ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ มาใช้บังคับกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลโดยอนุโลม”

มาตรา ๙  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๗ ทวิ และมาตรา ๔๗ ตรี แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗

“มาตรา ๔๗ ทวิ  ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ต้อง

(๑) มีคุณสมบัติตามมาตรา ๙ (๑) และ (๒)

(๒) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๙) หรือ (๑๐)

(๓) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนสมัครรับเลือกตั้งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้น

(๔) ไม่เคยถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ออกจากตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล เว้นแต่จะพ้นห้าปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

(๕) ไม่เคยถูกสภาตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาตำบล หรือไม่เคยถูกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เว้นแต่จะพ้นห้าปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

มาตรา ๔๗ ตรี  สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลง เมื่อ

(๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือมีการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

(๒) ตาย

(๓) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันลาออก

(๔) เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ตนดำรงตำแหน่งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้น

(๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๗ ทวิ

(๖) มิได้อยู่ประจำในหมู่บ้านที่ได้รับเลือกตั้งเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินหกเดือน

(๗) ขาดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลติดต่อกันสามครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

                (๘) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งเพราะมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย หรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณา และมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

(๙) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลได้ลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง

เมื่อมีกรณีสงสัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (๔) (๕) (๖) หรือ (๗) ให้นายอำเภอสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว คำวินิจฉัยของนายอำเภอให้เป็นที่สุด

                ในกรณีที่สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (๘) ผู้นั้นอาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายประกอบด้วย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว ในกรณีดังกล่าวยังไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๔ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๔๗ จนกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้มีคำวินิจฉัยแล้ว

ในกรณีที่สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงตาม (๙) พร้อมกัน ให้ถือว่าเป็นการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล”

มาตรา ๑๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๘  คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยประธานกรรมการบริหารคนหนึ่งและกรรมการบริหารจำนวนสองคน ซึ่งสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเลือกจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแล้วเสนอให้นายอำเภอแต่งตั้ง

ให้ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหาร

การประชุมและการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย”

มาตรา ๑๑  ให้ยกเลิกมาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ และมาตรา ๖๓ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗

มาตรา ๑๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๖๔  คณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

(๒) มีการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

(๓) สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงพร้อมกันตามมาตรา ๔๗ ตรี (๙)

(๔) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้คณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙๒

(๕) คณะกรรมการบริหารลาออก และในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารมีมติลาออก

(๖) ความเป็นกรรมการบริหารของประธานกรรมการบริหารสิ้นสุดลง

(๗) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

               (๘) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติไม่รับหลักการแห่งร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่คณะกรรมการบริหารเสนอ และผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่รับหลักการแห่งร่างข้อบังคับงบประมาณดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งตาม (๑) (๒) (๓) (๕) (๖) (๗) หรือ (๘) คณะกรรมการบริหารนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินกิจการต่อไปจนกว่าคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

                 เมื่อคณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งตาม (๔) (๕) (๖) (๗) หรือ (๘) ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นคณะกรรมการบริหารขึ้นใหม่ แล้วเสนอให้นายอำเภอแต่งตั้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง และถ้าพ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันแล้วไม่อาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารดังกล่าวได้โดยมีสาเหตุสำคัญจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ให้นายอำเภอเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาสั่งยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

                 เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคสามหรือกรณีที่คณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งตาม (๒) หรือ (๓) และนายอำเภอเห็นว่าการให้คณะกรรมการบริหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามวรรคสองดำเนินกิจการต่อไป จะเป็นการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือราชการนายอำเภอจะสั่งให้คณะกรรมการบริหารนั้นพ้นจากหน้าที่และแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควรเป็นประธานกรรมการบริหารคนหนึ่งและกรรมการบริหารจำนวนสองคนประกอบเป็นคณะกรรมการบริหาร เพื่อดำเนินกิจการชั่วคราวจนกว่าคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ก็ได้

ในระหว่างที่ไม่มีคณะกรรมการบริหาร ให้ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลทำหน้าที่ของประธานกรรมการบริหารเท่าที่จำเป็นได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่”

มาตรา ๑๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗

“มาตรา ๖๔ ทวิ  นอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๔ แล้ว ความเป็นกรรมการบริหารสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ

(๑) พ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

(๒) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันลาออก

(๓) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้กรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙๒

(๔) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

(๕) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลได้ลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง

                ในกรณีที่สมาชิกภาพของกรรมการบริหารผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (๔) ผู้นั้นอาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติ โดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายประกอบด้วย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว ในกรณีดังกล่าวยังไม่ต้องดำเนินการเลือกกรรมการบริหารแทนตำแหน่งที่ว่างจนกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้มีคำวินิจฉัยแล้ว”

มาตรา ๑๔  ให้ยกเลิกความใน (๘) ของมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๘) บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น”

มาตรา ๑๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๙) ของมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗

“(๙) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมายโดยจัดสรรงบประมาณหรือบุคลากรให้ตามความจำเป็นและสมควร”

มาตรา ๑๖  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๒) และ (๑๓) ของมาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗

“(๑๒) การท่องเที่ยว

(๑๓) การผังเมือง”

มาตรา ๑๗  ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “ร่างข้อบังคับตำบลจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะกรรมการบริหาร หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือราษฎรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าชื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น”

มาตรา ๑๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

               “มาตรา ๗๔  ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย อากรการฆ่าสัตว์และค่าธรรมเนียมรวมถึงผลประโยชน์อื่นอันเกิดจากการฆ่าสัตว์  ทั้งนี้ ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดเมื่อได้มีการจัดเก็บตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นแล้วให้เป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลนั้น

               ในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการบริหารมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจและหน้าที่ของนายกเทศมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่และกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน และให้คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจพิจารณาชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลอาจมอบอำนาจและหน้าที่ดังกล่าวให้หน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการแทนก็ได้ และให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กำหนดในมาตรา ๘๑”

มาตรา ๑๙  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๗๗  รายได้จากค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล เงินอากร ประทานบัตรใบอนุญาตและอาชญาบัตรตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ค่าภาคหลวง และค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินที่เก็บในองค์การบริหารส่วนตำบลใด ให้เป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลนั้น”

มาตรา ๒๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙๑  เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม นายอำเภอจะรายงานเสนอความเห็นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลก็ได้

เมื่อมีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือกรณีอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและให้แสดงเหตุผลไว้ในคำสั่งด้วย

เมื่อมีการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือถือว่ามีการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นใหม่ภายในสี่สิบห้าวัน”

มาตรา ๒๑  ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗

             มาตรา ๒๒  ในวาระเริ่มแรกเป็นเวลาสี่ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๗ ทวิ (๒) เฉพาะลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙ (๖) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับกับผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และถ้าผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๙ (๖) ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ก็ให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙ (๖) นับแต่วันเลือกตั้ง

มาตรา ๒๓  บรรดาสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและกรรมการบริหารซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗

ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่งว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ไม่ต้องดำเนินการเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างและให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่

                ในกรณีที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งว่างลงตามวรรคสอง และเป็นประธานกรรมการบริหารหรือกรรมการบริหารด้วย ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีอยู่เป็นประธานกรรมการบริหารหรือกรรมการบริหาร แล้วแต่กรณี ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง

ให้ประธานกรรมการบริหารหรือกรรมการบริหารซึ่งได้รับการเลือกขึ้นแทนนั้นดำรงตำแหน่งได้เท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

               มาตรา ๒๔  ในกรณีที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นสมาชิกโดยตำแหน่งพ้นจากสมาชิกภาพไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าสภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ และบรรดากิจการที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าวได้กระทำไปในอำนาจหน้าที่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้มีผลใช้บังคับได้

                 มาตรา ๒๕  ในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้นำกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลโดยอนุโลม  ทั้งนี้ ให้อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ และยกเว้นไม่ต้องเรียกเก็บเงินประกันการสมัคร

การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา ๔๕ ให้ถือเขตหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเขตเลือกตั้ง

ใบสมัครและบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

               มาตรา ๒๖  องค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเหตุจะต้องยุบและรวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามมาตรา ๔๑ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ดำเนินการตามมาตรา ๔๑ จัตวา ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๒๗  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ชวน  หลีกภัย

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้วางหลักการจัดองค์กรปกครองท้องถิ่นให้เป็นไปตามหลักการปกครองตนเองยิ่งขึ้นและให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น สมควรจัดระเบียบบริหารราชการท้องถิ่น ระบบองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

วชิระ/ปรับปรุง

๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒

วิมล/ปรับปรุง

๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

ณัฐพร/ตรวจ

๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๔๐ ก/หน้า ๑/๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒