พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕
พระราชบัญญัติ
เทศบาล (ฉบับที่ ๔)
พ.ศ. ๒๕๐๕
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖๗ เทศบาลอาจมีรายจ่ายดังต่อไปนี้
(๑) เงินเดือน
(๒) ค่าจ้าง
(๓) เงินตอบแทนอื่น ๆ
(๔) ค่าใช้สอย
(๕) ค่าวัสดุ
(๖) ค่าครุภัณฑ์
(๗) ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และทรัพย์สินอื่น ๆ
(๘) เงินอุดหนุน
(๙) รายจ่ายอื่นใดตามข้อผูกพันหรือตามที่มีกฎหมายหรือระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้”
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖๗ ทวิ และมาตรา ๖๗ ตรี แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖
“มาตรา ๖๗ ทวิ การจ่ายเงินตามมาตรา ๖๗ (๘) และการจ่ายเงินเพื่อการลงทุน เทศบาลจะกระทำได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภาเทศบาลและผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติแล้ว
มาตรา ๖๗ ตรี การจ่ายเงินตามมาตรา ๖๗ (๙) ถ้าเป็นการชำระเงินกู้เมื่อถึงกำหนดชำระ เทศบาลจะต้องชำระเงินกู้นั้นจากทรัพย์สินของเทศบาลไม่ว่าจะตั้งงบประมาณรายจ่ายประเภทนี้ไว้หรือไม่”
มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ ๗ มาตรา ๗๕ ทวิ มาตรา ๗๕ ตรี มาตรา ๗๕ จัตวา มาตรา ๗๕ เบญจ และมาตรา ๗๕ ฉ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖
“ส่วนที่ ๗
คณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาล
มาตรา ๗๕ ทวิ ให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลคณะหนึ่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน อธิบดีกรมมหาดไทย อธิบดีกรมโยธาเทศบาล อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมสามัญศึกษา อธิบดีกรมวิสามัญศึกษา อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการส่วนการปกครองท้องถิ่น กรมมหาดไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งอีกไม่เกินห้าคน
ให้ผู้อำนวยการส่วนการปกครองท้องถิ่นกรมมหาดไทยเป็นเลขานุการคณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาล
ให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและเสนอข้อแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับกิจการเทศบาลโดยทั่วไป
มาตรา ๗๕ ตรี กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี
กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
มาตรา ๗๕ จัตวา นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๗๕ ตรี กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่คดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
เมื่อกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจแต่งตั้งผู้อื่นแทนได้
กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลผู้ได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคก่อน อยู่ในตำแหน่งตามวาระเท่าผู้ที่ตนแทน
มาตรา ๗๕ เบญจ ในการประชุมของคณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาล ถ้าประธานกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลที่มาประชุมเลือกกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
มาตรา ๗๕ ฉ การประชุมทุกคราวต้องมีกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด”
มาตรา ๖ ในกรณีที่เห็นสมควรกระทรวงมหาดไทยอาจแต่งตั้งข้าราชการไปดำรง
ตำแหน่งหรือปฏิบัติกิจการของเทศบาลใดเป็นการชั่วคราวได้ โดยไม่ขาดจากความเป็นข้าราชการและคงได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิม ถ้าแต่งตั้งข้าราชการสังกัดกระทรวงอื่น ให้กระทรวงมหาดไทยทำความตกลงกับกระทรวงเจ้าสังกัดก่อนแต่งตั้ง
ให้ข้าราชการผู้ได้รับแต่งตั้งมีฐานะอย่างเดียวกับพนักงานเทศบาลทุกประการ
มาตรา ๗ การจัดทำกิจการตามมาตรา ๕๑ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ของเทศบาลใดให้เป็นไปตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย
ความในวรรคก่อนไม่กระทบกระทั่งกิจการใด ๆ ที่เทศบาลจัดทำอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ประกาศของกระทรวงมหาดไทยตามมาตรานี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเทศบาล และเพื่อกำหนดรายจ่ายของเทศบาลให้สอดคล้องกับหลักการงบประมาณ
วศิน/ผู้จัดทำ
๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐
สุกัญญา/ผู้จัดทำ
๑๔ มีนาคม ๒๕๕๔
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๙/ตอนที่ ๑๘/หน้า ๒๐๐/๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕