ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ.2535
ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ว่าด้วย
การให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน
พ.ศ.2535
-----------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19(8) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.
2518 คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ออกระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า `ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการ
ให้เกษตรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยว
กับ การเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ.2535'
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกร
และสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปฏิบัติเกี่ยวกับการ
เข้าทำ ประโยชน์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2533
ข้อ 4 ในระเบียบนี้
`เกษตรกร' หมายความว่า เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดิน เพื่อ
เกษตรกรรม
`สถาบันเกษตรกร' หมายความว่า สถาบันเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ได้รับที่ดินจาก การปฏิรูป
ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
`หนังสือรับมอบที่ดิน' หมายความว่า หนังสือที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อ
เกษตรกรรมมอบให้แก่เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร เพื่อแสดงให้ทราบถึงการได้รับมอบ ที่ดิน
และได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตามแบบที่สำนักงานการปฏิรูป ที่ดิน
เพื่อเกษตรกรรมกำหนด
`สัญญาจัดให้โดยมีค่าชดเชย' หมายความว่า สัญญาที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อ
เกษตรกรรมจัดทำกับเกษตรกรที่ได้รับที่ดินเพิ่มขึ้นจากการจัดให้เกินกว่าที่คณะกรรมการ
ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนดตามมาตรา 30 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูป ที่ดินเพื่อ
เกษตรกรรม พ.ศ.2518 โดยตกลงว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้เมื่อเกษตรกร ได้ชำระค่าชดเชย
ครบถ้วนแล้ว
`คณะกรรมการ' หมายความว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
`ส.ป.ก.' หมายความว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
`เลขาธิการ' หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
หมวด 1
การรับมอบที่ดิน
ข้อ 5 ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศรายชื่อเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับการ
คัดเลือกให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามระเบียบคณะกรรมการเกี่ยวกับการคัดเลือกเกษตรกร
หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมอบหนังสือรับมอบที่ดินให้ผู้ได้รับการคัด
เลือกและ ให้ผู้ได้รับการคัดเลือกลงลายมือชื่อในหนังสือรับมอบที่ดินไว้เป็นหลักฐาน
หากเกษตรกรผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำประโยชน์ไม่ลงลายมือชื่อในหนังสือรับมอบ
ที่ดินให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีหนังสือเตือนโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ผู้ได้
รับการคัดเลือก มาลงลายมือชื่อรับมอบที่ดิน ณ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภายในกำหนด
สิบห้าวันนับ ตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือเตือนหากผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำ
ประโยชน์ไม่มาลงลายมือ ชื่อในหนังสือรับมอบที่ดิน ณ สถานที่ที่กำหนดภายในระยะเวลาดัง
กล่าว ให้ผู้นั้นหมดสิทธิ ในการได้รับคัดเลือกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินนั้น
ข้อ 6 ในกรณีที่ผู้ได้รับการคัดเลือกมิได้เป็นผู้ถือครองที่ดินหรือมิได้เป็นผู้
เช่าที่ดินในที่ดิน แปลงที่ได้รับการจัดให้อยู่เดิม ให้มีการนำชี้แนวเขตแปลงที่ดิน
และให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือ แจ้งกำหนดวันเวลานำชี้แนวเขตให้ผู้ได้รับการคัดเลือก
ทราบโดยให้ส่งหนังสือแจ้งก่อน ถึงกำหนดนัดนำชี้แนวเขตไม่น้อยกว่ายี่สิบวัน
เมื่อผู้ได้รับการคัดเลือกมาแสดงตนตามวันเวลาที่กำหนด ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
หลักฐาน ว่าเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจริงหรือไม่ เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้วให้นำชี้
แนวเขตแปลง ที่ดินที่จัดให้ และให้ผู้ได้รับการคัดเลือกลงลายมือชื่อรับมอบที่ดินไว้
เป็นหลักฐาน
ถ้าผู้ได้รับการคัดเลือกไม่มาแสดงตนตามวันเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร
และไม่ แจ้งเหตุขัดข้องให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดทราบ หรือมาแสดงตนแต่ไม่ยอมลงลายมือ
ชื่อรับมอบ ที่ดินไว้เป็นหลักฐานให้ผู้นั้นหมดสิทธิ์ในการได้รับคัดเลือกเข้าทำ
ประโยชน์ในที่ดินนั้น และให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดจัดที่ดินนั้นให้แก่ผู้ได้
รับการคัดเลือกผู้อื่นต่อไป
หมวด 2
การทำประโยชน์ในที่ดิน
ข้อ 7 เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับมอบที่ดินให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินมีหน้า
ที่ ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ต้องทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองเต็มความสามารถและไม่นำที่ดินนั้น ทั้ง
หมดหรือบางส่วนไปให้บุคคลอื่นไม่ว่าจะโดยการขาย ให้เช่า หรือเข้าทำประโยชน์ หรือ โดย
พฤติกรรมใด ๆ ที่แสดงให้เห็นในลักษณะนั้น
(2) ยินยอมทำสัญญาเช่า หรือสัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจัดให้โดยมีค่าชดเชย และ ต้อง
ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว
(3) ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน จนเป็นเหตุให้ที่ดินเสื่อมสภาพความเหมาะสม แก่การ
ประกอบเกษตรกรรม
(4) ไม่ขุดบ่อเพื่อการเกษตรกรรมเกินร้อยละห้าของเนื้อที่ที่ได้รับมอบ
(5) ไม่ปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างใด ๆ เว้นแต่การปลูกสร้างตามสมควรสำหรับ โรงเรือน
ที่อยู่อาศัย ยุ้งฉาง หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรของ เกษตรกรหรือ
สถาบันเกษตรกรนั้น
(6) ดูแลรักษาสมุดหลักฐานของ ส.ป.ก. และหลักเขตที่ดินในที่ดินที่ได้รับมอบ
มิให้เกิดชำรุดเสียหายหรือเคลื่อนย้ายไปจากตำแหน่งเดิม
(7) ไม่กระทำการใด ๆ ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งก่อสร้างใน
โครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การทำประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกรอื่นและสภาพแวดล้อม
(8) ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการและคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด
(9) ปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมที่ทำกับ ส.ป.ก. และปฏิบัติตามพันธะกรณีที่มีอยู่
กับสถาบันการเงิน หรือบุคคลที่ดำเนินงานร่วมกับ ส.ป.ก.
ข้อ 8 หากเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรกระทำการฝ่าฝืน ข้อ 7 ให้ปฏิรูปที่ดิน จังหวัดมี
หนังสือเตือนให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรละเว้นการกระทำหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือทำ
ให้ที่ดินกลับสู่สภาพเดิมภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้นั้นยังคงฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ
ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควรก็ให้ดำเนินการตามข้อ 11 ต่อไป
ในกรณีที่เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรได้โอนการทำประโยชน์ในที่ดินไม่ว่าทั้งหมด หรือ
บางส่วนไปยังบุคคลอื่นหรือกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกรณีหนึ่งกรณีใดในข้อ 7
และไม่สามารถหาตัวได้พบให้ดำเนินการตามข้อ 11 ได้โดยมิต้องมีการเตือน
ข้อ 9 การขุดบ่อเพื่อการเกษตรกรรมที่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อ 7(4) หรือการ ปลูก
สร้างโรงเรือน ที่อยู่อาศัย ยุ้งฉาง หรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร ที่
เกินสมควรตามข้อ 7(5) ให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรยื่นคำขอ ณ สำนักงานการปฏิรูป ที่ดิน
จังหวัดและให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นผู้พิจารณาอนุญาต
ในการอนุญาตนั้นให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาถึงผลดีผลเสียสภาพของ
ที่ดิน ที่จะต้องเสียหาย ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและแปลงที่ดินข้างเคียง และความเป็นไปได้
ในการ ประกอบกิจการนั้น ประกอบด้วย
ในกรณีการอนุญาตให้ดำเนินการขุดบ่อเพื่อการเกษตรกรรมเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อ 7
(4) ถ้ามีการนำดินหรือสิ่งของที่ขุดได้ออกไปนอกบริเวณที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้
เข้าทำประโยชน์ ไม่ว่าเพื่อการใด ๆ เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรต้องใช้เงินเท่ามูลค่าของ
ดินหรือสิ่งของที่ ขุดได้ดังกล่าวเป็นรายได้ของ ส.ป.ก. เพื่อนำเข้ากองทุนการปฏิรูป
ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เว้นแต่เป็นการนำออกไปโดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน
จังหวัด
หากผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าว ไม่ดำเนินการตามที่ขออนุญาตหรือผิดเงื่อนไขที่กำหนดใน
การอนุญาตหรือไม่ชำระเงินตามวรรคสามภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน จังหวัด
กำหนดให้ถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อ 7 และให้ดำเนินการตามระเบียบนี้ต่อไป ทั้งนี้
หากผู้ได้รับอนุญาตได้เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินไปแล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตนั้นทำที่ดิน
ให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
การพิจารณาอนุญาตตามข้อนี้ ในกรณีมีเหตุอันควรคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดจะ
มอบหมายให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นผู้พิจารณาอนุญาตแทนก็ได้
ข้อ 10 กรณีเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรใดประสงค์จะสละสิทธิการทำประโยชน์ ในที่ดินที่
ได้รับมอบ ให้ยื่นคำขอสละสิทธิพร้อมกับคำขอบอกเลิกสัญญาเช่า หรือสัญญาเช่าซื้อ หรือ
สัญญาจัดให้โดยมีค่าชดเชย ณ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดแห่งท้องที่ ตามแบบที่ ส.ป.
ก.กำหนด
หมวด 3
การสิ้นสิทธิและผลของการสิ้นสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดิน
ข้อ 11 เกษตรหรือสถาบันเกษตรกรสิ้นสิทธิหรือจะสิ้นสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดินเขต
ปฏิรูปที่ดินในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ตาย เลิกสถาบันเกษตรกร หรือสละสิทธิ เว้นแต่จะมีการตกทอดทางมรดก ตาม
พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
(2) โอนสิทธิการทำประโยชน์ การเช่า เช่าซื้อ หรือการจัดให้โดยมีค่าชดเชย ไปยัง
บุคคลอื่นตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
(3) ขาดคุณสมบัติตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วย
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับ
ที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในสาระสำคัญดังต่อไปนี้
ก. สัญชาติไทย
ข. มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกันเพียงพอ แก่
การเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ก่อนดำเนินการคัดเลือกเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน
(4) ไม่ปฏิบัติตามความในข้อ 7 และไม่ปฏิบัติตามคำเตือนในข้อ 8
การสิ้นสิทธิตาม (1) และ (2) ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดรายงานให้คณะกรรมการปฏิรูป
ที่ดิน จังหวัดทราบ และการสิ้นสิทธิย่อมมีผลในทันทีที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น สำหรับ
กรณีตาม (3) และ (4) ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีมติให้เกษตรกรหรือสถาบัน
เกษตรกรสิ้นสิทธิ และให้มีผลเป็นการสิ้นสิทธิหลังจากพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์ เว้นแต่มี
การอุทธรณ์ ให้การสิ้น สิทธิมีผลเมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยยืนตามมติคณะกรรมการปฏิรูป
ที่ดินจังหวัด
ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีหนังสือแจ้งคำสั่งการสิ้นสิทธิให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร
ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีมติ พร้อมทั้งแจ้งระยะเวลา
ที่ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำหนดให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรพร้อมบริวารออกจาก
ที่ดิน หากเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรไม่ยอมออกจากที่ดิน ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดดำเนินคดี
ตามกฎหมายต่อไป
ในกรณีไม่สามารถแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรทราบได้ ให้ปิด คำสั่ง
นั้นไว้ ณ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการผู้ใหญ่
บ้าน และที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายในหมู่บ้านแห่งท้องที่ที่ที่ดินตั้งอยู่ แห่งละหนึ่งฉบับ
ข้อ 12 เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรใดสิ้นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามข้อ 11 ให้
เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายมีหนังสือเรียกสัญญาเช่า หรือสัญญาจัดให้ โดยมีค่า
ชดเชยหรือหนังสือรับมอบที่ดินคืนให้แก่ ส.ป.ก. ภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้
รับหนังสือหากไม่สามารถเรียกเอกสารดังกล่าวคืนภายในระยะเวลาที่กำหนดไม่ว่าจะเป็นด้วย
เหตุใดก็ตาม ให้จัดทำเป็นประกาศของทางราชการเพื่อแสดงให้ทราบว่าเอกสารดังกล่าวเป็น
อันเลิกใช้ตั้งแต่วันที่เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรสิ้นสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดินนั้น
โดย ให้ปิดประกาศดังกล่าวไว้ ณ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่ง
อำเภอ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายในหมู่บ้านแห่งท้องที่ที่ที่ดิน
นั้นตั้งอยู่ แห่งละหนึ่งฉบับ มีกำหนดสามสิบวัน
เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายดำเนินการเกี่ยวกับ
การจัดการทรัพย์สินหรือหนี้สินของเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกร อันเกี่ยวเนื่องกับกิจการ ที่
ทางราชการได้ลงทุนไปหรือให้กู้ยืมตามสัญญา ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
หมวด 4
อุทธรณ์
ข้อ 13 หากเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรผู้ถูกสั่งให้สิ้นสิทธิตามข้อ 11 เห็นว่าคำสั่ง
นั้น ไม่เป็นธรรม ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดแห่งท้องที่ภายในสาม
สิบวันนับแต่ วันที่ได้รับหนังสือแจ้งหรือวันที่ได้ปิดคำสั่ง โดยแสดงหลักฐานอ้างอิง
ประกอบ
ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการอุทธรณ์ส่งไปยัง
ส.ป.ก. ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาต่อไป
ข้อ 14 ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ ให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่คณะกรรมการ ปฏิรูป
ที่ดินจังหวัดมีคำสั่งให้สิ้นสิทธิ อาจอยู่ทำประโยชน์ในที่ดินต่อไปจนกว่าคณะกรรมการมี
คำวินิจฉัย
เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยแล้ว ให้ ส.ป.ก. แจ้งคำวินิจฉัยไปยังสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน
จังหวัดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัย และให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัด
มีหนังสือแจ้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่
ได้รับคำวินิจฉัยจาก ส.ป.ก. ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของคณะกรรมการ
ปฏิรูปที่ดินจังหวัด ให้แจ้งระยะเวลาให้ผู้อุทธรณ์ทั้งบริวารออกจากที่ดินตามระยะเวลา
ที่คณะกรรมการปฏิรูป ที่ดินจังหวัดได้กำหนดไปพร้อมกับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะ
กรรมการด้วย
หมวด 5
ข้อ 15 ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ว่า
ด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในรายละเอียดได้ ทั้งนี้เท่าที่ไม่
ขัดหรือ แย้งกับระเบียบนี้ และในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบนี้ให้
คณะกรรมการ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาต่อไป
ประกาศ ณ วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2535
อำพล เสนาณรงค์
รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม