ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๓
ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร
ผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน
(ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๓
--------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๙ (๘) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อ
เกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๑๘ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ออกระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วย
การให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับ
การเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๓"
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๓ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้
เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปฏิบัติเกี่ยวกับการ
เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ ๑) พ.ศ.๒๕๒๒
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
"เกษตรกร" หมายความว่า เกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อ
เกษตรกรรม และเป็นผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
"สถาบันเกษตรกร" หมายความว่า สถาบันเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการ
ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม และเป็นผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
"หนังสืออนุญาต" หมายความว่า หนังสือที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร
กรรมออกให้เพื่ออนุญาตให้เกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูป
ที่ดิน
"การอนุรักษ์ดินและน้ำ" หมายความว่า การจัดการและวิธีการใช้ที่ดินและน้ำ ซึ่ง
เป็นทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและนานที่สุด โดยวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดการ
สูญเสียหรือเสื่อมสภาพของดินและน้ำ อันเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือจากการกระทำของมนุษย์
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
"ส.ป.ก." หมายความว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
"เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการ
ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
หมวด ๑
การรับมอบที่ดิน
--------------------
ข้อ ๕ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการคัดเลือกเกษตรกรหรือสถาบัน
เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามระเบียบคณะกรรมการเกี่ยวกับการคัดเลือกเกษตรกรและ
สถาบันเกษตรให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดส่งหนังสือรับมอบที่ดินให้ผู้ได้รับการคัดเลือกลงลายมือชื่อ
ตอบรับในหนังสือรับมอบที่ดินนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด
หากเกษตรกรผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำประโยชน์ไม่ลงลายมือชื่อตอบรับตาม
วรรคหนึ่งด้วยเหตุใดก็ดี ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีหนังสือเตือนเพื่อให้มีการลงลายมือชื่อตอบรับ
ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือเตือน หากไม่ตอบรับภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้นั้น
หมดสิทธิในการได้รับคัดเลือกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินนั้น
ข้อ ๖ ในกรณีที่ผู้ได้รับการคัดเลือกมิได้เป็นผู้ถือครองที่ดินแปลงที่ได้รับการจัดให้
อยู่เดิม ให้มีการนำชี้แนวเขตแปลงที่ดิน และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้ผู้ได้รับการคัดเลือก
ทราบกำหนดเวลาชี้นำแนวเขตล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
เมื่อผู้ได้รับการคัดเลือกมาแสดงตนตามวันเวลาที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่
ตรวจสอบหลักฐานว่า เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจริงหรือไม่ เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้วให้นำชี้แนวแปลง
ที่ดินที่จัดให้ และให้ผู้ได้รับการคัดเลือกลงลายมือชื่อรับมอบที่ดินไว้เป็นหลักฐาน
ถ้าผู้ได้รับการคัดเลือกไม่มาแสดงตนตามวันเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร
และไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดทราบ หรือมาแสดงตนแต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับมอบ
ที่ดินไว้เป็นหลักฐาน ให้ผู้นั้นหมดสิทธิในการได้รับคัดเลือกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินนั้นและให้คณะ
กรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดจัดที่ดินนั้นให้แก่ผู้ได้รับการคัดเลือกผู้อื่นต่อไป
หมวด ๒
การเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน
--------------------
ข้อ ๗ เมื่อผู้ได้รับการคัดเลือกลงลายมือชื่อรับมอบที่ดินไว้เป็นหลักฐานแล้วผู้นั้น
ต้องเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตด้วยตนเองภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน
จังหวัดกำหนด และให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายออกหนังสืออนุญาตตามแบบที่กำหนด
ท้ายระเบียบคณะกรรมการว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดิน
เพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๘ เว้นแต่เป็นที่ดินที่ได้มาจากการจัดซื้อหรือเวนคืนเพื่อการปฏิรูปที่ดิน
ให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายจัดทำสัญญาเช่าหรือสัญญาเช่าซื้อหรือ
สัญญาจัดให้โดยมีค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการหรือ
ผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายกำหนด
ถ้าเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรไม่เริ่มเข้าทำประโยชน์ภายในระยะเวลาที่กำหนด
ตามวรรคหนึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยมิชักช้า หากปรากฏว่าการไม่เข้า
ทำประโยชน์มีเหตุอันสมควร ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดอนุญาตให้ขยายระยะเวลาเข้าทำประโยชน์ได้ตาม
ควรแก่กรณี แต่ต้องไม่เกิน ๒ เดือน นับแต่วันที่อนุญาตแล้วรายงานให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด
เพื่อทราบ แต่ถ้าปรากฏว่าการไม่เข้าทำประโยชน์ไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือพ้นกำหนดระยะเวลาที่
ปฏิรูปที่ดินจังหวัดขยายระยะเวลาเข้าทำประโยชน์ ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดออกหนังสือเตือนให้ผู้นั้นเข้าทำ
ประโยชน์ในที่ดินภายในเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่เกิน ๑ เดือน นับแต่วันที่ได้รับคำเตือน เมื่อพ้นกำหนด
เวลาดังกล่าวถ้าไม่ปฏิบัติตามคำเตือน ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีคำสั่งให้เกษตรกรหรือ
สถาบันเกษตรกรหมดสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินนั้น และให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีหนังสือแจ้งคำสั่ง
ดังกล่าวให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรทราบ และให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดจัดที่ดินนั้นให้
แก่ผู้ได้รับการคัดเลือกผู้อื่นต่อไป
ข้อ ๘ ในปีแรกเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรต้องทำประโยชน์ในที่ดินให้เสร็จตาม
จำนวนเนื้อที่ที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำหนดและต้องทำให้แล้วเสร็จเต็มตามพื้นที่ที่ได้รับ
มอบหมายใน ๓ ปี
ข้อ ๙ ให้เกษตรกรผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมา
จัดทำสัญญากับ ส.ป.ก. ภายในระยะเวลาตามข้อ ๗ และจะต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรเพื่อ
การปฏิรูปที่ดิน ตามที่ ส.ป.ก. จัดให้มีขึ้น
ข้อ ๑๐ เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน
ต้องใช้ดินตามโครงการปฏิรูปที่ดิน และตามแผนการผลิตและการจำหน่ายที่คณะกรรมการกำหนด แต่
ถ้าแผนการผลิตและการจำหน่ายยังมิได้กำหนด ก็ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของปฏิรูปที่ดินจังหวัดรวมทั้ง
ให้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีแนวแสดงแนวเขตที่ดินซึ่งสามารถชี้แนวเขตได้แน่นอน และคงทนทั้งไม่
เป็นการก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ครอบครองที่ดินข้างเคียง
(๒) จัดให้มีการอนุรักษ์ดินและน้ำตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่
(๓) จัดให้มีการปรับปรุงบำรุงดินตามคำแนะนำของพนักงานเจ้าหน้าที่
(๔) ไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการทำให้ที่ดินเสื่อมสภาพความเหมาะสมแก่การ
ประกอบเกษตรกรรม
(๕) แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบโดยไม่ชักช้าเมื่อมีภัยใด ๆ เกิดขึ้นอันก่อนให้เกิด
ความเสียหายแก่ที่ดิน จนถึงขนาดทำให้ที่ดินเสื่อมสภาพความเหมาะสมที่จะใช้ในการประกอบเกษตร
กรรม
(๖) ทำการบำรุงรักษาสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามระเบียบที่
คณะกรรมการกำหนด
(๗) ไม่ดำเนินการใด ๆ ในทางที่ก่อให้เกิดปัญหาหรืออุปสรรค หรือความเสียหายต่อ
การดำเนินงานตามโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
(๘) ต้องทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองเต็มตามพื้นที่และไม่นำที่ดินนั้นไม่ว่าทั้ง
หมดหรือบางส่วนไปให้บุคคลอื่น ๆ เข้าทำประโยชน์
(๙) ปฏิบัติการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำหนด
ข้อ ๑๑ ให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากที่ดินหรือสิ่ง
สาธารณูปโภคต่าง ๆ ตามโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมชำระค่าเช่า หรือค่าเช่าซื้อหรือค่าชดเชย
หรือค่าตอบแทน หรือค่าบริการอื่นใดตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๑๒ เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานเจ้า
หน้าที่เกี่ยวกับการประกอบเกษตรกรรม หรือกิจการอื่นตามโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ
แผนการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด
ดำเนินการต่อไปตามความในข้อ ๑๔
ข้อ ๑๓ กรณีเกษตรหรือสถาบันเกษตรกรใดประสงค์จะสละสิทธิการเข้าทำ
ประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาต ให้ยื่นคำขอสละสิทธิพร้อมกับคำบอกเลิกสัญญาเช่า หรือสัญญาเช่า
ซื้อหรือสัญญาจัดให้โดยมีค่าชดเชย ณ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดแห่งท้องที่ตามแบบที่กำหนด
ท้ายระเบียบนี้
หมวดที่ ๓
การสั่งให้ออกจากที่ดิน
----------------------------
ข้อ ๑๔ เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรอาจถูกสั่งให้ออกจากที่ดินได้ในกรณีดังต่อ
ไปนี้
(๑) กรณีไม่ปฏิบัติตามความในข้อ ๘ หรือข้อ ๙
(๒) ไม่ชำระค่าเช่าหรือค่าเช่าซื้อ หรือค่าชดเชย หรือค่าตอบแทน หรือค่าบริการใด ๆ
ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
(๓) ไม่ทำประโยชน์ในที่ดินที่จังหวัดให้จนเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนต่อแผนการ
ผลิตและการจำหน่ายผลิตผลเกษตรกรรม
(๔) กระทำการฝ่าฝืนข้อ ๑๐ หรือข้อ ๑๒ หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของคณะ
กรรมการ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ส.ป.ก. หรือผิดสัญญาที่ทำกับ ส.ป.ก. หรือไม่ปฏิบัติตาม
พันธะกรณีที่มีอยู่กับสถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ ส.ป.ก. โดยไม่มีเหตุอัน
ควร หรือประพฤติปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด โดยประการที่แสดงให้เห็นว่าไม่สุจริตหรือแสดงตนเป็น
อุปสรรคต่อการดำเนินงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
เมื่อปฏิรูปที่ดินจังหวัดเห็นว่า มีเหตุดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นให้มีหนังสือเตือนให้
เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าเกษตรกรหรือสถาบัน
เกษตรกรไม่ปฏิบัติตามให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีคำสั่งให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร
พร้อมด้วยบริวารที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนดในคำสั่ง เว้นแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเกษตรกรหรือ
สถาบันเกษตรกรได้โอนการทำประโยชน์ในที่ดินไปยังบุคคลอื่นหือละทิ้งที่ดินไปโดยไม่สามารถหาตัว
ได้พบ หรือปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบในเรื่องที่ได้มีหนังสือเตือนแล้วซ้ำอีก ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด
มีคำสั่งให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรพร้อมด้วยบริวารออกจากที่ดินได้โดยไม่ต้องมีหนังสือเตือนและ
ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดแจ้งคำสั่งนั้นให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรทราบ
ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งคำสั่งตามวรรคสองให้เกษตรกรทราบได้ให้ปิดคำสั่งนั้นไว้
ณ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และที่เปิดเผย
เห็นได้ง่ายในหมู่บ้านแห่งท้องที่ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ แห่งละหนึ่งฉบับ
หากเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรเห็นว่าคำสั่งให้ออกจากที่ดินนั้นไม่เป็นธรรมให้
เกาตรกรหรือสถาบันเกษตรกรนั้นยื่นอุทธรณ์ต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดแห่งท้องที่ภายใน
กำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง หรือวันที่ได้ปิดคำสั่งพร้อมทั้งแสดงหลักฐาน
อ้างอิงประกอบ
ในระหว่างการพิจารณาคำอุทธรณ์ให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่คณะ
กรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดออกคำสั่งให้ออกจากที่ดินยังคงอยู่ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นได้ต่อไป
จนกว่าคณะกรรมการจะมีคำวินิจฉัย
หมวด ๔
การสิ้นสิทธิและผลของการสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน
----------------------------------
ข้อ ๑๕ เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรย่อมสิ้นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขต
ปฏิรูปที่ดิน ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ตาย เลิกสถาบันเกษตรกร หรือสละสิทธิ เว้นแต่จะมีการโอนไปยังบุคคลอื่นโดย
ชอบตามมาตรา ๓๐ วรรคหก หรือมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
พ.ศ.๒๕๑๘
(๒) ขาดคุณสมบัติตามระเบียบคณะกรรมการเกี่ยวกับการคัดเลือกเกษตรกรและ
สถาบันเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในสาระสำคัญดังต่อไปนี้
(ก) สัญชาติไทย
(ข) มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเพียงพอแก่การเลี้ยงชีพอยู่แล้วก่อนดำเนินการ
คัดเลือกเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน
(๓) สิ้นสิทธิไปตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อตกลง หรือข้อสัญญาในการกู้ยืมเงินจาก
ส.ป.ก. หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือสถาบันการเงินอื่นตามโครงการปฏิรูปที่
ดินเพื่อเกษตรรม
(๔) สิ้นสิทธิไปตามสัญญาเช่า หรือสัญญาเช่าซื้อที่ดินหรือสัญญาจัดให้โดยมีค่าชด
เชยที่ทำกับ ส.ป.ก.
(๕) ถูกสั่งให้ออกจากที่ดินที่ได้รับจากการปฏิรูปที่ดินตามความในข้อ ๑๔ และไม่มี
การอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือมีการอุทธรณ์ แต่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยตามคำสั่งเดิม
ข้อ ๑๖ ในกรณีเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรใดสิ้นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน
ตามข้อ ๑๕ ให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายมีหนังสือเรียกสัญญาเช่าหรือสัญญาเช่าซื้อหรือ
สัญญาจัดให้โดยมีค่าชดเชยหรือหนังสืออนุญาตคืนให้แก่ ส.ป.ก. ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันได้
รับหนังสือ หากไม่สามารถเรียกเอกสารดังกล่าวคืนภายในระยะเวลาที่กำหนดไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุใดก็
ตาม ให้จัดทำเป็นประกาศของทางราชการเพื่อแสดงให้ทราบว่าเอกสารดังกล่าวเป็นอันเลิกใช้ตั้งแต่วันที่
เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินนั้น โดยปิดประกาศดังกล่าวไว้ ณ
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และที่เปิดเผยเห็นได้
ง่ายในหมู่บ้านแห่งท้องที่ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ แห่งละหนึ่งฉบับ มีกำหนดสามสิบวัน
เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายดำเนินการเกี่ยว
กับการจัดการทรัพย์สินหรือหนี้สินของเกษตรหรือสถาบันเกษตรกรอันเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ทางราชการ
ได้ลงทุนไปหรือให้กู้ยืมตามสัญญา ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
หมวดที่ ๕
-------------
ข้อ ๑๗ การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในท้องที่ใดมีเหตุจำเป็นยังไม่อาจปฏิบัติ
ตามระเบียบนี้ ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดโดยความเห็นชอบของเลขาธิการมีอำนาจพิจารณา
ประกาศยกเว้นการใช้ระเบียบนี้ทั้งหมด หรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้วรายงานให้คณะ
กรรมการทราบโดยไม่ชักช้า
เมื่อมีเหตุจำเป็นดังกล่าวในวรรคหนึ่งได้สิ้นสุดลง ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน
จังหวัดโดยความเห็นชอบของเลขาธิการนำความในระเบียบนี้มาใช้บังคับต่อไป
ข้อ ๑๘ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบนี้ หรือกรณีที่ผู้ถูกสั่ง
ให้ออกจากที่ดินอุทธรณ์ตามข้อ ๑๔ วรรคสี่ หรือกรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีปัญหา
เกี่ยวกับการสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามความในข้อ ๑๕ ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน
จังหวัดดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยละเอียดแล้วรวบรวมเรื่องพร้อมเสนอความเห็นไปยัง ส.ป.ก.
เพื่อพิจารณา และทำความเห็นเสนอคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยต่อไป ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิแก่ผู้อุทธรณ์
ในการมาชี้แจงแสดงหลักฐานเพิ่มเติมแก่คณะกรรมการเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยได้ภายใน
ระยะเวลาที่คณะกรรมการจะกำหนด
ข้อ ๑๙ ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในรายละเอียดได้ ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัด
หรือแย้งกับระเบียบนี้
ข้อ ๒๐ ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดรายงานผลการดำเนินการและความก้าวหน้าของงาน
ตลอดทั้งปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ไปยังคณะกรรมเพื่อทราบทุก ๆ ๔ เดือน
ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๓
พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
[รก.๒๕๓๓/๑๑๕/๑พ/๑ กรกฎาคม ๒๕๓๓]
เพ็ญพร/พิมพ์/แก้ไข
๑๓/๐๙/๔๕
A+B (C)