ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2550
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2550
โดยที่สมควรให้มีระเบียบกำหนดมาตรการและวิธีการประสานงานระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ การป้องกันและปราบปรามการละเมิดกฎหมายและการแก้ไขเยียวยาความเสียหายเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๘) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๐”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้
หมวด ๑
ข้อความทั่วไป
ข้อ ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
"สิ่งแวดล้อม" หมายความว่า หมายความว่า สิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่อยู่รอบตัว มนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น
"มลพิษ" หมายความว่า ของเสีย วัตถุอันตราย และมลสารอื่น ๆ รวมทั้ง กาก ตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้นที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม ตามธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิด หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือภาวะที่เป็นพิษภัย อันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ และให้หมายความรวมถึง รังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุรำคาญอื่น ๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วย
"แหล่งกำเนิดมลพิษ" หมายความว่า ชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม อาคาร สิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะ สถานที่ประกอบกิจการใด ๆ หรือสิ่งอื่นใด ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของมลพิษ
"กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม" หมายความว่า กฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมตามที่คณะกรรมการว่าด้วยการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ประกาศกำหนด
"องค์กรเอกชน" หมายความว่า องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ ธรรมชาติตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือองค์กรเอกชนที่มี วัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรืออนุรักษ์ธรรมชาติที่ได้จดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชน ตามกฎหมายอื่น
"สำนักงานคุ้มครองสิทธิ" หมายความว่า สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด
"หน่วยงานของรัฐ" หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่อ อย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้น โดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา องค์การมหาชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ
"ผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย" หมายความว่า
(๑) เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดการรั่วไหล หรือแพร่กระจายของมลพิษอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพ อนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย
(๒) ผู้ที่ก่อให้เกิดการรั่วไหล แพร่กระจายของมลพิษ หรือก่อให้เกิดภาวะมลพิษหรือ โดยประการอื่นอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัยหรือทรัพย์สิน ของผู้อื่น ทั้งนี้ ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ก่อให้เกิดความ เสียหายหรือไม่ก็ตาม
(๓) ผู้ที่กระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็น การทำลาย ทำให้สูญหาย หรือเสียหาย แก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดิน
"ผู้เสียหาย" หมายความว่า ผู้ได้รับความเสียหายไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากการกระทำ ความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และให้หมายความรวมถึงผู้ที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้น ต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย โดยผลของสารที่สะสมอยู่ในร่างกายซึ่งต้องใช้เวลาในการแสดง อาการ และความเสียหายนั้นสามารถพิสูจน์ได้ตามหลักวิชาการ
หมวด ๒
คณะกรรมการว่าด้วยการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
ข้อ ๕ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการว่าด้วยการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” เรียกโดยย่อว่า “กป.วล.” ประกอบด้วย
(๑) รองอัยการสูงสุดซึ่งได้รับ มอบหมายจากอัยการสูงสุด |
เป็นประธานกรรมการ |
(๒) อธิบดีอัยการฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย | เป็นรองประธานกรรมการ |
(๓) ผู้แทนกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี | เป็นกรรมการ |
(๔) ผู้แทนกรมการปกครอง | เป็นกรรมการ |
(๕) ผู้แทนกรมชลประทาน | เป็นกรรมการ |
(๖) ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม | เป็นกรรมการ |
(๗) ผู้แทนกรมอนามัย | เป็นกรรมการ |
(๘) ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช | เป็นกรรมการ |
(๙) ผู้แทนกรุงเทพมหานคร | เป็นกรรมการ |
(๑๐) ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ | เป็นกรรมการ |
(๑๑) ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
เป็นกรรมการ |
(๑๒) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งจำนวนสองคน |
เป็นกรรมการ |
(๑๓) ผู้แทนองค์กรเอกชนซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งจำนวนสองคน |
เป็นกรรมการ |
(๑๔) ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษซึ่งได้รับมอบหมาย จากอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ |
เป็นกรรมการและเลขานุการ |
(๑๕) ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษซึ่งได้รับมอบหมาย จากอธิบดีกรมควบคุมมลพิษจำนวนสองคน |
เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
ข้อ ๖ กรรมการผู้แทนส่วนราชการตามข้อ ๕ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) และ (๑๑) จะต้องมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า
ข้อ ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ ๕ (๑๒) และกรรมการผู้แทนองค์กรเอกชนตาม ข้อ ๕ (๑๓) จะต้องมีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์และมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการ คุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนองค์กรเอกชน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้แทนองค์กรเอกชนพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระให้แต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หรือกรรมการผู้แทนองค์กรเอกชน แล้วแต่กรณี เหลือไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่แต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้
ข้อ ๘ การประชุมของ กป.วล. ต้องมีกรรมการมาประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมของ กป.วล. ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทน ในกรณีที่ไม่มีรองประธานกรรมการหรือมีแต่ไม่อาจ ปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ ๙ กป.วล. มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อแก้ไขเรื่องร้องทุกข์ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
(๒) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีปกครอง
(๓) สนับสนุนสำนักงานคุ้มครองสิทธิ ในการตรวจสอบเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนองค์กรเอกชนในการดำเนินงานตามข้อ ๑๔
(๔) เสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบหรือประกาศ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(๕) เร่งรัดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้องกับคดีสิ่งแวดล้อม
(๖) พิจารณาและกำหนดมาตรการเพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และติดตามให้มีการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว
(๗) ให้การสนับสนุนการวิเคราะห์และประเมินความเสียหายในทางวิชาการเพื่อกำหนดมูลค่าความเสียหาย
(๘) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามที่ กป.วล. มอบหมาย
(๙) เรียกให้หน่วยงานของรัฐ หรือขอให้องค์กรเอกชน ส่งเอกสารหรือข้อมูล หรือขอให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานหรือองค์กรดังกล่าวมาให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเ รื่องร้องทุกข์ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
(๑๐) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือ นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ข้อ ๑๐ ให้มีศูนย์ข้อมูลเป็นหน่วยงานภายในกรมควบคุมมลพิษ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ กป.วล. และให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบในงานธุรการ งานวิชาการ งานการประชุม และงานเลขานุการของ กป.วล. คณะอนุกรรมการและคณะทำงาน
(๒) รวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการร้องทุกข์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน ประชาชน หรือสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ
(๓) วิเคราะห์และประเมินผลการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
(๔) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชน เพื่อรวบรวมและให้บริการข้อมูลทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับการร้องทุกข์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
(๕) ติดตามเร่งรัดการปฏิบัติการของหน่วยงานของรัฐที่ได้แจ้งหรือรายงานต่อศูนย์ข้อมูลตามระเบียบนี้ แล้วรายงาน กป.วล. เพื่อทราบหรือพิจารณาต่อไป
(๖) ติดตามเร่งรัดการปฏิบัติการของหน่วยงานของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งที่ได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบนี้ แล้วรายงาน กป.วล. เพื่อทราบหรือพิจารณาต่อไป
(๗) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
หมวด ๓
การประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชน
ส่วนที่ ๑
การประสานงานเพื่อแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สาธารณะ
ข้อ ๑๑ ในกรณีหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือได้รับแจ้งจากองค์กรเอกชนหรือบุคคลใดว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นเหตุให้เกิดภยันตรายต่อสาธารณชนอันเนื่องมาจากภาวะมลพิษที่เกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองเพื่อระงับเหตุแห่งความเสียหายตามอำนาจหน้าที่โดยทันที เช่น การสั่งปิดหรือพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือการสั่งให้หยุดใช้ หรือทำประโยชน์ด้วยประการใด ๆ เพื่อระงับเหตุแห่งความเสียหายนั้น และหากมีความจำเป็นจะต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานและให้แจ้งให้ศูนย์ข้อมูลทราบโดยไม่ชักช้าน กรณีที่องค์กรเอกชนหรือบุคคลใด พบว่าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งจะก่อให้เกิดความ เสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ให้แจ้งศูนย์ข้อมูลทราบเพื่อพิจารณาหามาตรการในการระงับเหตุแห่งความเสียหายเพิ่มเติมในกรณีที่ศูนย์ข้อมูลเห็นว่า มาตรการที่ใช้เพื่อการระงับเหตุแห่งความเสียหายของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามวรรคหนึ่งไม่เพียงพอ ให้ศูนย์ข้อมูลเสนอมาตรการให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการตามที่ศูนย์ข้อมูลเสนอ ให้ศูนย์ข้อมูลรายงานให้รัฐมนตรีผู้กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และกป.วล. ทราบโดยไม่ชักช้า
ข้อ ๑๒ ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือภยันตรายต่อสาธารณชน อันเนื่องมาจากภาวะมลพิษ ที่เกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษในเขตกรุงเทพมหานคร ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการ ส่วนท้องถิ่น เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีในการสั่งการภายในเขตจังหวัด ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕แล้ว ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี ติดตามดูแลให้บุคคลที่ เกี่ยวข้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีโดยเคร่งครัดและรายงานให้ศูนย์ข้อมูลทราบโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่เหตุฉุกเฉินหรือภยันตรายดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายจังหวัดคาบเกี่ยวกัน ให้ กป.วล. รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบเพื่อให้พิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไปให้ศูนย์ข้อมูลมีหน้าที่ติดตาม และรายงานผลการปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีที่สั่งการตามวรรคหนึ่งให้ กป.วล. ทราบ
ข้อ ๑๓ ในกรณีบุคคลที่เกี่ยวข้องฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีตามข้อ ๑๒ ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประสานงานกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแล้วแต่กรณี ในเขตจังหวัดอื่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานงานกับผู้บังคับการตำรวจภูธรประจำจังหวัด เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลซึ่งฝ่าฝืนคำสั่งนั้น และรายงานให้ศูนย์ข้อมูลทราบโดยไม่ชักช้า และให้ศูนย์ข้อมูลรายงานผลการดำเนินคดีให้ กป.วล. ทราบทุกระยะ
ข้อ ๑๔ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อม หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอาจขอความร่วมมือจากผู้เสียหาย องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดเพื่อ
(๑) สืบเสาะหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
(๒) ค้นหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอื่น ๆ
ข้อ ๑๕ ให้โรงพยาบาลที่เป็นหน่วยงานของรัฐหรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล รักษาพยาบาลประชาชนที่ได้รับอันตรายจากภาวะมลพิษที่เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยมีมาตรฐานในการบริการไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
ส่วนที่ ๒
การประนอมข้อพิพาท
ข้อ ๑๖ หากคู่กรณีที่เกี่ยวข้องประสงค์จะตกลงระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นด้วยวิธีประนอม ข้อพิพาท ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการประนอมข้อพิพาท
หมวด ๔
การประสานงานคดี
ส่วนที่ ๑
การประสานงานในชั้นสอบสวน
ข้อ ๑๗ เพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดติดตามการดำเนินคดีในชั้นสอบสวนคดีอาญาให้เป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อมีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมขึ้น ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และไม่ปรากฏผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษตามกฎหมายภายในเจ็ดวัน ให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการกล่าวโทษตามกฎหมายโดยไม่ชักช้า
(๒) เพื่อประโยชน์ในการดำ เนินคดีอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนอาจขอคำแนะนำหรือคำปรึกษาขอรับทราบข้อมูลข่าวสาร หรือขอให้จัดส่งสิ่งอื่นใดที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดีจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือบุคคลอื่นใดได้ในกรณีจำเป็น พนักงานสอบสวนจะขอคำปรึกษาจากพนักงานอัยการ เพื่อให้ความเห็นหรือคำแนะนำตามที่เห็นสมควรได้
(๓) เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ รายงานข้อเท็จจริงให้ศูนย์ข้อมูลทราบเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่ชักช้า เว้นแต่ข้อเท็จจริงอันเป็นพยานหลักฐานแห่งคดีในสำนวนที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล หรือข้อเท็จจริงที่หากเปิดเผยแล้วอาจทำให้เสื่อมประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ในกรณีที่องค์กรเอกชนหรือบุคคลใดเป็นผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรายงานให้ศูนย์ข้อมูลทราบเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่ชักช้า
(๔) ให้ศูนย์ข้อมูลติดตามผลการดำเนินคดีอาญาในชั้นสอบสวนอย่างใกล้ชิดหากปรากฏว่า พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไม่ดำเนินการในเวลาอันควร ให้ศูนย์ข้อมูลรายงานต่อ กป.วล. เพื่อติดตามผลต่อไป
ข้อ ๑๘ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีในกรณีที่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าหน่วยงานใดของรัฐในจังหวัดมีหน้าที่ต้องประสานงานกับพนักงานสอบสวน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดและคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้นให้เป็นที่สุด หากการวินิจฉัยชี้ขาดตามวรรคหนึ่งไม่สามารถกระทำได้ เพราะเหตุที่ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ชี้ขาดภายในระยะเวลาอันสมควรหรือเพราะเหตุอื่นใดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแจ้งให้ศูนย์ข้อมูลทราบ เพื่อให้ กป.วล. วินิจฉัยชี้ขาดโดยไม่ชักช้า และคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้นให้เป็นที่สุด
ส่วนที่ ๒
การประสานงานคดีอาญาชั้นพนักงานอัยการ
ข้อ ๑๙ ในการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เมื่อพนักงานอัยการได้รับความเห็นและสำนวนจากพนักงานสอบสวนแล้ว หากพนักงานอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม หรือส่งพยานคนใดมาให้ซักถามตามมาตรา ๑๔๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนประสานงานกับพนักงานอัยการอย่างใกล้ชิด
ข้อ ๒๐ ในกรณีที่พนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ยังเรียกหรือจับตัวไม่ได้ตามมาตรา ๑๔๑ วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และได้แจ้งให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อจัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหามาภายในกำหนดอายุความแล้วให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดดำเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีต่อไปโดยเร็ว
ข้อ ๒๑ ในกรณีที่พนักงานอัยการผู้พิจารณาสำนวนมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ สอบสวนผู้ต้องหาในข้อหาอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม หรือแนะนำให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวเพิ่มเติมให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดดำเนินคดีตามคำสั่งของพนักงานอัยการโดยเร็ว
ข้อ ๒๒ ให้พนักงานอัยการประสานงาน ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา แนะนำ ชี้แจงข้อบกพร่อง วิธีป้องกันแก้ไข ตลอดจนให้บริการด้านกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแก่พนักงานสอบสวน หน่วยงานของรัฐ เจ้าพนักงานท้องถิ่น องค์กรเอกชน และประชาชนในจังหวัด
ข้อ ๒๓ กรณีมีการเดินเผชิญสืบในการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ให้พนักงานสอบสวนประสานกับผู้เสียหายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกแก่พนักงานอัยการ และศาลในการเดินเผชิญสืบ
ข้อ ๒๔ ในกรณีที่ผู้เสียหาย ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของผู้เสียหาย หน่วยงานของรัฐ เจ้าพนักงานท้องถิ่น องค์กรเอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องขอทราบ ผลการดำเนินคดีในศาลอันถึงที่สุดหรือคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีพร้อมด้วยเหตุผลของคำสั่งดังกล่าวจากพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการดำเนินการให้ตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดโดยมิชักช้าในกรณีที่การดำเนินคดีในศาลยังไม่ถึงที่สุด หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการเปิดเผยรายละเอียดหรือข้อมูลเท่าที่เห็นว่าไม่เป็นการเสียหายแก่การดำเนินคดีในอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ
ข้อ ๒๕ ในการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เมื่อคดีถึงที่สุดให้พนักงานอัยการแจ้งผลคดีแก่ศูนย์ข้อมูลโดยเร็ว และให้ศูนย์ข้อมูลแจ้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีทราบต่อไป
ส่วนที่ ๓
การประสานงานคดีแพ่งระหว่างหน่วยงานของรัฐ
ข้อ ๒๖ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีแพ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่คุ้มครอง ส่งเสริม อนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายที่ได้รับความเสียหาย รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับค่าเสียหาย จำนวนผู้เสียหายและพยานหลักฐานอื่นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบถึงความเสียหาย ถ้าหน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเสียหายไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นเรื่องต่อ กป.วล. ผ่านศูนย์ข้อมูลเพื่อขอขยายเวลา ทั้งนี้ กป.วล. จะขยายเวลาให้ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน
ข้อ ๒๗ การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดังกล่าวตามข้อ ๒๖ ให้หน่วยงาน ของรัฐที่ได้รับความเสียหายเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมพิสูจน์ค้นหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับค่าเสียหาย จำนวนผู้เสียหาย มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น และพยานหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานงานกับสำนักงานอัยการสูงสุดในการวางรูปคดี
ข้อ ๒๘ การพิสูจน์ความเสียหายตามข้อ ๒๗ ต้องดำเนินการโดยมิชักช้า ในกรณีที่ความเสียหายหรือผลกระทบใดไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้โดยแน่ชัด ให้ดำเนินการพิสูจน์ความเสียหาย โดยอ้างอิงการพิสูจน์ทางวิชาการ หรือรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม
ข้อ ๒๙ ในการรวบรวมข้อเท็จจริงตามข้อ ๒๖ หากมีกรณีจำเป็นให้เชิญผู้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือประชาชนผู้ได้รับความเสียหายเข้าชี้แจงหรือให้ข้อมูลด้วย
ข้อ ๓๐ ให้หน่วยงานของรัฐตามข้อ ๒๖ แจ้งผลให้ศูนย์ข้อมูลทราบภายในสิบวันนับแต่วันที่รวบรวมข้อเท็จจริง ค่าเสียหายและพยานหลักฐานแล้วเสร็จ และให้ศูนย์ข้อมูลติดตามผลการ ดำเนินคดีอันเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพื่อรายงานต่อ กป.วล. ทุกระยะด้วย
ข้อ ๓๑ กรณีที่การพิสูจน์ค่าเสียหายมีค่าใช้จ่าย ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของหน่วยงานของรัฐตามข้อ ๒๖ หากเงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐดังกล่าวไม่เพียงพอ ให้ใช้เงินจากกองทุน สิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือเงินบริจาคจากองค์กรการกุศล
ข้อ ๓๒ ในกรณีที่มีหน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหายหลายหน่วยงานในเขตท้องที่เดียวกันหรือในหลายท้องที่ ให้ทุกหน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเสียหายส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่ไม่มีหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดรับเป็นตัวความ ให้ศูนย์ข้อมูลนำเรื่องเสนอ กป.วล. เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่โดยไม่ชักช้า
ข้อ ๓๓ เมื่อหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งและจำนวนมูลค่าความเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนได้แล้ว ให้หน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเสียหายรีบส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า
ส่วนที่ ๔
การดำเนินคดีและการบังคับคดี
ข้อ ๓๔ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเสียหายฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย นอกจากจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือค่าเสียหายอันจะเรียกร้องได้ตามกฎหมายเฉพาะแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวดำเนินการพิสูจน์ถึงค่าเสียหายดังต่อไปนี้ประกอบด้วย คือ
(๑) ค่าเสียหายที่รัฐพึงได้รับจากสิ่งแวดล้อมที่เสียหาย
(๒) ค่าเสียหายที่เกิดจากการใช้งบประมาณของรัฐหรือจากแหล่งเงินทุนอื่นเพื่อใช้ในการ บำบัดฟื้นฟูและบูรณะความเสียหายของสิ่งแวดล้อมให้คืนกลับสู่สภาพเดิม
(๓) ค่าเสียโอกาสในการนำงบประมาณหรือเงินทุนที่ใช้ตาม (๒) ไปลงทุนในโครงการอื่นของรัฐเพื่อสังคมโดยรวม
(๔) ค่าเสียหายที่รัฐต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการดูแลสุขภาพ ร่างกายและอนามัยของประชาชน อันอาจเกิดขึ้นในอนาคต
(๕) ค่าเสียหายต่อเนื่องอื่น ๆ อันพึงจะเกิดในอนาคต
ข้อ ๓๕ ในการดำเนินคดี หากหน่วยงานของรัฐที่เป็นตัวความพิจารณาเห็นว่ามีเหตุจำเป็น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายหรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์หรือสิทธิของผู้ได้รับความเสียหาย หรือมีเหตุจำเป็นอื่น ให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวรีบแจ้งพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาใช้วิธีการคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา หรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ข้อ ๓๖ เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐผู้เป็นตัวความรายงานผลคดีไปยังศูนย์ข้อมูลโดยเร็วและเร่งรัดติดตามบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ถึงที่สุด และให้รายงานผลการบังคังคดีไปยังคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงการคลังบ และรายงานสำนักงานอัยการสูงสุดทราบเป็นระยะ
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐผู้เป็นตัวความดำเนินการติดตามบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาล่าช้าเกินสมควร ให้ศูนย์ข้อมูลรายงาน กป.วล. เพื่อพิจารณาต่อไป
ข้อ ๓๗ เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีตามคำ พิพากษาของศาล สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นตัวความขอความร่วมมือ จากผู้อำนวยการเขตหรือหัวหน้าสำนักงานเขตสาขา ในเขตจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครให้ขอความร่วมมือจากนายอำเภอหรือ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เพื่อสืบเสาะหาทรัพย์สินของผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย แล้วแจ้งพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป
ข้อ ๓๘ ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องวางระเบียบหรือออกคำสั่งของหน่วยงานหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อปฏิบัติการตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี