คลังสำหรับ 29/04/2016

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5481/2548

พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 118 บัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 117? ต้องระวางโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท" ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย ฐานนี้จะต้องถูกลงโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท มิได้มีข้อจำกัดว่าถ้ามีผู้ร่วมกระทำความผิดหลายคนให้ปรับรวมกันตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใด ซึ่ง ป.อ. มาตรา 17 บัญญัติว่า "บทบัญญัติในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้ใช้ในกรณีความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น" เมื่อ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตามรายตัวบุคคลตาม ป.อ. มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลจะพิพากษาให้ปรับผู้กระทำความผิดหลายคนในความผิดอันเดียวกัน ในกรณีเดียวกัน ให้ศาลลงโทษปรับเรียงตามรายตัวบุคคล" ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตามรายตัวบุคคลชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6770/2551

จำเลยก่อสร้างเขื่อนเรียงหินล่วงล้ำเข้าไปในทะเลภายในน่านน้ำไทยตั้งแต่ปี 2546 เจ้าท่ามีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนเขื่อนเรียงหินออกจากทะเลให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 30 วัน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 118 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 เมื่อครบกำหนดจำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและเป็นความผิดต่อเนื่องจนถึงวันฟ้อง จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7537/2551

โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า พื้นที่น่านน้ำทะเลไทยที่จำเลยปลูกสร้าง ล่วงล้ำเข้าไปอันเป็นสถานที่เกิดการกระทำความผิดนั้น อยู่ในบริเวณพื้นที่น่านน้ำทะเลไทย ซึ่งพอสมควรที่จะทำให้จำเลย เข้าใจข้อหาได้ดี และครบองค์ประกอบ ความผิดฐานปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใด ล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำทะเล ภายในน่านน้ำไทย ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 ประกอบ ป.วิ.อ. 158 (5) หาจำต้องบรรยายเพิ่มเติมว่าปลูกสร้างห่างจากฝั่งเพียงใดไม่ ฟ้องของโจทก์ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11414/2556

จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลอันมีฐานะเป็นนิติบุคคล และตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 48 เตรส กำหนดให้นายกเทศมนตรีรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ในฐานะนายกเทศมนตรีเป็นผู้แทนของเทศบาลจำเลยที่ 1 ความประสงค์ของเทศบาลจำเลยที่ 1 ย่อมแสดงออกโดยผ่านจำเลยที่ 2 ดังนั้น เมื่อเทศบาลจำเลยที่ 1 กระทำความผิดโดยเกิดจากการแสดงออกของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าการกระทำอันเป็นความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ด้วยและไม่อาจปัดความผิดไปให้ผู้อื่นได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3073/2545

จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ห้ามเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบน้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืดในเขตจังหวัดเท่านั้น ความผิดดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น การที่จำเลยใช้เครื่องตีน้ำในบ่อกุ้งหาทำให้เครื่องตีน้ำดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดอันจะพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ไม่

การริบทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด แต่ปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ห้ามเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบน้ำเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีเท่านั้น ความผิดดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น การที่จำเลยใช้เครื่องตีน้ำในบ่อกุ้งหาทำให้เครื่องตีน้ำดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้แต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2544

จำเลยกระทำผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีคำสั่งให้ระงับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่กำหนดโดยเด็ดขาดและก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายจากภาวะมลพิษแต่ชุดเกียร์ปั่นน้ำชุดแกนเหล็กติดใบพัดใช้ตีน้ำทุ่นรองแกนเหล็กล้วนเป็นเครื่องมือที่ใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้ง เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพทั่วไป มิใช่เครื่องมือที่มีไว้จะเป็นความผิดในตัวโดยตรงซึ่งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์ไว้โดยเฉพาะจึงต้องอาศัยบทบัญญัติการริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะริบหรือไม่ก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4707/2550

คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นคำสั่งที่ออกตามคำสั่งที่ได้รับมอบอำนาจจากนายรัฐมนตรีตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2541 ทั้งสองคำสั่งมีใจความสำคัญสอดคล้องต้องกันว่า การเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ เป็นเหตุให้เกิดภาวะมลพิษทั้งทางน้ำและในดิน…ฯลฯ เกิดภาวะขาดความสมดุลตามธรรมชาติผลตอบแทนที่ได้รับจากการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดไม่คุ้มกับความเสียหายต่อทรัพยากร จึงให้ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืด และผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ตามคำสั่งดังกล่าวแม้ไม่ได้ให้คำนิยามหรือให้ความหมายว่าการเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำ คือ ความเค็มอัตราส่วนเท่าใด แต่ตามข้อเท็จจริงย่อมเป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่า คือ การเลี้ยงกุ้งกุลาดำในน้ำซึ่งนำน้ำทะเลพอประมาณมาเติมผสมลงในน้ำจืดโดยกุ้งกุลาดำมีชีวิตและเจริญเติบโตได้ ซึ่งจำเลยก็เข้าใจความหมายดังกล่าวดี จึงนำสืบต่อสู้ไว้ตรงประเด็นว่า ช่วงวันเวลาเกิดเหตุตามคำฟ้องจำเลยไม่ได้นำน้ำทะเลมาเติมผสมลงในน้ำในบ่อที่ใช้เลี้ยงกุ้งกุลาดำของจำเลยแต่อย่างใด คำสั่งของนายกรัฐมนตรีและคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากเป็นการสมควรกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ประกอบกับบทบัญญัติบางมาตราตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และไม่เหมาะสมกับการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้การบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง