กฎกระทรวง กำหนดอัตราค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกเก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล พ.ศ. 2547

กฎกระทรวง

กำหนดอัตราค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล

และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกเก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล

พ.ศ. ๒๕๔๗[๑]

                  

                          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ (๒/๑) และ (๒/๒) แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติน้ำบาดาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๖ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยคำแนะนำของคณะกรรมการน้ำบาดาลออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

                          ข้อ ๑  ภายใต้บังคับข้อ ๔ ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครปฐม ให้กำหนดอัตราค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ดังนี้

(๑) ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ อัตราลูกบาศก์เมตรละหนึ่งบาท

(๒) ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ อัตราลูกบาศก์เมตรละสองบาท

(๓) ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ อัตราลูกบาศก์เมตรละสามบาท

(๔) ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ อัตราลูกบาศก์เมตรละสี่บาท

(๕) ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ อัตราลูกบาศก์เมตรละห้าบาท

(๖) ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ อัตราลูกบาศก์เมตรละหกบาท

(๗) ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ อัตราลูกบาศก์เมตรละเจ็ดบาท

(๘) ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ อัตราลูกบาศก์เมตรละแปดบาท

(๙) ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นต้นไป อัตราลูกบาศก์เมตรละแปดบาทห้าสิบสตางค์

ข้อ ๒  การคำนวณค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลให้คำนวณตามปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ ดังนี้

(๑) ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำ ให้ชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลตามปริมาณน้ำบาดาลที่วัดได้จากเครื่องวัดปริมาณน้ำนั้น

                            (๒) ในกรณีไม่อาจคำนวณปริมาณน้ำบาดาลได้จากเครื่องวัดปริมาณน้ำ เพราะผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลไม่ได้ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำหรือด้วยเหตุอื่นใด ให้ชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลตามปริมาณน้ำบาดาลสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล โดยคำนวณตามวันที่ไม่อาจคำนวณปริมาณน้ำบาดาลได้ แต่ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลได้ใช้น้ำบาดาลสูงกว่าปริมาณน้ำบาดาลสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินปริมาณน้ำบาดาลเพิ่มขึ้น เพื่อใช้คำนวณค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลได้ และผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลต้องชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลตามปริมาณน้ำบาดาลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินจนกว่าจะได้ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น

                          ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินปริมาณน้ำบาดาลตาม (๒) ย้อนหลังไปก่อนเวลาชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลตามข้อ ๓ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลส่วนที่เพิ่มขึ้นสำหรับงวดก่อน ตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กำหนด

ข้อ ๓  ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลต้องชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลปีละ ๔ งวด ดังนี้

(๑) งวดที่ ๑ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม

(๒) งวดที่ ๒ ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน

(๓) งวดที่ ๓ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน

(๔) งวดที่ ๔ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม

                          ให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลในแต่ละงวดให้ครบถ้วนต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันเริ่มงวดถัดไป โดยจะชำระเป็นเงินสดหรือโดยเช็คขีดคร่อมสั่งจ่ายกรมทรัพยากรน้ำบาดาล หรือชำระโดยส่งทางไปรษณีย์โดยเช็คขีดคร่อมสั่งจ่ายกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็ได้

                         ข้อ ๔  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลมิได้ชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๓ สำหรับงวดใด ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลดังกล่าวมีหน้าที่ต้อง ชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลสำหรับงวดนั้นในอัตราเป็นจำนวนเท่าของอัตราค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลตามข้อ ๑  ทั้งนี้ โดยคำนวณตามปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ในงวดที่ค้างชำระหรือมิได้ชำระภายในกำหนดเวลา ดังนี้

(๑) ในอัตราหนึ่งจุดหนึ่งเท่า กรณีชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลภายในสามสิบวัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๓

(๒) ในอัตราหนึ่งจุดสองเท่า กรณีชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลเกินกว่าสามสิบวันแต่ไม่เกินหกสิบวัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๓

(๓) ในอัตราหนึ่งจุดสามเท่า กรณีชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลเกินกว่าหกสิบวันแต่ไม่เกินเก้าสิบวัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๓

(๔) ในอัตราสองเท่า กรณีชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลเกินกว่าเก้าสิบวัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๓

                          ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลส่วนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินเพิ่มขึ้นตามข้อ ๒ (๒) และผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลได้ชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

ข้อ ๕  ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลต้องชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลพร้อมกับการชำระค่าใช้น้ำบาดาล หรือภายในระยะเวลาตามข้อ ๓ ในกรณีที่ได้รับยกเว้นค่าใช้น้ำบาดาล

ข้อ ๖   กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นไป

ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

สุวิทย์  คุณกิตติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดอัตราค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลและหลักเกณฑ์เรียกเก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลจากผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล และโดยที่มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติน้ำบาดาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกเก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

ศุภชัย/พิมพ์

๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๗

อมราลักษณ์/พัชรินทร์/ตรวจ

๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๗

นันทพล/ปรับปรุง

๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

ปริญสินีย์/ปรับปรุง

๒๒ เมษายน ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๔๙ ก/หน้า ๔/๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๗