ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2521) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับการใช้น้ำบาดาลแบบอนุรักษ์ (ฉบับ Update ล่าสุด)

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม

ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๒๑)

ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการ

สำหรับการใช้น้ำบาดาลแบบอนุรักษ์[๑]

                  

                      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ (๑) แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคำแนะนำของคณะกรรมการน้ำบาดาล ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับการใช้น้ำบาดาลแบบอนุรักษ์ไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  การนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้

(๑) น้ำจากบ่อน้ำบาดาลต้องนำขึ้นมาใช้โดยวิธีการสูบน้ำ เว้นแต่น้ำบาดาลจะพุขึ้นมาจากบ่อน้ำบาดาลเองโดยธรรมชาติ

(๒) น้ำบาดาลที่พุขึ้นมาจากบ่อน้ำบาดาลเองโดยธรรมชาติให้นำไปใช้โดยวิธีการต่อท่อให้น้ำไหลออกไปจากบ่อน้ำบาดาล

(๓) การนำน้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลมาใช้ไม่ว่าโดยวิธีการใดและเพื่อกิจการใดน้ำบาดาลจะต้องมีปริมาณไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล

(๔) ต้องใช้น้ำบาดาลในกิจการที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลเท่านั้น

                 (๕) การใช้น้ำบาดาลของส่วนราชการหรือองค์การของรัฐที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ ให้ทำความตกลงกับอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีเกี่ยวกับปริมาณน้ำบาดาลที่จะนำขึ้นมาใช้เป็นรายบ่อไป

ข้อ ๒[๒]  การสูบน้ำบาดาล

(๑) บ่อน้ำบาดาลจะต้องมีเครื่องวัดปริมาณน้ำประจำบ่อน้ำบาดาลทุกบ่อ เว้นแต่คณะกรรมการน้ำบาดาลจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

                  (๒) ในกรณีที่ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำ ให้กรอกรายการในรายงานการใช้น้ำบาดาลตามแบบที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนด แล้วส่งรายงานดังกล่าวให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ ภายในวันที่ ๗ ของเดือนถัดไป

                   (๓) บ่อน้ำบาดาลที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๒๐๐ มิลลิเมตรขึ้นไป ต้องมีช่องที่ปากบ่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๒๕ มิลลิเมตร พร้อมฝาปิดเปิดได้ สำหรับตรวจวัดระดับน้ำในบ่อ

                  (๔) ต้องวัดระดับน้ำในบ่อน้ำบาดาล แล้วแจ้งผลการวัดระดับน้ำและส่งตัวอย่างน้ำซึ่งเก็บจากบ่อน้ำบาดาลตามวิธีการที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนด ให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่

ข้อ ๓[๓]  เครื่องวัดปริมาณน้ำ

                 (๑) เครื่องวัดปริมาณน้ำที่ใช้ติดตั้งกับบ่อน้ำบาดาลต้องเป็นมาตรวัดน้ำชนิดขับเคลื่อนตัวเลขต้องระบบแม่เหล็ก ได้รับการรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ และได้รับการทดสอบความเที่ยงตรงจากสถาบันที่กรมทรัพยากรธรณีเห็นชอบ มีลักษณะดังนี้

ก. อ่านปริมาณน้ำสะสมด้วยระบบตัวเลขเป็นลูกบาศก์เมตร

ข. ตัวเลขวัดปริมาณน้ำบนหน้าปัดสามารถบันทึกได้ไม่น้อยกว่าห้าหลักโดยไม่นับทศนิยม และอยู่ในแนวเดียวกัน

ค. ไม่มีปุ่มหรือกลไกอื่นใดที่สามารถปรับตัวเลขได้จากภายนอก

(๒) เครื่องวัดปริมาณน้ำชนิดอื่นต้องเป็นชนิดที่คณะกรรมการน้ำบาดาลเห็นชอบ

ข้อ ๔[๔]  การติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำประจำบ่อน้ำบาดาล

(๑) ต้องติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำประจำบ่อน้ำบาดาลแต่ละบ่อให้อยู่ในแนวราบเหนือระดับผิวดินพอควร ตั้งอยู่ในที่ที่สะดวกและปลอดภัยในการอ่านและตรวจสอบ

(๒) ตำแหน่งของเครื่องวัดปริมาณน้ำต้องอยู่ห่างจากบ่อน้ำบาดาลไม่เกิน ๑๐ เมตร และอยู่หน้าท่อระบายน้ำทิ้ง เครื่องปรับปรุงคุณภาพน้ำ ถังพักน้ำ หรือหอถัง

(๓) ท่อส่งน้ำระหว่างบ่อน้ำบาดาลกับเครื่องวัดปริมาณน้ำต้องอยู่เหนือระดับผิวดินและไม่มีท่อแยกใด ๆ

ข้อ ๕[๕]  การซ่อมหรือเปลี่ยนเครื่องวัดปริมาณน้ำ

                 (๑) เมื่อเครื่องวัดปริมาณน้ำชำรุด หรือทำงานไม่เที่ยงตรง ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ทันที และต้องซ่อมหรือเปลี่ยนเครื่องวัดปริมาณน้ำให้ใช้การได้ ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่แจ้งให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ทราบ

                (๒) ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า เครื่องวัดปริมาณน้ำชำรุดหรือทำงานไม่เที่ยงตรง และได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลทราบแล้ว ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลต้องซ่อมหรือเปลี่ยนเครื่องวัดปริมาณน้ำให้ใช้การได้ ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่

                ข้อ ๖[๖]  เมื่อติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำใหม่ หรือซ่อม หรือเปลี่ยนเครื่องวัดปริมาณน้ำแล้ว ต้องนำพนักงานเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องวัดปริมาณน้ำและการติดตั้ง พร้อมทั้งผนึกตราประทับของกรมทรัพยากรธรณีติดไว้กับเครื่องวัดปริมาณน้ำนั้น

ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๑

เกษม  จาติกวณิช

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

                   ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับใช้น้ำบาดาลแบบอนุรักษ์[๗]

ปาจรีย์/ผู้จัดทำ

๑๗ มกราคม ๒๕๕๐

ปริญสินีย์/ปรับปรุง

๒๖ เมษายน ๒๕๕๖

  • [๑] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๙๕/ตอนที่ ๖๖/หน้า ๑๙๘๓/๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๑
  • [๒] ข้อ ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับใช้น้ำบาดาลแบบอนุรักษ์
  • [๓] ข้อ ๓ เพิ่มโดยประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับใช้น้ำบาดาลแบบอนุรักษ์
  • [๔] ข้อ ๔ เพิ่มโดยประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับใช้น้ำบาดาลแบบอนุรักษ์
  • [๕] ข้อ ๕ เพิ่มโดยประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับใช้น้ำบาดาลแบบอนุรักษ์
  • [๖] ข้อ ๖ เพิ่มโดยประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับใช้น้ำบาดาลแบบอนุรักษ์
  • [๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒/ตอนที่ ๙๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๘/๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๘