กฎกระทรวง ฉบับที่ 19 (พ.ศ. 2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ว่าด้วยการเก็บหาของป่าหวงห้าม
กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๐๗)
ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้
พุทธศักราช ๒๔๘๔
ว่าด้วยการเก็บหาของป่าหวงห้าม
--------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๙ และมาตรา ๕๘ แห่งพระราช
บัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้
(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ และมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช
๒๔๘๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตาม
ความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ว่าด้วยการเก็บหาของป่า
ข้อ ๒ ผู้ใดจะเก็บหาของป่าหวงห้ามในป่าใด ให้ยื่นคำขอโดยใช้แบบ
พิมพ์ของทางราชการตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ของ
ป่านั้น เพื่อพิจารณาและดำเนินการอนุญาต
ในการออกใบอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดอายุใบอนุญาตไว้
แต่มิให้เกินหนึ่งปีนับแต่วันออกใบอนุญาต ระยะเวลาดังกล่าวนี้มิให้ใช้บังคับสำหรับ
การอนุญาตผูกขาด
ข้อ ๓ ใบอนุญาตเก็บหาของป่าหวงห้าม ให้ใช้แบบพิมพ์ตามแบบ
ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ ๔ ผู้รับอนุญาตต้องนำของป่าหวงห้ามที่เก็บหาได้ไปตามแนวทาง
และยังที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจวัดและคำนวณค่าภาค
หลวง
ข้อ ๕ การเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยการตัดไม้ทำฟืนผู้รับอนุญาต
ต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ต้องจัดไม้ที่ตัดให้เป็นกอง ตามแบบที่กรมป่าไม้กำหนด ณ
สถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจวัดและคำนวณค่าภาค
หลวง
(๒) ต้องไม่ทิ้งเศษไม้หรือปลายไม้ที่พอจะทำเป็นฟืนได้ไว้ในป่าโดย
ไม่จำเป็น
(๓) ในกรณีที่มีการกำหนดรอยตราหรือเครื่องหมายประจำต้นไว้ใน
ใบอนุญาต ผู้รับอนุญาตจะทำการตัดไม้ฟืนได้แต่เฉพาะต้นที่มีรอยตราหรือเครื่อง
หมายประจำต้นเช่นนั้นแสดงไว้เท่านั้น
ข้อ ๖ การเผาเอาถ่านไม้ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ถ้าใช้เตาเผาถ่าน ต้องใช้เตาที่มีลักษณะและคุณภาพดีพอแก่การ
เผาเอาถ่านเพื่อมิให้ไม้ต้องสูญเสียไปในการเผาเกินจำเป็น
เตาเผาถ่านใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจเห็นว่ามีลักษณะและคุณภาพ
ไม่ดีพอ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาตจัดทำหรือแก้ไขภายใน
กำหนดเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้น
(๒) ต้องยื่นบัญชีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ออกใบอนุญาตเป็นราย
เดือน และบัญชีนั้นต้องมีรายการดังนี้
(ก) เลขที่ประจำเตา
(ข) ความจุของเตาเป็นลูกบาศก์เมตร
(ค) วันเดือนปีที่นำไม้เผาถ่านเข้าบรรจุเตา
(ง) วันเดือนปีที่นำถ่านไม้ออกจากเตา
(๓) ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตขอเสียค่าภาคหลวงก่อนเผา ผู้รับอนุญาต
ต้องไม่นำไม้เผาถ่านเข้าบรรจุเตาก่อนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจวัด เว้นแต่ได้รับ
อนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่
(๔) ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตขอเสียค่าภาคหลวงเมื่อเผาเป็นถ่านแล้ว ผู้
รับอนุญาตต้องไม่ขนถ่านที่นำออกจากเตาไปที่อื่นก่อนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจวัด
เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ข้อ ๗ การเก็บหารวงผึ้ง ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ต้องไม่ใช้ไฟเผาต้นไม้ที่มีผึ้งจับทำรังอยู่ แต่ยอมให้ใช้ควันรมได้
(๒) ต้นไม้ที่มีผึ้งจับทำรังอยู่แต่เพียงรังเดียวต้องงดเว้นเก็บหารวงผึ้ง
รังนั้น
(๓) ต้นไม้ที่มีผึ้งจับทำรังอยู่เกินหนึ่งรัง ต้องให้เหลือรังผึ้งไว้เป็น
พันธุ์อย่างน้อยรังหนึ่ง ในกรณีที่ต้นไม้นั้นมีผึ้งจับทำรังอยู่เกินยี่สิบรัง ให้เหลือรังผึ้งไว้
เป็นพันธุ์ในอัตราหนึ่งรังต่อทุกจำนวนยี่สิบรังหรือเศษของยี่สิบรัง
ข้อ ๘ การเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยเจาะต้นตะเคียนตาแมวเอาชัน
ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ต้องเจาะแต่เฉพาะต้นที่มีขนาดโตไม่น้อยกว่า ๒๐๐ เซนติเมตร
โดยวัดรอบลำต้นตรงที่สูงจากพื้นดินขึ้นไป ๑๓๐ เซนติเมตร
(๒) ต้องเจาะลำต้นตรงที่สูงจากพื้นดินขึ้นไปไม่เกิน ๖ เมตร
(๓) ต้องเจาะให้หลุมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร
และลึกไม่เกิน ๕ เซนติเมตร แต่ละหลุมต้องเว้นระยะห่างกันไม่น้อยกว่า ๓๐
เซนติเมตร
(๔) ต้องระมัดระวังการเจาะมิให้เป็นอันตรายแก่ต้นตะเคียน และ
ห้ามใช้ไฟสุมหรือเผาหลุม
(๕) ในกรณีที่มีการกำหนดรอยตราหรือเครื่องหมายประจำต้นไว้ใน
ใบอนุญาต ผู้รับอนุญาตจะทำการเจาะได้แต่เฉพาะต้นที่มีรอยตราหรือเครื่องหมาย
ประจำต้นเช่นนั้นแสดงไว้เท่านั้น
ข้อ ๙ การเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยเจาะเผาต้นยางเอาน้ำมันยาง
ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ต้องเจาะเผาแต่ต้นที่มีขนาดโตไม่น้อยกว่า ๒๐๐ เซนติเมตร โดย
วัดรอบลำต้นตรงที่สูงจากพื้นดินขึ้นไป ๑๓๐ เซนติเมตร
(๒) การเจาะแต่ละต้นให้กำหนดจำนวนหลุมดังนี้
(ก) ต้ นขนาดโตตั้งแต่ ๒๐๐ เซนติเมตร ถึง ๒๕๐ เซนติเมตร โดยวัด
ตามวิธี (๑) เจาะได้ไม่เกินหนึ่งหลุม
(ข) ต้นขนาดโตเกิน ๒๕๐ เซนติเมตร ถึง ๓๐๐ เซนติเมตร โดยวัด
ตามวิธี (๑) เจาะได้ไม่เกินสองหลุม
(ค) ต้นขนาดโตเกิน ๓๐๐ เซนติเมตร โดยวัดตามวิธี (๑) เจาะได้ไม่
เกินสามหลุม
(๓) ต้องเจาะให้หลุมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร
และลึกไม่เกิน ๒๐เซนติเมตร
(๔) ห้ามเผาหรือกระทำโดยประการอื่นใด จนอาจทำให้ต้นยางเป็น
อันตราย
(๕) ในกรณีที่มีการกำหนดรอยตราหรือเครื่องหมายประจำต้นไว้ใน
ใบอนุญาต ผู้รับอนุญาตจะทำการเจาะเผาได้แต่เฉพาะต้นที่มีรอยตราหรือเครื่องหมาย
ประจำต้นเช่นนั้นแสดงไว้เท่านั้น
ข้อ ๑๐ การเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยเจาะต้นสนเอายาง ผู้รับ
อนุญาตต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ต้องเจาะแต่เฉพาะต้นที่มีขนาดโตไม่น้อยกว่า ๑๒๐ เซนติเมตร
โดยวัดรอบลำต้นตรงที่สูงจากพื้นดินขึ้นไป ๑๓๐ เซนติเมตร
(๒) การเจาะแต่ละต้นให้กำหนดจำนวนร่องดังนี้
(ก) ต้นขนาดโตตั้งแต่ ๑๒๐ เซนติเมตร ถึง ๑๕๐ เซนติเมตร โดยวัด
ตามวิธี (๑) เจาะได้ไม่เกินหนึ่งร่อง
(ข) ต้นขนาดโตเกิน ๑๕๐ เซนติเมตร ถึง ๒๐๐ เซนติเมตร โดยวัด
ตามวิธี (๑) เจาะได้ไม่เกินสองร่อง
(ค) ต้นขนาดโตเกิน ๒๐๐ เซนติเมตร โดยวัดตามวิธี (๑) เจาะได้ไม่
เกินสามร่อง
(๓) ต้องเจาะให้ร่องอยู่ระดับเดียวกัน และเว้นระยะระหว่างร่องเท่า
ๆ กัน ขอบล่างของร่องต้องสูงจากพื้นดินไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร
(๔) ร่องแต่ละร่องให้มีขนาดดังต่อไปนี้
(ก) ในการเจาะครั้งแรก ความยาวของร่องตามทางยาวของลำต้นต้อง
ไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร กว้างไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตร และลึกเข้าไปในเนื้อไม้ไม่เกิน
๓ เซนติเมตร
(ข) ในการขยายร่องที่เจาะไว้แล้ว ให้ขยายได้แต่เฉพาะตามทางยาว
ของลำต้น แต่ห้ามขยายร่องนั้นเกิน ๓๐ เซนติเมตร เมื่อนับรวมกับร่องที่เจาะหรือ
ขยายก่อนหน้านั้น
(๕) ห้ามเอาไฟสุม หรือเผาต้น
(๖) ในกรณีที่มีการกำหนดรอยตราหรือเครื่องหมายประจำต้นไว้ใน
ใบอนุญาต ผู้รับอนุญาตจะทำการเจาะได้แต่เฉพาะต้นที่มีรอยตราหรือเครื่องหมาย
ประจำต้นเช่นนั้นแสดงไว้เท่านั้น
ข้อ ๑๑ การเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยสับหรือกรีดต้นเยลูตองเอา
ยาง ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ต้องสับหรือกรีดแต่เฉพาะต้นที่มีขนาดโตไม่น้อยกว่า ๒๐๐
เซนติเมตร โดยวัดรอบลำต้นตรงที่สูงจากพื้นดินขึ้นไป ๑๓๐ เซนติเมตร
(๒) ต้องสับหรือกรีดลำต้นโดยระมัดระวังมิให้เนื้อไม้เป็นแผล และ
ห้ามสับหรือกรีดจนรอยที่สับหรือกรีดนั่นกว้างเกินหนึ่งในสี่ของขนาดโตวัดรอบลำต้น
ตรงที่สับหรือกรีดนั้น
(๓) ในกรณีที่มีการกำหนดรอยตราหรือเครื่องหมายประจำต้นไว้ใน
ใบอนุญาต ผู้รับอนุญาตจะทำการสับหรือกรีดได้แต่เฉพาะต้นที่มีรอยตราหรือเครื่อง
หมายประจำต้นเช่นนั้นแสดงไว้เท่านั้น
ข้อ ๑๒ การเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยลอกเอาเปลือกไม้ก่อหรือมะ
ก่อทุกชนิด ไม้ตะเคียนทอง หรือตะเคี่ยนใหญ่หรือเคียนหรือแคน ไม้พยอมหรือยอม
หรือขะยอมหรือพยอมดงหรือกายูตีบอง ไม้อบเชยหรือฮังแกงหรือฮังไก๊หรือเชียดหรือ
กะเชียดหรือมหาปราบ ไม้มะหาดหรือหาดหรือหาดส้านหรือกายูตาแป ไม้กัดลิ้นหรือ
ขี้อ้ายหรือมะเฟืองป่าหรือแก้วสารหรือลำไยป่าหรือพญาไก่เถื่อน หรือไม้สีเสียด ผู้รับ
อนุญาตต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ต้องลอกเปลือกแต่เฉพาะต้นที่มีขนาดโตถึงขนาดจำกัดตามกฎ
กระทรวงว่าด้วยขนาดจำกัด
(๒) ต้องลอกเปลือกตามทางยาวของลำต้น ตรงที่สูงจากพื้นดินขึ้นไป
ไม่น้อยกว่า ๕๐ เซนติเมตร และห้ามลอกเปลือกตรงที่สูงเกินค่าคบแรก
(๓) แผลที่ลอกเปลือกแต่ละแผลต้องมีขนาดยาวไม่เกิน ๘๐
เซนติเมตร กว้างไม่เกิน ๒๐เซนติเมตร มีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า ๓๐ เซนติเมตร และ
ต้องไม่อยู่ในระดับเดียวกัน
(๔) เมื่อลอกเปลือกแล้ว ต้องใช้น้ำมันดินหรือยากันเห็ดราทาแผลที่
ลอกภายในสามวันนับแต่วันที่ลอกเปลือก
(๕) ต้องไม่ลอกเปลือกต้นที่เคยถูกลอกเปลือกเต็มที่แล้ว เว้นแต่แผล
ที่ลอกเปลือกแล้ว ได้งอกเปลือกใหม่เต็มที่ดังเดิม
(๖) ในกรณีที่มีการกำหนดรอยตราหรือเครื่องหมายประจำต้นไว้ใน
ใบอนุญาต ผู้รับอนุญาตจะทำการลอกเปลือกได้แต่เฉพาะต้นที่มีรอยตราหรือเครื่อง
หมายประจำต้นเช่นนั้นแสดงไว้เท่านั้น
ข้อ ๑๓ การเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยกะเทาะ ขูดหรือสับเอาเปลือก
ไม้บงหรือยางบงหรือปงหรือมงหรือหมี ไม้โปรงหรือแสมหรือโหรงหรือกายูตืองา ไม้
โกงกางหรือพังกาหรือลานหรือไม้ฝาดหรือตำเสาหนูหรือเม่าทะเลหรือกายูคละ ซึ่งลอก
ไม่ได้สะดวกเหมือนไม้จำพวกที่มีเปลือกเป็นเส้นใย ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ต้องกะเทาะ ขูดหรือสับเอาเปลือกแต่เฉพาะต้นที่มีขนาดโตถึง
ขนาดจำกัดตามกฎกระทรวง ว่าด้วยขนาดจำกัด
(๒) ต้องกะเทาะ ขูดหรือสับเอาเปลือกตามทางยาวของลำต้นตรงที่
สูงจากพื้นดินขึ้นไปไม่น้อยกว่า ๕๐ เซนติเมตร และห้ามกะเทาะ ขูดหรือสับตรงที่สูง
เกินกึ่งความสูงของต้นไม้นั้นโดยวัดจากโคนต้นถึงยอดไม้
(๓) ต้องกะเทาะ ขูดหรือสับเอาเปลือกโดยให้ลึกเข้าไปในเนื้อไม้ไม่
เกิน ๑ เซนติเมตร แผลกว้างไม่เกินหนึ่งในสี่ของขนาดโตวัดรอบลำต้นตรงที่กะเทาะ
ขูดหรือสับนั้น และต้นหนึ่งให้กะเทาะ ขูดหรือสับได้แผลเดียว
(๔) เมื่อกะเทาะ ขูดหรือสับเอาเปลือกแล้วต้องใช้น้ำมันดินหรือยากัน
เห็ดราทาแผลที่กะเทาะ ขูดหรือสับภายในสามวันนับแต่วันที่กะเทาะ ขูดหรือสับ
(๕) ต้องไม่กะเทาะ ขูดหรือสับต้นที่เคยถูกกะเทาะขูดหรือสับแล้ว
เว้นแต่แผลที่ถูกกะเทาะขูดหรือสับแล้วได้งอกเปลือกใหม่เต็มที่ดังเดิม
(๖) ในกรณีที่มีการกำหนดรอยตราหรือเครื่องหมายประจำต้นไว้ใน
ใบอนุญาต ผู้รับอนุญาตจะกระทำการกะเทาะ ขูดหรือสับเอาเปลือกได้แต่เฉพาะต้นที่มี
รอยตราหรือเครื่องหมายประจำต้นเช่นนั้นแสดงไว้เท่านั้น
ข้อ ๑๔ การเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยตัดเอาใบลาน ผู้รับอนุญาต
ต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ต้องตัดใบแต่เฉพาะต้นที่ตั้งลำต้นแล้ว
(๒) ตัดใบอ่อนแต่ละต้นในปีหนึ่งได้ไม่เกินสามใบและแต่ละคราวที่
ตัดต้องเหลือยอดอ่อนที่สุดไว้
ข้อ ๑๕ การเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยเจาะต้นรักเอายางผู้รับ
อนุญาตต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ต้องเจาะแต่เฉพาะต้นที่มีขนาดโตไม่น้อยกว่า ๘๐ เซนติเมตร
โดยวัดรอบลำต้นตรงที่สูงจากพื้นดินขึ้นไป ๑๓๐ เซนติเมตร
(๒) ต้องเจาะหลุมแรกให้สูงจากพื้นดินไม่น้อยกว่า ๕๐ เซนติเมตร
หลุมต่อไปต้องไม่อยู่ในแนวเดียวกับหลุมแรกทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ แต่ละหลุมเว้น
ระยะห่างกันไม่น้อยกว่า ๕๐ เซนติเมตร และห้ามเจาะตรงที่สูงเกินกิ่งใหญ่กิ่งแรก
(๓) หลุมแต่ละหลุมให้มีรูปเป็นหลุมสามเหลี่ยมโดยให้ปลายแหลม
กลับลงพื้นดิน ให้ฐานของรูปสามเหลี่ยมอยู่ด้านบน ยาวไม่เกิน ๒๐ เซนติเมตร ด้าน
ข้างของหลุมยาวไม่เกินด้านละ ๓๐ เซนติเมตร และลึกเข้าไปในเนื้อไม้ไม่เกิน ๒
มิลลิเมตร
(๔) ห้ามตอกลูกทอยที่ลำต้น ไม่ว่าเพื่อการใด
(๕) ห้ามใช้ไฟหรือวัตถุอื่นใดช่วยเร่งการเจาะเอายาง
(๖) ห้ามเจาะตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม
(๗) เมื่อสิ้นฤดูการเจาะ ให้นำภาชนะรองยางและพะองหรือวัตถุที่ใช้
ปีนออกจากต้นเสียทั้งสิ้น
(๘) ในกรณีที่มีการกำหนดเครื่องหมายประจำต้นไว้ในใบอนุญาต ผู้
รับอนุญาตจะทำการเจาะได้แต่เฉพาะต้นที่มีเครื่องหมายประจำต้นเช่นนั้นแสดงไว้เท่า
นั้น
ข้อ ๑๖ การเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยกรีดหรือสับต้นขนุนนกเอา
ยาง ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติ ดังนี้
(๑) ต้องกรีดหรือสับแต่เฉพาะต้นที่มีขนาดโตไม่น้อยกว่า ๑๒๐
เซนติเมตร โดยวัดรอบลำต้นตรงที่สูงจากพื้นดินขึ้นไป ๑๓๐ เซนติเมตร
(๒) ต้องกรีดหรือสับแต่เพียงด้านใดด้านหนึ่งตามทางยาวของลำต้น
(๓) ต้องกรีดหรือสับโดยระมัดระวังมิให้เนื้อไม้เป็นแผลและห้ามกรีด
หรือสับตรงที่สูงเกินค่าคบแรก
(๔) ต้นที่ได้กรีดหรือสับเอายางแล้ว ต้องงดเว้นการกรีดหรือสับครั้ง
ต่อไปได้มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าสองปีและการกรีดหรือสับครั้งต่อไปต้องกระทำใน
ด้านตรงกันข้ามกับการกรีดหรือสับครั้งต่อก่อน
(๕) ในกรณีที่มีการกำหนดรอยตราหรือเครื่องหมายประจำต้นไว้ใน
ใบอนุญาต ผู้รับอนุญาตจะทำการกรีดหรือสับได้แต่เฉพาะต้นที่มีรอยตราหรือเครื่อง
หมายประจำต้นเช่นนั้นแสดงไว้เท่านั้น
ข้อ ๑๗ การเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยเก็บกล้วยไม้ ผู้รับอนุญาต
ต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ต้องเก็บเฉพาะต้นที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว คือ
(ก) สำหรับกล้วยไม้ชนิดฟ้ามุ่ย สามปอยหลวง หรือเอื้องแวนดาฮุก
เกอเรียนา ลำต้นต้องยาวไม่น้อยกว่า ๒๐ เซนติเมตร โดยวัดจากรากที่สูงที่สุดถึงง่าม
ใบคู่ยอดสุด
(ข) สำหรับกล้วยไม้ชนิดเอื้องแซะ เอื้องตาเหิน เอื้องเงินหลวง เอื้อง
หวายตอร์ติเล หรือรองเท้าแตะนารีหรือเอื้องคางกบทุกชนิด กอหนึ่งต้องมีลำต้นออก
ดอกแล้วไม่น้อยกว่าสองลำต้น
(ค) สำหรับกล้วยไม้ชนิดช้างเผือกหรือช้างแดง ต้องเป็นต้นที่เคย
ออกดอกมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ครั้ง
(๒) ห้ามโค่นหรือตัดกิ่งไม้ที่กล้วยไม้ขึ้นอยู่
(๓) ต้นไม้ที่มีกล้วยไม้ขึ้นอยู่กอเดียว ให้งดเว้นการเก็บกล้วยไม้นั้น
(๔) ต้นไม้ที่มีกล้วยไม้ขึ้นอยู่เกินหนึ่งกอ ต้องให้เหลือกล้วยไม้ไว้เป็น
พันธุ์ในอัตราหนึ่งกอต่อทุกจำนวนกล้วยไม้ชนิดเดียวกันสามกอ หรือเศษของสามกอ
ข้อ ๑๘ การเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยตัดหวายตะค้าทองผู้รับ
อนุญาตต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ต้องตัดแต่เฉพาะกอที่มีจำนวนลำต้นตั้งแต่สิบลำต้นขึ้นไป และ
ให้ตัดได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนลำต้นที่มีอยู่ในกอนั้น
(๒) ลำต้นที่จะตัดนั้นต้องมีความยาวตั้งแต่ ๔ เมตรขึ้นไป
(๓) ต้องไม่ทิ้งหวายหรือเศษของหวายที่ได้ตัดแล้วค้างไว้ที่กอนั้น
ข้อ ๑๙ การเก็บหาของป่าหวงห้ามโดยตัดเอารากเฟิร์นออสมันดา
ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติดังนี้
(๑) ต้องตัดเอารากโดยเว้นระยะห่างจากโคนกอเฟิร์นออสมันดาโดย
รอบ ๑๕ เซนติเมตรห้ามมิให้ขุดกอเฟิร์นออสมันดาขึ้นมาตัดเอาราก
(๒) กอเฟิร์นออสมันดาที่ได้ตัดเอารากมาแล้วครั้งหนึ่งต้องงดเว้น
การตัดเอารากครั้งต่อไปไว้ มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
ข้อ ๒๐ อัตราค่าธรรมเนียม ให้กำหนดดังต่อไปนี้
(๑) คำขอเก็บหาของป่าหวงห้าม ฉบับละ ๐.๒๕ บาท
(๒) การอนุญาตเจาะต้นตะเคียน ตาแมวเอาชัน
หรือเจาะต้นสนเอายาง หรือสับหรือกรีดต้น
เยลูตองเอายาง ต้นละ ๐.๒๕ บาท
(๓) การอนุญาตเจาะเผาต้นยางเอาน้ำมันยาง ต้นละ ๐.๑๐ บาท
(๔) การอนุญาตเจาะ สับ หรือกรีดไม้ชนิดอื่น ๆ
เอาน้ำมันชัน หรือยาง ต้นละ ๐.๒๕ บาท
(๕) ใบอนุญาตเก็บหารวงผึ้ง ฉบับละ ๒.๐๐ บาท
(๖) ใบอนุญาตผูกขาดเก็บหาของป่าหวงห้าม
ฉบับละ ๑๐๐.๐๐ บาท
(๗) ใบแทนใบอนุญาตผูกขาดเก็บหาของป่าหวงห้าม
ฉบับละ ๕.๐๐ บาท
(๘) ใบแทนใบอนุญาตอื่น ๆ ฉบับละ ๑.๐๐ บาท
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๗
พลเอก สุรจิต จารุเศรนี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร
[ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย]
+---------------------------------------------------------------------------------------+
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง
ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช
๒๔๘๔ ว่าด้วยการเก็บหาของป่าที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนี้ยังไม่เป็นการเหมาะสมแก่
กาลสมัยและสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเป็นการสมควรที่จะปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วย
การเก็บหาของป่าเสียใหม่ให้เป็นการเหมาะสมรัดกุมยิ่งขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับ
พระราชกฤษฎีกากำหนดของป่าหวงห้าม พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่
๑๑ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ นั้น
เสีย แล้วออกกฎกระทรวงว่าด้วยการเก็บหาของป่าหวงห้ามขึ้นใหม่ เพื่อใช้แทนกฎ
กระทรวงฉบับเดิม
[รก.๒๕๐๗/๗๓/๕๑๖/๔ สิงหาคม ๒๕๐๗]