กฎกระทรวง ฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2517) ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 (ฉบับ Update ล่าสุด)
กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๗)
ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่
พ.ศ. ๒๕๑๐[๑]
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกหมวด ๑ และหมวด ๒ แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๑๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐
ข้อ ๒ หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตร การอนุรักษ์แร่ และการทำเหมือง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้
หมวด ๑
การสำรวจแร่
ข้อ ๓[๒] การสำรวจแร่ให้กระทำโดยวิธีการตรวจดูลักษณะทางธรณีวิทยาร่วมกับวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธี ดังนี้
(๑) วิธีการตรวจดูลักษณะทางธรณีเคมี หรือธรณีฟิสิกส์
(๒) วิธีเจาะสำรวจตามหลักเทคนิคการสำรวจแหล่งแร่ที่เรียกว่า drilling หรือ boring
(๓) วิธีขุดหลุมสำรวจตามหลักเทคนิคการสำรวจแหล่งแร่ที่เรียกว่า Pitting ภายในหลักเกณฑ์ ดังนี้
(ก) หลุมสำรวจมีขนาดกว้างหรือยาวไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร หรือมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร ตรงลงไปโดยมีหน้าตัดของหลุมไม่เกินขนาดดังกล่าว
(ข) หลุมสำรวจแต่ละหลุมมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร
(ค) หลุมสำรวจที่ไม่ใช้ในการสำรวจแล้ว ต้องจัดการถมหรือทำที่ดินให้เป็นตามเดิมทุกแห่ง
(ง) ในกรณีที่จะขุดหลุมสำรวจใหม่แทรกระหว่างหลุมสำรวจเก่าซึ่งถมหรือทำที่ดินให้เป็นตามเดิมแล้วนั้น ต้องได้รับอนุญาตจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และต้องปฏิบัติตาม (ก) (ข) และ (ค)
(๔) วิธีขุดร่องสำรวจขวางสายแร่ตามหลักเทคนิคการสำรวจแหล่งแร่ที่เรียกว่า trenching ภายในหลักเกณฑ์ ดังนี้
(ก) ร่องสำรวจมีขนาดกว้างไม่เกิน ๑.๐๐ เมตรและลึกไม่เกิน ๓.๐๐ เมตร ผนังของร่องสำรวจให้เรียบและตั้งตรงที่สุดที่จะทำได้
(ข) ร่องสำรวจแต่ละร่องมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร
(ค) ร่องสำรวจที่ไม่ใช้ในการสำรวจแล้ว ต้องจัดการถมหรือทำที่ดินให้เป็นตามเดิมทุกแห่ง
ข้อ ๔ การสำรวจแร่โดยหลักเกณฑ์หรือวิธีการอื่นนอกจากข้อ ๓ ให้ยื่นแผนงานและวิธีการสำรวจแร่พร้อมด้วยเหตุผลต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีก่อนจึงจะทำได้
ข้อ ๕ แผนงานและวิธีการสำรวจแร่ต้องมีรายละเอียดดังนี้
(๑) แผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน ๑:๒๕,๐๐๐ หรือใหญ่กว่า
(๒) เนื้อที่แต่ละแปลง
(๓) ชนิดแร่และวิธีการสำรวจแต่ละขั้น
(๔) ชนิด ขนาด จำนวนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจ
(๕) เงินทุนและข้อผูกพันสำหรับการสำรวจของแต่ละปี
(๖) จำนวนคนงาน
ให้นักธรณีวิทยาหรือวิศวกรเหมืองแร่ที่อธิบดีเห็นชอบเป็นผู้ลงนามรับรองความถูกต้องของแผนงานและวิธีการสำรวจแร่ตามวรรคหนึ่ง[๓]
ข้อ ๖[๔] ให้ผู้ถืออาชญาบัตรสำรวจแร่ ทำการสำรวจแร่ได้เฉพาะวิธีการตรวจดูลักษณะทางธรณีวิทยาร่วมกับวิธีการสำรวจตามข้อ ๓ (๑) วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีก็ได้
ข้อ ๗ ผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรือผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษ ให้ทำการสำรวจได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อ ๓ ถ้าจะสำรวจโดยหลักเกณฑ์หรือวิธีการอื่น ให้ปฏิบัติตามข้อ ๔
ข้อ ๘[๕] ผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรือผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษต้องทำการสำรวจแร่ตามแผนงานและวิธีการสำรวจแร่ที่ได้รับอนุญาตภายใต้การควบคุมรับผิดชอบของนักธรณีวิทยาหรือวิศวกรเหมืองแร่ที่อธิบดีเห็นชอบซึ่งเป็นผู้ลงนามรับรองความถูกต้องของแผนงานและวิธีการสำรวจแร่
การเปลี่ยนตัวนักธรณีวิทยาหรือวิศวกรเหมืองแร่ตามวรรคหนึ่งต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี
ข้อ ๘ ทวิ[๖] ให้นักธรณีวิทยาหรือวิศวกรเหมืองแร่ที่อธิบดีเห็นชอบซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการสำรวจแร่ เป็นผู้ลงนามรับรองความถูกต้องของรายงานผลการดำเนินงานและการสำรวจแร่ตามมาตรา ๓๑ หรือมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐
ข้อ ๙ ห้ามมิให้ผู้ถืออาชญาบัตรนำแร่ที่ได้จากการสำรวจแร่ไปเพื่อวิเคราะห์หรือวิจัยเกินกว่าปริมาณที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตรแต่ละชนิด
ข้อ ๑๐ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในเขตสำรวจแร่เพื่อตรวจการสำรวจแร่ได้ทุกเวลา ให้ผู้ถืออาชญาบัตรอำนวยความสะดวกตามควรแก่กรณี และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือแก่ผู้ถืออาชญาบัตรให้จัดการป้องกันอันตรายอันอาจเกิดจากการสำรวจแร่ได้ โดยผู้ถืออาชญาบัตรต้องปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัด
หมวด ๒
การอนุรักษ์แร่
ข้อ ๑๑ การทำเหมืองแร่ การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม ต้องดำเนินการโดยมิให้มีการสูญเสียแร่หรือโลหะไปโดยไม่สมควร
หมวด ๓
การทำเหมือง
ข้อ ๑๒ การทำเหมืองจะทำได้โดยวิธีการตามหลักเทคนิคการทำเหมืองแร่วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี ดังต่อไปนี้
(๑) วิธีเหมืองเรือขุด ได้แก่การทำเหมืองโดยใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ทำเหมืองติดตั้งบนเรือหรือโป๊ะ และขุดแร่ปนดินทรายด้วยเครื่องตัก เครื่องขุดหรือเครื่องสูบ แล้วนำแร่ปนดินทรายไปเข้ารางกู้แร่หรือเครื่องอุปกรณ์แต่งแร่อย่างอื่น
(๒) วิธีเหมืองสูบ ได้แก่การทำเหมืองโดยใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธี เช่น การใช้แรงคน พลังน้ำเครื่องขุดหรือการระเบิดพังดินทรายปนแร่หน้าเหมือง แล้วใช้เครื่องสูบทราย (Gravel pump หรือ Sand pump) สูบดินทรายปนแร่ขึ้นสู่รางกู้แร่ หรือเครื่องอุปกรณ์แต่งแร่อย่างอื่น
(๓) วิธีเหมืองฉีด ได้แก่การทำเหมืองโดยใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธีพังดินทรายปนแร่หน้าเหมืองทำนองเดียวกับกรณีของเหมืองสูบ แล้วใช้เครื่องดูดด้วยพลังน้ำตามธรรมชาติ(Hydraulic Elebator) ดูดดินทรายปนแร่ขึ้นสู่รางกู้แร่หรือเครื่องอุปกรณ์แต่งแร่อย่างอื่น
(๔) วิธีเหมืองแล่น ได้แก่การทำเหมืองในแหล่งแร่ที่อยู่บนเนินหรือไหล่เขา โดยใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธี เช่น การใช้แรงคน พลังน้ำ เครื่องขุดหรือการระเบิดพังดินทรายปนแร่หน้าเมือง แล้วปล่อยให้ดินทรายปนแร่ไหลลงรางกู้แร่หรือเครื่องอุปกรณ์แต่งแร่อย่างอื่น
(๕) วิธีเหมืองหาบ ได้แก่การทำเหมืองโดยใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธี เช่น การใช้แรงคน เครื่องขุด หรือการระเบิดขุดหรือเปิดหน้าเหมืองให้เป็นบ่อหรือขั้นบันไดหรือนำเอาหินดินทรายปนแร่เข้ารางกู้แร่หรือเครื่องอุปกรณ์แต่งแร่อย่างอื่นหรือใช้คนงานคัดเลือกแร่นำไปใช้ประโยชน์โดยตรง
(๖) วิธีเหมืองปล่อง ได้แก่การทำเหมืองในที่ลานแร่ที่มีเปลือกดินหนาโดยการขุดเป็นปล่องลงไปจนถึงชั้นกะสะแร่แล้วเดินอุโมงค์เพื่อนำเอาดินทรายปนแร่จากชั้นกะสะแร่ขึ้นมาแต่งแร่ด้วยรางกู้แร่หรือเครื่องอุปกรณ์แต่งแร่อย่างอื่น
(๗) วิธีเหมืองอุโมงค์ (Underground Mining) ได้แก่การทำเหมืองใต้ดินในที่ทางแร่หรือแหล่งแร่แบบอื่นซึ่งไม่ใช่ลานแร่ โดยการเจาะเป็นปล่องหรืออุโมงค์หรือทั้งสองอย่างโดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธี เช่น การใช้แรงคน เครื่องจักรและอุปกรณ์หรือการระเบิดเพื่อนำเอาหินปนแร่ขึ้นมาเข้าเครื่องอุปกรณ์แต่งแร่หรือนำไปใช้ประโยชน์โดยตรง
(๘) วิธีเหมืองเจาะงัน ได้แก่การทำเหมืองในที่ทางแร่ โดยใช้แรงคน เครื่องจักรและอุปกรณ์หรือการระเบิด ขุด หรือเปิดเป็นร่องหรืออุโมงค์เข้าไปในภูเขาเพื่อตามสายแร่ลงไปในแนวดิ่งไม่เกิน ๑๐ เมตร แล้วนำหินปนแร่จากสายแร่ขึ้นมาล้างหรือทุบย่อยเลือกเอาแต่ก้อนแร่ที่มีปริมาณสูงหรือนำเข้าเครื่องอุปกรณ์แต่งแร่
(๙) วิธีการทำเหมืองอย่างอื่นที่อธิบดีเห็นชอบ
ข้อ ๑๓ แผนผังโครงการทำเหมืองจะต้องแสดงรายการดังนี้
(๑) ลักษณะพื้นที่ภูมิประเทศในเขตคำขอประทานบัตร
(๒) ลักษณะของแหล่งแร่ ถ้าเป็นที่ลานแร่ให้บอกเนื้อที่ที่จะทำเหมืองได้ ความลึกปริมาณดินที่จะขุดเอาแร่ได้ และความสมบูรณ์ของแหล่งแร่โดยเฉลี่ย ถ้าเป็นที่ทางแร่หรือสายแร่หรือแหล่งแร่ลักษณะอื่นให้บอกทิศทางและขนาด กว้าง ยาว ลึก เท่าที่ตรวจพบด้วย
(๓) วิธีการทำเหมืองและการแต่งแร่
(๔) แผนที่ที่ถูกต้องตามาตราส่วน แสดงที่ตั้งอาคารต่าง ๆ ของเหมือง ทิศทางและการวางตัวของสายแร่ บริเวณตั้งต้นเปิดการทำเหมือง ทางเดินหน้าเหมือง บริเวณที่เก็บขังมูล ดินทราย และน้ำขุ่นข้นจากการทำเหมืองและการแต่งแร่ ทำนบและประตูระบายน้ำ
(๕) แบบรูปทำนบ ประตูระบายน้ำที่ถูกต้องตามมาตราส่วน และถ้ามีการเจาะหรือทำอุโมงค์ ให้แสดงการค้ำจุนปล่องหรืออุโมงค์ด้วย
(๖) ชนิด ขนาด จำนวน เครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งจำนวนคนงานที่ใช้ในการทำเหมืองและการแต่งแร่
(๗) วิธีชักน้ำมาใช้ในการทำเหมือง
(๘) วิธีเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายและวิธีระบายน้ำจากการทำเหมือง
(๙) แนวย้ายทางน้ำ ทางหลวงหรือทางสาธารณะอย่างอื่นภายในเขตคำขอประทานบัตรและให้แสดงแนวทางไว้ในแผนที่ตาม (๔) ด้วย
ทั้งนี้ ให้วิศวกรผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในสาขาที่เกี่ยวข้องลงชื่อรับรองในเอกสารต่าง ๆ ของแผนผังโครงการทำเหมืองที่มีลักษณะของงานอยู่ในข่ายควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม พร้อมกับระบุประเภทของวิศวกร สาขางานวิศวกรรมและหมายเลขใบอนุญาตไว้โดยครบถ้วน
ข้อ ๑๔ ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวหรือผู้ถือประทานบัตรต้องทำเหมืองและแต่งแร่ตามวิธีการทำเหมืองและแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตโดยเคร่งครัด และต้องมีวิศวกรผู้ลงชื่อรับรองในเอกสารต่าง ๆ ของแผนผังโครงการทำเหมือง ทำหน้าที่ควบคุมรับผิดชอบงานวิศวกรรมที่อยู่ในข่ายควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม หากประสงค์จะเปลี่ยนตัววิศวกรให้แจ้งให้ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ทราบพร้อมกับมอบหนังสือยินยอมของวิศวกรผู้ที่จะควบคุมรับผิดชอบงานวิศวกรรมต่อไปไว้เป็นหลักฐาน โดยให้ระบุประเภทของวิศวกรสาขางานวิศวกรรมและหมายเลขใบอนุญาตไว้ในหนังสือยินยอมด้วย
ข้อ ๑๕ ในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวหรือผู้ถือประทานบัตรเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมืองหรือแต่งแร่ ทางระบายน้ำจากการทำเหมือง หรือที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทราย ให้ถือว่าผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวหรือผู้ถือประทานบัตรเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมืองหรือแผนผังโครงการทำเหมืองตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐
การเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำเหมืองหรือแต่งแร่ โดยไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมืองหรือแต่งแร่ ไม่ต้องยื่นแผนผังโครงการทำเหมืองใหม่ แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ทราบเพื่อเป็นหลักฐาน
ข้อ ๑๖ ก่อนเปิดการทำเหมือง ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว หรือผู้ถือประทานบัตรต้องนำพนักงานเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบการเตรียมการเพื่อการทำเหมืองที่ได้รับอนุญาตเสียก่อน เมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ให้เปิดการทำเหมืองแล้ว จึงเริ่มเปิดการทำเหมืองได้
ข้อ ๑๗ ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวหรือผู้ถือประทานบัตรต้องกรอกรายการให้ถูกต้องตามความเป็นจริงลงในบัญชีกรรมกรบัญชีแสดงการขุดแร่ได้ ตามแบบพิมพ์ที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนด และเก็บไว้ในเขตเหมืองแร่เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ทุกเวลา ข้อ ๑๘ ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวหรือผู้ถือประทานบัตรต้องรายงานการทำเหมืองประจำเดือนให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามแบบพิมพ์ที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนด และต้องยื่นต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ภายในวันที่ ๕ ของเดือนถัดไป
ข้อ ๑๙ ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราวหรือผู้ถือประทานบัตรที่ทำเหมืองโดยวิธีเหมืองเรือขุด เหมืองสูบ เหมืองฉีด เหมืองหาบ หรือเหมืองอุโมงค์ ต้องส่งแผนที่ประจำเดือนแสดงราบการทำเหมืองตามความเป็นจริงต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่พร้อมกับยื่นรายการทำเหมืองประจำเดือนตามข้อ ๑๘
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๗
โอสถ โกศิน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ. ๒๕๑๖ ให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตร การอนุรักษ์แร่ และการทำเหมือง โดยกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๗๐ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐[๗]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการในการสำรวจแร่ที่กำหนดไว้เดิมไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถควบคุมการสำรวจแร่ของผู้ถืออาชญาบัตรสำรวจแร่ ผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ หรือผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสำรวจแร่เสียใหม่ โดยกำหนดให้ผู้ถืออาชญาบัตรทุกประเภททำการสำรวจแร่โดยวิธีตรวจดูลักษณะทางธรณีวิทยาร่วมกับวิธีอื่น รวมทั้งกำหนดให้นักธรณีวิทยาหรือวิศวกรเหมืองแร่ที่อธิบดีเห็นชอบเป็นผู้ควบคุมการสำรวจแร่และลงนามรับรองความถูกต้องของรายงานผลการดำเนินงานและการสำรวจแร่ และโดยที่มาตรา ๑๗(๓) แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ บัญญัติให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตร การอนุรักษ์แร่ และการทำเหมืองต้องกระทำโดยกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
- [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๑/ตอนที่ ๓๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๓/๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗
- [๒] ข้อ ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ ๗๐ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐
- [๓] ข้อ ๕ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ ๗๐ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐
- [๔] ข้อ ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ ๗๐ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐
- [๕] ข้อ ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ ๗๐ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐
- [๖] ข้อ ๘ ทวิ เพิ่มโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ ๗๐ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐
- [๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๑๙๘/หน้า ๑๐๕๒/ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๔