กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๐)
ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
พ.ศ. ๒๕๓๕
-------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ มาตรา ๘ วรรคสาม มาตรา ๒๙ วรรคสาม
และมาตรา ๓๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรี
ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
แห่งชาติออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ต้องมีคุณสมบัติ
และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีบุคคลธรรมดา
(ก) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(ข) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
(ค) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(ง) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(จ) ไม่เคยต้องโทษทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
(ฉ) เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดิน
เพื่อดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ
(ช) ไม่อยู่ในระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาต หรือไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต
ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
(๒) ในกรณีนิติบุคคล ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลนั้น ๆ ต้องมีคุณสมบัติ
ตาม (๑) (ก) (ข) (ค) (ง) (จ) (ฉ) และ (ช) ด้วย
ข้อ ๒ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ให้ยื่นคำขอรับ
ใบอนุญาตตามแบบ สป.๒๐ ท้ายกฎกระทรวงนี้ พร้อมด้วยเอกสาร หลักฐาน ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีบุคคลธรรมดา
(ก) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการ
ออกให้ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
(ข) สำเนาทะเบียนบ้านหรือภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้าน
(ค) สำเนาหรือภาพถ่ายหลักฐานแสดงการมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง
หรือสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ
(ง) โครงการและแผนการดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ
(จ) แผนที่ แบบแปลนและแผนผังที่ตั้งสังเขปของสวนสัตว์สาธารณะ
(ฉ) บัญชีรายการชนิดและจำนวนของสัตว์ป่า หรือซากของสัตว์ป่าที่มีไว้ใน
ครอบครอง โดยจัดเรียงตามหมวดหมู่ทางวิชาการ พร้อมทั้งแสดงหลักฐานการได้มาด้วย (ถ้ามี)
(ช) ในกรณีที่มีประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
กำหนดให้ผู้ที่จะดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ
สิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้แนบ
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าวด้วย
(๒) ในกรณีห้างหุ้นส่วนสามัญ
(ก) รายชื่อและสัญชาติของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
(ข) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
(ค) สำเนาทะเบียนบ้านหรือภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
(๓) ในกรณีห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด
(ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็น
ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งรับรองไว้ไม่เกินหกเดือน
(ข) รายชื่อและสัญชาติของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
(ค) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการ
ออกให้ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
(ง) สำเนาทะเบียนบ้านหรือภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้าน ของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
(๔) ในกรณีบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด
(ก) หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็น
บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งรับรองไว้ไม่เกินหกเดือน
(ข) รายชื่อและสัญชาติของกรรมการบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด
(ค) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการ
ออกให้ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทจำกัด
หรือบริษัทมหาชนจำกัด
(ง) สำเนาทะเบียนบ้านหรือภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจ
ลงนามผูกพันบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด
(จ) สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัทจำกัด
หรือบริษัทมหาชนจำกัดฉบับตีพิมพ์
(๕) ในกรณีสหกรณ์ สมาคม หรือมูลนิธิ
(ก) ภาพถ่ายใบสำคัญรับจดทะเบียนสหกรณ์ สมาคม หรือมูลนิธิ
(ข) รายชื่อและสัญชาติของกรรมการสหกรณ์ สมาคม หรือมูลนิธิ
(ค) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันสหกรณ์ สมาคม หรือมูลนิธิ
(ง) สำเนาทะเบียนบ้านหรือภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจ
ลงนามผูกพันสหกรณ์ สมาคม หรือมูลนิธิ
(จ) สำเนาหรือภาพถ่ายข้อบังคับของสหกรณ์ สมาคม หรือมูลนิธิ
(๖) ในกรณีหน่วยงานของรัฐหรือองค์การอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ให้ยื่น
หนังสือรับรองสถานภาพของหน่วยงานของรัฐหรือองค์การของรัฐ
ข้อ ๓ ผู้ยื่นคำขอตามข้อ ๒ (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) ต้องมีเอกสารหลักฐาน
ตามข้อ ๒ (๑) (ค) (ง) (จ) (ฉ) และ (ช) ด้วย
ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอตามข้อ ๒ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) เป็นผู้ทำการแทน
ต้องมีหนังสือมอบอำนาจแนบท้ายคำขอด้วย
ข้อ ๔ การยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ
ตามข้อ ๒ ให้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่สัตว์ป่าเป็นสัตว์น้ำ ให้ยื่น ณ กองอนุรักษ์ทรัพยากรประมง
กรมประมง
(๒) ในกรณีที่เป็นสัตว์ป่าอื่นนอกจาก (๑) ให้ยื่น ณ กองการอนุญาต กรมป่าไม้
ข้อ ๕ การจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ในกรณีที่สัตว์ป่าเป็น
สัตว์น้ำ ให้อธิบดีกรมประมงเป็นผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์
สาธารณะ และในกรณีที่เป็นสัตว์ป่าอื่นนอกจากสัตว์น้ำ ให้อธิบดีกรมป่าไม้เป็นผู้มีอำนาจดังกล่าว
ข้อ ๖ ใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะให้ใช้แบบ
สป. ๒๑ ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ ๗ ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะผู้ใดประสงค์
จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตพร้อมด้วยหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบ
สป.๒๒ ท้ายกฎกระทรวงนี้ ก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ
การอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต จะแสดงไว้ในรายการท้ายใบอนุญาต หรือ
จะออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิมให้ใหม่ก็ได้
ข้อ ๘ ผู้ใดประสงค์จะรับโอนใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์
สาธารณะจากผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ให้ยื่นคำขอรับโอน
ใบอนุญาตพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบ สป.๒๓ ท้ายกฎกระทรวงนี้
การอนุญาตให้โอนใบอนุญาต ให้ผู้อนุญาตจดแจ้งการโอนไว้ในใบอนุญาต
โดยให้ผู้โอนและผู้รับโอนใบอนุญาตลงลายมือชื่อไว้ในใบอนุญาตด้วย
ข้อ ๙ ผู้รับโอนใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะต้องมี
คุณสมบัติตามที่กำหนดไว้สำหรับการดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ และต้องมีความพร้อม
เกี่ยวกับสถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จะดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ
ข้อ ๑๐ ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะผู้ใด
ประสงค์จะขอรับใบแทนใบอนุญาตที่สูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ยื่นคำขอรับใบแทน
ใบอนุญาตตามแบบ สป.๒๔ ท้ายกฎกระทรวงนี้ พร้อมด้วยหลักฐานการรับแจ้งความของสถานี
ตำรวจแห่งท้องที่ที่ใบอนุญาตนั้นสูญหายหรือใบอนุญาตที่ชำรุดนั้น
การออกใบแทนใบอนุญาต ให้อธิบดีออกใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิม
แต่ให้ระบุคำว่า "ใบแทน" ไว้ที่ด้านหน้าด้วย
ข้อ ๑๑ เมื่อได้รับคำขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์
สาธารณะตามข้อ ๒ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน หากครบถ้วนถูกต้อง
แล้วให้เสนอต่ออธิบดีภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอเพื่อพิจารณา
ให้อธิบดีแจ้งผลการพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการ
สวนสัตว์สาธารณะ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในห้าสิบวันนับแต่วันที่อธิบดีได้รับคำขอ
ข้อ ๑๒ เมื่อได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะแล้ว
ก่อนเปิดดำเนินกิจการไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่ไม่เกินหกสิบวัน ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งรายการ
เกี่ยวกับชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่มีไว้
ในครอบครอง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและจดแจง
ไว้ในทะเบียนตามแบบ สป. ๒๕ ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ ๑๓ เมื่อปรากฏว่าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว
ที่มีอยู่ในความครอบครองของผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ
มีการเพิ่มจำนวนขึ้นหรือลดจำนวนลงเมื่อใด ผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดและ
จำนวนของสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่เพิ่มจำนวนขึ้นหรือ
ลดจำนวนลงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในหกสิบวันนับแต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนสัตว์ป่า
ดังกล่าวตามแบบ สป.๒๖ ท้ายกฎกระทรวงนี้
ในกรณีที่สัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่ามีการเพิ่มจำนวนขึ้นตามวรรคหนึ่ง ผู้แจ้ง
ต้องแสดงหลักฐานการได้มาซึ่งสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าที่เพิ่มจำนวนขึ้นด้วย
ข้อ ๑๔ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะต้อง
ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีนักวิชาการด้านสัตว์ป่าและผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง
ประจำที่สวนสัตว์สาธารณะ และหากดำเนินกิจการโดยมีสัตว์ป่าเป็นสัตว์น้ำด้วย ให้มีนักวิชาการ
ด้านสัตว์น้ำประจำเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยหนึ่งคน
(๒) จำนวนและขนาดของสัตว์ป่าต้องมีความเหมาะสมและสัมพันธ์กับขนาด
ของสิ่งปลูกสร้าง กรง คอก บ่อ หรือสิ่งอื่นที่เป็นอยู่ของสัตว์ป่า
(๓) จัดสภาพสถานที่อยู่ของสัตว์ป่าให้มีความเหมาะสม และสามารถดำรงชีวิต
อยู่ได้โดยปกติสุขตามชนิดของสัตว์ป่านั้น
(๔) ในกรณีที่มีการจัดให้มีการแสดงของสัตว์ป่า ต้องไม่เป็นการ
ทรมานหรืออาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า
(๕) จัดให้มีระบบป้องกันมลพิษตามมาตรฐานของกระทรวงวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
(๖) จัดให้มีระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับประชาชนที่เข้าชมและที่อาศัย
อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสวนสัตว์สาธารณะ
(๗) ต้องยินยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสถานที่ที่ระบุใน
ใบอนุญาต โดยต้องอำนวยความสะดวกและตอบคำถามแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน
ตามหน้าที่ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก
ข้อ ๑๕ สวนสัตว์สาธารณะต้องมีสถานที่และบริเวณที่ตั้งที่เหมาะสม และไม่ก่อ
ให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
ข้อ ๑๖ ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะต้องแสดง
ใบอนุญาตหรือใบแทนใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตให้จัดตั้งและ
ดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ
ข้อ ๑๗ ให้ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะจัดทำ
เครื่องหมายหรือหลักฐานประจำตัวสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
ข้อ ๑๘ เมื่อผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ
ประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลนแผนผังของสถานที่อยู่ของสัตว์ป่าหรือบริเวณที่ตั้ง
ของสวนสัตว์สาธารณะในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า หรือความปลอดภัยของ
ประชาชนที่เข้าชมและที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
ชูชีพ หาญสวัสดิ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
[ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย]
+------------------------------------------------------------------------------------------------------+
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๘ วรรคสาม และ
มาตรา ๒๙ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้กำหนดให้
การขออนุญาต การอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต และการออกใบแทน
ใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ
เงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะต้องแจ้ง
รายการเกี่ยวกับชนิดและจำนวนสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าวที่มีไว้
ในครอบครอบก่อนจะเปิดดำเนินการ รวมทั้งจำนวนที่เพิ่มขึ้น หรือลดลงในระหว่างดำเนินการด้วย
โดยให้ปฏิบัติตามวิธีการและระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
[รก.๒๕๔๐/๔๕ก./๓๑/๔ กันยายน ๒๕๔๐]