คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1114/2525
หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -
นางสมศรี เรืองโอภาษ โจทก์
กรมชลประทาน กับพวก จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา 1304
พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ.2485
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าคลองรังสิตประยูรศักดิ์และที่ดินคันคลองโดยเฉพาะหน้าที่ดินโจทก์ตามฟ้องเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์และประชาชนทั่วไปมีสิทธิใช้เป็นทางจากที่ดินของโจทก์ลงไปสู่คลองได้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจหน้าที่เอาเขตคันคลองที่พิพาทตรงเฉพาะหน้าที่ดินของโจทก์ไปประมูลให้เช่า ให้จำเลยที่ 2 และบริวารเลิกการครอบครองใช้เขตคันคลองที่พิพาท ให้จำเลยที่ 2 ถอนเสาคอนกรีตที่ปักกั้นหรือสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ระหว่างเขตคันคลองที่พิพาทกับที่ดินของโจทก์ออกไปทั้งหมด ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 48,333 บาท พร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จนกว่าจำเลยที่ 2 และบริวารจะเลิกครอบครองใช้เขตคันคลองที่พิพาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ประเด็นข้อ 3 ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธินำเขตคันคลองที่พิพาทไปประมูลให้จำเลยที่ 2 เช่าทำท่าเรือขนถ่ายสินค้าได้หรือไม่นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าเขตคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์เดิมมีพระบรมราชโองการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ขุดคลองรังสิตประยูรศักดิ์ และกำหนดที่แผ่นดิน 2 ฝั่งคลองที่ยื่นขึ้นไปฝั่งละ 1 เส้นให้ยกไว้เป็นของกลางสำหรับแผ่นดินเพื่อที่จะได้ทำถนนหนทางหลวงให้มหาชนได้ไปมาอาศัยโดยสะดวก และผู้ที่ได้จับจองที่แผ่นดินทั้ง 2 ฝั่งคลองนี้อาศัยทำสะพานน้ำ ท่าน้ำ ตรงเขตในที่ที่ตนก็ทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าแต่อย่างใด แต่จะปลูกต้นผลไม้หรือก่อสร้างสิ่งใดลงในที่ริมฝั่งคลองไม่ได้ฉะนั้นเขตคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์ทั้งสองฝั่งจึงเป็นสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนทั่ว ๆ ไปใช้สอย ต่อมาเมื่อได้มีพระราชบัญญัติรักษาคลองร.ศ. 121 ใช้บังคับก็หาได้มีการเปลี่ยนแปลงฐานะของคลองรังสิตประยูรศักดิ์ให้เป็นอย่างอื่นไปไม่ ครั้นเมื่อมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับ เขตคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์จึงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ในปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 ใช้บังคับก็ยังไม่มีบทมาตราใดกำหนดฐานะของเขตคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์เป็นอย่างอื่นคงมีแต่มาตรา 23 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 ที่กำหนดอำนาจและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ให้ดูแลห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้าง แก้ไข หรือต่อเติมสิ่งก่อสร้าง หรือปลูกปักสิ่งใด หรือทำการเพาะปลูกรุกล้ำทางน้ำชลประทาน ชานคลองเขตคันคลองหรือเขตพนัง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายช่างชลประทานเท่านั้น มิได้รวมถึงให้มีอำนาจและหน้าที่นำเขตคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์ไปให้เช่าได้โดยมิได้คำนึงถึงสิทธิของบุคคลอื่นที่มีต่อเขตคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์มาแต่เดิม ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 ได้นำเอาเขตคันคลองที่พิพาทไปประมูลให้จำเลยที่ 2 เช่าโดยเฉพาะ และจำเลยที่ 2 ได้ปักเสาคอนกรีตกั้นที่แนวเขตคันคลองที่พิพาทตรงที่ติดต่อกับเขตที่ดินของโจทก์จนโจทก์ไม่สามารถใช้สอยหาประโยชน์จากการที่จะผ่านเขตคันคลองที่พิพาทไปสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ตามสิทธิอันพึงมีของโจทก์จนเป็นที่เดือนร้อนเสียหายแก่โจทก์เกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติหรือเหตุอันสมควรเช่นนี้ จำเลยทั้งสองจึงกระทำมิได้และโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อให้ความเดือดร้อนเสียหายหมดไปโดยให้เพิกถอนสัญญาเช่าระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อ 4 ค่าเสียหายของโจทก์มีจำนวนเท่าใดนั้น เห็นว่าค่าเสียหายที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องและนำสืบมานั้น เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ได้มาจากการแสวงหาผลประโยชน์ในที่ดินของโจทก์อันสืบเนื่องมาจากเหตุที่โจทก์มีเขตที่ดินติดต่อกับเขตคันคลองที่พิพาท ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ได้ เพราะมิใช่ความเสียหายที่เกิดจากความเดือดร้อนที่โจทก์ขาดประโยชน์ใช้สอยเขตคันคลองที่พิพาทและคลองรังสิตประยูรศักดิ์โดยตรงตามปกติธรรมดา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหาย นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ"
( สุชาติ จิวะชาติ - พิศิษฏ์ เทศะบำรุง - ประสม ศรีเจริญ )
หมายเหตุ