คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530/2511

หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา
หมายเลขคดีดำ -

หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -

 
นางยี ผลทับทิม                                                                        โจทก์
นายอำเภอท่าช้าง โดยนายโกวิท รามนัฎ ที่ 1                                          จำเลย
นายอุกฤษฎ์ โรหิตเสถียร นายช่าง ผู้ควบคุมการก่อสร้างโครงการชันสูตร ที่ 2      จำเลย
ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี โดยนายพัฒน์ พินธุโยธิน ที่ 3 กรมชลประทาน           จำเลย
โดยหม่อมหลวงชูชาติ กำภู ที่
 

พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ.2485 มาตรา 9, 12
พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลถอนสมอ อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรีและตำบลอองครักษ์ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง พ.ศ.2511 มาตรา 4

 
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้ใช้ให้ข้าราชการในบังคับบัญชาของตนร่วมกับจำเลยที่ 1 เข้าไปในที่ดินโฉนดที่ 2488 ของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ชี้แนวเขตทำการปักหลักเขตเป็นแนวกว้าง 6 เมตร ยาวประมาณ 320 เมตร จำเลยที่ 2 ได้จัดรถขุดดินเข้าขุดที่ดินตามแนวนั้นลึกประมาณ 3 เมตร โจทก์ห้ามก็ไม่ฟัง ทำให้ที่ดินของโจทก์เป็นคลองลึกใช้น้ำไม่ได้ จำเลยที่ 3-4 ต้องรับผิดชอบในผลเสียหาย อันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1-2 ในทางแพ่ง ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-2 ทางอาญาและให้จำเลยทั้งสี่กลบที่ดินของโจทก์ให้กลับคงคืนตามสภาพเดิม
ชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ขอถอนฟ้องคดีส่วนอาญา ศาลอนุญาตและระหว่างส่งหมายเรียกทางแพ่ง จำเลยที่ 2 ตาย โจทก์ขอถอน

ฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ศาลอนุญาต
จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า มิได้ชี้แนวเขตและปักหลัก
จำเลยที่ 3 ปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 4 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 4 มีหน้าที่ดำเนินการและควบคุมกิจการชลประทานทั่วประเทศ จำเลยที่ 2 เป็นนายช่างชลประทานโครงการชันสูตรที่ดำเนินการขุดคลองระบายน้ำในที่พิพาท ก็เนื่องจากเจ้าของที่ดินหลายรายที่อยู่ทางใต้ที่ดินโจทก์ และห่างไกลทางน้ำชลประทานได้แสดงความจำนงขอทำทางน้ำผ่านที่ดินโจทก์เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทำนาและจำเลยที่ 2 เห็นว่าไม่มีวิธีอื่น จึงอนุญาตและช่วยเหลือใช้รถขุด ก่อนขุดราษฎรทุกคนและโจทก์ยินยอม จำเลยที่ 2 ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาและจำเลยที่ 4 ทำตามตำแหน่งหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ชี้แนวเขตและปักหลักเขต สำหรับจำเลยที่ 4 เมื่อหน่วยงานชลประทานโครงการชันสูตรนำรถเข้าขุดที่ดินของโจทก์ โดยโจทก์มิได้ยินยอม และเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายด้วยนั้น จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดร่วมด้วยพิพากษาให้ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ให้จำเลยที่ 4 จัดการกลบที่ดินของโจทก์ที่ถูกขุดให้คงคืนตามสภาพเดิม

จำเลยที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 9 ให้สิทธิเจ้าของที่ดิน ผู้จะได้รับประโยชน์จากการชลประทานที่อยู่ห่างทางน้ำและไม่มีวิธีอื่นทำได้ มีสิทธิทำทางน้ำผ่านที่ดินของผู้อื่นได้ตามเงื่อนไขที่ระบุ รถขุดของโครงการชันสูตรทำแทนเจ้าของที่ดินผู้มีสิทธิตามกฎหมาย ไม่เป็นละเมิดจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิด พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ด้วย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 9 ได้บัญญัติไว้ว่า "เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการชลประทานถ้าไม่สามารถจะทำได้โดยวิธีอื่น ให้เจ้าของที่ดินที่อยู่ห่างทางน้ำหรือแหล่งน้ำใดมีสิทธิทำทางน้ำผ่านที่ดินของผู้อื่นได้ ในเมื่อนายช่างชลประทาน ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือนายอำเภอได้อนุญาตและกำหนดให้โดยกว้างรวมทั้งที่ทิ้งดินด้วยไม่เกิน 10 เมตร แต่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินที่ทางน้ำนั้นผ่าน ฯลฯ" เมื่อเทียบกับมาตรา 12 แห่ง พระราชบัญัติเดียวกัน ซึ่งให้อำนาจเจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าครอบครองและใช้ที่ดินเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อทำประโยชน์ในการชลประทานได้ แม้จะยังมิได้ชำระเงินค่าทำขวัญ ฯลฯ แล้ว เห็นได้ว่าความมุ่งหมายของมาตรา 9 นั้น เจ้าของที่ดินที่อยู่ห่างทางน้ำ แม้ไม่สามารถจะทำได้โดยวิธีอื่น และนายช่างชลประทานจะได้อนุญาตให้ทำทางน้ำผ่านที่ดินของโจทก์ได้แล้วก็ตาม ก็ยังมีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เสียก่อนจึงจะมีสิทธิทำทางน้ำผ่านที่ดินของโจทก์ และเมื่อเจ้าของที่ดินที่อยู่ห่างทางน้ำยังไม่มีสิทธิทำทางน้ำผ่านที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายช่างชลประทานก็ยังไม่มีสิทธิทำทางน้ำผ่านที่ดินของโจทก์ในนามบุคคลดังกล่าว คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน เพียงแต่ขอให้จำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 4 ผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 กลบที่ดินของโจทก์ให้กลับคงคืนตามสภาพเดิม คำขอข้อนี้ของโจทก์ไม่อาจบังคับได้ เพราะปรากฏว่าได้มี พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลถอนสมอ ฯลฯ พ.ศ. 2511 ให้เวนคืนที่รายพิพาทให้แก่กรมชลประทานจำเลยที่ 4 แล้ว
พิพากษายืน

( วงษ์ วีระพงศ์ - โชค จารุจินดา - บัญญัติ สุขารมณ์ )

หมายเหตุ