คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2020/2497

 

หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา

หมายเลขคดีดำ -

 

หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น

หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -
ข้าหลวงเชียงใหม่ ที่ 1 ขุนอนุพลนคร ที่ 2      โจทก์
บริษัทบอเนียว ที่ 1 นายบุญเลา ที่ 2               จำเลย

 

ป.วิ.พ. มาตรา 55

พ.ร.บ.การชลประทานราษฎร์ พ.ศ.2482 มาตรา 4, 11

พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 115

พ.ร.บ.ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2476 มาตรา 18, 20

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่โจทก์ที่ 2 เป็นหัวหน้าชลประทานเหมืองฝายไม้ไร่รออันเป็นชลประทานส่วนราษฎร จำเลยได้ตัดฟันไม้สักแล้วปล่อยให้ซุงไหลมาตามน้ำโดยไม่ได้ระมัดระวังตามสมควรตามสัญญาสัมประทาน จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จัดการแทนจำเลยที่ 1 ละเลยไม่จัดช้างมาทำการงัดซุงให้พ้นฝายเป็นเหตุให้ฝายพัง 2 ครั้ง เสียค่าซ่อมทั้งสิ้น 35,000 บาท

 

จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ฝายเก่าพังเองไม้ซุงที่ทำให้ฝายพังไม่ใช่ไม้ของจำเลย โจทก์ไม่ระมัดระวังฝายให้ดี ฝายจึงพังลง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์เคยฟ้องจำเลยครั้งหนึ่งแล้วศาลยกฟ้องจึงเป็นฟ้องซ้ำ

 

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีก่อนศาลตัดสินยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ฝายรายพิพาทนี้เป็นเหมืองชลประทานส่วนราษฎรตาม พระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร พ.ศ. 2482 แต่เห็นว่าโจทก์ที่ 2 ฟ้องในฐานะส่วนบุคคลจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนโจทก์ที่ 1 นั้นมีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร พ.ศ. 2482 มาตรา 11, 22(ข)(ค) และพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2466 มาตรา 18, 20 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 114 ถึง 122 ในเรื่องการเสียหายนั้นศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยทำให้โจทก์เสียหายจริงตามฟ้องต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 13,570 บาท

 

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า โจทก์ที่ 2 ฟ้องในฐานะเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร พ.ศ. 2482 จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 15,720 บาท

 

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำและไม่เคลือบคลุมข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเหมืองฝายรายพิพาทเป็นเหมืองชลประทานส่วนราษฎรข้าหลวงประจำจังหวัดย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ตามพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร พ.ศ. 2482 มาตรา 4, 11 และพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ 2457 มาตรา 115 ส่วนโจทก์ที่ 2 นั้นตามคำบรรยายฟ้องกล่าวว่าเป็นหัวหน้าชลประทานเหมืองฝายไม้ไร่รอ จึงเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎรและเป็นผู้จัดการซ่อมแซมบำรุงรักษาในกรณีการเสียหายที่พิพาทนี้ จึงมีอำนาจฟ้อง การเสียหายรายพิพาทนี้เกิดขึ้นเนื่องจากไม้ซุงของจำเลย จำเลยมิได้ป้องกันความเสียหายแก่เหมืองฝายตามสัญญาสัมประทาน จึงจะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ จึงพิพากษายืน

 

( มนูภันย์วิมลสาร - พิบูลย์ไอศวรรย์ - ประศาสน์วินิจฉัย )

 

 

หมายเหตุ