คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2139/2552

 

หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา
หมายเลขคดีดำ -

หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -

 

นายประเวทย์ ศิลปคนธรรพ์               โจทก์
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย       จำเลย
 

ป.พ.พ. มาตรา 146

พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30, 30 ทวิ วรรคสาม

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนเป็นเงินทั้งสิ้น 5,034,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่จำเลยต้องฝากเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เงินค่าทดแทนที่โจทก์เรียกเพิ่มนั้นเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่มีหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าทดแทน ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์ 893,575 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะได้รับทั้งสิ้น 2,574,842.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์เป็นเงิน 290,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะได้รับทั้งสิ้น 1,971,267 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินจากต้นเงิน 290,000 บาท นับแต่วั้นที่ 30 มีนาคม 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกากาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันฟังได้เป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 29693 ตำบลหนองสองห้อง (ดอนไผ่) อำเภอบ้านแพ้ว (ตลาดใหม่) จังหวัดสมุทรสาคร (นครไชยศรี) เป็นที่ดินที่นางสาวซุ่ยงิ้น และนางสาวชุนจู พี่สาวโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกัน โจทก์เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 82 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองสองห้อง พร้อมสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยได้กำหนดแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าผ่านที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ต้องรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากบริเวณที่ดินดังกล่าว โดยกำหนดเงินค่าทดแทนทรัพย์สินให้แก่โจทก์รวมทั้งสิ้น 1,681,267 บาท โจทก์เห็นว่าน้อยเกินไปและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มอีก รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,034,000 บาท ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 893,575 บาท โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ 290,000 บาท โจทก์และจำเลยฎีกา

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนหลายรายการแก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,681,267 บาท ถูกต้องและเป็นธรรมแล้วหรือไม่ สำหรับค่าโรงเก็บเครื่องมือการเกษตร ค่าทดแทนค่าจ้างรื้อย้ายและค่าขนย้ายสิ่งปลูกสร้าง และค่าขาดประโยชน์นั้น ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันว่าในส่วนของค่าทดแทนค่าจ้างรื้อย้ายและขนย้ายสิ่งปลูกสร้าง จำเลยกำหนดรวมไว้กับเงินค่าทดแทนอาคารและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์แล้ว ส่วนค่าโรงเก็บเครื่องมือการเกษตรปรากฏว่าโจทก์เองเคยมีหนังสือขอเงินค่าทดแทนส่วนนี้จากจำเลยเป็นเงิน 150,000 บาท แสดงว่าโจทก์พอใจเรียกร้องเงินค่าทดแทนส่วนนี้ตามจำนวนเงินดังกล่าว และในส่วนของค่าขาดประโยชน์นั้น ถึงแม้โจทก์จะต้องย้ายออกจากบ้านหลังเดิมโดยใช้เวลาในการปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ และยังไม่สามารถย้ายไปอาศัยอยู่ได้จนกว่าจะแล้วเสร็จ โจทก์ก็ยังคงสามารถที่จะประกอบอาชีพขายผลไม้ได้ตามปกติ แม้จะไม่เป็นการสะดวกในการประกอบอาชีพ แต่ก็ไม่มีเหตุถึงกับจะต้องหยุดค้าขายเพื่อรอให้สร้างบ้านหลังใหม่เสร็จ จึงไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือขาดประโยชน์จากการหยุดประกอบกิจการในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ประกอบด้วยเหตุผลอย่างสมเหตุผล และศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาคณะคดีปกครองจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นไม่กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับค่าโรงเก็บเครื่องมือการเกษตร ค่าจ้างรื้อย้ายและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างกับค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์มานั้นศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในประเด็นส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น

รายการค่าทดแทนอาคารและสิ่งปลูกสร้างซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเพิ่มให้แก่โจทก์หลายรายการ คือ ค่าทดแทนในการรื้อย้ายบ้านพักอาศัยกำหนดเพิ่มให้อีกจำนวน 650,000 บาท ค่าถมดินกำหนดเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 40,000 บาท ค่าเสาเข็มกำหนดเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 33,575 บาท สำหรับโรงเก็บเครื่องมือการเกษตร เห็นไม่สมควรกำหนดค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ส่วนค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างอื่น เช่น ศาลพระภูมิ อาคารจอดรถบรรทุก อู่จอดเรือ และโรงเก็บผลไม้ สมควรกำหนดเพิ่มให้อีกรวมเป็นเงิน 70,000 บาท และยังเห็นสมควรกำหนดค่าทดแทนเป็นค่าทำถนนดินลูกรังจากถนนสาธารณะมายังบ้านพักอาศัยให้แก่โจทก์ด้วยเป็นเงิน 100,000 บาท รวมกำหนดเพิ่มเงินค่าทดแทนจากที่จำเลยกำหนดให้เป็นเงิน 893,575 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยแตกต่างขัดแย้งเป็นว่า ค่าทดแทนรื้อย้ายบ้าน ค่าถมดิน ค่าเสาเข็ม และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่จำเลยกำหนดให้แก่โจทก์นั้นถูกต้องเป็นธรรมแล้วไม่สมควรกำหนดเพิ่มให้อีก คงกำหนดค่าทดแทนเพิ่มให้เฉพาะค่าทำถนนลูกรังเข้าบ้านพักและเขื่อนหินเรียงกันดินบริเวณบ้านพักอาศัย เป็นเงิน 290,000 บาท เท่านั้น...

สำหรับฎีกาของจำเลยที่ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดเงินค่าทดแทนเป็นค่าทำถนนลูกรังเข้าบ้านพักและเขื่อนหินเรียงกันดินบริเวณหน้าบ้านพักอาศัยเป็นเงิน 290,000 บาท เป็นการไม่ชอบนั้น ประเด็นข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยในเหตุผลว่า เมื่อโจทก์ต้องรื้อย้ายบ้านออกไปจากที่ดินพี่สาวโจทก์ไปอยู่ที่อื่นแล้ว โจทก์ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ของถนนและเขื่อนหินได้โดยสภาพอีกต่อไป จึงสมควรกำหนดค่าทดแทนส่วนนี้ให้ จำเลยฎีกาคัดค้านว่าการที่โจทก์อาศัยที่ดินของผู้อื่น เมื่อปลูกสร้างสิ่งใดบนที่ดินโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ต่อเจ้าของที่ดิน สิ่งปลูกสร้างนั้นย่อมตกเป็นส่วนควบของที่ดิน โจทก์จะมาเรียกร้องค่าทดแทนไม่ได้นั้น เห็นว่า ในการสร้างบ้านพักอาศัยพร้อมสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ รวมทั้งถนนลูกรังและเขื่อนหินเรียงกันดินบริเวณหน้าบ้านพักอาศัยของโจทก์นั้นได้รับความยินยอมและอยู่ในความรู้เห็นของเจ้าของที่ดิน จึงถือได้ว่าถนนลูกรังและเขื่อนหินเรียงกันดินบริเวณหน้าบ้านพักอาศัยเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 ที่จะไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน การที่จำเลยยกข้อกฎหมายขึ้นอ้างว่า ถนนลูกรังและเขื่อนหินเรียงเป็นส่วนควบของที่ดิน เพื่อปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ ทั้งๆ ที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง แต่กลับไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ต่อไปเนื่องจากต้องรื้อถอนบ้านพักขนย้ายครอบครัวออกไปเพราะถูกแนวเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยพาดผ่าน จึงไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ที่มุ่งหมายจะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องพิจารณาจ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านอย่างเป็นธรรม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น....

สำหรับฎีกาประการสุดท้ายที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2542 เป็นการไม่ชอบ เพราะศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในวันที่ 19 สิงหาคม 2547 จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับตั้งแต่วันดังกล่าวนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ทวิ วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “...ให้เจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นใดรับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย วางหรือฝากเงินค่าทดแทนนั้น” คำว่า “...ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย วางหรือฝากเงินค่าทดแทน” หมายความถึงวันที่จำเลยมีภาระต้องจ่ายเงิน วางหรือฝากเงินค่าทดแทน หาใช่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ต้องจ่ายเพิ่มไม่ คดีนี้ได้ความเป็นยุติว่า หลังจากที่โจทก์ไม่ยอมรับเงินค่าทดแทนจากจำเลย จำเลยได้นำเงินดังกล่าวไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน จำกัด สาขาสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2542 ดังปรากฏตามหนังสือแจ้งการนำเงินค่าทดแทนทรัพย์สินไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าจำเลยได้ยอมรับอยู่ในตัวว่าจำเลยมีภาระหน้าที่ต้องฝากเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันดังกล่าว ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย ในจำนวนเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยนำเงินค่าทดแทนไปฝากธนาคารเป็นต้นไป ไม่ใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในวันที่ 19 สิงหาคม 2547 ดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( ธานิศ เกศวพิทักษ์ - ประทีป ปิติสันต์ - สิทธิชัย พรหมศร )

หมายเหตุ