ประกาศกรมทรัพยากรธรณี ออกตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2542) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเก็บตัวอย่างน้ำบาดาล
ประกาศกรมทรัพยากรธรณี
ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๒)
ออกตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล
พ.ศ. ๒๕๒๐
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเก็บตัวอย่างน้ำบาดาล
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑๓ แห่งประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ ๒ แห่งประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๒) และข้อ ๒ (๔) แห่งประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ ๑ แห่งประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๒๘) อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเก็บตัวอย่างน้ำบาดาลไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศกรมทรัพยากรธรณี ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ออกตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ เรื่อง กำหนดวิธีการเก็บตัวอย่างน้ำบาดาล
ข้อ ๒ ให้ผู้ประกอบกิจการน้ำบาดาล เป็นผู้ดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำ
ข้อ ๓ การเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อวิเคราะห์คุณลักษณะทางกายภาพและทางเคมี ดำเนินการ ดังนี้
(๑) การเก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำบาดาลที่เจาะใหม่ ให้เก็บในขณะทำการทดสอบปริมาณน้ำโดยเก็บก่อนทำการหยุดสูบประมาณ ๑๕ นาที
(๒) การเก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำบาดาลที่ได้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลแล้ว ให้เก็บหลังจากการเริ่มสูบน้ำใช้ในวันที่จะเก็บตัวอย่างน้ำไปแล้วไม่น้อยกว่า ๑๕ นาที
(๓) ภาชนะที่จะใส่ตัวอย่างน้ำ ต้องเป็นขวดแก้ว หรือขวดพลาสติกที่สะอาดและจะต้องล้างทั้งขวดและฝาด้วยน้ำที่จะบรรจุเสียก่อนประมาณ ๒-๓ ครั้งแล้วจึงบรรจุตัวอย่างน้ำให้เต็ม ปิดฝาให้แน่นแล้วรีบนำส่งวิเคราะห์ทันที
(๔) ปริมาณน้ำตัวอย่างที่เก็บจะต้องไม่น้อยกว่า ๑.๕ ลิตร
ข้อ ๔ การเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อวิเคราะห์คุณลักษณะที่เป็นพิษดำเนินการ ดังนี้
(๑) การเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณ สารหนู ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และซีลีเนียม ให้ใช้ภาชนะที่จะใส่ตัวอย่างน้ำและวิธีการเก็บตัวอย่างน้ำเช่นเดียวกับข้อ ๓ แล้วเติมกรดดินประสิว (Nitric acid) ที่มีความเข้มข้น ๑ : ๑ จำนวน ๔ มิลลิลิตร ต่อตัวอย่างน้ำ ๑ ลิตร เพื่อทำให้น้ำมีค่าความเป็นกรดต่ำกว่า ๒ ปิดฝาให้แน่น เขย่าให้เข้ากัน แล้วรีบนำส่งวิเคราะห์ทันที ยกเว้นปรอทจะต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิ ๔ องศาเซลเซียสด้วย
(๒) การเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณไซยาไนด์ ให้ใช้ภาชนะที่จะใส่ตัวอย่างน้ำและวิธีการเก็บตัวอย่างน้ำเช่นเดียวกับข้อ ๓ แล้วเติมสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์เข้มข้น ๕ นอร์มัล จำนวน ๖ มิลลิลิตร ต่อตัวอย่างน้ำ ๑ ลิตร เพื่อทำให้น้ำมีค่าความเป็นด่างมากกว่า ๑๒ ปิดฝาให้แน่น เขย่าให้เข้ากันเก็บไว้ที่อุณหภูมิ ๔ องศาเซลเซียส และไม่ให้ถูกแสงสว่าง แล้วรีบนำส่งวิเคราะห์ทันที
ข้อ ๕ การเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อวิเคราะห์คุณลักษณะทางบัคเตรี ให้เก็บตัวอย่างภายหลังการพัฒนาบ่อน้ำบาดาลเสร็จเรียบร้อย และให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๓๓๒ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑ เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำบริโภค เล่ม ๑ ข้อกำหนดเกณฑ์คุณภาพ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ข้อ ๖ เมื่อเก็บตัวอย่างน้ำเรียบร้อยแล้ว ให้กรอกข้อความต่อไปนี้ไว้ข้างขวด
(๑) หมายเลขบ่อตามใบอนุญาต
(๒) สถานที่ตั้งบ่อ
(๓) ความลึกของบ่อ
(๔) ชื่อผู้เก็บตัวอย่างน้ำ
(๕) วันที่เก็บตัวอย่างน้ำ
(๖) สารเคมีที่เติม
ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[๑]
ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
นภดล มัณฑะจิตร
อธิบดีกรมทรัยากรธรณี
อัมภิญา/พิมพ์
๑๖ มกราคม ๒๕๕๐
ปฐมพร/จัดทำ
๒๑ มกราคม ๒๕๕๑
ปริญสินีย์/ปรับปรุง
๒๖ เมษายน ๒๕๕๖
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนพิเศษ ๕๖ ง/หน้า ๒๓/๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๒