ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓

ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ

จังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พ.ศ. ๒๕๕๓

                       

 

                 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี จึงออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ให้ยกเลิก

                  (๑) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายางและอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗

                  (๒) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗

ข้อ ๒  ในประกาศนี้

“แนวชายฝั่งทะเล” หมายความว่า แนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ

                    ข้อ ๓  ให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ และเขตอนุรักษ์ของจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังต่อไปนี้ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

                    (๑) พื้นที่ภายในแนวเขตตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ เรื่อง การกำหนดให้ท้องที่เขตอำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหินกับอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเขตควบคุมมลพิษ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙ เฉพาะในพื้นที่ตำบลบางตะบูน ตำบลบางตะบูนออก ตำบลบ้านแหลม ตำบลบางขุนไทร ตำบลปากทะเล ตำบลบางแก้ว และตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม ตำบลหาดเจ้าสำราญ และตำบลหนองขนาน อำเภอเมืองเพชรบุรี ตำบลปึกเตียน อำเภอท่ายาง ตำบลหนองศาลา ตำบลบางเก่า และเทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เทศบาลเมืองหัวหิน อำเภอหัวหิน และตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

                   (๒) พื้นที่ภายในแนวเขตตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนลากและอวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เฉพาะในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปในทะเลเป็นระยะ ๓,๐๐๐ เมตร ตั้งแต่ด้านเหนือ ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ลงไปทางทิศใต้ขนานกับแนวชายฝั่งทะเลจนถึงสุดเขตตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ข้อ ๔  ให้จำแนกพื้นที่ตามข้อ ๓ เป็น ๗ บริเวณ ตามแผนที่ท้ายประกาศนี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

บริเวณที่ ๑ หมายถึง พื้นที่ตำบลบางตะบูน และตำบลบางตะบูนออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ยกเว้นบริเวณที่ ๗

บริเวณที่ ๒ หมายถึง พื้นที่ตำบลบ้านแหลม ตำบลบางขุนไทร ตำบลปากทะเล ตำบลบางแก้ว และตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ยกเว้นบริเวณที่ ๗

                  บริเวณที่ ๓ หมายถึง พื้นที่ตำบลหาดเจ้าสำราญ และตำบลหนองขนาน อำเภอเมืองเพชรบุรี ตำบลปึกเตียน อำเภอท่ายาง ตำบลหนองศาลา และตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ยกเว้นบริเวณที่ ๗

บริเวณที่ ๔ หมายถึง พื้นที่เทศบาลเมืองชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่เทศบาลเมืองหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยกเว้นบริเวณที่ ๗

บริเวณที่ ๕ หมายถึง พื้นที่ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยกเว้นบริเวณที่ ๗

บริเวณที่ ๖ หมายถึง พื้นที่ภายในบริเวณตามข้อ ๓ (๒) ยกเว้นบริเวณที่ ๗

บริเวณที่ ๗ หมายถึง พื้นที่ป่าชายเลน

ข้อ ๕  ในพื้นที่ตามข้อ ๔ ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ เป็นอาคารโรงงานอุตสาหกรรมทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่

(๑) อาคารโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ ๑ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ในพื้นที่บริเวณที่ ๑ พื้นที่บริเวณที่ ๒ พื้นที่บริเวณที่ ๓ และพื้นที่บริเวณที่ ๔

(๒) อาคารโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ ๒ หรือจำพวกที่ ๓ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานตามประเภท ชนิด และข้อกำหนดเพิ่มเติมในบัญชีท้ายประกาศนี้ ในพื้นที่บริเวณที่ ๔

(๓) อาคารโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ ๑ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันไม่เกิน ๑๐๐ ตารางเมตร ในพื้นที่บริเวณที่ ๕

                  (๔) อาคารโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ ๑ จำพวกที่ ๒ หรือจำพวกที่ ๓ จำเป็นต้องก่อสร้างทดแทนของเดิมเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงานให้ดีกว่าเดิม หรือโรงงานที่เพิ่มเครื่องจักรเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และไม่เข้าข่ายขยายโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน  ทั้งนี้ ให้ก่อสร้างได้เฉพาะในบริเวณพื้นที่เดิมเท่านั้น

                  ข้อ ๖  พื้นที่บริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๒ บริเวณที่ ๓ และบริเวณที่ ๕ ทั้งนี้เฉพาะในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๒๐๐ เมตร และพื้นที่บริเวณที่ ๔ ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ เป็นอาคาร ดังต่อไปนี้

                   (๑) อาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน ๑๐ ตารางเมตร หรืออาคารเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดเพื่อการค้าหรือที่ก่อเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

                    (๒) ฌาปนสถาน เว้นแต่การก่อสร้างทดแทนหรือดัดแปลงของเดิมในพื้นที่เดิม ซึ่งจะต้องมีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศ รวมทั้งสิ่งก่อสร้างและอาคารประกอบของระบบควบคุมมลพิษทางอากาศต้องเป็นไปตามมาตรฐานของทางราชการ

                   (๓) สุสาน เว้นแต่กรณีสุสานที่มีอยู่เดิมในพื้นที่บริเวณที่ ๔ ที่ได้ใช้ประโยชน์เต็มพื้นที่เดิมที่ได้จัดไว้เพื่อการนั้นแล้ว ก็ให้ดำเนินการได้ แต่ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ เมตร และมีระยะห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะหรือบ่อน้ำเพื่อการบริโภคไม่น้อยกว่า ๓๐๐ เมตร

                   (๔) ระบบกำจัดหรือบำบัดของเสียรวม เว้นแต่กรณีการดำเนินการโดยส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือการดำเนินการโดยเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ

(๕) ท่าเทียบเรือ เว้นแต่ท่าเทียบเรือสาธารณะสำหรับเรือประมงหรือเรือเพื่อการท่องเที่ยวขนาดต่ำกว่า ๖๐ ตันกรอส และท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา

(๖) อู่ต่อเรือ

ข้อ ๗  ในพื้นที่ตามข้อ ๔ ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ในบริเวณพื้นที่ ดังต่อไปนี้

                  (๑) พื้นที่บริเวณที่ ๒ บริเวณที่ ๓ และบริเวณที่ ๔ ที่เป็นพื้นที่แนวน้ำท่วมหลากตามประกาศจังหวัดเพชรบุรี เรื่อง โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยจังหวัดเพชรบุรี ด้วยมาตรการด้านผังเมือง ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๙ เฉพาะภายในระยะ ๖ เมตร จากริมฝั่งแม่น้ำ คลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะ

(๒) พื้นที่บริเวณที่ ๔ เฉพาะภายในระยะ ๑๒ เมตร จากแนวโดยรอบคันขอบอ่างเก็บน้ำเขาเต่า

ข้อ ๘  การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ในบริเวณพื้นที่ตามข้อ ๔ ซึ่งไม่ใช่กรณีที่ต้องห้ามตามข้อ ๕ ข้อ ๖ หรือข้อ ๗ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

                  (๑) พื้นที่บริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๒ และบริเวณที่ ๓ ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเล เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๕๐ เมตร ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร พื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน ๗๕ ตารางเมตร และมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร

(๒) พื้นที่บริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๒ และบริเวณที่ ๓ ที่วัดจากแนวเขตตาม (๑) เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๑๕๐ เมตร ให้มีได้เฉพาะอาคารสูงไม่เกิน ๑๒ เมตร

                  (๓) พื้นที่บริเวณที่ ๔ และบริเวณที่ ๕ ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๕๐ เมตร ให้มีได้เฉพาะอาคารเดี่ยว ชั้นเดียวที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร พื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน ๗๕ ตารางเมตร โดยอาคารแต่ละหลังตั้งห่างกันไม่น้อยกว่า ๔ เมตร ห่างจากเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า ๒ เมตร มีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และต้องห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร อาคารของทางราชการเพื่อสาธารณประโยชน์ที่มีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร เขื่อน ทางหรือท่อระบายน้ำ รั้วหรือกำแพงที่มีความสูงไม่เกิน ๑ เมตร ประตูและสะพานที่ไม่ได้สร้างลงสู่ทะเล

                  (๔) พื้นที่บริเวณที่ ๔ และบริเวณที่ ๕ ที่วัดจากแนวเขตตาม (๓) เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๑๕๐ เมตร ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๒ เมตร และมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันไม่เกิน ๒,๐๐๐ ตารางเมตร หรืออาคารของทางราชการเพื่อสาธารณประโยชน์

                  (๕) พื้นที่บริเวณที่ ๕ ที่วัดจากแนวเขตตาม (๔) เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๕๐๐ เมตร ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๒๓ เมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร

                  (๖) พื้นที่บริเวณที่ ๕ ภายในพื้นที่ที่มีรัศมีโดยรอบเป็นระยะ ๑๐๐ เมตร วัดจากเขตที่ดินของพระตำหนักห้วยทรายใหญ่ ให้มีได้เฉพาะอาคารเดี่ยว ชั้นเดียวที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร พื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน ๗๕ ตารางเมตร โดยอาคารแต่ละหลังตั้งห่างกันไม่น้อยกว่า ๔ เมตร ห่างจากเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า ๒ เมตร มีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และต้องห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร อาคารของทางราชการเพื่อสาธารณประโยชน์ที่มีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร เขื่อน ทางหรือท่อระบายน้ำ รั้วหรือกำแพงที่มีความสูงไม่เกิน ๑ เมตร ประตูและสะพานที่ไม่ได้สร้างลงสู่ทะเล

(๗) พื้นที่บริเวณที่ ๖ ให้มีได้เฉพาะท่าเทียบเรือสาธารณะสำหรับเรือประมงหรือเรือเพื่อการท่องเที่ยวขนาดต่ำกว่า ๖๐ ตันกรอส หรือท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา

                  (๘) พื้นที่บริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๒ บริเวณที่ ๓ บริเวณที่ ๔ และบริเวณที่ ๕ ภายในพื้นที่ที่มีรัศมีโดยรอบเป็นระยะ ๑๐๐ เมตร วัดจากเขตที่ดินของโบราณสถานตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร

ข้อ ๙  การวัดความสูงของอาคาร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

                  (๑) กรณีที่ไม่มีการปรับระดับพื้นดินหรือมีการปรับระดับพื้นดินต่ำกว่าถนนสาธารณะในบริเวณที่ก่อสร้าง ให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้าง ในกรณีที่มีการปรับระดับพื้นดินเท่ากับถนนสาธารณะหรือสูงกว่าถนนสาธารณะให้วัดจากระดับถนนสาธารณะ

(๒) กรณีมีห้องใต้ดินซึ่งค่าระดับเป็นลบ ความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างเช่นเดียวกับกรณี (๑)

(๓) กรณีพื้นดินเป็นเชิงลาดแนวเชิงเขา ความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้าง ณ จุดที่ต่ำที่สุดของอาคารหลังนั้น

การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับตามวรรคหนึ่งขึ้นไปในแนวดิ่งถึงส่วนที่สูงสุดของอาคาร สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด

ข้อ ๑๐  ในพื้นที่ตามข้อ ๔ ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้

                  (๑) การทำเหมือง เว้นแต่การทำเหมืองแร่หินปูน หรือเหมืองแร่ดินซีเมนต์ เฉพาะบริเวณที่อยู่ในขอบเขตพื้นที่ของโรงงานซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการผลิตปูนซีเมนต์ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

(๒) การขุด ตัก ดูด หรือลอก กรวด ดิน ดินลูกรัง หรือทราย ในบริเวณหรือลักษณะใด ดังต่อไปนี้

(ก) บริเวณที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๓๕

(ข) ความลึกของบ่อจากระดับพื้นดินเกินกว่า ๓ เมตร

(ค) พื้นที่ปากบ่อเกินกว่า ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตร

(ง) ความลึกของบ่ออยู่เหนือชั้นน้ำบาดาลชั้นแรกน้อยกว่า ๒ เมตร

(จ) เพื่อการค้า หรือ

(ฉ) ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพสัณฐาน สภาพทางอุทกวิทยา การไหลของน้ำการพังทลายของดิน และทัศนียภาพ

(๓) การทำนาเกลือ เว้นแต่พื้นที่บริเวณที่ ๒ และบริเวณที่ ๓

(๔) การขนส่งหรือลำเลียงวัตถุอันตรายโดยใช้ระบบท่อขนส่ง

                  (๕) การถม ปรับพื้นที่ หรือปิดกั้น ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะตื้นเขิน เปลี่ยนทิศทางหรือทำให้น้ำในแหล่งน้ำนั้นไม่อาจไหลไปได้ตามปกติ เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือป้องกันน้ำท่วม

                   (๖) การกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางธรณีสัณฐานด้านกายภาพชีวภาพ หรือชีวกายภาพ ในบริเวณพื้นที่สันทราย สันดอน หน้าผา หรือปากน้ำ เว้นแต่การกระทำของทางราชการเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง หรือเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ

                 (๗) การกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพหาดไปจากเดิม หรือทำให้ทัศนียภาพบริเวณหาดเสียไป เว้นแต่การกระทำของทางราชการเพื่อการฟื้นฟูและรักษาสภาพตามธรรมชาติของหาด การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การรักษาความปลอดภัยทางทะเลและชายหาด การติดตั้งป้ายเตือนของทางราชการ หรือการทำทุ่น  ทั้งนี้ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตามข้อ ๑๒

                 (๘) การกระทำใด ๆ ที่เป็นการเปลี่ยนสภาพธรรมชาติของพื้นที่ป่าชายเลน เว้นแต่การดำเนินการของทางราชการเพื่อการวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครอง การฟื้นฟู การเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ

                 (๙) การกระทำใด ๆ ที่เปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในบริเวณที่ได้รับการประกาศเป็นแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ เว้นแต่การจัดให้มีสิ่งอำ นวยความสะดวกโดยส่วนราชการ เพื่อประโยชน์ด้านนันทนาการ การท่องเที่ยว การพักผ่อนหย่อนใจ โดยไม่ทำลายสภาพธรรมชาติและสอดคล้องกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม

(๑๐) การปล่อยทิ้งของเสียหรือมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว

(๑๑) การขับขี่ยานพาหนะในบริเวณชายหาด ยกเว้นการขับขี่เรือ

                   (๑๒) การเก็บหรือทำลายปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง หรือการกระทำใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบทำให้ปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง ถูกทำลายหรือเสียหาย เว้นแต่การดำเนินการ ดังนี้

 (ก) การกระทำเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ

                   (ข) กิจการสาธารณูปโภคของรัฐที่มีความจำเป็นตามที่คณะกรรมการตามข้อ ๑๒ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ

                 (๑๓) การทำประมงโดยใช้เครื่องมืออวนลากชนิดมีถุง เครื่องมืออวนรุน ระวะหรือชิบ รุนกุ้ง รุนเคย หรืออวนถุงทุกชนิดและทุกขนาด รวมถึงเครื่องมือคราดที่ใช้เรือยนต์ทุกชนิดทำการประมง เว้นแต่การกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการและได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประมง

 (๑๔) การถมทะเล เว้นแต่เป็นนโยบายของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี หรือมีความจำเป็นเพื่อกิจการของส่วนราชการโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการตามข้อ ๑๒ และคณะรัฐมนตรี

 (๑๕) การติดตั้งป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดตั้งป้ายบนพื้นดิน ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ป้ายหรือสิ่งที่ติดหรือตั้งป้ายของทางราชการ

                   (ก) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่เอกชนที่มีระยะห่างจากที่สาธารณะวัดเป็นมุมฉากในแนวราบบนพื้นดินและในอากาศน้อยกว่าสองเท่าของความสูงของป้ายและสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายนั้นในแนวดิ่ง

(ข) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่สาธารณะที่มีขนาดเกิน ๑ ตารางเมตรหรือมีน้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างเกิน ๑๐ กิโลกรัม

                   (ค) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามแนวทางหลวงหรือทางสาธารณะในลักษณะบดบังหรืออาจจะบดบังทัศนวิสัย หรือทัศนียภาพอันสวยงาม หรือน่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สิน และป้ายตามแนวทางหลวง ที่มีระยะห่างระหว่างป้ายน้อยกว่า ๑,๐๐๐ เมตร

(ง) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ ๔๐ เมตรขึ้นไป หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๓๕

                 ข้อ ๑๑  ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้างอาคาร หรือดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการในพื้นที่ตามข้อ ๔ นอกจากต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้แล้ว ให้จัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕

รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ให้จัดทำสำหรับการก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้

                  (๑) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม หรืออาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลเกินกว่า ๕๐ เมตร ซึ่งมีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง หรือมีพื้นที่ใช้สอยของทุกอาคารดังกล่าวรวมกันตั้งแต่ ๕๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่ถึง ๔,๐๐๐ ตารางเมตร

(๒) โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ที่มีจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืนตั้งแต่ ๑๐ เตียง ถึง ๒๙ เตียง

(๓) การจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ ที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยไม่ถึง ๒๕๐ แปลง หรือมีเนื้อที่ไม่เกิน ๑๐๐ ไร่

(๔) ท่าเทียบเรือสาธารณะสำหรับเรือประมงหรือเรือเพื่อการท่องเที่ยวขนาดต่ำกว่า ๖๐ ตันกรอส และท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาที่สามารถรับเรือได้ไม่ถึง ๕๐ ลำ ยกเว้นท่าเทียบเรือในบริเวณที่ ๕

                  (๕) โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมที่มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้ ไม่เกิน ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือสถานที่ที่ใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีปริมาณในการกำจัดไม่เกิน ๕๐ ตันต่อวัน แต่ไม่รวมถึงโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมเฉพาะสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

                   (๖) กิจการที่นำบ้านพักอาศัยที่มีจำนวนตั้งแต่ ๑๐ หลัง ถึง ๗๙ หลัง หรือห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง ที่อยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันหรือติดต่อกันไปให้บริการเป็นสถานที่พักในลักษณะโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้จัดทำสำหรับการก่อสร้างอาคารหรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้

                   (๑) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม หรืออาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลเกินกว่า ๕๐ เมตร ซึ่งมีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๘๐ ห้องขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยของทุกอาคารดังกล่าวรวมกันตั้งแต่ ๔,๐๐๐ ตารางเมตร ขึ้นไป

(๒) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม หรืออาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่เกิน ๕๐ เมตร

(๓) โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลที่มีจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืนตั้งแต่ ๓๐ เตียงขึ้นไป

(๔) การจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ ที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ ๒๕๐ แปลงขึ้นไป หรือมีเนื้อที่เกินกว่า ๑๐๐ ไร่

(๕) ท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา ที่สามารถรับเรือได้ตั้งแต่ ๕๐ ลำขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป

                   (๖) โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมที่มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้เกิน ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือสถานที่ที่ใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีปริมาณในการกำจัดเกิน ๕๐ ตันต่อวัน และโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมเฉพาะสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

                   (๗) กิจการที่นำบ้านพักอาศัยที่มีจำนวนตั้งแต่ ๘๐ หลัง หรือห้องแถว ตึกแถว บ้านแถวหรืออาคารพาณิชย์ ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๘๐ ห้อง ที่อยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันหรือติดต่อกันไปให้บริการเป็นสถานที่พักในลักษณะโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

(๘) โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ ๕ เมกกะวัตต์ขึ้นไป

(๙) อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

                  (๑๐) การก่อสร้างหรือขยายกำแพงริมชายฝั่งหรือติดแนวชายฝั่งที่มีความยาวตั้งแต่ ๒๐๐ เมตรขึ้นไป รอดักทราย เขื่อนกันทรายและคลื่น รอบังคับกระแสน้ำ แนวเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งทะเลหรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน

การก่อสร้างอาคารตามข้อนี้ ให้หมายความรวมถึงการดัดแปลงหรือการเปลี่ยนการใช้อาคารด้วย

                   ข้อ ๑๒  เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแล ติดตาม ตรวจสอบการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และให้ความเห็นชอบการนำแผนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไปปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้

                   (๑) คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในจังหวัดเพชรบุรี ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการประจำจังหวัดเพชรบุรีที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอบ้านแหลม นายอำเภอเมืองเพชรบุรี นายอำเภอท่ายาง นายอำเภอชะอำ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พื้นที่ตามข้อ ๔ อยู่ในเขตรับผิดชอบ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในจังหวัดเพชรบุรีไม่เกินสามคน ผู้แทนภาคเอกชนซึ่งมีกิจการเกี่ยวกับเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม ที่อยู่ในจังหวัดเพชรบุรีไม่เกินสามคน และผู้แทนภาคเอกชนซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่อยู่ในจังหวัดเพชรบุรีไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี เป็นกรรมการและเลขานุการ

                   (๒) คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอหัวหิน นายอำเภอปราณบุรี ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พื้นที่ตามข้อ ๔ อยู่ในเขตรับผิดชอบ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่เกินสามคน ผู้แทนภาคเอกชนซึ่งมีกิจการเกี่ยวกับเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่เกินสามคน และผู้แทนภาคเอกชนซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่อยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นกรรมการและเลขานุการ

                  ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเสนอรายชื่อกรรมการตามวรรคหนึ่งในเขตจังหวัดของตนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

                  ข้อ ๑๓  เพื่อประโยชน์ในการสงวนรักษา การอนุรักษ์ การปกป้อง การฟื้นฟูบูรณะ และการจัดการด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๔ ให้จังหวัดเพชรบุรีหรือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตามข้อ ๑๒ มีหน้าที่ ดังนี้

(๑) ส่งเสริมและสนับสนุนให้พื้นที่แนวชายฝั่งทะเลและหาดเป็นเขตนันทนาการเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนให้พื้นที่บริเวณที่ ๖ เป็นเขตอนุรักษ์ทรัพยากรประมง รวมทั้งหอยแครง หอยสองฝา และสัตว์น้ำอื่น

                  (๓) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชน ที่จะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการเผยแพร่ความรู้ และประชาสัมพันธ์โครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นได้รับทราบก่อนดำเนินการ

(๔) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีแผนการศึกษาวิจัยเพื่อฟื้นฟูสภาพดินเสื่อมโทรมในพื้นที่บริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๒ และบริเวณที่ ๓ ให้เป็นดินที่เหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์

                  (๕) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการฟื้นฟูและบำรุงรักษาพื้นที่ป่าชายเลนในพื้นที่บริเวณที่ ๗ ที่มีสภาพรกร้างว่างเปล่าหรือเลิกการใช้ประโยชน์ตามที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้ว ให้สอดคล้องกับแผนการจัดการป่าชายเลนของประเทศตามมติของคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้แก่ธรรมชาติ

                  (๖) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตลอดแนวชายฝั่งทะเล เพื่อฟื้นฟูและรักษาสภาพธรรมชาติไว้เป็นสาธารณประโยชน์ต่อไป

(๗) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำนาเกลือ นากุ้ง หรือบ่อปลา จัดให้มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีในการประกอบการ และการผลิตตามมาตรฐานของทางราชการ

                  (๘) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการฟื้นฟูคุณภาพน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และทางน้ำสาขาให้มีคุณภาพน้ำอยู่ในมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ ๓ เป็นอย่างน้อย  ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน

                 (๙) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนหรือสถานประกอบการทุกประเภทที่ตั้งอยู่ติดแหล่งน้ำสาธารณะ และทะเล มีระบบบำบัดและกำจัดของเสียหรือมลพิษตามมาตรฐานของทางราชการก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล

ข้อ ๑๔  ในกรณีที่มีกฎหมายใดกำหนดมาตรการที่มีผลเป็นการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไว้ดีกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ก็ให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น

ข้อ ๑๕  ในเขตพื้นที่ตามข้อ ๔ ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ด้วย

                  ข้อ ๑๖  การกระทำ กิจกรรม หรือกิจการใดที่ต้องห้ามตามประกาศนี้ ถ้าได้รับอนุญาตตามกฎหมายใดไว้แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้คงดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตตามกฎหมายนั้น แต่จะดำเนินการอื่นเพิ่มเติมหรือนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตไว้แล้ว หรือนอกเหนือจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตไว้เดิมก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับไม่ได้

                    ข้อ ๑๗  อาคารที่มีอยู่แล้วก่อนหรือในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องดำเนินการตามประกาศนี้ การดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้ แต่จะดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศนี้ไม่ได้

                    ข้อ ๑๘  อาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้คงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามที่ได้รับอนุญาตหรือที่ได้รับแจ้งไว้ แต่การขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตหรือการแจ้งหรือการดำเนินการอื่นใดหลังจากวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

                  อาคารที่ได้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นไว้แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ การพิจารณาอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นคำขออนุญาตนั้น

ข้อ ๑๙[๑]  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับมีกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

สุวิทย์  คุณกิตติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

[เอกสารแนบท้าย]

                         ๑.  บัญชีท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรีอำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีอำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓

                          ๒.  แผนที่ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรีอำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีอำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)

ปริยานุช/ผู้จัดทำ

๓ สิงหาคม ๒๕๕๓

ณัฐวดี/ตรวจ

๓ สิงหาคม ๒๕๕๓

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗/ตอนพิเศษ ๙๒ ง/หน้า ๑๕/๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓