ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
ในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง
อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโดยอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในประกาศนี้
“แนวชายฝั่งทะเล” หมายความว่า แนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ
“ชายหาด” หมายความว่า พื้นที่ภายในแนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติจนถึงแนวที่น้ำทะเลลงต่ำสุดตามปกติทางธรรมชาติ
ข้อ ๒ ให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์และเขตควบคุมอาคารของจังหวัดกระบี่ที่มิได้อยู่ในเขตพื้นที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่พ.ศ. ๒๕๔๖ ดังต่อไปนี้ ตามแผนที่ท้ายประกาศนี้ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
(๑) พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ บังคับในท้องที่บางแห่งในจังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล พ.ศ. ๒๕๓๔ เฉพาะท้องที่ในจังหวัดกระบี่
(๒) พื้นที่ภายในแนวเขตตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนลากและอวนรุน ที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เฉพาะบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปในทะเลเป็นระยะ ๓,๐๐๐ เมตร ตั้งแต่ด้านเหนือของตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก ไปทางทิศใต้ขนานกับแนวชายฝั่งทะเลจนสุดเขตตำบลทรายขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
ให้จำแนกพื้นที่ตามวรรคหนึ่งเป็น ๗ บริเวณ ดังต่อไปนี้
บริเวณที่ ๑ เขตสงวนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่
(๑) พื้นที่ชายหาดตลอดแนวชายฝั่งทะเลของจังหวัดกระบี่ ตั้งแต่บ้านอ่าวน้ำ ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จนจดแนวเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้านใต้สุดเขตบ้านบ่อมะม่วง ตำบลทรายขาว อำเภอคลองท่อม ยกเว้นพื้นที่ในบริเวณที่ ๓ (๑) และบริเวณที่ ๔
(๒) พื้นที่ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะลันตาน้อย ตั้งแต่บ้านคลองหมากตำบลเกาะลันตาน้อย ไปทางทิศใต้จนสุดเขตบ้านหลังสอด ตำบลเกาะลันตาน้อย และเกาะลันตาใหญ่ตั้งแต่บ้านศาลาด่าน ตำบลศาลาด่าน ไปทางทิศใต้จนสุดเขตบ้านคลองหิน ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๑๕ เมตร
(๓) พื้นที่ป่าพรุ ในพื้นที่บริเวณตำบลคลองยาง ตำบลเกาะกลาง และตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา
บริเวณที่ ๒ เขตอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล แนวปะการัง และแหล่งอาหารของชุมชน ได้แก่
(๑) พื้นที่ในบริเวณน่านน้ำทะเลภายในอ่าวบริเวณปากคลองลัดบอแหนและคลองเกาะยางจนถึงเส้นตรงที่ลากจากยอดเขาปลายแหลมแต้เหล็ง ตำบลเกาะลันตาน้อย ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จนจดกับยอดเขาสูงสุดของเขาลันตา ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา
(๒) พื้นที่ในบริเวณน่านน้ำทะเลที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลของหมู่เกาะศรีบอยา เกาะลันตาใหญ่และเกาะปอ ออกไปในทะเลเป็นระยะ ๓,๐๐๐ เมตร ยกเว้นพื้นที่ในบริเวณที่ ๑
บริเวณที่ ๓ เขตอนุรักษ์เพื่อการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ได้แก่
(๑) พื้นที่ป่าชายเลนที่จำแนกไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ในท้องที่ตำบลอ่าวลึกใต้ ตำบลแหลมสัก ตำบลอ่าวลึกน้อย อำเภออ่าวลึก ตำบลเขาคราม ตำบลเขาทอง ตำบลปากน้ำ ตำบลกระบี่ใหญ่ ตำบลกระบี่น้อย ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมืองกระบี่ ตำบลเหนือคลอง ตำบลคลองเขม้า ตำบลตลิ่งชัน ตำบลคลองขนาน ตำบลปกาสัย ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง ตำบลเพหลา ตำบลคลองท่อมใต้ ตำบลห้วยน้ำขาว ตำบลคลองพน ตำบลทรายขาว อำเภอคลองท่อมและตำบลคลองยาง ตำบลเกาะกลาง ตำบลเกาะลันตาน้อย ตำบลศาลาด่าน ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา ยกเว้นพื้นที่ในบริเวณที่ ๔
(๒) พื้นที่ในบริเวณน่านน้ำทะเลที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปในทะเลเป็นระยะ ๑,๐๐๐ เมตรยกเว้นพื้นที่ในบริเวณที่ ๑ และบริเวณที่ ๒
บริเวณที่ ๔ เขตอนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ได้แก่ พื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่ชายหาด ที่มีชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมอาศัยอยู่ในบริเวณหมู่ที่ ๑ บ้านปากลาว ตำบลนาเหนือ หมู่ที่ ๑ บ้านเขาล่อม ตำบลเขาใหญ่ หมู่ที่ ๕ บ้านถ้ำเสือ หมู่ที่ ๖ บ้านคลองสุข ตำบลอ่าวลึกใต้ หมู่ที่ ๑ บ้านหินราว หมู่ที่ ๒ บ้านอ่าวน้ำ หมู่ที่ ๓ บ้านแหลมสัก หมู่ที่ ๔ บ้านสมิหลัง หมู่ที่ ๕ บ้านคลองแรด หมู่ที่ ๖ บ้านในใส ตำบลแหลมสัก หมู่ที่ ๒ บ้านบากัน หมู่ที่ ๕ บ้านควนโอ ตำบลอ่าวลึกน้อย อำเภออ่าวลึก หมู่ที่ ๒ บ้านหนองจิก หมู่ที่ ๓ บ้านไหนหนัง ตำบลเขาคราม หมู่ที่ ๒ บ้านเขาทอง หมู่ที่ ๓ บ้านท่าเลน หมู่ที่ ๕ บ้านท่าพรุ หมู่ที่ ๖ บ้านท่าทองหลาง ตำบลเขาทอง หมู่ที่ ๑ บ้านเกาะกลาง หมู่ที่ ๒ บ้านคลองประสงค์ หมู่ที่ ๓ บ้านคลองกำ หมู่ที่ ๔ บ้านบางขนุน ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมืองกระบี่ หมู่ที่ ๖ บ้านวังหิน ตำบลคลองท่อมใต้ หมู่ที่ ๓ บ้านนํ้าร้อน หมู่ที่ ๔ บ้านท่าประดู่ หมู่ที่ ๖ บ้านควนใต้ ตำบลห้วยน้ำขาว หมู่ที่ ๕ บ้านมู่สา หมู่ที่ ๗ บ้านคลองแรด หมู่ที่ ๙ บ้านท่ามะพร้าว หมู่ที่ ๑๐ บ้านคลองไคร หมู่ที่ ๑๑ บ้านทุ่งครก ตำบลคลองพน หมู่ที่ ๒ บ้านทรายขาว หมู่ที่ ๔ บ้านบ่อมะม่วง หมู่ที่ ๕ บ้านทุ่งคา ตำบลทรายขาว อำเภอคลองท่อม หมู่ที่ ๖ บ้านท่าควน ตำบลคลองยาง หมู่ที่ ๓ บ้านทุ่ง หมู่ที่ ๔ บ้านโล๊ะใหญ่ ตำบลเกาะลันตาน้อย หมู่ที่ ๑ บ้านศาลาด่าน ตำบลศาลาด่าน และหมู่ที่ ๑ บ้านหัวแหลม หมู่ที่ ๒ บ้านศรีรายา หมู่ที่ ๗ บ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา
บริเวณที่ ๕ ได้แก่ พื้นที่ดังต่อไปนี้ ยกเว้นพื้นที่ในบริเวณที่ ๑ บริเวณที่ ๓ บริเวณที่ ๔ และบริเวณที่ ๖
(๑) พื้นที่ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ และเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตาเป็นระยะ ๕๐ เมตร
(๒) พื้นที่ในเกาะต่างๆ ยกเว้นเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา
บริเวณที่ ๖ ได้แก่ พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกิน ๔๐ เมตร ขึ้นไป
บริเวณที่ ๗ ได้แก่ พื้นที่นอกจากบริเวณที่ ๑ ถึงบริเวณที่ ๖ ยกเว้นพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองกระบี่
ข้อ ๓ เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารและสิ่งก่อสร้างทุกประเภท หรือกระทำการหรือประกอบกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่บริเวณที่ ๑
ข้อ ๔ ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นอาคารหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้
(๑) โรงงานทุกประเภทหรือทุกชนิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานประเภทซัก อบ รีด โรงงานทำน้ำแข็ง โรงงานทำน้ำดื่ม และโรงงานทำน้ำให้บริสุทธิ์ ที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน ๒๐๐ แรงม้า และมีพื้นที่อาคารรวมไม่เกิน ๓๐๐ ตารางเมตร โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมชุมชนโรงงานที่เกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภค และโรงงานที่จำเป็นต้องก่อสร้างทดแทนของเดิมเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงานให้ดีกว่าเดิมและไม่เข้าข่ายขยายโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน แต่การเพิ่มเครื่องจักรเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กระทำได้ ทั้งนี้ ให้ก่อสร้างได้เฉพาะในบริเวณพื้นที่เดิมเท่านั้น
(๒) สถานที่บรรจุก๊าซหรือสถานที่เก็บก๊าซตามกฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวเว้นแต่สถานีบริการ ร้านจำหน่ายก๊าซ สถานที่ใช้ก๊าซ และสถานที่จำหน่ายอาหารที่ใช้ก๊าซ
(๓) สถานที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงเว้นแต่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
(๔) สุสานและฌาปนสถาน เว้นแต่การก่อสร้างทดแทนหรือดัดแปลงของเดิมในพื้นที่เดิมพร้อมด้วยระบบควบคุมมลพิษทางอากาศของฌาปนสถาน รวมตลอดถึงสิ่งก่อสร้างและอาคารประกอบของระบบดังกล่าว
ข้อ ๕ ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้
(๑) การทำเหมือง เว้นแต่พื้นที่ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ และกรณีที่หน่วยงานของรัฐผู้มีอำนาจในการอนุญาตได้ประทับตราและลงทะเบียนรับคำขออนุญาตประกอบกิจการทำเหมืองไว้แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการนั้นและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปได้
(๒) การขุด ตัก ดูด หรือลอก กรวด ดิน ลูกรัง หินผุ หรือทราย เพื่อการค้า เว้นแต่การขุดตัก ดูด หรือลอก ดิน หรือลูกรัง ในพื้นที่บริเวณตำบลคลองยาง และตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา
(๓) การถมทะเล เว้นแต่เป็นนโยบายของรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ หรือมีความจำเป็นเพื่อกิจการของส่วนราชการตามมติของคณะกรมการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
(๔) การล่วงล้ำลำน้ำ เว้นแต่กระชังปลา และอาคารหรือการล่วงล้ำที่มีลักษณะตามข้อ ๔ (๑) ถึง (๗) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ที่ได้รับอนุญาต
(๕) การถม ปรับพื้นที่ หรือปิดกั้น ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะตื้นเขิน หรือเปลี่ยนทิศทางหรือทำให้น้ำในแหล่งน้ำนั้นไม่อาจไหลไปได้ตามปกติ
(๖) การขุด ถม หรือเปลี่ยนสภาพธรรมชาติของพื้นที่พรุ เว้นแต่การดำเนินงานของทางราชการเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครอง และการเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ
(๗) การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว
(๘) การงมหรือการกระทำใดๆ ที่เป็นการค้นหา เก็บ ทำลาย หรือทำให้เสียหายซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เว้นแต่การงมที่เป็นการค้นหาเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการหรือเป็นการดำเนินการของทางราชการซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร
(๙) การเก็บหรือทำลายปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง หรือการกระทำใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบหรือทำให้ปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง ถูกทำลายหรือเสียหาย เช่น การเดินท่องเที่ยวใต้ทะเล (sea walker) ในแนวปะการัง การทอดสมอเรือในแนวปะการังเรือดำน้ำดูปะการัง หรือการใช้เรือท้องกระจกที่มีขนาดใหญ่เกินกว่า ๗ ที่นั่ง
(๑๐) การเล่นเรือสกู๊ตเตอร์ เจ๊ตสกี และกิจกรรมที่ใช้เรือลากทุกชนิด
(๑๑) การจับหรือการครอบครองปลาสวยงามตามที่กำหนดในบัญชีท้ายประกาศนี้ เว้นแต่
(ก) การครอบครองของทางราชการเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครองการเพาะพันธุ์ หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมประมง
(ข) การครอบครองของเอกชนเพื่อการเพาะเลี้ยง การครอบครองและการจำหน่ายซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมประมงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ แล้วแต่กรณี
(๑๒) การเพาะเลี้ยงกุ้งเพื่อการค้า เว้นแต่เป็นผู้ประกอบกิจการก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับและได้จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อกับกรมประมง โดยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และมาตรการที่กรมประมงกำหนด และต้องไม่เพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งจากที่มีอยู่เดิม
(๑๓) การติดตั้งป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายดังต่อไปนี้ เว้นแต่ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายของทางราชการ
(ก) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่สาธารณะที่มีขนาดเกิน ๑ ตารางเมตร หรือมีน้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างเกิน ๑๐ กิโลกรัม
(ข) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่เอกชนที่มีระยะห่างจากที่สาธารณะในแนวราบบนพื้นดินและในอากาศน้อยกว่าสองเท่าของความสูงของป้ายในแนวดิ่ง
(ค) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่เอกชนหรือที่สาธารณะในลักษณะบดบังหรืออาจจะบดบังทัศนวิสัยหรือทัศนียภาพอันสวยงามของแนวทางหลวงหรือทางสาธารณะและพื้นที่ใกล้เคียง หรือในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น
(ง) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่เอกชนหรือที่สาธารณะในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ ๔๐ เมตร ขึ้นไป หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินร้อยละสามสิบห้า
(๑๔) การกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดไปจากเดิมหรือทำให้ทัศนียภาพบริเวณชายหาดเสียไป ยกเว้นป้ายเตือนของทางราชการที่มีลักษณะไม่ถาวร
ข้อ ๖ ภายใต้บังคับข้อ ๔ และข้อ ๕ ในพื้นที่ตามข้อ ๒ การก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือการกระทำหรือการประกอบกิจกรรม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) บริเวณที่ ๒ ห้ามกระทำหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้
(ก) การประมงที่ใช้เครื่องมือประมงประเภทอวนลากหรืออวนรุนทุกประเภทและทุกขนาดที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์ อวนทับตลิ่ง (อวนชัก) อวนล้อมปลาทรายประกอบกับเครื่องมือกระทุ้งน้ำ อวนถ่าง อวนญี่ปุ่น และเครื่องมือประมงทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
(ข) กิจการร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือโรงแรมบนเรือ
(ค) การทอดสมอเรือ
(ง) การขุดลอกร่องน้ำ
(๒) บริเวณที่ ๓ ห้ามการขุดลอกร่องน้ำ เว้นแต่เป็นการบำรุงรักษาทางน้ำ และการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ
(๓) บริเวณที่ ๔ การก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร การกระทำหรือการประกอบกิจกรรมใดๆ ต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น
(๔) บริเวณที่ ๕ การก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร การกระทำหรือการประกอบกิจกรรมใดๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(ก) ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร เว้นแต่อาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาและอาคารทรงไทย และต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินไม่น้อยกว่า ๑๕ เมตร และมีที่ว่างโดยรอบอาคารไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของที่ดินแปลงที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้นแต่สำหรับบริเวณที่มีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเกิน ๕๐ เมตร ให้มีที่ว่างโดยรอบอาคารไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของที่ดินแปลงที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น
ในกรณีที่เป็นอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยา ให้มีความสูงรวมได้ไม่เกิน ๙ เมตรส่วนอาคารทรงไทย ให้มีความสูงรวมได้ไม่เกิน ๑๐ เมตร ทั้งนี้ ความสูงวัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุดต้องไม่เกิน ๖ เมตร
(ข) ห้ามตั้งและประกอบกิจการโรงงานทุกประเภทหรือทุกชนิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
(ค) ห้ามตั้งและดำเนินกิจการสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
(ง) ห้ามการเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า ที่มีน้ำหนักสัตว์เลี้ยงรวมกันในแต่ละพื้นที่เลี้ยงสัตว์เกิน ๓,๐๐๐ กิโลกรัม
(จ) ห้ามดำเนินการในลักษณะที่นำบ้านพักอาศัยที่อยู่ในที่ดินแปลงเดียวกัน หรือติดต่อกันไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บริการที่พักเป็นการชั่วคราวสำหรับบุคคลอื่นใดไม่ว่าระยะสั้น หรือระยะยาวโดยมีค่าตอบแทน ในลักษณะที่ไม่เข้าข่ายโรงแรมและมีจำนวนห้องพักรวมทั้งหมดเกิน ๓๐ ห้อง
(๕) บริเวณที่ ๖ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร เว้นแต่อาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาและอาคารทรงไทย และต้องมีพื้นที่ที่มีพันธุ์ไม้ที่เป็นต้นปกคลุมดินไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของที่ดินแปลงที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น ยกเว้นพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินร้อยละสามสิบห้าห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใดๆ
ในกรณีที่เป็นอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยา ให้มีความสูงรวมได้ไม่เกิน ๙ เมตร ส่วนอาคารทรงไทย ให้มีความสูงรวมได้ไม่เกิน ๑๐ เมตร ทั้งนี้ ความสูงวัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุดต้องไม่เกิน ๖ เมตร
(๖) บริเวณที่ ๗ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๒ เมตร และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมดินไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของที่ดินแปลงที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น
การวัดความสูงของอาคารให้วัดในแนวดิ่งจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร หรือส่วนที่สูงที่สุดของจั่ว ปั้นหยา หรือหลังคาทรงไทย แล้วแต่กรณี
หลักเกณฑ์เกี่ยวกับความสูงตามวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับกับกรณีโครงสร้างที่ใช้ในกิจการสาธารณูปโภค แต่ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๒๐๐ เมตร
ข้อ ๗ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้างอาคาร หรือดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในพื้นที่ตามข้อ ๒ เสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๔๖
(๑) การก่อสร้างอาคารหรือการดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้ให้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
(ก) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง
(ข) อาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง
(ค) กิจการที่นำบ้านพักอาศัยที่อยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันหรือติดต่อกันไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บริการที่พักเป็นการชั่วคราวสำหรับบุคคลอื่นใดไม่ว่าระยะสั้นหรือระยะยาวโดยมีค่าตอบแทนในลักษณะที่ไม่เข้าข่ายโรงแรมและมีจำนวนห้องพักรวมทั้งหมดตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง
(ง) สถานพยาบาลที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตั้งแต่ ๑๐ เตียง ถึง ๒๙ เตียง
(จ) การจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ ที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ ๑๐ แปลง ถึง ๙๙ แปลง หรือเนื้อที่น้อยกว่า ๑๙ ไร่
(ฉ) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวหรือหลายหลังรวมกันตั้งแต่ ๕,๐๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่ถึง ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตร
(ช) โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมชุมชนที่มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้ไม่เกิน ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ต่อวัน หรือสถานที่ที่ใช้ในการกำจัดมูลฝอยที่มีปริมาณในการกำจัดไม่เกิน ๕๐ ตัน ต่อวัน เว้นแต่โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมเฉพาะสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
(ซ) ท่าเทียบเรือทุกประเภทที่สามารถรับเรือขนาดตั้งแต่ ๑๐๐ ตันกรอส แต่ไม่ถึง ๕๐๐ ตันกรอส
(ฌ) ทางหลวงหรือถนนส่วนบุคคลตั้งแต่สองช่องเดินรถขึ้นไปที่ก่อสร้างบนพื้นดินที่มีความลาดชันเกินร้อยละยี่สิบห้า และมีความยาวต่อเนื่องกันตั้งแต่ ๕๐๐ เมตร ถึง ๑,๕๐๐ เมตร
(๒) การก่อสร้างอาคารหรือการดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้ ให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
(ก) การก่อสร้างอาคารหรือการดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการประเภทต่างๆ ที่มีขนาดเกินกว่าที่กำหนดไว้ใน (๑)
(ข) อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
ในกรณีที่มีการดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคาร หรือเปลี่ยนแปลงการดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการใดๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง (๑) หรือ (๒) ต้องเสนอรายงานตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งด้วย
ข้อ ๘ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๒ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อทำหน้าที่ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามประกาศนี้ และให้ความเห็นชอบการนำแผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไปปฏิบัติการ
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการผู้แทนส่วนราชการประจำจังหวัดหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกินสามคน ผู้แทนภาคเอกชนซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกินสามคน และผู้แทนภาคเอกชนซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่ไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ และให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ
กรรมการตามวรรคสองให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่เป็นผู้เสนอชื่อต่อรัฐมนตรีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ
ข้อ ๙ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๒ ให้จังหวัดมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการจัดทำแผนงานฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฟื้นกลับคืนสู่สภาวะธรรมชาติเดิมอันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องถิ่น ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แล้วเสนอให้คณะกรรมการตามข้อ ๘ เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ กรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจจัดทำแผนงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้คณะกรรมการตามข้อ ๘ ขยายระยะเวลาออกไปได้อีกแต่ไม่เกินเก้าสิบวัน
(๒) ดำเนินการให้มีการฟื้นฟูและบำรุงรักษาพื้นที่ป่าชายเลนที่มีสภาพรกร้างว่างเปล่าหรือเลิกการใช้ประโยชน์ตามที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้ว ให้สอดคล้องกับแผนการจัดการป่าชายเลนของประเทศตามมติของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้พื้นที่นั้นฟื้นคืนสู่ธรรมชาติโดยเร็ว เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ธรรมชาติ
(๓) ดำเนินการจัดทำแผนการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม รวมทั้งการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่บริเวณที่ ๒ (๒) และบริเวณที่ ๔ ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตามข้อ ๘
ข้อ ๑๐ ในพื้นที่ตามข้อ ๒ หากมีกฎหมายใดกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่ามาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือมีมาตรการที่ดีกว่าในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ก็ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น
ข้อ ๑๑ ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคารหรือการประกอบกิจการใดๆ ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
ข้อ ๑๒ การกระทำ กิจกรรม หรือกิจการใดที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินการตามข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ และข้อ ๖ ที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ มิให้กระทำหรือประกอบกิจกรรมหรือกิจการใดเพิ่มขึ้นหรือนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตไว้แล้ว
ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งประสงค์จะดำเนินการนั้นต่อไปภายหลังสิ้นระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออายุหรือยื่นคำขออนุญาตใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณี
การอนุญาตตามวรรคสอง ให้อนุญาตตามพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตไว้เดิม
ข้อ ๑๓ อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ตามข้อ ๒ ก่อนหรือในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ แต่ห้ามดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
ข้อ ๑๔ อาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจการนั้นก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตหรือการแจ้งให้เป็นการขัดต่อประกาศนี้ไม่ได้
ข้อ ๑๕[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปและมีระยะเวลาการบังคับใช้ห้าปีนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ
ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
[เอกสารแนบท้าย]
๑. บัญชีท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๐
๒. แผนที่ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๐
(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)
วัชศักดิ์/ผู้จัดทำ
๔ เมษายน ๒๕๕๐
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนพิเศษ ๓๕ ง/หน้า ๓/๒๖ มีนาคม ๒๕๕๐