ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๕๔๖
ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
ในบริเวณพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
พ.ศ. ๒๕๔๖
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในประกาศนี้
“แนวชายฝั่งทะเล” หมายถึง แนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ
ข้อ ๒ ให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตควบคุมมลพิษตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ เรื่อง กำหนดให้ท้องที่เมืองพัทยาเป็นเขตควบคุมมลพิษ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ โดยกำหนดให้เป็น ๒ บริเวณ ดังต่อไปนี้
บริเวณที่ ๑ หมายถึง พื้นที่ในบริเวณเมืองพัทยาในส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่และให้มีความหมายรวมถึงเกาะล้าน เกาะครก และเกาะสากด้วย
บริเวณที่ ๒ หมายถึง พื้นที่ในบริเวณเมืองพัทยาในส่วนที่เป็นทะเล
ข้อ ๓ ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ห้ามก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นอาคาร ดังต่อไปนี้
(๑) โรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทหรือทุกชนิด เว้นแต่ในบริเวณพื้นที่ฟากตะวันออกของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓ (ถนนสุขุมวิท) ให้มีโรงงานอุตสาหกรรมได้เฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมตามประเภทหรือชนิด จำพวก และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบัญชี ๑ ท้ายประกาศ
(๒) สถานที่บรรจุก๊าซหรือสถานที่เก็บก๊าซตามกฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่ไม่รวมถึงสถานที่ใช้ก๊าซและสถานที่จำหน่ายอาหารที่ใช้ก๊าซ เว้นแต่ในบริเวณพื้นที่ฟากตะวันออกของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓ (ถนนสุขุมวิท)
(๓) อาคารปศุสัตว์เพื่อการค้า เว้นแต่อาคารปศุสัตว์เพื่อการค้าที่มีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันไม่เกิน ๒๐๐ ตารางเมตร
อาคารปศุสัตว์ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคก่อนต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ เมตร และต้องห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะหรือบ่อน้ำเพื่อการบริโภคไม่น้อยกว่า ๓๐ เมตร รวมทั้งต้องมีบ่อกรองและบ่อบำบัดมูลสัตว์และน้ำเสีย ตลอดจนต้องมีมาตรการควบคุมการปล่อยทิ้งของเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานของทางราชการด้วย
(๔) สุสานและฌาปนสถาน เว้นแต่การก่อสร้างทดแทนหรือดัดแปลงของเดิมในพื้นที่เดิมพร้อมด้วยระบบควบคุมมลพิษทางอากาศของฌาปนสถาน รวมตลอดถึงสิ่งก่อสร้างและอาคารประกอบของระบบควบคุมมลพิษทางอากาศนั้น
ข้อ ๔ ภายใต้ข้อบังคับข้อ ๓ ในพื้นที่ตามข้อ ๒ บริเวณที่ ๑ ที่วัดจากระดับน้ำทะเลปานกลางเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๑๐๐ เมตร ห้ามก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคารใดๆ ให้เป็นอาคารที่มีความสูงเกิน ๑๔ เมตร ที่มีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลน้อยกว่า ๒๐ เมตร และมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมน้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างนั้น
การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร
ข้อ ๕ ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ห้ามผู้ใดบุกรุก แผ้วถาง หรือก่อสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ ในบริเวณพื้นที่ป่าตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการ
ข้อ ๖ ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ห้ามการกระทำหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้
(๑) การทำเหมือง
(๒) การขุด ตัก ดูด หรือลอก กรวด ดิน ดินลูกรัง หินผุ หรือทราย เพื่อการค้า
(๓) การขนส่งหรือลำเลียงวัตถุอันตรายโดยใช้ระบบท่อขนส่ง เว้นแต่ในบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
(๔) การถม ปิดกั้น หรือปรับพื้นที่ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะตื้นเขินหรือเปลี่ยนทิศทางหรือทำให้น้ำในแหล่งน้ำนั้นไม่อาจไหลไปได้ตามปกติ
(๕) การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว
(๖) การจับหรือครอบครอบปลาสวยงามตามบัญชี ๒ ท้ายประกาศ เพื่อการค้าเว้นแต่
(ก) การครอบครองของทางราชการเพื่อการเพาะพันธุ์ หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ โดยต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากกรมประมงก่อน
(ข) การครอบครองของทางภาคเอกชนเพื่อการเพาะเลี้ยง การครอบครองและการจำหน่าย ที่ได้รับหนังสืออนุญาตจากกรมประมงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี
(๗) การประกอบกิจการเรือภัตตาคาร เรือสถานบริการ การเดินท่องเที่ยวใต้ทะเล (sea walker) การเล่นเรือสกู๊ตเตอร์ เรือลากร่ม และเจ็ตสกี ยกเว้นในพื้นที่บริเวณที่เมืองพัทยากำหนดให้เป็นเขตอนุญาตให้ใช้เรือลากร่มและเจ็ตสกีได้
(๘) การเก็บหรือทำลายปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง หรือการกระทำใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบหรือทำให้ปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการังถูกทำลายหรือเสียหาย
การกระทำหรือประกอบกิจกรรมตามวรรคหนึ่งที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต
ข้อ ๗ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่จะทำการก่อสร้างอาคารหรือดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการในพื้นที่ตามข้อ ๒ เสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังต่อไปนี้
(๑) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการดังนี้ ให้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
(ก) โรงงานส่งพลังงานไฟฟ้า (สถานีไฟฟ้าย่อย) หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า
(ข) โรงฆ่าสัตว์
(ค) ท่าเทียบเรือทุกประเภทที่สามารถรับเรือขนาดต่ำกว่า ๕๐๐ ตันกรอส
(ง) โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมที่มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้ไม่เกิน ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือสถานที่ที่ใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีปริมาณในการกำจัดไม่เกิน ๕๐ ตันต่อวัน แต่ไม่รวมถึงโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมเฉพาะ สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
(จ) ฌาปนสถานสาธารณะ
(๒) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการดังนี้ ให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
(ก) อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
(ข) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการประเภทที่มีขนาดเกินกว่าที่กำหนดไว้ใน (๑) (ค) และ (ง)
การดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นอาคารตามที่กำหนดไว้ใน (๑) และ (๒) ต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่งด้วย
ข้อ ๘ ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคาร การกระทำหรือการประกอบกิจการใดๆ ในเขตพื้นที่ตามข้อ ๒ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
ข้อ ๙ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟู บำรุงรักษาและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามข้อ ๒ ให้เมืองพัทยามีหน้าที่จัดทำแผนงานภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ และมีอำนาจเกี่ยวกับการดำเนินการใดๆ ตามแผนงานในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการพัฒนาคุ้มครองสิ่งแวดล้อมพื้นที่ชายหาดในพื้นที่ตามข้อ ๒ ให้มีสภาพสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงามเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น
(๒) กำหนดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในทะเลในพื้นที่ตามข้อ ๒ บริเวณที่ ๒ เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติและความปลอดภัยต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว
ข้อ ๑๐ ในพื้นที่ตามข้อ ๒ หากมีกฎหมายใดกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่ามาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือมีมาตรการที่ดีกว่าในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ก็ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น
ข้อ ๑๑ อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ ๒ ก่อนหรือในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ แต่ห้ามดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ ๓ และข้อ ๔
ข้อ ๑๒ อาคารที่ได้รับอนุญาตหรือรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจการนั้นก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตหรือการแจ้งให้เป็นการขัดต่อประกาศนี้ไม่ได้
ข้อ ๑๓[๑] ประกาศนี้ให้ใช้บังคับได้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖
ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม
[เอกสารแนบท้าย]
๑. บัญชี ๑ ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๕๔๖
๒. บัญชี ๒ ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๕๔๖
(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)
วัชศักดิ์/พิมพ์
๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๐
จิรพงษ์/ตรวจ
๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๐
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนพิเศษ ๑๑๓ ง/หน้า ๑๔/๓๐ กันยายน ๒๕๔๖