ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๔๖

ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ

และสิ่งแวดล้อม

เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่

พ.ศ. ๒๕๔๖

                       

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ในประกาศนี้

“แนวชายฝั่งทะเล” หมายถึง แนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ

                  ข้อ ๒  ให้พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์และเขตควบคุมอาคารของจังหวัดกระบี่ ดังต่อไปนี้ เป็นเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

                  (๑) พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินสุสานหอยเจ็ดสิบห้าล้านปี หาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี และเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลหนองทะเลตำบลอ่าวนาง ตำบลไสไทย และตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๖

                  (๒) พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติสุสานหอยเจ็ดสิบห้าล้านปี หาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี และเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๓๙

                 (๓) พื้นที่ภายในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ บังคับในท้องที่บางแห่งในตำบลหนองทะเล ตำบลอ่าวนาง และตำบลไสไทยอำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๓๔

ให้กำหนดพื้นที่ตามวรรคหนึ่งบางส่วนเป็น ๕ บริเวณ ดังต่อไปนี้

                  บริเวณที่ ๑ หมายถึง พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๕๐ เมตร เฉพาะที่อยู่ในเขตตำบลหนองทะเล ตำบลอ่าวนาง ตำบลไสไทย และตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่

บริเวณที่ ๒ หมายถึง พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตพื้นที่บริเวณที่ ๑ เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๑๕๐ เมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางต่ำกว่า ๔๐ เมตร

บริเวณที่ ๓ หมายถึง พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตพื้นที่บริเวณที่ ๒ เข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ ๓๐๐ เมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางต่ำกว่า ๔๐ เมตร

บริเวณที่ ๔ หมายถึง พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๔๐ เมตร ขึ้นไป ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตพื้นที่บริเวณที่ ๑ เข้าไปในแผ่นดิน

บริเวณที่ ๕ หมายถึง พื้นที่ในเกาะต่าง ๆ

ข้อ ๓  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ห้ามก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารใดๆ ให้เป็นอาคาร ดังต่อไปนี้

                 (๑) โรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทหรือทุกชนิด เว้นแต่โรงงานประเภทซัก อบและรีด โรงงานทำน้ำแข็ง โรงงานทำน้ำให้บริสุทธิ์ที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน ๒๐๐ แรงม้า โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม และโรงงานที่เกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภค

(๒) โรงฆ่าสัตว์

                  (๓) สุสานและฌาปนสถาน เว้นแต่การก่อสร้างทดแทนหรือดัดแปลงของเดิมในพื้นที่เดิม พร้อมด้วยระบบควบคุมมลพิษทางอากาศของฌาปนสถาน รวมตลอดถึงสิ่งก่อสร้างและอาคารประกอบของระบบควบคุมมลพิษทางอากาศนั้น

(๔) สถานที่บรรจุก๊าซหรือสถานที่เก็บก๊าซตามกฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่ไม่รวมถึงร้านจำหน่ายก๊าซ สถานที่ใช้ก๊าซ และสถานที่จำหน่ายอาหารที่ใช้ก๊าซ

ข้อ ๔  ภายใต้บังคับข้อ ๓ ในบริเวณพื้นที่ตามข้อ ๒ การก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

                 (๑) บริเวณที่ ๑ และบริเวณที่ ๕ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๒๐ เมตร และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น สำหรับโครงสร้างที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคมที่เป็นเสารับส่งสัญญาณในบริเวณที่ ๕ ไม่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เรื่องความสูง แต่ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า ๒๐๐ เมตร

(๒) บริเวณที่ ๒ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๒ เมตร และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น

(๓) บริเวณที่ ๓ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๑๖ เมตร และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น

                  (๔) บริเวณที่ ๔ ให้มีได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร และต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของพื้นที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้นและห้ามทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน

                  (๕) ในกรณีที่ต้องมีการปรับสภาพพื้นดินที่จะก่อสร้างอาคาร ให้ปรับพื้นที่ได้เฉพาะในบริเวณที่ ๒ บริเวณที่ ๓ และบริเวณที่ ๔ และต้องเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันไม่เกินกว่าร้อยละ ๒๕ ส่วนในบริเวณที่ ๑ ห้ามมิให้ปรับสภาพพื้นดิน

(๖) การก่อสร้างห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว ที่มีจำนวนตั้งแต่ ๕ คูหาขึ้นไปจะต้องเว้นพื้นที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไว้ จำนวน ๑ คูหาต่อการก่อสร้าง ๕ คูหา

การวัดความสูงของอาคารให้วัดในแนวดิ่งจากระดับถนนหรือพื้นดินที่ก่อสร้างขึ้นไปถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด

ข้อ ๕  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ ห้ามการกระทำหรือประกอบกิจกรรม ดังต่อไปนี้

(๑) การทำเหมือง

(๒) การขุด ตัก ดูด หรือลอก กรวด ดิน ดินลูกรัง หินผุ หรือทราย เพื่อการค้า

                  (๓) การถมทะเล เว้นแต่เป็นนโยบายของรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหรือมีความจำเป็นเพื่อกิจการของส่วนราชการตามมติของคณะกรรมการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

                  (๔) การล่วงล้ำลำน้ำ เว้นแต่อาคารหรือการล่วงล้ำตามข้อ ๔ (๑) ถึง (๗) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ ที่ได้รับอนุญาต

(๕) การถม ปรับพื้นที่ หรือปิดกั้น ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะตื้นเขินหรือเปลี่ยนทิศทางหรือทำให้น้ำในแหล่งน้ำนั้นไม่อาจไหลไปได้ตามปกติ

(๖) การขุด ถม หรือเปลี่ยนสภาพธรรมชาติของพื้นที่พรุ เว้นแต่การดำเนินงานของทางราชการเพื่อการวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครอง และการเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ

(๗) การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว

                  (๘) การเก็บหรือทำลายปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง หรือการกระทำใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบหรือทำให้ปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการังถูกทำลายหรือเสียหาย เช่น การเดินท่องเที่ยวใต้ทะเล (sea walker) ในแนวปะการัง การทอดสมอเรือ เรือดำน้ำดูปะการัง หรือการใช้เรือท้องกระจก เป็นต้น

(๙) การเล่นเรือสกู๊ตเตอร์ เจ๊ตสกี เรือลากร่ม และเรือลากกล้วย (banana boat)

(๑๐) การจับหรือการครอบครองปลาสวยงามตามที่กำหนดในบัญชีท้ายประกาศนี้ เว้นแต่

(ก) การครอบครองของทางราชการเพื่อการวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครอง การเพาะพันธุ์หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ โดยได้รับหนังสืออนุญาตจากกรมประมง

(ข) การครอบครองของทางภาคเอกชนเพื่อการเพาะเลี้ยง การครอบครองและการจำหน่าย ที่ได้รับหนังสืออนุญาตจากกรมประมงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่

(๑๑) การเพาะเลี้ยงกุ้งเพื่อการค้า

(๑๒) การติดตั้งป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายของทางราชการ

(ก) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายไว้เหนือที่สาธารณะที่มีขนาดเกิน ๑ ตารางเมตร หรือมีน้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างเกิน ๑๐ กิโลกรัม

(ข) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่เอกชนที่มีระยะห่างจากที่สาธารณะในแนวราบบนพื้นดินและในอากาศน้อยกว่าสองเท่าของความสูงของป้ายในแนวดิ่ง

                  (ค) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่เอกชนหรือที่สาธารณะในลักษณะบดบังหรืออาจจะบดบังทัศนวิสัย หรือทัศนียภาพอันสวยงามของแนวทางหลวงหรือทางสาธารณะและพื้นที่ใกล้เคียง หรือในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น

                  (ง) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเหนือที่เอกชนหรือที่สาธารณะในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ ๔๐ เมตรขึ้นไป หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๓๕

การกระทำหรือประกอบกิจกรรมตามวรรคหนึ่งที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต

                ข้อ ๖  ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้างอาคาร หรือดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการในพื้นที่ตามข้อ ๒ เสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังต่อไปนี้

(๑) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการดังนี้ ให้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

(ก) โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง

(ข) อาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ ๑๐ ห้อง ถึง ๗๙ ห้อง

(ค) สถานพยาบาลที่มีจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืนตั้งแต่ ๑๐ เตียง ถึง ๒๙ เตียง

(ง) การจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อประกอบการพาณิชย์ จำนวนที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ ๑๑ แปลง ถึง ๙๙ แปลง หรือเนื้อที่ต่ำกว่า ๑๙ ไร่ ลงมา

(จ) ท่าเทียบเรือทุกประเภทที่สามารถรับเรือตั้งแต่ ๑๐ ตันกรอส ถึง ๑๐๐ ตันกรอส

(ฉ) ทางหลวงหรือถนนส่วนบุคคลที่ก่อสร้างบนพื้นดินที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๒๕ และมีความยาวต่อเนื่องกันตั้งแต่ ๕๐๐ เมตร ถึง ๑,๕๐๐ เมตร

(ช) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวหรือหลายหลังรวมกันตั้งแต่ ๕,๐๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่ถึง ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตร

                   (ซ) โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมที่มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้ไม่เกิน ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือสถานที่ที่ใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีปริมาณในการกำจัดไม่เกิน ๕๐ ตันต่อวัน แต่ไม่รวมถึงโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมเฉพาะ สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

(๒) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการดังนี้ ให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

(ก) การก่อสร้างอาคาร หรือการดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ใน (๑) ที่มีขนาดเกินกว่าที่กำหนดไว้ใน (๑)

(ข) อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

                 (๓) ในกรณีที่มีความขัดแย้งในการปฏิบัติการตามข้อกำหนดนี้ ให้ถือข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นข้อยุติ

การดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารตามที่กำหนดไว้ใน (๑) และ (๒) ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งด้วย

                ข้อ ๗  ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคาร การกระทำหรือการประกอบกิจการใด ๆ ในเขตพื้นที่ตามข้อ ๒ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

               ข้อ ๘  ในพื้นที่ตามข้อ ๒ หากมีกฎหมายใดกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่ามาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือมีมาตรการที่ดีกว่าในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ก็ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น

                ข้อ ๙  อาคารที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ ๒ ก่อนหรือในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ แต่ห้ามดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าวให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ ๓ และข้อ ๔

                  ข้อ ๑๐  อาคารที่ได้รับอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ตามกหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจการนั้นก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตหรือการแจ้งให้เป็นการขัดต่อประกาศนี้ไม่ได้

ข้อ ๑๑[๑]  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับได้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖

ประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ

และสิ่งแวดล้อม

[เอกสารแนบท้าย]

๑. บัญชีท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๔๖

(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย

 

ประภาศรี/พิมพ์

๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๐

จิรพงษ์/ตรวจ

๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๐

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนพิเศษ ๑๑๓ ง/หน้า ๕/๓๐ กันยายน ๒๕๔๖