พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2551
พระราชกฤษฎีกา
กำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลโคกสัก
อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง
ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
พ.ศ. ๒๕๕๑
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๕๑”
มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ที่ดินในท้องที่ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
สมัคร สุนทรเวช
นายกรัฐมนตรี
[เอกสารแนบท้าย]
๑. แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๕๑
(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากในท้องที่ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง มีเกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ หรือต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นประกอบเกษตรกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก และโดยที่ที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งหนองบ่อ ในท้องที่ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ซึ่งทางราชการได้ประกาศหวงห้าม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ สำหรับพลเมืองใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ เนื้อที่ประมาณ ๒,๔๐๐ ไร่ แต่เมื่อมีการสำรวจรังวัดใหม่ปรากฏว่า มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๔๙๘ ไร่ ปัจจุบันปรากฏว่าได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแล้วสมควรกำหนดเขตที่ดินในท้องที่ดังกล่าว ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
ปริยานุช/ผู้จัดทำ
๖ มกราคม ๒๕๕๒
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๑๓๘ ก/หน้า ๑/๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑a