พระราชกฤษฎีการวมสภาตำบลยางเนิ้งกับเทศบาลตำบลยางเนิ้ง และกำหนดเขต เทศบาลตำบลยางเนิ้ง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2543
พระราชกฤษฎีกา
รวมสภาตำบลยางเนิ้งกับเทศบาลตำบลยางเนิ้ง และกำหนดเขต
เทศบาลตำบลยางเนิ้ง จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๔๓
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓
เป็นปีที่ ๕๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรรวมสภาตำบลยางเนิ้งกับเทศบาลตำบลยางเนิ้งตามเจตนารมณ์ของประชาชน ในเขตสภาตำบลยางเนิ้ง และกำหนดเขตเทศบาลตำบลยางเนิ้งขึ้นใหม่
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๔๑ ตรี แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีการวมสภาตำบลยางเนิ้งกับเทศบาลตำบลยางเนิ้ง และกำหนดเขตเทศบาลตำบลยางเนิ้ง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๓”
มาตรา ๒[๑] พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้รวมสภาตำบลยางเนิ้งเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเทศบาลตำบลยางเนิ้ง ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
การใดที่สภาตำบลยางเนิ้งได้กระทำไปแล้วโดยชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการนั้นก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ถือเป็นอันใช้ได้และผูกพันเทศบาลตำบลยางเนิ้ง
มาตรา ๔ เขตของเทศบาลตำบลยางเนิ้ง ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ให้มีดังต่อไปนี้
หลักเขตที่ ๑ ตั้งอยู่บริเวณริมลำเหมืองชุม ฝั่งตะวันออก ซึ่งห่างจากจุดตัดระหว่างลำเหมืองชุมกับถนนสายหนองผึ้ง-ท่าวังตาล ไปทางทิศเหนือ ระยะทางประมาณ ๒๕๐ เมตร
ด้านเหนือ
จากหลักเขตที่ ๑ เป็นเส้นเลียบริมลำเหมืองกินน้ำ ฝั่งใต้ ไปทางทิศตะวันออกและทิศเหนือและไปทางทิศตะวันออก ผ่านทุ่งนา จนถึงถนนบ้านร้องยาว และเลียบริมถนนบ้านร้องยาว ฟากเหนือถึงจุดซึ่งลำเหมืองสะเรียมบรรจบกับถนนบ้านร้องยาว และเลียบลำเหมืองสะเรียม ฝั่งใต้ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงหลักเขตที่สาธารณะป่าช้ากู่เสือ ซึ่งตั้งอยู่ริมของถนนสาธารณะไม่ปรากฏชื่อฟากตะวันออก และเลียบแนวเขตป่าช้ากู่เสือ ไปทางทิศตะวันออก ถึงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๖ (เชียงใหม่ - ลำพูน) และเลียบริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๖ (เชียงใหม่ - ลำพูน) ฟากตะวันตกไปทางทิศใต้ ถึงหลักเขตที่ ๒ ซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดที่ห่างจากศูนย์กลางของถนนเทศบาล ซอย ๓ บรรจบกับศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๖ (เชียงใหม่ - ลำพูน) ระยะทางประมาณ ๒๔ เมตร
จากหลักเขตที่ ๒ เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ ๙๕๐ เมตร ถึงหลักเขตที่ ๓ ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำแม่สะลาบ ฝั่งตะวันตก ตรงจุดที่น้ำแม่สะลาบตัดกับทางรถไฟสายเหนือ (กรุงเทพมหานคร - เชียงใหม่)
ด้านตะวันออก
จากหลักเขตที่ ๓ เป็นเส้นเลียบริมน้ำแม่สะลาบ ฝั่งใต้ ไปทางทิศตะวันออกและ
เลียบน้ำแม่สะลาบ ฝั่งตะวันตก ไปทางทิศใต้ ถึงหลักเขตที่ ๔ ซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดฟากใต้ของถนนสายบ้านพญาชมภู - บ้านศรีดอนมูล ตัดกับน้ำแม่สะลาบ ฝั่งตะวันตก
ด้านใต้
จากหลักที่ ๔ เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันตก ระยะทางประมาณ ๒,๕๓๐ เมตร ถึงหลักเขตที่ ๕ ซึ่งตั้งอยู่ตรงแนวเส้นตั้งฉากกับทางรถไฟสายเหนือ (กรุงเทพมหานคร - เชียงใหม่) ไปทางทิศตะวันตก ระยะทางประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร
ด้านตะวันตก
จากหลักเขตที่ ๕ เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ ๔๙๐ เมตร ถึงหลักเขตที่ ๖
จากหลักเขตที่ ๖ เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ ๒๔๐ เมตร ถึงหลักเขตที่ ๗
จากหลักเขตที่ ๗ เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ ๔๕๐ เมตร ถึงหลักเขตที่ ๘ ซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดที่ห่างจากสามแยกถนนสายสันป่าสัก - หนองแฝกป่าคา ไปทางทิศเหนือ ระยะทางประมาณ ๘๐ เมตร
จากหลักเขตที่ ๘ เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันตก ระยะทางประมาณ ๕๕ เมตร จนถึงริมถนนสายพระนอน - สันป่าสัก ฟากตะวันออก และเลียบริมถนนสายพระนอน - สันป่าสัก ฟากตะวันออกไปทางทิศใต้ เลียบริมถนนสายสันป่าสัก-หนองแฝกป่าคา ฟากเหนือ ไปทางทิศตะวันตก ถึงจุดซึ่งถนนสายสันป่าสัก - หนองแฝกป่าคาตัดกับลำเหมืองสาธารณประโยชน์ และไปทางทิศเหนือตามลำเหมืองสาธารณประโยชน์ ฝั่งตะวันตก ถึงหลักเขตที่ ๙ ซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดที่ห่างจากถนนขัวมุง - ป่าบง ทางทิศใต้ ระยะทางประมาณ ๑๗๕ เมตร
จากหลักเขตที่ ๙ เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ ๔๒๕ เมตร ถึงหลักเขตที่ ๑๐ ซึ่งตั้งอยู่ริมลำเหมืองสาธารณประโยชน์ ฝั่งเหนือ
จากหลักเขตที่ ๑๐ เป็นเส้นเลียบริมลำเหมืองสาธารณประโยชน์ ฝั่งใต้ ไปทางทิศตะวันตกและทิศเหนือ ถึงหลักเขตที่ ๑๑ ซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดที่ห่างจากบริเวณจุดตัดระหว่างถนนหมู่ที่ ๗ ตำบลหนองผึ้งกับถนนหมู่ที่ ๒ ตำบลยางเนิ้ง ระยะทางประมาณ ๑๖๐ เมตร
จากหลักเขตที่ ๑๑ เป็นเส้นเลียบริมถนนสายหนองผึ้ง - ท่าวังตาล ฟากเหนือเลียบริมลำเหมืองชุม ฝั่งตะวันตก ไปทางทิศเหนือ จนบรรจบหลักเขตที่ ๑
ดังปรากฏตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้
ตามเส้นแนวเขตที่กล่าวไว้ในมาตรานี้ ให้มีหลักย่อยปักไว้เพื่อแสดงแนวเขตตามสมควร
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากประชาชนในสภาตำบลยางเนิ้งมีเจตนารมณ์ที่จะรวมกับเทศบาลตำบลยางเนิ้งที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกัน ทั้งนี้ ตามผลการสำรวจเจตนารมณ์ของประชาชนในสภาตำบลยางเนิ้ง และโดยที่มาตรา ๔๑ ตรี แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและให้กำหนดเขตใหม่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นไว้ในพระราชกฤษฎีกาด้วย ประกอบกับมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ บัญญัติให้การเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกกฤษฎีกานี้
ชไมพร/แก้ไข
๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๕
(B+A)
นันทพล/ปรับปรุง
๙ มกราคม ๒๕๕๐
[๑] ราชกิจจานุเบกษา.เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๑๐๓ ก/หน้า ๑๔/๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓