พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 พ.ศ. 2532

พระราชกำหนด

แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

พ.ศ. ๒๕๓๒

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๒

เป็นปีที่ ๔๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ พ.ศ. ๒๕๓๒”

มาตรา ๒[๑]  พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                  มาตรา ๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น หมวด ๖ ทวิ การสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัมปทานและการสิ้นสุดของสัมปทาน มาตรา ๖๘ ทวิ มาตรา ๖๘ ตรี มาตรา ๖๘ จัตวา มาตรา ๖๘ เบญจ มาตรา ๖๘ ฉ มาตรา ๖๘ สัตต มาตรา ๖๘ อัฏฐ มาตรา ๖๘ นว มาตรา ๖๘ ทศ และมาตรา ๖๘ เอกาทศ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔

“หมวด ๖ ทวิ

การสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัมปทานและการสิ้นสุดของสัมปทาน

                  

                  มาตรา ๖๘ ทวิ  ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ใดในเขตสัมปทานเพื่อประโยชน์ในการสร้างเขื่อนชลประทานหรือเขื่อนพลังน้ำ หรือเพื่อการป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ หรือความมั่นคงของชาติ หรือเพื่อรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อมหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการดังต่อไปนี้

(๑) ให้สัมปทานที่มีพื้นที่สัมปทานทับพื้นที่ดังกล่าวสิ้นสุดลงทั้งแปลง

(๒) ให้ผู้รับสัมปทานหยุดการทำกิจการที่ได้รับสัมปทานเป็นการชั่วคราวในพื้นที่ดังกล่าวตามระยะเวลาที่เห็นสมควร

(๓) ตัดเขตพื้นที่ดังกล่าวออกจากพื้นที่ในสัมปทาน

การสั่งการของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ออกคำสั่ง

                   มาตรา ๖๘ ตรี  นอกจากการสิ้นสุดลงตามอายุของสัมปทาน หรือตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัมปทาน หรือตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นสิทธิการทำกิจการที่ได้รับสัมปทานในเขตพื้นที่สัมปทานทั้งแปลงหรือบางส่วน ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตที่กำหนดให้เป็น

(๑) อุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ หรือ

(๒) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

                   มาตรา ๖๘ จัตวา  ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งตามมาตรา ๖๘ ทวิ หรือในกรณีที่สิทธิการทำกิจการที่ได้รับสัมปทานสิ้นสุดลงตามมาตรา ๖๘ ตรี หรือในกรณีที่สัมปทานสิ้นสุดลงเนื่องจากทางราชการได้ใช้สิทธิเพิกถอนสัมปทานเพราะเหตุที่ผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่กำหนดในสัมปทาน บรรดาไม้และของป่าที่อยู่ในพื้นที่สัมปทานที่สิทธิการทำกิจการที่ได้รับสัมปทานสิ้นสุดลง และบรรดาไม้ที่ยังมิได้เสียค่าภาคหลวงไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่สัมปทานนั้นหรือไม่ ย่อมเป็นของแผ่นดินและผู้รับสัมปทานจะได้สิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในไม้หรือของป่าได้ต่อเมื่อผู้รับสัมปทานสามารถพิสูจน์ได้ว่า ตนได้ทำไม้หรือเก็บหาของป่านั้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่กำหนดในสัมปทานก่อนสิทธิตามสัมปทานสิ้นสุดลง

                 ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานประสงค์จะพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับสัมปทานยื่นคำขอพิสูจน์ต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้รับสัมปทานได้รับหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ที่แจ้งคำสั่งรัฐมนตรีหรือแจ้งการสิ้นสุดของสัมปทานตามมาตรา ๖๘ อัฏฐ วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี วิธีการยื่นคำขอพิสูจน์ การพิสูจน์ การพิจารณา และการสั่งการของรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

                 ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่พอใจคำสั่งรัฐมนตรี ผู้รับสัมปทานมีสิทธิฟ้องต่อศาลเพื่อพิสูจน์ว่าตนได้ทำไม้หรือเก็บหาของป่าโดยถูกต้องตามกฎหมาย ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่กำหนดในสัมปทานก่อนสิทธิตามสัมปทานสิ้นสุดลง แต่ทั้งนี้ต้องยื่นฟ้องภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งของรัฐมนตรี

                 มาตรา ๖๘ เบญจ  ในกรณีที่เป็นสัมปทานทำไม้ ที่รัฐมนตรีได้มีคำสั่งตามมาตรา ๖๘ ทวิ หรือสิทธิการทำไม้ในเขตพื้นที่สัมปทานสิ้นสุดลงตามมาตรา ๖๘ ตรี ให้ผู้รับสัมปทานหยุดการทำไม้ในเขตพื้นที่สัมปทานที่สิทธิการทำไม้สิ้นสุดลงและหยุดการนำไม้เคลื่อนที่ออกจากสถานที่รวมหมอนไม้สำหรับการตรวจวัดคำนวณค่าภาคหลวงโดยสิ้นเชิง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจสภาพการทำไม้และสำรวจไม้ที่รวมอยู่ ณ สถานที่รวมหมอนไม้ของผู้รับสัมปทาน และทำบันทึกรายงานเสนอต่ออธิบดีกรมป่าไม้โดยเร็ว บันทึกรายงานดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิธีการทำไม้ จำนวนและขนาดของไม้ และให้ความเห็นด้วยว่า ผู้รับสัมปทานได้ทำไม้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ข้อกำหนดและเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในสัมปทานหรือไม่

                 ในกรณีที่ผลการสำรวจตามวรรคหนึ่งปรากฏว่า ผู้รับสัมปทานได้ทำไม้โดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัมปทานและการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ทางราชการมีสิทธิเพิกถอนสัมปทาน การสิ้นสุดของสิทธิการทำไม้ตามมาตรา ๖๘ ทวิ หรือมาตรา ๖๘ ตรี ย่อมไม่เป็นการตัดสิทธิทางราชการที่จะเพิกถอนสัมปทานโดยให้มีผลตั้งแต่วันก่อนวันที่สิทธิการทำไม้สิ้นสุดลง

                 เมื่อผู้รับสัมปทานพิสูจน์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา ๖๘ จัตวา ได้ว่าตนได้ทำไม้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่กำหนดในสัมปทานก่อนวันที่สิทธิตามสัมปทานสิ้นสุดลง หรือเมื่อศาลได้พิพากษาเช่นนั้น ให้อธิบดีกรมป่าไม้มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับสัมปทานทำการชักลากและนำไม้ดังกล่าวเคลื่อนที่ได้ พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่ผู้รับสัมปทานต้องปฏิบัติไว้ด้วย ผู้รับสัมปทานผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาตามที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนดดังกล่าว ให้หมดสิทธิในไม้นั้น และให้ไม้นั้นตกเป็นของแผ่นดิน

                  มาตรา ๖๘ ฉ  ให้ผู้รับสัมปทานที่ได้รับคำสั่งตามมาตรา ๖๘ ทวิ หรือผู้รับสัมปทานที่สัมปทานสิ้นสุดลงตามมาตรา ๖๘ ตรี ดังต่อไปนี้ มีสิทธิได้รับเงินชดเชยความเสียหายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๖๘ สัตต มาตรา ๖๘ อัฏฐ มาตรา ๖๘ นว มาตรา ๖๘ ทศ และมาตรา ๖๘ เอกาทศ

(๑) ผู้รับสัมปทานที่พื้นที่สัมปทานทั้งแปลงต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา ๖๘ ทวิ (๑) หรือมาตรา ๖๘ ตรี และ

                   (๒) ผู้รับสัมปทานที่ได้รับคำสั่งตามมาตรา ๖๘ ทวิ (๒) หรือ (๓) หรือผู้รับสัมปทานที่พื้นที่สัมปทานบางส่วนต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา ๖๘ ตรี  ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ผู้รับสัมปทานดังกล่าวได้ขอเวนคืนสัมปทานที่เหลือทั้งหมดของตนต่อทางราชการ

                    ในกรณีที่มีการสั่งตามมาตรา ๖๘ ทวิ หรือสัมปทานสิ้นสุดลงตามมาตรา ๖๘ ตรี การเรียกร้องหรือการให้ค่าสินไหมทดแทนหรือเงินชดเชยเพื่อความเสียหายอย่างอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ จะกระทำมิได้

มาตรา ๖๘ สัตต  เงินชดเชยความเสียหายที่ผู้รับสัมปทานมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงแก่ผู้รับสัมปทาน และเฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้

                   (ก) เงินลงทุนที่ผู้รับสัมปทานได้ใช้จ่ายไปเพื่อการทำกิจการที่ได้รับสัมปทานเช่น ค่าเครื่องจักรกล ค่ายานพาหนะ ค่าเครื่องมือ เครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งผู้รับสัมปทานยังใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า  ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงค่าเสื่อมราคาที่ได้หักไว้แล้ว ระยะเวลาของสัมปทานที่ผู้รับสัมปทานได้ใช้สิทธิการทำกิจการที่ได้รับสัมปทานไปแล้ว จำนวนไม้หรือของป่าที่ผู้รับสัมปทานได้ทำออกไปแล้ว รวมทั้งประโยชน์อย่างอื่นที่ผู้รับสัมปทานได้รับไปอันเนื่องจากการทำกิจการที่ได้รับสัมปทานในระหว่างอายุสัมปทาน และมูลค่าของทรัพย์สินหรือสิ่งของที่เหลืออยู่และยังเป็นประโยชน์ต่อผู้รับสัมปทาน

(ข) ค่าใช้จ่ายที่ผู้รับสัมปทานได้จ่ายไปเพื่อการทำกิจการที่ได้รับสัมปทานและยังมิได้รับผลประโยชน์กลับคืน  ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ใน (ก) และ

(ค) ความผูกพันตามกฎหมายที่ผู้รับสัมปทานมีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ในส่วนที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่มีการเลิกจ้าง

เงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่นำมาพิจารณาเพื่อรับเงินชดเชยตาม (ก) และ (ข) จะต้องไม่เกินกว่าที่เป็นเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายตามที่ผู้ประกอบธุรกิจจะลงทุนหรือใช้จ่ายในกิจการเช่นนั้นโดยทั่วไปตามปกติ

                   (๒) ความรับผิดที่ผู้รับสัมปทานมีต่อบุคคลภายนอกตามสัญญา ระหว่างผู้รับสัมปทานกับบุคคลภายนอกที่เกี่ยวเนื่องกับการทำกิจการที่ได้รับสัมปทาน หากมีข้อสัญญาที่คู่สัญญาตกลงให้ผู้รับสัมปทานต้องรับผิดในกรณีเหตุสุดวิสัยให้แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือมีข้อสัญญาที่คู่สัญญาตกลงให้ผู้รับสัมปทานต้องรับผิดเพราะรัฐสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกสัมปทาน ข้อสัญญาดังกล่าวย่อมไม่มีผลใช้บังคับเพื่อการให้เงินชดเชยความเสียหายตามมาตรานี้

(๓) ห้ามมิให้มีการจ่ายเงินชดเชยเพื่อผลกำไรหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ผู้รับสัมปทานคาดว่าจะได้รับจากการทำกิจการที่ได้รับสัมปทาน

                  (๔) ในกรณีที่การเลิกสัมปทานเป็นเหตุให้ผู้รับสัมปทานได้รับเงินทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นตอบแทน จากการประกันหรือการอื่นใดเพื่อทดแทนความเสียหายให้ถือว่าเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของเงินชดเชยความเสียหายตามมาตรานี้

                 ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานยื่นคำขอเวนคืนสัมปทานตามมาตรา ๖๘ ฉ (๒) ให้ผู้รับสัมปทานได้รับเงินชดเชยความเสียหายเฉพาะตามอัตราส่วนของพื้นที่หรือของจำนวนไม้หรือของป่าที่จะทำออกได้จากพื้นที่ในส่วนที่สัมปทานนั้นสิ้นสุดลง แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า  ทั้งนี้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลฟังได้ว่า พื้นที่ในส่วนที่สัมปทานสิ้นสุดลงนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้รับสัมปทานไม่สามารถดำเนินกิจการในสัมปทานที่ขอเวนคืนนั้นต่อไปได้ ก็ให้ได้รับเงินชดเชยเช่นเดียวกับกรณีพื้นที่สัมปทานทั้งแปลงสิ้นสุดลง

                มาตรา ๖๘ อัฏฐ  เมื่อรัฐมนตรีมีคำสั่งตามมาตรา ๖๘ ทวิ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคำสั่งของรัฐมนตรีให้ผู้รับสัมปทานทราบเป็นหนังสือ หรือเมื่อสิทธิการทำกิจการที่ได้รับสัมปทานในเขตพื้นที่สัมปทานทั้งแปลงหรือบางส่วนต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา ๖๘ ตรี ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบถึงการสิ้นสุดดังกล่าว

                ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานประสงค์จะเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหาย ผู้รับสัมปทานจะต้องยื่นคำขอเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายต่ออธิบดีกรมป่าไม้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้รับสัมปทานได้รับหนังสือของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่แจ้งคำสั่งของรัฐมนตรี หรือแจ้งการสิ้นสุดของสัมปทานตามวรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี

                 คำขอตามวรรคสองให้ทำเป็นหนังสือ พร้อมทั้งจัดทำบัญชีแสดงจำนวนเงินชดเชยความเสียหายที่ตนเห็นว่าสมควรจะได้รับตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๘ สัตต โดยมีหลักฐานที่สนับสนุนข้อเรียกร้องของตนตามความจำเป็น

                ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานที่ขอเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหาย เป็นผู้ใช้สิทธิตามมาตรา ๖๘ ฉ (๒) ผู้รับสัมปทานต้องขอเวนคืนสัมปทานที่เหลือทั้งหมดของตนก่อนหรือในวันที่ขอเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายตามมาตรานี้

                 มาตรา ๖๘ นว  ในการพิจารณากำหนดเงินชดเชยความเสียหาย ให้อธิบดีกรมป่าไม้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้แทนกรมสรรพากรหนึ่งคน ผู้แทนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหนึ่งคน ผู้มีความรู้ความสามารถในการตีราคาทรัพย์สินหนึ่งคน และเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้หนึ่งคน เพื่อทำหน้าที่พิจารณากำหนดเงินชดเชยความเสียหาย

                 ให้คณะกรรมการมีอำนาจเรียกให้ผู้รับสัมปทานมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ตลอดจนเรียกให้ผู้รับสัมปทานมาเจรจาเพื่อกำหนดเงินชดเชยดังกล่าวได้ และในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการดำเนินการกำหนดเงินชดเชยความเสียหายตามที่เห็นสมควรต่อไปโดยมิชักช้า

                 เมื่อคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งได้กำหนดเงินชดเชยความเสียหายเสร็จสิ้นแล้ว ให้ทำบันทึกรายงานเสนอต่ออธิบดีกรมป่าไม้โดยบันทึกรายงานดังกล่าวจะต้องแสดงรายละเอียดและเหตุผลของการพิจารณาว่าการกำหนดเงินชดเชยดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร มีเหตุผลสนับสนุนเพียงใด พร้อมทั้งระบุเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการพิจารณา และในกรณีที่อธิบดีกรมป่าไม้ไม่เห็นชอบด้วย ให้อธิบดีกรมป่าไม้มีอำนาจแก้ไขตามที่เห็นสมควรพร้อมทั้งแสดงเหตุผลกำกับในบันทึกไว้ด้วย

                  ให้อธิบดีกรมป่าไม้มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบถึงจำนวนเงินชดเชยความเสียหายที่ผู้รับสัมปทานจะได้รับพร้อมด้วยเหตุผลตามสมควร และให้กำหนดระยะเวลาที่ผู้รับสัมปทานจะมาขอรับเงินชดเชยดังกล่าวไว้ด้วย

                 มาตรา ๖๘ ทศ  ผู้รับสัมปทานผู้ใดไม่พอใจในเงินชดเชยความเสียหายที่อธิบดีกรมป่าไม้แจ้งให้ทราบตามมาตรา ๖๘ นว ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมป่าไม้ดังกล่าว

                 ในการพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย และผู้มีความรู้ความสามารถในการตีราคาทรัพย์สิน มีจำนวนทั้งหมดไม่น้อยกว่าห้าคน แต่ไม่เกินเก้าคน เป็นผู้พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี  ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์

                  มาตรา ๖๘ เอกาทศ  ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา ๖๘ ทศ หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๖๘ ทศ วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี

                 ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลและศาลพิพากษาให้ผู้รับสัมปทานได้รับเงินชดเชยความเสียหายเพิ่มขึ้น ผู้รับสัมปทานมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของเงินชดเชยความเสียหายเฉพาะในส่วนที่เพิ่มขึ้น ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี”

                  มาตรา ๔  บรรดาสัมปทานที่ได้ออกให้แก่บุคคลใดไว้แล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับ และพื้นที่สัมปทานดังกล่าวทั้งแปลงหรือบางส่วนอยู่ในแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ให้สิทธิการทำกิจการที่ได้รับสัมปทานในเขตพื้นที่ดังกล่าวสิ้นสุดลงนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับ และให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยความเสียหายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘ ฉ มาตรา ๖๘ สัตต มาตรา ๖๘ อัฏฐ มาตรา ๖๘ นว มาตรา ๖๘ ทศ และมาตรา ๖๘ เอกาทศ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบถึงการสิ้นสุดของสัมปทานโดยเร็ว

                   เพื่อประโยชน์ในการบังคับตามมาตรา ๖๘ จัตวา และมาตรา ๖๘ เบญจ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้ถือว่าสิทธิการทำกิจการที่ได้รับสัมปทานซึ่งสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง เป็นการสิ้นสุดลงตามมาตรา ๖๘ ตรี ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

มาตรา ๕  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ชาติชาย  ชุณหะวัณ

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันสภาพป่าไม้ของประเทศได้ถูกทำลายจนทำให้สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติขาดความสมดุล อันจะยังผลให้ภัยพิบัติสาธารณะดังเช่นที่เกิดขึ้นในจังหวัดภาคใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๑ อาจเกิดขึ้นอีกได้ จำเป็นต้องระงับยับยั้งมิให้มีการทำไม้ออกจากป่าและเร่งรัดฟื้นฟูสภาพป่าขึ้นโดยเร็ว แต่โดยที่พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มิได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในอันที่จะยับยั้งการทำไม้ออกจากป่าที่ได้เปิดการทำไม้โดยให้สัมปทานไปแล้วได้  ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องให้อำนาจดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการกำหนดให้สัมปทานที่มีพื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสิ้นสุดลง  ทั้งนี้ โดยให้ผู้รับสัมปทานที่สัมปทานต้องสิ้นสุดลงด้วยเหตุดังกล่าวมีสิทธิได้รับเงินชดเชยความเสียหายภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมทั้งแก่ประโยชน์ของส่วนรวมและประโยชน์ของเอกชน และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะและเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

สุรินทร์/แก้ไข

๘ มกราคม ๒๕๔๕

ปัญญา/แก้ไข

๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๒

อุดมการณ์/ปรับปรุง

๑๘ มกราคม ๒๕๕๖

วิชพงษ์/ตรวจ

๒๕ มกราคม ๒๕๕๖

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๙/๑๔ มกราคม ๒๕๓๒