พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕
พระราชบัญญัติ
การชลประทานหลวง
พุทธศักราช ๒๔๘๕
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐
และวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔)
อาทิตย์ทิพอาภา
ปรีดี พนมยงค์
ตราไว้ ณ วันที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๕
เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรส่งเสริมและควบคุมการชลประทานหลวงให้ดำเนินไปด้วยดี
จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
ข้อความเบื้องต้น
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕”
มาตรา ๒[๑] ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ห้ามมิให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติรักษาคลอง ร.ศ. ๑๒๑ มาใช้สำหรับทางน้ำชลประทานตามความในพระราชบัญญัตินี้
ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“การชลประทาน” หมายความว่า กิจการที่รัฐบาลจัดทำเพื่อส่งน้ำจากทางน้ำหรือแหล่งน้ำไปใช้ในการเพาะปลูก และหมายความถึงการป้องกันการเสียหายแก่การเพาะปลูกอันเกี่ยวกับน้ำกับทั้งรวมถึงการคมนาคมทางน้ำซึ่งอยู่ในเขตชลประทานนั้นด้วย
“ทางน้ำชลประทาน” หมายความว่า ทางน้ำที่รัฐมนตรีได้ประกาศตามความในมาตรา ๕ ว่าเป็นทางน้ำชลประทาน
“เขตชลประทาน” หมายความว่า เขตที่ดินที่ทำการเพาะปลูกซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการชลประทาน
“เขตงาน” หมายความว่า เขตที่ดินที่ใช้ในการสร้างและการบำรุงรักษาการชลประทานตามที่เจ้าพนักงานได้แสดงแนวเขตไว้
“ประตูน้ำ” หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นในทางน้ำเพื่อให้เรือแพผ่านทางน้ำที่มีระดับต่างกันได้
“ทำนบ” หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นในทางน้ำเพื่อกั้นไม่ให้น้ำไหลผ่านหรือข้ามไป
“ฝาย” หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อทดน้ำในทางน้ำซึ่งจะส่งเข้าสู่เขตชลประทาน โดยให้น้ำที่เหลือจากความต้องการท้นขึ้นแล้วไหลข้ามไปได้
“เขื่อนระบาย” หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อทดหรือกักน้ำในทางน้ำอันเป็นที่มาแห่งน้ำซึ่งจะส่งเข้าสู่เขตชลประทาน โดยมีช่องปิดเปิดได้
“ประตูระบาย” หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นในทางน้ำเพื่อทด กัก กั้น หรือระบายน้ำ ณ ที่อื่นอันมิใช่ที่มาแห่งน้ำซึ่งจะส่งเข้าสู่เขตชลประทานโดยมีช่องปิดเปิดได้
“ท่อเชื่อม” หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อให้น้ำไหลลอดหรือข้ามสิ่งกีดขวาง
“สะพานทางน้ำ” หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อให้น้ำไหลข้ามทางน้ำหรือที่ต่ำ
“ปูม” หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อบังคับน้ำให้ไหลผ่านจากทางน้ำในระดับหนึ่งตกไปสู่ทางน้ำอีกระดับหนึ่ง
“คันคลอง” หมายความว่า มูนดินที่ถมขึ้นเป็นคันยาวไปตามแนวคลอง
“ชานคลอง” หมายความว่า พื้นที่ระหว่างขอบตลิ่งกับเชิงคันคลอง
“พนัง” หมายความว่า สิ่งที่สร้างขึ้นเป็นคันยาวไปตามพื้นดิน เพื่อป้องกันอุทกภัย
“เจ้าพนักงาน” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทาน ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการชลประทาน และหมายความรวมถึงบุคคลซึ่งอธิบดีได้แต่งตั้งตามความในพระราชบัญญัตินี้ด้วย
“นายช่างชลประทาน” หมายความว่า เจ้าพนักงานผู้เป็นหัวหน้าควบคุมการก่อสร้างหรือการบำรุงรักษาการชลประทาน
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมชลประทาน
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมวด ๑
บททั่วไป
มาตรา ๕ เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ทางน้ำชลประทานแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
ประเภท ๑ ทางน้ำที่ใช้ในการส่ง ระบาย กัก หรือกั้นน้ำเพื่อการชลประทาน
ประเภท ๒ ทางน้ำที่ใช้ในการคมนาคมแต่มีการชลประทานร่วมอยู่ด้วย เฉพาะภายในเขตที่ได้รับประโยชน์จากการชลประทาน
ประเภท ๓ ทางน้ำที่สงวนไว้ใช้ในการชลประทาน
ประเภท ๔ ทางน้ำอันเป็นอุปกรณ์แก่การชลประทาน
ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าทางน้ำใดเป็นทางน้ำชลประทาน และเป็นประเภทใด
มาตรา ๖ นายช่างชลประทานมีอำนาจใช้พื้นที่ดินที่ปราศจากสิ่งปลูกสร้างซึ่งอยู่ในเขตการชลประทานได้เป็นครั้งคราวตามระยะเวลาที่จำเป็นแก่การชลประทาน โดยแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินนั้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้นต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
มาตรา ๗ ในกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดแก่การชลประทาน นายช่างชลประทานมีอำนาจที่จะใช้ที่ดินหรือสิ่งของของบุคคลใด ๆ ในที่ใกล้เคียงหรือในบริเวณที่อาจเกิดอันตรายได้เท่าที่จำเป็น แต่ถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้นต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
มาตรา ๘ รัฐมนตรีมีอำนาจให้เรียกเก็บค่าชลประทานจากเจ้าของที่ดินที่ได้รับประโยชน์จากการชลประทานในเขตชลประทานได้ในอัตราไม่เกินไร่ละห้าสิบสตางค์ต่อปี โดยออกกฎกระทรวงกำหนดเขตที่ที่จะเรียกเก็บอัตราค่าชลประทานและการยกเว้น
ผู้ที่ต้องเสียค่าชลประทานมีหน้าที่ต้องนำค่าชลประทานไปชำระ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ ภายในเวลาที่เจ้าพนักงานจะได้กำหนดโดยประกาศให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
มาตรา ๙ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการชลประทาน ถ้าไม่สามารถจะทำได้โดยวิธีอื่น ให้เจ้าของที่ดินที่อยู่ห่างทางน้ำหรือแหล่งน้ำใดมีสิทธิทำทางน้ำผ่านที่ดินของผู้อื่นได้ ในเมื่อนายช่างชลประทาน ข้าหลวงประจำจังหวัด หรือนายอำเภอได้อนุญาตและกำหนดให้โดยกว้างรวมทั้งที่ทิ้งดินด้วยไม่เกินสิบเมตร แต่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินที่ทางน้ำนั้นผ่าน
ในการที่จะให้อนุญาตและกำหนดทางน้ำนั้น ให้คำนึงถึงประโยชน์ของเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินที่ทางน้ำผ่าน และให้กำหนดให้ทำตรงที่ที่จะเสียหายแก่เจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินนั้นน้อยที่สุด
หมวด ๒
การก่อสร้าง
มาตรา ๑๐ เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะเข้าไปในที่ดินของบุคคลใด ๆ เพื่อทำงานสำรวจตรวจสอบอันเกี่ยวกับการชลประทานได้ ในเมื่อได้แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบล่วงหน้าตามสมควร แต่ถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้น ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
มาตรา ๑๐ ทวิ[๒] เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่การชลประทาน ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในหมวดนี้
เพื่อประโยชน์แห่งการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จะออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตบริเวณที่ดินที่คิดว่าจะเวนคืนไว้ก่อนก็ได้
ในพระราชกฤษฎีกานั้น ให้ระบุ
ก. ความประสงค์ที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์
ข. เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์
ค. กำหนดเขตบริเวณที่ดินที่คิดว่าจะต้องเวนคืน
ให้มีแผนที่หรือแผนผังประเมินเขตบริเวณที่ดินที่คิดว่าจะต้องเวนคืนติดไว้ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้น แผนที่หรือแผนผังที่กล่าวนี้ให้ถือเป็นส่วนแห่งพระราชกฤษฎีกา
พระราชกฤษฎีกาเช่นว่านี้มีอายุสองปี หรือตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น แต่ต้องไม่เกินกว่าห้าปีแล้วแต่จะเห็นว่าจำเป็นเพื่อทำการสำรวจที่ดินที่เจาะจงต้องเวนคืนนั้น
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในมาตรานี้ ให้ถือว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาออกตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ด้วย
มาตรา ๑๑ ในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อขุดหรือขยายทางน้ำชลประทานประเภท ๒ ถ้าที่ดินของผู้ใดที่ถูกขุดหรือขยายทางน้ำนั้น ถูกเวนคืนไม่เกินหนึ่งในสิบของที่ดินทั้งหมดและที่ดินส่วนที่เหลืออยู่มีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า ๕ ไร่ ก็ไม่จำต้องให้เงินค่าทำขวัญแก่เจ้าของที่ดินผู้นั้น แต่ถ้าเกินกว่าหนึ่งในสิบ ก็ให้คิดเงินค่าทำขวัญให้เฉพาะส่วนที่เกินกว่าหนึ่งในสิบ
ในกรณีที่ที่ดินที่เหลืออยู่มีเนื้อที่ต่ำกว่า ๕ ไร่ ถ้าเจ้าของที่ดินประสงค์จะเวนคืนให้ทั้งหมด ก็ให้กรมชลประทานรับไว้โดยคิดเงินค่าทำขวัญให้
มาตรา ๑๒ เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะเข้าครอบครองและใช้ที่ดินที่ได้เวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อทำประโยชน์ในการชลประทานได้แม้จะยังมิได้ชำระเงินค่าทำขวัญ แต่เจ้าพนักงานต้องแจ้งให้เจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
ในกรณีที่ไม่สามารถส่งแจ้งความให้ถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินนั้นได้ ให้แจ้งโดยวิธีปิดแจ้งความไว้ ณ ที่ดินนั้น และเมื่อครบกำหนดสี่สิบห้าวันนับแต่วันปิดแจ้งความแล้ว ให้เจ้าพนักงานเข้าครอบครองและใช้ที่ดินนั้นได้
หมวด ๓
การบำรุงรักษา
มาตรา ๑๓ อธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลที่มิใช่เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานให้เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่เฉพาะดูแลรักษาเขตทางน้ำชลประทานและสิ่งก่อสร้างได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๓ ทวิ[๓] เมื่อเห็นสมควรให้โอนการชลประทานหลวงในท้องที่ใดหรือในเขตโครงการชลประทานหลวงใดให้เป็นการชลประทานส่วนราษฎร ก็ให้กระทำได้โดยออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตการชลประทานหลวงที่จะโอนไปนั้น เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศการโอนดังกล่าวแล้วให้ถือว่าการชลประทานหลวงที่โอนไปนั้นเป็นการชลประทานส่วนราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานราษฎร์นับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเป็นต้นไป
มาตรา ๑๔ รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้
ก. กำหนดการใช้เรือแพในทางน้ำชลประทานประเภท ๑ และประเภท ๒
ข.[๔] กำหนดอัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทาน ซึ่งจะเรียกเก็บจากบรรดาผู้ใช้เรือแพที่ผ่านประตูน้ำ ประตูระบายน้ำ หรือผ่านทำนบโดยทางสาลี่ และเรียกเก็บจากบรรดาผู้ใช้เรือยนตร์หรือเรือกลไฟที่เดินรับจ้างส่งคนโดยสารหรือรับจ้างลากจูงเรือแพเป็นประจำในทางน้ำนั้น แต่ต้องไม่เกินอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ กับกำหนดการยกเว้นการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงทางน้ำชลประทานแก่เรือบางประเภทตามที่เห็นสมควร
ค. กำหนดเครื่องมือและวิธีที่จะใช้ในการจับสัตว์น้ำตลอดจนกำหนดเขตหวงห้ามจับสัตว์น้ำในทางน้ำชลประทาน เพื่อป้องกันการเสียหายแก่การชลประทาน
มาตรา ๑๕ ภายในบังคับแห่งมาตรา ๑๑ เพื่อประโยชน์แห่งการชลประทาน อธิบดีมีอำนาจปิด กั้น หรือเปิดน้ำ ขุด ซ่อม หรือดัดแปลงแก้ไขทางน้ำชลประทานทั้งหมด หรือแต่บางส่วนตามระยะเวลาที่จำเป็น หรือจะจัดให้มีสิ่งก่อสร้างขึ้นในทางน้ำนั้นก็ได้ และมีอำนาจวางระเบียบปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยหรือเพื่อประโยชน์ของการชลประทานโดยประกาศการปิดหรือเปิดและระเบียบนี้ในหนังสือพิมพ์รายวันและปิดไว้ ณ ที่ชุมนุมชนในท้องถิ่นตามแต่จะเห็นสมควรล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
ในกรณีฉุกเฉิน อธิบดีมีอำนาจดำเนินการตามความในวรรคก่อนไปก่อนประกาศได้
มาตรา ๑๖ อธิบดีมีอำนาจที่จะห้าม จำกัด หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เรือ แพ การใช้น้ำ การระบายน้ำ หรือการอื่น ในทางน้ำชลประทานประเภท ๔ โดยประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันและปิดไว้ ณ ที่ชุมนุมชนในท้องถิ่นตามแต่จะเห็นสมควร
มาตรา ๑๗ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเทศมนตรีในท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตชลประทานมีหน้าที่ดูแลรักษาคันคลองและทางน้ำชลประทานอันอยู่ในเขตท้องที่หรือเขตเทศบาลนั้น
มาตรา ๑๘ อธิบดีมีอำนาจยกเว้นการเก็บค่าชลประทานแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเทศมนตรี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน หรือผู้ที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเทศมนตรีจะได้ระบุนามให้เป็นผู้ได้รับการยกเว้นแทนทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในอัตรา ดังต่อไปนี้
ก. กำนัน และเทศมนตรีคนละห้าสิบไร่
ข. ผู้ใหญ่บ้าน คนละยี่สิบห้าไร่
มาตรา ๑๙ ในการขุดซ่อมทางน้ำชลประทาน ถ้าไม่มีที่เททิ้งมูลดิน ก็ให้มีอำนาจเททิ้งมูลดินในที่ดินที่ใกล้เคียงได้ตามความจำเป็น แต่ทั้งนี้ถ้าทำให้เสียหายแก่พืชผลหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีอยู่ในขณะนั้นแล้ว ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
มาตรา ๒๐ เมื่อเจ้าพนักงานได้ส่งน้ำ ระบายน้ำ หรือสูบน้ำเข้าไปในที่ดินแห่งใดเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก ห้ามมิให้ผู้ใดปิดกั้นน้ำไว้ด้วยวิธีใด ๆ จนเป็นเหตุไม่ให้น้ำไหลไปสู่ที่ดินใกล้เคียงหรือปลายทาง
ถ้าเห็นสมควร เจ้าพนักงานหรือนายอำเภอหรือผู้ทำการแทนนายอำเภอมีอำนาจที่จะสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือผู้ทำการเพาะปลูก ให้เปิดสิ่งที่ปิดกั้นน้ำไว้ตามที่จะกำหนดให้หรือจัดการเปิดเสียเองก็ได้ ในการนี้เจ้าพนักงานหรือนายอำเภอหรือผู้ทำการแทนนายอำเภอมีอำนาจเข้าไปในที่ดินแห่งหนึ่งแห่งใด เพื่อตรวจและจัดการดังกล่าวแล้ว
มาตรา ๒๑ เมื่อเจ้าพนักงานได้ส่งน้ำหรือสูบน้ำเข้าไปในที่ดินแห่งใดเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก เจ้าพนักงานหรือนายอำเภอหรือผู้ทำการแทนนายอำเภอมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือผู้ทำการเพาะปลูกบนพื้นที่ดินภายในบริเวณที่จะได้รับน้ำนั้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดภายในระยะเวลาที่จะได้กำหนดให้ เพื่อกักน้ำนั้นไว้ไม่ให้ไหลไปเสียเปล่าจนเป็นเหตุให้ที่ดินข้างเคียงไม่ได้รับน้ำตามที่ควร
มาตรา ๒๒ เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินรายใดไม่ปฏิบัติตามความที่บัญญัติในมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามความในมาตรา ๒๐ วรรคสอง หรือมาตรา ๒๑ นอกจากจะถูกลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้แล้ว เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะจัดหาแรงงานเข้าทำแทน และคิดค่าจ้างแรงงานตามอัตราในท้องถิ่นจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินนั้นได้แล้วแต่กรณี
มาตรา ๒๓[๕] ห้ามมิให้ผู้ใดเพาะปลูกหรือปลูกสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดรุกล้ำทางน้ำชลประทาน ชานคลอง เขตคันคลอง หรือเขตพนัง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายช่างชลประทานให้กระทำได้ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่อนุญาตนั้น ผู้ฝ่าฝืนนอกจากจะได้รับโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ศาลจะสั่งให้นำสิ่งที่รุกล้ำไปให้พ้นทางน้ำชลประทาน ชานคลอง เขตคันคลอง หรือเขตพนัง แล้วแต่กรณีก็ได้
มาตรา ๒๔ ถ้ามีต้นไม้ในที่ดินของผู้ใดรุกล้ำทางน้ำชลประทานหรือทำให้เสียหายแก่ทางน้ำชลประทาน ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินนั้นตัดหรือนำต้นไม้นั้นไปให้พ้นเสียได้
มาตรา ๒๕[๖] ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการกีดขวางแก่ทางน้ำชลประทาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานเป็นการชั่วคราว ผู้ฝ่าฝืนนอกจากจะได้รับโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ศาลจะสั่งให้นำสิ่งกีดขวางไปให้พ้นทางน้ำชลประทานก็ได้
เพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดแก่การชลประทาน อธิบดีมีอำนาจที่จะสั่งเจ้าพนักงานให้นำสิ่งกีดขวางไปให้พ้นทางน้ำชลประทาน แล้วคิดค่าใช้จ่ายเอาจากเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หากไม่ปรากฏผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจเอาสิ่งกีดขวางนั้นขายทอดตลาด เพื่อเอาเงินมาเป็นค่าใช้จ่าย ถ้ามีเงินเหลือจากค่าใช้จ่ายให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
มาตรา ๒๖[๗] ห้ามมิให้ผู้ใดขุดคลองหรือทางน้ำมาเชื่อมกับทางน้ำชลประทาน หรือมาเชื่อมกับทางน้ำอื่นที่เชื่อมกับทางน้ำชลประทาน หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้น้ำในทางน้ำชลประทานรั่วไหล อันอาจก่อให้เกิดการเสียหายแก่การชลประทาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย ผู้ฝ่าฝืนนอกจากจะได้รับโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ศาลจะสั่งให้ปิดถมคลองหรือทางน้ำนั้นมิให้น้ำรั่วไหลต่อไปก็ได้
เพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดแก่การชลประทาน อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำการดังกล่าวในวรรคแรกปิดถมทางน้ำนั้นหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อมิให้น้ำรั่วไหลได้ต่อไป หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานจัดการได้ทันที และถ้าจำเป็นจะต้องใช้ที่ดินเพื่อการนี้ ก็ให้มีอำนาจใช้ที่ดินริมคลองหรือริมทางน้ำนั้นได้เท่าที่จำเป็น ค่าใช้จ่ายในการนี้รวมทั้งค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ให้แก่เจ้าของที่ดิน ให้คิดเอาจากผู้ฝ่าฝืนทั้งสิ้น
คลองหรือทางน้ำใดที่ทำให้น้ำในทางน้ำชลประทานรั่วไหลอันอาจก่อให้เกิดการเสียหายแก่การชลประทานมาก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ เมื่ออธิบดีเห็นสมควรก็ให้มีอำนาจดำเนินการตามความในวรรคสองได้โดยอนุโลม
มาตรา ๒๗ ห้ามมิให้ผู้ใดนำหรือปล่อยสัตว์พาหนะลงไปในทางน้ำชลประทานประเภท ๑ และประเภท ๒ หรือเหยียบย่ำคันคลอง ชานคลองหรือบริเวณสิ่งก่อสร้างอันเกี่ยวกับการชลประทาน เว้นแต่ในที่ที่ได้กำหนดอนุญาตไว้หรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงาน
มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งมูลฝอย ซากสัตว์ ซากพืช เถ้าถ่านหรือสิ่งปฏิกูลลงในทางน้ำชลประทาน หรือทำให้น้ำเป็นอันตรายแก่การเพาะปลูก หรือการบริโภค
มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้ผู้ใดทำให้ประตูน้ำ ฝาย เขื่อนระบาย ประตูระบาย ท่อน้ำ ท่อเชื่อม สะพานทางน้ำ ปูม เสา หรือสายโทรศัพท์ ที่ใช้ในการชลประทานเสียหายจนอาจเกิดอันตรายหรือขัดข้องแก่การใช้สิ่งที่กล่าวนั้น
มาตรา ๓๐ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะทำให้เสียหายแก่คันคลอง ชานคลอง ทำนบ พนัง หรือหมุดระดับหลักฐานที่ใช้ในการชลประทาน
มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะเป็นการกีดขวางแก่แนวทางที่ได้สำรวจไว้ หรือเขตงาน หรือทำให้แนวทางที่ได้สำรวจไว้ หรือหมุดหมายแสดงเขตงานคลาดเคลื่อนหรือสูญหาย
มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้ผู้ใด นอกจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ปิดหรือเปิดประตูน้ำ เขื่อนระบาย ประตูระบาย ท่อน้ำ ท่อเชื่อม สะพานทางน้ำ หรือปูม
มาตรา ๓๓ ห้ามมิให้ผู้ใด นอกจากนายช่างชลประทานหรือผู้ที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดี ทำการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือรื้อถอนบรรดาสิ่งก่อสร้างอันเกี่ยวกับการชลประทาน
มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้ผู้ใดขุด ลอก ทางน้ำชลประทานอันจะทำให้เสียหายแก่การชลประทานหรือปิดกั้นทางน้ำชลประทาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี
มาตรา ๓๕ เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งห้ามมิให้ผู้ใดชักหรือใช้น้ำในทางน้ำชลประทานในเมื่อเห็นว่าจะเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดการเสียหายแก่ผู้อื่น
หมวด ๔
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๓๖[๘] ผู้ใดไม่ชำระค่าชลประทานตามความในมาตรา ๘ หรือฝ่าฝืนกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา ๑๔ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๕ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งซึ่งได้สั่งตามความในมาตรา ๒๐ วรรคสอง หรือมาตรา ๒๔ หรือฝ่าฝืนข้อห้าม ข้อจำกัด หรือเงื่อนไขซึ่งอธิบดีกำหนดตามความในมาตรา ๑๖ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
ในคดีความผิดตามมาตรา ๘ และมาตรา ๑๔ ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๓๗[๙] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๑ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา ๓๘[๑๐] ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งซึ่งออกตามความในมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๓๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา ๓๙[๑๑] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ มีความผิดต้องระวางโทษปรับเรียงตามตัวสัตว์ตัวละห้าบาทขึ้นไป แต่ไม่เกินตัวละห้าสิบบาท
ถ้าเป็นกรณีที่มีผู้นำจับผู้กระทำผิด ให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลมีอำนาจสั่งจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่าปรับที่ชำระต่อศาล แต่ถ้าคดีถึงที่สุดโดยคำสั่งของพนักงานผู้มีหน้าที่สอบสวนและเปรียบเทียบคดีอาญา ให้พนักงานเปรียบเทียบดังกล่าวจ่ายเงินสินบนจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระแก่ผู้นำจับกึ่งหนึ่ง และในกรณีที่มีผู้นำจับหลายคน ให้แบ่งเงินสินบนนั้นให้ได้รับคนละเท่า ๆ กัน
มาตรา ๔๐[๑๒] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๒๙ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา ๔๑[๑๓] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
หมวด ๕
การรักษาพระราชบัญญัติ
มาตรา ๔๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
บัญชีอัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทานตามความในมาตรา ๑๔
[ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย]
พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗[๑๔]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งประกาศใช้อยู่ในขณะนี้ ยังมีข้อความขาดตกบกพร่องอยู่หลายประการไม่เหมาะสมแก่การดำเนินงาน และการควบคุมการชลประทานหลวง ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นการเหมาะสมแก่กาลสมัยยิ่งขึ้น
วศิน/ผู้จัดทำ
๑๙ มีนาคม ๒๕๕๒
- [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๖๒/หน้า ๑๖๗๖/๒๒ กันยายน ๒๔๘๕
- [๒] มาตรา ๑๐ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗
- [๓] มาตรา ๑๓ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗
- [๔] มาตรา ๑๔ ข. แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗
- [๕] มาตรา ๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗
- [๖] มาตรา ๒๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗
- [๗] มาตรา ๒๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗
- [๘] มาตรา ๓๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗
- [๙] มาตรา ๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗
- [๑๐] มาตรา ๓๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗
- [๑๑] มาตรา ๓๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗
- [๑๒] มาตรา ๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗
- [๑๓] มาตรา ๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗
- [๑๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑/ตอนที่ ๖๔/หน้า ๑๔๘๔/๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๗