พระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พ.ศ. 2535
พระราชบัญญัติ
การพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน
พ.ศ. ๒๕๓๕
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕
เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการพลังงานแห่งชาติ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พ.ศ. ๒๕๓๕”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๙๖
(๒) พระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๗
(๓) พระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๒๒
(๔) พระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๓๐
บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา ๔ บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดอ้างถึงสำนักงานพลังงานแห่งชาติ และเลขาธิการพลังงานแห่งชาติ ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีนั้น อ้างถึงกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน* และอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน* ตามลำดับ
มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้
“พลังงาน” หมายความว่า ความสามารถในการทำงานซึ่งมีอยู่ในตัวของสิ่งที่อาจให้งานได้ ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสิ้นเปลือง และให้หมายความรวมถึงสิ่งที่อาจให้งานได้ เช่น เชื้อเพลิง ความร้อน และไฟฟ้า เป็นต้น
“พลังงานหมุนเวียน” หมายความรวมถึง พลังงานที่ได้จากไม้ ฟืน แกลบ กากอ้อย ชีวมวล น้ำ แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ ลม และคลื่น เป็นต้น
“พลังงานสิ้นเปลือง” หมายความรวมถึง พลังงานที่ได้จากถ่านหิน หินน้ำมัน ทรายน้ำมัน น้ำมันดิบ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ และนิวเคลียร์ เป็นต้น
“เชื้อเพลิง” หมายความรวมถึง ถ่านหิน หินน้ำมัน ทรายน้ำมัน น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงสังเคราะห์ ไม้ ฟืน แกลบ กากอ้อย ขยะ และสิ่งอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
“พลังงานควบคุม” หมายความว่า พลังงานซึ่งได้กำหนดให้มีการควบคุมตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน* และหมายความรวมถึงเจ้าหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจซึ่งพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ถือว่าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๖ ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน* มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) สำรวจ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ทดลองและตรวจสอบเกี่ยวกับพลังงานในด้านแหล่งพลังงาน การผลิต การแปรรูป การส่ง และการใช้
(๒) ศึกษา วางแผน และวางโครงการเกี่ยวกับพลังงานและกิจการที่เกี่ยวข้อง
(๓) ค้นคว้าและพัฒนา สาธิต และก่อให้เกิดโครงการริเริ่มเกี่ยวกับการผลิต การแปรรูป การส่ง การใช้ และการอนุรักษ์แหล่งพลังงาน
(๔) ออกแบบ สร้าง และบำรุงรักษาแหล่งผลิต แหล่งแปรรูป ระบบส่ง และระบบใช้พลังงาน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานชนิดใหม่ การผลิตเชื้อเพลิงจากชีวมวล และการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า
(๕) กำหนดระเบียบและมาตรฐานเกี่ยวกับการผลิต การแปรรูป การส่ง การใช้ และการอนุรักษ์แหล่งพลังงาน ตลอดจนควบคุมและกำกับดูแลให้เป็นไปตามระเบียบและมาตรฐานนั้น
(๖) กำหนดอัตราค่าตอบแทนสำหรับการใช้พลังงานที่ดำเนินการ โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*
(๗) จัดให้มี ควบคุม สร้าง ซื้อ ขาย เช่า ให้เช่า โอน หรือรับโอนแหล่งผลิต แหล่งแปรรูป ระบบส่งและระบบจำหน่ายพลังงาน และออกใบอนุญาตผลิตหรือขยายการผลิตพลังงาน
(๘) ถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่งเสริม ฝึกอบรม เผยแพร่เกี่ยวกับการผลิต การแปรรูป การส่ง การใช้และการอนุรักษ์แหล่งพลังงาน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมือในกิจการที่เกี่ยวข้อง
มาตรา ๗ ให้อธิบดีมีหน้าที่ควบคุมและดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน* และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างในกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*
มาตรา ๘ ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*อาจมอบให้กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติการเฉพาะอย่างแทนได้
มาตรา ๙ ในกรณีที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*มอบให้กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติการเฉพาะอย่างแทน ให้ผู้รับมอบดังกล่าวปฏิบัติการให้เป็นไปตามที่ได้รับมอบนั้น และเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้เจ้าหน้าที่ของกระทบวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามที่ได้รับมอบนั้นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ และมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
ในการมอบอำนาจหน้าที่ให้กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจดำเนินการ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*จะโอนเงินไปตั้งจ่ายทางกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจเช่นว่านั้น เพื่อใช้จ่ายตามรายการที่อนุมัติในงบประมาณของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*ก็ได้
มาตรา ๑๐ ในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๖ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*อาจขอให้กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจหรือบุคคลใด ๆ เสนอรายละเอียดทางวิชาการ การเงิน สถิติ และเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็นได้
มาตรา ๑๑ ในการปฏิบัติราชการของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน* ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ใด ๆ ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือเวลาทำการของสถานที่นั้น ๆ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง หรือเพื่อตรวจสอบเอกสาร หรือสิ่งของใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการพลังงานจากบุคคลที่อยู่ในสถานที่เช่นว่านั้นได้ตามความจำเป็น ในการนี้ผู้ครอบครองสถานที่ดังกล่าวต้องอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร
กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในสถานที่ตามวรรคหนึ่ง ถ้าไม่เป็นการเร่งด่วนให้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ครอบครองสถานที่ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน
มาตรา ๑๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๓ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๔ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะใช้สอยหรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในความครอบครองของบุคคลใด ๆ ซึ่งมิใช่เคหสถานเป็นการชั่วคราวภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) การใช้สอยหรือเข้าครอบครองนั้นเป็นการจำเป็นสำหรับการสำรวจแหล่งผลิต ระบบส่ง ระบบจำหน่ายพลังงาน และการป้องกันอันตรายหรือความเสียหายอันอาจเกิดแก่การผลิต การส่ง หรือการจำหน่ายพลังงาน และ
(๒) ได้แจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ทรงสิทธิอื่น เนื่องจากการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวในวรรคหนึ่ง บุคคลเช่นว่านั้นย่อมเรียกค่าทดแทนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*ได้ และถ้าไม่สามารถตกลงกันในจำนวนค่าทดแทน ให้นำมาตรา ๒๒ และมาตรา ๒๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๕ เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในการผลิต การส่ง หรือการจำหน่ายพลังงาน ถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
มาตรา ๑๖ เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ชุมนุมชน ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*มีอำนาจตั้งสถานีพลังงาน เดินสายหรือท่อพลังงานไปใต้ เหนือ ตามหรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ๆ หรือปัก ตั้งเสาหรืออุปกรณ์ ลงในหรือบนพื้นดินของบุคคลใด ๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นที่ตั้งโรงเรือน
ในกรณีที่ต้องใช้ที่ดินตอนหนึ่งตอนใด เพื่อกระทำการดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*จ่ายค่าทดแทนในการใช้ที่ดินนั้นแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง โดยจำนวนเงินอันเป็นธรรม เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้ได้รับประโยชน์คุ้มค่าในการกระทำนั้นอยู่ด้วย
มาตรา ๑๗ เพื่อประโยชน์แก่ชุมนุมชน ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*มีอำนาจเดินสายหรือท่อพลังงานติดไปกับสิ่งก่อสร้างของบุคคลใด ๆ ที่อยู่เหนือหรือติดกับทางสัญจรของประชาชน
มาตรา ๑๘ ก่อนที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*จะดำเนินการตามมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗ ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทราบ เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอาจยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ไม่ควรทำเช่นนั้นไปยังรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ในกรณีเช่นว่านี้ ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*รอการดำเนินการไว้ก่อน จนกว่าจะแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้ผู้ยื่นคำร้องทราบแล้ว
คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
มาตรา ๑๙ เพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยในการส่งพลังงาน ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*มีอำนาจตัดต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้ ซึ่งอยู่ใกล้สายหรือท่อพลังงานหรืออุปกรณ์ได้ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้ได้ทราบล่วงหน้าภายในเวลาอันสมควร
ในกรณีที่ต้นไม้นั้นมีอยู่ก่อนเวลาตั้งสถานีพลังงาน หรือเดินสายหรือท่อพลังงานหรือปักตั้งเสาหรืออุปกรณ์ ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*ใช้ค่าทดแทนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในต้นไม้เท่าที่ต้องเสียหายไปเพราะการกระทำนั้น
มาตรา ๒๐ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องประสงค์จะก่อสร้างหรือกระทำกิจการใด ๆ ลงในที่ดินซึ่งมีสายหรือท่อพลังงานหรืออุปกรณ์กีดขวางอยู่ เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นชอบที่จะร้องขอต่อกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*ให้ย้าย ถอน เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขสิ่งที่กีดขวางนั้นได้ เมื่อเป็นการสมควรก็ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*จัดการตามคำร้องขอนั้น โดยให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
มาตรา ๒๑ ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนพนักงานเจ้าหน้าที่อาจเข้าไปในสถานที่ของบุคคลใด ๆ เพื่อตรวจ ซ่อมแซม หรือแก้ไขสายหรือท่อพลังงานหรืออุปกรณ์ในเวลาหนึ่งเวลาใดก็ได้ เมื่อได้แจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบแล้ว
มาตรา ๒๒ ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นไม่ยินยอมตกลงในจำนวนเงินค่าทดแทนที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*จ่ายให้ตามมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๙ หรือหาเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นนั้นไม่พบ ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางไว้ต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์ หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่น โดยแยกฝากไว้เป็นบัญชีเฉพาะราย และถ้ามีดอกเบี้ยหรือดอกผลใดเกิดขึ้น เนื่องจากการฝากเงินนั้น ให้ตกเป็นสิทธิแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นนั้นด้วย
เมื่อกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*นำเงินค่าทดแทนไปวางไว้ต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นทราบ โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ในกรณีหาเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นไม่พบ ให้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน เพื่อให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นทราบ
หลักเกณฑ์และวิธีการในการนำเงินค่าทดแทนไปวางต่อศาล หรือสำนักงานวางทรัพย์ หรือฝากไว้กับธนาคารออมสิน และวิธีการในการรับเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*จ่ายให้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะรับหรือไม่รับเงินค่าทดแทนที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*วางไว้หรือฝากไว้ บุคคลนั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*ได้ดำเนินการตามมาตรา ๒๒ วรรคสอง แล้ว
การฟ้องคดีต่อศาลตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุให้การครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์ หรือการดำเนินการใด ๆ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๙ ต้องสะดุดหยุดลง
ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย วาง หรือฝากเงินค่าทดแทนนั้น
ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นยินยอมตกลงและได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้ว หรือมิได้ฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทนต่อศาลภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือได้แจ้งเป็นหนังสือสละสิทธิไม่รับเงินค่าทดแทนดังกล่าว ผู้ใดจะเรียกร้องเงินค่าทดแทนนั้นอีกไม่ได้
มาตรา ๒๔ การกำหนดพลังงานประเภทใด ขนาดและวิธีการผลิต หรือการใช้อย่างใดให้เป็นพลังงานควบคุม ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๒๕ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต หรือขยายการผลิตพลังงานควบคุม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*
การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
การผลิตพลังงานควบคุมใดซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตหรือรับสัมปทานตามกฎหมายอื่น จะต้องได้รับอนุญาตหรือรับสัมปทานตามกฎหมายนั้นด้วย
มาตรา ๒๖ การกำหนดหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงตามมาตรา ๒๕ ให้คำนึงถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ
(๒) อันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการผลิตหรือการขยายการผลิตพลังงาน
(๓) การใช้วัตถุดิบหรือวัตถุธรรมชาติตามหลักวิชา
มาตรา ๒๗ ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*พิจารณาการขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๕ ให้เสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*ได้รับคำขอที่มีรายละเอียดถูกต้องและครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในการอนุญาตดังกล่าว กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*อาจกำหนดเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ได้
(๑) อัตราค่าตอบแทนอย่างสูงที่จะพึงเรียกจากผู้ใช้พลังงานควบคุมให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
(๒) การกำหนดเขตการจ่ายพลังงาน และขนาดของเครื่องจักรที่จะติดตั้งเพื่อทำการผลิต
(๓) การดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักวิชา เช่น การวางสาย การป้องกันอัคคีภัย การป้องกันความเสียหายของเครื่องจักร การป้องกันอันตราย หรือการกำหนดประเภทหรือวิธีการใช้วัตถุดิบหรือวัตถุธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตพลังงานควบคุม
มาตรา ๒๘ ในกรณีที่อาจเกิดการขาดแคลนพลังงานควบคุมเป็นครั้งคราว หรือกรณีจำเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศ อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ผลิตพลังงานควบคุมปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ลดหรือเพิ่มการผลิต การจำหน่าย หรือการใช้พลังงานควบคุม
(๒) เปลี่ยนประเภทของวัตถุดิบหรือวัตถุธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตพลังงานควบคุม
(๓) เปลี่ยนแปลงอัตราค่าตอบแทนอย่างสูงที่จะพึงเรียกจากผู้ใช้พลังงานควบคุม
มาตรา ๒๙ เพื่อประโยชน์แก่การระงับหรือป้องกันอันตรายที่อาจมีแก่บุคคล หรือทรัพย์สิน หรืออนามัยของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ผลิตพลังงานควบคุมปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) เปลี่ยนแปลง ซ่อมแซม หรือบูรณะอาคาร เครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์ เครื่องมือหรือเครื่องใช้
(๒) จัดหา หรือสร้างสิ่งใด ๆ ซึ่งจะขจัดหรือป้องกันอันตราย
(๓) งดการผลิต การส่ง การใช้ หรือการจำหน่ายพลังงานควบคุมเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งตาม (๑) หรือ (๒)
มาตรา ๓๐ ในการใช้อำนาจตามมาตรา ๒๘ หรือมาตรา ๒๙ ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*คำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น หรือความสามารถในการจัดหาทุนของผู้ผลิตพลังงานควบคุมด้วย
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน*จะช่วยหาทุนเพื่อให้ผู้ผลิตพลังงานควบคุมสามารถปฏิบัติตามคำสั่งก็ได้
มาตรา ๓๑ ผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๕ หรือได้รับใบอนุญาตโดยมีเงื่อนไขตามมาตรา ๒๗ หรือผู้ที่ได้รับคำสั่งตามมาตรา ๒๘ หรือมาตรา ๒๙ หากไม่เห็นชอบด้วยกับการไม่อนุญาตเงื่อนไข หรือคำสั่งดังกล่าวนั้น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบว่าไม่ได้รับใบอนุญาต หรือได้รับใบอนุญาตโดยมีเงื่อนไข หรือได้รับคำสั่งนั้น
ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้เสนอคดีต่อศาลภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์
มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางต่อการผลิตพลังงานควบคุม หรือทำให้การผลิตพลังงานควบคุมลดน้อยลงโดยไม่มีเหตุอันควร
มาตรา ๓๓ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการตามมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๕ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีที่สั่งตามมาตรา ๒๘ หรือมาตรา ๒๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๗ ในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานอัยการมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้ผู้กระทำผิดปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๓๘ การใดที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการพลังงานแห่งชาติ และได้มีการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นั้นไปแล้วตามพระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๙๖ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่การดำเนินการนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีข้อผูกพันที่จะต้องดำเนินการต่อไป ให้รัฐมนตรีมีอำนาจพิจารณาสั่งการแทนคณะกรรมการการพลังงานแห่งชาติ
มาตรา ๓๙ บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๙๖ ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ หรือคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๔๐ บรรดาการอนุญาต หรือใบอนุญาตที่ออกให้ตามพระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๙๖ อยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังมีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะสิ้นอายุการอนุญาต หรือใบอนุญาตนั้น
มาตรา ๔๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน*รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงหรือกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติขึ้นเป็นส่วนราชการระดับกรมในสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศ ในการนี้สมควรปรับปรุงพระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๙๖ เพื่อให้สอดคล้องกัน โดยเปลี่ยนให้สำนักงานพลังงานแห่งชาติเป็นกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานให้รับผิดชอบเฉพาะในด้านการค้นคว้า พัฒนา กำกับดูแลและปฏิบัติการเกี่ยวกับการผลิต การส่งและการจำหน่ายพลังงาน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕[๒]
มาตรา ๒๘ ในพระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้แก้ไขคำว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน” เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน” คำว่า “กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน” เป็น “กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน” และคำว่า “อธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน” เป็น “อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน”
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
สัญชัย/ผู้จัดทำ
๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๑
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๙/หน้า ๙/๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕
[๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙/ตอนที่ ๑๐๒ ก/หน้า ๗๐/๘ ตุลาคม ๒๕๔๕