พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511
พระราชบัญญัติ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๑๑
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๑
เป็นปีที่ ๒๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๑”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติการไฟฟ้ายันฮี พ.ศ. ๒๕๐๐
(๒) พระราชบัญญัติการไฟฟ้ายันฮี (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๒
(๓) พระราชบัญญัติการไฟฟ้ายันฮี (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๖
(๔) พระราชบัญญัติการลิกไนท์ พ.ศ. ๒๕๐๓
(๕) พระราชบัญญัติการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๕
(๖) พระราชบัญญัติการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๗
(๗) พระราชบัญญัติการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๐
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“ระบบไฟฟ้า” หมายความว่า สายส่งไฟฟ้า สายจำหน่ายไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าย่อย หรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์แก่การส่งหรือการจำหน่ายไฟฟ้า
“เขตเดินสายไฟฟ้า”[๒] หมายความว่า บริเวณที่ที่จะเดินสายส่งไฟฟ้า โดยมีความกว้างจากแนวศูนย์กลางของเสาสายส่งไฟฟ้าด้านละไม่เกินสี่สิบเมตร
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
“ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
“พนักงาน” หมายความว่า พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรวมทั้งผู้ว่าการ
“ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน*รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมวด ๑
การจัดตั้ง ทุนและเงินสำรอง
มาตรา ๖ ให้จัดตั้งการไฟฟ้าขึ้น เรียกว่า “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” เรียกโดยย่อว่า “กฟผ.” และให้เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) ผลิต จัดให้ได้มา จัดส่งหรือจำหน่ายซึ่งพลังงานไฟฟ้าให้แก่
(ก) การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือการไฟฟ้าอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
(ข) ผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
(ค) ประเทศใกล้เคียง
(๒) ดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า แหล่งพลังงานอันได้มาจากธรรมชาติ เช่น น้ำ ลม ความร้อนธรรมชาติ แสงแดด แร่ธาตุ หรือเชื้อเพลิงเป็นต้นว่า น้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซ รวมทั้งพลังงานปรมาณู เพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า และงานอื่นที่ส่งเสริมกิจการของ กฟผ.
(๒ ทวิ)[๓] ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการของ กฟผ. หรือร่วมทุนกับบุคคลอื่นเพื่อดำเนินการดังกล่าว
(๓) ผลิตและขายลิกไนท์ หรือวัตถุเคมีจากลิกไนท์หรือโดยอาศัยลิกไนท์หรือร่วมทุนกับบุคคลอื่นเพื่อดำเนินการดังกล่าว
มาตรา ๗ ให้โอนทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ ความรับผิด ตลอดจนธุรกิจของการไฟฟ้ายันฮี การลิกไนท์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือให้แก่ กฟผ. ทรัพย์สินดังกล่าวเมื่อได้หักหนี้สินออกแล้วให้ถือเป็นทุนของ กฟผ.
มาตรา ๘ ให้ กฟผ. ตั้งสำนักงานใหญ่ในจังหวัดพระนครหรือจังหวัดใกล้เคียงและจะตั้งสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใดก็ได้
มาตรา ๙ ให้ กฟผ. มีอำนาจกระทำกิจการภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๖ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) สร้าง ซื้อ จัดหา รับโอน จำหน่าย เช่า ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม และดำเนินงานเกี่ยวกับเครื่องใช้ บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของ กฟผ.
(๒) ซื้อ จัดหา จำหน่าย เช่า ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครองหรือดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ
(๓) สำรวจ วางแผน ออกแบบ จัดซื้อ สร้าง และติดตั้งอันเกี่ยวกับกิจการของ กฟผ.
(๔) สร้างเขื่อนกั้นน้ำ เขื่อนระบายน้ำ เขื่อนกักเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำ หรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์ของเขื่อนหรืออ่างนั้นเพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือเพื่อการพัฒนาการไฟฟ้าพลังน้ำหรือเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการไฟฟ้า สร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังปรมาณู หรือโรงไฟฟ้าพลังอื่น รวมทั้งลานไกไฟฟ้าและสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้านั้น ๆ หรือสร้างระบบไฟฟ้า
(๕) กำหนดประเภท ขนาด และมาตรฐานของโรงไฟฟ้า ลานไกไฟฟ้าและสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้านั้น ๆ ตาม (๔) หรือโรงผลิตวัตถุเคมีจากลิกไนท์ ระบบไฟฟ้า และอุปกรณ์อื่น ๆ ตลอดจนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. รวมทั้งวางนโยบายและควบคุมการผลิต การส่งการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า การผลิตลิกไนท์ และวัตถุเคมีจากลิกไนท์ของ กฟผ.
(๖) กู้ยืมเงิน หรือลงทุน
(๗) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
(๘)[๔] จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการของ กฟผ.
(๙)[๕] เข้าร่วมกิจการกับหน่วยงานอื่นไม่ว่าจะเป็นของเอกชนหรือของรัฐทั้งในประเทศและนอกประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่กิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของ กฟผ.
(๑๐)[๖] กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของ กฟผ.
มาตรา ๑๐ ทุนของ กฟผ. ประกอบด้วย
(๑) ทรัพย์สินตามมาตรา ๗
(๒) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับจากรัฐบาลหรือบุคคลอื่น
มาตรา ๑๑ เงินสำรองของ กฟผ. ให้ประกอบด้วยเงินสำรองเผื่อขาดและเงินสำรองอื่น ตามที่คณะกรรมการจะเห็นสมควร
มาตรา ๑๒ ทรัพย์สินของ กฟผ. ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
หมวด ๒
คณะกรรมการและผู้ว่าการ
มาตรา ๑๓ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” ประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสิบคนรวมทั้งผู้ว่าการซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการอื่นซึ่งมิใช่กรรมการโดยตำแหน่ง
มาตรา ๑๔ ผู้ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการและผู้ว่าการต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีความรู้ความจัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การคลัง หรือกฎหมาย
มาตรา ๑๕ ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ห้ามแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการ
(๑)[๗] เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับ กฟผ. หรือในกิจการที่กระทำให้แก่ กฟผ. ไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อม เว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุนโดยสุจริตในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น หรือเป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้เป็นประธานกรรมการ กรรมการในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่ กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้น
(๒) เป็นผู้มีตำแหน่งการเมือง
(๓) เป็นพนักงาน เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ
มาตรา ๑๖ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี แต่สำหรับกรรมการนั้นในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสองปี ให้กรรมการดังกล่าวออกจากตำแหน่งกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก ถ้าไม่อาจหาจำนวนกึ่งหนึ่งได้ก็ให้กรรมการซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปมีจำนวนมากกว่า
ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
มาตรา ๑๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๖ ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก
(๔) ตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๔ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕
เมื่อประธานกรรมการหรือกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการแทนได้
ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวรรคสองอยู่ในตำแหน่งตามวาระของประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งตนแทน
มาตรา ๑๘ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งกิจการของ กฟผ. อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) ออกระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
(๒) ออกระเบียบหรือข้อบังคับการประชุม
(๓) ออกระเบียบหรือข้อบังคับการดำเนินกิจการของคณะกรรมการ
(๔) ออกระเบียบหรือข้อบังคับการจัดแบ่งส่วนงานและวิธีปฏิบัติงาน
(๕) กำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างของพนักงานหรือลูกจ้าง
(๖) ออกระเบียบหรือข้อบังคับการบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้าง การออกจากตำแหน่ง วินัย และการลงโทษพนักงานและลูกจ้าง
(๗) ออกระเบียบหรือข้อบังคับการจ่ายค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทางค่าเช่าที่พัก ค่าล่วงเวลา และการจ่ายเงินอื่น
(๘) ออกระเบียบหรือข้อบังคับเครื่องแบบพนักงานและลูกจ้าง
(๙) กำหนดราคาขายพลังงานไฟฟ้า ลิกไนท์ วัตถุเคมีจากลิกไนท์ และวัสดุอุปกรณ์ และกำหนดค่าบริการ และออกระเบียบเกี่ยวกับวิธีชำระราคาขายหรือค่าบริการ
(๑๐) ออกระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของ กฟผ.
ระเบียบหรือข้อบังคับวิธีปฏิบัติงานตาม (๔) ถ้ามีข้อความจำกัดอำนาจของผู้ว่าการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ราคาขายตาม (๙) ให้กำหนดในอัตราอันสมควร เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ
(ก) สำหรับรายจ่ายที่จำเป็นในการดำเนินกิจการ รวมทั้งดอกเบี้ยค่าเสื่อมราคา บำเหน็จบำนาญ กองทุนสงเคราะห์ หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัว และโบนัส
(ข) สำหรับชำระหนี้สินเท่าที่จำนวนเงินเพื่อการชำระนั้นเกินกว่าจำนวนที่จัดสรรไว้เป็นค่าเสื่อมราคา และสำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการจัดหาทรัพย์สินใหม่แทนทรัพย์สินเดิม
(ค) ที่จะจัดให้มีเงินสำรองและเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่อันจำเป็นในการขยายกิจการและลงทุน
มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าการ
ให้ผู้ว่าการได้รับเงินเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนด และพ้นจากตำแหน่งเมื่อ ตาย ลาออก ตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๔ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๐ หรือคณะกรรมการให้ออก
มติให้ผู้ว่าการออกจากตำแหน่งต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด นอกจากผู้ว่าการ
การแต่งตั้ง การกำหนดอัตราเงินเดือน หรือการให้ออกจากตำแหน่งตามมาตรานี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๒๐ ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ห้ามแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ
(๑)[๘] เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับ กฟผ. หรือในกิจการที่กระทำให้แก่ กฟผ. ไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อม เว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุนโดยสุจริตในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้นหรือเป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้เป็นประธานกรรมการ กรรมการในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้น
(๒) เป็นข้าราชการประจำ
(๓) เป็นผู้มีตำแหน่งการเมือง
(๔) เป็นผู้ไม่อาจทำงานได้เต็มเวลาให้แก่ กฟผ.
มาตรา ๒๑ ผู้ว่าการมีหน้าที่บริหารกิจการให้เป็นไปตามอำนาจของ กฟผ. ตามนโยบาย ระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้าง
ในการบริหารกิจการ ผู้ว่าการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ
มาตรา ๒๒ ผู้ว่าการมีอำนาจ
(๑) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ แต่ถ้าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างชั้นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไปจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
(๒) กำหนดเงื่อนไขในการทำงานของพนักงานและลูกจ้าง และออกระเบียบวิธีปฏิบัติงานของ กฟผ. โดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับของคณะกรรมการ
มาตรา ๒๓ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำในนามของ กฟผ. และเป็นผู้กระทำแทน กฟผ. เพื่อการนี้ผู้ว่าการจะมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ
นิติกรรมที่ผู้ว่าการทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับตามมาตรา ๑๘ วรรคสอง ย่อมไม่ผูกพัน กฟผ. เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน
มาตรา ๒๔ เมื่อผู้ว่าการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งผู้ว่าการว่างลง ในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งผู้ว่าการให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนผู้ว่าการ หรือรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ แล้วแต่กรณี และให้นำมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้ผู้ทำการแทนผู้ว่าการหรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้ว่าการ เว้นแต่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการในฐานะกรรมการ
มาตรา ๒๕ ประธานกรรมการและกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๖ ประธานกรรมการ กรรมการ พนักงานและลูกจ้างอาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๗ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ และพนักงานเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
หมวด ๓
การสร้าง และการบำรุงรักษา
มาตรา ๒๘[๙] เพื่อประโยชน์ในการสำรวจเพื่อหาแหล่งพลังงานตามมาตรา ๖ (๒) หรือเพื่อหาสถานที่สำหรับใช้ในกิจการตามมาตรา ๙ (๔) หรือเพื่อสร้างและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า ให้พนักงานหรือลูกจ้างมีอำนาจที่จะใช้สอยหรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในความครอบครองของบุคคลใด ๆ ซึ่งมิใช่เคหสถานเป็นการชั่วคราวภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) การใช้สอยหรือเข้าครอบครองนั้นเป็นการจำเป็นสำหรับการสำรวจระบบไฟฟ้าหรือการป้องกันอันตราย หรือความเสียหายที่จะเกิดแก่ระบบไฟฟ้า การสำรวจเพื่อหาแหล่งพลังงานตามมาตรา ๖ (๒) หรือเพื่อหาสถานที่สำหรับใช้ในกิจการตามมาตรา ๙ (๔) หรือการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า
(๒) ได้แจ้งหรือประกาศให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ทรงสิทธิอื่นทราบล่วงหน้า ดังต่อไปนี้
(ก) ในการสำรวจระบบไฟฟ้า หรือการป้องกันอันตราย หรือความเสียหาย ที่จะเกิดแก่ระบบไฟฟ้า หรือการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า ให้แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ทรงสิทธิอื่นทราบล่วงหน้าเป็นการเฉพาะรายภายในเวลาอันสมควรแต่ไม่น้อยกว่าสามวัน
(ข) ในการสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าหรือเพื่อหาแหล่งพลังงานตามมาตรา ๖ (๒) หรือเพื่อหาสถานที่สำหรับใช้ในกิจการตามมาตรา ๙ (๔) ที่เหมาะสม ให้ประกาศกำหนดเขตสำรวจไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอหรือสำนักงานเขต และที่ทำการตำบลหรือแขวงซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ และในราชกิจจานุเบกษาก่อนวันสำรวจไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
(ค) ในการสำรวจเฉพาะแห่งภายหลังที่เลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้า หรือหาแหล่งพลังงานตามมาตรา ๖ (๒) หรือหาสถานที่สำหรับใช้ในกิจการตามมาตรา ๙ (๔) ที่เหมาะสมได้แล้ว หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ทรงสิทธิอื่นมิได้อาศัยอยู่ในเขตตำบลหรือแขวงที่กำลังสำรวจอยู่ และเป็นกรณีที่จะต้องสำรวจโดยเร่งด่วน ให้ประกาศกำหนดเขตสำรวจไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอหรือสำนักงานเขต ที่ทำการตำบลหรือแขวง และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ ก่อนวันสำรวจไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
ในการปฏิบัติตามมาตรานี้ให้พนักงานหรือลูกจ้างแสดงบัตรประจำตัวเมื่อบุคคลผู้เกี่ยวข้องร้องขอ
ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ทรงสิทธิอื่นเนื่องจากการกระทำของพนักงานหรือลูกจ้าง บุคคลนั้นย่อมเรียกค่าทดแทนจาก กฟผ. ได้ และถ้าไม่สามารถตกลงกันในจำนวนค่าทดแทน ให้นำมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๐ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๙ ในการส่งและการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ให้ กฟผ. มีอำนาจ
(๑) เดินสายส่งไฟฟ้าหรือสายจำหน่ายไฟฟ้าไปใต้ เหนือ ตามหรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ปักหรือตั้งเสา สถานีไฟฟ้าย่อยหรืออุปกรณ์อื่น ลงในหรือบนพื้นดินของบุคคลใดซึ่งมิใช่เป็นที่ตั้งโรงเรือน
(๒) ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าเพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยในการส่งพลังงานไฟฟ้า โดยประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอแห่งท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ และจัดทำเครื่องหมายแสดงไว้ในที่ที่ประกาศกำหนดเขตนั้นตามสมควร
(๓) รื้อถอนโรงเรือนหรือทำลายสิ่งอื่นที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้น หรือทำลาย หรือตัดฟัน ตัดต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้หรือพืชผลในเขตเดินสายไฟฟ้า
ก่อนที่จะดำเนินการตาม (๑) หรือ (๓) ให้ กฟผ. แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทราบ จ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอาจยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ไม่สมควรทำเช่นนั้น ไปยังคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
มาตรา ๓๐[๑๐] ให้ กฟผ .จ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การใช้ที่ดินปักหรือตั้งเสาเพื่อเดินสายส่งไฟฟ้าหรือสายจำหน่ายไฟฟ้า
(๒) การใช้ที่ดินปักหรือตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยหรืออุปกรณ์อื่น
(๓) การใช้ที่ดินที่ประกาศกำหนดเป็นเขตเดินสายไฟฟ้า
(๔) การกระทำตามมาตรา ๒๙ (๓)
ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นไม่ยินยอมตกลงในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ กฟผ. กำหนด หรือหาตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นไม่พบ ให้ กฟผ. นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางไว้ต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นโดยแยกฝากเป็นบัญชีเฉพาะราย และถ้ามีดอกเบี้ยหรือดอกผลใดเกิดขึ้นเนื่องจากการฝากเงินนั้น ให้ตกเป็นสิทธิแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นนั้นด้วย
เมื่อ กฟผ. นำเงินค่าทดแทนไปวางไว้ต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินตามวรรคสองแล้ว ให้ กฟผ. มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นทราบโดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ในกรณีหาตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นไม่พบ ให้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายในท้องถิ่นอย่างน้อยสามวันติดต่อกันเพื่อให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นทราบ
หลักเกณฑ์และวิธีการในการนำเงินค่าทดแทนไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสิน และวิธีการในการรับเงินค่าทดแทนดังกล่าว ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๐ ทวิ[๑๑] ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ กฟผ. กำหนด ไม่ว่าบุคคลนั้นจะรับหรือไม่รับเงินค่าทดแทนที่ กฟผ. วางไว้หรือฝากไว้ ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ กฟผ. ได้ดำเนินการตามมาตรา ๓๐ วรรคสาม แล้ว
การฟ้องคดีต่อศาลตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุให้การครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์ การรื้อถอนโรงเรือนหรือการทำลายสิ่งอื่นที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้นหรือการดำเนินการใด ๆ ของพนักงานหรือลูกจ้างต้องสะดุดหยุดลง
ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย วางหรือฝากเงินค่าทดแทนนั้น
ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นพอใจและได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้ว หรือมิได้ฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทนต่อศาลภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือได้แจ้งเป็นหนังสือสละสิทธิไม่รับเงินค่าทดแทนดังกล่าว ผู้ใดจะเรียกร้องเงินค่าทดแทนนั้นอีกไม่ได้
มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอาจเป็นอันตรายแก่ระบบไฟฟ้าในเขตเดินสายไฟฟ้า
มาตรา ๓๒ ในเขตเดินสายไฟฟ้า ห้ามมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือนหรือสิ่งอื่นปลูกต้นไม้หรือพืชผล เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก กฟผ. การอนุญาตนั้นให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ กฟผ. กำหนด
โรงเรือนหรือสิ่งอื่นที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้น ต้นไม้หรือพืชผลที่ปลูกขึ้น โดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือไม่ได้รับอนุญาตจาก กฟผ. ให้ กฟผ. มีอำนาจรื้อถอน ทำลายหรือตัดฟันตามควรแก่กรณีโดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทน
มาตรา ๓๓ เพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยให้ กฟผ. มีอำนาจทำลายหรือตัดฟัน ตัดต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้ ที่อยู่ใกล้ระบบไฟฟ้า แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้ทราบล่วงหน้าภายในเวลาอันสมควร
ในกรณีที่ต้นไม้นั้นมีอยู่ก่อนการสร้างระบบไฟฟ้า ให้ กฟผ. จ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้เท่าที่ต้องเสียหายเพราะการกระทำนั้น
มาตรา ๓๔ ในกรณีจำเป็นเพื่อตรวจ ซ่อมแซม หรือแก้ไขระบบไฟฟ้า พนักงานหรือลูกจ้างอาจเข้าไปในสถานที่ของบุคคลใดในเวลาใดก็ได้ เมื่อได้แจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบแล้ว และให้นำมาตรา ๒๘ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๓๕ ในการกระทำกิจการตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ พนักงานหรือลูกจ้างจะต้องพยายามมิให้เกิดความเสียหาย แต่ถ้าเกิดความเสียหายขึ้น กฟผ. จะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายนั้น
มาตรา ๓๖ เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อได้มาซึ่งแหล่งพลังงานตามมาตรา ๖ (๒) หรือเพื่อใช้ตามมาตรา ๙ (๔) ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
ในการนี้ จะออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่คิดจะเวนคืนไว้ก่อนก็ได้ และให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๓๗[๑๒] ผู้ใดสร้างโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตรวมกันสูงกว่ายี่สิบเมกะวัตต์เพื่อใช้เอง หรือที่มีกำลังผลิตรวมกันสูงกว่าหกเมกะวัตต์เพื่อขายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชน ประสงค์จะเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าของตนกับระบบไฟฟ้าของ กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต้องยื่นคำขอและได้รับความเห็นชอบจาก กฟผ. ก่อน
ในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ให้ กฟผ. กำหนดเงื่อนไขที่เกี่ยวกับคุณภาพไฟฟ้าเทคนิคทางวิศวกรรม และความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าเพื่อการเชื่อมโยงระบบได้
การพิจารณาคำขอของผู้สร้างโรงไฟฟ้าตามวรรคหนึ่ง ให้ กฟผ. พิจารณาโดยไม่ชักช้า
ผู้สร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้รับความเห็นชอบหรือได้รับความเห็นชอบโดยมีเงื่อนไขที่ไม่อาจรับได้ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ไม่ได้รับความเห็นชอบ หรือได้รับความเห็นชอบโดยมีเงื่อนไขที่ไม่อาจรับได้
ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ แต่ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสนอคดีต่อศาลภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์
มาตรา ๓๘ ให้ กฟผ. รับผิดชอบในการดำเนินกิจการและการบำรุงรักษาเขื่อนกั้นน้ำ เขื่อนระบายน้ำ เขื่อนกักเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำ และสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์ของเขื่อนหรืออ่างนั้นภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๖ รวมทั้งการควบคุมปริมาณน้ำที่กักเก็บหรือระบายจากอ่างเก็บน้ำ โดยให้คำนึงถึงประโยชน์มากที่สุดจากการควบคุมลุ่มแม่น้ำที่มีการสร้างเขื่อนดังกล่าวนั้น และแคว ลำน้ำ ทางน้ำ คลอง หรือคลองส่งน้ำที่มีต่อเนื่องกับลุ่มแม่น้ำนั้นให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ให้ กฟผ. และกรมชลประทานร่วมกันออกข้อบังคับเพื่อกำหนดปริมาณน้ำที่จะกักเก็บหรือระบายจากอ่างเก็บน้ำ
ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการออกข้อบังคับ หรือการปฏิบัติตามข้อบังคับให้รายงานต่อรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาวินิจฉัย คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
หมวด ๔
การกำกับและการควบคุม
มาตรา ๓๙ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ กฟผ. เพื่อการนี้จะสั่งให้ กฟผ. ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งให้ปฏิบัติการตามนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี และสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการได้
มาตรา ๔๐ ในกรณีที่ กฟผ. จะต้องเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการนำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๔๑ ในการดำเนินกิจการของ กฟผ. ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน
มาตรา ๔๒ ให้ กฟผ. เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารตามระเบียบของคณะกรรมการซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๔๓[๑๓] กฟผ. จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ได้
(๑) ลงทุนเพื่อขยายโครงการเดิมหรือริเริ่มโครงการใหม่
(๒) เพิ่มทุนโดยตีราคาทรัพย์สินใหม่
(๓) ลดทุน
(๔) กู้ยืมเงินเกินสี่สิบล้านบาท
(๕) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
(๖) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อันมีราคาเกินสิบล้านบาท
มาตรา ๔๔ ให้ กฟผ. จัดทำงบประมาณประจำปีโดยแยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ สำหรับงบลงทุนให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
มาตรา ๔๕ รายได้ที่ กฟผ. ได้รับจากการดำเนินกิจการให้ตกเป็นของ กฟผ. สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๑๘
รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักรายจ่ายแล้วเหลือเท่าใด ให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
แต่ถ้ารายได้มีไม่เพียงพอสำหรับรายจ่าย นอกจากเงินสำรองตามมาตรา ๑๘ และ กฟผ. ไม่สามารถหาเงินจากทางอื่น รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่ กฟผ. เท่าจำนวนที่ขาด
มาตรา ๔๖ ให้ กฟผ. ทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานในปีที่ล่วงแล้วของ กฟผ. และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า
มาตรา ๔๗ ให้ กฟผ. วางและรักษาไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการสาธารณูปโภค แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการลงรายการรับและจ่ายเงินสินทรัพย์และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควรตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการดังกล่าว และให้มีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำ
มาตรา ๔๘ ให้ กฟผ. จัดทำงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
มาตรา ๔๙ ทุกปี ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคนเพื่อสอบและรับรองบัญชีของ กฟผ. เป็นปี ๆ ไป
ห้ามมิให้แต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ผู้อื่นซึ่งเป็นผู้แทนของ กฟผ. หรือผู้มีส่วนได้เสียในการงานที่ กฟผ. จัดทำเป็นผู้สอบบัญชี
มาตรา ๕๐ ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานของ กฟผ. เพื่อการนี้ ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้อื่นซึ่งเป็นผู้แทนของ กฟผ.
มาตรา ๕๑ ผู้สอบบัญชีจะต้องทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี และให้ กฟผ. โฆษณารายงานประจำปีของปีที่ล่วงแล้วแสดงงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้วภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
หมวด ๕
การร้องทุกข์และการสงเคราะห์
มาตรา ๕๒ ให้พนักงานมีสิทธิร้องทุกข์เกี่ยวกับการลงโทษได้ตามข้อบังคับของคณะกรรมการ
มาตรา ๕๓ ให้ กฟผ. จัดให้มีบำเหน็จบำนาญหรือกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น เพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานใน กฟผ. และครอบครัวในกรณีพ้นจากตำแหน่ง ประสบอุบัติเหตุเจ็บป่วย หรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์
การจัดให้มีบำเหน็จบำนาญหรือกองทุนสงเคราะห์ตามวรรคหนึ่ง หลักเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จบำนาญ การออกเงินสมทบในกองทุนสงเคราะห์ การกำหนดประเภทของผู้ที่พึงได้รับการสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ และหลักเกณฑ์การสงเคราะห์ตลอดจนการจัดการเกี่ยวกับกองทุนให้เป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการ
ข้อบังคับตามวรรคสอง ให้ใช้บังคับได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
หมวด ๖
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๕๔ ผู้ใดขัดขวางการกระทำของ กฟผ. หรือพนักงานซึ่งกระทำการตามมาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๒ วรรคสอง มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๕๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
มาตรา ๕๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
มาตรา ๕๗[๑๔] (ยกเลิก)
มาตรา ๕๘ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเขื่อนกั้นน้ำ เขื่อนระบายน้ำ เขื่อนกักเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำ หรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์ของเขื่อนหรืออ่างนั้น โรงไฟฟ้าพลังความร้อน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังปรมาณู หรือโรงไฟฟ้าพลังอื่น และลานไกไฟฟ้าของโรงไฟฟ้านั้น หรือระบบไฟฟ้า บรรดาที่ กฟผ. สร้างขึ้น หรือเป็นทรัพย์สินของ กฟผ. ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๕๙ ให้พนักงานและลูกจ้างของการไฟฟ้ายันฮี การลิกไนท์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของ กฟผ. โดยให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างเท่าที่ได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อน และให้ กฟผ. กำหนด อัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างของบุคคลดังกล่าวใหม่ โดยให้ได้รับไม่น้อยกว่าเดิม ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อที่จะให้การดำเนินกิจการผลิตไฟฟ้าได้มีประสิทธิภาพ มีการประสานงานและเป็นไปโดยประหยัด ทั้งในด้านเป้าหมาย นโยบาย และในด้านปฏิบัติการ จึงสมควรรวมกิจการของการไฟฟ้ายันฮี การลิกไนท์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เข้าอยู่ในกิจการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๑[๑๕]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้กำหนดไว้ว่า หากมีความจำเป็นสำหรับการสำรวจระบบไฟฟ้าหรือการป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดแก่ระบบไฟฟ้า ให้พนักงานหรือลูกจ้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีอำนาจเข้าใช้สอยหรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมิใช่เคหสถานของบุคคลอื่นเป็นการชั่วคราวได้ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทราบล่วงหน้าภายในเวลาอันสมควร แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่าบางกรณีเช่น ในกรณีการสำรวจทั่วไปซึ่งเป็นการสำรวจขั้นต้นเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้า ก่อนจะดำเนินการสำรวจย่อมเป็นการยากที่จะทราบว่าอสังหาริมทรัพย์ที่จะเข้าใช้สอยหรือครอบครองชั่วคราวนั้น เป็นของบุคคลใดและเจ้าของหรือผู้ครอบครองอยู่ที่ใด จึงไม่อาจแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบล่วงหน้าเป็นรายบุคคลตามที่กฎหมายบังคับไว้ ซึ่งถ้าจะต้องปฏิบัติเช่นนั้นแล้วก็ย่อมจะทำให้การดำเนินการสำรวจชะงักหรือล่าช้าเกินควร จึงควรเปลี่ยนวิธีการแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทราบเสียใหม่ จากการแจ้งเฉพาะรายมาเป็นการแจ้งรวมโดยประกาศเขตสำรวจไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๗[๑๖]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้นำระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าขนาด ๕๐๐ กิโลโวลต์เข้ามาใช้ในกิจการ ซึ่งจะทำให้ระบบไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินในบริเวณรอบ ๆ แนวสายส่งไฟฟ้า สมควรกำหนดแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าให้กว้างขึ้น โดยให้มีความกว้างจากแนวศูนย์กลางของเสาสายส่งไฟฟ้าด้านละไม่เกินสี่สิบเมตร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๐[๑๗]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๑ มีบทบัญญัติให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย และให้นำกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยอนุญาโตตุลาการไปแล้ว สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๑ ให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๕[๑๘]
มาตรา ๑๓ ในกรณีที่มีการตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นตามมาตรา ๒๘ หรือมาตรา ๓๐ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และอนุญาโตตุลาการยังมิได้ชี้ขาด ให้เป็นอันยกเลิกอนุญาโตตุลาการนั้น และให้นำมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับ และให้ กฟผ. แจ้งการยกเลิกอนุญาโตตุลาการตามมาตรานี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ
มาตรา ๑๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๑ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ประสงค์จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า หรือร่วมทุนกับบุคคลอื่นเพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าว และให้มีอำนาจใช้สอยและครอบครองอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสำรวจหาแหล่งพลังงานตลอดจนสถานที่สำหรับใช้ในการผลิตหรือพัฒนาพลังงานไฟฟ้า โดยชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรม และเพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขที่เกี่ยวกับคุณภาพไฟฟ้า เทคนิคทางวิศวกรรมและความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า ในกรณีที่เอกชนประสงค์จะเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประกอบกับจำเป็นต้องเพิ่มวงเงินในการกู้ยืมและในการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนให้คณะกรรมการมีอำนาจจำหน่ายทรัพย์สินออกจากบัญชีได้ทุกกรณีโดยไม่จำกัดวงเงินให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕[๑๙]
มาตรา ๓๐ ในพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๑ ให้แก้ไขคำว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ” เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
สุนันทา/แก้ไข
๑๓/๑๒/๔๔
A+B (C)
พัชรินทร์/แก้ไข
๑๑ มกราคม ๒๕๔๘
วศิน/แก้ไข
๒๙ เมษายน ๒๕๕๒
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๕/ตอนที่ ๑๐๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๑
[๒] มาตรา ๔ นิยามคำว่า “เขตเดินสายไฟฟ้า” แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๗
[๓] มาตรา ๖ (๒ ทวิ) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๕
[๔] มาตรา ๙ (๘) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๕
[๕] มาตรา ๙ (๙) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๕
[๖] มาตรา ๙ (๑๐) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๕
[๗] มาตรา ๑๕ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๕
[๘] มาตรา ๒๐ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๕
[๙] มาตรา ๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๐] มาตรา ๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๑] มาตรา ๓๐ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๒] มาตรา ๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๓] มาตรา ๔๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๔] มาตรา ๕๗ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๕
[๑๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๕/ตอนที่ ๔๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๕ เมษายน ๒๕๒๑
[๑๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๑/ตอนที่ ๑๐๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๖ สิงหาคม ๒๕๒๗
[๑๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๔/ตอนที่ ๑๖๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๕๐/๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๐
[๑๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๑๙/หน้า ๑/๑๑ มีนาคม ๒๕๓๕
[๑๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙/ตอนที่ ๑๐๒ ก/หน้า ๗๐/๘ ตุลาคม ๒๕๔๕