พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. ๒๕๔๗
พระราชบัญญัติ
จัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
พ.ศ. ๒๕๔๗
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
เป็นปีที่ ๕๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. ๒๕๔๗”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“การจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่” หมายความว่า การดำเนินการพัฒนาที่ดินหลายแปลงโดยการวางผังจัดรูปที่ดินใหม่ ปรับปรุงหรือจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการร่วมรับภาระและกระจายผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ โดยความร่วมมือระหว่างเอกชนกับเอกชนหรือเอกชนกับรัฐ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เหมาะสมยิ่งขึ้นในด้านการคมนาคม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและชุมชน และเป็นการสอดคล้องกับการผังเมือง
“โครงการจัดรูปที่ดิน” หมายความว่า โครงการที่จัดทำขึ้นสำหรับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
“สมาคม” หมายความว่า สมาคมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามพระราชบัญญัตินี้
“เจ้าของที่ดิน” หมายความว่า ผู้มีสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน และให้หมายความรวมถึงเจ้าของห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดด้วย
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
“คณะกรรมการส่วนจังหวัด” หมายความว่า คณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนจังหวัดและให้หมายความรวมถึงคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วย
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งคณะกรรมการส่วนจังหวัดแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“เจ้าพนักงานท้องถิ่น” หมายความว่า
(๑) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
(๒) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(๓) นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล
(๔) นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
(๕) หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่น สำหรับในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
คณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
มาตรา ๕ ให้มีคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วย
(๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ
(๒) ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการ
(๓) ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อัยการสูงสุด ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมธนารักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติเป็นกรรมการ และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นกรรมการและเลขานุการ
(๔) ผู้แทนสภาทนายความ ผู้แทนสภาสถาปนิก ผู้แทนสภาวิศวกร ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการ
(๕) ผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนสี่คนเป็นกรรมการ
ในการแต่งตั้งกรรมการตาม (๕) ให้กรรมการตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) ร่วมกันสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๖ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบาย เป้าหมาย และมาตรการสำคัญเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
(๒) ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทและพื้นที่เป้าหมายการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดเสนอ
(๓) กำหนดมาตรฐานการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
(๔) ออกระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ และการอนุมัติโครงการของคณะกรรมการส่วนจังหวัด
(๕) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒
(๖) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินอุดหนุนหรือเงินให้กู้ยืมแก่ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจในการจัดสร้างหรือปรับปรุงสาธารณูปโภคหรือสถานที่สาธารณประโยชน์ที่เป็นการรองรับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
(๗) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดสรรเงินจากกองทุนเพื่อให้ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินกู้ยืมหรือสนับสนุนโครงการจัดรูปที่ดิน
(๘) ออกระเบียบเกี่ยวกับการพิจารณาค่าทดแทน ค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายอื่นในการดำเนินการจัดรูปที่ดินที่ต้องทดรองจ่ายเงินจากกองทุน
(๙) กำหนดคุณสมบัติ จำนวนผู้เชี่ยวชาญการตีราคาทรัพย์สิน และหลักเกณฑ์การประเมินราคาทรัพย์สินในการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดิน
(๑๐) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับเงิน การใช้จ่าย การเก็บรักษาและหาประโยชน์เงินกองทุน
(๑๑) ออกระเบียบเกี่ยวกับการนำที่ดินของรัฐมาใช้ การจัดที่ดินอื่นทดแทนที่ดินของรัฐ และการเวนคืนที่ดินในเขตดำเนินการจัดรูปที่ดิน
(๑๒) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมาคมและการตรวจสอบการดำเนินการของสมาคม
(๑๓) วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับปัญหาการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามคำร้องหรือคำอุทธรณ์ของเจ้าของที่ดินหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับที่ดินในโครงการจัดรูปที่ดิน
(๑๔) ให้ความเห็นหรือคำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
(๑๕) ดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้ คณะกรรมการอาจมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้ปฏิบัติการหรือเตรียมข้อเสนอมายังคณะกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปได้
มาตรา ๗ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๕ (๕) มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้น
กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
มาตรา ๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๕ (๕) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่อง หรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือหย่อนความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา ๙ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม
ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาและออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น
มาตรา ๑๐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา ศึกษา วิจัย หรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ และให้นำมาตรา ๙ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
หมวด ๒
คณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนจังหวัด
มาตรา ๑๑ ให้มีคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนจังหวัดประกอบด้วย
(๑) ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ
(๒) รองผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ
(๓) เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ธนารักษ์พื้นที่ อุตสาหกรรมจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าที่ทำการอัยการจังหวัด ผู้แทนกรมทางหลวง ผู้แทนการเคหะแห่งชาติ และผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นกรรมการ และโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ
(๔) ผู้แทนสภาทนายความ ผู้แทนหอการค้าจังหวัด และผู้แทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หรือผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในกรณีจังหวัดใดไม่มีสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นกรรมการ
(๕) ผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำนวนสามคนเป็นกรรมการ
ในการแต่งตั้งกรรมการตาม (๕) ให้กรรมการตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) ร่วมกันสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ในเขตพื้นที่ที่มีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นแห่งท้องที่นั้นร่วมเป็นกรรมการด้วย
ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดใดคาบเกี่ยวกับเขตพื้นที่จังหวัดอื่น ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแห่งท้องที่ในพื้นที่คาบเกี่ยวร่วมเป็นกรรมการด้วย
มาตรา ๑๒ ให้มีคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่กรุงเทพมหานครประกอบด้วย
(๑) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานกรรมกร
(๒) ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นรองประธานกรรมการ
(๓) ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมธนารักษ์ ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนการเคหะแห่งชาติ ผู้แทนการประปานครหลวง และผู้แทนการไฟฟ้านครหลวงเป็นกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการและเลขานุการ
(๔) ผู้แทนสภาทนายความ ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการ
(๕) ผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งจำนวนสามคนเป็นกรรมการ
ในการแต่งตั้งกรรมการตาม (๕) ให้กรรมการตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) ร่วมกันสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ในกรุงเทพมหานครคาบเกี่ยวกับเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแห่งท้องที่นั้นร่วมเป็นกรรมการด้วย
มาตรา ๑๓ คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ความเห็นชอบการตั้งสมาคมและควบคุมกำกับการดำเนินงานของสมาคม
(๒) กำหนดมาตรการและแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
(๓) เสนอแผนแม่บทและพื้นที่เป้าหมายการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดต่อคณะกรรมการ เพื่อขอความเห็นชอบ
(๔) แต่งตั้งผู้ตรวจการสมาคม และพนักงานเจ้าหน้าที่
(๕) ประสานโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่กับโครงการหลักของท้องถิ่น
(๖) อนุมัติโครงการจัดรูปที่ดินที่ดำเนินการภายในเขตจังหวัด
(๗) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนเกี่ยวกับการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากเงินกองทุน
(๘) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการนำที่ดินของรัฐมาใช้ การจัดหาที่ดินทดแทนที่ดินของรัฐและการเวนคืนที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน
(๙) พิจารณากำหนดค่าทดแทนหรือค่าเสียหายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
(๑๐) ดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
ในการแต่งตั้งผู้ตรวจการสมาคมตาม (๔) ให้แต่งตั้งจากข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๔ ให้นำความในมาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับกับคณะกรรมการส่วนจังหวัดโดยอนุโลม
หมวด ๓
สมาคมจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
มาตรา ๑๕ สมาคมจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่จะจัดตั้งได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
มาตรา ๑๖ การขอจดทะเบียนสมาคมให้เจ้าของที่ดินที่จะเป็นสมาชิกของสมาคมเลือกตั้งคณะผู้เริ่มก่อตั้งสมาคมขึ้นไม่น้อยกว่าสามคนยื่นคำขอจดทะเบียนต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
(๑) บัญชีรายชื่อของผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกของสมาคมพร้อมทั้งจำนวนที่ดินของบุคคลดังกล่าวและจำนวนที่ดินที่จะดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
(๒) ร่างข้อบังคับของสมาคมสองฉบับ
(๓) เอกสารอื่นตามที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนด
มาตรา ๑๗ ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการรับจดทะเบียน และให้มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือให้ส่งเอกสารมาเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนสมาคมได้
มาตรา ๑๘ ข้อบังคับของสมาคมอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อสมาคม
(๒) วัตถุประสงค์ของสมาคม
(๓) ที่ตั้งสำนักงาน
(๔) คุณสมบัติของสมาชิก วิธีรับสมาชิก และการขาดจากสมาชิกภาพ
(๕) อัตราค่าสมัครและค่าบำรุง
(๖) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงาน การบัญชี และการเงินของสมาคม
(๗) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประชุมใหญ่
(๘) ข้อกำหนดเกี่ยวกับคณะกรรมการของสมาคม ได้แก่ จำนวนกรรมการ การเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมคณะกรรมการของสมาคม
(๙) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การกำหนดอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้จัดการ
(๑๐) การแก้ไขข้อบังคับ และการเลิกสมาคม
มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดพิจารณาคำขอจดทะเบียนและร่างข้อบังคับ หากเห็นว่าคำขอนั้นถูกต้องตามมาตรา ๑๖ และร่างข้อบังคับถูกต้องตามมาตรา ๑๘ ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดรับจดทะเบียนสมาคม และออกใบสำคัญรับจดทะเบียนให้แก่สมาคมนั้น และให้ประกาศการจดทะเบียนสมาคมในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดไม่รับจดทะเบียนสมาคม ให้แจ้งคำสั่งพร้อมทั้งเหตุผลที่ไม่รับจดทะเบียนเป็นหนังสือไปยังผู้ยื่นคำขอโดยไม่ชักช้า ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนต่อคณะกรรมการ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งไม่รับจดทะเบียน
ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์พร้อมทั้งเหตุผลให้ผู้อุทธรณ์และคณะกรรมการส่วนจังหวัดทราบโดยไม่ชักช้า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
การจัดตั้งสมาคมให้มีผลเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๒๐ ให้สมาคมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่าผู้ลงชื่อขอจดทะเบียนสมาคมและผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อตามมาตรา ๑๖ (๑) เป็นสมาชิกของสมาคมนับแต่วันที่จัดตั้งสมาคม
ในกรณีที่มีเจ้าของที่ดินหรือบุคคลอื่นสมัครเป็นสมาชิกสมาคมเพิ่มขึ้นภายหลังที่สมาคมได้จัดตั้งแล้ว ให้ถือว่าเป็นสมาชิกเมื่อได้ชำระค่าสมัครและค่าบำรุงตามมาตรา ๑๘ (๕) แล้ว และให้สมาคมแจ้งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดทราบ
มาตรา ๒๑ ให้คณะผู้เริ่มก่อตั้งสมาคมจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกภายในสามสิบวันนับแต่วันที่จัดตั้งสมาคม เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการ และมอบหมายการทั้งปวงให้แก่คณะกรรมการของสมาคม
การประชุมใหญ่สามัญครั้งต่อไป ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคมนั้น
มาตรา ๒๒ ให้มีคณะกรรมการของสมาคมประกอบด้วยกรรมการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกเป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการของสมาคมจะมอบให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้
มาตรา ๒๓ ให้สมาคมรายงานกิจการ งบดุล บัญชีรายรับรายจ่ายซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้วต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นงวดการบัญชีและประกาศรายงานดังกล่าวโดยเปิดเผยให้สมาชิกทราบ
มาตรา ๒๔ ให้ผู้ตรวจการสมาคมมีหน้าที่ตรวจสอบกิจการและการเงินของสมาคมตามที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนด โดยให้เสนอรายงานการตรวจสอบต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัด
มาตรา ๒๕ คณะกรรมการส่วนจังหวัด หรือผู้ตรวจการสมาคมมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการของสมาคม พนักงานสมาคม หรือสมาชิกสมาคม มาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสมาคม หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงาน หรือรายงานการประชุมของสมาคมได้
มาตรา ๒๖ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดหรือผู้ตรวจการสมาคมมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบในสำนักงานของสมาคมในระหว่างเวลาทำการของสมาคมได้ และให้ผู้เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือ หรือให้คำชี้แจงแก่ผู้ปฏิบัติการตามสมควร
มาตรา ๒๗ ในกรณีที่กรรมการสมาคม ผู้จัดการ หรือพนักงานสมาคมทำให้สมาคมเสียหาย ถ้าสมาคมไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดี คณะกรรมการส่วนจังหวัดอาจมีคำสั่งให้ผู้ตรวจการสมาคมร้องทุกข์หรือฟ้องคดีแทน โดยให้พนักงานอัยการรับว่าต่างให้ก็ได้
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากจะต้องมีค่าใช้จ่ายให้ทดรองจ่ายจากเงินกองทุน
ให้สมาคมชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการร้องทุกข์ การฟ้องคดี หรือการว่าต่างให้แก่กองทุนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี
มาตรา ๒๘ ถ้าที่ประชุมใหญ่ของสมาคมลงมติอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือข้อบังคับของสมาคม คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีอำนาจสั่งเพิกถอนมตินั้นได้
มาตรา ๒๙ ในกรณีที่คณะกรรมการของสมาคมกระทำการไม่ถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสมาคมหรือสมาชิก หรือสมาคมมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงินหรือการบัญชีตามรายงานตามมาตรา ๒๓ หรือกิจการ หรือการเงินตามรายงานการตรวจสอบตามมาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดแจ้งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการของสมาคมดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องตามวิธีการที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนด พร้อมทั้งแจ้งให้สมาชิกของสมาคมทราบ
คณะกรรมการของสมาคมจะต้องดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าไม่แก้ไขให้เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร คณะกรรมการส่วนจังหวัดอาจมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ให้คณะกรรมการของสมาคมออกจากตำแหน่งทั้งคณะหรือให้กรรมการสมาคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนั้นออกจากตำแหน่งกรรมการ
(๒) ให้ระงับการปฏิบัติบางส่วนที่เป็นเหตุให้เกิดข้อบกพร่องหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์ของสมาคมหรือสมาชิก
(๓) ให้หยุดดำเนินการชั่วคราวเพื่อปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องนั้นให้เสร็จตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนด
มาตรา ๓๐ ในกรณีที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีคำสั่งให้คณะกรรมการของสมาคมออกจากตำแหน่งทั้งคณะ หรือกรรมการบางคนออกจากตำแหน่งกรรมการตามมาตรา ๒๙ วรรคสอง (๑) ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการของสมาคมขึ้นคณะหนึ่งหรือกรรมการใหม่แทนเป็นการชั่วคราว แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๓๑ สมาคมย่อมเลิกด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้
(๑) ข้อบังคับของสมาคมกำหนดให้เลิก
(๒) ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมได้ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของสมาชิกทั้งหมด
(๓) สมาคมล้มละลาย
(๔) คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีคำสั่งให้เลิกตามมาตรา ๓๒
การเลิกสมาคมตาม (๒) จะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่วนจังหวัดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๓๒ คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีอำนาจมีคำสั่งให้เลิกสมาคมได้เมื่อปรากฏว่า
(๑) สมาคมไม่เริ่มดำเนินการภายในหนึ่งปีนับแต่วันจัดตั้งสมาคมหรือหยุดดำเนินการติดต่อกันตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป หรือ
(๒) การดำเนินการของสมาคมขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ
มาตรา ๓๓ การชำระบัญชีสมาคมนั้น ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีเลิกห้างหุ้นส่วนและบริษัทมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ทรัพย์สินของสมาคมส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้ให้แบ่งเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสมาคม ถ้ายังมีทรัพย์สินเหลืออยู่ให้ตกเป็นทรัพย์สินของกองทุน
มาตรา ๓๔ ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดประกาศการเลิกสมาคมในราชกิจจานุเบกษา
หมวด ๔
บททั่วไปเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
มาตรา ๓๕ ผู้ที่จะเป็นผู้ดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ได้มีดังต่อไปนี้
(๑) สมาคม
(๒) กรมโยธาธิการและผังเมือง การเคหะแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(๓) หน่วยงานของรัฐหรือนิติบุคคลอื่นใดที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
(๔) หน่วยงานของรัฐอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้หน่วยงานตาม (๒) ดำเนินการจัดรูปที่ดินตามแผนแม่บทและพื้นที่เป้าหมายการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ของจังหวัด
มาตรา ๓๖ ในการจัดทำโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่เพื่อเสนอขอความเห็นชอบตามมาตรา ๔๑ ผู้ริเริ่มโครงการจะต้องจัดประชุมเจ้าของที่ดินเพื่อปรึกษาหารือและรับฟังความเห็นนำมาปรับปรุงโครงการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรวบรวมและแสดงหนังสือให้ความยินยอมของเจ้าของที่ดินที่สมัครใจไว้ให้ชัดเจนตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
การเสนอโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่เพื่อขอความเห็นชอบตามมาตรา ๔๑ จะต้องมีหนังสือแสดงความยินยอมของเจ้าของที่ดินในโครงการมาแสดงประกอบคำขอไม่น้อยกว่าสองในสามของเจ้าของที่ดินทั้งหมดและเป็นเจ้าของที่ดินมีเนื้อที่รวมกันไม่น้อยกว่าสองในสามของที่ดินในบริเวณนั้น
ในกรณีอาคารชุดให้คำนวณเฉพาะที่ดินที่ตั้งอาคารชุดรวมกับที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของอาคารชุดทั้งหมด และการนับคะแนนเสียงระหว่างอาคารชุดนั้นกับเจ้าของที่ดินอื่นภายในโครงการจัดรูปที่ดิน ให้ถือว่าอาคารชุดนั้นเป็นเจ้าของที่ดินหนึ่งราย โดยให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้ออกเสียงลงคะแนนตามมติเจ้าของร่วม ในกรณีที่อาคารชุดนั้นได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว
มาตรา ๓๗ การจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่จะต้องสอดคล้องกับหลักการผังเมืองหรือผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง แล้วแต่กรณี และดำเนินการให้มีสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามความเหมาะสมแก่สภาพของชุมชนและการพัฒนาเมืองต่อไปในอนาคต
มาตรา ๓๘ ให้เจ้าของที่ดินในเขตจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่มีสิทธิในที่ดินที่ได้รับการจัดให้ใหม่ตามโครงการจัดรูปที่ดินเหมือนกับสิทธิที่มีอยู่ในที่ดินเดิม โดยให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งปวงในการจดทะเบียน
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในเขตจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ด้วย โดยอนุโลม
มาตรา ๓๙ การดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน
มาตรา ๔๐ การดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ในที่ดินซึ่งเป็นที่ดินเพื่อการศาสนาตามประมวลกฎหมายที่ดินต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลรักษาที่ดินเพื่อการศาสนานั้น โดยไม่ให้นำความในมาตรา ๓๖ มาใช้บังคับ
การดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ในที่ดินซึ่งเป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์หรือที่ศาสนสมบัติกลางให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์
หมวด ๕
การเสนอโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
มาตรา ๔๑ ผู้ที่จะดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ต้องเสนอโครงการจัดรูปที่ดินต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดก่อน เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่วนจังหวัดแล้วจึงจะดำเนินการได้
การเสนอโครงการจัดรูปที่ดินให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา รายละเอียดของโครงการอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(๑) ชื่อของโครงการ
(๒) ชื่อผู้ดำเนินโครงการ
(๓) ที่ตั้งสำนักงานโครงการ
(๔) ขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินการ
(๕) ผังแม่บทการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยแสดงบริเวณพื้นที่ที่จะดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องแสดงแผนผังระบบถนน ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ และรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินของผู้ซึ่งเห็นด้วยและผู้ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
(๖) ภาระผูกพันต่าง ๆ ซึ่งบุคคลอื่นมีส่วนได้เสียในที่ดินที่ยื่นคำขอ
(๗) แผนการเงินและค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดิน
(๘) รายการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
โครงการจัดรูปที่ดินในพื้นที่ใดถ้ามีที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นที่จะจัดเพื่อจำหน่าย หรือที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของรัฐที่จำเป็นต้องนำมาใช้ พร้อมทั้งบริเวณที่จัดขึ้นเป็นการทดแทน และรายละเอียดเกี่ยวกับการรื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายสิ่งที่จัดทำเพื่อสาธารณูปโภคหรือสาธารณูปการ ให้กำหนดไว้เป็นรายละเอียดของโครงการด้วย
มาตรา ๔๒ เพื่อประโยชน์ในการจัดทำโครงการจัดรูปที่ดินให้สมบูรณ์ตามมาตรา ๔๑ หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดิน เมื่อมีคำขอสำรวจจากผู้ขอดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีอำนาจประกาศกำหนดบริเวณที่จะสำรวจเพื่อจัดทำโครงการจัดรูปที่ดินโดยให้ประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่และสถานที่ที่เห็นได้ชัดในบริเวณที่จะทำการสำรวจ ก่อนที่จะลงมือทำการสำรวจไม่น้อยกว่าสิบห้าวันและประกาศไว้จนกว่าจะดำเนินการสำรวจเสร็จสิ้น โดยให้ลงวันที่ที่ปิดประกาศในประกาศนั้นด้วย ทั้งนี้ ให้ผู้เสนอโครงการจัดรูปที่ดินเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการประกาศ
ภายในบริเวณที่มีประกาศสำรวจตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลดังกล่าวมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปทำการอันจำเป็นเพื่อการสำรวจได้
(๒) ทำเครื่องหมายระดับ ขอบเขต หรือแนวเขต โดยปักหลักหรือขุดร่องแนว ในกรณีที่ต้องสร้างหมุดหลักฐานการแผนที่ในบริเวณที่ดินของผู้ใด ก็ให้มีอำนาจสร้างหมุดหลักฐานลงได้ตามความจำเป็น
(๓) ขุดดิน ตัดราก กิ่งไม้ และกระทำการอย่างอื่นแก่สิ่งที่กีดขวางการสำรวจได้เท่าที่จำเป็น
การดำเนินการตามวรรคสองในโรงเรือนหรือเคหสถานต้องแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้คำนึงถึงการที่จะให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายจะได้รับค่าทดแทน
ให้ผู้มีคำขอให้มีการสำรวจเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการสำรวจ ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าทดแทนความเสียหาย ให้เสนอคณะกรรมการส่วนจังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๔๓ เมื่อผู้ดำเนินการเสนอโครงการจัดรูปที่ดินต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดตามมาตรา ๔๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีการประกาศโครงการจัดรูปที่ดินนั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่และสถานที่ที่เห็นได้ชัดในบริเวณที่จะดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่และให้มีหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินทางไปรษณีย์ตอบรับในวันที่ปิดประกาศด้วย และให้ผู้ดำเนินการเสนอโครงการจัดรูปที่ดินเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการนั้น
ประกาศตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อของผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
(๒) บริเวณพื้นที่ที่จะดำเนินการโครงการจัดรูปที่ดิน
(๓) สถานที่ตั้งของสำนักงานโครงการจัดรูปที่ดิน
(๔) งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ
(๕) ผังแม่บทการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
(๖) รายการอื่นที่คณะกรรมการกำหนด
ให้เจ้าของที่ดินในบริเวณโครงการจัดรูปที่ดินแจ้งการยินยอมที่ให้ดำเนินการตามมาตรา ๕๘ หรือยื่นคัดค้านหรือเสนอข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งตามวรรคหนึ่ง
ในกรณีที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในโครงการจัดรูปที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียอาจเสนอข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ปิดประกาศตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ในการพิจารณาโครงการจัดรูปที่ดิน คณะกรรมการส่วนจังหวัดต้องนำคำคัดค้านหรือข้อเสนอทุกรายพร้อมทั้งเชิญเจ้าของที่ดินผู้ยื่นคัดค้านหรือข้อเสนอหรือผู้มีส่วนได้เสียที่ได้ยื่นข้อเสนอตามวรรคสี่มาแสดงข้อเท็จจริงและความเห็นประกอบการพิจารณาด้วย
มาตรา ๔๔ ในการพิจารณารายการที่เกี่ยวกับโครงการจัดรูปที่ดิน ถ้าคณะกรรมการส่วนจังหวัดเห็นว่ารายการดังกล่าวไม่ถูกต้อง ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีอำนาจสั่งให้ผู้เสนอโครงการจัดรูปที่ดินแก้ไขเสียใหม่ได้
มาตรา ๔๕ ในกรณีเกิดเพลิงไหม้หรืออุบัติภัยอย่างอื่นเป็นเหตุให้อาคารเสียหายร้ายแรง ถ้าเจ้าพนักงานท้องถิ่นเห็นควรดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเสนอความเห็นพร้อมด้วยแผนที่แสดงแนวเขตเพลิงไหม้หรืออุบัติภัยอย่างอื่นต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดภายในสามสิบวันนับแต่วันเกิดเหตุเพลิงไหม้หรืออุบัติภัยอย่างอื่น ถ้าเขตเพลิงไหม้หรืออุบัติภัยอย่างอื่นอยู่ในเขตอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นมากกว่าหนึ่งท้องที่ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแห่งท้องที่ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นผู้ร่วมกันพิจารณาและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัด
ให้ถือว่าการเสนอความเห็นพร้อมด้วยแผนที่แสดงแนวเขตเพลิงไหม้หรืออุบัติภัยอย่างอื่นตามวรรคหนึ่งเป็นการเสนอโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามมาตรา ๔๑ และให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็น โดยให้นำความในมาตรา ๔๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามมาตรานี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๓๕ วรรคสอง และเจ้าพนักงานท้องถิ่นอาจมอบให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา ๓๕ (๒) หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๓๕ (๓) และ (๔) เป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้
มาตรา ๔๖ ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการจัดรูปที่ดิน คณะกรรมการส่วนจังหวัดอาจให้ผู้เสนอโครงการจัดรูปที่ดินจัดหาหลักประกันเพื่อความมั่นคงและคุ้มครองผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง หรือให้แก้ไขปรับปรุงโครงการจัดรูปที่ดิน หรือกำหนดรายละเอียดหรือเงื่อนไขใดก็ได้
หลักเกณฑ์การพิจารณาเรื่องหลักประกันตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๗ ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดพิจารณาโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินและเอกสารถูกต้องครบถ้วน เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ขอดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินขอรับเงินอุดหนุนหรือขอกู้ยืมเงินจากกองทุน และแจ้งว่าไม่ประสงค์จะดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินถ้าไม่ได้รับเงินจากกองทุนตามคำขอ ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารกองทุนมีมติ
เมื่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดมีมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบโครงการจัดรูปที่ดินแล้ว ให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดหรือผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี แจ้งมติดังกล่าวให้ผู้ขอดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีมติ
ในกรณีที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดไม่ให้ความเห็นชอบโครงการจัดรูปที่ดิน ผู้เสนอโครงการจัดรูปที่ดินมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง ให้คณะกรรมการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
เมื่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดให้ความเห็นชอบโครงการจัดรูปที่ดินแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๔๘ ในกรณีที่โครงการจัดรูปที่ดินใดขอรับเงินอุดหนุนหรือขอกู้ยืมเงินจากกองทุน ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดเสนอโครงการดังกล่าวให้คณะกรรมการบริหารกองทุนพิจารณาอนุมัติเกี่ยวกับการขอรับเงินอุดหนุนหรือขอกู้ยืมเงิน โดยให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของโครงการเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารกองทุนด้วย
มาตรา ๔๙ ถ้าผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในโครงการหรือวิธีดำเนินการในโครงการจัดรูปที่ดินที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้ยื่นคำขอพร้อมทั้งแผนผังโครงการหรือวิธีการที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในโครงการที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่โครงการ ให้นำความในมาตรา ๔๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การพิจารณาให้ความเห็นชอบในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงการจัดรูปที่ดินให้นำมาตรา ๔๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๕๐ นับแต่มีประกาศตามมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าที่ดินที่เจ้าของที่ดินจะต้องสละให้แก่ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเป็นหนี้บุริมสิทธิในฐานะที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกัน
ให้ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินมีบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้จัดให้เจ้าของที่ดินตามโครงการจัดรูปที่ดินเสมือนหนึ่งเป็นบุริมสิทธิในมูลค่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
อายุความสิทธิเรียกร้องที่ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินมีต่อเจ้าของที่ดินเป็นอันสะดุดหยุดลงนับแต่วันที่ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้
หมวด ๖
การดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
มาตรา ๕๑ เมื่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดให้ความเห็นชอบโครงการจัดรูปที่ดินแล้ว ให้ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินประกาศเขตดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ วัน เวลา และสถานที่จัดประชุมเจ้าของที่ดินในเขตดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่และสถานที่ที่เห็นได้ชัดในบริเวณที่จะดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน โดยให้ลงวันที่ที่ปิดประกาศในประกาศนั้นด้วย
ภายใต้บังคับมาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดให้ความเห็นชอบโครงการจัดรูปที่ดินและได้มีประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว บรรดาเจ้าของที่ดินในเขตดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติการใด ๆ ตามที่กำหนดในโครงการจัดรูปที่ดินนั้น และถ้ามีการโอนสิทธิในที่ดินผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ผู้โอนผูกพันอยู่กับโครงการจัดรูปที่ดินดังกล่าว
มาตรา ๕๒ ในวันประชุมเจ้าของที่ดินให้มีการตั้งคณะที่ปรึกษาโครงการจัดรูปที่ดินประจำโครงการจัดรูปที่ดินแห่งนั้น ประกอบด้วยผู้แทนคณะกรรมการส่วนจังหวัด เจ้าของที่ดินที่มาจากการเลือกตั้งจากเจ้าของที่ดินด้วยกันเอง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการส่วนจังหวัดแต่งตั้ง
การเลือกตั้งคณะที่ปรึกษาโครงการจัดรูปที่ดินที่มาจากเจ้าของที่ดิน ให้จัดให้มีตัวแทนเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่แตกต่างกันโดยกระจายตามกลุ่มต่าง ๆ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ให้คณะที่ปรึกษาโครงการจัดรูปที่ดินที่ได้รับเลือกตั้งจากเจ้าของที่ดินตามวรรคหนึ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) มิได้เป็นเจ้าของที่ดินในเขตดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ หรือ
(๒) เจ้าของที่ดินจำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามเข้าชื่อให้พ้นจากตำแหน่ง
ในกรณีที่การจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ดำเนินการโดยสมาคม ที่ปรึกษาโครงการจัดรูปที่ดินตามวรรคหนึ่ง จะเป็นกรรมการของสมาคมในขณะเดียวกันไม่ได้
จำนวนที่ปรึกษา วิธีการเลือกตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การเลือกตั้งซ่อม องค์ประชุม และวิธีการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้คณะที่ปรึกษาโครงการจัดรูปที่ดินได้รับค่าตอบแทนจากผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๕๓ คณะที่ปรึกษาโครงการจัดรูปที่ดินมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินในการกำหนดแผนชั่วคราว การกำหนดแปลงที่ดินใหม่ จำนวนค่าชดเชย การประเมินราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ การบริหารที่ดิน การจัดหาประโยชน์สำหรับโครงการจัดรูปที่ดิน แผนการเงินของโครงการจัดรูปที่ดิน และดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นแก่การจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
มาตรา ๕๔ ให้ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินโดยความเห็นชอบของคณะที่ปรึกษาโครงการจัดรูปที่ดินจัดทำแผนชั่วคราว กำหนดการให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินไปพลางก่อนในระหว่างการดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้เจ้าของที่ดินได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการก่อสร้าง เคลื่อนย้ายหรือดัดแปลง และในกรณีที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิตหรือร่างกายต้องกำหนดแผนการย้ายเจ้าของที่ดินไปอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ ณ ที่อื่นไว้ด้วย
ผลกระทบจากการต้องย้ายที่อยู่อาศัยชั่วคราวหรือเสื่อมเสียการทำประโยชน์หรือธุรกิจในระหว่างการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดิน ให้นำมาพิจารณาเป็นค่าชดเชยแก่กันตามความเป็นธรรม และตามประโยชน์ที่ทุกฝ่ายได้รับ
มาตรา ๕๕ ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินขององค์การของรัฐบาล องค์การมหาชน หรือหน่วยงานที่มีกฎหมายคุ้มครองการโอนโดยเฉพาะในเขตดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ถ้าผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินจำเป็นจะต้องนำมาใช้ในการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
การพิจารณาของคณะกรรมการจะต้องเชิญผู้แทนหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นมาร่วมพิจารณาด้วย
เมื่อคณะกรรมการให้ความเห็นชอบให้นำที่ดินหรืออสังหาริทรัพย์ตามวรรคหนึ่งมาใช้ในโครงการจัดรูปที่ดินแล้ว ให้มีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าวโดยมิต้องดำเนินการถอนสภาพหรือโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุหรือกฎหมายอื่นเกี่ยวกับที่ดินนั้น และให้ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินมีอำนาจใช้ที่ดินภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แต่พลเมืองเลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น หรือได้เปลี่ยนแปลงสภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด
(๒) ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันและพลเมืองยังใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่ แต่ได้มีการจัดที่ดินแปลงอื่นให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
(๓) ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือที่สงวนหรือหวงห้ามไว้ ซึ่งทางราชการไม่ประสงค์จะสงวนหรือหวงห้ามไว้อีกต่อไป และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว
(๔) ที่ดินขององค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือตามกฎหมายเฉพาะ หรือองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว
(๕) ที่ดินขององค์กรอื่นของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้งโดยเฉพาะ เมื่อองค์กรนั้นให้ความเห็นชอบแล้ว
มาตรา ๕๖ ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินจะเปลี่ยนสภาพของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๕๕ ให้เป็นเช่นใดก็ได้ ตามโครงการจัดรูปที่ดินที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่วนจังหวัดแต่เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจำนวนเนื้อที่ของที่ดินของรัฐรวมกันทั้งหมดจะต้องมีขนาดไม่น้อยกว่าเดิม ทั้งนี้ ในกรณีที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๕๕ (๓) (๔) และ (๕) ให้นำความในมาตรา ๖๒ และมาตรา ๖๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การนำที่ดินของรัฐประเภทอื่นมาใช้เพื่อการสาธารณูปโภคหรือสาธารณูปการต้องมีอัตราส่วนเช่นเดียวกับการนำที่ดินเอกชนมาใช้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๕๗ ในกรณีมีความจำเป็นเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รัฐอาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาเพื่อใช้ในโครงการจัดรูปที่ดินรายใดก็ได้ โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๕๘ ในบริเวณโครงการจัดรูปที่ดินที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่วนจังหวัดแล้ว ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายมีสิทธิที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้ โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน
(๑) เข้าไปรื้อถอน เคลื่อนย้าย หรือดัดแปลงอาคาร ตลอดจนทำการอันจำเป็นอย่างอื่นในที่ดินของผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการจัดรูปที่ดิน
(๒) เข้าไปสำรวจ รังวัด จัดสร้างถนน ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย และการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการจัดรูปที่ดิน
(๓) ทำเครื่องหมายระดับ ขอบเขต และแนวเขต
(๔) ดำเนินการเพื่อแบ่งแยกแปลงที่ดิน รวมแปลงที่ดิน และทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพยสิทธิหรือสิทธิการเช่าแทนเจ้าของที่ดินในบริเวณโครงการจัดรูปที่ดินได้ ทั้งนี้ ภายใต้วัตถุประสงค์ของโครงการจัดรูปที่ดินนั้น
การดำเนินการในอาคารหรือที่ดินที่มีผู้อาศัยอยู่ จะต้องมีการแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบล่วงหน้าตามระยะเวลาที่สมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้นั้น ส่วนการเข้าดำเนินการรื้อถอน เคลื่อนย้าย หรือดัดแปลงสิ่งสาธารณูปโภคที่หน่วยงานของรัฐควบคุมดูแลอยู่ จะต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานนั้นก่อน โดยกำหนดเวลาให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์หรือหน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลสิ่งสาธารณูปโภคนั้นแจ้งกลับว่าประสงค์จะดำเนินการเองหรือไม่
มาตรา ๕๙ เพื่อประโยชน์ในการก่อสร้าง เคลื่อนย้าย หรือดัดแปลงอาคารหรือสิ่งใดเพื่อการจัดรูปที่ดิน ให้ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายมีสิทธิเข้าไปใช้สอยหรือครอบครองที่ดินที่มิใช่ที่อยู่อาศัยของบุคคลใดที่อยู่ใกล้กับที่ดินในบริเวณโครงการจัดรูปที่ดินได้เป็นการชั่วคราวภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) การใช้สอยหรือเข้าครอบครองนั้นเป็นการจำเป็นสำหรับการสำรวจ ก่อสร้าง เคลื่อนย้าย หรือดัดแปลงอาคารหรือสิ่งใดเพื่อการจัดรูปที่ดิน
(๒) ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายได้แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของที่ดินทราบภายในเวลาอันควร แต่ต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่ในกรณีที่ไม่อาจติดต่อกับเจ้าของที่ดินได้ ให้ประกาศเป็นหนังสือปิดไว้ ณ ที่บริเวณที่ดินนั้นตั้งอยู่ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต ที่ทำการกำนันและที่ทำการผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ทั้งนี้ ให้แจ้งกำหนดวัน เวลา และการที่จะกระทำนั้นไว้ด้วย
ในกรณีที่การปฏิบัติตามมาตรานี้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินหรือผู้ทรงสิทธิอื่น บุคคลนั้นย่อมเรียกค่าทดแทนจากโครงการจัดรูปที่ดินได้ และหากไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องค่าทดแทน ให้เสนอคณะกรรมการส่วนจังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๖๐ ในระหว่างดำเนินการจัดรูปที่ดินห้ามมิให้เจ้าของที่ดินขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใด ๆ ที่ต้องมีการรังวัด เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่วนจังหวัด
มาตรา ๖๑ การประเมินราคาทรัพย์สินในการดำเนินการโครงการจัดรูปที่ดินให้คณะที่ปรึกษาโครงการจัดรูปที่ดินจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญการตีราคาทรัพย์สินขึ้นเพื่อนำผลการประเมินราคาทรัพย์สินมาคำนวณค่าเฉลี่ย
คุณสมบัติ จำนวนของผู้เชี่ยวชาญการตีราคาทรัพย์สิน และหลักเกณฑ์การประเมินราคาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๖๒ ให้ประเมินราคาที่ดินของเจ้าของที่ดินเดิมแต่ละรายไว้เป็นฐานในการจัดที่ดินแปลงใหม่ให้แก่เจ้าของที่ดินเหล่านั้น โดยที่ดินแปลงใหม่ที่ได้รับจะต้องมีราคาในขณะโครงการแล้วเสร็จไม่ต่ำกว่าราคาเดิมที่ใช้เป็นฐาน เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินนั้น
มาตรา ๖๓ ที่ดินแปลงใหม่ที่จัดให้แก่เจ้าของที่ดินในโครงการจัดรูปที่ดินต้องมีสภาพแวดล้อม ที่ตั้ง รูปแปลงที่ดิน และการใช้ประโยชน์ในที่ดินใกล้เคียงกับสภาพที่ดินเดิม
มาตรา ๖๔ ที่ดินแปลงใหม่ที่จัดขึ้นจะต้องมีขนาดไม่เล็กเกินไปจนเกิดการเสื่อมเสียต่อมาตรฐานการดำรงชีวิตหรือสภาพแวดล้อม
ที่ดินขนาดใดจะถือเป็นแปลงเล็กที่สุดที่จะจัดได้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
ถ้าเจ้าของที่ดินมีที่ดินขนาดเล็กกว่าขนาดที่กำหนดในกฎกระทรวงตามวรรคสองมาแต่เดิม จะไม่จัดที่ดินแปลงใหม่ให้แทนที่ดินแปลงเดิมก็ได้ ถ้าจะไม่เป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินรายอื่นเป็นอย่างมากหากจะเฉลี่ยที่ดินมาให้แก่บุคคลดังกล่าว ทั้งนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่วนจังหวัด
ในกรณีที่ไม่จัดที่ดินแปลงใหม่ให้แก่เจ้าของที่ดินตามวรรคสาม ให้เจ้าของที่ดินผู้นั้นมีสิทธิที่จะเลือกถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของอาคารชุดที่ราคาที่ใกล้เคียงกัน หรือได้รับค่าทดแทนเป็นเงินก็ได้ ในการจ่ายเป็นเงินนอกจากจำนวนราคาของที่ดินที่จ่ายให้แล้ว ให้พิจารณากำหนดค่าชดเชยเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการต้องย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ และผลกระทบทางจิตใจที่ต้องสูญเสียทรัพย์สินและความเป็นอยู่เดิมด้วย
เจ้าของที่ดินจะขอรับเงินค่าทดแทนตามวรรคสี่ไปก่อน โดยสงวนสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการก็ได้ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
มาตรา ๖๕ การจัดที่ดินแปลงใหม่ให้กับเจ้าของที่ดินจะไม่กระทำก็ได้ ถ้ามีข้อตกลงเช่นนั้นกับเจ้าของที่ดิน
มาตรา ๖๖ บรรดาสิทธิการเช่าหรือทรัพยสิทธิต่าง ๆ อันเกี่ยวกับที่ดินหรืออาคารชุดเดิมให้ถือว่าโอนไปเป็นสิทธิการเช่าหรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออาคารชุดใหม่นับตั้งแต่ได้จัดที่ดินหรือห้องชุดใหม่ให้เป็นต้นไป และถ้าเป็นกรณีที่มีหลักฐานทางทะเบียนให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงทะเบียนให้ถูกต้องตามนั้น
มาตรา ๖๗ เมื่อผลการจัดรูปที่ดินหรืออาคารชุดใหม่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเช่าที่ดินหรืออาคารชุด หรือการใช้สิทธิเหนือที่ดินแปลงเดิม ผู้เช่าที่ดินหรือห้องชุด หรือผู้ทรงสิทธิเหนือที่ดินสามารถบอกเลิกการเช่าหรือยกเลิกสิทธิเหนือที่ดินนั้นได้ ทั้งนี้ ให้มีสิทธิเรียกเงินที่ได้จ่ายไปในการทำสัญญาเช่าหรือค่าใช้สิทธิดังกล่าวจากผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๖๘ บรรดาค่าใช้จ่ายในการจัดรูปที่ดิน ให้เจ้าของที่ดินเฉลี่ยออกกันตามส่วน ในส่วนที่เป็นที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างที่ตกเป็นของรัฐ ให้รัฐช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย
ประโยชน์ที่ได้เพิ่มขึ้นจากโครงการจัดรูปที่ดิน ให้เฉลี่ยให้แก่เจ้าของที่ดินในบริเวณโครงการจัดรูปที่ดิน ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดิน และผู้ร่วมลงทุนตามความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
มาตรา ๖๙ ค่าชดเชยระหว่างกันไม่ต้องมีหากเป็นกรณีตามโครงการจัดรูปที่ดินที่เจ้าของที่ดินทุกรายได้รับที่ดินมีราคาเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงในส่วนที่เท่าเทียมกันทุกราย แต่ถ้าราคาที่ดินได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงมีสัดส่วนที่ไม่เท่าเทียมกัน ให้ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์ในสัดส่วนที่มากกว่าหรือได้ที่ดินที่มีราคาสูงขึ้นแล้วแต่กรณี จ่ายค่าชดเชยตามผลต่างของประโยชน์ที่ตนได้รับให้กับโครงการจัดรูปที่ดิน และให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์ในสัดส่วนน้อยกว่าหรือได้ที่ดินที่มีราคาน้อยลง มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากโครงการจัดรูปที่ดิน
การจ่ายค่าชดเชยตามผลต่างที่เพิ่มขึ้นหรือการได้รับค่าชดเชยจากโครงการจัดรูปที่ดิน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๗๐ เมื่อการก่อสร้างและการดำเนินการทางกายภาพของโครงการจัดรูปที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้วหรือใกล้จะเสร็จ ให้ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินและคณะที่ปรึกษาโครงการจัดรูปที่ดินตกลงกันในเรื่องการกำหนดที่ดินแปลงใหม่และจำนวนค่าชดเชยต่าง ๆ พร้อมความเห็นของเจ้าของที่ดินทั้งหมดแล้วเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่วนจังหวัด
เมื่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศผังที่ดินแปลงใหม่และจำนวนค่าชดเชยดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่และสถานที่ที่เห็นได้ชัดในบริเวณโครงการจัดรูปที่ดินเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตรวจดู โดยให้มีหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินทางไปรษณีย์ตอบรับในวันที่ปิดประกาศด้วย และให้ผู้ดำเนินการเสนอโครงการจัดรูปที่ดินเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการนั้น
ให้เจ้าของที่ดินที่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดผังที่ดินแปลงใหม่และจำนวนค่าชดเชยต่าง ๆ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งตามวรรคสอง คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
มาตรา ๗๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินสำหรับที่ดินตามผังที่ดินแปลงใหม่ หรือหนังสือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด และการจดทะเบียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามโครงการจัดรูปที่ดิน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงที่ดินระหว่างที่ดินของรัฐกับที่ดินของเอกชน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินมีอำนาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเพื่อแลกเปลี่ยนให้แก่เจ้าของที่ดินในโครงการจัดรูปที่ดิน
เมื่อได้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงใหม่แล้ว หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเดิมให้เป็นอันยกเลิก
มาตรา ๗๒ บรรดาทรัพย์สินที่จัดทำขึ้นตามโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อให้เป็นทรัพย์สินของรัฐ ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของรัฐและอยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามมาตรา ๗๑ เป็นต้นไป
ภายใต้บังคับมาตรา ๕๖ ที่ดินแปลงใหม่และอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จัดให้เพื่อทดแทนทรัพย์สินของแผ่นดินตามมาตรา ๕๕ ให้มีสถานะตามที่มีอยู่เดิมก่อนการจัดรูปที่ดิน ตั้งแต่วันที่ประกาศการสิ้นสุดโครงการจัดรูปที่ดินในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๗๓ ถ้าปรากฏว่ากฎหมายหรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป หรือมีเหตุสำคัญที่จะกระทบถึงการจัดรูปที่ดิน ไม่ว่าจะมีคำขอจากผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินหรือไม่ก็ตาม ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงการจัดรูปที่ดินได้ และหากเป็นกรณีที่มีปัญหาและอุปสรรคต่อการจัดรูปที่ดินจนไม่อาจดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินต่อไปได้ จะสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบโครงการจัดรูปที่ดินก็ได้
ในกรณีมีคำสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงการจัดรูปที่ดิน หากผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินแจ้งความประสงค์ที่จะไม่เป็นผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินนั้นต่อไป นอกจากจะริบหลักประกันหรือกำหนดค่าปรับหากมีการกำหนดเช่นนั้นไว้ในการให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๔๖ นั้นแล้ว ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินจะขอคืนบรรดาสิ่งที่ได้จัดทำไว้แล้วในโครงการจัดรูปที่ดินไม่ได้ และให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีคำสั่งกำหนดให้ผู้อื่นที่ประสงค์จะเข้ามาดำเนินการต่อไปเข้าเป็นผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินแทนผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินนั้น โดยผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเดิมมีสิทธิได้รับค่าทดแทนในบรรดาสิ่งที่ตนได้จัดทำไว้โดยชอบด้วยกฎหมายจากโครงการจัดรูปที่ดินตามความเป็นธรรม
ก่อนที่ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินรายใหม่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเดิมยังต้องมีหน้าที่ดำเนินการตามโครงการจัดรูปที่ดินเดิมต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงการจัดรูปที่ดิน
ในกรณีมีคำสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบโครงการจัดรูปที่ดิน การดำเนินการต่าง ๆ จะต้องยุติลง และผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินต้องจัดให้ทุกฝ่ายกลับสู่ฐานะเดิม ถ้าหากกรณีไม่อาจจะเป็นไปได้ ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินต้องจ่ายค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้น
มาตรา ๗๔ เมื่อโครงการจัดรูปที่ดินสิ้นสุดลง ให้มีการชำระบัญชีโดยให้นำความในมาตรา ๓๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้รายงานให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ชำระบัญชีเสร็จสิ้น
ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดประกาศการสิ้นสุดโครงการจัดรูปที่ดินในราชกิจจานุเบกษา
หมวด ๗
กองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
มาตรา ๗๕ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่” ในกรมโยธาธิการและผังเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(๑) เงินที่โอนมาจากเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการจัดรูปที่ดินในเมืองตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๖
(๒) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
(๓) เงินค่าบริการและค่าปรับที่จัดเก็บตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้
(๕) เงิน ดอกเบี้ย หรือผลประโยชน์อื่นใดที่เกิดจากกองทุน
(๖) เงินและทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุน
เงินหรือทรัพย์สินอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเข้ากองทุนโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
มาตรา ๗๖ ให้กองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่เป็นนิติบุคคล
มาตรา ๗๗ กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในของแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗๕ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
(๒) ก่อตั้งสิทธิ หรือกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
(๓) ให้ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินกู้ยืมเงิน
(๔) ลงทุนหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน
(๕) กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
มาตรา ๗๘ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ประธานกรรมการบริหารกองทุนเป็นผู้กระทำแทนกองทุนและสำนักงาน ในการนี้ ประธานกรรมการบริหารกองทุนจะมอบให้อธิบดีกรมโยธิการและผังเมือง หรือกรรมการบริหารกองทุนผู้ใดปฏิบัติการแทนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนก็ได้
มาตรา ๗๙ เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการที่กำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นเงินให้กู้ยืมแก่ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
(๒) เป็นเงินอุดหนุนหรือเงินให้กู้ยืมแก่ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ในการจัดสร้างหรือปรับปรุงสาธารณูปโภคหรือสถานที่สาธารณประโยชน์ ที่เป็นการรองรับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
(๓) ใช้เพื่อการค้นคว้า การวิจัย การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
(๔) เป็นเงินทดรองจ่ายค่าทดแทนหรือค่าเสียหายในการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัตินี้
(๕) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน
ในการให้สินเชื่อแก่โครงการจัดรูปที่ดินคณะกรรมการอาจกำหนดให้สถาบันการเงินของรัฐเป็นผู้ช่วยพิจารณาดำเนินการก็ได้
มาตรา ๘๐ ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนคณะหนึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับกองทุนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนสามคนเป็นกรรมการ และผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้นำความในมาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับกับคณะกรรมการบริหารกองทุนโดยอนุโลม
มาตรา ๘๑ คณะกรรมการบริหารกองทุนมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารและควบคุมการปฏิบัติงานกองทุนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในเรื่องต่าง ๆ ตามมาตรา ๗๗ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
(๓) กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานของสำนักงานกองทุน
(๔) อนุมัติงบประมาณประจำปีสำหรับการดำเนินงานของกองทุนและสำนักงานกองทุน
(๕) ควบคุม ติดตามผล และประเมินผลการใช้จ่ายเงินกองทุน แล้วรายงานต่อคณะกรรมการ
(๖) ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
มาตรา ๘๒ การบัญชีของกองทุน ให้จัดทำบัญชีตามหลักสากลโดยให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุของกองทุน และรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
มาตรา ๘๓ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรายงานการรับจ่ายเงินทุกปี เมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้วให้ทำรายงานการตรวจสอบเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาต่อไป
หมวด ๘
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๘๔ ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการส่วนจังหวัดหรือผู้ตรวจการสมาคมตามมาตรา ๒๖ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มอบหมาย หรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลดังกล่าวตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง หรือผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินตามมาตรา ๕๘ (๑) (๒) หรือ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๘๕ ผู้ใดเคลื่อนย้าย ทำให้เสียหายหรือทำลายเครื่องหมายต่าง ๆ ที่ได้จัดทำขึ้นตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง (๒) หรือมาตรา ๕๘ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๘๖ สมาคมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะเป็นสมาคมตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณารับจดทะเบียนสมาคมที่ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง โดยให้นำความในหมวด ๓ สมาคมจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าคณะกรรมการรับจดทะเบียนเป็นสมาคมตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดแห่งท้องที่อันเป็นที่ตั้งสำนักงานสมาคม เพื่อดำเนินการในการควบคุมกำกับสมาคมนั้นต่อไป
มาตรา ๘๗ ผู้ดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่อยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะให้ถือว่าโครงการจัดรูปที่ดินนั้นเป็นโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติโครงการตามวรรคหนึ่ง โดยให้นำความในหมวด ๕ การเสนอโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้ยกเว้นการประกาศตามมาตรา ๔๓
ถ้าคณะกรรมการให้ความเห็นชอบโครงการจัดรูปที่ดินนั้นแล้ว ให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดแห่งท้องที่เพื่อดำเนินการต่อไป และให้ดำเนินการในขั้นตอนที่เหลืออยู่ต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะเสร็จสิ้นโครงการ ทั้งนี้ ไม่กระทบกับการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๘๘ การดำเนินการใด ๆ ตามแผนงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติใช้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการจัดรูปที่ดินในเมืองก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปจนเสร็จสิ้นตามแผนงานหรือโครงการที่ได้รับการอนุมัติ ในกรณีเป็นโครงการที่ยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีความจำเป็นต้องดำเนินการขออนุมัติใช้เงินทุนหมุนเวียนเพี่อการจัดรูปที่ดินในเมือง ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้เท่าที่ไม่กระทบต่อแผนงานหรือโครงการเดิมที่ได้รับการอนุมัติ ทั้งนี้ จนกว่าจะเสร็จสิ้นตามแผนงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติ
การส่งเงินคืนให้แก่เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการจัดรูปที่ดินในเมือง ให้ส่งแก่กองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
มาตรา ๘๙ ให้กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยหรือกรมโยธาธิการและผังเมืองที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่มีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สมควรส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการจัดรูปที่ดิน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสภาพที่อยู่อาศัย แหล่งธุรกิจ อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ปรับปรุงหรือจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองและชนบทที่เสื่อมโทรม อันเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชนเมืองและชนบท จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
อุดมการณ์/ปรับปรุง
๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕
ภคมน/ตรวจ
๔ มกราคม ๒๕๕๖
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๘๑ ก/หน้า ๑/๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๗