พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 (Update ณ วันที่ 04/08/2542)
พระราชบัญญัติ
ลักษณะปกครองท้องที่
พระพุทธศักราช ๒๔๕๗
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า เมื่อในรัชกาลแห่งสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ขึ้นเมื่อ พระพุทธศักราช ๒๔๔๐ และได้ใช้พระราชบัญญัตินั้นเป็นแบบแผนวิธีปกครองทั่วพระราชอาณาจักร อันอยู่ภายนอกจังหวัดกรุงเทพฯ มาจนบัดนี้ พระราชบัญญัติอื่น ๆ อันเนื่องด้วยวิธีปกครองราษฎร ซึ่งตั้งขึ้นภายหลังต่อมา ได้ยึดพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่นี้เป็นหลักอีกเป็นอันมาก เพราะฉะนั้นพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ นับว่าเป็นพระราชบัญญัติสำคัญในการปกครองพระราชอาณาจักรอย่าง ๑
ตั้งแต่ได้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ในพระพุทธศักราช ๒๔๔๐ มา วิธีปกครองพระราชอาณาจักรได้จัดการเปลี่ยนแปลงดำเนินมาโดยลำดับหลายอย่าง ทรงพระราชดำริเห็นว่า ถึงเวลาอันสมควรที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ให้ตรงกับวิธีการปกครองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๖ ของเดิม แห่งใดที่ยังใช้ได้ให้คงไว้ แห่งใดที่เก่าเกินกว่าวิธีปกครองทุกวันนี้ ก็แก้ไขให้ตรงกับเวลารวบรวมตราเป็นพระราชบัญญัติไว้ สืบไปดังนี้
หมวดที่ ๑
ว่าด้วยนามและการใช้พระราชบัญญัติ
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่วันประกาศแล้วให้ใช้ทั่วทุกมณฑล เว้นแต่ในจังหวัดกรุงเทพฯ ชั้นใน และเมื่อใช้พระราชบัญญัตินี้แล้วให้ยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ เสีย ใช้พระราชบัญญัตินี้แทนสืบไป
มาตรา ๓ บรรดาพระราชกำหนดกฎหมายแต่ก่อน บทใดข้อความขัดกับพระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกกฎหมายบทนั้นตั้งแต่วันที่ได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ไป
มาตรา ๔ อำนาจหน้าที่สมุหเทศาภิบาล ซึ่งกล่าวต่อไปในพระราชบัญญัตินี้ ส่วนในมณฑลกรุงเทพฯ ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงนครบาล หรือข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงนครบาล ซึ่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีอำนาจหน้าที่เฉพาะการนั้น ๆ อีกประการ ๑ ความที่กล่าวต่อไปในพระราชบัญญัตินี้ แห่งใดมีใจความว่า สมุหเทศาภิบาลจะทำได้ด้วยอนุมัติของเสนาบดี ใจความอันนี้ไม่ต้องใช้ ในส่วนมณฑลกรุงเทพฯ เพราะหน้าที่สมุหเทศาภิบาลและเสนาบดีในส่วนมณฑลกรุงเทพฯ รวมอยู่ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล
มาตรา ๕ ให้เสนาบดีผู้บัญชาการปกครองท้องที่มีอำนาจที่จะตั้งกฎข้อบังคับ สำหรับจัดการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าและกฎนั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต และประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ให้ถือว่าเป็นเหมือนส่วน ๑ ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๖ ในการที่จะกำหนดเขตหมู่บ้านและตำบลทั้งปวงในหัวเมืองใด ให้ผู้ว่าราชการเมืองนั้น เมื่อได้อนุมัติของสมุหเทศาภิบาลแล้ว มีอำนาจหน้าที่จะกำหนดได้ และการที่จะกำหนดเขตอำเภอนั้นก็ให้สมุหเทศาภิบาลมีอำนาจที่จะกำหนดได้ เมื่อได้รับอนุมัติของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้วฉะนั้น ส่วนมณฑลกรุงเทพฯ เสนาบดีกระทรวงนครบาลกำหนดได้เด็ดขาด
หมวดที่ ๒
ว่าด้วยวิธีอธิบายศัพท์ที่ใช้ในพระราชบัญญัติ
มาตรา ๗ ศัพท์ว่า บ้าน และเจ้าบ้าน ซึ่งกล่าวในพระราชบัญญัตินี้ ให้พึงเข้าใจดังนี้ คือ
ข้อ ๑ ศัพท์ว่า บ้านนั้น หมายความว่า เรือนหลังเดียวก็ตาม หลายหลังก็ตาม ซึ่งอยู่ในเขตที่มีเจ้าของเป็นอิสระส่วน ๑ นับในพระราชบัญญัตินี้ว่า บ้าน ๑ ห้องแถวและแพ หรือเรือชำซึ่งจอดประจำอยู่ที่ใด ถ้ามีเจ้าของหรือผู้เช่าครอบครองเป็นอิสระต่างหากห้อง ๑ หลัง ๑ ลำ ๑ หรือหมู่ ๑ ในเจ้าของหรือผู้เช่าคน ๑ นั้น ก็นับว่าบ้าน ๑ เหมือนกัน
๒ ศัพท์ว่า เจ้าบ้านนั้น หมายความว่าผู้อยู่ปกครองบ้าน ซึ่งได้ว่ามาแล้วในข้อก่อน จะครอบครองด้วยเป็นเจ้าของก็ตาม ด้วยเป็นผู้เช่าก็ตาม ด้วยเป็นผู้อาศัยโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม นับตามพระราชบัญญัตินี้ว่าเป็นเจ้าบ้าน
ข้อ ๓ วัด โรงพยาบาล โรงทหาร โรงเรียน เรือนจำ ที่ทำการไปรษณีย์ สถานีรถไฟ สถานที่ต่าง ๆ ของรัฐบาล อยู่ในความปกครองของหัวหน้าในที่นั้น ไม่นับว่าเป็นบ้านตามพระราชบัญญัตินี้
หมวดที่ ๓
ว่าด้วยลักษณะปกครองหมู่บ้าน
ตอน ๑
การตั้งหมู่บ้าน
มาตรา ๘ บ้านหลายบ้านอยู่ในท้องที่อันหนึ่ง ซึ่งควรอยู่ในความปกครองอันเดียวกันได้ ให้จัดเป็นหมู่บ้าน ๑ ลักษณะที่กำหนดหมู่บ้านตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือความสะดวกแก่การปกครองเป็นประมาณ คือ
ข้อ ๑ ถ้าเป็นที่มีคนอยู่รวมกันมาก ถึงจำนวนบ้านน้อย ให้ถือเอาจำนวนคนเป็นสำคัญประมาณราว ๒๐๐ คน เป็นหมู่บ้าน ๑
ข้อ ๒ ถ้าเป็นที่ผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างไกลกัน ถึงจำนวนคนจะน้อย ถ้าและจำนวนบ้านไม่ต่ำกว่า ๕ บ้านแล้ว จะจัดเป็นหมู่บ้าน ๑ ก็ได้
ตอน ๒
การแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
การออกจากตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน[๒]
มาตรา ๙[๓] ในหมู่บ้านหนึ่งให้มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง และมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง หมู่บ้านละสองคน เว้นแต่หมู่บ้านใดมีความจำเป็นต้องมีมากกว่าสองคน ให้ขออนุมัติกระทรวงมหาดไทย
ในหมู่บ้านใด ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรให้มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ก็ให้มีได้ตามจำนวนที่กระทรวงมหาดไทยจะเห็นสมควร
ผู้ใหญ่บ้านจะได้รับเงินเดือน แต่มิใช่จากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน ส่วนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง จะได้รับเงินตอบแทนตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
มาตรา ๑๐[๔] ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่ปกครองบรรดาราษฎรที่อยู่ในเขตหมู่บ้าน
มาตรา ๑๑[๕] ให้กรมการอำเภอประชุมราษฎรซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เลือกราษฎร ผู้มีคุณสมบัติที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
(๑)[๖] มีสัญชาติไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๑ มกราคม ของปีที่มีการเลือก
(๒) ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรตหรือนักบวช
(๓) ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๔)[๗] มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นประจำ และมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ในหมู่บ้านนั้นติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนจนถึงวันเลือก
มาตรา ๑๒[๘] ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันรับเลือก
(๓) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นประจำและมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในหมู่บ้านนั้นติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีจนถึงวันเลือกและเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นหลักฐาน
(๔) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
(๕) ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๖) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ วิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นโรคตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
(๗) ไม่เป็นสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือของรัฐวิสาหกิจ หรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือลูกจ้างของส่วนราชการ หรือลูกจ้างของเอกชนซึ่งมีหน้าที่ทำงานประจำ
(๘) ไม่เป็นผู้มีอิทธิพลหรือเสียชื่อในทางพาลหรือทางทุจริต หรือเสื่อมเสียในทางศีลธรรม
(๙) ไม่เป็นผู้เคยถูกให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะทุจริตต่อหน้าที่ และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันถูกให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก
(๑๐) ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันพ้นโทษ
(๑๑) ไม่เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยศุลกากร กฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ในฐานความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ กฎหมายว่าด้วยที่ดิน ในฐานความผิดเกี่ยวกับที่สาธารณประโยชน์ กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง และกฎหมายว่าด้วยการพนัน ในฐานความผิดเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก
(๑๒) ไม่เป็นผู้เคยถูกให้ออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๔ (๖) หรือ (๗) และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันถูกให้ออก
(๑๓) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันถูกให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก
(๑๔) มีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ หรือที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ เว้นแต่ในท้องที่ใดไม่อาจเลือกผู้มีพื้นความรู้ดังกล่าวได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาจประกาศในราชกิจจานุเบกษายกเว้นหรือผ่อนผันได้
มาตรา ๑๓[๙] การเลือกนั้นให้กรมการอำเภอเป็นประธานพร้อมด้วยกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นอย่างน้อยหนึ่งคน
วิธีเลือกจะกระทำโดยลับหรือโดยเปิดเผยก็ได้
เมื่อราษฎรส่วนมากที่มาประชุมเลือกผู้ใดแล้ว ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน แล้วให้กรมการอำเภอรายงานไปยังข้าหลวงประจำจังหวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญให้ไว้เป็นหลักฐาน
ในกรณีที่ผู้รับเลือกมีคะแนนเสียงเท่ากันให้จับสลาก
ผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตำแหน่งคราวละห้าปี นับแต่วันที่ราษฎรเลือก[๑๐]
มาตรา ๑๔[๑๑] ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) ขาดคุณสมบัติหรือเข้าลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๒
(๑ ทวิ)[๑๒] ถึงคราวออกตามวาระ
(๒) ตาย
(๓) ได้รับอนุญาตให้ลาออก
(๔) หมู่บ้านที่ปกครองถูกยุบ
(๕) ไปเสียจากหมู่บ้านที่ตนปกครองเกินสามเดือน
(๖) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านนั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนร้องขอให้ออกจากตำแหน่ง
(๗) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ออกจากตำแหน่งเมื่อได้สอบสวนเห็นว่าบกพร่องในทางความประพฤติ หรือความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง
ความใน (๑) มิให้ใช้บังคับแก่มาตรา ๑๒ (๕) ในกรณีที่ผู้ใหญ่บ้านได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ลาอุปสมบท หรือบรรพชาได้ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน
ความในวรรคสอง ให้ใช้บังคับแก่กำนันด้วย
มาตรา ๑๕[๑๓] ผู้ใหญ่บ้านและกำนันท้องที่ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกราษฎรซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๖ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ
มาตรา ๑๖[๑๔] ผู้มีสิทธิจะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒
มาตรา ๑๗[๑๕] เมื่อผู้ใดได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ให้กำนันรายงานไปยังนายอำเภอเพื่อออกหนังสือสำคัญไว้เป็นหลักฐาน และให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบตั้งแต่วันที่นายอำเภอออกหนังสือสำคัญ
มาตรา ๑๗ ทวิ[๑๖] ในหมู่บ้านใดมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะแต่งตั้งให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบอีกตำแหน่งหนึ่งก็ได้ ส่วนเงินค่าตอบแทนให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
มาตรา ๑๘[๑๗] ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบอยู่ในตำแหน่งคราวละห้าปี
นอกจากออกจากตำแหน่งตามวาระ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบต้องออกจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒ หรือเพราะเหตุเช่นเดียวกับที่ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๔ (๒) ถึง (๗)
ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบว่างลง ให้มีการคัดเลือกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบแทน และให้นำความในมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ผู้ซึ่งได้รับคัดเลือกตามวรรคสามอยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
เมื่อผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบต้องออกจากตำแหน่งด้วย
มาตรา ๑๙ การที่ต้องเลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่นั้น อาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ
ข้อ ๑ ถ้าลูกบ้านในหมู่บ้านใดทวีขึ้น จะเป็นด้วยผู้คนเกิดก็ตาม หรืออพยพมาแต่ที่อื่นก็ตาม เมื่อกำนันนายตำบลและผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นปรึกษากันเห็นว่า จำนวนคนในหมู่บ้านใดเกินกว่าความสามารถในผู้ใหญ่บ้านคนเดียวจะดูแลปกครองให้เรียบร้อยได้ ให้กำนันนำความแจ้งต่อกรมการอำเภอ ให้พิเคราะห์ด้วยอีกชั้น ๑ แล้วให้กรมการอำเภอบอกเข้าไปยังผู้ว่าราชการเมือง เมื่อผู้ว่าราชการเมืองเห็นสมควรแล้ว ก็ให้ตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่และเลือกผู้ใหญ่บ้านเพิ่มเติมขึ้นใหม่ได้
ข้อ ๒[๑๘] ถ้าผู้ใหญ่บ้านหมู่ใดว่างลง ให้คัดเลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่ภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้ทราบการว่างนั้น การคัดเลือกให้นำความในมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๐ เมื่อผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งด้วยเหตุประการใดๆ เป็นหน้าที่ของกำนันนายตำบลนั้น จะต้องเรียกหมายตั้งและสำมะโนครัวทะเบียนบัญชีที่ได้ทำขึ้นไว้ในหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านนั้นคืนมารักษาไว้ เมื่อผู้ใดรับตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน ก็ให้มอบสำมะโนครัวและทะเบียนบัญชีทั้งปวงให้ แต่หมายตั้งนั้นกำนันต้องรีบส่งให้กรมการอำเภอ อนึ่งการที่จะเรียกคืนหมายตั้งและสำมะโนครัวทะเบียนบัญชีที่ได้กล่าวมาในข้อนี้ ถ้าขัดข้องประการใด กำนันต้องรีบแจ้งความต่อกรมการอำเภอ
มาตรา ๒๑[๑๙] ถ้าผู้ใหญ่บ้านคนใดจะทำการในหน้าที่ไม่ได้ในครั้งหนึ่งคราวหนึ่งให้มอบหน้าที่ให้แก่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนจนกว่าผู้ใหญ่บ้านนั้นจะทำการในหน้าที่ได้ และรายงานให้กำนันทราบ ถ้าการมอบหน้าที่นั้นเกินกว่าสิบห้าวัน ให้กำนันรายงานให้นายอำเภอทราบด้วย
ตอน ๓
การตั้งหมู่บ้านชั่วคราว
มาตรา ๒๒ ถ้าในท้องที่อำเภอใดมีราษฎรไปตั้งชุมนุมทำการหาเลี้ยงชีพแต่ในบางฤดู ถ้าและจำนวนราษฎรซึ่งไปตั้งทำการอยู่มากพอสมควรจะจัดเป็นหมู่บ้านได้ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่เพื่อความสะดวกแก่การปกครอง ก็ให้นายอำเภอประชุมราษฎรในหมู่นั้นเลือกว่าที่ผู้ใหญ่บ้านคน ๑ หรือหลายคนตามควรแก่กำหนดที่ว่าไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่นี้
มาตรา ๒๓[๒๐] ผู้ซึ่งสมควรจะเป็นว่าที่ผู้ใหญ่บ้านตามมาตรา ๒๒ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒ (๑) (๒) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓) และ (๑๔)
มาตรา ๒๔ ผู้ใหญ่บ้านเช่นนี้ ให้เรียกว่า ว่าที่ผู้ใหญ่บ้าน เพราะเหตุที่เป็นตำแหน่งชั่วครั้งชั่วคราวหนึ่ง แต่มีอำนาจและหน้าที่เท่าผู้ใหญ่บ้านทุกประการ ถ้าราษฎรเลือกผู้หนึ่งผู้ใดอันสมควรจะว่าที่ผู้ใหญ่บ้านได้ ก็ให้รายงานขอหมายตั้งต่อผู้ว่าราชการเมือง
มาตรา ๒๕ หมายตั้งว่าที่ผู้ใหญ่บ้านนี้ ให้ผู้ว่าราชการเมืองทำหมายพิเศษตั้ง เพื่อให้ปรากฏว่าผู้นั้นว่าที่ผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่เดือนนั้นเพียงเดือนนั้นเป็นที่สุด ตามกำหนดฤดูกาลที่ราษฎรจะตั้งชุมนุมกันอยู่ในที่นั้น เมื่อราษฎรอพยพแยกย้ายกันไปแล้ว ก็ให้เป็นอันสิ้นตำแหน่งและหน้าที่ เมื่อถึงฤดูใหม่ก็ให้เลือกตั้งใหม่อีกทุกคราวไป
มาตรา ๒๖ หมู่บ้านที่จัดขึ้นชั่วคราวนี้ ให้รวมอยู่ในกำนันนายตำบลซึ่งได้ว่ากล่าวท้องที่นั้นแต่เดิม เว้นไว้แต่ถ้าท้องที่เป็นท้องที่ป่าเปลี่ยวห่างไกลจากกำนัน เมื่อมีจำนวนคนที่ไปตั้งอยู่มาก ผู้ว่าราชการเมืองเห็นจำเป็นจะต้องมีกำนันขึ้นต่างหาก ก็ให้เลือกและตั้งว่าที่กำนันได้โดยทำนองตั้งว่าที่ผู้ใหญ่บ้านตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
ตอน ๔
หน้าที่และอำนาจของผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน[๒๑]
มาตรา ๒๗ ผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าของราษฎรในหมู่บ้านของตนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ มีหน้าที่และอำนาจในทางปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยของราษฎรดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
ข้อ ๑ ที่จะรักษาความสงบและความสุขสำราญ ช่วยป้องกันความทุกข์ภัยของลูกบ้านตามสมควร และที่สามารถจะทำได้ การที่กล่าวนี้ ถ้าสมควรจะต้องปรึกษาหารือและช่วยกันกับเพื่อนผู้ใหญ่บ้านก็ดีกับกำนันนายตำบลก็ดี ก็เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะต้องปฏิบัติให้สมควรแก่การที่จะรักษาประโยชน์และความสุขของลูกบ้านซึ่งได้มอบไว้ให้เป็นธุระในพระราชบัญญัตินี้
ข้อ ๒ ถ้าความทุกข์ภัยเกิดแก่ลูกบ้าน ซึ่งจะต้องขอความป้องกันจากรัฐบาล เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะนำความแจ้งต่อเจ้าพนักงานปกครองตั้งแต่กำนัน นายอำเภอเป็นต้นขึ้นไปโดยลำดับ
ข้อ ๓ ถ้ารัฐบาลจะประกาศ หรือจะสั่งราชการอันใดให้ราษฎรทราบ เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะรับข้อความอันนั้นไปแจ้งแก่ลูกบ้านของตนให้ทราบ
ข้อ ๔ เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะทำบัญชีสำมะโนครัวในหมู่บ้านของตนและคอยแก้ไขบัญชีนั้นให้ถูกต้องเสมอ
ข้อ ๕ ถ้าผู้ใหญ่บ้านรู้เห็นเหตุการณ์แปลกประหลาดอันใดที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านของตน หรือในลูกบ้านของตนซึ่งอาจจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ราชการบ้านเมืองก็ดี แก่ประชาชนในที่นั้นก็ดี ยกตัวอย่างข้างฝ่ายโทษ ดังรู้เห็นว่าผู้คนมีทรัพย์สิ่งของแปลกประหลาดอันน่าสงสัยว่า เป็นของที่ได้มาโดยทางโจรกรรมก็ดี หรือว่าถ้าเห็นผู้คนล้มตาย หรือมีบาดแผลอันควรสงสัยว่าจะมีผู้อื่นกระทำเอาโดยทุจริต หรือไปกระทำทุจริตต่อผู้อื่นแล้ว จึงเกิดเหตุขึ้นก็ดี เหล่านี้เป็นต้น ให้รีบนำความแจ้งต่อกำนันนายตำบลของตน
ข้อ ๖ ถ้ามีคนจรแปลกหน้านอกสำมะโนครัวหมู่บ้านนั้นเข้ามาอาศัย เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านจะต้องไต่ถาม ให้รู้จักตัวและรู้เหตุการณ์ที่มาอาศัย ถ้าเห็นว่าไม่ได้มาโดยสุจริตให้เอาตัวผู้นั้นส่งกำนันนายตำบลของตน
ข้อ ๗ ถ้าเกิดเหตุจลาจลก็ดี ฆ่ากันตายก็ดี ตีชิงก็ดี ปล้นทรัพย์ก็ดี หรือไฟไหม้ก็ดี หรือเหตุร้ายสำคัญอย่างใด ๆ ในหมู่บ้านของตน หรือในหมู่บ้านที่ใกล้เคียงอันสมควรจะช่วยได้ เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านจะต้องเรียกลูกบ้านของตนออกช่วยต่อสู้ติดตามจับผู้ร้ายเอาของกลางคืนหรือดับไฟ หรือช่วยอย่างอื่นที่สมควรโดยเต็มกำลัง
ข้อ ๘ ผู้ใหญ่บ้านเห็นลูกบ้านของตนคนใดแสดงความอาฆาตมาดร้ายแก่ผู้อื่นก็ดี หรือเป็นคนจรจัดไม่ปรากฏการทำมาหาเลี้ยงชีพ และไม่สามารถจะชี้แจงให้เห็นความบริสุทธิ์ของตนได้ก็ดี ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจที่จะเรียกลูกบ้านคนนั้นมาไต่ถามและว่ากล่าวสั่งสอนถ้าไม่ฟังให้เอาตัวส่งกำนันจัดการตามความในมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัตินี้
ข้อ ๙[๒๒] ควบคุมดูแลลูกบ้านให้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจะต้องพึงกระทำตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ
ข้อ ๑๐[๒๓] ฝึกหัดอบรมให้คนไทยรู้จักหน้าที่และกระทำการในเวลารบ
ข้อ ๑๑[๒๔] ทำการอบรมสั่งสอน หรือชี้แจงข้อราชการแก่ราษฎร ในการนี้ให้เรียกราษฎรมาประชุมได้ตามครั้งคราวที่สมควร
ข้อ ๑๒[๒๕] บำรุงและส่งเสริมการอาชีพของราษฎรในทางเกษตรกรรม พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม
ข้อ ๑๓[๒๖] ตรวจตราและรักษาประโยชน์ในการอาชีพของราษฎร
ข้อ ๑๔[๒๗] สั่งให้ราษฎรช่วยเหลือในการสาธารณะประโยชน์เพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายซึ่งมีมาเป็นสาธารณะโดยฉุกเฉินและให้ทำการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ราษฎรผู้ประสบสาธารณะภัย
ข้อ ๑๕[๒๘] จัดการป้องกันโรคติดต่อหรือโรคระบาดซึ่งเกิดขึ้น หรือจะเกิดขึ้นในหมู่บ้าน เพื่อมิให้ติดต่อลุกลามมากไป
ข้อ ๑๖[๒๙] จัดหมู่บ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและต้องด้วยสุขลักษณะ
ข้อ ๑๗[๓๐] จัดให้มีการประชุมกรรมการหมู่บ้าน
ข้อ ๑๘[๓๑] ปฏิบัติการตามคำสั่งของกำนัน หรือทางราชการและรายงานเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในหมู่บ้านให้กำนันทราบ เพื่อให้กำนันรายงานต่อคณะกรรมการอำเภอ
ข้อ ๑๙[๓๒] กระทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรตามที่ทางราชการได้แนะนำ
มาตรา ๒๘ ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่และอำนาจในการที่เกี่ยวด้วยความอาญาดังต่อไปนี้ คือ
ข้อ ๑ เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย เกิดขึ้นหรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในหมู่บ้านของตน ต้องแจ้งความต่อกำนันนายตำบลให้ทราบ
ข้อ ๒ เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น หรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในหมู่บ้านที่ใกล้เคียง ต้องแจ้งความต่อผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านนั้นให้ทราบ
ข้อ ๓ เมื่อตรวจพบของกลางที่ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายมีอยู่ก็ดี หรือสิ่งของที่สงสัยว่าได้มาโดยกระทำผิดกฎหมาย หรือเป็นสิ่งของสำหรับใช้ในการกระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับสิ่งของนั้นไว้และรีบนำส่งต่อกำนันนายตำบล
ข้อ ๔ เมื่อปรากฏว่าผู้ใดกำลังกระทำผิดกฎหมายก็ดี หรือมีเหตุควรสงสัยว่า เป็นผู้ที่ได้กระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับตัวผู้นั้นไว้และรีบนำส่งต่อกำนันนายตำบล
ข้อ ๕ ถ้ามีหมายหรือมีคำสั่งตามหน้าที่ราชการ ให้จับผู้ใดในหมู่บ้านนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะจับผู้นั้น และรีบส่งต่อกำนัน หรือกรมการอำเภอตามสมควร
ข้อ ๖ เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกหมายสั่งให้ค้นหรือให้ยึด ผู้ใหญ่บ้านต้องจัดการให้เป็นไปตามหมาย
มาตรา ๒๘ ทวิ[๓๓] ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านปฏิบัติกิจการตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านเท่าที่ได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่บ้านให้กระทำ
(๒) เสนอข้อแนะนำและให้คำปรึกษาต่อผู้ใหญ่บ้านในกิจการที่ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน
(๒) ถ้ารู้เห็นหรือทราบว่าเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในหมู่บ้านเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ให้นำความแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้าน
ถ้าเหตุการณ์ตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในหมู่บ้านใกล้เคียง ให้นำความแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านท้องที่นั้นและรายงานให้ผู้ใหญ่บ้านของตนทราบ
(๓) ถ้ามีคนจรเข้ามาในหมู่บ้านและสงสัยว่าไม่ได้มาโดยสุจริต ให้นำตัวส่งผู้ใหญ่บ้าน
(๔) เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ต้องระงับเหตุปราบปราม ติดตามจับผู้ร้ายโดยเต็มกำลัง
(๕) เมื่อตรวจพบหรือตามจับได้สิ่งของใดที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด ให้รีบนำส่งผู้ใหญ่บ้าน
(๖) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ใดได้กระทำความผิดและกำลังจะหลบหนีให้ควบคุมตัวส่งผู้ใหญ่บ้าน
(๗) ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งสั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา ๒๘ ตรี[๓๔] ในหมู่บ้านหนึ่งให้มีคณะกรรมการหมู่บ้านคณะหนึ่ง มีหน้าที่เสนอข้อแนะนำและให้คำปรึกษาต่อผู้ใหญ่บ้าน เกี่ยวกับกิจการที่จะปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน
คณะกรรมการหมู่บ้านประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองเป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง และผู้ซึ่งราษฎรเลือกตั้งเป็นกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิมีจำนวนตามที่นายอำเภอจะเห็นสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่าสองคน
ในการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน ต้องมีกรรมการหมู่บ้านมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม ให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน การวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานออกเสียงอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีสัญชาติไทย และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านตามมาตรา ๑๒ (๒) ถึง (๑๓)
การเลือกตั้งกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ราษฎรมีสิทธิเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้เลือก โดยให้นายอำเภอเป็นประธาน พร้อมด้วยกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นอย่างน้อยหนึ่งคน
วิธีเลือกจะกระทำโดยลับหรือเปิดเผยก็ได้
เมื่อราษฎรส่วนมากที่มาประชุมเลือกผู้ใดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิและให้นายอำเภอออกหนังสือสำคัญให้ไว้เป็นหลักฐาน
ในกรณีผู้รับเลือกมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้จับสลาก
กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละห้าปี
นอกจากออกจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิต้องออกจากตำแหน่งเพราะเสียสัญชาติไทย หรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒ (๓) ถึง (๑๓) หรือเพราะเหตุเช่นเดียวกับที่ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๔ (๒) ถึง (๗)
ถ้าตำแหน่งกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิว่างลง ให้มีการเลือกตั้งขึ้นแทนให้เต็มตำแหน่งที่ว่าง และให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
การเลือกตั้งกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กระทำภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่าง ถ้าตำแหน่งว่างลงก่อนถึงกำหนดออกตามวาระไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่เลือกตั้งขึ้นแทนก็ได้
มาตรา ๒๘ จัตวา[๓๕] ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย ให้ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบใช้อาวุธปืนของทางราชการได้
การเก็บรักษาและการใช้อาวุธปืนให้เป็นไปตามข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย
หมวดที่ ๔
ว่าด้วยลักษณะปกครองตำบล
ตอน ๑
การตั้งตำบล
มาตรา ๒๙ หลายหมู่บ้านรวมกันราว ๒๐ หมู่บ้าน ให้จัดเป็นตำบล ๑ และเมื่อสมุหเทศาภิบาลเห็นชอบด้วยแล้ว ให้ผู้ว่าราชการเมืองกำหนดหมายเขตตำบลนั้นให้ทราบได้ โดยชัดว่าเพียงใดทุกด้าน ถ้าที่หมายเขตไม่มีลำห้วย,หนอง,คลอง,บึง,บาง หรือสิ่งใดเป็นสำคัญ ก็ให้จัดให้มีหลักปักหมายเขตไว้เป็นสำคัญ
มาตรา ๒๙ ทวิ[๓๖] ในตำบลหนึ่งให้มีกำนันคนหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ปกครองราษฎรที่อยู่ในเขตตำบลนั้น กำนันจะได้รับเงินเดือนแต่มิใช่จากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน
ในตำบลหนึ่งให้มีคณะกรรมการตำบลคณะหนึ่ง มีหน้าที่เสนอข้อแนะนำและให้คำปรึกษาต่อกำนัน เกี่ยวกับกิจการที่จะปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของกำนัน
คณะกรรมการตำบลประกอบด้วยกำนันท้องที่ ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบลและแพทย์ประจำตำบล เป็นกรรมการตำบลโดยตำแหน่ง และครูประชาบาลในตำบลหนึ่งคน กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิหมู่บ้านละหนึ่งคน เป็นกรรมการตำบลผู้ทรงคุณวุฒิ โดยนายอำเภอเป็นผู้คัดเลือกแล้วรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อออกหนังสือสำคัญให้ไว้เป็นหลักฐานและให้ถือว่าผู้นั้นเป็นกรรมการตำบลผู้ทรงคุณวุฒิตั้งแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกหนังสือสำคัญ
กรรมการตำบลผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละห้าปี
นอกจากออกจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการตำบลผู้ทรงคุณวุฒิต้องออกจากตำแหน่งเพราะพ้นจากตำแหน่งครูประชาบาลหรือกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ
ถ้าตำแหน่งกรรมการตำบลผู้ทรงคุณวุฒิว่างลง ให้มีการคัดเลือกขึ้นแทนให้เต็มตำแหน่งที่ว่างและให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
การคัดเลือกกรรมการตำบลผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กระทำภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่าง ถ้าตำแหน่งนั้นว่างลงก่อนถึงกำหนดออกตามวาระไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จะไม่คัดเลือกขึ้นแทนก็ได้
มาตรา ๒๙ ตรี[๓๗] ในการประชุมคณะกรรมการตำบลต้องมีกรรมการตำบลมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวน จึงจะเป็นองค์ประชุม ให้กำนันเป็นประธาน การวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานออกเสียงอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ตอน ๒
การตั้งกำนันและกำนันออกจากตำแหน่ง
มาตรา ๓๐[๓๘] ให้นายอำเภอจัดให้มีการเลือกกำนัน โดยรับสมัครจากผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้น ผู้มีสิทธิเลือกกำนันต้องมีคุณสมบัติและไม่อยู่ในลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑
เมื่อราษฎรที่มาลงคะแนนเสียงส่วนมากเลือกผู้ใดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นกำนันและให้นายอำเภอรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อออกหนังสือสำคัญให้ไว้เป็นหลักฐาน
ในกรณีที่ผู้ได้รับเลือกมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้จับฉลาก
วิธีเลือกกำนัน ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
มาตรา ๓๑[๓๙] กำนันต้องออกจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อต้องออกจากผู้ใหญ่บ้าน
(๒) ได้รับอนุญาตให้ลาออก
(๓) ยุบตำบลที่ปกครอง
(๔) เมื่อข้าหลวงประจำจังหวัดสั่งให้ออกจากตำแหน่งเพราะพิจารณาเห็นว่าบกพร่องในทางความประพฤติ หรือความสามารถไม่พอแก่ตำแหน่ง
(๕) ต้องถูกปลดหรือไล่ออกจากตำแหน่ง
การออกจากตำแหน่งกำนันนั้นให้ออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านด้วย เว้นแต่การออกตาม (๒) (๓) และ (๔) ไม่ต้องออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน
มาตรา ๓๒[๔๐] ถ้าตำแหน่งกำนันว่างลง ให้เลือกกำนันขึ้นใหม่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่นายอำเภอได้ทราบการว่างนั้น การเลือกกำนันให้นำความในมาตรา ๓๐ มาใช้บังคับ
มาตรา ๓๓ ถ้ากำนันทำการในหน้าที่ไม่ได้ ในชั่วคราวเวลาใด เช่นไปทางไกล เป็นต้น ให้มอบอำนาจและหน้าที่ไว้แก่ผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในตำบลเดียวกันให้ทำการแทน และให้ผู้แทนนี้มีอำนาจเต็มที่ในตำแหน่งกำนัน แต่การที่กำนันจะมอบหมายหน้าที่ให้แก่ผู้ใหญ่บ้านทำการแทนเช่นนี้ ให้บอกผู้ใหญ่บ้านทั้งหลายในตำบลเดียวกันและบอกกรมการอำเภอให้ทราบไว้ด้วย
ตอน ๓
หน้าที่และอำนาจของกำนัน
มาตรา ๓๔ บรรดาการที่จะตรวจตรารักษาความปกติเรียบร้อยในตำบล คือ การที่จะว่ากล่าวราษฎรในตำบลนั้น ให้ประพฤติตามพระราชกำหนดกฎหมายก็ดี หรือการที่จะป้องกันภยันตรายและรักษาความสุขสำราญของราษฎรในตำบลนั้นก็ดี หรือการที่จะรับกิจสุขทุกข์ของราษฎรในตำบลนั้นขึ้นร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการเมือง กรมการอำเภอ และจะรับข้อราชการมาประกาศแก่ราษฎรในตำบลนั้นก็ดี หรือที่จะจัดการตามพระราชกำหนด กฎหมาย เช่นการตรวจและนำเก็บภาษีอากรในตำบลนั้นก็ดี การทั้งนี้อยู่ในหน้าที่ของกำนันผู้เป็นนายตำบล ผู้ใหญ่บ้านทั้งปวงในตำบลนั้น และแพทย์ประจำตำบลจะต้องช่วยกันเอาเป็นธุระจัดการให้เรียบร้อยได้ตามสมควรแก่หน้าที่
มาตรา ๓๔ ทวิ[๔๑] นอกจากอำนาจหน้าที่ที่กล่าวโดยเฉพาะให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกำนัน ให้กำนันมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ใหญ่บ้านด้วย
มาตรา ๓๕ กำนันมีหน้าที่และอำนาจในการที่เกี่ยวด้วยความอาญา ดังต่อไปนี้ คือ
ข้อ ๑ เมื่อทราบข่าวว่า มีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น หรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในตำบลของตน ต้องแจ้งความต่อกรมการอำเภอให้ทราบ
ข้อ ๒ เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น หรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในตำบลที่ใกล้เคียงต้องแจ้งความต่อกำนันนายตำบลนั้นให้ทราบ
ข้อ ๓ เมื่อปรากฏว่า ผู้ใดกำลังจะกระทำผิดกฎหมายก็ดี หรือมีเหตุควรสงสัยว่าเป็นผู้ที่ได้กระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับผู้นั้นไว้ และรีบนำส่งต่อกรมการอำเภอ
ข้อ ๔ ถ้ามีหมายหรือมีคำสั่งตามหน้าที่ราชการให้จับผู้ใดในตำบลนั้น เป็นหน้าที่ของกำนันที่จะจับผู้นั้นแล้วรีบส่งต่อกรมการอำเภอตามสมควร
ข้อ ๕ เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกหมายสั่งให้ค้นหรือให้ยึด กำนันต้องจัดการให้เป็นไปตามหมาย
ข้อ ๖ ถ้ามีผู้มาขออายัตตัวคนหรือสิ่งของก็ดีหรือผู้ต้องโจรกรรม จะทำกฎหมายตราสิน หรือมีผู้จะขอชันสูตรบาดแผลก็ดี ทั้งนี้ให้กำนันสืบสวนฟังข้อความแล้วรีบนำตัวขอและผู้ต้องอายัต และทรัพย์สิ่งของบรรดาที่จะพาไปด้วยนั้นไปยังกรมการอำเภอ ถ้าสิ่งของอย่างใดจะพาไปไม่ได้ ก็ให้กำนันชันสูตรให้รู้เห็น แล้วนำความไปแจ้งต่อกรมการอำเภอในขณะนั้น
มาตรา ๓๖ ถ้ากำนันรู้เห็นเหตุทุกข์ร้อนของราษฎร หรือการแปลกประหลาดเกิดขึ้นในตำบลต้องรีบรายงานต่อกรมการอำเภอให้ทราบ
มาตรา ๓๗ ถ้าเกิดจลาจลก็ดี ฆ่ากันตายก็ดี ชิงทรัพย์ก็ดี ปล้นทรัพย์ก็ดี ไฟไหม้ก็ดี หรือเหตุร้ายสำคัญอย่างใด ๆ ในตำบลของตน หรือในตำบลที่ใกล้เคียงอันสมควรจะช่วยได้ก็ดี หรือมีผู้ร้ายแต่ที่อื่นมามั่วสุมในตำบลนั้นก็ดี หรือมีเหตุควรสงสัยว่าลูกบ้านในตำบลนั้น บางคนจะเกี่ยวข้องเป็นโจรผู้ร้ายก็ดี เป็นหน้าที่ของกำนันจะต้องเรียกผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านในตำบลออกช่วยต่อสู้ติดตามจับผู้ร้ายหรือติดตามเอาของกลางคืน หรือดับไฟ หรือช่วยอย่างอื่นตามควรแก่การโดยเต็มกำลัง
มาตรา ๓๘ ให้กำนันดูแลคนเดินทาง ซึ่งไม่มีเหตุควรสงสัยว่าจะเป็นผู้ร้าย ให้ได้มีที่พักตามควร
มาตรา ๓๙ ถ้าผู้เดินทางด้วยราชการจะต้องการคนนำทาง หรือขาดแคลนพาหนะเสบียงอาหารลงในระหว่างทาง และจะร้องขอต่อกำนันให้ช่วยสงเคราะห์ กำนันต้องช่วยจัดหาให้ตามที่จะทำได้ ถ้าหากว่าการที่จะช่วยเหลือนั้นจะต้องออกราคาค่าจ้างเพียงใด ให้กำนันเรียกเอาแก่ผู้เดินทางนั้น
มาตรา ๔๐ กำนันต้องตรวจจัดการรักษาสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อันอยู่ในตำบลนั้น เช่น สระน้ำ ศาลาอาศัย ที่เลี้ยงปศุสัตว์ เป็นต้น
มาตรา ๔๑ กำนันต้องรักษาบัญชีสำมะโนครัว และทะเบียนบัญชีของรัฐบาลในตำบลนั้น และคอยแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องกับบัญชีของผู้ใหญ่บ้าน
มาตรา ๔๒ กำนันต้องทำบัญชีสิ่งของ ซึ่งต้องภาษีอากรในแขวงนั้นยื่นต่อกรมการอำเภอและนำราษฎรไปเสียภาษีอากรตามพระราชบัญญัติภาษีอากร
มาตรา ๔๓ กำนันกระทำการตามหน้าที่จะเรียกผู้ใดมาหารือให้ช่วยก็ได้
มาตรา ๔๔ ในตำบล ๑ ให้มีสารวัตรสำหรับเป็นผู้ช่วยและรับใช้สอยของกำนัน ๒ คน ผู้ที่จะเป็นสารวัตรนี้แล้วแต่กำนันจะขอร้องให้ผู้ใดเป็น แต่ต้องได้รับความเห็นชอบของผู้ว่าราชการเมืองด้วยจึงเป็นได้ และกำนันมีอำนาจเปลี่ยนสารวัตรได้
ตอน ๔
แพทย์ประจำตำบล การตั้งและหน้าที่
มาตรา ๔๕ ในตำบล ๑ ให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านประชุมพร้อมกันเลือกผู้ที่มีความรู้ในวิชาแพทย์ เป็นแพทย์ประจำตำบลคน ๑ สำหรับจัดการป้องกันความไข้เจ็บของราษฎรในตำบลนั้น
มาตรา ๔๖[๔๒] การแต่งตั้งแพทย์ประจำตำบล ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดแต่งตั้งจากบุคคลผู้มีสัญชาติไทย และต้องแต่งตั้งจากผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในตำบลนั้น เว้นแต่ผู้ที่เป็นแพทย์ประจำตำบลที่ใกล้เคียงกันอยู่แล้ว และยอมกระทำการรวมเป็นสองตำบล ถ้าข้าหลวงประจำจังหวัดเห็นสมควรก็แต่งตั้งได้
มาตรา ๔๗ เหตุที่แพทย์ประจำตำบลจะต้องออกจากตำแหน่งนั้น เหมือนกับเหตุที่กำนันจะต้องออกจากตำแหน่งทุกประการ
มาตรา ๔๘ แพทย์ประจำตำบล มีหน้าที่ดังกล่าวต่อไปนี้ คือ
ข้อ ๑ ที่จะช่วยกำนันผู้ใหญ่บ้านคิดอ่านและจัดการรักษาความสงบเรียบร้อยในตำบล ดังกล่าวไว้ในมาตรา ๓๖ และ ๕๒ แห่งพระราชบัญญัตินี้
ข้อ ๒ ที่จะคอยสังเกตตรวจตราความไข้เจ็บที่เกิดขึ้นแก่ราษฎรในตำบลนั้น และตำบลที่ใกล้เคียง ถ้าเกิดโรคภัยร้ายแรงเช่นอหิวาตกโรคก็ดี กาฬโรคก็ดี ไข้ทรพิษก็ดี ต้องคิดป้องกัน ด้วยแนะนำกำนันผู้ใหญ่บ้านให้สั่งราษฎรให้จัดการป้องกันโรคเช่นทำความสะอาดเป็นต้น และแพทย์ประจำตำบลต้องเที่ยวตรวจตราชี้แจงแก่ราษฎรด้วย
ข้อ ๓ การป้องกันโรคภัยในตำบลนั้น เช่น ปลูกทรพิศม์ ป้องกันไข้ทรพิษก็ดี ที่จะมียาแก้โรคไว้สำหรับตำบลก็ดี ดูแลอย่าให้ในตำบลนั้นมีสิ่งโสโครกอันเป็นเชื้อโรคก็ดี การเหล่านี้อยู่ในหน้าที่แพทย์ประจำตำบล ๆ จะต้องคิดอ่านกับแพทย์ประจำเมือง และกำนันผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นให้สำเร็จตลอดไป
ข้อ ๔ ถ้าโรคภัยร้ายกาจ เช่น อหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้ทรพิษ โรคระบาดปศุสัตว์ เกิดขึ้นในตำบลนั้น แพทย์ประจำตำบลต้องรีบรายงานยังกรมการอำเภอ ให้ทราบโดยทันที และต่อไปเนือง ๆ จนกว่าจะสงบโรค
มาตรา ๔๙ แพทย์ประจำตำบลมีสังกัดขึ้นอยู่ในแพทย์ประจำเมือง แพทย์ประจำเมืองมีหน้าที่จะต้องตรวจตราแนะนำการงานในหน้าที่แพทย์ประจำตำบลในเมืองนั้นทั่วไป
ตอน ๕
การประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการตำบล กรรมการหมู่บ้าน
แพทย์ประจำตำบล และวินัยของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล
และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน[๔๓]
มาตรา ๕๐ เมื่อกำนันเห็นว่ามีการอันใดเนื่องในการรักษาความปกติเรียบร้อยในตำบลสมควรจะปรึกษาหารือกันในระหว่างกำนันผู้ใหญ่บ้านทั้งปวง และแพทย์ประจำตำบล กำนันก็มีอำนาจที่จะเรียกมาประชุมปรึกษาหารือกัน และให้เอาเสียงที่เห็นพร้อมกันโดยมากเป็นที่ชี้ขาดตกลงในการที่ปรึกษาหารือกันนั้น
มาตรา ๕๑[๔๔] ให้กำนันเรียกผู้ใหญ่บ้านและแพทย์ประจำตำบลมาประชุมเพื่อปรึกษาหารือการที่จะรักษาหน้าที่ในตำบลให้เรียบร้อย ไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง
ให้ผู้ใหญ่บ้านเรียกประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านตามครั้งคราวที่เห็นสมควรหรือเมื่อกรรมการมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งร้องขอให้มีการประชุม แต่เมื่อรวมปีหนึ่งจะต้องมีการประชุมไม่น้อยกว่าหกครั้ง
ให้กำนันเรียกประชุมคณะกรรมการตำบลไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง
มาตรา ๕๒ ถ้ามีเหตุสงสัยว่าผู้ใดในตำบลนั้น แสดงความอาฆาตมาดร้ายแก่ผู้อื่นก็ดี หรือเป็นคนจรจัดไม่ปรากฏการทำมาหาเลี้ยงชีพ และไม่สามารถจะชี้แจงความบริสุทธิ์ของตนได้ก็ดี ให้กำนันเรียกประชุมผู้ใหญ่บ้านสืบสวน ถ้ามีหลักฐานควรเชื่อว่าเป็นความจริง ก็ให้เอาตัวผู้นั้นส่งกรมการอำเภอไปฟ้องร้องเอาโทษตามมาตรา ๓๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๕๓ เมื่อมีผู้ใหญ่บ้านนำคนจรแปลกหน้านอกสำมะโนครัวตำบลมาส่งกำนันตามความในมาตรา ๒๗ ข้อ ๖ ให้กำนันปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่บ้าน เมื่อเห็นสมควรจะขับไล่คนผู้นั้นออกไปเสียจากท้องที่ตำบลนั้นก็ได้
มาตรา ๕๔ ถ้าลูกบ้านผู้ใดไปตั้งทับกระท่อมหรือเรือนโรงอยู่ในที่เปลี่ยวในตำบลนั้น ซึ่งน่ากลัวจะเป็นอันตรายด้วยโจรผู้ร้ายหรือน่าสงสัยว่าจะเป็นสำนักโจรผู้ร้าย การอย่างนี้ให้กำนันกับผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นประชุมปรึกษากันดู เมื่อเห็นเป็นการสมควรแล้วจะบังคับให้ลูกบ้านคนนั้นย้ายเข้ามาอยู่เสียในหมู่บ้านราษฎรก็ได้ และให้นำความแจ้งต่อกรมการอำเภอด้วย
มาตรา ๕๕ ถ้าราษฎรคนใดทิ้งให้บ้านเรือนชำรุดรุงรัง หรือปล่อยให้โสโครกโสมมอาจจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ผู้อยู่ในที่นั้นหรือผู้ที่อยู่ใกล้เคียงกัน หรือผู้ที่ไปมา หรือให้เกิดอัคคีภัยหรือโรคภัย ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านและแพทย์ประจำตำบลปรึกษากัน ถ้าเห็นควรจะบังคับให้ผู้ที่อยู่ในที่นั้นแก้ไขเสียให้ดี ก็บังคับได้ ถ้าผู้นั้นไม่ทำตามบังคับ ก็ให้กำนันนำความร้องเรียนต่อกรมการอำเภอ
มาตรา ๕๖ ในเวลาใดจะมีอันตรายแก่การทำมาหากินของลูกบ้านในตำบลนั้น เช่น มีเหตุโรคภัยไข้เจ็บติดต่อเกิดขึ้น หรือน้ำมากหรือน้ำน้อยเกินไปเป็นต้น ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านและแพทย์ประจำตำบลปรึกษาหารือกันในการที่จะป้องกันแก้ไขเยียวยาภยันตรายด้วยอาการที่แนะนำลูกบ้านให้ทำอย่างใด หรือลงแรงช่วยกันได้ประการใด กำนันมีอำนาจที่จะบังคับการนั้นได้ ถ้าเห็นเป็นการเหลือกำลังให้ร้องเรียนต่อกรมการอำเภอ และผู้ว่าราชการเมืองขอกำลังรัฐบาลช่วย
มาตรา ๕๗ ในการที่จะสำรวจสำมะโนครัวและทะเบียนบัญชีต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในราชการ เช่นการที่จะสำรวจสำมะโนครัวและทำบัญชีไร่นา และสิ่งของต้องพิกัดภาษีอากรในตำบลนั้น กำนันจะเรียกผู้ใหญ่บ้านทั้งปวงประชุมตรวจทำบัญชีให้ถูกต้อง และให้ลงชื่อพร้อมกันเป็นพยานในบัญชีที่จะยื่นต่อเจ้าพนักงานก็ได้
มาตรา ๕๘ ในการที่จะทำรายงานประจำหรือรายงานจรอย่างใด ๆ ยื่นต่อกรมการอำเภอ กำนันจะเรียกประชุมผู้ใหญ่บ้านและแพทย์ประจำตำบลในตำบลนั้นพร้อมกันตรวจสอบก่อน และจะให้ลงชื่อเป็นพยานในรายงานนั้นก็ได้
มาตรา ๕๙ ในเวลาที่ผู้ว่าราชการเมือง หรือกรมการอำเภอ มีหมายให้ประกาศข้อราชการอันใดแก่ราษฎร กำนันจะเรียกประชุมผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นพร้อมกันชี้แจงให้เป็นที่เข้าใจข้อราชการอันนั้นแล้วให้รับข้อราชการไปประกาศแก่ราษฎรอีกชั้นหนึ่งก็ได้
มาตรา ๖๐ ในเวลาใดมีการนักขัตฤกษ์ หรือประชุมชนเป็นการใหญ่ในตำบลนั้น กำนันจะเรียกผู้ใหญ่บ้านและแพทย์ประจำตำบลพร้อมกันมาช่วยพิทักษ์รักษาความเรียบร้อยในที่อันนั้น ถ้าและเห็นเป็นการจำเป็นแล้ว จะขอแรงราษฎรมาช่วยด้วยก็ได้
มาตรา ๖๑ เวลาข้าราชการผู้ใหญ่หรือผู้บังคับบัญชาโดยตรงมาตรวจราชการในท้องที่ กำนันจะเรียกผู้ใหญ่บ้านและแพทย์ในตำบลประชุมพร้อมกันเพื่อแจ้งข้อราชการ หรือฟังราชการก็ได้
มาตรา ๖๑ ทวิ[๔๕] กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลต้องรักษาวินัยโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดต้องได้รับโทษ
วินัยและโทษผิดวินัยให้ใช้กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนโดยอนุโลม
อำนาจการลงโทษ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลให้เป็นไปดังนี้
(๑) กำนันมีอำนาจลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ใหญ่บ้าน
(๒) นายอำเภอมีอำนาจลงโทษกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลดังนี้
(ก) ลดอันดับเงินเดือนไม่เกินหนึ่งอันดับ
(ข) ตัดเงินเดือน โดยเทียบในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นหัวหน้าแผนกกับผู้กระทำผิดชั้นเสมียนพนักงาน ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
(ค) ลงโทษภาคทัณฑ์
เมื่อกำนันผู้ใหญ่บ้านคนใดถูกฟ้องในคดีอาญา เว้นแต่คดีความผิดในลักษณะฐานลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือมีกรณีที่ต้องหาว่าทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถูกสอบสวนเพื่อไล่ออกหรือปลดออก ถ้านายอำเภอเห็นว่าจะคงให้อยู่ในตำแหน่งจะเป็นการเสียหายแก่ราชการจะสั่งให้พักหน้าที่ก็ได้ แล้วรายงานให้ข้าหลวงประจำจังหวัดทราบการสั่งให้กลับเข้ารับหน้าที่ตลอดถึงการวินิจฉัยว่าจะควรจ่ายเงินเดือนระหว่างพักให้เพียงใดหรือไม่ ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาสั่ง อนุโลมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
(๓) ข้าหลวงประจำจังหวัดมีอำนาจลงโทษ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและแพทย์ประจำตำบลในทุกสถาน ในกรณีการลดอันดับและตัดเงินเดือน ให้เทียบข้าหลวงประจำจังหวัดในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นหัวหน้ากอง และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบลเป็นชั้นเสมียนพนักงานตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
โดยเฉพาะโทษปลด หรือไล่ออก ถ้ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านและแพทย์ประจำตำบลผู้ถูกลงโทษเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็มีสิทธิ์ร้องทุกข์ต่อกระทรวงมหาดไทย
การร้องทุกข์ให้ทำคำร้องลงลายมือชื่อยื่นต่อนายอำเภอภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันได้ทราบคำสั่งการลงโทษเพื่อนายอำเภอจักได้เสนอต่อไปยังข้าหลวงประจำจังหวัดและกระทรวงมหาดไทยตามลำดับ ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ พร้อมด้วยคำชี้แจง ถ้าจะพึงมี ให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจสั่งให้ยกคำร้องทุกข์หรือเพิกถอนคำสั่งการลงโทษหรือลดโทษ
มาตรา ๖๑ ตรี[๔๖] ให้นำความในมาตรา ๖๑ ทวิ เฉพาะที่เกี่ยวกับผู้ใหญ่บ้านมาใช้บังคับแก่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบโดยอนุโลม
หมวดที่ ๕
ว่าด้วยลักษณะปกครองอำเภอ
ตอน ๑
การตั้งอำเภอและกิ่งอำเภอ
มาตรา ๖๒ ท้องที่หลายตำบลอันสมควรอยู่ในความปกครองอันเดียวกันได้ ให้จัดเป็นอำเภอ ๑
มาตรา ๖๓ ลักษณะการตั้งอำเภอ ให้สมุหเทศาภิบาลจัดการดังนี้ คือ
ข้อ ๑ ให้กำหนดเขตท้องที่อำเภอ มีเครื่องหมายและจรดเขตอำเภออื่นทุกด้าน อย่าให้มีที่ว่างเปล่าอยู่นอกเขตอำเภอ
ข้อ ๒ ให้กำหนดจำนวนตำบลที่รวมเข้าเป็นอำเภอและให้กำหนดเขตตำบลให้ตรงกับเขตอำเภอ ถ้ามีที่ว่างเปล่า เช่น ทุ่งหรือป่าเป็นต้นอยู่ใกล้เคียงท้องที่อำเภอใด หรือจะตรวจตราปกครองได้สะดวกจากอำเภอใด ก็ให้สมุหเทศาภิบาลกำหนดที่ว่างนั้นเป็นที่ฝากในอำเภอนั้น
ข้อ ๓ ให้กำหนดที่ตั้งที่ว่าการอำเภอให้อยู่ในที่ซึ่งจะทำการปกครองราษฎรในอำเภอนั้นได้สะดวก
ข้อ ๔ ให้สมุหเทศาภิบาลบอกข้อกำหนดเหล่านี้เข้ามายังเสนาบดีในเวลาที่จะจัดตั้งอำเภอใหม่ เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงประกาศตั้งอำเภอได้
มาตรา ๖๔ อำเภอใดท้องที่กว้างขวางกรมการอำเภอจะไปตรวจตราให้ตลอดท้องที่ได้โดยยาก แต่หากในท้องที่นั้นผู้คนไม่มากมายพอแก่จะตั้งขึ้นเป็นอำเภอ ๑ ต่างหากก็ดี หรือในท้องที่อำเภอใดมีที่ประชุมชนมากอยู่ห่างไกลจากที่ว่าการอำเภอ กรมการอำเภอจะไปตรวจการไม่ได้ดังสมควร แต่จะตั้งที่ประชุมแห่งนั้นขึ้นเป็นอำเภอต่างหาก ท้องที่จะเล็กไปก็ดี ถ้าความขัดข้องในการปกครองมีขึ้นอย่างใดดังว่ามานี้ จะแบ่งท้องที่นั้นออกเป็นกิ่งอำเภอเพื่อให้สะดวกแก่การปกครองก็ได้ ให้พึงเข้าใจว่าการที่ตั้งกิ่งอำเภอนั้น ให้ตั้งต่อเมื่อมีความจำเป็นในการปกครอง อำเภอ ๑ จะมีกิ่งอำเภอเดียวหรือหลายกิ่งอำเภอก็ได้
มาตรา ๖๕ การจัดตั้งกิ่งอำเภอใด ก็เสมอตั้งที่ว่าการอำเภอนั้นเองขึ้นอีกแห่ง ๑ เพื่อความสะดวกแก่การปกครอง การที่จะกำหนดจะต้องกำหนดแต่ว่าตำบลใดๆ บ้าง ที่จะต้องอยู่ในปกครองของกิ่งอำเภอ เมื่อสมุหเทศาภิบาลได้รับอนุญาตของเสนาบดีแล้ว ก็จัดตั้งกิ่งอำเภอได้
ตอน ๒
การจัดตั้งกรมการอำเภอ
มาตรา ๖๖ อำเภอ ๑ ให้มีพนักงานปกครองคณะ ๑ เรียกรวมกันว่า กรมการอำเภอ ๆ แยกเป็นรายตำแหน่ง ดังนี้ คือ
(๑) นายอำเภอ หรือถ้าเป็นตำแหน่งพิเศษ เรียกว่าผู้ว่าราชการอำเภอ เป็นหัวหน้าการปกครองทั่วไปในอำเภอ และขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการเมือง มีอำเภอละคน ๑
(๒) ปลัดอำเภอเป็นผู้ช่วยและผู้แทนนายอำเภออยู่ในบังคับนายอำเภอ อำเภอ ๑ มีจำนวนปลัดอำเภอมากน้อยตามสมควรแก่ราชการ
(๓) สมุห์บัญชีอำเภอ คือ ข้าราชการมีสังกัดในกรมสรรพากรมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายอำเภอในการเก็บภาษีอากรและผลประโยชน์แผ่นดินอยู่ในบังคับนายอำเภอ
มาตรา ๖๗ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ สมุห์บัญชีซึ่งรวมเรียกกันว่ากรมการอำเภอนี้ แม้มีตำแหน่งต่างกันย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบรวมกันในการที่จะให้การปกครองอำเภอนั้นเรียบร้อย และเมื่อตำแหน่งใดการมากเหลือมือ หรือว่าว่างพนักงานกรมการอำเภอ แม้อยู่ในตำแหน่งอื่น ต้องช่วยและต้องทำแทนกัน จะถือว่าเป็นพนักงานต่างกันนั้นไม่ได้
มาตรา ๖๘ นายอำเภอมีอำนาจในส่วนธุรการฝ่ายพลเรือนเหนือข้าราชการทุกแผนกที่ประจำรักษาราชการในอำเภอนั้น อำนาจที่ว่านี้ไม่มีแก่อำเภอที่ตั้งที่ว่าการเมือง หรือที่ว่าการมณฑล
มาตรา ๖๙[๔๗] ในอำเภอหนึ่ง นอกจากมีกรมการอำเภอให้มีตำแหน่งเสมียนพนักงานอยู่ในบังคับบัญชากรมการอำเภออีกมากน้อยตามสมควรแก่ราชการ กับมีปลัดอำเภอประจำตำบลซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและแพทย์ประจำตำบลในตำบลนั้น
ปลัดอำเภอประจำตำบลมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับกรมการอำเภอซึ่งมีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ แต่รับผิดชอบในกิจการเฉพาะตำบลที่ตนมีหน้าที่ประจำอยู่
มาตรา ๗๐ พนักงานปกครองกิ่งอำเภอ จะมีกรมการอำเภอรองแต่นายอำเภอตำแหน่งใดอยู่ประจำการ และจะมีเสมียนพนักงานอยู่ประจำทำการที่กิ่งอำเภอเท่าใด ทั้งนี้แล้วแต่จะสมควรแก่ราชการ แต่ผู้ที่เป็นใหญ่อยู่ประจำทำการที่กิ่งอำเภอต้องอยู่ในบังคับนายอำเภอ และทำการในหน้าที่ในเวลาที่นายอำเภอมิได้มาอยู่ที่กิ่งอำเภอเหมือนเป็นผู้แทนนายอำเภอฉะนั้น
มาตรา ๗๑ อำเภอใดมีกิ่งอำเภอ การอย่างใดจะแยกเป็นส่วนไปสำหรับกิ่งอำเภอ และการอย่างใดควรรวมทำแต่ในที่ว่าการอำเภอแห่งเดียว ทั้งนี้ผู้ว่าราชการเมืองมีอำนาจที่จะกำหนดได้โดยอนุมัติของสมุหเทศาภิบาล
มาตรา ๗๒ การเลือกตั้งย้ายถอนนายอำเภอ ให้สมุหเทศาภิบาลมีอำนาจที่จะกระทำได้ โดยอนุมัติของเสนาบดี
มาตรา ๗๓ การเลือกตั้งย้ายถอนปลัดอำเภอสมุหบัญชีอำเภอ ให้ผู้ว่าราชการเมืองมีอำนาจที่จะทำได้ โดยอนุมัติของสมุหเทศาภิบาล สมุหเทศาภิบาลต้องบอกเข้ามายังเสนาบดีให้ทราบจงด้วยทุกคราว
มาตรา ๗๔ การเลือกตั้งย้ายถอนเสมียนพนักงานในอำเภอ ให้ผู้ว่าราชการเมืองมีอำนาจที่จะทำได้ ต้องบอกให้สมุหเทศาภิบาลทราบด้วยจงทุกคราว
มาตรา ๗๕ เวลาตำแหน่งปลัดอำเภอ หรือสมุหบัญชีอำเภอว่าง ให้นายอำเภอมีอำนาจที่จะจัดผู้หนึ่งผู้ใดในขณะกรมการอำเภอ หรือเสมียนพนักงานคนหนึ่งคนใดเข้าทำการในตำแหน่งนั้น ๆ ได้ชั่วคราว แต่ต้องรีบบอกไปยังผู้ว่าราชการเมือง และให้ผู้นั้นทำการในตำแหน่งนั้นไปกว่าจะได้รับคำสั่งจากพนักงานผู้ใหญ่ให้เป็นประการใด
เวลาตำแหน่งเสมียนพนักงานในอำเภอว่าง ให้นายอำเภอมีอำนาจที่จะจัดคนเข้าทำการในตำแหน่งนั้น ๆ ได้ชั่วคราว แต่ต้องบอกขออนุมัติของผู้ว่าราชการเมืองภายในเดือน ๑ แล้วแต่ผู้ว่าราชการเมืองจะตั้งผู้นั้นหรือผู้อื่นให้เป็นแทนในตำแหน่งที่ว่าง
มาตรา ๗๖ บรรดาข้าราชการซึ่งมีสังกัดทำราชการอยู่ในที่ว่าการอำเภอ นายอำเภอมีอำนาจที่จะให้ลาได้คราวละไม่เกิน ๑๕ วัน
มาตรา ๗๗ ถ้าและผู้ใดมีเหตุอันนายอำเภอเห็นว่าจะให้ทำราชการอยู่ในตำแหน่งจะเสียราชการ นายอำเภอจะให้ผู้นั้นพักราชการเสียชั่วคราวก็ได้ แต่ในการที่สั่งให้พักราชการนี้ ต้องบอกให้ผู้ว่าราชการเมืองทราบภายใน ๑๕ วัน คำตัดสินเป็นเด็ดขาดในเรื่องนั้นให้เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจที่จะตั้งตำแหน่งที่เกิดเหตุนั้น
มาตรา ๗๘ ให้มีดวงตราประจำตำแหน่งนายอำเภอ และดวงตราสำหรับนายกิ่งอำเภอ สำหรับประทับกำกับลายมือที่ลงชื่อในหนังสือสำคัญต่าง ๆ บรรดาหนังสือที่ทำในนามและหน้าที่กรมการอำเภอ ห้ามมิให้ใช้ตราอื่นประทับ และตราประจำตำแหน่งนี้ในเวลาผู้ใดทำการแทนหรือรั้งตำแหน่งนั้นก็ให้ใช้ได้
มาตรา ๗๙ ในเวลาตำแหน่งนายอำเภอว่างก็ดี หรือนายอำเภอจะทำการในหน้าที่ไม่ได้ชั่วคราวก็ดี ถ้าและสมุหเทศาภิบาลหรือผู้ว่าราชการเมืองมิได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่นแล้ว ให้กรมการอำเภอซึ่งมียศสูงกว่าผู้อื่นเป็นผู้แทน
มาตรา ๘๐ ผู้แทนมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งที่แทนนั้นทุกอย่าง เว้นไว้แต่อำนาจอันเป็นส่วนบุคคล หรือที่มีข้อห้ามไว้ โดยเฉพาะมิให้ผู้แทนทำได้
มาตรา ๘๑ หน้าที่กรมการอำเภอที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ก็ดี หรือในที่อื่นก็ดี ถ้ามิได้ระบุว่าเป็นหน้าที่เฉพาะนายอำเภอ หรือเฉพาะตำแหน่งใดในกรมการอำเภอไซร้ ให้พึงเข้าใจว่าเป็นหน้าที่และรับผิดชอบรวมกัน นายอำเภอเป็นหัวหน้าจะทำการนั้นเอง หรือจะมอบหมายให้กรมการอำเภอคนใดทำโดยอนุมัติของนายอำเภอก็ได้ แต่นายอำเภอจะหลีกความรับผิดชอบในการทั้งปวง เพราะเหตุที่อ้างว่าได้ให้ผู้อื่นทำแทนนั้นไม่ได้
มาตรา ๘๒ ในการที่จะฟังบังคับบัญชาราชการทั่วไป กรมการอำเภออยู่ในบังคับบัญชาผู้ว่าราชการเมืองโดยตรง จะลบล้างคำสั่งผู้ว่าราชการเมืองได้ แต่ผู้สำเร็จราชการมณฑลหรือเสนาบดีเจ้ากระทรวงในกรุงเทพฯ ผู้บัญชาการนั้น ๆ แต่การโดยปกติซึ่งย่อมมีข้าราชการเป็นเจ้าแผนกจากเมืองหรือมณฑลไปตรวจการเฉพาะแผนกในที่ว่าการอำเภอ ถ้าและผู้ตรวจนั้นกระทำการตามคำสั่งและรับอำนาจไปจากผู้ว่าราชการเมืองหรือผู้สำเร็จราชการมณฑลหรือเจ้ากระทรวง กรมการอำเภอต้องเชื่อฟังเหมือนคำสั่งผู้ว่าราชการเมืองผู้สำเร็จราชการมณฑลและเจ้ากระทรวงที่ใช้มานั้น ถ้าหากว่าผู้ตรวจการนั้นมาโดยลำพังหน้าที่ของตน จะสั่งให้จัดการในแผนกนั้น ๆ ประการใดกรมการอำเภอควรทำตาม ต่อเมื่อคำสั่งไม่ขัดกับคำสั่งผู้ว่าราชการเมืองและนายอำเภอเห็นชอบด้วย ถ้ามีเจ้าพนักงานมาสั่งการประการใด ๆ กรมการอำเภอต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการเมืองทราบด้วยจงทุกคราว
ตอน ๓
หน้าที่และอำนาจของกรมการอำเภอ
ก. การปกครองท้องที่
มาตรา ๘๓ กรมการอำเภอต้องตรวจตราและจัดการปกครองตำบลและหมู่บ้านให้เป็นไปได้จริงดังพระราชบัญญัตินี้
นอกจากอำนาจหน้าที่ที่กล่าวโดยเฉพาะให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการอำเภอ ให้กรมการอำเภอมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านด้วย[๔๘]
มาตรา ๘๔ กรมการอำเภอต้องเอาใจใส่สมาคมให้คุ้นเคยกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบลเป็นที่ปรึกษาหารือ และเป็นผู้รับช่วยแก้ไขความขัดข้องให้แก่เขา
มาตรา ๘๕ ให้กรมการอำเภอเรียกประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านแพทย์ประจำตำบลพร้อมกัน หรือเรียกประชุมแต่เฉพาะตำแหน่งมีประชุมกำนัน เป็นต้น ในเวลามีการจะต้องปรึกษาหรือต้องถามต้องสั่งตามสมควร
มาตรา ๘๖ กรมการอำเภอรับผิดชอบที่จะรักษาสถานที่ว่าการอำเภอสรรพหนังสือและบัญชีตลอดจนบริเวณที่ว่าการอำเภอให้เรียบร้อย
มาตรา ๘๗ กรมการอำเภอต้องให้ราษฎรที่มีกิจธุระหาได้ทุกเมื่อ ถ้าราษฎรมาร้องทุกข์อย่างใด ซึ่งกรมการอำเภอควรช่วยได้ ต้องช่วยตามสมควร
มาตรา ๘๘ กรมการอำเภอต้องหมั่นตรวจท้องที่ในเขตอำเภอของตน และท้องที่อำเภออื่นที่ติดต่อกันให้รู้ความเป็นไปในท้องที่นั้น ๆ
มาตรา ๘๙ บรรดาหนังสือสำคัญที่ต้องทำตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายและข้อบังคับมิได้ระบุไว้ว่าเป็นหน้าที่ของพนักงานอื่นทำแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะทำสำหรับการในอำเภอนั้น
มาตรา ๙๐ กรมการอำเภอเป็นพนักงานทำหนังสือเดินทางสำหรับราษฎรในท้องที่อำเภอนั้นจะไปมาค้าขายในที่อื่น
มาตรา ๙๑ หน้าที่ของกรมการอำเภอในการทำทะเบียนบัญชีนั้น คือบัญชีสำมะโนครัว และทะเบียนทุก ๆ อย่าง บรรดาที่ต้องการใช้ในราชการ
มาตรา ๙๒ รายงานราชการที่กรมการอำเภอจะต้องทำนั้นจำแนกเป็นกิจต่าง ๆ ดังนี้คือ
ข้อ ๑ กรมการอำเภอเป็นหูเป็นตาของรัฐบาลต้องเอาใจใส่ตรวจตราสืบสวนความทุกข์สุขของราษฎร และเหตุการณ์ที่เกิดมีในท้องที่ของตน การอันใดที่รัฐบาลควรรู้เพื่อความสุขของราษฎรและประโยชน์ของราชการ กรมการอำเภอต้องถือเป็นหน้าที่ ๆ จะรายงานให้รัฐบาลทราบความตามที่เป็นจริง
ข้อ ๒ โดยปกติให้กรมการอำเภอรายงาน ต่อผู้ว่าราชการเมืองของตน แต่ถ้ามีคำสั่งโดยเฉพาะว่าให้รายงานการอย่างใดต่อผู้ใดก็ดีหรือว่าเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้น กรมการอำเภอเห็นว่าจะรายงานต่อผู้ว่าราชการเมืองของตนก่อนจะไม่ทันประโยชน์ของราชการจะรายงานไปยังที่แห่งนั้น ๆ ซึ่งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างดีแก่ราชการก็ได้แต่ต้องบอกให้ผู้ว่าราชการเมืองของตนทราบจงทุกคราว
ข้อ ๓ รายงานประจำบอกเหตุการณ์ และข้อราชการบรรดามีในอำเภอ ควรยื่นต่อผู้ว่าราชการเมืองไม่น้อยกว่าเดือนละครั้ง ๑ รายงานการจรนั้นแล้วแต่กำหนดในข้อบังคับ หรือเหตุการณ์อันควรรายงาน ส่วนรายงานด่วนบอกเหตุสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจุบันทันด่วนเกิดขึ้นนั้น ต้องรีบรายงานทันที และส่งโดยโทรเลข หรือโทรศัพท์อย่างเร็วที่สุดที่จะส่งได้
ข. การป้องกันภยันตรายของราษฎร และรักษาความสงบในท้องที่
มาตรา ๙๓ เวลามีการประชุมมากในที่ใด เช่น ในเวลามีการนักขัตฤกษ์เป็นต้น กรมการอำเภอกับกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลนั้นต้องจัดการรักษาความเรียบร้อยในที่ประชุมชน
มาตรา ๙๔ กรมการอำเภอต้องคอยตรวจตราตักเตือนกำนันผู้ใหญ่บ้านให้มีเครื่องหมายสัญญาเรียกลูกบ้านช่วยกันดับไฟ หรือระงับเหตุภยันตรายอย่างอื่น หรือจับโจรผู้ร้ายทุกหมู่บ้าน
มาตรา ๙๕ เมื่อกรมการอำเภอได้ปรึกษากำนันผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้นแล้ว เห็นว่าหมู่บ้านใดอยู่ในที่ซึ่งสมควรจะจัดการล้อมรั้วป้องกันโจรได้ ให้กรมการอำเภอนำเสนอต่อผู้ว่าราชการเมือง เมื่อผู้ว่าราชการเมืองเห็นชอบด้วยแล้ว ก็ให้กรมการอำเภอชี้แจงและสั่งผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรในหมู่บ้านนั้นทำรั้วล้อมรอบหมู่บ้าน มีประตูเป็นทางเข้าออกกี่แห่งแล้วแต่ชาวบ้านนั้นจะเห็นสมควร เวลากลางคืนให้ผู้ใหญ่บ้านจัดราษฎรผลัดเปลี่ยนกันรักษาประตูป้องกันโจรผู้ร้ายให้ทั้งหมู่บ้าน
มาตรา ๙๖ หมู่บ้านใดตั้งอยู่ใกล้ป่าพงอันเป็นเชื้อไฟ เมื่อถึงฤดูพงแห้งให้กรมการอำเภอสั่งราษฎรในหมู่บ้านนั้น ให้ช่วยกันถางพงให้เตียนออกไปห่างบ้านเรือน ป้องกันอย่าให้เป็นอัคคีภัยแก่หมู่บ้านนั้น
มาตรา ๙๗ เมื่อกำนันตำบลรายงานมาว่าเจ้าของหรือผู้ที่อยู่ในเหย้าเรือนแห่งใดที่ร้างหรือทรุดโทรม ไม่กระทำการตามคำสั่งให้จัดการซ่อมแซมรักษาเรือนนั้น ให้ดีตามความที่กล่าวไว้ในมาตรา ๕๕ ให้กรมการอำเภอไต่สวนและบังคับตามควรแก่การ ถ้าไม่ทำตามบังคับให้กรมการอำเภอมีอำนาจรื้อเรือนนั้นได้ และเรียกเอาค่ารื้อแก่เจ้าของ
มาตรา ๙๘ ราษฎรผู้ใดไปปลูกเรือนในที่เปลี่ยว อันน่ากลัวอันตรายด้วยโจรผู้ร้ายก็ดี หรือน่ากลัวจะเป็นที่ซ่อนของโจรผู้ร้ายก็ดี เมื่อกรมการอำเภอได้ปรึกษากับกำนันในท้องที่นั้นเห็นด้วยกันแล้ว ก็ให้บังคับให้ผู้นั้นย้ายเข้ามาอยู่เสียในหมู่บ้าน
มาตรา ๙๙ ในเวลาอัตคัดอาหาร ให้กรมการอำเภอประกาศตักเตือนราษฎรให้เก็บรักษาเข้าไว้ให้พอบริโภค
มาตรา ๑๐๐ ถ้าแห่งใดข้าวไม่พอแก่ราษฎรในเวลาอัตคัด ให้กรมการอำเภอรีบรายงาน และกะประมาณจำนวนข้าวที่ขาด อันราษฎรจะไม่พึงขวนขวายหาเองได้ แจ้งต่อผู้ว่าราชการเมือง ถ้าและรัฐบาลจัดส่งข้าวหลวงมาแก่อัตคัดไซร้ เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะจัดการจำหน่ายข้าวตามวิธีที่สมควร คือ
(๑) ผู้ใดมีทุนพอซื้อ ให้ผู้นั้นซื้อได้เท่าราคาทุน
(๒) ผู้ใดทำนาไว้ยังไม่ได้ผล ให้ผู้นั้นยืมโดยสัญญาส่งเงินเมื่อขายข้าวใหม่ได้เท่าราคาทุนที่รับข้าวไปในเวลานั้น หรือใช้ด้วยข้าวใหม่เมื่อทำได้ คิดตามราคาข้าวใหม่นั้นเท่าทุนที่รัฐบาลให้ยืมไป
(๓) ผู้ใดทำการเพาะปลูก หรือหาสินค้าป่าอันอาจจะหาสินค้ามาแลกข้าวได้ ก็ยอมรับสินค้าจากผู้นั้น แลกข้าวโดยคิดราคาตามสมควรและพอใจทั้ง ๒ ฝ่าย
(๔) ผู้ใดอาจจะทำการได้แต่ด้วยแรง ก็หางานอันประกอบด้วยสาธารณประโยชน์ เช่น ขุดสระน้ำ ทำถนนหรือซ่อมแซมสถานที่ทำราชการเป็นต้น ให้ผู้นั้นรับจ้างทำคิดข้าวให้ตามราคาทุนเป็นค่าจ้าง โดยอัตราสูงกว่าที่เขาจ้างกันทำการในที่นั้น ๑ ใน ๔ ส่วน คือ ถ้าอัตราค่าจ้างเขาจ้างกันโดยปกติวันละบาท ๑ ให้ให้ข้าวเท่าราคาวันละ ๑ บาท ๒๕ สตางค์ เป็นต้น
(๕) ห้ามมิให้ ๆ ข้าวแก่ผู้ที่ยังสามารถกระทำการแลกได้ด้วยประการใด ๆ แต่ผู้ซึ่งไม่สามารถกระทำการแลกได้จริง ๆ เช่น คนเจ็บไข้ ชรา ทุพลภาพ หรือทารกนั้น ควรให้ได้รับข้าวของหลวงพอสมควรแต่ที่จะเลี้ยงชีวิตในเวลาอัตคัดนั้น
ข. การที่เกี่ยวด้วยความแพ่งและความอาญา
มาตรา ๑๐๑ หน้าที่และอำนาจของกรรมการอำเภอในการที่เกี่ยวด้วยความอาญานั้น มีดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ บรรดาอำนาจซึ่งกฎหมายกำหนดไว้สำหรับผู้ใหญ่บ้านและกำนันนั้น ให้กรรมการอำเภอใช้ได้ทุกอย่าง
ข้อ ๒ ความอาญาเกิดขึ้นในท้องที่อำเภอใด หรือตัวจำเลยมาอาศัยอยู่ในท้องที่อำเภอใด ให้กรมการอำเภอมีอำนาจที่จะสั่งให้จับผู้ต้องหามาไต่สวนคดีเรื่องนั้นในชั้นต้น
ข้อ ๓ ในการไต่สวนในชั้นต้นก็ดี หรือจัดการตามหมายอย่างใด ๆ หรือตามคำสั่งของศาล หรือคำสั่งในทางราชการอย่างใด ๆ ก็ดี ให้กรมการอำเภอมีอำนาจที่จะออกหมายเรียกตัวคนมาสาบานให้การเป็นพยานหมายค้นบ้านเรือน หรือหมายยึดสิ่งของได้
ข้อ ๔ ในการค้นบ้านเรือน หรือยึดสิ่งของนั้น ถ้านายอำเภอไปค้น หรือยึดเองไม่ต้องมีหมาย ถ้าจะแต่งให้ผู้อื่นไปค้นหรือยึด ก็ให้นายอำเภอมีหมายสั่งเจ้าพนักงานผู้ถือหมายมีอำนาจที่จะค้นและยึดได้ตามหมาย
ข้อ ๕ ตัวผู้ต้องหาในคดีอาญา ซึ่งได้ตัวมาต่อหน้ากรมการอำเภอนั้น โดยปกตินายอำเภอควรยอมให้มีประกัน แต่ถ้านายอำเภอเห็นว่ามีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่จะกล่าวในมาตรานี้ ก็ให้เอาตัวไว้ คือ
(ก) เป็นคดีฉกรรจ์ที่ต้องด้วยโทษจำคุกตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไปอย่าง ๑ หรือ
(ข) ถ้าผู้ต้องหาหลบหนีจะจับได้ โดยยากอย่าง ๑ หรือ
(ค) เห็นได้ว่าถ้าปล่อยผู้นั้นไปจะทำให้เกิดเหตุอันตรายอย่าง ๑ หรือ
(ง) ถ้าปล่อยไปจะขัดข้องหรือลำบากแก่การไต่สวนคดีในชั้นต้นอย่าง ๑
ข้อ ๖ การไต่สวนคดีในชั้นต้นนั้น ต้องลงลายมือภายใน ๔๘ ชั่วโมง ตั้งแต่เวลาที่จับผู้ต้องหา นายอำเภอต้องรีบจัดการโดยเร็วที่จะทำได้ แล้วส่งตัวผู้ต้องหายังเมือง ให้ส่งต่อไปยังศาลซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคดีนั้น โดยวิธีที่กล่าวต่อไปนี้
ถ้าเป็นตำบลที่มีศาลซึ่งมีอำนาจ และที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ด้วยกัน ให้ส่งตัวผู้ต้องหาต่อศาลภายใน ๔๘ ชั่วโมง ตั้งแต่เวลาที่ผู้ต้องหาได้ตกมาอยู่ในความควบคุมของกรมการอำเภอ
ถ้าเป็นที่อื่น ๆ ให้ส่งตัวผู้ต้องหายังศาลโดยเร็วที่จะทำได้ และห้ามมิให้กักขังตัวไว้ที่ที่ว่าการอำเภอเกินกว่า ๔๘ ชั่วโมง โดยไม่มีเหตุจำเป็น
ถ้าเมื่อส่งผู้ต้องหาไปยังศาล นายอำเภอทำการไต่สวนคดีในชั้นต้นยังไม่สำเร็จ ก็ให้เจ้าพนักงานเมืองร้องขอต่อศาลขอผัดให้มีเวลาไต่สวนต่อไปตามสมควร
ข้อ ๗ ในการไต่สวนความอาญา ถ้านายอำเภอเห็นว่าไม่มีหลักฐานข้างฝ่ายโจทก์ ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไป ถ้าผู้ต้องหาต้องด้วยหมายสั่งจับของศาลอยู่แล้ว ก็ให้เจ้าพนักงานเมืองร้องขอต่อศาลให้สั่งปล่อยตัวผู้ต้องหา
มาตรา ๑๐๒ กรมการอำเภอต้องจัดพนักงานออกตรวจตระเวนรักษาความเรียบร้อย และคอยสืบจับโจรผู้ร้ายในท้องที่ของตน
มาตรา ๑๐๓ เมื่อมีเหตุผู้คนถูกกระทำร้ายตายลงในท้องที่อำเภอใดก็ดี ฟกช้ำหรือมีบาดแผลเจ็บป่วยสาหัสก็ดี ผู้ที่ถูกกระทำร้ายฟกช้ำ หรือมีบาดแผลมาขอให้ชันสูตรก็ดี เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะตรวจชันสูตรพลิกศพตามพระราชบัญญัติ และจดคำให้การพร้อมด้วยพยาน และทำหนังสือชันสูตรไว้เป็นหลักฐาน
มาตรา ๑๐๔ เมื่อเกิดเหตุเสียทรัพย์แก่ผู้หนึ่งผู้ใด เช่นถูกโจรภัยเป็นต้น เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะทำคำตราสินตามคำขอร้องของเจ้าทรัพย์ หรือเพื่อหลักฐานในราชการ
มาตรา ๑๐๕[๔๙] (ยกเลิก)
มาตรา ๑๐๖ ถ้ามีผู้ร้องขออายัดตัวคน หรือสิ่งของโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะรับอายัด และทำหนังสือหลักฐานในการอายัดนั้น
มาตรา ๑๐๗ เงินกลาง หรือของกลาง ในคดีที่จะต้องรักษาไว้ในอำเภอนั้น หรือจะต้องนำส่งไปยังเมือง เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะจัดการรักษาและนำส่ง
มาตรา ๑๐๘[๕๐] นายอำเภอมีอำนาจฝ่ายตุลาการ ในทางความแพ่งดังต่อไปนี้ คือ
(๑) ความแพ่งที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองหมื่นบาท ซึ่งมูลคดีเกิดขึ้นในอำเภอนั้น หรือผู้ถูกร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอนั้น ถ้าผู้ร้องมาร้องขอต่อนายอำเภอ ให้เรียกผู้ถูกร้องมาไกล่เกลี่ยและเปรียบเทียบให้แล้วต่อกัน โดยไม่ต้องไปยื่นฟ้องต่อศาล ก็ให้นายอำเภอมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ถูกร้องมาไกล่เกลี่ยและเปรียบเทียบได้
(๒) ถ้านายอำเภอเปรียบเทียบแล้ว แต่คู่กรณีไม่ตกลงกัน ก็ให้ยกเลิกคดีเรื่องนั้น ให้คู่กรณีไปยื่นฟ้องต่อศาล
(๓) ในการเปรียบเทียบความแพ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าคู่กรณีสัญญาจะยอมตกลงตามคำพยานหรือคำชี้ขาดของผู้ใด ให้นายอำเภอมีอำนาจออกหมายเรียกผู้นั้นมาให้ถ้อยคำหรือชี้ขาดให้คดีเรื่องนั้นเป็นอันระงับไปได้
(๔) ในการเปรียบเทียบความแพ่งนี้ ถ้าคู่กรณีตกลงยอมกันแล้วให้นายอำเภอจดข้อความที่ตกลงกัน และให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายกับนายอำเภอลงลายมือชื่อในใบยอมนั้น แล้วมอบให้ทั้งสองฝ่ายถือไว้ฝ่ายละฉบับ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามยอม ให้อีกฝ่ายหนึ่งนำใบยอมนั้นไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาตามยอมได้
(๕) คดีที่นายอำเภอเปรียบเทียบคู่กรณียอมกันแล้ว ให้ถือว่าเหมือนคดีที่อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดเป็นเด็ดขาด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเอาคดีนั้นกลับไปรื้อร้องฟ้องอีกไม่ได้
(๖) ในการเปรียบเทียบความแพ่ง ให้เรียกค่าธรรมเนียมดังนี้ ค่าหมายและค่าเขียนคำร้องรวมกันห้าบาท ค่าทำใบยอมสิบบาท ค่าธรรมเนียมนี้ควรเรียกเก็บจากฝ่ายที่ต้องรับผิด แต่ถ้าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายยินยอมจะช่วยกันเสียก็ให้เรียกเก็บตามยอม หากผู้จะต้องเสียค่าธรรมเนียมยากจนไม่มีเงินจะเสีย ก็ให้นายอำเภอใช้ดุลพินิจที่จะงดเก็บค่าธรรมเนียมเช่นว่านั้นได้
ค. การป้องกันโรคร้าย
มาตรา ๑๐๙ กรมการอำเภอต้องคอยระวัง อย่าให้โรคร้ายแพร่หลายไปในชุมชน ต้องคอยดูและป้องกัน หรือเมื่อโรคเกิดขึ้นก็ต้องจัดการรักษาอย่าให้ติดลุกลามมากไป
มาตรา ๑๑๐ เพราะเหตุที่โสโครกเป็นแดนเกิดของโรคร้าย คือ อหิวาตกโรค และกาฬโรคเป็นต้น กรมการอำเภอต้องคอยตรวจตราว่ากล่าวคนในท้องที่อย่าให้ทอดทิ้งหรือปล่อยให้เกิดความโสโครกอันจะเป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาชน
มาตรา ๑๑๑ กรมการอำเภอต้องเอาเป็นธุระตรวจตราอุดหนุนให้แพทย์ประจำตำบลดูแลการรักษาพยาบาล คือ การปลูกทรพิศม์ และจำหน่ายยาหลวงเป็นต้น และให้ราษฎรได้รับความป้องกัน และรักษาโรคตามสมควรแก่การที่จะเป็นได้
มาตรา ๑๑๒ ในเวลาเกิดโรคร้ายติดต่อขึ้นในอำเภอนั้น หรือในท้องที่อำเภออื่น ซึ่งอาจจะลุกลามมาถึงอำเภอนั้น ให้กรมการอำเภอประกาศตักเตือนแก่ราษฎรให้จัดการป้องกันและรักษาโรค ถ้าหากว่าจะควรจัดการป้องกันได้อย่างใด หรือว่าควรจะรีบร้องเรียนต่อผู้ใหญ่ขอกำลังอุดหนุนประการใด ก็ให้กรมการอำเภอจัดการตามสมควร
มาตรา ๑๑๓ ถ้าเกิดโรคร้ายที่ติดต่อขึ้นในอำเภอใด ให้กรมการอำเภอนั้นรีบบอกข่าวโดยทางอย่างเร็วที่สุดที่จะบอกได้ให้ผู้ใหญ่เหนือตนทราบ แล้วให้รายงานเหตุความไข้นั้นต่อไปเนื่อง ๆ จนกว่าโรคจะสงบ
ฅ. บำรุงการทำนาค้าขายป่าไม้และทางไปมาต่อกัน
มาตรา ๑๑๔ กรมการอำเภอต้องตรวจให้รู้ทำเลที่ทำมาหาเลี้ยงชีพของราษฎรในอำเภอนั้น คือ ที่นา ที่สวน ที่จับสัตว์น้ำเป็นต้น และต้องสอบสวนให้รู้ว่าที่เหล่านั้นอาศัยสายน้ำทางใด ควรทำบัญชีมีทะเบียนไว้ในที่ว่าการอำเภอ
มาตรา ๑๑๕ การบำรุงผลประโยชน์ในการหาเลี้ยงชีพของราษฎรก็ดี การป้องกันภยันตรายมิให้เกิดแก่การหาเลี้ยงชีพของราษฎรก็ดี อันต้องการความพร้อมเพรียงช่วยกันในหมู่ราษฎร ยกตัวอย่างดังบางคราวจะต้องทำทำนบปิดน้ำ บางคราวต้องระบายน้ำสำหรับการเพาะปลูก การเหล่านี้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอจะต้องเอาใจใส่คอยตรวจตราและปรึกษากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถ้ามีการสมควรจะต้องทำเพื่อให้เจริญผลประโยชน์แก่ราษฎรก็ดี หรือเพื่อป้องกันความเสียหายแก่ผลประโยชน์นั้นก็ดี ให้กรมการอำเภอเรียกราษฎรช่วยกันทำการนั้น ๆ ให้สำเร็จทันฤดูกาล
มาตรา ๑๑๖ การรักษาผลประโยชน์ในการหาเลี้ยงชีพของราษฎร เช่นการปิดน้ำ และระบายน้ำเช่นกล่าวมาในมาตราก่อนเป็นต้น ตลอดจนอย่างอื่น ๆ ถ้าหากเกิดเกี่ยงแย่งกันในประโยชน์ที่จะพึงได้ยกตัวอย่างดังเช่นชาวนาต้องการให้ปิดน้ำ ชาวเรือต้องการให้เปิดน้ำให้เรือเดินเป็นต้น ให้กรมการอำเภอเรียกกำนันประชุมปรึกษาหาวิธีที่จะรักษาประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย หรือถ้าจะให้ได้ประโยชน์ไม่ได้ทั้ง ๒ ฝ่าย ก็ให้รักษาประโยชน์ใหญ่โดยยอมทิ้งประโยชน์น้อยด้วยความจำเป็น
เมื่อเห็นด้วยกันโดยมากประการใด ก็ให้กรรมการอำเภอจัดการตามนั้น
มาตรา ๑๑๗ ห้วย คลอง และลำน้ำต่าง ๆ ย่อมเป็นของที่รัฐบาลปกปักรักษา เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอจะต้องตรวจตราอย่าให้เสีย และอย่าให้ผู้ใดทำให้เสียสาธารณประโยชน์ ถ้าจะต้องซ่อมแซมแต่งให้กรมการอำเภอเรียกราษฎรช่วยกันทำอย่างกันปิดน้ำ ฉะนั้น
มาตรา ๑๑๘ กรมการอำเภอมีหน้าที่จะต้องตรวจตราและจัดการรักษาทางบก ทางน้ำ อันเป็นทางที่ราษฎรไปมาค้าขาย ให้ไปมาโดยสะดวกตามที่จะเป็นได้ทุกฤดูการอันนี้ ถ้าจะต้องทำการซ่อมแซม หรือแก้ไขความขัดข้อง ให้กรมการอำเภอเรียกราษฎรช่วยกันทำอย่างว่ามาแล้ว
มาตรา ๑๑๙ กรมการอำเภอต้องตรวจตรารักษาป่าไม้ ซึ่งรัฐบาลหวงห้ามตามข้อบังคับการป่าไม้
มาตรา ๑๒๐ ที่ว่างซึ่งรัฐบาลอนุญาตให้ราษฎรทำการเพาะปลูกนั้น เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะต้องตรวจตราจัดการ ป้องกัน การเกี่ยงแย่ง ในระหว่างราษฎรที่ไปตั้งทำการเพาะปลูกก่อนได้รับโฉนด
มาตรา ๑๒๑ ที่น้ำอันเป็นที่รักษาพันธ์สัตว์น้ำ เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอจะตรวจตรารักษาป้องกันมิให้พืชพันธ์สัตว์น้ำสูญไป
มาตรา ๑๒๒ ที่อันเป็นสาธารณประโยชน์ คือ ที่เลี้ยงปศุสัตว์ที่จัดไว้สำหรับราษฎรไปรวมเลี้ยงด้วยกัน เป็นต้นตลอดจนถนนหนทางและที่อย่างอื่นซึ่งเป็นของกลางให้ราษฎรใช้ได้ด้วยกัน เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอจะต้องคอยตรวจตรารักษาอย่าให้ผู้ใด กีดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว
มาตรา ๑๒๓ ที่วัด หรือกุศลสถานอย่างอื่น ซึ่งเป็นของกลางสำหรับมหาชน ก็ให้อยู่ในหน้าที่กรมการอำเภอจะต้องคอยตรวจตราอุดหนุนผู้ปกปักรักษาอย่าให้ผู้ใดรุกล้ำเบียดเบียนที่อันนั้น
ฆ. บำรุงการศึกษา
มาตรา ๑๒๔ กรมการอำเภอต้องปรึกษาด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้อุปการะการศึกษาในท้องที่ มีพระภิกษุสงฆ์เป็นต้น ช่วยกันแนะนำและจัดให้มีสถานที่เล่าเรียนให้พอแก่เด็กในอำเภอนั้น
มาตรา ๑๒๕ กรมการอำเภอต้องตรวจตราปรึกษาด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้อุปการะการศึกษาในท้องที่ จัดบำรุงการสั่งสอนอย่าให้เสื่อมทราม
มาตรา ๑๒๖ กรมการอำเภอต้องคอยชี้แจงตักเตือนแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บิดามารดาและผู้ปกครองเด็กให้ส่งบุตรหลานไปเล่าเรียน
ง. การเก็บภาษีอากร
มาตรา ๑๒๗ บรรดาภาษีอากร ซึ่งมิได้มีกฎหมายหรือข้อบังคับให้พนักงานอื่นเก็บแล้ว เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะจัดการเก็บในอำเภอนั้น
มาตรา ๑๒๘ ในการเก็บภาษีอากร กรมการอำเภอต้องคอยตรวจตราเวลาเกิดอุบัติเหตุ หรือเป็นเวลาราษฎรอัตคัดขัดสนเมื่อถึงกำหนดที่จะเก็บภาษีอากรนั้นๆ ให้รู้และรายงานพร้อมทั้งความเห็นที่ควรจะจัดการผ่อนผันอย่างใด ให้ผู้ว่าราชการเมืองทราบ
มาตรา ๑๒๙ เงินหลวงที่เก็บภาษีอากรได้ก็ดี หรือที่ได้จากประเภทอื่นก็ดี ซึ่งจะต้องนำส่งพระคลัง เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะรักษาและนำส่งถึงพระคลัง
จ. หน้าที่ เบ็ดเสร็จ
มาตรา ๑๓๐ ในหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะจัดการทั้งปวงในอำเภอให้เรียบร้อยนั้น ถ้าหากว่ากรมการอำเภอเห็นวิธีการงานอย่างใดยังบกพร่อง ให้รายงานชี้แจงความเห็นต่อผู้ว่าราชการเมือง ขออนุญาตแก้ไขตามที่คิดเห็นว่าเป็นอย่างดี
มาตรา ๑๓๑ กรมการอำเภอมีหน้าที่จะต้องช่วยราชการของอำเภออื่นที่ใกล้เคียง แม้ต่างเมืองกัน และในการที่ช่วยนี้ไม่จำจะต้องรอจนอำเภอนั้นขอให้ช่วย ถ้ารู้เหตุการณ์ซึ่งเห็นว่าตนควรจะช่วยเหลือจึงจะเป็นประโยชน์แก่ราชการ ต้องช่วยเหลือทีเดียว
มาตรา ๑๓๒ หน้าที่ของกรมการอำเภอนอกจากที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่นี้ ยังต้องทำตามความซึ่งกำหนดไว้ในพระราชกำหนดกฎหมายอย่างอื่น ๆ อันกำหนดไว้ว่าเป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอ แม้พระราชกำหนดกฎหมายใดมิได้ระบุไว้ในพระราชกำหนดกฎหมายนั้นๆ ว่าเป็นหน้าที่ของผู้ใดก็ให้พึงเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะรักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินั้น ๆ
ประกาศมา ณ วันที่ ๔ กรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เป็นวันที่ ๑๓๓๒ ในรัชกาลปัจจุบันนี้
พระราชบัญญัติการเปรียบเทียบคดีอาญา พุทธศักราช ๒๔๘๑[๕๑]
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นต้นไป
มาตรา ๔ ในคดีลหุโทษ หรือคดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินสองร้อยบาท ให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจทำการสอบสวนคดีนั้น มีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๘
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖[๕๒]
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๑๘ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่มีอายุไม่เกินหกสิบปีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ให้คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่ถ้าข้าหลวงประจำจังหวัดเห็นว่าผู้ใดไม่สามารถที่จะบริหารราชการได้ ตามอำนาจหน้าที่ในพระราชบัญญัตินี้ก็ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๑๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๙[๕๓]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๕ กำนันผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป
มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐[๕๔]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๑๘ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของตำแหน่งเดิม
มาตรา ๑๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่า หน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามโจรผู้ร้ายภายในเขตหมู่บ้าน เป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของผู้ใหญ่บ้าน แต่ในปัจจุบันผู้ใหญ่บ้านยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติในด้านอื่น ๆ ตามอำนาจหน้าที่ที่มีตามกฎหมายอย่างกว้างขวางและผู้ใหญ่บ้านก็มีแต่เพียงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเท่านั้นที่มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านในกิจการต่าง ๆ ตามที่ผู้ใหญ่บ้านจะมอบหมายให้ ผู้ใหญ่บ้านยังไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามโจรผู้ร้ายโดยตรง จึงทำให้การปฏิบัติหน้าที่ในด้านรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามโจรผู้ร้ายยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จึงเห็นสมควรกำหนดให้มี “ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามโจรผู้ร้าย และเพื่อให้เห็นความแตกต่างกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปัจจุบัน จึงได้เปลี่ยนชื่อผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองโดยให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านร่วมกันพิจารณาคัดเลือกได้ไม่เกิน ๕ คน นอกจากนี้ กรรมการหมู่บ้านและกรรมการตำบลตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ยังไม่เป็นการเหมาะสมและไม่สามารถที่จะปฏิบัติงานซึ่งเพิ่มเติมขึ้นอย่างรวดเร็วของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมควรจะได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไข
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๒ ลงวันที่ ๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๕[๕๕]
โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบก็ดี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองก็ดี ต่างเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในระดับหมู่บ้านด้วยกัน โดยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบได้รับเงินตอบแทน แต่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองหาได้รับไม่ ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่เพื่อให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้รับเงินตอบแทนตามสมควรด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ข้อ ๓ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๖๔ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕[๕๖]
โดยที่คณะปฏิวัติเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติและการพ้นจากตำแหน่งของกำนันและผู้ใหญ่บ้านรวมทั้งสมควรให้ราษฎรในท้องที่เป็นผู้เลือกกำนันเอง ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันยิ่งขึ้น
ข้อ ๕ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป เว้นแต่ผู้ที่มีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์
ข้อ ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้
ข้อ ๗ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๖[๕๗]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๖๔ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ กำหนดคุณสมบัติผู้ใหญ่บ้านให้มีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าประโยคประถมศึกษาตอนต้นหรือที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบไม่ต่ำกว่าประโยคประถมศึกษาตอนต้น เพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแต่ปรากฏว่าบางหมู่บ้านซึ่งเป็นท้องที่กันดารชายแดนหรือเป็นท้องถิ่นที่มีชาวเขาอยู่อาศัย ราษฎรยังไม่อาจเลือกผู้ใหญ่บ้านที่มีพื้นความรู้ดังกล่าวได้ เป็นอุปสรรคแก่การเร่งรัดพัฒนา สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเว้นหรือลดหย่อนพื้นความรู้ของผู้ใหญ่บ้านในบางท้องที่ได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๕[๕๘]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
๑. เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีเป็นผู้ใหญ่บ้านได้ เพราะตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านปัจจุบันไม่ต้องรับผิดชอบด้านการปราบปรามอาชญากรรม ทั้งอาจจะแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้ชายได้อยู่แล้ว
๒. เพื่อให้ผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดเท่านั้น เป็นผู้ใหญ่บ้านได้
๓. เพื่อกำหนดมิให้ข้าราชการการเมือง เป็นผู้ใหญ่บ้านให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๗[๕๙]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ได้กำหนดจำนวนทุนทรัพย์ในการเปรียบเทียบความแพ่ง ค่าธรรมเนียมหมายเรียกและคำร้องรวมกัน และค่าธรรมเนียมทำใบยอมไว้ในอัตราที่ยังไม่เหมาะสมกับค่าของเงินตราและภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนทุนทรัพย์และอัตราค่าธรรมเนียมเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๓๒[๖๐]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านไว้ว่าต้องไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ทำให้ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งถ้าอุปสมบทหรือบรรพชา เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านมีสิทธิอุปสมบทหรือบรรพชาได้ เช่นเดียวกับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ สมควรกำหนดให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านมีสิทธิลาอุปสมบท หรือบรรพชาได้เป็นเวลาติดต่อกันไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน และต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๓๕[๖๑]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๗ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์
มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน กำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับอายุของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไว้ว่า ต้องมีอายุตั้งแต่ยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนานที่สุด ถึงสามสิบห้าปี ประกอบกับการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ยังไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน สมควรกำหนดระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้านเป็นวาระ คราวละห้าปี และกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพิ่มขึ้นอีก จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒[๖๒]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๙ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๒ (๗) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ กรณีการกำหนดลักษณะต้องห้ามมิให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาใช้บังคับกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งหรือครบวาระ
มาตรา ๑๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการใช้สิทธิเลือกตั้งบุคคลให้ทำหน้าที่แทนราษฎรควรมีหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกัน ทั้งนี้ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๕ บัญญัติให้ผู้มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว สมควรแก้ไขอายุของผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญด้วย และโดยที่การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผู้มีสิทธิจะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ว่าที่ผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนการออกจากตำแหน่งของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ และกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิยังบัญญัติไว้ไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งยังไม่มีบทบัญญัติให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบต้องออกจากตำแหน่งเมื่อผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งไว้ด้วย เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านที่เข้ารับตำแหน่งใหม่สามารถคัดเลือกตัวบุคคลมาร่วมปฏิบัติงานในท้องที่ในฐานะผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ตามความต้องการแก่การบริหารและการปกครองท้องที่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สัญชัย/ผู้จัดทำ
๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๑
ดำรง/ปรับปรุง
กันยายน ๒๕๕๔
กองกฎหมายไทย/ปรับปรุง
๑๖ มีนาคม ๒๕๕๙
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๑/-/หน้า ๒๒๙/๑๗ กรกฎาคม ๒๔๕๗
[๒] ชื่อตอน ๒ ของหมวดที่ ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๓] มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๒ ลงวันที่ ๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๕
[๔] มาตรา ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๕] มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๙
[๖] มาตรา ๑๑ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๗] มาตรา ๑๑ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๘] มาตรา ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๙] มาตรา ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๙
[๑๐] มาตรา ๑๓ วรรคห้า เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๑] มาตรา ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๓๒
[๑๒]มาตรา ๑๔ (๑ ทวิ) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๓๕
[๑๓] มาตรา ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๔] มาตรา ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๑๕] มาตรา ๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๑๖] มาตรา ๑๗ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๒ ลงวันที่ ๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๕
[๑๗] มาตรา ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๑๘] มาตรา ๑๙ ข้อ ๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๑๙] มาตรา ๒๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๒๐]มาตรา ๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๒๑] ชื่อตอน ๔ ของหมวดที่ ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๒๒] มาตรา ๒๗ ข้อ ๙ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๒๓] มาตรา ๒๗ ข้อ ๑๐ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๒๔] มาตรา ๒๗ ข้อ ๑๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๒๕] มาตรา ๒๗ ข้อ ๑๒ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๒๖] มาตรา ๒๗ ข้อ ๑๓ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๒๗] มาตรา ๒๗ ข้อ ๑๔ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๒๘] มาตรา ๒๗ ข้อ ๑๕ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๒๙] มาตรา ๒๗ ข้อ ๑๖ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๓๐] มาตรา ๒๗ ข้อ ๑๗ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๓๑] มาตรา ๒๗ ข้อ ๑๘ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๓๒] มาตรา ๒๗ ข้อ ๑๙ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๓๓] มาตรา ๒๘ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๓๔] มาตรา ๒๘ ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๓๕] มาตรา ๒๘ จัตวา แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๓๖] มาตรา ๒๙ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๓๗] มาตรา ๒๙ ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๓๘] มาตรา ๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๖๔ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕
[๓๙] มาตรา ๓๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๔๐] มาตรา ๓๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๖๔ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕
[๔๑] มาตรา ๓๔ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๔๒] มาตรา ๔๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๔๓] ชื่อตอน ๕ ของหมวดที่ ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๔๔] มาตรา ๕๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๔๕] มาตรา ๖๑ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๔๖] มาตรา ๖๑ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๔๗] มาตรา ๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๔๘] มาตรา ๘๓ วรรคสอง เพิ่มโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖
[๔๙] มาตรา ๑๐๕ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเปรียบเทียบคดีอาญา พุทธศักราช ๒๔๘๑
[๕๐] มาตรา ๑๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๗
[๕๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖/-/หน้า ๒๐๓/๑ เมษายน ๒๔๘๒
[๕๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๐/ตอนที่ ๑๔/หน้า ๕๐๔/๙ มีนาคม ๒๔๘๖
[๕๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๓/ตอนที่ ๘๓/หน้า ๘๑๖/๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๙
[๕๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๔/ตอนที่ ๑๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐
[๕๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๕๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๖ เมษายน ๒๕๑๕
[๕๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๑๙๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๐๒/๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕
[๕๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๐/ตอนที่ ๑๐๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๓ สิงหาคม ๒๕๑๖
[๕๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๒๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๗/๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๕
[๕๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐/ตอนที่ ๑๑๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๗
[๖๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๑๑๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๒
[๖๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๒/หน้า ๙๐/๘ เมษายน ๒๕๓๕
[๖๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๗๐ ก/หน้า ๑/๔ สิงหาคม ๒๕๔๒