พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546
พระราชบัญญัติ
สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๔)
พ.ศ. ๒๕๔๖
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖
เป็นปีที่ ๕๘ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๖”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “คณะกรรมการบริหาร” และ “กรรมการบริหาร” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“คณะผู้บริหาร” หมายความว่า คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความใน (๑) ของมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง”
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๓ เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงเพราะครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือมีการยุบสภาตำบล ให้มีการเลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ครบวาระหรือวันที่ยุบสภาตำบล แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๔ เมื่อตำแหน่งสมาชิกตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากครบวาระหรือมีการยุบสภาตำบล ให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
ให้สมาชิกสภาตำบลผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“เมื่อมีการแยกพื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านใดขึ้นเป็นหมู่บ้านใหม่ ให้สมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งของหมู่บ้านเดิมยังคงเป็นสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งอยู่ต่อไป โดยให้สมาชิกสภาตำบลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านใด ให้เป็นสมาชิกสภาตำบลของหมู่บ้านนั้นจนกว่าสมาชิกภาพจะสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๒ และให้นายอำเภอจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดทั้งหมู่บ้านเดิมและหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อเป็นสมาชิกสภาตำบลที่หมู่บ้านนั้นตั้งอยู่ในเขตภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ประกาศตั้งหมู่บ้านใหม่ เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
ให้ผู้ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของสมาชิกอื่นในตำบลนั้น”
มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในวรรคสี่ของมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“บรรดาข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้ใช้บังคับในเรื่องใดอยู่ก่อนแล้วให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้มีการตราเทศบัญญัติในเรื่องนั้นขึ้นใหม่”
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๔๔ องค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและคณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล”
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความใน (๒) และ (๓) ของมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๒) พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
(๓) ควบคุมการปฏิบัติงานของคณะผู้บริหารให้เป็นไปตามนโยบายและแผนพัฒนาตำบลตาม (๑) และกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ”
มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๖) และ (๗) ของมาตรา ๔๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
“(๖) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างต้องห้ามหรือตัดสิทธิมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(๗) ไม่เคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งราษฎรลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และยังไม่พ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งครั้งหลังสุดจนถึงวันเลือกตั้ง”
มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๔๙ ประธานสภาและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดำรงตำแหน่งจนครบอายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือมีการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล”
มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความใน (๒) และ (๓) ของมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๒) พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา ๔๗ ตรี
(๓) ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล”
มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕๒ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ดำเนินการประชุมและดำเนินกิจการอื่นให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ช่วยประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลปฏิบัติการตามหน้าที่ และกระทำกิจการตามที่ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมอบหมาย
ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ ให้รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลปฏิบัติหน้าที่แทน
ในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลครั้งใด ถ้าไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุม ให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่มาประชุมเลือกกันเองเพื่อทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสำหรับการประชุมในครั้งนั้น
ในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลครั้งใด ถ้าผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสั่งปิดประชุมก่อนหมดระเบียบวาระการประชุม แต่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ในที่ประชุมเสนอให้เปิดประชุม ให้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระการประชุมนั้นต่อไปจนกว่าจะหมดระเบียบวาระการประชุมหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจะได้มีมติให้ปิดประชุม และให้นำความในวรรคสามและวรรคสี่มาใช้บังคับกับกรณีดังกล่าว”
มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕๕ นอกจากสมัยประชุมสามัญแล้ว เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ขององค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ อาจทำคำร้องยื่นต่อนายอำเภอขอเปิดประชุมวิสามัญ ถ้าเห็นสมควรให้นายอำเภอเรียกประชุมวิสามัญได้”
มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งได้รับเลือกเป็นเลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่ง จะดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในขณะเดียวกันมิได้”
มาตรา ๑๖ ให้ยกเลิกความซึ่งเป็นชื่อของส่วนที่ ๒ ของพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ส่วนที่ ๒
คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล”
มาตรา ๑๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕๘ คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคนหนึ่งและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนสองคน ซึ่งสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเลือกจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแล้วเสนอให้นายอำเภอแต่งตั้ง
การประชุมและการดำเนินงานของคณะผู้บริหารให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย”
มาตรา ๑๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๙ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕๙ คณะผู้บริหารมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามมติ ข้อบัญญัติ และแผนพัฒนาตำบล และรับผิดชอบการบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
(๒) จัดทำแผนพัฒนาตำบลและงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อเสนอให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาให้ความเห็นชอบ
(๓) รายงานการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายเงินให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลทราบอย่างน้อยปีละสองครั้ง
(๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ทางราชการมอบหมาย”
มาตรา ๑๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๐ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖๐ ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้แทนขององค์การบริหารส่วนตำบล
ในกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตามลำดับที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแต่งตั้งไว้เป็นผู้รักษาราชการแทน
ในกรณีที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ หรือคำสั่งใด แต่งตั้งให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่างใด ให้ผู้รักษาราชการแทนทำหน้าที่กรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในระหว่างรักษาราชการแทนด้วย
การสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติกิจการที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมายใด ถ้ากฎหมายนั้นมิได้บัญญัติในเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอาจมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล หรือหัวหน้าส่วนราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล ปฏิบัติราชการแทนก็ได้”
มาตรา ๒๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖๔ คณะผู้บริหาร พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
(๒) มีการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
(๓) สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงพร้อมกันตามมาตรา ๔๗ ตรี (๙)
(๔) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้คณะผู้บริหารพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙๒
(๕) คณะผู้บริหารลาออก และในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ คณะผู้บริหารมีมติลาออก
(๖) ความเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลง
(๗) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
(๘) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติไม่รับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่คณะผู้บริหารเสนอ และผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่รับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติงบประมาณดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
ในกรณีที่คณะผู้บริหารพ้นจากตำแหน่งตาม (๑) (๒) (๓) (๕) (๖) (๗) หรือ (๘) คณะผู้บริหารนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินกิจการต่อไปจนกว่าคณะผู้บริหารที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
เมื่อคณะผู้บริหารพ้นจากตำแหน่งตาม (๔) (๕) (๖) (๗) หรือ (๘) ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นคณะผู้บริหารขึ้นใหม่ แล้วเสนอให้นายอำเภอแต่งตั้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง และถ้าพ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันแล้วไม่อาจแต่งตั้งคณะผู้บริหารดังกล่าวได้โดยมีสาเหตุสำคัญจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ให้นายอำเภอเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาสั่งยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคสาม หรือกรณีที่คณะผู้บริหารพ้นจากตำแหน่งตาม (๒) หรือ (๓) และนายอำเภอเห็นว่าการให้คณะผู้บริหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามวรรคสองดำเนินกิจการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือราชการ นายอำเภอจะสั่งให้คณะผู้บริหารนั้นพ้นจากหน้าที่และแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควรเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคนหนึ่งและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนสองคนประกอบเป็นคณะผู้บริหารเพื่อดำเนินกิจการชั่วคราวจนกว่าคณะผู้บริหารที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ก็ได้
ในระหว่างที่ไม่มีคณะผู้บริหาร ให้ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลทำหน้าที่ของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเท่าที่จำเป็นได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าคณะผู้บริหารที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่”
มาตรา ๒๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖๔/๑ นอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๔ แล้ว ความเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ
(๑) พ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล
(๒) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันลาออก
(๓) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙๒
(๔) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
(๕) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลได้ลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
ในกรณีที่สมาชิกภาพของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (๔) ผู้นั้นอาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายประกอบด้วย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว ในกรณีดังกล่าวยังไม่ต้องดำเนินการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล แล้วแต่กรณี แทนตำแหน่งที่ว่างจนกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้มีคำวินิจฉัยแล้ว
ในกรณีที่ความเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงด้วยเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการแต่งตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นแทนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง”
มาตรา ๒๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๕ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและพนักงานส่วนตำบลเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและพนักงานส่วนตำบลซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบคดีละเมิดข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลได้
เมื่อได้เสียค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบ ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”
มาตรา ๒๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๗๑ องค์การบริหารส่วนตำบลอาจออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อใช้บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรืออำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ในการนี้จะกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บและกำหนดโทษปรับผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะผู้บริหาร หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือราษฎรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายอำเภอให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลงชื่อและประกาศเป็นข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลต่อไป
ในกรณีที่นายอำเภอไม่เห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลใด ให้ส่งคืนสภาองค์การบริหารส่วนตำบลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่นายอำเภอได้รับร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าว เพื่อให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาทบทวนร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นใหม่ หากนายอำเภอไม่ส่งร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลคืนสภาองค์การบริหารส่วนตำบลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่นายอำเภอได้รับร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าว ให้ถือว่านายอำเภอเห็นชอบกับร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น แต่ถ้าเป็นร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลที่กำหนดให้มีโทษปรับตามวรรคหนึ่ง เมื่อนายอำเภอไม่เห็นชอบด้วย ให้ร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นเป็นอันตกไป
เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาทบทวนร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคสี่แล้วมีมติยืนยันตามร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลงชื่อและประกาศเป็นข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากนายอำเภอ แต่ถ้าสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่ยืนยันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลคืนจากนายอำเภอ หรือยืนยันด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นเป็นอันตกไป”
มาตรา ๒๔ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจและหน้าที่ของนายกเทศมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่และกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินและให้คณะผู้บริหารมีอำนาจพิจารณาชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลอาจมอบอำนาจและหน้าที่ดังกล่าว ให้หน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการแทนก็ได้ และให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กำหนดในมาตรา ๘๑”
มาตรา ๒๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๗๖ องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละสิบของภาษีอากรและค่าธรรมเนียมประเภทใดประเภทหนึ่งหรือทุกประเภท ดังต่อไปนี้
(๑) ภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลกฎหมายรัษฎากรซึ่งสถานประกอบการตั้งอยู่ในองค์การบริหารส่วนตำบล
(๒) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุราซึ่งร้านขายสุราตั้งอยู่ในองค์การบริหารส่วนตำบล
(๓) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในการเล่นการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนันซึ่งสถานที่เล่นการพนันอยู่ในองค์การบริหารส่วนตำบล
การเสียภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้ เศษของหนึ่งบาทให้ปัดทิ้ง
ภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น”
มาตรา ๒๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘๐ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๘๐ องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้กำหนดเป็นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นจากอัตราที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่ประมวลรัษฎากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละศูนย์ ให้องค์การบริหารส่วนตำบลเก็บในอัตราร้อยละศูนย์
(๒) ในกรณีที่ประมวลรัษฎากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราอื่น ให้องค์การบริหารส่วนตำบลเก็บหนึ่งในเก้าของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บเพิ่มขึ้นตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร”
มาตรา ๒๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๘๖ เงินค่าตอบแทนประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการคณะผู้บริหาร และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย”
มาตรา ๒๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘๗ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๘๗ งบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมขององค์การบริหารส่วนตำบลให้จัดทำเป็นข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล และจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะผู้บริหารตามระเบียบและวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
ถ้าในระหว่างปีงบประมาณใด รายจ่ายซึ่งกำหนดไว้ในงบประมาณไม่พอใช้จ่ายประจำปีนั้นหรือมีความจำเป็นต้องตั้งรายจ่ายขึ้นใหม่ระหว่างปีงบประมาณ ให้จัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมแล้ว ให้เสนอนายอำเภอเพื่อขออนุมัติ ให้นายอำเภอพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติดังกล่าว
ถ้านายอำเภอไม่อนุมัติต้องแจ้งเหตุผลและส่งคืนให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อพิจารณาทบทวนร่างข้อบัญญัตินั้นใหม่ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วนายอำเภอพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่านายอำเภออนุมัติร่างข้อบัญญัติดังกล่าว
ในกรณีที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติยืนยันตามร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้นายอำเภอส่งร่างข้อบัญญัตินั้นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลแจ้งมติยืนยันเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาภายในสิบห้าวัน ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัตินั้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งไปยังนายอำเภอเพื่อลงชื่ออนุมัติ ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัตินั้น ให้ร่างข้อบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัตินั้น
ในการพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม สภาองค์การบริหารส่วนตำบลต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัตินั้น เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้าสภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าสภาองค์การบริหารส่วนตำบลให้ความเห็นชอบตามที่คณะผู้บริหารเสนอและให้ดำเนินการตามวรรคสามต่อไป
ถ้าข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณก่อนนั้นไปพลางก่อน”
มาตรา ๒๙ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๙๐ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอตามวรรคหนึ่ง ให้นายอำเภอมีอำนาจเรียกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล พนักงานส่วนตำบล และลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลมาชี้แจงหรือสอบสวน ตลอดจนเรียกรายงานและเอกสารใด ๆ จากองค์การบริหารส่วนตำบลมาตรวจสอบก็ได้”
มาตรา ๓๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๙๒ หากปรากฏว่าคณะผู้บริหาร นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล กระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจสั่งให้คณะผู้บริหารทั้งคณะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนพ้นจากตำแหน่งได้ตามคำเสนอแนะของนายอำเภอ ในกรณีนี้ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่ง”
มาตรา ๓๑ ให้ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบอายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือมีการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
มาตรา ๓๒ ให้ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลและกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป และให้ถือว่าประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตามพระราชบัญญัตินี้
บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่งใดที่ได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล หรือกรรมการบริหาร ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่งนั้นอ้างถึงคณะผู้บริหาร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๓๓ บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่งใดที่อ้างถึงข้อบังคับตำบล ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่งนั้นอ้างถึงข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๓๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารราชการองค์การบริหารส่วนตำบลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มีเนื้อหาสาระที่ไม่สอดคล้องและไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการจัดระเบียบบริหารราชการขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยแม้ว่าสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลจะเป็นหน่วยการปกครองพื้นฐานที่มีลักษณะเฉพาะ อันเป็นการแตกต่างจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นก็ตาม แต่บทบัญญัติบางประการก็ควรจะมีลักษณะที่เหมือนกัน เช่น คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ระยะเวลาการเลือกตั้ง การขาดคุณสมบัติ การประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล การบริหาร และการกำกับดูแล เป็นต้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พชร อรดา หทัยชนก/จัดทำ
๙ มิถุนายน ๒๕๔๖
วิมล/ปรับปรุง
๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ณัฐพร/ตรวจ
๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๖
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนที่ ๕๕ ก/หน้า ๗/๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๖