พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496
พระราชบัญญัติ
เทศบาล
พ.ศ. ๒๔๙๖
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๖
เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเทศบาลให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖”
มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๖ และบรรดากฎหมาย กฎ ข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔[๒] เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะท้องถิ่นใดเป็นเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนครแล้ว ห้ามมิให้ใช้กฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ในส่วนที่บัญญัติถึงการแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนันในท้องถิ่นนั้น และให้บรรดาบุคคลที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนันพ้นจากตำแหน่งและหน้าที่เฉพาะในเขตท้องถิ่นนั้น
ในเขตเทศบาลตำบลใด ถ้าหมดความจำเป็นที่จะต้องมีตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล หรือสารวัตรกำนัน ให้รัฐมนตรีประกาศยกเลิกตำแหน่งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๕ ให้เทศบาลที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้วในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ คงมีฐานะเป็นเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ตามที่เป็นอยู่ แล้วแต่กรณี มีอำนาจหน้าที่และอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๖ บรรดาเทศบัญญัติที่ได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๗๖ พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๑ และพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๖ หรือโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายอื่น ให้คงใช้บังคับได้
ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเทศบัญญัติดังกล่าวในวรรคก่อนไม่ชำระค่าปรับ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๖๐ วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับ
ส่วนที่ ๑
การจัดตั้งเทศบาล
มาตรา ๗ เมื่อท้องถิ่นใดมีสภาพอันสมควรยกฐานะเป็นเทศบาล ให้จัดตั้งท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง หรือเทศบาลนคร ตามพระราชบัญญัตินี้
ให้เทศบาลเป็นทบวงการเมือง มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น
มาตรา ๘[๓] เมื่อมีการจัดตั้งเทศบาลตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ให้เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้จัดตั้งเป็นเทศบาล
ในระหว่างที่ไม่มีนายกเทศมนตรี ให้ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่จัดตั้งเทศบาลปฏิบัติหน้าที่ปลัดเทศบาล และให้ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเท่าที่จำเป็นได้เป็นการชั่วคราว จนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี
มาตรา ๙[๔] เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย
มาตรา ๑๐[๕] เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด หรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่หนึ่งหมื่นคนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย
มาตรา ๑๑[๖] เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ห้าหมื่นคนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลนคร ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย
มาตรา ๑๒[๗] ภายใต้บังคับมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ การเปลี่ยนชื่อเทศบาลหรือการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล ให้กระทำโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย
ในกรณีที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนคร ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในท้องถิ่นที่ได้เปลี่ยนแปลงเขตเป็นเทศบาลตามความในวรรคหนึ่งสิ้นสุดอำนาจหน้าที่เฉพาะในเขตที่ได้เปลี่ยนแปลงนั้นเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลใช้บังคับเป็นต้นไป
มาตรา ๑๓[๘] ภายใต้บังคับมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ ท้องถิ่นซึ่งได้ยกฐานะเป็นเทศบาลแล้วอาจถูกเปลี่ยนแปลงฐานะหรือยุบเลิกได้โดยทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย
ท้องถิ่นที่ได้เปลี่ยนแปลงฐานะตามความในวรรคหนึ่ง ให้พ้นจากสภาพแห่งเทศบาลเดิมนับแต่วันที่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นต้นไป บรรดาทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และสิทธิเรียกร้องของเทศบาลเดิมให้โอนไปเป็นของเทศบาลใหม่ในขณะเดียวกันนั้น และบรรดาเทศบัญญัติที่ได้ใช้บังคับอยู่ก่อนแล้วคงให้ใช้บังคับต่อไป
ในการยุบเลิกเทศบาล ให้ระบุถึงวิธีการจัดทรัพย์สินไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นด้วย
ส่วนที่ ๒
องค์การเทศบาล
มาตรา ๑๔[๙] องค์การเทศบาลประกอบด้วยสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรี
บทที่ ๑
สภาเทศบาล
มาตรา ๑๕[๑๐] สภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามจำนวน ดังต่อไปนี้
(๑) สภาเทศบาลตำบล ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสิบสองคน
(๒) สภาเทศบาลเมือง ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสิบแปดคน
(๓) สภาเทศบาลนคร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนยี่สิบสี่คน
ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล นอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว จะต้องไม่เป็นผู้ที่พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่นหรือที่ปรึกษาหรือเลขานุการของผู้บริหารท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันรับสมัครเลือกตั้ง
ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดและยังมิได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๑๖[๑๑] สมาชิกสภาเทศบาลให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง ถ้าตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระหรือมีการยุบสภา ให้เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลขึ้นแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
สมาชิกสภาเทศบาลผู้เข้ามาแทนให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๑๗ ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาเทศบาลต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาเทศบาลว่า จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งจะซื่อสัตย์สุจริตและปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น
มาตรา ๑๘ สมาชิกสภาเทศบาลย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนในเขตเทศบาลนั้น และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ
มาตรา ๑๘ ทวิ[๑๒] สมาชิกสภาเทศบาลต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่เทศบาลนั้นเป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทำให้แก่เทศบาลนั้น หรือที่เทศบาลนั้นจะกระทำ
มาตรา ๑๙[๑๓] สมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลสิ้นสุดลงเมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามวาระ หรือมีการยุบสภาเทศบาล
(๒) ตาย
(๓) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง
(๕) ขาดประชุมสภาเทศบาลสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(๖) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๑๘ ทวิ
(๗) สภาเทศบาลมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง โดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่เทศบาลหรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ของสภาเทศบาล โดยมีสมาชิกสภาเทศบาลจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอให้สภาเทศบาลพิจารณา และมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ทั้งนี้ ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่สภาเทศบาลมีมติ
(๘) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาลมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง เห็นว่าสมาชิกสภาเทศบาลผู้ใดไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไปตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (๔) (๕) หรือ (๖) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่สมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลสิ้นสุดลงตาม (๘) พร้อมกันทั้งหมดให้ถือว่าเป็นการยุบสภาเทศบาล
มาตรา ๒๐ สภาเทศบาลมีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานสภาคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาลตามมติของสภาเทศบาล
ประธานสภาเทศบาลและรองประธานสภาเทศบาลดำรงตำแหน่งจนครบอายุของสภาเทศบาล[๑๔]
มาตรา ๒๐ ทวิ[๑๕] นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๐ วรรคสอง ประธานสภาเทศบาลและรองประธานสภาเทศบาลพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
(๒) สิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาล
(๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๗๓
(๔) สภาเทศบาลมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง โดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่งหรือสภาเทศบาล ปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติการหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ โดยมีสมาชิกสภาเทศบาลจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอให้สภาเทศบาลพิจารณา และมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ทั้งนี้ ให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่สภาเทศบาลมีมติ
ผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งประธานสภาเทศบาลหรือรองประธานสภาเทศบาลตาม (๓) หรือ (๔) จะดำรงตำแหน่งประธานสภาเทศบาลหรือรองประธานสภาเทศบาลอีกไม่ได้ตลอดอายุของสภาเทศบาลนั้น
ให้ประธานสภาเทศบาล หรือรองประธานสภาเทศบาลที่ได้รับเลือกใหม่อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๒๐ ตรี[๑๖] ในกรณีที่ตำแหน่งประธานสภาเทศบาลหรือรองประธานสภาเทศบาลว่างลงเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา ๒๐ ทวิ ให้สภาเทศบาลเลือกสมาชิกสภาเทศบาลขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง
มาตรา ๒๑ ประธานสภาเทศบาล มีหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาเทศบาลให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาล
รองประธานสภาเทศบาล มีหน้าที่กระทำกิจการแทนประธานสภาเทศบาลในเมื่อประธานสภาเทศบาลไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
มาตรา ๒๒ ในเมื่อประธานและรองประธานสภาเทศบาลไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกสภาเทศบาลเลือกตั้งกันเองเป็นประธานเฉพาะในคราวประชุมนั้น
มาตรา ๒๓ ให้กระทรวงมหาดไทยวางระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาลไว้
มาตรา ๒๔[๑๗] ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญสี่สมัย สมัยประชุมสามัญครั้งแรกและวันเริ่มประชุมสมัยสามัญประจำปีให้สภาเทศบาลกำหนด
ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องกำหนดให้สมาชิกสภาเทศบาลได้มาประชุมสภาเทศบาลครั้งแรกภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลครบตามจำนวนแล้ว และให้ที่ประชุมเลือกประธานสภาเทศบาลและรองประธานสภาเทศบาล
กรณีที่สภาเทศบาลไม่อาจจัดให้มีการประชุมครั้งแรกได้ตามกำหนดเวลาในวรรคสอง หรือมีการประชุมสภาเทศบาลแต่ไม่อาจเลือกประธานสภาเทศบาลได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มีคำสั่งยุบสภาเทศบาล
สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง ๆ ให้มีกำหนดไม่เกินสามสิบวัน แต่ถ้าจะขยายเวลาออกไปอีกจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด
มาตรา ๒๕ โดยปกติให้ประธานสภาเทศบาลเป็นผู้เรียกประชุมสภาเทศบาลตามสมัยประชุม และเป็นผู้เปิดหรือปิดประชุม
ในกรณีที่ยังไม่มีประธานสภาเทศบาล หรือประธานสภาเทศบาลไม่เรียกประชุมตามกฎหมาย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เรียกประชุมและเป็นผู้เปิดหรือปิดประชุม
มาตรา ๒๖ นอกจากสมัยประชุมสามัญแล้ว เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งเทศบาล ประธานสภาเทศบาลก็ดี หรือนายกเทศมนตรีก็ดี หรือสมาชิกสภาเทศบาลมีจำนวนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งก็ดี อาจทำคำร้องยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้เปิดประชุมวิสามัญให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ถ้าเห็นสมควรก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกประชุมวิสามัญได้
สมัยประชุมวิสามัญให้มีกำหนดไม่เกินสิบห้าวัน แต่ถ้าจะขยายเวลาออกไปอีก จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด
มาตรา ๒๗[๑๘] การประชุมสภาเทศบาล ต้องมีสมาชิกสภาเทศบาลมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม
มาตรา ๒๘ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้
สมาชิกสภาเทศบาลคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนลงเสียงลงคะแนนเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้สภาเทศบาลประชุมปรึกษาหารือในเรื่องนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือเรื่องที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือเรื่องการเมืองแห่งรัฐ
มาตรา ๓๐ การประชุมของสภาเทศบาลย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่จะได้กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาล
เมื่อนายกเทศมนตรี หรือสมาชิกสภาเทศบาลรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมร้องขอให้ทำการประชุมลับ ก็ให้ประธานสภาเทศบาลดำเนินการประชุมลับได้ โดยไม่ต้องขอมติที่ประชุม[๑๙]
มาตรา ๓๑[๒๐] ในที่ประชุมสภาเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาลมีสิทธิตั้งกระทู้ถามนายกเทศมนตรีหรือรองนายกเทศมนตรีในข้อความใด ๆ อันเกี่ยวกับการงานในหน้าที่ได้ แต่นายกเทศมนตรีหรือรองนายกเทศมนตรีมีสิทธิที่จะไม่ตอบ เมื่อเห็นว่าข้อความนั้น ๆ ยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของเทศบาล
มาตรา ๓๒[๒๑] สภาเทศบาลมีอำนาจเลือกสมาชิกสภาเทศบาลตั้งเป็นคณะกรรมการสามัญของสภาเทศบาล และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมการวิสามัญของสภาเทศบาล เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาเทศบาล แล้วรายงานต่อสภาเทศบาล
ในการตั้งคณะกรรมการวิสามัญตามวรรคหนึ่ง นายกเทศมนตรีมีสิทธิเสนอชื่อบุคคลผู้เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิก เพื่อให้สภาเทศบาลแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการวิสามัญได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
คณะกรรมการที่สภาเทศบาลตั้งขึ้นตามวรรคหนึ่ง จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้
มาตรา ๓๒ ทวิ[๒๒] ในกรณีกิจการอื่นใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของเทศบาลหรือประชาชนในท้องถิ่น สมาชิกสภาเทศบาลจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่หรือนายกเทศมนตรีอาจเสนอต่อประธานสภาเทศบาลเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในท้องถิ่นได้ และประกาศให้ประชาชนทราบ
การออกเสียงประชามติต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอปรึกษาความเห็นของประชาชนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกิจการสำคัญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามวรรคหนึ่ง ซึ่งมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย การออกเสียงประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะจะกระทำมิได้
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ
การออกเสียงประชามติตามมาตรานี้ให้มีผลเป็นเพียงการให้คำปรึกษาแก่สภาเทศบาลหรือนายกเทศมนตรีในเรื่องนั้น
หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
มาตรา ๓๓ การประชุมคณะกรรมการตามมาตรา ๓๒ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ระเบียบการประชุมของคณะกรรมการให้ใช้ระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาลโดยอนุโลม
มาตรา ๓๔[๒๓] (ยกเลิก)
มาตรา ๓๕[๒๔] (ยกเลิก)
บทที่ ๒
คณะเทศมนตรี[๒๕]
มาตรา ๓๖[๒๖] (ยกเลิก)
มาตรา ๓๗[๒๗] (ยกเลิก)
มาตรา ๓๘[๒๘] (ยกเลิก)
มาตรา ๓๙[๒๙] (ยกเลิก)
มาตรา ๔๐[๓๐] (ยกเลิก)
มาตรา ๔๑[๓๑] (ยกเลิก)
มาตรา ๔๒[๓๒] (ยกเลิก)
มาตรา ๔๓[๓๓] (ยกเลิก)
มาตรา ๔๔[๓๔] (ยกเลิก)
มาตรา ๔๕[๓๕] (ยกเลิก)
มาตรา ๔๖[๓๖] (ยกเลิก)
มาตรา ๔๗[๓๗] (ยกเลิก)
มาตรา ๔๘[๓๘] (ยกเลิก)
บทที่ ๒ ทวิ
นายกเทศมนตรี[๓๙]
มาตรา ๔๘ ทวิ[๔๐] ให้เทศบาลมีนายกเทศมนตรีคนหนึ่งซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
มาตรา ๔๘ ตรี[๔๑] (ยกเลิก)
มาตรา ๔๘ จัตวา[๔๒] (ยกเลิก)
มาตรา ๔๘ เบญจ[๔๓] บุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ ด้วย
(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
(๒) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา
(๓) ไม่เป็นผู้ที่พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น หรือที่ปรึกษาหรือเลขานุการของผู้บริหารท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่กระทำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันรับสมัครเลือกตั้ง
(๔) เคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งถูกให้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
มาตรา ๔๘ ฉ[๔๔] (ยกเลิก)
มาตรา ๔๘ สัตต[๔๕] ให้นายกเทศมนตรีดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง และมีระยะการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
มาตรา ๔๘ อัฏฐ[๔๖] นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีซึ่งมิใช่สมาชิกสภาเทศบาลเป็นผู้ช่วยเหลือในการบริหารราชการของเทศบาลตามที่นายกเทศมนตรีมอบหมายได้ตามเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) เทศบาลตำบล ให้แต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกินสองคน
(๒) เทศบาลเมือง ให้แต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกินสามคน
(๓) เทศบาลนคร ให้แต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกินสี่คน
นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งที่ปรึกษานายกเทศมนตรีและเลขานุการนายกเทศมนตรีซึ่งมิใช่สมาชิกสภาเทศบาลได้ โดยในกรณีเทศบาลตำบลให้แต่งตั้งได้จำนวนรวมกันไม่เกินสองคน ในกรณีเทศบาลเมืองให้แต่งตั้งได้จำนวนรวมกันไม่เกินสามคน และในกรณีเทศบาลนครให้แต่งตั้งได้จำนวนรวมกันไม่เกินห้าคน
มาตรา ๔๘ นว[๔๗] รองนายกเทศมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๘ เบญจ
มาตรา ๔๘ ทศ[๔๘] ก่อนนายกเทศมนตรีเข้ารับหน้าที่ ให้ประธานสภาเทศบาลเรียกประชุมสภาเทศบาลเพื่อให้นายกเทศมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาเทศบาล โดยไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี
กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาเทศบาลและรองประธานสภาเทศบาลหรือสภาเทศบาลถูกยุบตามมาตรา ๒๔ หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของราชการหรือราษฎร นายกเทศมนตรีจะดำเนินการไปพลางก่อนเท่าที่จำเป็นก็ได้ เมื่อได้มีการเลือกประธานสภาเทศบาลแล้วให้ประธานสภาเทศบาลเรียกประชุมสภาเทศบาลเพื่อให้นายกเทศมนตรีแถลงนโยบายโดยไม่มีการลงมติภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเลือกประธานสภาเทศบาล
การประชุมเพื่อแถลงนโยบายของนายกเทศมนตรีให้กระทำโดยเปิดเผย โดยนายกเทศมนตรีต้องจัดทำนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรแจกให้สมาชิกสภาเทศบาลทุกคนที่มาประชุมด้วย
หากนายกเทศมนตรีไม่สามารถแถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งให้นายกเทศมนตรีจัดทำนโยบายแจ้งเป็นหนังสือส่งให้สมาชิกสภาเทศบาลทุกคนภายในเจ็ดวัน โดยให้นำวิธีการแจ้งคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่านายกเทศมนตรีได้แถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลแล้ว
ให้นายกเทศมนตรีจัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภาเทศบาลเป็นประจำทุกปี
คำแถลงนโยบายของนายกเทศมนตรีและรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานให้ประกาศไว้โดยเปิดเผยที่สำนักงานเทศบาลด้วย
มาตรา ๔๘ เอกาทศ[๔๙] นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี หรือผู้ซึ่งนายกเทศมนตรีมอบหมาย มีสิทธิเข้าประชุมสภาเทศบาลและมีสิทธิแถลงข้อเท็จจริงตลอดจนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของตนต่อที่ประชุม แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
มาตรา ๔๘ ทวาทศ[๕๐] สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมสภาเทศบาลเพื่อให้นายกเทศมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการเทศบาลโดยไม่มีการลงมติ
ญัตติตามวรรคหนึ่งให้ยื่นต่อประธานสภาเทศบาล และให้ประธานสภาเทศบาลกำหนดวันสำหรับการอภิปรายทั่วไป ซึ่งต้องไม่เร็วกว่าห้าวันและไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ แล้วแจ้งให้นายกเทศมนตรีทราบ
มาตรา ๔๘ เตรส[๕๑] นายกเทศมนตรีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑)[๕๒] กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติ และนโยบาย
(๒) สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาล
(๓) แต่งตั้งและถอดถอนรองนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และเลขานุการนายกเทศมนตรี
(๔) วางระเบียบเพื่อให้งานของเทศบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(๕) รักษาการให้เป็นไปตามเทศบัญญัติ
(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น
มาตรา ๔๘ จตุทศ[๕๓] นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และเลขานุการนายกเทศมนตรี ต้องไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่อื่นใดในส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เว้นแต่ตำแหน่งที่ดำรงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
(๒) รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ เป็นพิเศษจากส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ นอกเหนือไปจากที่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติกับบุคคลในธุรกิจการงานตามปกติ
(๓) เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่เทศบาลนั้นเป็นคู่สัญญา หรือในกิจการที่กระทำให้แก่เทศบาลนั้น หรือที่เทศบาลนั้นจะกระทำ[๕๔]
บทบัญญัติตามมาตรานี้มิให้ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่งได้รับเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญหรือเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน และมิให้ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่งรับเงินตอบแทนค่าเบี้ยประชุมหรือเงินอื่นใดเนื่องจากการดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของรัฐสภาหรือวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาเทศบาลหรือสภาท้องถิ่นอื่น หรือกรรมการที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นโดยตำแหน่ง
มาตรา ๔๘ ปัญจทศ[๕๕] นายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๘ เบญจ
(๕) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๔๘ จตุทศ
(๖) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๖๒ ตรี วรรคห้า หรือมาตรา ๗๓
(๗) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๘) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาลมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง เห็นว่านายกเทศมนตรีไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไปตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
ในระหว่างที่ไม่มีนายกเทศมนตรี ให้ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่ของนายกเทศมนตรีเท่าที่จำเป็นได้เป็นการชั่วคราวจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี
เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นนายกเทศมนตรีสิ้นสุดลงตาม (๔) หรือ (๕) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นที่สุด
มาตรา ๔๘ โสฬส[๕๖] รองนายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) นายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
(๒) นายกเทศมนตรีมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง
(๓) ตาย
(๔) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายกเทศมนตรี
(๕)[๕๗] ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๘ นว
(๖) กระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา ๔๘ จตุทศ
(๗) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(๘) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสอบสวนและสั่งให้ออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๗๓
ให้นำความใน (๑) (๒) (๓) (๔) (๖) และ (๗) มาใช้บังคับกับการพ้นจากตำแหน่งของที่ปรึกษานายกเทศมนตรีและเลขานุการนายกเทศมนตรีด้วยโดยอนุโลม[๕๘]
ให้นำความในวรรคสามของมาตรา ๔๘ ปัญจทศ มาใช้บังคับกับกรณีของรองนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และเลขานุการนายกเทศมนตรีด้วยโดยอนุโลม[๕๙]
มาตรา ๔๘ สัตตรส[๖๐] ให้นายกเทศมนตรีควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและลูกจ้างเทศบาล
มาตรา ๔๘ อัฏฐารส[๖๑] เทศบาลแบ่งส่วนราชการ ดังต่อไปนี้
(๑) สำนักปลัดเทศบาล
(๒) ส่วนราชการอื่นตามที่นายกเทศมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย
การกำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักปลัดเทศบาลและส่วนราชการอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่นายกเทศมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย
มาตรา ๔๘ เอกูนวีสติ[๖๒] ให้มีปลัดเทศบาลคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและลูกจ้างเทศบาลรองจากนายกเทศมนตรี และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำของเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่นายกเทศมนตรีมอบหมาย
การบริหารงานบุคคลของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๔๘ วีสติ[๖๓] อำนาจหน้าที่ในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการของรองนายกเทศมนตรี ให้เป็นไปตามที่นายกเทศมนตรีมอบหมาย
ในกรณีที่นายกเทศมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกเทศมนตรี ตามลำดับที่นายกเทศมนตรีจัดไว้เป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีรองนายกเทศมนตรีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ปลัดเทศบาลเป็นผู้รักษาราชการแทน
อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการที่นายกเทศมนตรีจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นไม่ได้กำหนดในเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น นายกเทศมนตรีอาจมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รองนายกเทศมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีก็ได้ แต่ถ้ามอบให้ปลัดเทศบาลหรือรองปลัดเทศบาลปฏิบัติราชการแทน ให้ทำเป็นคำสั่งและประกาศให้ประชาชนทราบ
การปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีตามวรรคสาม ต้องกระทำภายใต้การกำกับดูแลและกรอบนโยบายที่นายกเทศมนตรีกำหนดไว้
มาตรา ๔๘ เอกวีสติ[๖๔] ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี และพนักงานเทศบาลเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๔๘ ทวาวีสติ[๖๕] ถ้าในเขตเทศบาลใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นเป็นการสมควรให้นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาล หรือหัวหน้าส่วนราชการในเขตเทศบาลนั้นมีอำนาจเปรียบเทียบคดีละเมิดเทศบัญญัติได้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในการเปรียบเทียบคดีตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อได้เปรียบเทียบคดีใดแล้ว ให้รีบส่งบันทึกการเปรียบเทียบพร้อมด้วยสำนวนไปยังพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแห่งเขตท้องที่ซึ่งเทศบาลนั้นตั้งอยู่เพื่อดำเนินการต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยไม่ชักช้า
มาตรา ๔๘ เตวีสติ[๖๖] เมื่อพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะท้องถิ่นใดเป็นเทศบาลแล้ว ให้นายกเทศมนตรีมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับอำนาจหน้าที่ของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน บรรดาที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ หรือกฎหมายอื่น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่เทศบาลตำบลใดมีทั้งนายกเทศมนตรี และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ให้บุคคลดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่หรือกฎหมายอื่นในเขตเทศบาลตำบลตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๘ จตุวีสติ[๖๗] เงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของนายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และเลขานุการนายกเทศมนตรี ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
มาตรา ๔๘ ปัญจวีสติ[๖๘] ในกรณีที่บทบัญญัติมาตราใดในพระราชบัญญัตินี้กล่าวถึงคณะเทศมนตรี ให้หมายถึงนายกเทศมนตรี บทบัญญัติมาตราใดกล่าวถึงเทศมนตรี ให้หมายถึงรองนายกเทศมนตรี เว้นแต่บทบัญญัติมาตราใดมีข้อความเป็นอย่างเดียวกันหรือขัดแย้งกันกับบทบัญญัติในบทนี้ ให้ใช้บทบัญญัติในบทนี้แทน
บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่งใดที่อ้างถึงคณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่งนั้น อ้างถึงนายกเทศมนตรีตามบทนี้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งบทนี้
ส่วนที่ ๓
หน้าที่ของเทศบาล
บทที่ ๑
เทศบาลตำบล
มาตรา ๔๙[๖๙] (ยกเลิก)
มาตรา ๕๐[๗๐] ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้
(๑) รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(๒) ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ
(๓) รักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
(๔) ป้องกันและระงับโรคติดต่อ
(๕) ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง
(๖) ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม
(๗)[๗๑] ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
(๘)[๗๒] บำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
(๙)[๗๓] หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล
การปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาลต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาเทศบาล การจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบ การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับว่าด้วยการนั้น และหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด[๗๔]
มาตรา ๕๑[๗๕] ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลอาจจัดทำกิจการใด ๆ ในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้
(๑) ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
(๒) ให้มีโรงฆ่าสัตว์
(๓) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือและท่าข้าม
(๔) ให้มีสุสานและฌาปนสถาน
(๕) บำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร
(๖) ให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์รักษาคนเจ็บไข้
(๗) ให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
(๘) ให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ
(๙) เทศพาณิชย์
บทที่ ๒
เทศบาลเมือง
มาตรา ๕๒[๗๖] (ยกเลิก)
มาตรา ๕๓[๗๗] ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลเมืองมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้
(๑) กิจการตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๕๐
(๒) ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
(๓) ให้มีโรงฆ่าสัตว์
(๔) ให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์และรักษาคนเจ็บไข้
(๕) ให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ
(๖) ให้มีและบำรุงส้วมสาธารณะ
(๗) ให้มีและบำรุงการไฟฟ้า หรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
(๘) ให้มีการดำเนินกิจการโรงรับจำนำหรือสถานสินเชื่อท้องถิ่น
มาตรา ๕๔[๗๘] ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลเมืองอาจจัดทำกิจการใด ๆ ในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้
(๑) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือและท่าข้าม
(๒) ให้มีสุสานและฌาปนสถาน
(๓) บำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร
(๔) ให้มีและบำรุงการสงเคราะห์มารดาและเด็ก
(๕) ให้มีและบำรุงโรงพยาบาล
(๖) ให้มีการสาธารณูปการ
(๗) จัดทำกิจการซึ่งจำเป็นเพื่อการสาธารณสุข
(๘) จัดตั้งและบำรุงโรงเรียนอาชีวศึกษา
(๙) ให้มีและบำรุงสถานที่สำหรับการกีฬาและพลศึกษา
(๑๐) ให้มีและบำรุงสวนสาธารณะ สวนสัตว์และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
(๑๑) ปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม และรักษาความสะอาดเรียบร้อยของท้องถิ่น
(๑๒) เทศพาณิชย์
บทที่ ๓
เทศบาลนคร
มาตรา ๕๕[๗๙] (ยกเลิก)
มาตรา ๕๖ ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลนครมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้
(๑) กิจการตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๕๓
(๒) ให้มีและบำรุงการสงเคราะห์มารดาและเด็ก
(๓) กิจการอย่างอื่นซึ่งจำเป็นเพื่อการสาธารณสุข
(๔)[๘๐] การควบคุมสุขลักษณะและอนามัยในร้านจำหน่ายอาหาร โรงมหรสพ และสถานบริการอื่น
(๕)[๘๑] จัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม
(๖)[๘๒] จัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
(๗)[๘๓] การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง
(๘)[๘๔] การส่งเสริมกิจการการท่องเที่ยว
มาตรา ๕๗ เทศบาลนครอาจจัดทำกิจการอื่น ๆ ตามมาตรา ๕๔ ได้
บทที่ ๓ ทวิ
การทำการนอกเขตเทศบาล
และการทำการร่วมกับบุคคลอื่น[๘๕]
มาตรา ๕๗ ทวิ[๘๖] เทศบาลอาจทำกิจการนอกเขต เมื่อ
(๑) การนั้นจำเป็นต้องทำและเป็นการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินตามอำนาจหน้าที่อยู่ภายในเขตของตน
(๒) ได้รับความยินยอมจากสภาเทศบาล คณะกรรมการสุขาภิบาล สภาจังหวัด หรือสภาตำบลแห่งท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และ
(๓) ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
มาตรา ๕๗ ตรี[๘๗] เทศบาลอาจทำการร่วมกับบุคคลอื่นโดยก่อตั้งบริษัทจำกัด หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด เมื่อ
(๑) บริษัทจำกัดนั้นมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค
(๒) เทศบาลต้องถือหุ้นเป็นมูลค่าเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนที่บริษัทนั้นจดทะเบียนไว้ ในกรณีที่มีหลายเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลหรือสุขาภิบาล ถือหุ้นอยู่ในบริษัทเดียวกันให้นับหุ้นที่ถือนั้นรวมกัน และ
(๓) ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
การเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นที่เทศบาลถืออยู่ในบริษัทจำกัดต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ความใน (๑) และ (๒) ของวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับในกรณีที่บริษัทจำกัดที่เทศบาลร่วมก่อตั้งหรือถือหุ้นนั้น ไม่มีเอกชนถือหุ้นอยู่ด้วย
บทที่ ๔
สหการ
มาตรา ๕๘ ถ้ามีกิจการใดอันอยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตั้งแต่สองแห่งขึ้นไปที่จะร่วมกันทำเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ก็ให้จัดตั้งเป็นองค์การขึ้นเรียกว่าสหการ มีสภาพเป็นทบวงการเมือง และมีคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วยผู้แทนของเทศบาลที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย
การจัดตั้งสหการจะทำได้ก็แต่โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาซึ่งจะได้กำหนดชื่อ อำนาจหน้าที่ และระเบียบการดำเนินงานไว้
การยุบเลิกสหการให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาโดยกำหนดวิธีการจัดทรัพย์สินไว้ด้วย
มาตรา ๕๙ สหการอาจได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และอาจกู้เงินได้ภายใต้บังคับมาตรา ๖๖ (๕) หรือ (๖)
ส่วนที่ ๔
เทศบัญญัติ
มาตรา ๖๐[๘๘] เทศบาลมีอำนาจตราเทศบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อบทกฎหมายในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ของเทศบาลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
(๒) เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้เทศบาลตราเทศบัญญัติหรือให้มีอำนาจตราเทศบัญญัติ
ในเทศบัญญัตินั้น จะกำหนดโทษปรับผู้ละเมิดเทศบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่ห้ามมิให้กำหนดเกินกว่าหนึ่งพันบาท
มาตรา ๖๑[๘๙] เทศพาณิชย์ของเทศบาล ให้ตราเป็นเทศบัญญัติ กิจการใดที่เทศบาลมีรายได้หรือผลพลอยได้อันเกิดจากการกระทำตามอำนาจหน้าที่ จะไม่ตราเป็นเทศบัญญัติก็ได้
มาตรา ๖๑ ทวิ[๙๐] ร่างเทศบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดย
(๑) นายกเทศมนตรี
(๒) สมาชิกสภาเทศบาล หรือ
(๓) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
ในกรณีที่สมาชิกสภาเทศบาลเป็นผู้เสนอร่างเทศบัญญัติต้องมีสมาชิกสภาเทศบาลลงนามรับรองไม่น้อยกว่าสองคน
ร่างเทศบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน สมาชิกสภาเทศบาลจะเสนอได้ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกเทศมนตรี
มาตรา ๖๑ ตรี[๙๑] ร่างเทศบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน หมายความถึงร่างเทศพาณิชย์ หรือร่างเทศบัญญัติว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) การจัดเก็บ ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบ การบังคับอันเกี่ยวกับภาษีอากร
(๒) การเก็บรักษาเงิน การจ่ายเงิน หรือการโอนงบประมาณของเทศบาล
(๓) การกู้เงิน การค้ำประกัน หรือการใช้เงินกู้
(๔) การคลัง การงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้าง และการพัสดุ
ในกรณีเป็นที่สงสัยว่าร่างเทศบัญญัติใดเป็นร่างเทศบัญญัติเกี่ยวกับการเงินที่จะต้องมีคำรับรองของนายกเทศมนตรี ให้ประธานสภาเทศบาลเป็นผู้วินิจฉัย
มาตรา ๖๒[๙๒] ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สภาเทศบาลได้มีมติเห็นชอบด้วยกับร่างเทศบัญญัติใด ในกรณีเทศบาลตำบล ให้ประธานสภาเทศบาลส่งร่างเทศบัญญัติไปยังนายอำเภอเพื่อส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ในกรณีเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร ให้ประธานสภาเทศบาลส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา
ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องพิจารณาร่างเทศบัญญัติตามวรรคหนึ่งให้เสร็จและส่งคืนประธานสภาเทศบาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างเทศบัญญัตินั้น ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างเทศบัญญัติดังกล่าว
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างเทศบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งนายกเทศมนตรีลงนามใช้บังคับเป็นเทศบัญญัติต่อไป แต่ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วย ให้ส่งร่างเทศบัญญัตินั้นพร้อมด้วยเหตุผลคืนไปยังสภาเทศบาล และให้สภาเทศบาลพิจารณาใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างเทศบัญญัติคืนมา ถ้าสภาเทศบาลมีมติยืนยันตามร่างเทศบัญญัติเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกสภาเทศบาลเท่าที่มีอยู่ ให้ประธานสภาเทศบาลส่งร่างเทศบัญญัตินั้นให้นายกเทศมนตรีลงนามใช้บังคับเป็นเทศบัญญัติ และแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบต่อไป แต่ถ้าสภาเทศบาลไม่ยืนยันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างเทศบัญญัติคืนจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือยืนยันตามร่างเทศบัญญัติเดิมด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่าสองในสามของสมาชิกสภาเทศบาลเท่าที่มีอยู่ ให้ร่างเทศบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป[๙๓]
มาตรา ๖๒ ทวิ[๙๔] (ยกเลิก)
มาตรา ๖๒ ตรี[๙๕] ในกรณีที่สภาเทศบาลไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยกรรมการจำนวนสิบห้าคน เพื่อพิจารณาหาข้อยุติความขัดแย้ง โดยแก้ไข ปรับปรุง หรือยืนยันสาระสำคัญในร่างเทศบัญญัตินั้น ทั้งนี้ ให้ยึดถือหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประโยชน์ของท้องถิ่นและประชาชนเป็นสำคัญ
คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งสภาเทศบาลเสนอจำนวนเจ็ดคน และบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งนายกเทศมนตรีเสนอจำนวนเจ็ดคน โดยให้แต่งตั้งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สภาเทศบาลมีมติไม่รับหลักการ และให้กรรมการทั้งสิบสี่คนร่วมกันปรึกษาและเสนอบุคคล ซึ่งมิได้เป็นนายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี เลขานุการนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และมิได้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลคนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่กรรมการครบจำนวนสิบสี่คน
ในกรณีที่ไม่สามารถเสนอบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นกรรมการหรือประธานกรรมการได้ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง หรือกรรมการหรือประธานกรรมการไม่ปฏิบัติ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งบุคคลซึ่งมิได้เป็นนายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี เลขานุการนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และมิได้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลทำหน้าที่กรรมการหรือประธานกรรมการดังกล่าวให้ครบตามจำนวน
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งพิจารณาร่างเทศบัญญัติให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันที่ได้แต่งตั้งประธานกรรมการในคราวแรก แล้วรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีที่คณะกรรมการไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ประธานกรรมการรวบรวมผลการพิจารณาแล้ววินิจฉัยชี้ขาดโดยเร็ว แล้วรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งร่างเทศบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการหรือประธานกรรมการในวรรคสี่ให้นายกเทศมนตรีโดยเร็ว แล้วให้นายกเทศมนตรีเสนอร่างเทศบัญญัติดังกล่าวต่อสภาเทศบาลตามมาตรา ๖๑ ทวิ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับร่างเทศบัญญัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด หากนายกเทศมนตรีไม่เสนอร่างเทศบัญญัตินั้นต่อสภาเทศบาลภายในเวลาที่กำหนด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อสั่งให้นายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๖๒ จัตวา[๙๖] ให้สภาเทศบาลพิจารณาร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายตามมาตรา ๖๒ ตรี วรรคห้า ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างเทศบัญญัติจากนายกเทศมนตรี หากสภาเทศบาลพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดหรือมีมติไม่เห็นชอบให้ตราเทศบัญญัตินั้น ให้ร่างเทศบัญญัตินั้นตกไป และให้ใช้เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีที่แล้วไปพลางก่อน ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มีคำสั่งยุบสภาเทศบาล
ในการพิจารณาร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของสภาเทศบาล การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกมีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้
มาตรา ๖๓ นอกจากที่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น เทศบัญญัตินั้นให้ใช้บังคับได้ เมื่อประกาศไว้โดยเปิดเผยที่สำนักงานเทศบาลแล้วเจ็ดวัน เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉิน ถ้ามีความระบุไว้ในเทศบัญญัตินั้นว่าให้ใช้บังคับทันที ก็ให้ใช้บังคับในวันที่ได้ประกาศนั้น
มาตรา ๖๔ ในกรณีฉุกเฉินซึ่งจะเรียกประชุมสภาเทศบาลให้ทันท่วงทีมิได้ คณะเทศมนตรีอาจออกเทศบัญญัติชั่วคราวได้เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด และเมื่อได้ประกาศไว้โดยเปิดเผยที่สำนักงานเทศบาลแล้วก็ให้ใช้บังคับได้
ในการประชุมสภาเทศบาลคราวต่อไป ให้นำเทศบัญญัติชั่วคราวนั้นเสนอต่อสภาเทศบาลเพื่ออนุมัติ ถ้าสภาเทศบาลอนุมัติแล้ว เทศบัญญัติชั่วคราวนั้นก็เป็นเทศบัญญัติต่อไป ถ้าสภาเทศบาลไม่อนุมัติ เทศบัญญัติชั่วคราวนั้นก็เป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้เทศบัญญัติชั่วคราวนั้น
คำอนุมัติและไม่อนุมัติของสภาเทศบาลที่กล่าวนี้ ให้ทำเป็นเทศบัญญัติ
ส่วนที่ ๕
การคลังและทรัพย์สินของเทศบาล
มาตรา ๖๕ งบประมาณประจำปีของเทศบาลต้องตราขึ้นเป็นเทศบัญญัติ ถ้าเทศบัญญัติงบประมาณออกไม่ทันปีใหม่ ให้ใช้เทศบัญญัติงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลาง
ถ้าในปีใดจำนวนเงินซึ่งได้อนุญาตไว้ตามงบประมาณปรากฏว่าไม่พอสำหรับการใช้จ่ายประจำปีก็ดี หรือมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งรายรับหรือรายจ่ายขึ้นใหม่ในระหว่างปีก็ดี ให้ตราขึ้นเป็นเทศบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม
มาตรา ๖๖[๙๗] เทศบาลอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ภาษีอากรตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
(๒) ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับ ตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
(๓) รายได้จากทรัพย์สินของเทศบาล
(๔) รายได้จากการสาธารณูปโภคและเทศพาณิชย์
(๕) พันธบัตร หรือเงินกู้ ตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
(๖) เงินกู้จากกระทรวง ทบวง กรม องค์การ หรือนิติบุคคลต่าง ๆ
(๗) เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(๘) เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีผู้อุทิศให้
(๙) รายได้อื่นใดตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้
การกู้เงินตาม (๖) เทศบาลจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสภาเทศบาล และได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว
มาตรา ๖๗[๙๘] เทศบาลอาจมีรายจ่าย ดังต่อไปนี้
(๑) เงินเดือน
(๒) ค่าจ้าง
(๓) เงินตอบแทนอื่น ๆ
(๔) ค่าใช้สอย
(๕) ค่าวัสดุ
(๖) ค่าครุภัณฑ์
(๗) ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และทรัพย์สินอื่น ๆ
(๘) เงินอุดหนุน
(๙) รายจ่ายอื่นใดตามข้อผูกพันหรือตามที่มีกฎหมายหรือระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้
มาตรา ๖๗ ทวิ[๙๙] การจ่ายเงินตามมาตรา ๖๗ (๘) และการจ่ายเงินเพื่อการลงทุน เทศบาลจะกระทำได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภาเทศบาลและผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติแล้ว
มาตรา ๖๗ ตรี[๑๐๐] การจ่ายเงินตามมาตรา ๖๗ (๙) ถ้าเป็นการชำระเงินกู้เมื่อถึงกำหนดชำระ เทศบาลจะต้องชำระเงินกู้นั้นจากทรัพย์สินของเทศบาลไม่ว่าจะตั้งงบประมาณรายจ่ายประเภทนี้ไว้หรือไม่
มาตรา ๖๘[๑๐๑] การจ่ายเงินค่าตอบแทนแก่ประธานสภาเทศบาล รองประธานสภาเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล และการจ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมให้แก่กรรมการที่สภาเทศบาลแต่งตั้งขึ้น ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
มาตรา ๖๙ ให้กระทรวงมหาดไทยตราระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการคลังรวมตลอดถึงวิธีการงบประมาณ การรักษาทรัพย์สิน การจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สิน การจัดหาพัสดุและการจ้างเหมาขึ้นไว้
มาตรา ๗๐ โดยปกติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจัดให้มีการตรวจสอบการคลัง การบัญชี หรือการเงินอื่น ๆ ของเทศบาลปีละครั้ง
ส่วนที่ ๖
การควบคุมเทศบาล
มาตรา ๗๑ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลเทศบาลในจังหวัดนั้นให้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย ในการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ชี้แจงแนะนำตักเตือนเทศบาล และตรวจสอบกิจการ เรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใด ๆ จากเทศบาลมาตรวจ ตลอดจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมาชี้แจงหรือสอบสวนก็ได้
ให้นายอำเภอมีอำนาจหน้าที่ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุมดูแลเทศบาลตำบลในอำเภอนั้น ให้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย ในการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ชี้แจงแนะนำตักเตือนเทศบาลตำบล และตรวจสอบกิจการ เรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใด ๆ จากเทศบาลมาตรวจ ตลอดจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมาชี้แจงหรือสอบสวนก็ได้
มาตรา ๗๒ เมื่อนายอำเภอ ในกรณีแห่งเทศบาลตำบลในอำเภอนั้น หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีแห่งเทศบาลเมืองและเทศบาลนครเห็นว่า นายกเทศมนตรี หรือรองนายกเทศมนตรีผู้ใดปฏิบัติการของเทศบาลไปในทางที่อาจเป็นการเสียหายแก่เทศบาล หรือเสียหายแก่ราชการ และนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ได้ชี้แจงแนะนำตักเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตามนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี มีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือสั่งให้ระงับการปฏิบัติของนายกเทศมนตรีหรือรองนายกเทศมนตรีนั้นไว้ก่อนได้ แล้วให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรีบรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยสั่งการตามสมควร[๑๐๒]
คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามความในวรรคก่อน ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต
มาตรา ๗๓[๑๐๓] ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่า นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาล หรือรองประธานสภาเทศบาล ปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่เทศบาล หรือแก่ราชการ ให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยหลักฐาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจใช้ดุลพินิจสั่งให้นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาล หรือรองประธานสภาเทศบาลพ้นจากตำแหน่งก็ได้ คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นที่สุด
มาตรา ๗๔[๑๐๔] เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเขตเทศบาลหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม ผู้ว่าราชการจังหวัดจะรายงานเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อยุบสภาเทศบาลก็ได้
เมื่อมีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือกรณีอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจยุบสภาเทศบาลและให้แสดงเหตุผลไว้ในคำสั่งด้วย
เมื่อมีการยุบสภาเทศบาลหรือถือว่ามีการยุบสภาเทศบาลตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลขึ้นใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลภายในสี่สิบห้าวัน
มาตรา ๗๕ ในเมื่อเห็นจำเป็นที่จะให้เทศบาลใดอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ก็ให้ทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาให้เทศบาลใดอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทยตามความในวรรคก่อน บรรดาอำนาจและหน้าที่ของนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอันเกี่ยวกับเทศบาลนั้น ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย
ส่วนที่ ๗
คณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาล[๑๐๕]
มาตรา ๗๕ ทวิ[๑๐๖] ให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลคณะหนึ่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น* อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง* อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมสามัญศึกษา อธิบดีกรมวิสามัญศึกษา อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการส่วนการปกครองท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น* เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งอีกไม่เกินห้าคน
ให้ผู้อำนวยการส่วนการปกครองท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น* เป็นเลขานุการคณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาล
ให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและเสนอข้อแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับกิจการเทศบาลโดยทั่วไป
มาตรา ๗๕ ตรี[๑๐๗] กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี
กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
มาตรา ๗๕ จัตวา[๑๐๘] นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๗๕ ตรี กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่คดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
เมื่อกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจแต่งตั้งผู้อื่นแทนได้
กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลผู้ได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคก่อน อยู่ในตำแหน่งตามวาระเท่าผู้ที่ตนแทน
มาตรา ๗๕ เบญจ[๑๐๙] ในการประชุมของคณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาล ถ้าประธานกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลที่มาประชุมเลือกกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
มาตรา ๗๕ ฉ[๑๑๐] การประชุมทุกคราวต้องมีกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๗๖ ให้สมาชิกสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรีแห่งเทศบาลที่ได้จัดตั้งอยู่แล้วในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ พ้นจากตำแหน่ง และให้ดำเนินการเลือกตั้งและแต่งตั้งสมาชิกสภาเทศบาลใหม่ภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ แต่ให้คณะเทศมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งดำเนินกิจการในหน้าที่ของคณะเทศมนตรีต่อไปจนกว่าคณะเทศมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เว้นแต่เทศบาลใดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานเท่าจำนวนคณะเทศมนตรีแห่งเทศบาลนั้นเข้าดำเนินกิจการแทน ก็ให้คณะเทศมนตรีนั้นพ้นจากหน้าที่
การรักษาพระราชบัญญัติ
มาตรา ๗๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงหรือระเบียบข้อบังคับ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๘[๑๑๑]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในเวลานี้บางมาตรายังไม่เหมาะสม เช่น ให้เทศบาลกู้เงินได้เฉพาะจากกระทรวง ทบวง กรมหรือองค์การต่าง ๆ เท่านั้น และบางกรณีก็มิได้กำหนดความรับผิดชอบผูกพันการชำระเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันไว้ให้แน่นอน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมและรัดกุมยิ่งขึ้น
พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙[๑๑๒]
มาตรา ๑๐ สมาชิกสภาเทศบาลประเภทที่สองแห่งเทศบาลที่ดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไปจนถึงคราวออกตามวาระ และถ้าตำแหน่งว่างลงเพราะเหตุอื่นก่อนถึงคราวออกตามวาระจะแต่งตั้งสมาชิกขึ้นแทนต่อไป ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากสมควรที่จะยกเลิกสมาชิกสภาเทศบาลประเภทที่สอง เพื่อให้มีแต่สมาชิกสภาเทศบาลซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งแต่ประเภทเดียว กับแก้ไขเพิ่มเติมไม่ต้องให้มีการแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติ และวิทยฐานะเป็นสมาชิกสภาเทศบาลในฐานะเป็นผู้เริ่มการสำหรับท้องถิ่นที่เป็นสุขาภิบาลอยู่ก่อนแล้วจัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาล เพราะท้องถิ่นที่เป็นสุขาภิบาลอยู่ก่อนแล้วนั้นได้มีการปฏิบัติหน้าที่ของท้องถิ่นต่อเนื่องกันมาโดยมีกรรมการเลือกตั้งจากราษฎรเข้าสมทบเป็นกรรมการสุขาภิบาลอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้มีสมาชิกสภาเทศบาลในฐานะเป็นผู้เริ่มการอีก นอกจากนี้ การเปลี่ยนชื่อเทศบาลยังไม่มีบทบัญญัติระบุไว้ชัดแจ้งว่าจะกระทำได้โดยวิธีใดเพื่อไม่ให้มีปัญหาจึงสมควรจะได้มีบทบัญญัติไว้เสียให้ชัดว่า การเปลี่ยนชื่อเทศบาลให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ บางมาตรา
พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕[๑๑๓]
มาตรา ๖ ในกรณีที่เห็นสมควรกระทรวงมหาดไทยอาจแต่งตั้งข้าราชการไปดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติกิจการของเทศบาลใดเป็นการชั่วคราวได้ โดยไม่ขาดจากความเป็นข้าราชการและคงได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิม ถ้าแต่งตั้งข้าราชการสังกัดกระทรวงอื่น ให้กระทรวงมหาดไทยทำความตกลงกับกระทรวงเจ้าสังกัดก่อนแต่งตั้ง
ให้ข้าราชการผู้ได้รับแต่งตั้งมีฐานะอย่างเดียวกับพนักงานเทศบาลทุกประการ
มาตรา ๗ การจัดทำกิจการตามมาตรา ๕๑ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ของเทศบาลใดให้เป็นไปตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย
ความในวรรคก่อนไม่กระทบกระทั่งกิจการใด ๆ ที่เทศบาลจัดทำอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ประกาศของกระทรวงมหาดไทยตามมาตรานี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเทศบาล และเพื่อกำหนดรายจ่ายของเทศบาลให้สอดคล้องกับหลักการงบประมาณ
พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๐[๑๑๔]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ยังมีข้อขัดข้องเกี่ยวกับการมอบหมายอำนาจของคณะเทศมนตรีและนายกเทศมนตรีในการปฏิบัติงานประจำทั้งการเปรียบเทียบคดีละเมิดเทศบัญญัติและอัตราค่าปรับคดีละเมิดเทศบัญญัติก็ยังไม่อยู่ในระดับที่สมควร จึงเห็นสมควรแก้ไขพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ดังนี้
๑. ให้คณะเทศมนตรีมอบอำนาจให้นายกเทศมนตรี เทศมนตรี หรือพนักงานเทศบาล หรือนายกเทศมนตรีจะมอบอำนาจให้เทศมนตรีหรือพนักงานเทศบาลทำกิจการใด ๆ ซึ่งมีลักษณะเป็นงานประจำตามปกติ ซึ่งกฎหมายระบุว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะเทศมนตรีหรือนายกเทศมนตรีได้
๒. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจเปรียบเทียบคดีละเมิดเทศบัญญัติของนายกเทศมนตรีและเทศมนตรี เพื่อให้มีอำนาจสั่งเรียกพยานมาเพื่อบันทึกถ้อยคำประกอบการพิจารณาเปรียบเทียบคดีได้ ถ้าไม่มาให้ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
๓. แก้ไขอัตราค่าปรับคดีละเมิดเทศบัญญัติให้สูงขึ้นจากหนึ่งร้อยบาท เป็นหนึ่งพันบาท
พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑[๑๑๕]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเทศบาลยังไม่อาจจัดทำกิจการในหน้าที่บางอย่างนอกเขตเทศบาล หรือลงทุนร่วมกับราชการส่วนท้องถิ่นหรือกับบุคคลอื่นได้ ฉะนั้น เพื่อให้เทศบาลดำเนินกิจการดังกล่าวให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นยิ่งขึ้น จึงต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยเทศบาลบางมาตราเสียใหม่
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕[๑๑๖]
โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า เทศบาลเป็นหน่วยบริหารราชการของท้องถิ่น ควรจะได้ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งขจัดปัญหาความเดือดร้อนบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนอย่างแท้จริง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเทศบาลบางมาตราให้รัดกุมและชัดเจนยิ่งขึ้น
พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๑๗[๑๑๗]
มาตรา ๔ ให้เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ซึ่งยังไม่มีโรงรับจำนำหรือสถานสินเชื่อท้องถิ่น จัดตั้งโรงรับจำนำหรือสถานสินเชื่อท้องถิ่นขึ้นภายในกำหนดสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่ถ้ามีเหตุอันสมควรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจอนุญาตให้ขยายเวลาต่อไปได้อีกไม่เกินสองปี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้กำหนดหน้าที่ต่าง ๆ ให้เทศบาลต้องจัดทำภายในเขตเทศบาล แต่กิจการบางอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ยากจน คือกิจการโรงรับจำนำและกิจการสถานสินเชื่อเทศบาลยังมิได้มีหน้าที่ที่จำต้องจัดทำขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ และโดยที่พิจารณาเห็นว่ากิจการโรงรับจำนำและกิจการสถานสินเชื่อธนาภิบาลเป็นแหล่งที่อำนวยช่วยเหลือประชาชนผู้ยากจนในกรณีที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับการเงินเพื่อยังชีพของครอบครัว สมควรกำหนดให้เทศบาลมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการดำเนินกิจการโรงรับจำนำหรือกิจการสถานสินเชื่อธนาภิบาลภายในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนครทุกแห่งเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากจนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๑๙[๑๑๘]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ บางมาตรายังไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างเทศบัญญัติงบประมาณ ได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องส่งร่างเทศบัญญัติที่สภาเทศบาลไม่รับหลักการ และผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วยกับสภาเทศบาลที่ไม่รับหลักการ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าและไม่คล่องตัวในการบริหารงานท้องถิ่น สมควรแก้ไขให้เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๒๓[๑๑๙]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันนี้ กิจการงานของเทศบาลเมืองได้เพิ่มภาระและความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เนื่องจากการคมนาคม การเศรษฐกิจ การศึกษา การผังเมืองการสาธารณูปโภค และการบริการแก่สาธารณะ แต่จำนวนเทศมนตรีของเทศบาล ยังมีจำนวน ๒ คน เท่ากับเทศบาลตำบลที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๙ ความรับผิดชอบในภาระต่าง ๆ ปัจจุบันเท่ากับเทศบาลนครซึ่งมีเทศมนตรีถึง ๔ คน ด้วยเหตุดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขเพิ่มจำนวนเทศมนตรีตามสัดส่วนของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลและความรับผิดชอบในภาระต่าง ๆ ที่นับวันยิ่งสลับซับซ้อนขึ้น
พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒[๑๒๐]
มาตรา ๑๔ บรรดากิจการทั้งหลายที่สมาชิกสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรี ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามผลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กระทำไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือจนถึงวันที่มีการยุบสภาเทศบาลให้เป็นอันใช้บังคับได้และมีผลผูกพันเทศบาล
มาตรา ๑๕ การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลที่ได้กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง และวันเลือกตั้งไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปตามระยะเวลาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนด
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดหลักการในการจัดระเบียบการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นไปตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเทศบาลในส่วนของวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาล ข้อห้ามและการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาล การพ้นจากตำแหน่งเทศมนตรีและคณะเทศมนตรี การยุบสภาเทศบาล รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของเทศบาลให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓[๑๒๑]
มาตรา ๒๐ บรรดาสมาชิกสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖
มาตรา ๒๑ ให้นำมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับเทศบาลทุกแห่งนับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๐ เป็นต้นไป เว้นแต่กรณีที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่ต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครหรือสมาชิกสภาเทศบาลเมืองแห่งใด โดยเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุมีการยุบสภาหรือถึงคราวออกตามวาระ และเป็นการเลือกตั้งของเทศบาลแห่งนั้นในครั้งแรกนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีตามบทที่ ๒ ทวิ นายกเทศมนตรีในคราวเดียวกัน โดยมิให้นำมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับ แต่เมื่อสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งดังกล่าวเข้ารับตำแหน่งแล้ว ให้นำมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับเทศบาลแห่งนั้น
(๒) ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลตำบลแห่งใดเป็นเทศบาลเมืองก่อนถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๐ ให้นำความใน (๑) มาใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีของเทศบาลเมืองนั้นด้วยโดยอนุโลม
การบริหารเทศบาลตำบลให้ดำเนินการบริหารในรูปแบบคณะเทศมนตรี ตามบทที่ ๒ คณะเทศมนตรี ต่อไป ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลขึ้นใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หลังจากวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๐ ในกรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่จะจัดให้มีขึ้นนั้น
มาตรา ๒๒ ในกรณีที่เทศบาลใดได้กำหนดวันเลือกตั้งไว้แล้วก่อนวันจัดทำประชามติตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการเลือกตั้งในรูปแบบคณะเทศมนตรีต่อไปตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๓ ในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้นำกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลหรือนายกเทศมนตรีเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
ในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี ให้เทศบาลเรียกเก็บค่าสมัครเป็นเงินจำนวนห้าพันบาท
ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ให้ถือเขตเทศบาลเป็นเขตเลือกตั้ง
ในกรณีที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีในคราวเดียวกันให้ใช้หน่วยเลือกตั้งที่เลือกตั้ง เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจคะแนน เจ้าหน้าที่คะแนน และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันก็ได้
ใบสมัครและบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลหรือนายกเทศมนตรี ให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยเรียบร้อย กระทรวงมหาดไทยอาจออกระเบียบกำหนดวิธีปฏิบัติในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลหรือนายกเทศมนตรีเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลได้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น และการเลือกตั้งคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ สมควรปรับปรุงรูปแบบการบริหารเทศบาลจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ให้นายกเทศมนตรีมาจากการเลือกกันเองของสมาชิกสภาเทศบาล เป็นให้นายกเทศมนตรีมาจากการเลือกตั้งของราษฎรในเขตเทศบาล เพื่อให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของราษฎรในท้องถิ่นโดยตรง นอกจากนี้ สมควรปรับปรุงการปฏิบัติงานของสภาเทศบาลให้เหมาะสมและสอดคล้องกันด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕[๑๒๒]
มาตรา ๖๓ ในพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๙๖ ให้แก้ไขคำว่า “กรมมหาดไทย” เป็น “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” และคำว่า “อธิบดีกรมโยธาเทศบาล” เป็น “อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง”
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้วซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖[๑๒๓]
มาตรา ๔๖ บรรดาสมาชิกสภาเทศบาล คณะเทศมนตรี นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระหรือมีการยุบสภาเทศบาล ในกรณีเช่นว่านี้ ให้บทบัญญัติในส่วนที่ ๒ บทที่ ๑ สภาเทศบาลและบทที่ ๒ คณะเทศมนตรี ในส่วนที่ ๔ เทศบัญญัติ และในส่วนที่ ๖ การควบคุมเทศบาล แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ยังคงใช้บังคับต่อไปได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔๗ ในวาระเริ่มแรกเป็นเวลาสี่ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มิให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๔๘ เบญจ (๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับกับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี
มาตรา ๔๘ บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่กำหนดการจ่ายเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของนายกเทศมนตรี เทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี เลขานุการนายกเทศมนตรี การจ่ายเงินค่าป่วยการแก่ประธานสภาเทศบาล รองประธานสภาเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล และการจ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมให้แก่กรรมการที่สภาเทศบาลแต่งตั้งขึ้น ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้ต่อไปจนกว่าจะได้มีการออกระเบียบตามมาตรา ๔๘ จตุวีสติ และมาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ กำหนดรูปแบบการบริหารเทศบาลเป็นสองรูปแบบ คือ รูปแบบคณะเทศมนตรีและรูปแบบนายกเทศมนตรี เพื่อให้การบริหารเทศบาลเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน โดยให้นายกเทศมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ประกอบกับมีบทบัญญัติบางมาตรายังไม่เหมาะสมกับการบริหารงานของเทศบาล เพื่อให้การบริหารงานของเทศบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๕๒[๑๒๔]
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติเทศบาล มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาวะในปัจจุบันเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ทั้งสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้งและสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สมควรเปิดกว้างให้เป็นดุลพินิจของประชาชนโดยเสรี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
วศิน/แก้ไข
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ชาญ/ตรวจ
๕ กันยายน ๒๕๕๔
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๐/ตอนที่ ๑๔/หน้า ๒๒๒/๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖
[๒] มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๓] มาตรา ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๔] มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๕] มาตรา ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๖] มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๗] มาตรา ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๘] มาตรา ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๙] มาตรา ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๑๐] มาตรา ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๑๑] มาตรา ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๑๒] มาตรา ๑๘ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๑๓] มาตรา ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๑๔] มาตรา ๒๐ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๑๕] มาตรา ๒๐ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๑๖] มาตรา ๒๐ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๑๗] มาตรา ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๑๘] มาตรา ๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๑๙] มาตรา ๓๐ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๒๐] มาตรา ๓๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๒๑] มาตรา ๓๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๒๒] มาตรา ๓๒ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๒๓] มาตรา ๓๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๒๔] มาตรา ๓๕ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๒๕] บทที่ ๒ คณะเทศมนตรี มาตรา ๓๖ ถึง มาตรา ๔๘ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๒๖] มาตรา ๓๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๒๗] มาตรา ๓๗ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๒๘] มาตรา ๓๘ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๒๙] มาตรา ๓๙ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๓๐] มาตรา ๔๐ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๓๑] มาตรา ๔๑ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๓๒] มาตรา ๔๒ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๓๓] มาตรา ๔๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๓๔] มาตรา ๔๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๓๕] มาตรา ๔๕ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๓๖] มาตรา ๔๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๓๗] มาตรา ๔๗ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๓๘] มาตรา ๔๘ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๓๙] บทที่ ๒ ทวิ นายกเทศมนตรี มาตรา ๔๘ ทวิ ถึง มาตรา ๔๘ ปัญจวีสติ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๔๐] มาตรา ๔๘ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๔๑] มาตรา ๔๘ ตรี ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๔๒] มาตรา ๔๘ จัตวา ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๔๓] มาตรา ๔๘ เบญจ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๔๔] มาตรา ๔๘ ฉ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๔๕] มาตรา ๔๘ สัตต แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๕๒
[๔๖] มาตรา ๔๘ อัฎฐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๔๗] มาตรา ๔๘ นว แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๔๘] มาตรา ๔๘ ทศ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๔๙] มาตรา ๔๘ เอกาทศ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๕๐] มาตรา ๔๘ ทวาทศ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๕๑] มาตรา ๔๘ เตรส เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๕๒] มาตรา ๔๘ เตรส (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๕๓] มาตรา ๔๘ จตุทศ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๕๔] มาตรา ๔๘ จตุทศ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๕๕] มาตรา ๔๘ ปัญจทศ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๕๖] มาตรา ๔๘ โสฬส เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๕๗] มาตรา ๔๘ โสฬส (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๕๘] มาตรา ๔๘ โสฬส วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๕๙] มาตรา ๔๘ โสฬส วรรคสาม เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๖๐] มาตรา ๔๘ สัตตรส เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๖๑] มาตรา ๔๘ อัฏฐารส เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๖๒] มาตรา ๔๘ เอกูนวีสติ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๖๓] มาตรา ๔๘ วีสติ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๖๔] มาตรา ๔๘ เอกวีสติ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๖๕] มาตรา ๔๘ ทวาวีสติ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๖๖] มาตรา ๔๘ เตวีสติ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๖๗] มาตรา ๔๘ จตุวีสติ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๖๘] มาตรา ๔๘ ปัญจวีสติ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๖๙] มาตรา ๔๙ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๗๐] มาตรา ๕๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕
[๗๑] มาตรา ๕๐ (๗) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๗๒] มาตรา ๕๐ (๘) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๗๓] มาตรา ๕๐ (๙) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๗๔] มาตรา ๕๐ วรรคสอง เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๗๕] มาตรา ๕๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑
[๗๖] มาตรา ๕๒ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๗๗] มาตรา ๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๑๗
[๗๘] มาตรา ๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑
[๗๙] มาตรา ๕๕ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๘๐] มาตรา ๕๖ (๔) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๘๑] มาตรา ๕๖ (๕) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๘๒] มาตรา ๕๖ (๖) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๘๓] มาตรา ๕๖ (๗) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๘๔] มาตรา ๕๖ (๘) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๘๕] บทที่ ๓ ทวิ การทำการนอกเขตเทศบาลและการทำการร่วมกับบุคคลอื่น มาตรา ๕๗ ทวิ ถึง มาตรา ๕๗ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑
[๘๖] มาตรา ๕๗ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑
[๘๗] มาตรา ๕๗ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑
[๘๘] มาตรา ๖๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๐
[๘๙] มาตรา ๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕
[๙๐] มาตรา ๖๑ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๙๑] มาตรา ๖๑ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๙๒] มาตรา ๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
[๙๓] มาตรา ๖๒ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๙๔] มาตรา ๖๒ ทวิ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๙๕] มาตรา ๖๒ ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๙๖] มาตรา ๖๒ จัตวา เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๙๗] มาตรา ๖๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๘
[๙๘] มาตรา ๖๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕
[๙๙] มาตรา ๖๗ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕
[๑๐๐] มาตรา ๖๗ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕
[๑๐๑] มาตรา ๖๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๑๐๒] มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๑๐๓] มาตรา ๗๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
[๑๐๔] มาตรา ๗๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
[๑๐๕] ส่วนที่ ๗ คณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาล มาตรา ๗๕ ทวิ ถึง มาตรา ๗๕ ฉ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕
[๑๐๖] มาตรา ๗๕ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕
[๑๐๗] มาตรา ๗๕ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕
[๑๐๘] มาตรา ๗๕ จัตวา เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕
[๑๐๙] มาตรา ๗๕ เบญจ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕
[๑๑๐] มาตรา ๗๕ ฉ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕
[๑๑๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๒/ตอนที่ ๙๘/หน้า ๑๖๒๕/๒๗ ธันวาคม ๒๔๙๘
[๑๑๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๔/ตอนที่ ๑๑/หน้า ๓๔๕/๒๙ มกราคม ๒๕๐๐
[๑๑๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๙/ตอนที่ ๑๘/หน้า ๒๐๐/๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕
[๑๑๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๔/ตอนที่ ๒๖/หน้า ๑๔๘/๒๑ มีนาคม ๒๕๑๐
[๑๑๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๕/ตอนที่ ๔๖/หน้า ๒๖๖/๒๑ พฤษภาคม ๒๕๑๑
[๑๑๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๑๙๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๐๒/๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕
[๑๑๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๑/ตอนที่ ๒๐๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๗/๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๗
[๑๑๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๕๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๗/๒๔ ธันวาคม ๒๕๑๙
[๑๑๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗/ตอนที่ ๑๓๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๕/๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๓
[๑๒๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๑๕ ก/หน้า ๑/๑๐ มีนาคม ๒๕๔๒
[๑๒๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๔๑ ก/หน้า ๑๒/๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓
[๑๒๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙/ตอนที่ ๑๐๒ ก/หน้า ๖๖/๘ ตุลาคม ๒๕๔๕
[๑๒๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนที่ ๑๒๔ ก/หน้า ๑/๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๖
[๑๒๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๘๕ ก/หน้า ๗/๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒