พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖

พระราชบัญญัติ

เทศบาล

พ.ศ. ๒๔๙๖

                  

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๖

เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเทศบาลให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖”

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๖ และบรรดากฎหมาย กฎ ข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

                          มาตรา ๔  เมื่อพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะท้องถิ่นใดเป็นเทศบาลแล้ว ห้ามมิให้ใช้กฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ในส่วนที่บัญญัติถึงการแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในท้องถิ่นนั้น และให้บรรดาบุคคลที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน พ้นจากตำแหน่งและหน้าที่เฉพาะในเขตท้องถิ่นนั้นด้วย

                             มาตรา ๕  ให้เทศบาลที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้วในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ คงมีฐานะเป็นเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ตามที่เป็นอยู่ แล้วแต่กรณีมีอำนาจหน้าที่และอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้

                             มาตรา ๖  บรรดาเทศบัญญัติที่ได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๗๖ พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๑ และพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๖ หรือโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายอื่นให้คงใช้บังคับได้ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเทศบัญญัติดังกล่าวในวรรคก่อนไม่ชำระค่าปรับให้นำบทบัญญัติมาตรา ๖๐ วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับ

ส่วนที่ ๑

การจัดตั้งเทศบาล

                  

มาตรา ๗  เมื่อท้องถิ่นใดมีสภาพอันสมควรยกฐานะเป็นเทศบาล ให้จัดตั้งท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง หรือเทศบาลนคร ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้เทศบาลเป็นทบวงการเมือง มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น

                           มาตรา ๘[๒]  การจัดตั้งเทศบาลภายหลังวันที่พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ ใช้บังคับ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติและวิทยฐานะตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ให้เป็นสมาชิกแห่งสภาเทศบาลนั้นในฐานะเป็นผู้เริ่มการ และให้นำบทบัญญัติ ว่าด้วยสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรีมาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่สภาเทศบาลได้มีการประชุมกันครั้งแรก ให้สภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามมาตรา ๑๕

ท้องถิ่นใดที่มีสภาพเป็นสุขาภิบาลอยู่แล้ว หากต่อมาได้มีการจัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาล ก็ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕ โดยไม่ต้องมีการแต่งตั้งสมาชิกเป็นผู้เริ่มการตามวรรคแรก

มาตรา ๙  เทศบาลตำบลได้แก่ท้องถิ่นซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย

                         มาตรา ๑๐[๓]  เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่หนึ่งหมื่นคนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลเมือง พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย

                         มาตรา ๑๑[๔]  เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ห้าหมื่นคนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลนคร พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย

มาตรา ๑๒[๕]  ภายใต้บังคับมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ การเปลี่ยนชื่อเทศบาล หรือการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

                           ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในท้องถิ่นที่ได้เปลี่ยนแปลงเขตเป็นเทศบาลตามความในวรรคก่อน หมดอำนาจหน้าที่เฉพาะในเขตที่ได้เปลี่ยนแปลงนั้น นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลใช้บังคับเป็นต้นไป

มาตรา ๑๓  ภายใต้บังคับมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ ท้องถิ่นซึ่งได้ยกฐานะเป็นเทศบาลแล้วอาจถูกเปลี่ยนแปลงฐานะหรือยุบเลิกได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

                     ท้องถิ่นที่ได้เปลี่ยนแปลงฐานะตามความในวรรคก่อน ให้พ้นจากสภาพแห่งเทศบาลเดิมนับแต่วันที่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นต้นไป บรรดาทรัพย์สินหนี้ สิทธิ และสิทธิเรียกร้องของเทศบาลเดิม ให้โอนไปเป็นของเทศบาลใหม่ในขณะเดียวกันนั้น และบรรดาเทศบัญญัติที่ได้ใช้บังคับอยู่ก่อนแล้วคงให้ใช้บังคับได้ต่อไป

ในการยุบเลิกเทศบาล ให้ระบุถึงวิธีการจัดทรัพย์สินไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้นด้วย

ส่วนที่ ๒

องค์การเทศบาล

                  

มาตรา ๑๔[๖]  องค์การเทศบาลประกอบด้วยสภาเทศบาล และคณะเทศมนตรีหรือนายกเทศมนตรีแล้วแต่กรณี

เทศบาลแห่งใดจะมีการบริหารในรูปแบบคณะเทศมนตรีหรือนายกเทศมนตรี ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตเทศบาลแต่ละแห่งตามวิธีการที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติมาตรานี้

                         ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในเขตเทศบาลใดจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในเขตเทศบาลนั้นมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้จัดทำประชามติในเขตเทศบาลนั้นว่าจะกำหนดให้การบริหารเทศบาลใช้รูปแบบคณะเทศมนตรีหรือนายกเทศมนตรี ผลของประชามติให้นำมาใช้เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเป็นการทั่วไปในคราวถัดไปจากวันที่มีการออกเสียงประชามติ และให้ใช้รูปแบบการบริหารตามผลประชามตินั้นตลอดไปจนกว่าจะมีการออกเสียงประชามติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในเขตเทศบาลนั้นให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารเทศบาลเป็นอย่างอื่น

                           การร้องขอให้ทำประชามติตามวรรคสามต้องเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนครบวาระของสภาเทศบาลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้นไม่น้อยกว่าสามร้อยหกสิบวัน และจะกระทำในวาระของสภาเทศบาลหนึ่งได้เพียงครั้งเดียว

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในเขตเทศบาลนั้นเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำประชามติที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ในกรณีที่ผลประชามติในเขตเทศบาลใดแสดงความเห็นให้มีการบริหารในรูปแบบคณะเทศมนตรีให้บังคับตามบทที่ ๒ คณะเทศมนตรี และไม่นำบทที่ ๒ ทวิ นายกเทศมนตรีมาใช้บังคับ

ในกรณีที่ผลประชามติในเขตเทศบาลใดแสดงความเห็นให้มีการบริหารในรูปแบบนายกเทศมนตรี ให้บังคับตามบทที่ ๒ ทวิ นายกเทศมนตรี และไม่นำบทที่ ๒ คณะเทศมนตรี มาใช้บังคับ

บทที่ ๑

สภาเทศบาล

                  

มาตรา ๑๕[๗]  สภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งเลือกตั้งโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามจำนวนดังต่อไปนี้

(๑) สภาเทศบาลตำบล ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสิบสองคน

(๒) สภาเทศบาลเมือง ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสิบแปดคน

(๓) สภาเทศบาลนคร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนยี่สิบสี่คน

ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดและยังมิได้มีการเลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่

                              มาตรา ๑๖[๘]  สมาชิกสภาเทศบาลให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละสี่ปี ถ้าตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลขึ้นแทน ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่วาระของสมาชิกสภาเทศบาลจะเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

สมาชิกสภาเทศบาลผู้เข้ามาแทนตามวรรคหนึ่งให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของผู้ซึ่งตนแทน

                            มาตรา ๑๗  ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาเทศบาลต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาเทศบาลว่าจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งจะซื่อสัตย์สุจริตและปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น

มาตรา ๑๘  สมาชิกสภาเทศบาลย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนในเขตเทศบาลนั้นและต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ

มาตรา ๑๘ ทวิ[๙]  สมาชิกสภาเทศบาลต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่เทศบาลเป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทำให้แก่เทศบาลหรือที่เทศบาลจะกระทำ

มาตรา ๑๙[๑๐]  สมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลสิ้นสุดลงเมื่อ

(๑) ถึงคราวออกตามวาระ หรือมีการยุบสภาเทศบาล

(๒) ตาย

(๓) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล

(๕) ขาดประชุมสภาเทศบาลสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๖) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๑๘ ทวิ

(๗) สภาเทศบาลมีมติให้ออกจากตำแหน่ง โดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่เทศบาลหรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ของสภาเทศบาล มติให้สมาชิกสภาเทศบาลออกจากตำแหน่งต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่

(๘) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาลได้ลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง

เมื่อมีกรณีสงสัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (๔) (๕) หรือ (๖) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว

ในกรณีสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลสิ้นสุดลงตาม (๘) พร้อมกันทั้งหมด ให้ถือว่าเป็นการยุบสภาเทศบาล

มาตรา ๒๐  สภาเทศบาลมีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานสภาคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาลตามมติของสภาเทศบาล

ประธานสภาเทศบาลและรองประธานสภาเทศบาลอยู่ในตำแหน่งจนครบอายุของสภาเทศบาลหรือมีการยุบสภาเทศบาล หรือถือว่ามีการยุบสภาเทศบาลตามมาตรา ๑๙ วรรคสาม[๑๑]

มาตรา ๒๐ ทวิ[๑๒]  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๐ วรรคสอง ประธานสภาเทศบาลและรองประธานสภาเทศบาลพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) พ้นจากสมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาล

(๒) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

                            มาตรา ๒๐ ตรี[๑๓]  ในกรณีที่ตำแหน่งประธานสภาเทศบาลหรือรองประธานสภาเทศบาลว่างลงเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา ๒๐ ทวิ ให้สภาเทศบาลเลือกสมาชิกสภาเทศบาลขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง

มาตรา ๒๑  ประธานสภาเทศบาล มีหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาเทศบาลให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาล

รองประธานสภาเทศบาล มีหน้าที่กระทำกิจการแทนประธานสภาเทศบาลในเมื่อประธานสภาเทศบาลไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

มาตรา ๒๒  ในเมื่อประธานและรองประธานสภาเทศบาลไม่อยู่ในที่ประชุมให้สมาชิกสภาเทศบาลเลือกตั้งกันเองเป็นประธานเฉพาะในคราวประชุมนั้น

มาตรา ๒๓  ให้กระทรวงมหาดไทยวางระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาลไว้

มาตรา ๒๔  ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญสองสมัยหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาเทศบาลจะกำหนด แต่ต้องไม่เกินสี่สมัย วันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีให้สภาเทศบาลกำหนด

การประชุมสภาเทศบาลครั้งแรก ต้องกำหนดให้สมาชิกได้มาประชุมภายในเก้าสิบวัน นับแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเสร็จแล้ว

สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง ๆ ให้มีกำหนดไม่เกินสิบห้าวัน แต่ถ้าจะขยายเวลาออกไปอีก จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด

มาตรา ๒๕  โดยปกติให้ประธานสภาเทศบาลเป็นผู้เรียกประชุมสภาเทศบาลตามสมัยประชุม และเป็นผู้เปิดหรือปิดประชุม

ในกรณีที่ยังไม่มีประธานสภาเทศบาล หรือประธานสภาเทศบาลไม่เรียกประชุมตามกฎหมาย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เรียกประชุมและเป็นผู้เปิดหรือปิดประชุม

                         มาตรา ๒๖  นอกจากสมัยประชุมสามัญแล้ว เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งเทศบาล ประธานสภาเทศบาลก็ดี หรือนายกเทศมนตรีก็ดีหรือสมาชิกสภาเทศบาลมีจำนวนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งก็ดี อาจทำคำร้องยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้เปิดประชุมวิสามัญให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ถ้าเห็นสมควรก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกประชุมวิสามัญได้

สมัยประชุมวิสามัญให้มีกำหนดไม่เกินสิบห้าวัน แต่ถ้าจะขยายเวลาออกไปอีก จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด

มาตรา ๒๗[๑๔]  การประชุมสภาเทศบาล ต้องมีสมาชิกสภาเทศบาลมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม

มาตรา ๒๘  การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้

สมาชิกสภาเทศบาลคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนลงเสียงลงคะแนนเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๒๙  ห้ามมิให้สภาเทศบาลประชุมปรึกษาหารือในเรื่องนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือเรื่องที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือเรื่องการเมืองแห่งรัฐ

มาตรา ๓๐  การประชุมของสภาเทศบาลย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่จะได้กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาล

เมื่อคณะเทศมนตรี หรือสมาชิกสภาเทศบาลรวมกันไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม ร้องขอให้ทำการประชุมลับ ก็ให้ประธานสภาเทศบาลดำเนินการประชุมลับได้โดยไม่ต้องขอมติที่ประชุม

มาตรา ๓๑  ในที่ประชุมสภาเทศบาล สมาชิกย่อมมีสิทธิตั้งกระทู้ถามคณะเทศมนตรี หรือเทศมนตรีในข้อความใด ๆ อันเกี่ยวกับการงานในหน้าที่ได้แต่คณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะไม่ตอบ เมื่อเห็นว่าข้อความนั้น ๆ ยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของเทศบาล

มาตรา ๓๒[๑๕]  สภาเทศบาลมีอำนาจเลือกสมาชิกสภาเทศบาลตั้งเป็นคณะกรรมการสามัญของสภาเทศบาล และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมการวิสามัญของสภาเทศบาล เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาเทศบาล แล้วรายงานต่อสภาเทศบาล

ในการตั้งคณะกรรมการวิสามัญตามวรรคหนึ่ง นายกเทศมนตรีมีสิทธิเสนอชื่อบุคคลผู้เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิก เพื่อให้สภาเทศบาลแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการวิสามัญได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด

คณะกรรมการที่สภาเทศบาลตั้งขึ้นตามวรรคหนึ่ง จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้

มาตรา ๓๒ ทวิ[๑๖]  ในกรณีกิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของเทศบาลหรือประชาชนในท้องถิ่น สมาชิกสภาเทศบาลจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่หรือคณะเทศมนตรีอาจเสนอต่อประธานสภาเทศบาลเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในท้องถิ่นได้ และประกาศให้ประชาชนทราบ

การออกเสียงประชามติต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอปรึกษาความเห็นของประชาชนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกิจการสำคัญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามวรรคหนึ่ง ซึ่งมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย การออกเสียงประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะจะกระทำมิได้

บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ

การออกเสียงประชามติตามมาตรานี้ให้มีผลเป็นเพียงการให้คำปรึกษาแก่สภาเทศบาลหรือคณะเทศมนตรีในเรื่องนั้น

หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๓๓  การประชุมคณะกรรมการตามมาตรา ๓๒ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ระเบียบการประชุมของคณะกรรมการให้ใช้ระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาลโดยอนุโลม

มาตรา ๓๔  สมาชิกสภาเทศบาลไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่ง มีสิทธิที่จะรวมกันทำคำร้องยื่นต่อนายอำเภอในกรณีแห่งเทศบาลตำบล หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในกรณีแห่งเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนครว่าคณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีผู้ใดปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่งหรือแก่เทศบาลหรือแก่ราชการ เมื่อนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ได้รับคำร้องนั้น ให้พิจารณาว่าจะสมควรเรียกประชุมสมาชิกสภาเทศบาลหรือไม่ ถ้าเป็นการสมควรก็ให้เรียกประชุมสมาชิกสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรี เพื่อให้มีการอภิปรายเกี่ยวด้วยคำร้องนั้นว่า สมควรจะส่งไปยังกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ เมื่อที่ประชุมมีมติอย่างใด ให้นายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี ปฏิบัติไปตามมตินั้น

การประชุมตามความในวรรคก่อนให้เป็นการประชุมลับโดยให้นายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี เป็นประธาน การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาในการประชุมนี้ ให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ

ระเบียบการประชุมนั้น ให้ใช้ระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาลโดยอนุโลม แต่ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่ง จึงจะเป็นองค์ประชุม

มาตรา ๓๕  เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับคำร้องตามความในมาตราก่อนแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจสั่งให้ยกคำร้องนั้นเสีย หรือสั่งให้เทศมนตรีทั้งคณะหรือเทศมนตรีผู้ใดออกจากตำแหน่งได้เพื่อประโยชน์ในการนี้ จะสั่งให้มีการสอบสวนก่อนก็ได้

บทที่ ๒

คณะเทศมนตรี[๑๗]

                  

มาตรา ๓๖[๑๘]  ในกรณีที่ประชาชนในเขตเทศบาลใดออกเสียงแสดงประชามติให้การบริหารเทศบาลในรูปแบบคณะเทศมนตรี ให้เทศบาลนั้นมีคณะเทศมนตรี ประกอบด้วยนายกเทศมนตรีคนหนึ่งและเทศมนตรีตามจำนวนดังนี้

(๑) เทศบาลตำบล ให้มีเทศมนตรีไม่เกินสองคน

(๒) เทศบาลเมือง ให้มีเทศมนตรีไม่เกินสามคน

(๓) เทศบาลนคร ให้มีเทศมนตรีไม่เกินสี่คน

มาตรา ๓๗  ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเป็นนายกเทศมนตรีและเทศมนตรี ด้วยความเห็นชอบของสภาเทศบาล

มาตรา ๓๘  เมื่อประธานหรือรองประธานสภาเทศบาลผู้ใดได้รับแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีหรือเทศมนตรี ให้พ้นจากตำแหน่งประธานหรือรองประธานสภาเทศบาลนั้น

มาตรา ๓๙[๑๙]  ให้คณะเทศมนตรีควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมาย โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า

ในกรณีที่นายกเทศมนตรีไม่อาจบริหารกิจการได้ ให้นายกเทศมนตรีตั้งเทศมนตรีผู้หนึ่งทำการแทน

การสั่ง การอนุญาต การให้อนุมัติหรือการปฏิบัติกิจการที่คณะเทศมนตรีหรือนายกเทศมนตรีจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมายใด ถ้ากฎหมายนั้นมิได้บัญญัติในเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น คณะเทศมนตรีหรือนายกเทศมนตรีอาจมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้นายกเทศมนตรี เทศมนตรี ปลัดเทศบาลหรือรองปลัดเทศบาลทำการแทนคณะเทศมนตรีหรือนายกเทศมนตรีแล้วแต่กรณีได้และในกรณีได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะมอบอำนาจให้พนักงานเทศบาลตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้าแผนกขึ้นไปทำการแทนก็ได้

มาตรา ๔๐[๒๐]  ถ้าในเขตเทศบาลใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นเป็นการสมควรให้นายกเทศมนตรี เทศมนตรี ปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาลหรือหัวหน้าแขวงในเขตเทศบาลนั้นมีอำนาจเปรียบเทียบคดีละเมิดเทศบัญญัติได้ก็ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในการเปรียบเทียบคดีตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อได้เปรียบเทียบคดีใดแล้ว ให้รีบส่งบันทึกการเปรียบเทียบพร้อมด้วยสำนวนไปยังพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแห่งเขตท้องที่ซึ่งเทศบาลนั้นตั้งอยู่เพื่อดำเนินการต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยมิชักช้า

มาตรา ๔๑  เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ แล้ว ให้นายกเทศมนตรีและเทศมนตรีมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับอำนาจหน้าที่ของกำนันและผู้ใหญ่บ้านบรรดาที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องที่หรือกฎหมายอื่น เท่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและได้กำหนดขึ้นไว้โดยกฎกระทรวง

มาตรา ๔๒  ให้เทศบาลมีพนักงานเทศบาลและจัดแบ่งการบริหารออกเป็นส่วนต่าง ๆ ตามปริมาณและคุณภาพของงานโดยมีปลัดเทศบาลเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานประจำทั่วไปของเทศบาล

มาตรา ๔๓  ระเบียบพนักงานเทศบาลให้ตราขึ้นเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๔๔  ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ถือว่า นายกเทศมนตรี เทศมนตรีและพนักงานเทศบาล มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา

มาตรา ๔๕[๒๑]  เทศมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) สมาชิกสภาเทศบาลถึงคราวออกตามวาระ

(๒) มีการยุบสภาเทศบาล

(๓) สมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลสิ้นสุดลงพร้อมกันทั้งหมดตามมาตรา ๑๙ (๘)

(๔) สภาเทศบาลไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณและผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับสภาเทศบาล หรือสภาเทศบาลไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลที่อยู่ในตำแหน่ง

(๕) ความเป็นเทศมนตรีของนายกเทศมนตรีสิ้นสุดลง หรือคณะเทศมนตรีลาออก หรือ

(๖) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้เทศมนตรีทั้งคณะออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๗๓

ในกรณีที่เทศมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตาม (๑) (๔) หรือ (๕) คณะเทศมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินกิจการต่อไปจนกว่าคณะเทศมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

เมื่อเทศมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตาม (๔) (๕) หรือ (๖) ให้สภาเทศบาลเลือกสมาชิกสภาเทศบาลเป็นคณะเทศมนตรีขึ้นใหม่แล้วเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งภายในสิบห้าวัน  นับแต่วันที่คณะเทศมนตรีออกจากตำแหน่ง และถ้าพ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันแล้วไม่อาจแต่งตั้งคณะเทศมนตรีได้โดยมีสาเหตุสำคัญจากสภาเทศบาล ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อยุบสภาเทศบาล

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งยุบสภาเทศบาลตามวรรคสาม หรือเทศมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตาม (๒) หรือ (๓) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งข้าราชการหรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนั้นเป็นคณะเทศมนตรีเพื่อดำเนินกิจการชั่วคราวจนกว่าคณะเทศมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

ในระหว่างที่ไม่มีคณะเทศมนตรี ให้ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเป็นการชั่วคราวเท่าที่จำเป็นได้จนกว่าคณะเทศมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

มาตรา ๔๖[๒๒]  นอกจากที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๕ แล้ว ความเป็นเทศมนตรีจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ

(๑) พ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาล

(๒) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

(๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ออกตามมาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๗๓

(๔) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาลได้ลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา ๔๗[๒๓]  คณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สั่งให้ออกจากตำแหน่ง หรือเทศมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๔๖ (๔) จะเป็นนายกเทศมนตรีหรือเทศมนตรีตลอดวาระของสภาเทศบาลนั้นอีกไม่ได้

มาตรา ๔๘[๒๔]  เมื่อคณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่หรือมีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่งหรือแก่เทศบาลหรือราชการ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้สอบสวนแล้วเห็นว่าจะให้คงอยู่ในตำแหน่งในระหว่างการสอบสวนจะเป็นการเสียหายแก่เทศบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจที่จะสั่งพักคณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีได้ไม่เกินสามสิบวัน แล้วให้รีบรายงานการสั่งพักไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันสั่งพัก เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้สอบสวนเสร็จแล้วให้รีบรายงานผลแห่งการสอบสวนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร

ถ้าการสอบสวนไม่เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามความในวรรคหนึ่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขออนุมัติขยายกำหนดเวลาสั่งพักไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจสั่งขยายเวลาออกไปอีกไม่เกินหกสิบวัน เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวนี้แล้วถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้สั่งการอย่างใด ก็ให้คณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีที่ถูกสั่งพักกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม

คณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีที่ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งพัก อาจอุทธรณ์คำสั่งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ โดยยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งเรื่องอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์นั้น

ในกรณีที่คณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีถูกสั่งพักตามวรรคหนึ่ง ให้สภาเทศบาลเลือกสมาชิกสภาเทศบาลมีจำนวนเท่ากับผู้ที่ถูกสั่งพัก แล้วเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการสั่งพักเพื่อดำเนินกิจการในหน้าที่แทนชั่วคราว ถ้าพ้นกำหนดสิบห้าวันแล้วไม่อาจแต่งตั้งคณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีได้ โดยมีสาเหตุสำคัญจากสภาเทศบาลและผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าคณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีที่เหลืออยู่ไม่อาจบริหารกิจการของเทศบาลต่อไปได้ ให้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยุบสภาเทศบาล

บทที่ ๒ ทวิ

นายกเทศมนตรี[๒๕]

                  

มาตรา ๔๘ ทวิ  ในกรณีที่ประชาชนในเขตเทศบาลใดออกเสียงแสดงประชามติให้การบริหารในเขตเทศบาลใช้รูปแบบนายกเทศมนตรี ให้เทศบาลนั้นมีนายกเทศมนตรีคนหนึ่งซึ่งเลือกตั้งโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาล

การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีให้กระทำโดยวิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

หลักเกณฑ์และวิธีการสมัครรับเลือกตั้งและการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

มาตรา ๔๘ ตรี  บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรี

(๑) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง และ

(๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง

มาตรา ๔๘ จัตวา  บุคคลผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรี

(๑) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๒) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

(๓) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

(๔) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

มาตรา ๔๘ เบญจ  บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี

(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง และ

(๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลในวันสมัครรับเลือกตั้งและได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ให้เทศบาล ในปีที่สมัครหรือในปีก่อนปีที่สมัครหนึ่งปี

มาตรา ๔๘ ฉ  บุคคลผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี

(๑) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๔๘ จัตวา (๑) (๒) หรือ (๔)

(๒) ติดยาเสพย์ติดให้โทษ

(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๔) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

(๕) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไปโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

(๖) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

(๗) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

(๘) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ

(๙) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา

(๑๐) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือของรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

(๑๑) อยู่ในระหว่างต้องห้ามหรือตัดสิทธิมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

(๑๒) เคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งถูกให้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

(๑๓) เคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งราษฎรลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นและยังไม่พ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งครั้งหลังสุดจนถึงวันเลือกตั้ง

มาตรา ๔๘ สัตต  ให้นายกเทศมนตรีดำรงตำแหน่งนับแต่วันเลือกตั้งและมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

เมื่อนายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง

มาตรา ๔๘ อัฏฐ  นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีซึ่งมิใช่สมาชิกสภาเทศบาลเป็นผู้ช่วยเหลือในการบริหารราชการของเทศบาลตามที่นายกเทศมนตรีมอบหมายได้ตามจำนวนดังต่อไปนี้

(๑) เทศบาลตำบล ให้มีรองนายกเทศมนตรีไม่เกินสองคน

(๒) เทศบาลเมือง ให้มีรองนายกเทศมนตรีไม่เกินสามคน

(๓) เทศบาลนคร ให้มีรองนายกเทศมนตรีไม่เกินสี่คน

มาตรา ๔๘ นว  รองนายกเทศมนตรีต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๔๘ เบญจ (๑) และ (๒) และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๘ ฉ

มาตรา ๔๘ ทศ  นายกเทศมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการต้องแถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลโดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่ง

ก่อนแถลงนโยบายต่อสภาเทศบาล นายกเทศมนตรีต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาเทศบาลว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของราษฎรหรือราชการ นายกเทศมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้

ให้นายกเทศมนตรีรายงานและแถลงผลการปฏิบัติงานตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ตามวรรคหนึ่งต่อสภาเทศบาลเป็นประจำทุกปี

ในกรณีที่ประธานสภาเทศบาลไม่เรียกประชุมสภาเทศบาลภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เรียกประชุมและเป็นผู้เปิดหรือปิดประชุม

มาตรา ๔๘ เอกาทศ  นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี หรือผู้ซึ่งนายกเทศมนตรีมอบหมายมีสิทธิเข้าประชุมสภาเทศบาลและมีสิทธิแถลงข้อเท็จจริงตลอดจนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของตนต่อที่ประชุม แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

มาตรา ๔๘ ทวาทศ  สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมสภาเทศบาลเพื่อให้นายกเทศมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการเทศบาลโดยไม่มีการลงมติ

ญัตติตามวรรคหนึ่งให้ยื่นต่อประธานสภาเทศบาล และให้ประธานสภาเทศบาลกำหนดวันสำหรับการอภิปรายทั่วไป ซึ่งต้องไม่เร็วกว่าห้าวันและไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ แล้วแจ้งให้นายกเทศมนตรีทราบ

มาตรา ๔๘ เตรส  นายกเทศมนตรีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย เทศบัญญัติ และนโยบาย

(๒) สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาล

(๓) แต่งตั้งและถอดถอนรองนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และเลขานุการนายกเทศมนตรี

(๔) วางระเบียบเพื่อให้งานของเทศบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

(๕) รักษาการให้เป็นไปตามเทศบัญญัติ

(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น

มาตรา ๔๘ จตุทศ  นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีและเลขานุการนายกเทศมนตรีต้องไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่อื่นใดในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ การพาณิชย์ของเทศบาล บริษัทที่เทศบาลถือหุ้น หรือตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น เว้นแต่ตำแหน่งที่ต้องดำรงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

(๒) รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ เป็นพิเศษจากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ การพาณิชย์ของเทศบาลหรือบริษัทที่เทศบาลถือหุ้น นอกเหนือไปจากที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ การพาณิชย์ของเทศบาลหรือบริษัทที่เทศบาลถือหุ้นปฏิบัติกับบุคคลในธุรกิจการงานตามปกติ

(๓) เป็นคู่สัญญาหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่ทำกับเทศบาลหรือการพาณิชย์ของเทศบาล หรือบริษัทที่เทศบาลถือหุ้น

บทบัญญัติตามมาตรานี้มิให้ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่งได้รับเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญหรือเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน และมิให้ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่งรับเงินตอบแทนค่าเบี้ยประชุมหรือเงินอื่นใดเนื่องจากการดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของรัฐสภาหรือวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาเทศบาลหรือสภาท้องถิ่นอื่น หรือกรรมการที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นโดยตำแหน่ง

มาตรา ๔๘ ปัญจทศ  นายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ถึงคราวออกตามวาระ

(๒) ตาย

(๓) เมื่อมีการยุบสภาเทศบาล

(๔) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

(๕) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๔๘ เบญจ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๘ ฉ

(๖) กระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา ๔๘ จตุทศ

(๗) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

(๘) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสอบสวนและสั่งให้ออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๗๓

(๙) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาลได้ลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

ในระหว่างที่ไม่มีนายกเทศมนตรี ให้ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่ของนายกเทศมนตรีเท่าที่จำเป็นได้เป็นการชั่วคราวจนกว่านายกเทศมนตรีซึ่งได้รับเลือกตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

เมื่อมีกรณีสงสัยว่าความเป็นนายกเทศมนตรีสิ้นสุดลงตาม (๕) หรือ (๖) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นที่สุด

มาตรา ๔๘ โสฬส  รองนายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) นายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่ง

(๒) นายกเทศมนตรีมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง

(๓) ตาย

(๔) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายกเทศมนตรี

(๕) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๔๘ เบญจ (๑) และ (๒) หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๘ ฉ

(๖) กระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา ๔๘ จตุทศ

(๗) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

(๘) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสอบสวนและสั่งให้ออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๗๓

ให้นำความในวรรคสามของมาตรา ๔๘ ปัญจทศ มาใช้บังคับกับกรณีรองนายกเทศมนตรีด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๔๘ สัตตรส  ให้นายกเทศมนตรีควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและลูกจ้างเทศบาล

มาตรา ๔๘ อัฏฐารส  เทศบาลแบ่งส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(๑) สำนักปลัดเทศบาล

(๒) ส่วนราชการอื่นตามที่นายกเทศมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย

การกำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักปลัดเทศบาลและส่วนราชการอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่นายกเทศมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย

มาตรา ๔๘ เอกูนวีสติ  ให้มีปลัดเทศบาลคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและลูกจ้างเทศบาลรองจากนายกเทศมนตรี และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำของเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่นายกเทศมนตรีมอบหมาย

การบริหารงานบุคคลของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา ๔๘ วีสติ  อำนาจหน้าที่ในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการของรองนายกเทศมนตรี ให้เป็นไปตามที่นายกเทศมนตรีมอบหมาย

ในกรณีที่นายกเทศมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกเทศมนตรี ตามลำดับที่นายกเทศมนตรีจัดไว้เป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีรองนายกเทศมนตรีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ปลัดเทศบาลเป็นผู้รักษาราชการแทน

อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการที่นายกเทศมนตรีจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ หรือคำสั่งใดหรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นไม่ได้กำหนดในเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่นนายกเทศมนตรีอาจมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รองนายกเทศมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีก็ได้ แต่ถ้ามอบให้ปลัดเทศบาลหรือรองปลัดเทศบาลปฏิบัติราชการแทน ให้ทำเป็นคำสั่งและประกาศให้ประชาชนทราบ

การปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีตามวรรคสาม ต้องกระทำภายใต้การกำกับดูแลและกรอบนโยบายที่นายกเทศมนตรีกำหนดไว้

มาตรา ๔๘ เอกวีสติ  ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรีและพนักงานเทศบาลเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๔๘ ทวาวีสติ  ถ้าในเขตเทศบาลใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็น

เป็นการสมควรให้นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาล หรือหัวหน้าส่วนราชการในเขตเทศบาลนั้นมีอำนาจเปรียบเทียบคดีละเมิดเทศบัญญัติได้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในการเปรียบเทียบคดีตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อได้เปรียบเทียบคดีใดแล้ว ให้รีบส่งบันทึกการเปรียบเทียบพร้อมด้วยสำนวนไปยังพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแห่งเขตท้องที่ซึ่งเทศบาลนั้นตั้งอยู่เพื่อดำเนินการต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยไม่ชักช้า

มาตรา ๔๘ เตวีสติ  เมื่อพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะท้องถิ่นใดเป็นเทศบาลแล้ว ให้นายกเทศมนตรีมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับอำนาจหน้าที่ของกำนันและผู้ใหญ่บ้านบรรดาที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่หรือกฎหมายอื่น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๔๘ จตุวีสติ  เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของนายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี และเลขานุการนายกเทศมนตรีให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๔๘ ปัญจวีสติ  ในกรณีที่บทบัญญัติมาตราใดในพระราชบัญญัตินี้กล่าวถึงคณะเทศมนตรีให้หมายถึงนายกเทศมนตรี บทบัญญัติมาตราใดกล่าวถึงเทศมนตรี ให้หมายถึงรองนายกเทศมนตรี เว้นแต่บทบัญญัติมาตราใดมีข้อความเป็นอย่างเดียวกันหรือขัดแย้งกันกับบทบัญญัติในบทนี้ ให้ใช้บทบัญญัติในบทนี้แทน

บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่งใดที่อ้างถึงคณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ ประกาศ หรือคำสั่งนั้น อ้างถึงนายกเทศมนตรีตามบทนี้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งบทนี้

ส่วนที่ ๓

หน้าที่ของเทศบาล

                  

บทที่ ๑

เทศบาลตำบล

                  

มาตรา ๔๙[๒๖]  (ยกเลิก)

มาตรา ๕๐[๒๗]  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลดังต่อไปนี้

(๑) รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(๒) ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ

(๓) รักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

(๔) ป้องกันและระงับโรคติดต่อ

(๕) ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง

(๖) ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม

(๗)[๒๘] ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

(๘)[๒๙] บำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น

(๙)[๓๐] หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล

มาตรา ๕๑[๓๑]  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลอาจจัดทำกิจการใด ๆ ในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้

(๑) ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา

(๒) ให้มีโรงฆ่าสัตว์

(๓) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือและท่าข้าม

(๔) ให้มีสุสานและฌาปนสถาน

(๕) บำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร

(๖) ให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์รักษาคนเจ็บไข้

(๗) ให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น

(๘) ให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ

(๙) เทศพาณิชย์

บทที่ ๒

เทศบาลเมือง

                  

มาตรา ๕๒[๓๒]  (ยกเลิก)

มาตรา ๕๓[๓๓]  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลเมืองมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้

(๑) กิจการตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๕๐

(๒) ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา

(๓) ให้มีโรงฆ่าสัตว์

(๔) ให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์และรักษาคนเจ็บไข้

(๕) ให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ

(๖) ให้มีและบำรุงส้วมสาธารณะ

(๗) ให้มีและบำรุงการไฟฟ้า หรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น

(๘) ให้มีการดำเนินกิจการโรงรับจำนำหรือสถานสินเชื่อท้องถิ่น

มาตรา ๕๔[๓๔]  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลเมืองอาจจัดทำกิจการใด ๆ ในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้

(๑) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือและท่าข้าม

(๒) ให้มีสุสานและฌาปนสถาน

(๓) บำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร

(๔) ให้มีและบำรุงการสงเคราะห์มารดาและเด็ก

(๕) ให้มีและบำรุงโรงพยาบาล

(๖) ให้มีการสาธารณูปการ

(๗) จัดทำกิจการซึ่งจำเป็นเพื่อการสาธารณสุข

(๘) จัดตั้งและบำรุงโรงเรียนอาชีวศึกษา

(๙) ให้มีและบำรุงสถานที่สำหรับการกีฬาและพลศึกษา

(๑๐) ให้มีและบำรุงสวนสาธารณะ สวนสัตว์และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

(๑๑) ปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม และรักษาความสะอาดเรียบร้อยของท้องถิ่น

(๑๒) เทศพาณิชย์

บทที่ ๓

เทศบาลนคร

                  

มาตรา ๕๕[๓๕]  (ยกเลิก)

มาตรา ๕๖  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลนครมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลดังต่อไปนี้

(๑) กิจการตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๕๓

(๒) ให้มีและบำรุงการสงเคราะห์มารดาและเด็ก

(๓) กิจการอย่างอื่นซึ่งจำเป็นเพื่อการสาธารณสุข

(๔)[๓๖] การควบคุมสุขลักษณะและอนามัยในร้านจำหน่ายอาหาร โรงมหรสพ และสถานบริการอื่น

(๕)[๓๗] จัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม

(๖)[๓๘] จัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ

(๗)[๓๙] การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง

(๘)[๔๐] การส่งเสริมกิจการการท่องเที่ยว

มาตรา ๕๗  เทศบาลนครอาจจัดทำกิจการอื่น ๆ ตามมาตรา ๕๔ ได้

บทที่ ๓ ทวิ

การทำการนอกเขตเทศบาลและการทำการร่วมกับบุคคลอื่น[๔๑]

                  

มาตรา ๕๗ ทวิ  เทศบาลอาจทำกิจการนอกเขต เมื่อ

(๑) การนั้นจำเป็นต้องทำและเป็นการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินตามอำนาจหน้าที่อยู่ภายในเขตของตน

(๒) ได้รับความยินยอมจากสภาเทศบาล คณะกรรมการสุขาภิบาล สภาจังหวัด หรือสภาตำบลแห่งท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องและ

(๓) ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

มาตรา ๕๗ ตรี  เทศบาลอาจทำการร่วมกับบุคคลอื่นโดยก่อตั้งบริษัทจำกัดหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด เมื่อ

(๑) บริษัทจำกัดนั้นมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค

(๒) เทศบาลต้องถือหุ้นเป็นมูลค่าเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนที่บริษัทนั้นจดทะเบียนไว้ ในกรณีที่มีหลายเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลหรือสุขาภิบาล ถือหุ้นอยู่ในบริษัทเดียวกันให้นับหุ้นที่ถือนั้นรวมกันและ

(๓) ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

การเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นที่เทศบาลถืออยู่ในบริษัทจำกัดต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ความใน (๑) และ (๒) ของวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับในกรณีที่บริษัทจำกัดที่เทศบาลร่วมก่อตั้งหรือถือหุ้นนั้น ไม่มีเอกชนถือหุ้นอยู่ด้วย

บทที่ ๔

สหการ

                  

มาตรา ๕๘  ถ้ามีกิจการใดอันอยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตั้งแต่สองแห่งขึ้นไปที่จะร่วมกันทำเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ก็ให้จัดตั้งเป็นองค์การขึ้นเรียกว่าสหการ มีสภาพเป็นทบวงการเมือง และมีคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วยผู้แทนของเทศบาลที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย

การจัดตั้งสหการจะทำได้ก็แต่โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาซึ่งจะได้กำหนดชื่อ อำนาจหน้าที่ และระเบียบการดำเนินงานไว้

การยุบเลิกสหการให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาโดยกำหนดวิธีการจัดทรัพย์สินไว้ด้วย

มาตรา ๕๙  สหการอาจได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และอาจกู้เงินได้ภายใต้บังคับมาตรา ๖๖ (๕) หรือ (๖)

ส่วนที่ ๔

เทศบัญญัติ

                  

มาตรา ๖๐[๔๒]  เทศบาลมีอำนาจตราเทศบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อบทกฎหมายในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ของเทศบาลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

(๒) เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้เทศบาลตราเทศบัญญัติหรือให้มีอำนาจตราเทศบัญญัติ

ในเทศบัญญัตินั้น จะกำหนดโทษปรับผู้ละเมิดเทศบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่ห้ามมิให้กำหนดเกินกว่าหนึ่งพันบาท

มาตรา ๖๑[๔๓]  เทศพาณิชย์ของเทศบาล ให้ตราเป็นเทศบัญญัติ กิจการใดที่เทศบาลมีรายได้หรือผลพลอยได้อันเกิดจากการกระทำตามอำนาจหน้าที่ จะไม่ตราเป็นเทศบัญญัติก็ได้

มาตรา ๖๑ ทวิ[๔๔]  ร่างเทศบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดย

(๑) นายกเทศมนตรี

(๒) สมาชิกสภาเทศบาล หรือ

(๓) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น

ในกรณีที่สมาชิกสภาเทศบาลเป็นผู้เสนอร่างเทศบัญญัติต้องมีสมาชิกสภาเทศบาลลงนามรับรองไม่น้อยกว่าสองคน

ร่างเทศบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน สมาชิกสภาเทศบาลจะเสนอได้ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกเทศมนตรี

มาตรา ๖๑ ตรี[๔๕]  ร่างเทศบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน หมายความถึงร่างเทศพาณิชย์ หรือร่างเทศบัญญัติว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) การจัดเก็บ ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบ การบังคับอันเกี่ยวกับภาษีอากร

(๒) การเก็บรักษาเงิน การจ่ายเงิน หรือการโอนงบประมาณของเทศบาล

(๓) การกู้เงิน การค้ำประกัน หรือการใช้เงินกู้

(๔) การคลัง การงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้าง และการพัสดุ

ในกรณีเป็นที่สงสัยว่าร่างเทศบัญญัติใดเป็นร่างเทศบัญญัติเกี่ยวกับการเงินที่จะต้องมีคำรับรองของนายกเทศมนตรี ให้ประธานสภาเทศบาลเป็นผู้วินิจฉัย

มาตรา ๖๒[๔๖]  ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สภาเทศบาลได้มีมติเห็นชอบด้วยกับร่างเทศบัญญัติใดในกรณีเทศบาลตำบล ให้ประธานสภาเทศบาลส่งร่างเทศบัญญัติไปยังนายอำเภอเพื่อส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ในกรณีเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร ให้ประธานสภาเทศบาลส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา

ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องพิจารณาร่างเทศบัญญัติตามวรรคหนึ่งให้เสร็จและส่งคืนประธานสภาเทศบาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างเทศบัญญัตินั้น ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างเทศบัญญัติดังกล่าว

ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างเทศบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งนายกเทศมนตรีลงนามใช้บังคับเป็นเทศบัญญัติต่อไป แต่ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วยให้ส่งร่างเทศบัญญัตินั้นพร้อมด้วยเหตุผลไปยังสภาเทศบาลเพื่อพิจารณาใหม่ ถ้าสภาเทศบาลมีมติยืนยันตามร่างเทศบัญญัติเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ให้ประธานสภาเทศบาลส่งร่างเทศบัญญัตินั้นให้นายกเทศมนตรีลงนามใช้บังคับเป็นเทศบัญญัติ และแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบต่อไป

มาตรา ๖๒ ทวิ[๔๗]  ในกรณีที่สภาเทศบาลไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณในกรณีแห่งเทศบาลตำบล ให้ประธานสภาเทศบาลส่งร่างเทศบัญญัตินั้นไปยังนายอำเภอ เพื่อส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเร็ว ในกรณีแห่งเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร ให้ประธานสภาเทศบาลส่งร่างเทศบัญญัตินั้นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด

ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาร่างเทศบัญญัตินั้น ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับสภาเทศบาลที่ไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติ ให้ร่างเทศบัญญัตินั้นตกไป

ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วยกับสภาเทศบาลที่ไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัตินั้น ให้ส่งคืนสภาเทศบาลพิจารณาใหม่ ในกรณีที่สภาเทศบาลยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมด ให้ร่างเทศบัญญัตินั้นตกไป แต่ถ้าสภาเทศบาลยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมด ให้ประธานสภาเทศบาลส่งร่างเทศบัญญัตินั้นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อลงชื่ออนุมัติ

บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับกับการบริหารเทศบาลในรูปแบบนายกเทศมนตรี[๔๘]

มาตรา ๖๒ ตรี[๔๙]  ในกรณีที่สภาเทศบาลไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้สภาเทศบาลตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยกรรมการจำนวนสิบห้าคน เพื่อพิจารณาหาข้อยุติความขัดแย้งในสาระสำคัญที่บัญญัติไว้ในร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้น

คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งสภาเทศบาลแต่งตั้งจำนวนเจ็ดคนและบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกซึ่งนายกเทศมนตรีเสนอจำนวนเจ็ดคน และให้กรรมการทั้งสิบสี่คนร่วมกันปรึกษาและเสนอบุคคลซึ่งมิได้เป็นกรรมการและมิได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่กรรมการครบจำนวนสิบสี่คน

ในกรณีที่ไม่สามารถเสนอบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นประธานได้ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งบุคคลซึ่งมิได้เป็นกรรมการและมิได้เป็นสมาชิกขึ้นทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการดังกล่าว

ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งพิจารณาและรายงานผลการพิจารณาต่อสภาเทศบาลให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่แต่งตั้งประธานคณะกรรมการ ในกรณีที่คณะกรรมการไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ประธานคณะกรรมการรวบรวมผลการพิจารณา แล้ววินิจฉัยชี้ขาดและรายงานต่อสภาเทศบาลโดยเร็ว

ถ้าสภาเทศบาลยังไม่เห็นชอบด้วยกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการ หรือผลการวินิจฉัยของประธานคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี ด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลทั้งหมด ให้ร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้นเป็นอันตกไปและให้ใช้เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณที่แล้วไปพลางก่อน ในกรณีเช่นว่านี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งยุบสภาเทศบาลถ้ามีข้อเสนอของนายกเทศมนตรี

บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับกับการบริหารเทศบาลในรูปแบบคณะเทศมนตรี

มาตรา ๖๓  นอกจากที่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นเทศบัญญัตินั้นให้ใช้บังคับได้ เมื่อประกาศไว้โดยเปิดเผยที่สำนักงานเทศบาลแล้วเจ็ดวันเว้นแต่ในกรณีฉุกเฉิน ถ้ามีความระบุไว้ในเทศบัญญัตินั้นว่าให้ใช้บังคับทันทีก็ให้ใช้บังคับในวันที่ได้ประกาศนั้น

มาตรา ๖๔  ในกรณีฉุกเฉินซึ่งจะเรียกประชุมสภาเทศบาลให้ทันท่วงทีมิได้ คณะเทศมนตรีอาจออกเทศบัญญัติชั่วคราวได้เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด และเมื่อได้ประกาศไว้โดยเปิดเผยที่สำนักงานเทศบาลแล้วก็ให้ใช้บังคับได้

ในการประชุมสภาเทศบาลคราวต่อไป ให้นำเทศบัญญัติชั่วคราวนั้นเสนอต่อสภาเทศบาลเพื่ออนุมัติ ถ้าสภาเทศบาลอนุมัติแล้ว เทศบัญญัติชั่วคราวนั้นก็เป็นเทศบัญญัติต่อไป ถ้าสภาเทศบาลไม่อนุมัติ เทศบัญญัติชั่วคราวนั้นก็เป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้เทศบัญญัติชั่วคราวนั้น

คำอนุมัติและไม่อนุมัติของสภาเทศบาลที่กล่าวนี้ ให้ทำเป็นเทศบัญญัติ

ส่วนที่ ๕

การคลังและทรัพย์สินของเทศบาล

                  

มาตรา ๖๕  งบประมาณประจำปีของเทศบาลต้องตราขึ้นเป็นเทศบัญญัติ ถ้าเทศบัญญัติงบประมาณออกไม่ทันปีใหม่ ให้ใช้เทศบัญญัติงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลาง

ถ้าในปีใดจำนวนเงินซึ่งได้อนุญาตไว้ตามงบประมาณปรากฏว่าไม่พอสำหรับการใช้จ่ายประจำปีก็ดี หรือมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งรายรับหรือรายจ่ายขึ้นใหม่ในระหว่างปีก็ดี ให้ตราขึ้นเป็นเทศบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม

มาตรา ๖๖[๕๐]  เทศบาลอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้

(๑) ภาษีอากรตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้

(๒) ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับ ตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้

(๓) รายได้จากทรัพย์สินของเทศบาล

(๔) รายได้จากการสาธารณูปโภคและเทศพาณิชย์

(๕) พันธบัตร หรือเงินกู้ ตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้

(๖) เงินกู้จากกระทรวงทบวงกรม องค์การ หรือนิติบุคคลต่าง ๆ

(๗) เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(๘) เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีผู้อุทิศให้

(๙) รายได้อื่นใดตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้

การกู้เงินตาม (๖) เทศบาลจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสภาเทศบาล และได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว

มาตรา ๖๗[๕๑]  เทศบาลอาจมีรายจ่ายดังต่อไปนี้

(๑) เงินเดือน

(๒) ค่าจ้าง

(๓) เงินตอบแทนอื่น ๆ

(๔) ค่าใช้สอย

(๕) ค่าวัสดุ

(๖) ค่าครุภัณฑ์

(๗) ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และทรัพย์สินอื่น ๆ

(๘) เงินอุดหนุน

(๙) รายจ่ายอื่นใดตามข้อผูกพันหรือตามที่มีกฎหมายหรือระเบียบของกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้

มาตรา ๖๗ ทวิ[๕๒]  การจ่ายเงินตามมาตรา ๖๗ (๘) และการจ่ายเงินเพื่อการลงทุน เทศบาลจะกระทำได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภาเทศบาลและผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติแล้ว

มาตรา ๖๗ ตรี[๕๓]  การจ่ายเงินตามมาตรา ๖๗ (๙) ถ้าเป็นการชำระเงินกู้เมื่อถึงกำหนดชำระ เทศบาลจะต้องชำระเงินกู้นั้นจากทรัพย์สินของเทศบาลไม่ว่าจะตั้งงบประมาณรายจ่ายประเภทนี้ไว้หรือไม่

มาตรา ๖๘  การจ่ายเงินค่าป่วยการให้แก่นายกเทศมนตรีและเทศมนตรีให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบพนักงานเทศบาล

การจ่ายเงินค่าป่วยการแก่ประธานสภา รองประธานสภา สมาชิกสภาเทศบาล และการจ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมให้แก่กรรมการที่สภาเทศบาลแต่งตั้งขึ้น ให้เป็นไปตามข้อบังคับซึ่งกระทรวงมหาดไทยกำหนดตามฐานะของเทศบาล

มาตรา ๖๙  ให้กระทรวงมหาดไทยตราระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการคลังรวมตลอดถึงวิธีการงบประมาณ การรักษาทรัพย์สินการจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินการจัดหาพัสดุและการจ้างเหมาขึ้นไว้

มาตรา ๗๐  โดยปกติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจัดให้มีการตรวจสอบการคลัง การบัญชี หรือการเงินอื่น ๆ ของเทศบาลปีละครั้ง

ส่วนที่ ๖

การควบคุมเทศบาล

                  

มาตรา ๗๑  ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลเทศบาลในจังหวัดนั้นให้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย ในการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ชี้แจงแนะนำตักเตือนเทศบาล และตรวจสอบกิจการ เรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใด ๆ จากเทศบาลมาตรวจ ตลอดจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมาชี้แจงหรือสอบสวนก็ได้

ให้นายอำเภอมีอำนาจหน้าที่ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุมดูแลเทศบาลตำบลในอำเภอนั้น ให้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย ในการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ชี้แจงแนะนำตักเตือนเทศบาลตำบล และตรวจสอบกิจการเรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใด ๆ จากเทศบาลมาตรวจ ตลอดจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมาชี้แจงหรือสอบสวนก็ได้

มาตรา ๗๒  เมื่อนายอำเภอ ในกรณีแห่งเทศบาลตำบลในอำเภอนั้นหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีแห่งเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร เห็นว่าคณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีผู้ใดปฏิบัติการของเทศบาลไปในทางที่อาจเป็นการเสียหายแก่เทศบาลหรือเสียหายแก่ราชการ และนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ได้ชี้แจงแนะนำตักเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตาม นายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี มีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือสั่งให้ระงับการปฏิบัติของคณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีนั้นไว้ก่อนได้ แล้วให้รีบรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบภายในกำหนดสิบห้าวันเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยสั่งการตามที่เห็นสมควร

คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามความในวรรคก่อนไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต

มาตรา ๗๓  ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่า คณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีผู้ใดปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชนละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่งหรือแก่เทศบาลหรือแก่ราชการ ให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยหลักฐาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจสั่งให้คณะเทศมนตรีหรือเทศมนตรีผู้ใดออกจากตำแหน่งก็ได้

มาตรา ๗๔[๕๔]  เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเขตเทศบาลหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม ผู้ว่าราชการจังหวัดจะรายงานเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อยุบสภาเทศบาลก็ได้

เมื่อมีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือกรณีอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจยุบสภาเทศบาลและให้แสดงเหตุผลไว้ในคำสั่งด้วย

เมื่อมีการยุบสภาเทศบาลหรือถือว่ามีการยุบสภาเทศบาลตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลขึ้นใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลภายในสี่สิบห้าวัน

มาตรา ๗๕  ในเมื่อเห็นจำเป็นที่จะให้เทศบาลใดอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ก็ให้ทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาให้เทศบาลใดอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทยตามความในวรรคก่อน บรรดาอำนาจและหน้าที่ของนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอันเกี่ยวกับเทศบาลนั้น ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย

ส่วนที่ ๗

คณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาล[๕๕]

                  

มาตรา ๗๕ ทวิ  ให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลคณะหนึ่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน อธิบดีกรมมหาดไทย อธิบดีกรมโยธาเทศบาล อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมสามัญศึกษา อธิบดีกรมวิสามัญศึกษา อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการส่วนการปกครองท้องถิ่น กรมมหาดไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งอีกไม่เกินห้าคน

ให้ผู้อำนวยการส่วนการปกครองท้องถิ่นกรมมหาดไทยเป็นเลขานุการคณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาล

ให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและเสนอข้อแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับกิจการเทศบาลโดยทั่วไป

มาตรา ๗๕ ตรี  กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี

กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

มาตรา ๗๕ จัตวา  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๗๕ ตรี กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๔) เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่คดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

เมื่อกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจแต่งตั้งผู้อื่นแทนได้

กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลผู้ได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคก่อน อยู่ในตำแหน่งตามวาระเท่าผู้ที่ตนแทน

มาตรา ๗๕ เบญจ  ในการประชุมของคณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาล ถ้าประธานกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลที่มาประชุมเลือกกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

มาตรา ๗๕ ฉ  การประชุมทุกคราวต้องมีกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก

กรรมการที่ปรึกษาการเทศบาลคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

บทเฉพาะกาล

                  

มาตรา ๗๖  ให้สมาชิกสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรีแห่งเทศบาลที่ได้จัดตั้งอยู่แล้วในวันใช้พระราชบัญญัตินี้พ้นจากตำแหน่ง และให้ดำเนินการเลือกตั้งและแต่งตั้งสมาชิกสภาเทศบาลใหม่ภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ แต่ให้คณะเทศมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งดำเนินกิจการในหน้าที่ของคณะเทศมนตรีต่อไปจนกว่าคณะเทศมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เว้นแต่เทศบาลใดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานเท่าจำนวนคณะเทศมนตรีแห่งเทศบาลนั้นเข้าดำเนินกิจการแทนก็ให้คณะเทศมนตรีนั้นพ้นจากหน้าที่

การรักษาพระราชบัญญัติ

                  

มาตรา ๗๗  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงหรือระเบียบข้อบังคับ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๘[๕๖]

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในเวลานี้บางมาตรายังไม่เหมาะสม เช่น ให้เทศบาลกู้เงินได้เฉพาะจากกระทรวงทบวงกรมหรือองค์การต่าง ๆ เท่านั้น และบางกรณีก็มิได้กำหนดความรับผิดชอบผูกพันการชำระเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันไว้ให้แน่นอน  จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมและรัดกุมยิ่งขึ้น

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๐[๕๗]

มาตรา ๑๐  สมาชิกสภาเทศบาลประเภทที่สองแห่งเทศบาลที่ดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไปจนถึงคราวออกตามวาระ และถ้าตำแหน่งว่างลงเพราะเหตุอื่นก่อนถึงคราวออกตามวาระจะแต่งตั้งสมาชิกขึ้นแทนต่อไป ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากสมควรที่จะยกเลิกสมาชิกสภาเทศบาลประเภทที่สอง เพื่อให้มีแต่สมาชิกสภาเทศบาลซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งแต่ประเภทเดียว กับแก้ไขเพิ่มเติมไม่ต้องให้มีการแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติ และวิทยฐานะเป็นสมาชิกสภาเทศบาลในฐานะเป็นผู้เริ่มการสำหรับท้องถิ่นที่เป็นสุขาภิบาลอยู่ก่อนแล้วจัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาล เพราะท้องถิ่นที่เป็นสุขาภิบาลอยู่ก่อนแล้วนั้นได้มีการปฏิบัติหน้าที่ของท้องถิ่นต่อเนื่องกันมาโดยมีกรรมการเลือกตั้งจากราษฎรเข้าสมทบเป็นกรรมการสุขาภิบาลอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้มีสมาชิกสภาเทศบาลในฐานะเป็นผู้เริ่มการอีก นอกจากนี้การเปลี่ยนชื่อเทศบาลยังไม่มีบทบัญญัติระบุไว้ชัดแจ้งว่าจะกระทำได้โดยวิธีใดเพื่อไม่ให้มีปัญหาจึงสมควรจะได้มีบทบัญญัติไว้เสียให้ชัดว่า การเปลี่ยนชื่อเทศบาลให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา  จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ บางมาตรา

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕[๕๘]

มาตรา ๖  ในกรณีที่เห็นสมควรกระทรวงมหาดไทยอาจแต่งตั้งข้าราชการไปดำรง

ตำแหน่งหรือปฏิบัติกิจการของเทศบาลใดเป็นการชั่วคราวได้ โดยไม่ขาดจากความเป็นข้าราชการและคงได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิม ถ้าแต่งตั้งข้าราชการสังกัดกระทรวงอื่น ให้กระทรวงมหาดไทยทำความตกลงกับกระทรวงเจ้าสังกัดก่อนแต่งตั้ง

ให้ข้าราชการผู้ได้รับแต่งตั้งมีฐานะอย่างเดียวกับพนักงานเทศบาลทุกประการ

มาตรา ๗  การจัดทำกิจการตามมาตรา ๕๑ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ของเทศบาลใดให้เป็นไปตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย

ความในวรรคก่อนไม่กระทบกระทั่งกิจการใด ๆ ที่เทศบาลจัดทำอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ประกาศของกระทรวงมหาดไทยตามมาตรานี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเทศบาล และเพื่อกำหนดรายจ่ายของเทศบาลให้สอดคล้องกับหลักการงบประมาณ

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๐[๕๙]

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ยังมีข้อขัดข้องเกี่ยวกับการมอบหมายอำนาจของคณะเทศมนตรีและนายกเทศมนตรีในการปฏิบัติงานประจำทั้งการเปรียบเทียบคดีละเมิดเทศบัญญัติและอัตราค่าปรับคดีละเมิดเทศบัญญัติก็ยังไม่อยู่ในระดับที่สมควร จึงเห็นสมควรแก้ไขพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ดังนี้

๑. ให้คณะเทศมนตรีมอบอำนาจให้นายกเทศมนตรี เทศมนตรีหรือพนักงานเทศบาลหรือนายกเทศมนตรีจะมอบอำนาจให้เทศมนตรีหรือพนักงานเทศบาลทำกิจการใด ๆ ซึ่งมีลักษณะเป็นงานประจำตามปกติ ซึ่งกฎหมายระบุว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะเทศมนตรีหรือนายกเทศมนตรีได้

๒. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจเปรียบเทียบคดีละเมิดเทศบัญญัติของนายกเทศมนตรีและเทศมนตรี เพื่อให้มีอำนาจสั่งเรียกพยานมาเพื่อบันทึกถ้อยคำประกอบการพิจารณาเปรียบเทียบคดีได้ ถ้าไม่มาให้ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

๓. แก้ไขอัตราค่าปรับคดีละเมิดเทศบัญญัติให้สูงขึ้นจากหนึ่งร้อยบาท เป็นหนึ่งพันบาท

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑[๖๐]

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเทศบาลยังไม่อาจจัดทำกิจการในหน้าที่บางอย่างนอกเขตเทศบาล หรือลงทุนร่วมกับราชการส่วนท้องถิ่นหรือบุคคลอื่นได้ ฉะนั้น เพื่อให้เทศบาลดำเนินกิจการดังกล่าวให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นยิ่งขึ้น จึงต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยเทศบาลบางมาตราเสียใหม่

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕[๖๑]

โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า เทศบาลเป็นหน่วยบริหารราชการของท้องถิ่น ควรจะได้ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งขจัดปัญหาความเดือดร้อนบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนอย่างแท้จริง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเทศบาลบางมาตราให้รัดกุมและชัดเจนยิ่งขึ้น หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๑๗[๖๒]

มาตรา ๔  ให้เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ซึ่งยังไม่มีโรงรับจำนำหรือสถานสินเชื่อท้องถิ่น จัดตั้งโรงรับจำนำหรือสถานสินเชื่อท้องถิ่นขึ้นภายในกำหนดสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่ถ้ามีเหตุอันสมควรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจอนุญาตให้ขยายเวลาต่อไปได้อีกไม่เกินสองปี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้กำหนดหน้าที่ต่าง ๆ ให้เทศบาลต้องจัดทำภายในเขตเทศบาล แต่กิจการบางอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ยากจน คือกิจการโรงรับจำนำและกิจการสถานสินเชื่อเทศบาลยังมิได้มีหน้าที่ที่จำต้องจัดทำขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ และโดยที่พิจารณาเห็นว่ากิจการโรงรับจำนำและกิจการสถานสินเชื่อธนาภิบาลเป็นแหล่งที่อำนวยช่วยเหลือประชาชนผู้ยากจนในกรณีที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับการเงินเพื่อยังชีพของครอบครัว สมควรกำหนดให้เทศบาลมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการดำเนินกิจการโรงรับจำนำหรือกิจการสถานสินเชื่อธนาภิบาลภายในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนครทุกแห่งเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากจนต่อไป  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๑๙[๖๓]

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ บางมาตรายังไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างเทศบัญญัติงบประมาณ ได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องส่งร่างเทศบัญญัติที่สภาเทศบาลไม่รับหลักการ และผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วยกับสภาเทศบาลที่ไม่รับหลักการ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าและไม่คล่องตัวในการบริหารงานท้องถิ่น สมควรแก้ไขให้เหมาะสม  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๒๓[๖๔]

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันนี้ กิจการงานของเทศบาลเมืองได้เพิ่มภาระและความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เนื่องจากการคมนาคม การเศรษฐกิจ การศึกษา การผังเมืองการสาธารณูปโภค และการบริการแก่สาธารณะ แต่จำนวนเทศมนตรีของเทศบาล ยังมีจำนวน ๒ คน เท่ากับเทศบาลตำบลที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๙ ความรับผิดชอบในภาระต่าง ๆ ปัจจุบันเท่ากับเทศบาลนครซึ่งมีเทศมนตรีถึง ๔ คน ด้วยเหตุดังกล่าวจึงสมควรแก้ไขเพิ่มจำนวนเทศมนตรีตามสัดส่วนของจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลและความรับผิดชอบในภาระต่าง ๆ ที่นับวันยิ่งสลับซับซ้อนขึ้น

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒[๖๕]

มาตรา ๑๔  บรรดากิจการทั้งหลายที่สมาชิกสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรี ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามผลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กระทำไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือจนถึงวันที่มีการยุบสภาเทศบาลให้เป็นอันใช้บังคับได้และมีผลผูกพันเทศบาล

มาตรา ๑๕  การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลที่ได้กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง และวันเลือกตั้งไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปตามระยะเวลาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนด

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดหลักการในการจัดระเบียบการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นไปตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเทศบาลในส่วนของวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาล ข้อห้ามและการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาล การพ้นจากตำแหน่งเทศมนตรีและคณะเทศมนตรี การยุบสภาเทศบาล รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของเทศบาลให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓[๖๖]

มาตรา ๒๐  บรรดาสมาชิกสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖

มาตรา ๒๑  ให้นำมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับเทศบาลทุกแห่งนับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๐ เป็นต้นไปเว้นแต่กรณีที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่ต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครหรือสมาชิกสภาเทศบาลเมืองแห่งใดโดยเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุมีการยุบสภาหรือถึงคราวออกตามวาระ และเป็นการเลือกตั้งของเทศบาลแห่งนั้นในครั้งแรกนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีตามบทที่ ๒ ทวิ นายกเทศมนตรีในคราวเดียวกัน โดยมิให้นำมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับ แต่เมื่อสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งดังกล่าวเข้ารับตำแหน่งแล้ว ให้นำมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับเทศบาลแห่งนั้น

(๒) ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลตำบลแห่งใดเป็นเทศบาลเมืองก่อนถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๐ ให้นำความใน (๑) มาใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีของเทศบาลเมืองนั้นด้วยโดยอนุโลม

การบริหารเทศบาลตำบลให้ดำเนินการบริหารในรูปแบบคณะเทศมนตรี ตามบทที่ ๒ คณะเทศมนตรี ต่อไป ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลขึ้นใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๐ ในกรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่จะจัดให้มีขึ้นนั้น

มาตรา ๒๒  ในกรณีที่เทศบาลใดได้กำหนดวันเลือกตั้งไว้แล้วก่อนวันจัดทำประชามติตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการเลือกตั้งในรูปแบบคณะเทศมนตรีต่อไปตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๒๓  ในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้นำกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลหรือนายกเทศมนตรีเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

ในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี ให้เทศบาลเรียกเก็บค่าสมัครเป็นเงินจำนวนห้าพันบาท

ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ให้ถือเขตเทศบาลเป็นเขตเลือกตั้ง

ในกรณีที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีในคราวเดียวกันให้ใช้หน่วยเลือกตั้งที่เลือกตั้ง เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจคะแนน เจ้าหน้าที่คะแนน และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันก็ได้

ใบสมัครและบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลหรือนายกเทศมนตรี ให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยเรียบร้อย กระทรวงมหาดไทยอาจออกระเบียบกำหนดวิธีปฏิบัติในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลหรือนายกเทศมนตรีเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลได้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น และการเลือกตั้งคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ สมควรปรับปรุงรูปแบบการบริหารเทศบาลจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ให้นายกเทศมนตรีมาจากการเลือกกันเองของสมาชิกสภาเทศบาล เป็นให้นายกเทศมนตรีมาจากการเลือกตั้งของราษฎรในเขตเทศบาล เพื่อให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของราษฎรในท้องถิ่นโดยตรง นอกจากนี้ สมควรปรับปรุงการปฏิบัติงานของสภาเทศบาลให้เหมาะสมและสอดคล้องกันด้วย  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

วศิน/ผู้จัดทำ

๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๑

ชาญ/ปรับปรุง

๖ กันยายน ๒๕๕

  • [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๐/ตอนที่ ๑๔/หน้า ๒๒๒/๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖
  • [๒] มาตรา ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๐
  • [๓] มาตรา ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๔] มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๕] มาตรา ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๐
  • [๖] มาตรา ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๗] มาตรา ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๘] มาตรา ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๙] มาตรา ๑๘ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๑๐] มาตรา ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๑๑] มาตรา ๒๐ วรรคสอง เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๑๒] มาตรา ๒๐ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๑๓] มาตรา ๒๐ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๑๔] มาตรา ๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๑๕] มาตรา ๓๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๑๖] มาตรา ๓๒ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๑๗] ชื่อ บทที่ ๒ คณะเทศมนตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๑๘] มาตรา ๓๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๑๙] มาตรา ๓๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๐
  • [๒๐] มาตรา ๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๐
  • [๒๑] มาตรา ๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๒๒] มาตรา ๔๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๒๓] มาตรา ๔๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๒๔] มาตรา ๔๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๒๕] บทที่ ๒ ทวิ นายกเทศมนตรี มาตรา ๔๘ ทวิ ถึงมาตรา ๔๘ ปัญจวีสติ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๒๖] มาตรา ๔๙ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๒๗] มาตรา ๕๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
  • [๒๘] มาตรา ๕๐ (๗) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๒๙] มาตรา ๕๐ (๘) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๓๐] มาตรา ๕๐ (๙) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๓๑] มาตรา ๕๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑
  • [๓๒] มาตรา ๕๒ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๓๓] มาตรา ๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๑๗
  • [๓๔] มาตรา ๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑
  • [๓๕] มาตรา ๕๕ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๓๖] มาตรา ๕๖ (๔) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๓๗] มาตรา ๕๖ (๕) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๓๘] มาตรา ๕๖ (๖) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๓๙] มาตรา ๕๖ (๗) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๔๐] มาตรา ๕๖ (๘) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๔๑] บทที่ ๓ ทวิ การทำการนอกเขตเทศบาลและการทำการร่วมกับบุคคลอื่น มาตรา ๕๗ ทวิ และมาตรา ๕๗ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๑
  • [๔๒] มาตรา ๖๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๐
  • [๔๓] มาตรา ๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
  • [๔๔] มาตรา ๖๑ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๔๕] มาตรา ๖๑ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๔๖] มาตรา ๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๔๗] มาตรา ๖๒ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๑๙
  • [๔๘] มาตรา ๖๒ ทวิ วรรคสี่ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๔๙] มาตรา ๖๒ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๔๓
  • [๕๐] มาตรา ๖๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๘
  • [๕๑] มาตรา ๖๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕
  • [๕๒] มาตรา ๖๗ ทวิ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕
  • [๕๓] มาตรา ๖๗ ตรี เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๕
  • [๕๔] มาตรา ๗๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒
  • [๕๕] ส่วนที่ ๗ คณะกรรมการที่ปรึกษาการเทศบาล มาตรา ๗๕ ทวิ ถึงมาตรา ๗๕ ฉ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๐๕
  • [๕๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๒/ตอนที่ ๙๘/หน้า ๑๖๒๕/๒๗ ธันวาคม ๒๔๙๘
  • [๕๗] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๔/ตอนที่ ๑๑/หน้า ๓๔๕/๒๙ มกราคม ๒๕๐๐
  • [๕๘] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๙/ตอนที่ ๑๘/หน้า ๒๐๐/๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕
  • [๕๙] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๔/ตอนที่ ๒๖/หน้า ๑๔๘/๒๑ มีนาคม ๒๕๑๐
  • [๖๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๕/ตอนที่ ๔๖/หน้า ๒๖๖/๒๑ พฤษภาคม ๒๕๑๑
  • [๖๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๑๙๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๐๒/๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕
  • [๖๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๑/ตอนที่ ๒๐๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๗/๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๗
  • [๖๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๕๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๓๗/๒๔ ธันวาคม ๒๕๑๙
  • [๖๔] ราชกิจจานุเบกษา ฉบับที่ ๙๗/ตอนที่ ๑๓๑/ฉบับพิเศษ หน้า ๕/๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๓
  • [๖๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๑๕ ก/หน้า ๑/๑๐ มีนาคม ๒๕๔๒
  • [๖๖] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๔๑ ก/หน้า ๑๒/๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓