ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัย ในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2547
ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัย
ในอุทยานแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๔๗
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เกี่ยวกับการอนุญาตให้เข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยว และพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ ไว้เป็นทางปฏิบัติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖ (๑๓) มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ และพระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗”
ข้อ ๒[๑] ระเบียบนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งหรือความตกลงอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
“การบริการนำเที่ยว” หมายความว่า การนำทางหรืออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อการศึกษา ชมธรรมชาติ หรือชมสัตว์ป่า ในอุทยานแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึง การบริการอื่นๆ ในอุทยานแห่งชาติด้วย
ข้อ ๕ ให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจตีความ วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้
หมวด ๑
การขออนุญาตและการอนุญาต
ข้อ ๖ ผู้ใดเข้าไป หรือนำสัตว์พาหนะหรือยานพาหนะใดๆ เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ หรือได้รับอนุญาตให้เข้าพักอาศัยในบ้านพัก หรือที่พักอาศัยของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือใช้พื้นที่ตั้งกระโจม หรือกางเต็นท์ในที่ที่จัดไว้ในอุทยานแห่งชาติ หรือใช้บริการเกี่ยวกับการบริการนำเที่ยว โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติต้องเสียค่าบริการ หรือค่าตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศกำหนดไว้สำหรับอุทยานแห่งชาตินั้นๆ แต่ไม่เกินอัตราตามบัญชี ที่ ๑ ท้ายระเบียบนี้
ข้อ ๗ ในกรณีที่กลุ่มบุคคล คณะนักศึกษา หรือคณะนักเรียน ซึ่งรวมกันเพื่อกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการสนับสนุน ประสงค์จะพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ โดยขอลดค่าบริการหรือค่าตอบแทน ให้อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งลดได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนด
ข้อ ๘ ความในข้อ ๖ และข้อ ๗ มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการป่าไม้
ข้อ ๙ การขออนุญาตและการอนุญาตตามระเบียบนี้ ให้ดำเนินการในบริเวณที่จัดไว้เป็นเขตบริการในอุทยานแห่งชาติ โดยให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกำหนดจุดที่ตั้ง จัดทำแผนผัง กำหนดจำนวนแปลงเพื่อกิจการต่างๆ แล้วรายงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อพิจารณาอนุมัติ
สำหรับกิจการที่จะอนุญาตให้บุคคลเข้าไปดำเนินการในบริเวณที่ได้อนุมัติให้กำหนดไว้เป็นเขตบริการในอุทยานแห่งชาติมี ดังนี้
ก. การจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ของที่ระลึก
ข. ที่พักอาศัย หรือกิจการอื่นที่จำเป็นแก่การท่องเที่ยว
ค. การบริการนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ
ข้อ ๑๐ ผู้ขออนุญาตเข้าไปดำเนินกิจการตามข้อ ๙ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
ก. บุคคลธรรมดา
(๑) มีสัญชาติไทย และมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์
(๒) ไม่เป็นโรคเรื้อน วัณโรคระยะอันตราย โรคพิษสุราเรื้อรัง ติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง โรคเท้าช้าง หรือโรคผิวหนังที่น่ารังเกียจ
(๓) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือบุคคลล้มละลาย
(๔) ไม่เป็นผู้เคยถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการป่าไม้
ข. นิติบุคคล
(๑) ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมีสำนักงานอยู่ในราชอาณาจักรไทย
(๒) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ผู้เป็นหุ้นส่วนต้องมีสัญชาติไทย
(๓) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีสัญชาติไทย และมีทุนรวมกันอยู่ในห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น เกินกว่าร้อยละห้าสิบ
(๔) ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัด กรรมการต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทจำกัด เกินกว่าร้อยละห้าสิบ ต้องเป็นของบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย
(๕) หุ้นส่วนจำกัด หรือกรรมการผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลดังกล่าว ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ก.
ข้อ ๑๑ ผู้ใดประสงค์จะเข้าไปดำเนินกิจการใด ๆ ในอุทยานแห่งชาติ ตามข้อ ๙ ต้องยื่นคำขอตามแบบท้ายระเบียบนี้ ต่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาตินั้น พร้อมด้วยหลักฐานดังต่อไปนี้
(๑) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวอย่างอื่นที่ทางราชการออกให้
(๒) สำเนาทะเบียนบ้าน
(๓) แผนงานหรือโครงการ (กรณีกำหนดให้มีแผนงานหรือโครงการ)
(๔) แบบแปลนการก่อสร้าง (กรณีกำหนดให้มีแบบแปลนการก่อสร้าง)
(๕) หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลพร้อมหลักฐานต่างๆ ตาม (๑)และ (๒) ของกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ
(๖) หลักฐานอื่นๆ ที่เห็นสมควร
เมื่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาติที่สังกัดสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่ หรือสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้รับคำขอพร้อมหลักฐานประกอบคำขอครบถ้วนแล้ว ให้จัดทำรายงานพร้อมทั้ง ความเห็นเสนอต่อผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่ หรือผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ แล้วแต่กรณี ภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำขอ
ข้อ ๑๒ เมื่อผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่ หรือผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้รับรายงานตามข้อ ๑๑ แล้ว ให้ตรวจสอบพิจารณาและทำความเห็นเสนออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ
ข้อ ๑๓ ผู้ยื่นคำขอต้องชำระเงินค่าบริการแบบแปลนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชตามอัตราที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศกำหนด แต่ไม่เกินอัตราตามบัญชีที่ ๒ ท้ายระเบียบนี้
เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ผู้รับอนุญาตต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ค่าตอบแทนรายเดือนในวันที่ได้รับอนุญาต ตามสัดส่วนที่ได้รับอนุญาตในเดือนแรก สำหรับในเดือนถัดไปให้ชำระ ภายใน วันที่ ๕ ของเดือนนั้น หรือภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด ตามอัตราที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศกำหนด แต่ไม่เกินอัตราตามบัญชีที่ ๒ ท้ายระเบียบนี้
ในกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศปิดการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติใด เป็นเวลาเกินกว่า ๑๕ วันต่อเนื่องกัน ให้ลดจำนวนเงินค่าตอบแทนรายเดือนในวรรคสองตามสัดส่วน วันที่ประกาศปิดการท่องเที่ยว
ข้อ ๑๔ การอนุญาต ให้เป็นอำนาจของอธิบดี หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย
ในกรณีที่มีความจำเป็นและเร่งด่วน การเข้าไปดำเนินกิจการตามข้อ ๙ ก. เป็นการชั่วคราวที่ไม่มีสิ่งก่อสร้าง และมีระยะเวลาดำเนินกิจการต่อเนื่องกันไม่เกิน ๑๕ วัน ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาอนุญาตได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย แล้วรายงานให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชทราบภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่อนุญาต
การอนุญาตตามข้อ ๙ ข. ผู้ยื่นคำขอต้องได้รับอนุญาต หรือจดทะเบียนตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการนั้นก่อน
ข้อ ๑๕ การอนุญาตตามข้อ ๙ ก. และข้อ ๙ ข. ให้ใช้ใบอนุญาตตามแบบ อ.ช. ๓ และการอนุญาต ตามข้อ ๙ ค. ให้ใช้ใบอนุญาตตามแบบ อ.ช. ๔ ท้ายระเบียบนี้
ใบอนุญาตให้กำหนดอายุ ดังนี้
ก. การจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ของที่ระลึก
(๑) ไม่เกิน ๓ ปี สำหรับพื้นที่ไม่เกิน ๒๐ ตารางเมตร
(๒) ไม่เกิน ๕ ปี สำหรับพื้นที่เกิน ๒๐ ตารางเมตร แต่ไม่เกิน ๒๐๐ ตารางเมตร
(๓) ไม่เกิน ๑๐ ปี สำหรับพื้นที่เกินกว่า ๒๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่เกิน ๕๐๐ ตารางเมตร
ข. ที่พักอาศัย หรือกิจการอื่นที่จำเป็นแก่การท่องเที่ยว
(๑) ไม่เกิน ๕ ปี สำหรับพื้นที่ไม่เกิน ๒,๐๐๐ ตารางเมตร
(๒) ไม่เกิน ๑๕ ปี สำหรับพื้นที่เกิน ๒,๐๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่เกิน ๘,๐๐๐ ตารางเมตร
(๓) ไม่เกิน ๓๐ ปี สำหรับพื้นที่เกินกว่า ๘,๐๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่เกิน ๓๒,๐๐๐ ตารางเมตร
ค. ไม่เกิน ๓ ปี สำหรับการบริการนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ
ข้อ ๑๖ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการท่องเที่ยว หรือพักอาศัย หรือให้ความรู้แก่ประชาชน อธิบดีมีอำนาจอนุญาตให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดำเนินการให้มีสิ่งปลูกสร้างตามแบบที่อธิบดีเห็นชอบ โดยให้บุคคลอื่นซึ่งได้ยื่นคำขออนุญาตตามข้อ ๑๑ ไว้แล้ว เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างแทน และให้กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตกเป็นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทันที ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับบุคคลผู้ลงทุน
ให้บุคคลผู้ลงทุนตามวรรคหนึ่ง ได้รับอนุญาตเข้าไปดำเนินกิจการเพื่อหาผลประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างนั้น ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด โดยเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าตอบแทนตามระเบียบนี้
หมวด ๒
การขออนุญาตและการอนุญาตกรณีใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ
ข้อ ๑๗ การขออนุญาตในหมวดนี้ ผู้รับอนุญาตต้องยื่นคำขออนุญาตตามข้อ ๑๑ ก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน เพื่อให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตรวจสอบให้ได้หลักฐานที่เป็นข้อมูลปัจจุบัน พร้อมกับตรวจสอบการดำเนินงานของผู้รับอนุญาตว่าได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ แล้วเสนอความเห็นไปยังผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่ หรือผู้อำนวยการ สำนักอุทยานแห่งชาติ ภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำขอ แล้วให้สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ ป่าอนุรักษ์ท้องที่ หรือผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ พิจารณาและจัดทำความเห็นเสนออธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ
ในระหว่างการพิจารณาของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หากใบอนุญาตสิ้นสุดลง ผู้รับอนุญาตจะประกอบกิจการต่อไปก็ได้จนกว่าจะได้รับอนุญาตใหม่ หรือได้รับหนังสือแจ้งไม่อนุญาต
ข้อ ๑๘ การอนุญาต ให้ผู้อนุญาตออกใบอนุญาตใหม่ มีระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ โดยให้นำบทกำหนดเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และค่าตอบแทนรายเดือนมาใช้บังคับด้วย
ในกรณีที่ไม่สามารถอนุญาตให้ผู้ขออนุญาตเข้าไปดำเนินกิจการได้ด้วยเหตุใดๆ ก็ดี ให้แจ้งเหตุผลเป็นหนังสือให้ผู้ขออนุญาตทราบโดยไม่ชักช้า
ข้อ ๑๙ ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตไม่ยื่นคำขออนุญาตเข้าไปดำเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ประสงค์จะดำเนินกิจการต่อไป นับตั้งแต่ใบอนุญาตสิ้นอายุ หรือได้รับหนังสือแจ้งไม่อนุญาต ผู้รับอนุญาตพร้อมด้วยบริวารต้องออกจากอาคาร หรือสิ่งก่อสร้าง หรือหยุดดำเนินกิจการภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ หรือได้รับหนังสือแจ้งไม่อนุญาต แล้วแต่กรณี
หมวด ๓
ใบแทนใบอนุญาต
ข้อ ๒๐ ในกรณีที่ใบอนุญาตให้เข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ สูญหาย ชำรุด หรือถูกทำลาย ไม่ว่ากรณีใดๆ จนไม่สามารถอ่านสาระสำคัญได้ ให้ผู้รับอนุญาตยื่นหนังสือขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่รู้ถึงการสูญหาย ชำรุด หรือถูกทำลาย
เมื่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาติได้รับหนังสือแล้ว ให้พิจารณาเสนอผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่ หรือผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ แล้วให้สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่ หรือสำนักอุทยานแห่งชาติพิจารณา และจัดทำความเห็นเสนออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่ วันที่ได้รับแจ้งจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ
ข้อ ๒๑ การอนุญาตให้ออกใบแทนใบอนุญาต ให้ผู้อนุญาตออกใบแทนใบอนุญาตตามแบบใบอนุญาตเดิม แต่ให้เขียนหรือประทับ คำว่า “ใบแทน” ด้วยอักษรสีแดงไว้ตอนบนใบอนุญาตนั้น โดยมีข้อความและเงื่อนไขถูกต้องตรงกับใบอนุญาตเดิมทุกประการ เว้นแต่วันที่ออกใบแทนใบอนุญาต และผู้ลงนามอนุญาตให้เป็นไปตามขณะที่ออกใบแทนใบอนุญาต และให้หมายเหตุไว้ในใบแทนใบอนุญาตถึงเหตุผลที่ออกใบแทนใบอนุญาตด้วย
ผู้รับอนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาตตามอัตราที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนด แต่ไม่เกินอัตราตามบัญชีที่ ๒ ท้ายระเบียบนี้
หมวด ๔
การโอนใบอนุญาต
ข้อ ๒๒ ห้ามมิให้โอนใบอนุญาต เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายการโอนใบอนุญาตให้กระทำโดยสลักหลังใบอนุญาต
ผู้รับโอนใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๑๐ และต้องชำระค่าธรรมเนียมการโอนใบอนุญาตครึ่งอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนั้น
ข้อ ๒๓ ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตตายก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ ผู้รับพินัยกรรมหรือทายาทโดยธรรม หรือผู้จัดการมรดกสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ไม่เกิน ๔๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้รับอนุญาตตายไม่ว่าใบอนุญาตนั้นจะมีอายุเหลืออยู่เท่าใด ถ้าผู้รับพินัยกรรมหรือทายาทโดยธรรมหรือผู้จัดการมรดกประสงค์จะดำเนินกิจการต่อไปอีก ให้ยื่นหนังสือขอรับโอนใบอนุญาตก่อนกำหนดระยะเวลาดังกล่าว สิ้นสุดลง และให้ประกอบกิจการต่อไปได้ในระหว่างการพิจารณาจนกว่าจะได้รับหนังสือแจ้งไม่อนุญาต
กรณีไม่อนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งเหตุผลเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับโอนทราบด้วย
ถ้าไม่มีการดำเนินการภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือมีการสั่งไม่อนุญาต ให้นำความ ในข้อ ๑๙ มาใช้บังคับ
หมวด ๕
เบ็ดเตล็ด
ข้อ ๒๔ เมื่อมีการอนุญาตให้เข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติตามระเบียบนี้แล้ว ให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่ หรือผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ แล้วแต่กรณี พิจารณาสั่งเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติ ตามเงื่อนไขในการอนุญาตอย่างสม่ำเสมอ และให้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางออกไปดำเนินการตรวจสอบ และติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตอีกทางหนึ่ง อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
ข้อ ๒๕ การอนุญาตให้ดำเนินกิจการใดๆ ในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้ออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลใดไว้แล้วก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่ายังคงได้รับอนุญาต และถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการ และกำหนดระยะเวลาการอนุญาตให้เป็นไปตามระเบียบนี้ต่อไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗
สมชัย เพียรสถาพร
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
[เอกสารแนบท้าย]
๑. บัญชีอัตราค่าบริการ และค่าตอบแทน (บัญชีที่ 1)
๒. บัญชีอัตราค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าตอบแทน (บัญชีที่ 2)
๓. คำขออนุญาตเข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ (แบบ อ.ช.1)
๔. คำขออนุญาตเข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติสำหรับการบริการนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ (แบบ อ.ช. 2)
๕. ใบอนุญาตให้เข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ (แบบ อ.ช.3)
๖. ใบอนุญาตให้เข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวและพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ สำหรับการบริการนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ (แบบ อ.ช. 4)
(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)
โสรศ/ผู้จัดทำ
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๑๑ ง/หน้า ๔๒/๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐