คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5768/2530

 

หมายเลขคดีดำ ของศาลฎีกา
หมายเลขคดีดำ -

หมายเลขคดีดำ และ หมายเลขคดีแดง ของศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำ -
หมายเลขคดีแดง -

 

พนักงานอัยการจังหวัดฉะเชิงเทรา   โจทก์
นางกิมเฮียง แซ่เบ้                    จำเลย
 

ป.วิ.อ. มาตรา 158
พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ.2485 มาตรา 23, 37
พ.ร.บ.การชลประทานหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2497 มาตรา 6, 10
พ.ร.บ.การชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2507 มาตรา 12, 17
พ.ร.บ.การชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2518 มาตรา 7

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายกล่าวคือ จำเลยปลูกสร้างบ้านพักอาศัยรุกล้ำที่ดินราชพัสดุ เขตชานคลองชลประทานซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของนายช่างหัวหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ ไชยานุชิตโดยละเมิดกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพุทธศักราช 2485 มาตรา 23 วรรค 1, 37 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507มาตรา 17 ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำ

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 มาตรา 23 วรรค 1, 37 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 มาตรา 17 จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษปรับ 50 บาท ที่ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ชลประทานนั้นไม่มีกฎหมายที่โจทก์อ้างให้อำนาจโจทก์ขอ จึงให้ยกคำขอ

โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัย คดีคงมีปัญหา เฉพาะข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485มาตรา 23 วรรค 1, 37 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507มาตรา 17 โดยมิได้อ้างมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวทั้งมิได้อ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2518 มาตรา 7 ด้วยนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษและมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำได้หรือไม่ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านพักอาศัยรุกล้ำที่ดินราชพัสดุเขตชานคลองชลประทานโดยละเมิดกฎหมายและคำขอท้ายฟ้องได้ระบุอ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 มาตรา 23 วรรค 1 ซึ่งเป็นบทความผิดและมาตรา 37 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษกับอ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507มาตรา 17 ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ทั้งได้ขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำนั้นด้วย เพียงแต่โจทก์มิได้อ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 มาตรา 12 ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ทั้งมิได้อ้างพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2518 มาตรา 7 ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 แล้วบัญญัติความใหม่ขึ้นแทนเท่านั้นตามความที่บัญญัติขึ้นใหม่ ยังคงเรียกว่ามาตรา 23 และมาตรา 37 อยู่นั่นเองการที่จำเลยกระทำความผิดหลังจากใช้กฎหมายซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมใหม่แล้ว แต่โจทก์มิได้ระบุอ้างพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว จึงมิทำให้ฟ้องโจทก์ขาดความสมบูรณ์ เมื่อฟังว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (แบับที่ 3) พ.ศ. 2507 มาตรา 12 และมีบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485มาตรา 37 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2518 มาตรา 7 ศาลก็ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518 มาตรา 7 ได้ และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำนั้นได้ด้วย
พิพากษายืน

( อากาศ บำรุงชีพ - เสรี แสงศิลป์ - สุทิน นนทแก้ว )

หมายเหตุ