พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.๒๕๖๑

พระราชบัญญัติ

ทรัพยากรน้ำ

พ.ศ. ๒๕๖๑

                  

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑

เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ

 

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ (๒) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

 

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การบริหารทรัพยากรน้ำ ทั้งในมิติด้านการจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ และสิทธิในน้ำมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันจะเป็นประโยชน์แก่การบริการสาธารณูปโภคและประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า “พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ๒๕๖๑”

 

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติในหมวด ๔ การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ และมาตรา ๑๐๔ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  การจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และสิทธิในน้ำ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่มีกฎหมายใดกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และสิทธิในน้ำเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ ก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมายเฉพาะนั้นเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้

“น้ำ” หมายความว่า น้ำในบรรยากาศ น้ำบนผิวดิน น้ำใต้ดิน และน้ำทะเล

 

“ทรัพยากรน้ำ” หมายความว่า น้ำ ทรัพยากรน้ำสาธารณะ แหล่งต้นน้ำลำธาร แหล่งกักเก็บน้ำ คลองส่งน้ำ พื้นที่ทางน้ำหลาก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น และสิ่งอื่นที่ใช้เพื่อการบริหารจัดการน้ำ และให้หมายความรวมถึงน้ำจากแหล่งน้ำระหว่างประเทศและแหล่งน้ำต่างประเทศที่ประเทศไทยอาจนำมาใช้ประโยชน์ได้

 

“ทรัพยากรน้ำสาธารณะ” หมายความว่า น้ำในแหล่งน้ำที่ประชาชนใช้หรือที่สงวนไว้ให้ประชาชนใช้ร่วมกัน หรือโดยสภาพประชาชนอาจใช้ประโยชน์ร่วมกัน และให้หมายความรวมถึงแม่น้ำ ลำคลอง ทางน้ำ บึง แหล่งน้ำใต้ดิน ทะเลสาบ น่านน้ำภายใน ทะเลอาณาเขต พื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งน้ำตามธรรมชาติอื่น ๆ แหล่งน้ำที่รัฐจัดสร้างหรือพัฒนาขึ้นเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แหล่งน้ำระหว่างประเทศที่อยู่ภายในเขตประเทศไทยซึ่งประชาชนนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทางน้ำชลประทานตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทาน และน้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล

 

“การใช้น้ำ” หมายความว่า การดำเนินกิจกรรมในทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว คมนาคม การประปา การผลิตพลังงาน หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะทำให้น้ำมีปริมาณเปลี่ยนไปหรือไม่ก็ตาม

 

“ลุ่มน้ำ” หมายความว่า บริเวณพื้นที่ซึ่งครอบคลุมลำน้ำธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งที่รวมน้ำให้ไหลลงสู่ลำน้ำตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

 

“ภาวะน้ำแล้ง” หมายความว่า สภาวะที่ปริมาณน้ำ ปริมาณการไหลของน้ำหรือระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคน สัตว์ และพืชที่อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

 

“ภาวะน้ำท่วม” หมายความว่า สภาวะที่ปริมาณน้ำ ปริมาณการไหลของน้ำหรือระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือไหลหลาก หรือฉับพลันจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคน สัตว์ และพืชที่อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ไม่รวมถึงภาวะน้ำขึ้นและน้ำลงซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติตามธรรมชาติ

 

“ผังน้ำ” หมายความว่า แผนที่หรือแผนผังแสดงระบบทางน้ำที่มีน้ำไหลผ่าน ซึ่งเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงทางออกสู่พื้นที่แหล่งน้ำ ทะเล หรือทางออกทางน้ำระหว่างประเทศ ซึ่งระบบทางน้ำดังกล่าวครอบคลุมทั้งแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง กุด ป่าบุ่ง ป่าทาม พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่แหล่งกักเก็บน้ำ พื้นที่ทางน้ำหลาก พื้นที่น้ำนอง พื้นที่ลุ่มต่ำ ทางน้ำหรือพื้นที่อื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันไม่ว่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น โดยทางน้ำดังกล่าวอาจมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปีหรือบางช่วงเวลาก็ได้

 

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

 

“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

 

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

 

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วแต่กรณี แต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

 

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

 

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง

 

มาตรา ๕  ให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้  ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของตน

ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามหมวด ๕ ภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม  ทั้งนี้ จะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงขนาดหรือลักษณะของกิจการการใช้น้ำแต่ละประเภท ผลกระทบต่อประชาชน และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจก็ได้

 

กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๑

ทรัพยากรน้ำ

                  

 

มาตรา ๖  รัฐมีอำนาจใช้ พัฒนา บริหารจัดการ บำรุงรักษา ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างสมดุลและยั่งยืน  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้โดยอาจเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำหรือขยายพื้นที่ของแหล่งน้ำก็ได้ แต่ถ้าเป็นการลดพื้นที่หรือให้เลิกใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะต้องดำเนินการถอนสภาพตามประมวลกฎหมายที่ดิน

 

เพื่อประโยชน์ในการบริหารทรัพยากรน้ำสาธารณะที่มิใช่ทางน้ำชลประทานตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทาน และน้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล นายกรัฐมนตรีอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรน้ำสาธารณะแห่งใดก็ได้

 

ให้หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบตามวรรคสอง มีอำนาจออกระเบียบหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น แล้วแต่กรณี เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าใช้สอยทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้นตามกรอบแนวทางที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติกำหนดโดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องมิใช่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดสรรน้ำและการใช้น้ำตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๔ การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ

 

ระเบียบหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นตามวรรคสาม เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๒

สิทธิในน้ำ

                  

 

มาตรา ๗  ทรัพยากรน้ำสาธารณะเป็นของส่วนรวม บุคคลมีสิทธิใช้หรือเก็บกักน้ำได้เท่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ในกิจกรรมหรือในที่ดินของตน โดยไม่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่บุคคลอื่นซึ่งอาจใช้น้ำนั้น  ทั้งนี้ เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

 

มาตรา ๘  เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินซึ่งมีน้ำพุเกิดขึ้นหรือมีน้ำไหลผ่านตามธรรมชาติไม่ว่าบนดินหรือใต้ดิน ย่อมมีสิทธิใช้หรือเก็บกักน้ำนั้นได้เท่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ในที่ดินของตน และไม่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่บุคคลอื่น

 

หมวด ๓

องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

                  

ส่วนที่ ๑

คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

                  

 

มาตรา ๙  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” เรียกโดยย่อว่า “กนช.” ประกอบด้วย

 

(๑) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ

 

(๒) รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ

 

(๓) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

 

(๔) กรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ จำนวนหกคน ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ

 

(๕) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนสี่คน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และผลงานเป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่าห้าปีในด้านการเกษตร ด้านทรัพยากรน้ำ ด้านผังเมือง ด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านอุตสาหกรรม

 

ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานอีกไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

 

มาตรา ๑๐  การคัดเลือกกรรมการตามมาตรา ๙ (๔) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกโดยนายกรัฐมนตรี

 

มาตรา ๑๑  กรรมการตามมาตรา ๙ (๔) และ (๕) มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปีและอาจได้รับการคัดเลือกหรือแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

 

มาตรา ๑๒  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการตามมาตรา ๙ (๔) และ (๕) พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) นายกรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ

(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๕) พ้นจากการเป็นกรรมการลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๗

(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

 

มาตรา ๑๓  ในกรณีที่กรรมการตามมาตรา ๙ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระให้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กรรมการนั้นพ้นจากตำแหน่ง และให้ผู้ได้รับการคัดเลือกอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทนแต่ถ้าวาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่ดำเนินการคัดเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้และในระหว่างที่ยังไม่มีการคัดเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้ กนช. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่

 

มาตรา ๑๔  ในกรณีที่กรรมการตามมาตรา ๙ (๕) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กรรมการนั้นพ้นจากตำแหน่ง และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทนแต่ถ้าวาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่แต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ และในระหว่างที่ยังไม่ได้แต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้ กนช. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่

 

มาตรา ๑๕  ในกรณีที่กรรมการตามมาตรา ๙ (๔) หรือ (๕) ดำรงตำแหน่งครบวาระแล้วให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการคัดเลือกหรือแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่

 

มาตรา ๑๖  การประชุม กนช. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุม กนช. ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ในการประชุม กนช. ถ้ามีการพิจารณาเรื่องที่กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมในเรื่องดังกล่าว กรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าประชุมพิจารณาเรื่องนั้น

 

มาตรา ๑๗  กนช. มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการบูรณาการเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้เกิดความเป็นเอกภาพ รวมทั้งให้มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) จัดทำนโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

(๒) พิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำและแผนงบประมาณการบริหารทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บทตาม (๑) และเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาในการจัดทำงบประมาณประจำปี

(๓) พิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอตามมาตรา ๓๕ (๑)

(๔) กำกับ ดูแล เร่งรัด ตรวจสอบ ติดตาม และให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการตามนโยบาย และแผนแม่บทตาม (๑) รวมทั้งแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณตาม (๒) และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกสิ้นปีงบประมาณ

(๕) พิจารณาและให้ความเห็นชอบผังน้ำที่สำนักงานเสนอ และประกาศกำหนดผังน้ำในราชกิจจานุเบกษา

(๖) เสนอแนะหรือมอบหมายแนวทางแก่หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำให้มีคุณภาพและการจัดการมลพิษทางน้ำที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

(๗) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแก้ไขปัญหาจากการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบของแต่ละหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดการบูรณาการและการมีส่วนร่วมของประชาชน

(๘) กำหนดหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือต่อสำนักงานในการรวบรวมข้อมูล เชื่อมต่อข้อมูล และบูรณาการข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำ

(๙) กำหนดกรอบ หลักเกณฑ์ และแนวทางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ และลำดับความสำคัญของการใช้น้ำสำหรับกิจการประเภทต่าง ๆ เพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำนำไปพิจารณาในการจัดสรรน้ำและควบคุมการใช้น้ำในแต่ละลุ่มน้ำ

(๑๐) พิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมของคณะกรรมการลุ่มน้ำต่าง ๆ เพื่อบูรณาการการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมระหว่างลุ่มน้ำ

(๑๑) พิจารณาและให้ความเห็นชอบการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สามตามมาตรา ๔๔ และการเพิกถอนใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สามตามมาตรา ๕๔

(๑๒) พิจารณาและให้ความเห็นชอบการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำและการผันน้ำจากแหล่งน้ำระหว่างประเทศหรือแหล่งน้ำต่างประเทศ

(๑๓) ไกล่เกลี่ยและชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำ

(๑๔) เสนอแนะเกี่ยวกับการตรา การออกหรือการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้

(๑๕) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ให้มีการตรากฎหมายหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรน้ำ

(๑๖) ออกระเบียบกำหนดมาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชน ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในด้านการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ และการดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ

(๑๗) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ หรือที่กฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของ กนช. หรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

การจัดทำนโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำตาม (๑) ให้ครอบคลุมถึงการรักษาและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำด้วย

การเสนอข้อพิพาทระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำเพื่อให้ กนช. ไกล่เกลี่ยและชี้ขาดตาม (๑๓) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กนช. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๑๘  ในการจัดทำนโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำตามมาตรา ๑๗ (๑) ให้ กนช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน องค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กนช. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ และให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ปฏิบัติตามนโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำดังกล่าว

ให้ กนช. ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ และในกรณีที่มีการปรับปรุงนโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำให้น้ำ ความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

 

มาตรา ๑๙  ให้ กนช. ติดตามและประเมินผลการดำเนินการ รวมทั้งพิจารณาทบทวนหรือปรับปรุงแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่มีความเปลี่ยนแปลงและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกปี

 

มาตรา ๒๐  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ กนช. อาจมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการด้านต่าง ๆ ที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กนช. แล้วรายงานต่อ กนช. หรือดำเนินการตามที่ กนช. มอบหมาย รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาเสนอแนะ หรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ กนช. มอบหมายได้

 

ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และด้านเทคนิคและวิชาการ

 

ในกรณีจำเป็น ให้ กนช. มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดเพื่อประโยชน์ในการบูรณาการการบริหารทรัพยากรน้ำในระดับจังหวัด

 

ให้นำความในมาตรา ๑๖ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการด้วยโดยอนุโลม

 

มาตรา ๒๑  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้ กนช. กรรมการที่ กนช. มอบหมาย หรือคณะอนุกรรมการที่ กนช. แต่งตั้งมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสาร หลักฐาน หรือวัตถุใด ๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น

 

มาตรา ๒๒  ให้ประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

 

มาตรา ๒๓  ให้สำนักงานทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ กนช. โดยให้มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) รับผิดชอบงานธุรการของ กนช. และคณะอนุกรรมการ

(๒) กลั่นกรองและเสนอความเห็นต่อ กนช. เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามมาตรา ๑๗ (๑) (๒) (๓) และมาตรา ๒๔

(๓) จัดทำผังน้ำเสนอ กนช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๗ (๕)

(๔) ประสานการดำเนินงานกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

(๕) รวบรวมและจัดเตรียมข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และริเริ่มกิจกรรมหรือโครงการใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของ กนช.

(๖) ให้คำแนะนำและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรน้ำ รวมทั้งการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำตามที่ได้รับการร้องขอ

(๗) อำนวยการและกำกับดูแลโครงการสำคัญระดับชาติหรือโครงการเร่งด่วนที่จำเป็นต้องมีการประสานการทำงานหลายหน่วยงานตามที่ กนช. มอบหมาย

(๘) ติดตาม ประเมินผล และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำหน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรน้ำ และรายงานต่อ กนช.

(๙) กำกับดูแลและบริหารจัดการระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำโดยให้หน่วยงานที่ กนช. กำหนดสนับสนุนข้อมูลและเชื่อมโยงระบบสารสนเทศที่เป็นปัจจุบันเพื่อประโยชน์ในการบริหารทรัพยากรน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ

(๑๐) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชน ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในด้านการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ และการดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ

(๑๑) จัดทำงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของ กนช. คณะกรรมการลุ่มน้ำ และคณะอนุกรรมการ

(๑๒) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่ กนช. มอบหมาย

การจัดทำผังน้ำตาม (๓) ต้องจัดให้มีรายการประกอบผังน้ำเพื่ออธิบายวัตถุประสงค์ของผังน้ำและรายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในผังน้ำ  ทั้งนี้ การจัดทำผังน้ำต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม

 

ส่วนที่ ๒

ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ

                  

 

มาตรา ๒๔  ในกรณีเกิดปัญหาวิกฤติน้ำจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคน สัตว์ หรือพืช หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐอย่างรุนแรงให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ อำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำเป็นการชั่วคราว จนกว่าปัญหาวิกฤติน้ำจะผ่านพ้นไป  ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กับศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งและสนับสนุนการปฏิบัติงาน

 

ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการฝ่ายพลเรือน เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือบุคคลใด ๆ ร่วมกันกระทำหรือห้ามกระทำการใด ๆ เพื่อการป้องกัน แก้ไข ควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

 

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งตามวรรคสองแล้ว และคำสั่งนั้นมีสภาพอย่างกฎเพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อประชาชนที่เกี่ยวข้อง ให้ประกาศคำสั่งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาโดยมิชักช้า

 

ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจหรือการปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีตามวรรคสอง หากเจ้าหน้าที่ของศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ข้าราชการฝ่ายพลเรือน เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือบุคคลใด ได้ดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจ และได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ให้ผู้นั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งปวง

 

เมื่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำแล้วเสร็จ ให้สำนักงานรายงานและจัดทำสรุปผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบโดยมิชักช้า

 

ส่วนที่ ๓

ลุ่มน้ำและคณะกรรมการลุ่มน้ำ

                  

 

มาตรา ๒๕  เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้มีการกำหนดลุ่มน้ำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา  ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงสภาพอุทกวิทยา สภาพภูมิศาสตร์ ระบบนิเวศ การตั้งถิ่นฐาน การผังเมือง ผังน้ำ และเขตการปกครองประกอบด้วย

พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งต้องมีแผนที่แสดงแนวเขตลุ่มน้ำแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาและให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกา

 

มาตรา ๒๖  การเปลี่ยนแปลงเขตหรือการเพิกถอนลุ่มน้ำใด ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้กระทำได้โดยตราพระราชกฤษฎีกา และเฉพาะกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนบางส่วนให้มีแผนที่แสดงแนวเขตที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนนั้นแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย

 

มาตรา ๒๗  เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๕ แล้ว ให้มีคณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำนั้น ประกอบด้วย

(๑) กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้น ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนกรมเจ้าท่า ผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำ ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมประมง ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนกรมป่าไม้ ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ในกรณีที่ลุ่มน้ำใดมีพื้นที่ติดต่อกับชายแดน ให้มีผู้แทนกระทรวงกลาโหมเข้าร่วมเป็นกรรมการลุ่มน้ำ หรือในกรณีที่ลุ่มน้ำใดมีพื้นที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล ให้มีผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเข้าร่วมเป็นกรรมการลุ่มน้ำ หรือในกรณีที่ลุ่มน้ำใดอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ให้มีผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมเป็นกรรมการลุ่มน้ำด้วย

(๒) กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตลุ่มน้ำนั้น จังหวัดละหนึ่งคน และในกรณีที่ลุ่มน้ำใดอยู่ในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนั้นเป็นกรรมการลุ่มน้ำด้วย

(๓) กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำนั้นที่มาจากภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม ภาคละสามคน

(๔) กรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำจำนวนสี่คน

 

ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตาม (๑) เลือกกันเองเพื่อเป็นประธานกรรมการลุ่มน้ำ และให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเลือกกรรมการลุ่มน้ำอีกสองคนเป็นรองประธานกรรมการลุ่มน้ำ  ทั้งนี้ การเลือกประธานกรรมการลุ่มน้ำและรองประธานกรรมการลุ่มน้ำให้กระทำทุกสามปี

 

ให้ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาคแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาคเป็นกรรมการลุ่มน้ำและเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกินสองคน

 

มาตรา ๒๘  การได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๗ (๒) (๓) และ (๔) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกโดยนายกรัฐมนตรี

 

มาตรา ๒๙  กรรมการลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๗ (๒) พ้นจากตำแหน่งเมื่อลาออก เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือพ้นจากการเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตลุ่มน้ำ

 

มาตรา ๓๐  ในกรณีที่กรรมการลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๗ (๒) พ้นจากตำแหน่ง ให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำแทนตำแหน่งที่ว่างให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กรรมการลุ่มน้ำนั้นพ้นจากตำแหน่ง และในระหว่างที่ยังไม่ได้กรรมการลุ่มน้ำแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำประกอบด้วยกรรมการลุ่มน้ำเท่าที่เหลืออยู่

 

มาตรา ๓๑  กรรมการลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๗ (๓) และ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

 

มาตรา ๓๒  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๗ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) บกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๕) พ้นจากการเป็นผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำ

(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

 

การพ้นจากตำแหน่งตาม (๓) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกโดยนายกรัฐมนตรี

 

มาตรา ๓๓  ในกรณีที่กรรมการลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๗ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำแทนตำแหน่งที่ว่างให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กรรมการลุ่มน้ำนั้นพ้นจากตำแหน่ง และให้ผู้เข้ามาเป็นกรรมการลุ่มน้ำแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการลุ่มน้ำซึ่งตนแทน แต่ถ้าวาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่ดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ และในระหว่างที่ยังไม่ได้กรรมการลุ่มน้ำแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำประกอบด้วยกรรมการลุ่มน้ำเท่าที่เหลืออยู่

 

มาตรา ๓๔  ในกรณีที่กรรมการลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๗ (๓) หรือ (๔) ดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว ให้กรรมการลุ่มน้ำซึ่งพ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำขึ้นใหม่

 

มาตรา ๓๕ คณะกรรมการลุ่มน้ำมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ รวมทั้งให้มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) จัดทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำเสนอ กนช. เพื่อให้ความเห็นชอบ

(๒) จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมเสนอ กนช. เพื่อให้ความเห็นชอบ

(๓) พิจารณาปริมาณการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ และจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำและควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามกรอบ หลักเกณฑ์ และแนวทางที่ กนช. กำหนด

(๔) กำหนดหลักเกณฑ์และระเบียบการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ  ทั้งนี้ ภายใต้กรอบและแนวทางที่ กนช. กำหนด

(๕) ให้ความเห็นชอบการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองตามมาตรา ๔๓ และการเพิกถอนใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองตามมาตรา ๕๔

(๖) พิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำต่อ กนช.

(๗) เสนอความเห็นต่อ กนช. เกี่ยวกับแผนงานและโครงการในการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ

(๘) รับเรื่องร้องทุกข์ ไกล่เกลี่ย และชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้น้ำ

(๙) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษทางน้ำในเขตลุ่มน้ำนั้น

(๑๐) ส่งเสริมและรณรงค์การสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนในการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ

(๑๑) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ หรือที่กฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการลุ่มน้ำ หรือตามที่ กนช. มอบหมาย

 

การจัดทำแผนตาม (๑) และ (๒) และการกำหนดหลักเกณฑ์และระเบียบตาม (๔) ให้ครอบคลุมถึงการรักษาและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำด้วย

 

การเสนอเรื่องร้องทุกข์หรือข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้น้ำเพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำไกล่เกลี่ยและชี้ขาดตาม (๘) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กนช. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๓๖  ให้นำความในมาตรา ๑๖ มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ มาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับแก่การประชุมและการดำเนินการของคณะกรรมการลุ่มน้ำด้วยโดยอนุโลม

 

มาตรา ๓๗  ให้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาคขึ้นในสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ โดยให้มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ

(๒) ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ

(๓) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรผู้ใช้น้ำในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษทางน้ำในเขตลุ่มน้ำ เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ

(๔) ส่งเสริมและติดตามการใช้น้ำประเภทที่สองในเขตลุ่มน้ำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการลุ่มน้ำ

(๕) เสนอมาตรการป้องกันการขัดแย้งและแนวทางการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำ

(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำมอบหมาย

 

ส่วนที่ ๔

องค์กรผู้ใช้น้ำ

                  

 

มาตรา ๓๘  บุคคลซึ่งใช้น้ำในบริเวณใกล้เคียงกันและอยู่ในเขตลุ่มน้ำเดียวกันมีสิทธิรวมตัวกันจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อประโยชน์ร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในหมู่สมาชิกขององค์กรผู้ใช้น้ำ

 

วัตถุประสงค์ หน้าที่และอำนาจ และการดำเนินงานขององค์กรผู้ใช้น้ำ รวมทั้งหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกโดยนายกรัฐมนตรี

 

มาตรา ๓๙  กฎกระทรวงตามมาตรา ๓๘ จะกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้ง ภารกิจ และหน้าที่และอำนาจขององค์กรผู้ใช้น้ำในแต่ละลุ่มน้ำให้แตกต่างกันก็ได้  ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสภาพอุทกวิทยา สภาพภูมิศาสตร์ ระบบนิเวศ วัฒนธรรม จารีตประเพณี วิถีชีวิตของประชาชนในการใช้น้ำประเภทต่าง ๆ และความจำเป็นในการบริหารจัดการด้วย

 

การออกกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน

 

หมวด ๔

การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ

                  

 

มาตรา ๔๐  การจัดสรรน้ำของประเทศพึงคำนึงถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว  ทั้งนี้ การจัดลำดับความสำคัญให้เป็นไปตามที่ กนช. กำหนด

 

มาตรา ๔๑  การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ แบ่งเป็นสามประเภท คือ

(๑) การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย

(๒) การใช้น้ำประเภทที่สอง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น

(๓) การใช้น้ำประเภทที่สาม ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

ลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภทตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้เป็นไป

ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกโดยนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ กนช.

การออกกฎกระทรวงตามวรรคสอง จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน

 

มาตรา ๔๒  การใช้น้ำประเภทที่หนึ่งไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำและไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ

 

ให้หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำข้อมูลการใช้นำประเภทที่หนึ่งที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ และจัดส่งข้อมูลดังกล่าวต่อสำนักงาน  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กนช. ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๔๓  การใช้น้ำประเภทที่สองต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ หรืออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้นตั้งอยู่

 

มาตรา ๔๔  การใช้น้ำประเภทที่สามต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมชลประทานอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ หรืออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของ กนช.

 

มาตรา ๔๕  การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต และการอนุญาต รวมทั้งการขอและการออกใบแทนใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ใบอนุญาตตามความในวรรคหนึ่ง อาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตการใช้น้ำต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้น้ำ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะหรือเพื่อรองรับภาวะวิกฤติน้ำด้วยก็ได้

 

ในกรณีที่กฎหมายหรือสาระสำคัญแห่งพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป หรือมีเหตุสำคัญเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ หรืออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือ กนช. แล้วแต่กรณี มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขในใบอนุญาตการใช้น้ำตามวรรคสองได้

 

มาตรา ๔๖  ในการพิจารณาออกใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต ให้คำนึงถึงความสมดุลของน้ำในทรัพยากรน้ำสาธารณะ รวมทั้งลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้องเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมความสมดุลของลุ่มน้ำ

 

มาตรา ๔๗  ในการขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำตามมาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องยื่นแผนการบริหารจัดการน้ำมาพร้อมกับคำขอด้วย  ทั้งนี้ แบบคำขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ หรืออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แล้วแต่กรณี ประกาศกำหนด

 

แผนการบริหารจัดการน้ำตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

(๑) วัตถุประสงค์ของการใช้น้ำและแหล่งน้ำที่จะใช้

(๒) ประมาณการปริมาณน้ำที่จะใช้หรือจะกักเก็บไว้เพื่อใช้

(๓) สถานที่กักเก็บน้ำ

(๔) วิธีการใช้น้ำ

(๕) แผนจัดการน้ำที่กักเก็บไว้เมื่อเกิดภาวะน้ำแล้ง

(๖) แผนจัดการน้ำที่กักเก็บไว้เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม

(๗) วิธีการบำรุงรักษา ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้น

 

แผนจัดการน้ำที่กักเก็บไว้เมื่อเกิดภาวะน้ำแล้งตาม (๕) อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับวิธีการใช้น้ำในระหว่างที่เกิดภาวะน้ำแล้ง การลดปริมาณการใช้น้ำ การหาแหล่งน้ำทดแทน และอัตราความเป็นไปได้ในการเฉลี่ยน้ำที่มีเพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

แผนจัดการน้ำที่กักเก็บไว้เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมตาม (๖) อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันมิให้น้ำที่กักเก็บไว้ล้นออกไปนอกสถานที่กักเก็บน้ำจนอาจก่อให้เกิดน้ำท่วม หรือไปเพิ่มปริมาณน้ำที่ท่วมอยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีก

 

มาตรา ๔๘  นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ กนช. มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สามไม่เกินอัตราที่กำหนดในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๔๙  นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ กนช. มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนด

(๑) หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม

(๒) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกเก็บ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำ  ทั้งนี้ จะกำหนดให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงกิจกรรม ลักษณะ หรือปริมาณของการใช้น้ำในแต่ละประเภทและในแต่ละลุ่มน้ำก็ได้

 

มาตรา ๕๐  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามที่ไม่ใช่น้ำจากทางน้ำชลประทานตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานและไม่ใช่น้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล และให้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเรียกเก็บค่าใช้น้ำดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๔๙

 

มาตรา ๕๑  เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและควบคุมการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะให้ผู้รับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามต้องติดตั้งเครื่องมือวัดหรือประเมินปริมาณน้ำที่ใช้ และเก็บข้อมูลที่จำเป็นเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี ตรวจสอบ  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ หรืออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แล้วแต่กรณี กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา ๕๒  ในกรณีที่การใช้น้ำตามใบอนุญาตเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อความสมดุลของทรัพยากรน้ำสาธารณะในลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้อง หรือก่อให้เกิดผลกระทบอย่างสำคัญต่อประโยชน์สาธารณะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับใบอนุญาตการใช้น้ำหยุดการใช้น้ำตามใบอนุญาตไว้เป็นการชั่วคราว และให้ผู้รับใบอนุญาตการใช้น้ำดำเนินการตามความจำเป็นเพื่อแก้ไขหรือระงับเหตุแห่งผลกระทบดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

มาตรา ๕๓  เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองหรือประเภทที่สาม แล้วแต่กรณี ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต หรือคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำตามมาตรา ๔๗ ได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตการใช้น้ำได้ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน และเมื่อสั่งพักใช้ใบอนุญาตแล้วให้รายงานต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือต่อ กนช. แล้วแต่กรณี ทราบโดยมิชักช้า

 

ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตการใช้น้ำตามวรรคหนึ่งต้องทำการแก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องพนักงานเจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี จะกำหนดเวลาให้แก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องด้วยก็ได้ และเมื่อผู้รับใบอนุญาตได้ทำการแก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะยกเลิกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตก่อนครบกำหนดเวลาก็ได้

 

มาตรา ๕๔  เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองหรือประเภทที่สาม แล้วแต่กรณี ฝ่าฝืนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือไม่ทำการแก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ออกตามมาตรา ๕๓ ให้อธิบดีกรมชลประทาน หรืออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือ กนช. แล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการใช้น้ำนั้นได้

 

มาตรา ๕๕  มิให้นำความในมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๔ มาใช้บังคับแก่การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะที่เป็นน้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล

 

หมวด ๕

ภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม

                  

ส่วนที่ ๑

การใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบทางน้ำตามผังน้ำ

                  

 

มาตรา ๕๖  เมื่อมีการประกาศผังน้ำในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา ๑๗ (๕) แล้วการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำจะต้องไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือกระแสน้ำหรือกีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม

 

ส่วนที่ ๒

การป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง

                  

 

มาตรา ๕๗  ในกรณีที่มีข้อมูลเพียงพอที่ชี้ได้ว่าจะเกิดภาวะน้ำแล้งในพื้นที่ใดของลุ่มน้ำ ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตภาวะน้ำแล้ง และกำหนดให้กิจการใดสามารถใช้น้ำได้ในปริมาณที่เห็นสมควรได้

 

การกำหนดให้กิจการใดสามารถใช้น้ำได้ในปริมาณที่เห็นสมควร ให้ทำเป็นประกาศปิดไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่ายในเขตภาวะน้ำแล้งนั้น

 

เมื่อภาวะน้ำแล้งได้พ้นไปแล้ว ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกเขตภาวะน้ำแล้ง

 

มาตรา ๕๘  ในกรณีที่เกิดภาวะน้ำแล้งจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ใด ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรงในพื้นที่นั้น และกำหนดวิธีการใช้น้ำเพื่อลดปริมาณการใช้หรือห้ามการใช้น้ำบางประเภทเกินกว่าจำเป็นแก่การอุปโภคบริโภค กำหนดวิธีการแบ่งปันน้ำ รวมทั้งกำหนดมาตรการอื่นใดที่จำเป็นใช้บังคับในพื้นที่เพื่อแก้ไขและบรรเทาภาวะน้ำแล้งนั้น  ทั้งนี้ ต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมและให้ผู้ใช้น้ำต้องเสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำมีอำนาจกำหนดวิธีการใช้น้ำและการแบ่งปันน้ำในพื้นที่ได้เท่าที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

 

ในกรณีที่ประกาศตามวรรคหนึ่งใช้บังคับในพื้นที่เดียวกันกับที่ได้มีประกาศกำหนดเขตภาวะน้ำแล้งตามมาตรา ๕๗ ให้ประกาศตามวรรคหนึ่งมีผลเป็นการยกเลิกเขตภาวะน้ำแล้งนั้น และเมื่อภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรงได้พ้นไปแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกเขตภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรง

 

มาตรา ๕๙  ในกรณีมีความจำเป็นต้องผันน้ำจากลุ่มน้ำหนึ่งไปยังอีกลุ่มน้ำหนึ่งเพื่อบรรเทาภาวะน้ำแล้ง นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ กนช. มีอำนาจสั่งให้ดำเนินการดังกล่าวได้เท่าที่จำเป็นในการบรรเทาภาวะน้ำแล้งนั้น

 

มาตรา ๖๐  ในกรณีที่เกิดภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรงในพื้นที่ใด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้บุคคลซึ่งกักเก็บน้ำไว้ต้องเฉลี่ยน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนด ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้กักเก็บน้ำดังกล่าวมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากการที่ต้องสูญเสียน้ำที่กักเก็บไว้

การกำหนดค่าทดแทนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกโดยนายกรัฐมนตรี  ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความเสียหายตามความเป็นจริงและความเป็นธรรม

 

มาตรา ๖๑  ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งขึ้นไว้เป็นการล่วงหน้า โดยให้จัดทำเป็นแผนเพื่อเตรียมการรองรับทั้งกรณีปกติซึ่งสามารถคาดหมายได้ว่าจะเกิดภาวะน้ำแล้งในระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งเป็นประจำ และกรณีที่เกิดภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรง

 

แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

(๑) หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักและหน่วยงานสนับสนุน

(๒) งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ

(๓) การจัดเตรียมข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง

(๔) การเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบ

(๕) วิธีการควบคุมการใช้น้ำในพื้นที่

(๖) การหาแหล่งน้ำทดแทนและการขนส่งน้ำจากแหล่งน้ำทดแทนมายังพื้นที่ซึ่งเกิดภาวะน้ำแล้ง

(๗) การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำแล้ง

 

ในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง ให้มีการบูรณาการร่วมกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติและแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในเขตลุ่มน้ำตามความเหมาะสม

 

มาตรา ๖๒  เมื่อคณะกรรมการลุ่มน้ำได้จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งขึ้นแล้วให้เสนอต่อ กนช. เพื่อให้ความเห็นชอบ และจัดส่งแผนดังกล่าวไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบและดำเนินการ  ในการนี้ ให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องจัดสร้างหรือเตรียมอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง รวมทั้งบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างหรืออุปกรณ์นั้น หรือดำเนินการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว

 

กรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดไม่อาจดำเนินการให้เป็นไปตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งได้ ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอเรื่องต่อ กนช. เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขต่อไป

 

มาตรา ๖๓  ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งที่ กนช. ให้ความเห็นชอบ และทบทวนแผนให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะดำเนินการได้เมื่อเกิดภาวะน้ำแล้ง

 

ส่วนที่ ๓

การป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม

                  

 

มาตรา ๖๔  ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมขึ้นไว้เป็นการล่วงหน้า โดยให้จัดทำเป็นแผนเพื่อเตรียมการรองรับทั้งกรณีปกติซึ่งสามารถคาดหมายได้ว่าจะเกิดภาวะน้ำท่วมในระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งเป็นประจำ และกรณีฉุกเฉินที่มีน้ำท่วมเกิดขึ้นโดยฉับพลัน โดยในการจัดทำแผนต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อม ผังน้ำ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่นั้นประกอบด้วย

 

แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

(๑) หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักและหน่วยงานสนับสนุน

(๒) งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ

(๓) การจัดเตรียมข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม

(๔) การบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะน้ำท่วม

(๕) การจัดทำระบบเตือนภัยน้ำท่วม

(๖) การเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบ

(๗) วิธีการระบายน้ำที่รวดเร็วและถูกต้องตามหลักวิชาการให้น้ำระบายไปตามแนวทางที่กำหนด

(๘) วิธีการกักเก็บน้ำเพื่อน้ำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

(๙) การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับภัยพิบัติจากน้ำท่วม

 

ในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ให้มีการบูรณาการร่วมกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติและแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในเขตลุ่มน้ำตามความเหมาะสม

 

การบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะน้ำท่วมและการจัดทำระบบเตือนภัยน้ำท่วมตามวรรคสอง (๔) และ (๕) ให้เป็นไปตามแนวทางที่ กนช. ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๖๕  ให้นำความในมาตรา ๕๙ มาตรา ๖๒ และมาตรา ๖๓ มาใช้บังคับแก่การผันน้ำจากลุ่มน้ำหนึ่งไปยังอีกลุ่มน้ำหนึ่งเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม การเสนอแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมต่อ กนช. เพื่อให้ความเห็นชอบ การจัดส่งแผนดังกล่าวไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบและดำเนินการ และการแก้ไขปัญหากรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องไม่อาจดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าวได้ รวมทั้งการติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมและการทบทวนแผนดังกล่าวด้วยโดยอนุโลม

 

ส่วนที่ ๔

อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไข

ภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม

                  

 

มาตรา ๖๖  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างของบุคคลใด ๆ เพื่อทำการสำรวจ ตรวจสอบ หรือเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพื่อการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม  ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องอยู่ภายในกรอบของแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งตามมาตรา ๖๑ หรือแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมตามมาตรา ๖๔ หรือทั้งสองแผนควบคู่กัน แล้วแต่กรณี

 

ในการดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำลายสิ่งกีดขวาง ตัดฟันต้นไม้ ขุดดิน ปิดกันแนวเขตที่ดิน รื้อถอนสิ่งก่อสร้างซึ่งมิใช่เป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของบุคคลใด ๆ หรือดำเนินการอื่นใดเท่าที่จำเป็นแก่การป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมได้ แต่ต้องชดเชยความเสียหายแก่บุคคลนั้นด้วย

 

การชดเชยความเสียหายตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกโดยนายกรัฐมนตรี  ทั้งนี้ ในการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องคำนึงถึงความเสียหายตามความเป็นจริง และเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานประกอบการพิจารณากำหนดค่าชดเชยความเสียหายด้วย

 

มาตรา ๖๗  ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม พนักงานเจ้าหน้าที่อาจใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างของบุคคลใด ๆ เพื่อก่อสร้าง วางสิ่งของ สูบน้ำหรือระบายน้ำผ่านหรือเข้าไปในที่ดิน หรือติดตั้งอุปกรณ์ใด ๆ โดยแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันที่จะมีการดำเนินการ  ทั้งนี้ ต้องแสดงวัตถุประสงค์และลักษณะของการใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างและวันเวลาที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างด้วย

 

ในกรณีฉุกเฉินเพื่อแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างเพื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่ต้องแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างทราบในโอกาสแรกที่สามารถกระทำได้

 

ในการใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างตามมาตรานี้ ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบกำหนดค่าทดแทนการใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างตามความจำเป็นแก่กรณี และในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างจากการใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้าง ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสม  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกโดยนายกรัฐมนตรี

 

มาตรา ๖๘  การที่พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างของบุคคลใดเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗ ให้กระทำในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก

 

ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องดำเนินการต่อเนื่องจากเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง หรือมีกรณีฉุกเฉิน จะดำเนินการในเวลาอื่นนอกจากเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่งก็ได้

 

มาตรา ๖๙  ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายไม่ยินยอมตกลงในจำนวนเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบจ่ายให้ตามมาตรา ๖๐ มาตรา ๖๖ หรือมาตรา ๖๗ ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบนำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางไว้ต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์ หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหาย โดยแยกฝากไว้เป็นบัญชีเฉพาะราย และถ้ามีดอกเบี้ยหรือดอกผลใดเกิดขึ้นเนื่องจากการฝากเงินนั้น ให้ตกเป็นสิทธิแก่ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายนั้นด้วย

 

เมื่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบนำเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายไปวางไว้ต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์ หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีหนังสือแจ้งให้ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายทราบ โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ

 

หลักเกณฑ์และวิธีการในการนำเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์ หรือฝากไว้กับธนาคารออมสิน และวิธีการในการรับเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายดังกล่าวให้เป็นไปตามระเบียบที่นายกรัฐมนตรีกำหนด

 

มาตรา ๗๐  ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบจ่ายให้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะรับหรือไม่รับเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบวางไว้หรือฝากไว้ บุคคลนั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้ดำเนินการตามมาตรา ๖๙ วรรคสองแล้ว

 

การฟ้องคดีต่อศาลตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุให้การครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์ หรือการดำเนินการใด ๆ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๖๐ มาตรา ๖๖ หรือมาตรา ๖๗ ต้องสะดุดหยุดลง

 

ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายยินยอมตกลงและได้รับเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายไปแล้ว หรือมิได้ฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายต่อศาลภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือได้แจ้งเป็นหนังสือสละสิทธิไม่รับเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายดังกล่าว ผู้ใดจะเรียกร้องเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายนั้นอีกไม่ได้

 

มาตรา ๗๑  ห้ามมิให้บุคคลใดเอาไป ยักย้าย ทำอันตราย หรือทำให้เสียหายแก่สิ่งก่อสร้าง สิ่งของ หรืออุปกรณ์ใด ๆ หรือละเมิดมาตรการใด ๆ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีขึ้นเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม

 

ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำแก้ไขให้กลับคืนดีดังเดิม ถ้าผู้นั้นไม่ยินยอมกระทำ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ โดยผู้นั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว

 

มาตรา ๗๒  ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วมตามพระราชบัญญัตินี้ หากได้ดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจ และได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้กระทำการนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งปวง

 

หมวด ๖

การอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ

                  

มาตรา ๗๓  ในกรณีที่ กนช. เห็นว่าพื้นที่ใดมีลักษณะเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหรือพื้นที่ชุ่มน้ำสมควรสงวนไว้เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำสาธารณะ ให้ กนช. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาดำเนินการให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

 

มาตรา ๗๔  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของ กนช. มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินที่อาจส่งผลกระทบกับทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อมิให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์หรือพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะให้เป็นไปโดยเหมาะสมได้

หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินที่กำหนดในกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งจะกำหนดให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งใช้บังคับเป็นการทั่วไปทุกท้องที่ หรือให้ใช้บังคับเฉพาะท้องที่ใดท้องที่หนึ่งก็ได้

 

ในกรณีที่มีกฎกระทรวง ประกาศ หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองหรือกฎหมายอื่นกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณเดียวกันหรือในเรื่องเดียวกันขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง ให้บังคับตามกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่กฎกระทรวง ประกาศ หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นซึ่งออกตามกฎหมายดังกล่าวจะมีขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะที่สำคัญยิ่งกว่า

 

มาตรา ๗๕ เมื่อได้มีกฎกระทรวงตามมาตรา ๗๔ ใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ประโยชน์ที่ดินแตกต่างหรือขัดกับข้อกำหนดในกฎกระทรวงนั้น

 

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินมาก่อนที่จะมีกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งใช้บังคับและจะใช้ประโยชน์ที่ดินเช่นนั้นต่อไป แต่ถ้าการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวมีผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือระงับการใช้ประโยชน์ที่ดินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดได้ แต่ถ้าการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวทำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินนั้นต้องขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดินหรือได้รับความเสียหาย ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหาย แล้วแต่กรณี  ทั้งนี้ ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยความเสียหาย แต่ยังคงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนการขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดิน

 

การกำหนดค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายตามวรรคสองไม่ยินยอมตกลงหรือไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหาย ให้นำความในมาตรา ๖๙ และมาตรา ๗๐ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

 

มาตรา ๗๖  ในกรณีที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแตกต่างหรือขัดกับข้อกำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๗๔ ภายหลังจากที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือระงับการใช้ประโยชน์ที่ดินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดได้ โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนั้นเอง ถ้าผู้นั้นไม่ยินยอมกระทำ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ โดยผู้นั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว

 

มาตรา ๗๗  เมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือมีภยันตรายใดที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะอย่างรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องมีการป้องกันหรือแก้ไขโดยเร่งด่วน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปดำเนินการใด ๆ ในที่ดิน สิ่งก่อสร้างหรือยานพาหนะ หรือใช้ประโยชน์ในที่ดิน สิ่งก่อสร้างหรือยานพาหนะของบุคคลอื่นเพื่อป้องกัน ระงับ หรือบรรเทาเหตุนั้นได้ โดยให้นำความในมาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ มาตรา ๖๙ มาตรา ๗๐ มาตรา ๗๑ และมาตรา ๗๒ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

 

มาตรา ๗๘  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของ กนช. มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดดังต่อไปนี้ ได้

 

(๑) กำหนดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำสาธารณะหรือทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง

(๒) กำหนดห้ามการกระทำใด ๆ ที่มีผลเป็นการเสื่อมสภาพแหล่งน้ำหรือเสื่อมประโยชน์ต่อการใช้น้ำ หรือทำให้เกิดภาวะมลพิษแก่แหล่งน้ำ หรือระบบนิเวศแหล่งน้ำ หรือทำให้น้ำมีสภาพเป็นพิษจนน่าจะเป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำ หรือระบบนิเวศแหล่งน้ำ หรือสุขภาพของบุคคล

(๓) กำหนดให้ผู้ใช้น้ำซึ่งมีที่ดินติดต่อหรือใกล้เคียงกับทรัพยากรน้ำสาธารณะ จัดให้มีสิ่งก่อสร้าง ติดตั้งอุปกรณ์หรือเครื่องมือ หรือใช้กรรมวิธีใดตามที่กำหนด เพื่อตรวจสอบแหล่งที่ก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายแก่คุณภาพน้ำ หรือเพื่อป้องกันหรือแก้ไขอันตรายหรือความเสียหายแก่คุณภาพน้ำ

(๔) กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการกับสิ่งก่อสร้างหรือกิจกรรมที่ได้ดำเนินการภายในเขตพื้นที่ที่กำหนดก่อนที่จะมีการออกกฎกระทรวง โดยจะกำหนดให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด หรือให้ระงับการดำเนินกิจกรรม หรือรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะโดยได้รับค่าชดเชยตามความเหมาะสม

(๕) กำหนดมาตรการคุ้มครองอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่นั้น

 

กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งจะกำหนดให้ใช้บังคับเป็นการทั่วไปหรือใช้บังคับในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งและจะกำหนดข้อยกเว้นการใช้บังคับทั้งหมดหรือบางส่วนสำหรับกิจกรรมบางประเภทหรือบางพื้นที่ก็ได้

 

มาตรา ๗๙  ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะให้หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบดูแลทรัพยากรน้ำสาธารณะในบริเวณดังกล่าวมีหนังสือขอความร่วมมือให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้นดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะภายในระยะเวลาที่กำหนดได้

 

ในกรณีที่มีการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายหรืออาจเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ ให้หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบดูแลทรัพยากรน้ำสาธารณะในบริเวณดังกล่าวมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ที่กระทำการดังกล่าวดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อขจัดความเสียหายและทำให้ทรัพยากรน้ำสาธารณะกลับคืนสู่สภาพเดิมหรือสภาพที่ใกล้เคียงกับสภาพเดิมหรือเหมาะสมจะใช้ประโยชน์ภายในระยะเวลาที่กำหนดได้

 

หมวด ๗

พนักงานเจ้าหน้าที่

                  

 

มาตรา ๘๐  ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้

 

(๑) เข้าไปในที่ดินของบุคคลใดในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อตรวจตราแหล่งน้ำ สำรวจ หรือเก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการควบคุมและตรวจตราทรัพยากรน้ำ

(๒) เข้าไปในที่ดิน อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะของบุคคลใดในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อดำเนินการบำบัดฟื้นฟูและบูรณะความเสียหายของทรัพยากรน้ำสาธารณะ

(๓) เข้าไปในที่ดิน อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะของบุคคลใดในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ในกรณีที่มีหลักฐานอันสมควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อตรวจค้น กัก ยึดหรืออายัดเอกสารหรือสิ่งใดที่เกี่ยวข้อง และหากมีความจำเป็น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำลายสิ่งกีดขวางอันเป็นอุปสรรคในการที่จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่จะต้องใช้ความระมัดระวังให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

 

เมื่อได้เข้าไปและลงมือทำการตรวจค้น กัก ยึดหรืออายัดตาม (๓) แล้ว ถ้ายังดำเนินการไม่เสร็จจะดำเนินการต่อไปในเวลากลางคืนก็ได้ หรือในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง จะดำเนินการตาม (๓) ในเวลากลางคืนก็ได้

 

มาตรา ๘๑  ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

 

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วแต่กรณี ประกาศกำหนด

 

มาตรา ๘๒  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

หมวด ๘

ความรับผิดทางแพ่งในกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ

                  

 

มาตรา ๘๓  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำโดยผิดกฎหมายทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะหรือใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ผู้นั้นกระทำละเมิดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อรัฐเพื่อการนั้น

 

ถ้าความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะเกิดจากวัตถุหรือสิ่งอื่นใดที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นพิษ ผู้ครอบครองหรือควบคุมวัตถุหรือสิ่งอื่นใดนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแม้จะมิได้เกิดขึ้นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้น เกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือเป็นการกระทำตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่

 

ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรานี้หมายความรวมถึง

(๑) ค่าดำเนินงานต่าง ๆ ของรัฐในการประเมินความเสียหายและประเมินค่าใช้จ่ายในการเยียวยาผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสุขภาพของบุคคล

(๒) ค่าใช้จ่ายที่รัฐได้จ่ายไปในการกำจัด เคลื่อนย้ายสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทำให้สิ่งนั้นหมดสภาพความเป็นอันตรายหรือความเป็นพิษ ตลอดจนการน้ำเอาของนั้นมาเก็บ กัก หรือรักษาไว้

(๓) ค่าใช้จ่ายที่รัฐได้จ่ายไปในการทำให้ทรัพยากรน้ำสาธารณะกลับคืนสู่สภาพเดิม

(๔) ค่าใช้จ่ายที่รัฐได้จ่ายไปในการช่วยเหลือเยียวยาบุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นเนื่องในความเสียหายนั้น

(๕) ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่รัฐได้จ่ายไปในการดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมาย เช่น ค่าใช้จ่ายที่รัฐจ่ายเป็นค่าทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ค่าใช้จ่ายในการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินคดีในศาล และค่าธรรมเนียมศาล

(๖) มูลค่าของทรัพยากรน้ำสาธารณะที่ต้องเสียหายหรือถูกใช้ไปโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย

(๗) ค่าเสียหายที่เกิดจากการใช้งบประมาณของรัฐหรือจากแหล่งเงินทุนอื่น เพื่อใช้ในการบำบัดฟื้นฟูและบูรณะความเสียหายของทรัพยากรน้ำสาธารณะให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

(๘) ค่าเสียโอกาสในการนำงบประมาณหรือเงินทุนที่ใช้ตาม (๗) ไปลงทุนในโครงการอื่นของรัฐเพื่อสังคมโดยรวม

(๙) ค่าเสียหายต่อเนื่องอื่น ๆ อันพึงจะเกิดในอนาคต

 

ให้กรมทรัพยากรน้ำหรือหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรน้ำสาธารณะ แล้วแต่กรณี เป็นตัวแทนของรัฐในการฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะตามมาตรานี้ โดยให้พนักงานอัยการมีหน้าที่และอำนาจดำเนินคดีในศาลตามที่กรมทรัพยากรน้ำหรือหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวมีคำขอ

 

มาตรา ๘๔  ในกรณีที่ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะได้กระทำตามคำสั่งที่ออกตามมาตรา ๗๙ วรรคสอง และมีผลเป็นการขจัดหรือบรรเทาความเสียหาย และทำให้ทรัพยากรน้ำสาธารณะกลับคืนสู่สภาพเดิมหรือสภาพที่ใกล้เคียงกับสภาพเดิม หรือเหมาะสมจะใช้ประโยชน์ ให้มีผลเป็นการลดจำนวนค่าสินไหมทดแทนตามส่วนที่ได้กระทำ

 

หมวด ๙

บทกำหนดโทษ

                  

 

มาตรา ๘๕  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา ๖ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๘๖  ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งที่ออกตามมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๘๗  ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งที่ออกตามมาตรา ๒๑ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๘๘  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี หรือขัดขวางการกระทำการใด ๆ ที่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา ๒๔ วรรคสองหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศที่ออกตามมาตรา ๕๗ หรือมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๘๙  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๙๐  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๔ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๙๑  ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ มาตรา ๗๕ วรรคสอง มาตรา ๗๖ หรือมาตรา ๘๐ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ออกตามมาตรา ๗๙ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๙๒  ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๖๖ หรือมาตรา ๖๗ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๙๓  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๙๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง ซึ่งได้น้ำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๙๕  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) (๔) หรือ (๕) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๙๖  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง (๒) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๙๗  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

 

มาตรา ๙๘  ความผิดตามมาตรา ๘๕ มาตรา ๘๖ มาตรา ๘๗ มาตรา ๘๘ มาตรา ๘๙ มาตรา ๙๑ และมาตรา ๙๒ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบมีอำนาจเปรียบเทียบได้

 

ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ใดกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งและผู้นั้นยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี ส่งเรื่องให้คณะกรรมการเปรียบเทียบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้นั้นแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบ

 

เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบ ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคสาม ให้ดำเนินคดีต่อไป

 

มาตรา ๙๙  คณะกรรมการเปรียบเทียบตามมาตรา ๙๘ ให้ประกอบด้วยบุคคล ดังต่อไปนี้

(๑) ในเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานเป็นกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ

(๒) ในเขตจังหวัดอื่น ประกอบด้วยอัยการจังหวัดเป็นประธาน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้แทนสำนักงานเป็นกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ

หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด

 

บทเฉพาะกาล

                  

 

มาตรา ๑๐๐  ในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๕ ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๕ ใช้บังคับคง ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการลุ่มน้ำตามลุ่มน้ำเดิมที่รับผิดชอบไปพลางก่อนและให้เลขาธิการแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานหนึ่งคนเป็นกรรมการลุ่มน้ำและเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกินสองคน

 

ให้เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการตามวรรคหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำที่มีอยู่เดิมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

ในกรณีที่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๕ แล้ว โดยลุ่มน้ำที่กำหนดขึ้นไม่ได้แตกต่างจากลุ่มน้ำที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ และยังไม่มีคณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำตามวรรคหนึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๗ ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีคณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๗  ทั้งนี้ ไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ

 

ในกรณีที่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๕ แล้ว โดยลุ่มน้ำที่กำหนดขึ้นแตกต่างจากลุ่มน้ำที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ และยังไม่มีคณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๔/๒๕๖๑ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑ มอบหมายให้คณะกรรมการลุ่มน้ำตามวรรคหนึ่งคณะหนึ่งคณะใดปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๗ ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีคณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำตามมาตรา ๒๗  ทั้งนี้ ไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ ในกรณีเช่นนี้ ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำตามวรรคหนึ่งที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในลุ่มน้ำดังกล่าวแต่ไม่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตามความในวรรคนี้ สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ได้มีการมอบหมายให้คณะกรรมการลุ่มน้ำคณะหนึ่งคณะใดปฏิบัติหน้าที่

 

ให้นำความในมาตรา ๑๖ มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ มาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับแก่การประชุมและการดำเนินการของคณะกรรมการลุ่มน้ำตามวรรคสามและวรรคสี่ด้วยโดยอนุโลม

 

มาตรา ๑๐๑  ในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำตามมาตรา ๙ (๔) และยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๙ (๕) ให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๔/๒๕๖๑ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติลงวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำตามมาตรา ๙ (๔) และแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๙ (๕)

 

มาตรา ๑๐๒  ในวาระเริ่มแรก ให้นำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๖๙) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ มาใช้ในการบริหารทรัพยากรน้ำตามพระราชบัญญัตินี้ ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการจัดทำนโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำตามมาตรา ๑๗ (๑) หรือแผนแม่บทการใช้ การพัฒนาการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำตามมาตรา ๓๕ (๑) หรือแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมตามมาตรา ๓๕ (๒) ขึ้นใช้บังคับ

 

มาตรา ๑๐๓  ในวาระเริ่มแรก ให้สำนักงานจัดทำผังน้ำและรายการประกอบผังน้ำเสนอ กนช. เพื่อพิจารณาภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ

 

มาตรา ๑๐๔  เมื่อกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองหรือการใช้น้ำประเภทที่สามตามมาตรา ๔๕ ใช้บังคับแล้วให้ผู้ใช้น้ำอยู่เดิมที่เข้าลักษณะของการใช้น้ำประเภทที่สองตามมาตรา ๔๑ (๒) หรือการใช้น้ำประเภทที่สามตามมาตรา ๔๑ (๓) แล้วแต่กรณี ยื่นคำขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วให้ใช้น้ำต่อไปได้จนกว่าอธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ หรืออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แล้วแต่กรณี จะมีคำสั่งไม่อนุญาต

 

มาตรา ๑๐๕  ในระหว่างที่หมวด ๔ การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ ยังไม่มีผลใช้บังคับ หรือมีผลใช้บังคับแล้วแต่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามความในหมวด ๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้ การขออนุญาตและการอนุญาตใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะที่เป็นทางน้ำชลประทานตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทาน และการขออนุญาตและการอนุญาตใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะที่เป็นน้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล อัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการอนุญาต อัตราค่าใช้น้ำ การเรียกเก็บ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำจากทรัพยากรน้ำสาธารณะดังกล่าว รวมทั้งการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหรือกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล แล้วแต่กรณี ไปพลางก่อน จนกว่าหมวด ๔ จะใช้บังคับ หรือจนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในหมวด ๔ ใช้บังคับ

 

มาตรา ๑๐๖  การดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาและออกกฎกระทรวง ระเบียบและประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นการออกกฎกระทรวงและประกาศตามหมวด ๔ การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วแต่กรณี รายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

 

 

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

อัตราค่าธรรมเนียม

                  

 

๑. คำขอ                                             ฉบับละไม่เกิน            ๑๐๐       บาท

๒. ใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สอง               ฉบับละไม่เกิน        ๑๐,๐๐๐       บาท

๓. ใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม               ฉบับละไม่เกิน        ๕๐,๐๐๐       บาท

๔. ใบแทนใบอนุญาต                                ฉบับละไม่เกิน             ๕๐๐       บาท

๕. การต่ออายุใบอนุญาตครั้งละเท่ากับ

ค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาต

แต่ละฉบับ

๖. การโอนใบอนุญาต                               ฉบับละไม่เกิน             ๕๐๐       บาท

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประสบกับปัญหาการบริหารทรัพยากรน้ำในหลายด้านโดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายหลายฉบับ ถึงแม้รัฐบาลจะได้แต่งตั้งให้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติทำหน้าที่ในการบูรณาการและบริหารทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบในทุกมิติแล้วก็ตามแต่ก็ยังคงมีความจำเป็นที่สมควรจะมีกฎหมายในการบูรณาการเกี่ยวกับการจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษาการฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และสิทธิในน้ำ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารทรัพยากรน้ำให้มีความประสานสอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งวางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ ตลอดจนจัดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำซึ่งสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อร่วมกันบริหารทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พรวิภา/ธนบดี/จัดทำ

๒ มกราคม ๒๕๖๒

 

 

ปริญสินีย์/ตรวจ

๑๘ มกราคม ๒๕๖๒

 

 

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๑๑๒ ก/หน้า ๔๔/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๑