โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุที่จำเลยปลูกสร้างอาคารรุกล้ำชานคลองเขตคันคลองชลประทานว่า อยู่บริเวณถนนสุขุมวิท หลักกิโลเมตรที่ 40 จำนวนเนื้อที่ 60 ตารางเมตรตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการเป็นการบรรยายถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดีแล้ว ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพ.ศ. 2485 มาตรา 23 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2507 มาตรา 12 ส่วนพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485มาตรา 37 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507มาตรา 17 และพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2518 มาตรา 7 เป็นมาตราที่กำหนดโทษในการกระทำความผิดตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มิใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดที่โจทก์จะต้องบรรยายไว้ในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6)
บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงฯ มีวัตถุประสงค์จะคุ้มครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสาธารณชน ส่วนพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันฯ เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองเอกชนเป็นรายๆไป กฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสาธารณชนจึงมีผลบังคับเหนือกว่ากฎหมายที่คุ้มครองเอกชน การที่พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง บัญญัติห้ามปลูกสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดรุกล้ำคันคลอง ชานคลองนั้นแม้จำเลยจะเช่าที่ดินกรมชลประทานปลูกเรือนอยู่อาศัยมาก่อนก็ตาม ก็ย่อมไม่ได้รับยกเว้นที่จะคงอยู่ต่อไป และไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันฯ ด้วย
ตามความในมาตรา 9 แห่ง พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485 ที่ว่า เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการชลประทาน ถ้าไม่สามารถจะทำได้โดยวิธีอื่น ให้เจ้าของที่ดินที่อยู่ห่างทางน้ำหรือแหล่งน้ำใดมีสิทธิทำทางน้ำผ่านที่ดินของผู้อื่นได้ ในเมื่อนายช่างชลประทาน ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือนายอำเภอได้อนุญาตและกำหนดให้โดยกว้างรวมทั้งที่ทิ้งดินด้วยไม่เกินสิบเมตร แต่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินที่ทางน้ำผ่านนั้น หมายความว่าต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเสียก่อน จึงจะมีสิทธิทำทางน้ำผ่านที่ดินได้
แม้ที่ดินของโจทก์จะถูกนายช่างชลประทานใช้รถขุดดินทำทางน้ำผ่านเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่อยู่ห่างทางน้ำ โดยยังไม่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ แต่เมื่อมีกฎหมายเวนคืนที่ดินของโจทก์ให้แก่กรมชลประทานแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้บังคับนายช่างชลประทานหรือกรมชลประทานกลบที่ดินที่ถูกขุดให้กลับคงคืนตามสภาพเดิม
ปลูกห้องแถวรุกล้ำเข้าไปบนชานคลองภาษีเจริญ และปักเสาทำเขื่อนรุกล้ำลงไปในทางน้ำคลองภาษีเจริญ โดยมิได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากนายช่างชลประทานย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485
เขตคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ที่ยื่นขึ้นไปฝั่งละ 1 เส้น เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2)
พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 23 ให้กรมชลประทานจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลแต่มิได้รวมถึงให้มีอำนาจและหน้าที่นำเขตคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์ไปให้เช่าโดยมิได้คำนึงถึงสิทธิของบุคคลอื่นที่มีต่อเขตคันคลองมาแต่เดิม เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เช่าได้ปักเสาคอนกรีตกั้นที่แนวเขตคันคลองตรงที่ติดต่อกับเขตที่ดินของโจทก์ จนไม่สามารถใช้สอยหาประโยชน์จากการที่จะผ่านเขต คันคลองไปสู่คลองได้ โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนสัญญาเช่าระหว่างจำเลย ทั้งสองได้ แต่ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้
เจ้าหน้าที่ขุดคลองส่งน้ำผ่านที่ดินของจำเลยในเขตโครงการชลประทานโดยราษฎรและจำเลยยินยอมโดยปริยาย จำเลยจะปิดกั้นไม่ได้ เป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 มาตรา 20,36 ตรี ฉบับที่ 3 พ.ศ.2507 มาตรา 16
ความผิดฐานทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานก่นสร้างแผ้วถางป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11,73 วรรคสอง และมาตรา 54,72 ตรี เมื่อเป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 11,73 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มี โทษหนักที่สุดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหานี้แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสีย ให้ถูกต้อง
ลำรางในที่ดินของเอกชน+เจ้าของที่ดินได้ปล่อยให้เรือเดินไปมากว่า 10 ปี แต่ไม่ปรากฎว่าเจ้าของที่ดินได้เวนคืนหรือสละกรรมสิทธิ์โดยการยกให้อย่างไรแล้ว ไม่ทำให้ลำรางนั้นกลายเป็นที่สาธารณะขึ้นกรณีดังนี้เพียงแต่ก่อให้เกิดภาระจำยอมแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ข้างเคียงเท่านั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางซึ่งเป็นภาระจำยอมในเมื่อสามยกทรัพย์เป็นของเอกชน
ที่ลาดติดต่อกับฝั่งคลองนั้นถึงแม้ในฤดูน้ำน้ำท่วมถึงก็ยังไม่เป็นเหตุพอจะชี้ขาดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคลอง พะยาน คู่ความจะขอสืบพะยานในข้อที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีศาลงดสืบพะยานนั้นได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 5 บังอาจยึดถือครอบครองที่ดินบริเวณหน้าฝายทุ่งหมูบุ้นอันเป็นที่สาธารณะสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันนายอำเภอได้ออกคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายให้จำเลยออกไปจำเลยบังอาจขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจำเลยไม่รู้และไม่เข้าใจมาก่อนว่าเป็นที่สาธารณะการขัดคำสั่งทำด้วยใจสุจริต ขาดเจตนาร้าย ยกฟ้องจำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกาต่อมาว่าที่พิพาทมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่จำเลยมีสิทธิครอบครองและมีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ขอให้พิพากษากลับศาลล่างว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยทั้งหมดดังนี้ คดีอาญาจึงยุติเพียงศาลชั้นต้นเมื่อจำเลยกล่าวอ้างโต้แย้งว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครองมา มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยชอบที่จะไปว่ากล่าวในทางแพ่งต่อไป ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ให้ยกฎีกาจำเลย(อ้างนัยฎีกาที่ 1223/2495)
« Previous Page — Next Page »