คลังคำสำคัญ ‘คำพิพากษา’
จำเลยซึ่งเป็นเทศบาลมีหน้าที่ดูแลสะพานให้มีความมั่นคงแข็งแรง การที่จำเลยปล่อยปละละเลยให้สะพานผุพัง ราวสะพานเป็นช่องโหว่อยู่ก่อนผู้เสียหายตกลงไปไม่รีบซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยปลอดภัย นับว่าเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยอันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เสียหายเมื่อพิเคราะห์ถึงการที่โจทก์ตกสะพานไป โดยไม่เดินอย่างคนธรรมดามัวแต่จับตาอยู่ดูการชกต่อยระหว่างเด็ก 2 คน เสียและเอาหลังพิงราวสะพานเอามือรูดไปจนถึงช่องโหว่จนตกไป เช่นนี้ เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความผิดของโจทก์อยู่ด้วย ถือได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์มีส่วนประกอบด้วย ค่าสินไหมทดแทนอันโจทก์ควรจะได้รับมากน้อยเพียงใด จึงต้องอาศัยพฤติการณ์แห่งกรณีดังกล่าวข้างต้นเป็นประมาณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 229,360 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117,118,120 และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ทวิ เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฟ้องร้องขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(1)และพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11(1) เอกชนจะฟ้องได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ แม้โจทก์จะเป็นเทศบาลและมีหน้าที่บำรุงทางบกทางน้ำ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496มาตรา 50(2),53 มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษา คุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่อยู่ในเขตเทศบาลตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย และดูแลรักษาลำน้ำในเขตเทศบาลตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมาย ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดดังกล่าว
ทางพิพาทเกิดจากประชาชนใช้เดินเพื่อไปตักน้ำจากบ่อสาธารณะและใช้เดินเข้าออกสู่ถนนสาธารณะมานานหลายสิบปีก่อนที่โจทก์จะสร้างถนนคอนกรีตบนที่ดินทางพิพาท โดยเจ้าของที่ดินขณะนั้นไม่มีการหวงห้ามสงวนสิทธิใด ๆ แม้จะไม่ได้ความว่าผู้ใดอุทิศที่ดินทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยตรงคือโดยพิธีการก็ต้องถือว่าเจ้าของที่ดินเดิมที่ทางพิพาทนี้ผ่านได้อุทิศที่ดินนั้นให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยาย ทางพิพาทจึงตกเป็นทางสาธารณะแล้วจำเลยรับโอนที่พิพาทภายหลังจากที่เจ้าของเดิมได้อุทิศทางพิพาทไปแล้วแม้ทางพิพาทจะอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดถือเอาเป็นของตนได้ เมื่อทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์และอยู่ในเขตปกครองของเทศบาลตำบลศรีราชาโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้เข้าขัดขวางปิดกั้นทางพิพาทนั้นได้ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496มาตรา 50(2) ประกอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 2(พ.ศ. 2496) ออกตามความในพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ข้อ (2) และพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 40
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานทำการทุจริตต่อหน้าที่และจดหลักฐานเท็จแต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยได้รับแต่งตั้งจากอธิบดีกรมชลประทานให้เป็นช่างบังคับหมู่เขื่อนระบายน้ำโพธิ์เตี้ยมีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้าง ซ่อมแซมบำรุงรักษา ควบคุมการเบิกจ่ายค่าแรงคนงาน ควบคุมคนงานโดยได้รับเงินค่าจ้างเป็นรายวันจากงบประมาณ ซึ่งมิใช่ประเภทเงินเดือน เมื่อจำเลยได้เบิกค่าแรงคนงานเกินความจริงและจดหลักฐานเท็จ ก็จะเอาผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่และทำหลักฐานเท็จตามฟ้องไม่ได้เพราะถือว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานและตามฟ้องของโจทก์ก็มิได้บรรยายถึงความผิดอย่างอื่นอันเป็นเรื่องที่เห็นได้ว่า โจทก์มีความประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยซึ่งไม่ใช่ในฐานเป็นเจ้าพนักงานด้วย เมื่อเป็นดังนี้ คดีก็ไม่มีทางจะลงโทษจำเลยได้
พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 50 (2), 53 บัญญัติให้เทศบาลมีหน้าที่ต้องจัดให้มีและบำรุงทางบกทางน้ำ อีกทั้งกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้เทศบาลมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตาม ป.ที่ดิน ที่อยู่ภายในเขตเทศบาล และอธิบดีกรมเจ้าท่าได้มอบหมายอำนาจเจ้าท่าตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ให้เทศบาลดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองในเขตเทศบาล เทศบาลย่อมมีหน้าที่ดูแลรักษาตามกฎหมาย ตามคำสั่ง และตามที่ได้รับมอบหมาย จึงมีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ ทั้งการฟ้องคดีก็ไม่จำต้องระบุว่าได้รับมอบอำนาจจากกรมเจ้าท่าอีก
ที่ดินมีโฉนดของ ป. บางส่วนถูกน้ำเซาะพังลงในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ดินส่วนที่หายไปในน้ำแม้จะมิได้ให้เจ้าพนักงานที่ดินแบ่งหักออกจากโฉนดที่ดินตามความเป็นจริง ก็มิได้แสดงว่าที่ดินของ ป. ยังคงมีเนื้อที่อยู่เต็มตามโฉนดที่ดิน แต่คงมีอยู่ตามสภาพที่เหลืออยู่ตามความจริงเท่านั้นเพราะที่ดินบางส่วนพังจนกลายเป็นลำน้ำที่มีการใช้สัญจรไปมาของเรือแพเป็นเวลานานจนกระทั่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปแล้ว โจทก์ทั้งสามซื้อที่ดินตามโฉนดจาก ป. ย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ถูกน้ำเซาะจนหายไปในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว แม้ต่อมาแม่น้ำมีสภาพตื้นเขินเนื่องจาก มีการทำเขื่อนภูมิพลกั้นน้ำ ทำให้กระแสน้ำไหลเบาลงจนน้ำในแม่น้ำแห้ง เรือไม่สามารถผ่านไปมาได้ ทั้งมีการดูดทรายอีกด้านหนึ่งของเกาะมาปิดทางน้ำเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ดี การที่โจทก์ทั้งสามถมดินในที่ดินพิพาท จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อเทศบาลจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลอันมีฐานะเป็นนิติบุคคล และตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 48 เตรส กำหนดให้นายกเทศมนตรีรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ในฐานะนายกเทศมนตรีเป็นผู้แทนของเทศบาลจำเลยที่ 1 ความประสงค์ของเทศบาลจำเลยที่ 1 ย่อมแสดงออกโดยผ่านจำเลยที่ 2 ดังนั้น เมื่อเทศบาลจำเลยที่ 1 กระทำความผิดโดยเกิดจากการแสดงออกของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าการกระทำอันเป็นความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ด้วยและไม่อาจปัดความผิดไปให้ผู้อื่นได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
คดีที่เจ้าของที่ดินซึ่งติดกับลำรางสาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องอ้างว่า กรมที่ดินและเจ้าหน้าที่ รังวัดออกโฉนดที่ดินให้แก่ บริษัท น. ซึ่งเป็นเอกชน โดยรุกล้ำลำรางสาธารณประโยชน์ ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นลำรางสาธารณประโยชน์หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท น. เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
สัญญาที่หน่วยงานทางปกครองว่าจ้างเอกชนให้ซ่อมรถยนต์ ซึ่งได้รับความเสียหายจากอุทกภัยให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ ไม่ปรากฏว่าวัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นการจัดให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเอกชนเข้าดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดทำบริการสาธารณะ ตามบทนิยามสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นเพียงการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนในลักษณะของสัญญาจ้างทำของ ซึ่งเป็นเพียงสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น คดีพิพาทตามสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำร้องขอบรรยายว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของ แผ่นดิน ผู้คัดค้านโต้แย้งว่าเป็นที่ดินของผู้คัดค้านปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่จึงเป็นประเด็นโดยตรงในคดี การพิจารณาว่าประเด็นแห่งคดี มีอย่างไร ต้องพิจารณาข้ออ้างและข้อเถียงทั้งจากคำฟ้อง และคำให้การ แม้ผู้ร้องจะเริ่มคดีโดยทำเป็นคำร้องขอ แต่เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ก็ต้องดำเนินคดี อย่างคดีมีข้อพิพาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยคดี ไม่มีความจำเป็นต้อง ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก่อน เมื่อปรากฏว่า ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านมาจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว ย่อมเพียงพอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีไปได้โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและเอกสารในสำนวน ผู้คัดค้านซื้อที่ดินพิพาทมาให้ผู้ร้องที่ 2 ใช้ร่วมกับคูคลองและลำห้วยซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ อยู่เดิมเพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในกิจการของ ผู้คัดค้านและเพื่อประโยชน์ของราษฎรในบริเวณนั้น จึงมีลักษณะเป็นการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ประกอบกับการที่ผู้คัดค้านแจ้งแก่ผู้ร้องว่า ยินดีโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องเป็นการยืนยันเจตนาว่าจะให้ใช้ที่ดินพิพาทเพื่อสาธารณประโยชน์ถือว่าผู้คัดค้านมีเจตนาสละที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การแสดงเจตนาย่อมมีผลทันที ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 ผู้คัดค้านไม่อาจ ยกเงื่อนไขที่ตนมีต่อผู้ร้องขึ้นอ้างเพื่อลบล้างสภาพของที่ดิน ซึ่งตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อีกทั้งทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่ อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305
คลองเปรมประชากรเป็นคลองประเภท2ตามพระราชบัญญัติ การชลประทานหลวงพ.ศ.2485มาตรา5ซึ่งประชาชนสามารถขับเรือหางยาวที่ไม่ใช่เรือโดยสารในคลองได้และในปัจจุบันเรือหางยาวก็สามารถแล่นในคลองดังกล่าวได้เพราะสภาพคลองมีน้ำเต็มคลองเปรมประชากรจึงเป็นทางน้ำที่ราษฎรทั่วไปมีสิทธิใช้สัญจรไปมาได้และเป็นทางสาธารณะตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1349,1350แม้พระราชบัญญัติ การชลประทานหลวงพ.ศ.2485มาตรา15จะบัญญัติให้อธิบดีกรมชลประทานมีอำนาจปิดขุดลอกห้ามจำกัดหรือกำหนดเงื่อนไขในการนำเรือแพผ่านทางน้ำชลประทานก็ตามแต่อำนาจดังกล่าวก็เป็นการกำหนดไว้เพื่อให้อธิบดีกรมชลประทานจัดการดูแลรักษาทางน้ำชลประทานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและเพื่อประโยชน์ของการชลประทานเท่านั้นหาทำให้ทางน้ำที่ราษฎรใช้ในการคมนาคมกลายสภาพเป็นทางน้ำที่ไม่ใช่ทางสาธารณะไม่ เมื่อที่ดินของโจทก์มีทางออกไปสู่คลองเปรมประชากรซึ่งเป็นทางสาธารณะได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยไปสู่ทางสาธารณะ
« Previous Page — Next Page »